เมืองไทยใหม่เอี่ยม๓ (นิวไทยแลนด์ ตอน แก้น้ำท่วมแบบเหนื่อยใจ)
เมืองไทยใหม่เอี่ยม๓ (แก้น้ำท่วมแบบเชื่อมโยงทั่วประเทศ)
ผมได้นำเสนอแนวคิดต่อปัจเจกและสาธารณะชนในเวทีต่างๆอย่างต่อเนื่องมายาวนานนับสิบปี ในเรื่องแก้น้ำท่วมอย่างถาวรที่เชื่อมโยงทั่วประเทศ (ไม่แต่เฉพาะกทม. ..เมืองคนรวย เท่านั้น) แต่ความคิดของผมไม่ดังเป็นพลุแตกเหมือนของท่านอื่นๆ
อาจเพราะผมเป็นเพียง “ครูบ้านนอก…ดร.รากหญ้า” ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักในวงกว้าง ซึ่งทำให้การนำเสนอไม่น่าเชื่อถือไปโดยปริยาย ..แม้ในวงแคบๆที่พอมีเวทีอยู่บ้าง
ผมได้สังเกตมานานแล้ว เห็นว่าเมืองไทยเรา form สำคัญกว่า substance เสมอ (ดจร. ออกอุงกิดกะเขาซะหน่อย เด๋วจะหาว่าพูดเป็นแต่ไทย ลาว และขอมโบราณ ดังที่ชอบศึกษา)
แนวคิดหลักในการป้องกันน้ำท่วมในอดีตดังกล่าวเหล่านั้นผมคิดเอาเองทั้งสิ้น ไม่ได้ลอกหรือเลียนแบบผู้ใดมา แต่ในวันนี้ได้อ่านฟังซ้ำแนวคิดของ “ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ” หลายท่านในสื่อต่างๆ ก็จำได้ว่ามันคล้ายกับความคิดเก่าของเรา เพียงแต่มันเป็นมุมมองย่อยเฉพาะช่องของท่าน ที่ผมได้เสนอแบบเชื่อมโยงกันไว้หมดแล้ว (บุคคลระดับท่านเหล่านั้นคงไม่ลอกเลียนแนวคิด”ครูบ้านนอก”อย่างผมหรอก มันคงเป็นเรื่องบังเอิญเสียมากกว่า)
แนวคิดป้องกันน้ำท่วมที่ผมได้นำเสนอมานานดังกล่าว วนเวียนอยู่สามสี่ห้าหกประเด็น ..เช่น
1) ขุดคลองก้างปลาเชื่อมแม่น้ำลำคลองสายสำคัญทั่วประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อการผันน้ำซึ่งกันและกัน (น้ำท่วมลุ่มน้ำใด ก็ผันออกไปสู่ลุ่มน้ำอื่นได้ แถมเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำและการชลประทานไปในตัว)
2) วางแผนให้คลองก้างปลาเหล่านี้ไหลผ่านแอ่งน้ำธรรมชาตินับหมื่นแห่งที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิประเทศ ซึ่งอาจเป็นแอ่งน้ำขัง หรือ แอ่งน้ำแห้งก็เป็นได้ (ส่วนใหญ่เป็นแอ่งน้ำแห้งที่ถูกล้อมด้วยขอบสูง…ซึ่งต้องทำการเจาะระยะสั้นอ้อมเข้าไปหา) จะเท่ากับว่าเรามีอ่างกักเก็บน้ำนับหมื่นแอ่งทั่วประเทศ ที่จะคอยซับน้ำท่วมยามวิกฤต ส่วนยามปกติก็เป็นแอ่งชลประทาน และป้อนอุตสาหกรรมท้องถิ่น
3) ก่อนสร้างถนนสูง ต้องศึกษาเส้นทางน้ำ และความลาดเอียงของภูมิประเทศในภาพรวม ถ้าไม่คิดล่วงหน้า ถนนยิ่งสูงน้ำจะยิ่งท่วมถนน ช่วยให้น้ำท่วมบ้านเมืองมากขึ้น และยังดัดแปลงเชิงทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากหลายด้าน เช่น แล้งกว่าปกติ ดินเค็มกว่าปกติ (ทำให้นักวิชาการถนนและนักเสียดสีอาชีพเย้ยหยันผมหลายคน แต่วันนี้เริ่มพัฒนาสมองมาฟังกันบ้างแล้ว เพราะเห็นตัวอย่างจะๆกันมากครั้ง) แต่การดัดแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็ย่อมทำได้..ถ้ารู้จักคิดสักหน่อย
4) ลดพื้นที่ทำไร่นาลงให้เหลือเพียงพอกินในประเทศ (ก็ถูกนักเกษตรด่าเอาอีก) แล้วเอาพื้นที่มาปลูกสวนผลไม้หรือป่าไม้พรรณหลากหลาย โดยเฉพาะตามแหล่งพื้นที่รับและซับน้ำ ทำแบบนี้นอกจากกันน้ำท่วมได้มากแล้วยังลดสภาวะโลกร้อน ได้คาร์บอนเครดิท และมีรายได้มากขึ้นด้วย (ทำนาได้กำไรไร่ละ 2000 บาท (ในอีสาน) แต่ปลูกป่า แล้วตัดขายแบบตัดสาง ทำให้ดีจะได้กำไรไร่ละ 100,000 บาท…ทำให้ดีที่สุดจะได้เป็นล้านบาทก็ยังได้ ซึ่งประเด็นนี้ผมก็ได้นำเสนอไว้ในรายละเอียดมามากหลายและยาวนาน ..แล้วอย่างนี้เราจะไปทำนาแข่งกับเพื่อนบ้านประชิดอยู่ทำไม ..ประกันราคาหรือจำนาดี เถียงกันได้อยู่แค่นั้นแหละ)
ยังมีอีกมากนับร้อยข้อ สงสารท่านผู้อ่าน ขอพอก่อน
เพิ่งได้รับรู้ว่ามีการเสนอให้สร้างอุโมงค์น้ำยาว 100 ม. เพื่อผันน้ำหลากจากด้านนอกกทม. ไปลงทะเล ซึ่งแนวคิดนี้มาจากสภาวิศวกรเสียด้วย
ในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันผมเลยต้องขอค้านแนวคิดดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษ ผมถามว่า..นักการเมืองไทยเราใช้ภาษีราษฎรจนๆเดินทางไปท่องเที่ยว เอ๊ย ดูงานต่างประเทศกันมามากหลาย..เคยเห็นประเทศรวยๆเขาสร้างอุโมงค์ในพื้นที่รอบนอกๆมหานครบ้างไหม (นอกจากจำเป็นจริงๆ เช่นลอดภูเขา หรือ แม่น้ำ ทะเล ในช่วงสั้นๆ) ..เขาไม่ทำกันหรอกครับ เพราะคิดสารตะรอบด้านแล้วมันไม่คุ้ม แต่ในมหานครอาจคุ้มก็เป็นได้เพราะเงื่อนไขปัจจัยมันต่างกันฟ้ากะเหว
พื้นที่รอบกทม. ไร่ละสามแสน..เทียบกับสีลม 300 ล้าน ..มันต่างกัน 1000 เท่า แต่ราคาการขุดอุโมงค์ที่รอบนอกกะที่สีลมเท่ากัน นอกจากนี้การขุดคลองรอบนอกยังมีผลดีอีกมากหลายตามมา (ดังที่ผมได้เสนอไว้ใน “เมืองไทยใหม่เอี่ยม” ตอนก่อนๆ แล้ว)
ส่วนการเวนคืนที่ดินยาว 100 กม.กว้าง 300 เมตร เพื่อสร้างคลองยกคันคูสูง 10 เมตร (หรือ “บาราย” ตามภาษาขอมโบราณ ) จะใช้เงินเวนคืนที่ดินเพียงประมาณ 6 พันล้านเท่านั้นเอง (เงินจำนวนนี้สร้างอุโมงค์ขนาดเดียวกันได้สักสอง กม. กระมัง)
การเมือง (และมหาวิทยาลัย) คือ ต้นธารแห่งการพัฒนา ดังนั้น เมืองไทยใหม่เอี่ยม (หรือนิวไทยแลนด์..ตามสำเนียงเห่อฝรั่งที่ปั้นกันมาตามค่านิยม) ต้องเริ่มที่ การเมืองใหม่ (มหา‘ลัยใหม่)
ถ้าการเมืองและการมหา‘ลัย ยังเป็นระบบเก่า ที่อิงอำนาจมากกว่าปัญญา ก็คงไม่พ้นวงจรเก่าน้ำเน่าเดิมไปได้หรอก ดังนั้น “น้ำเน่าทางการเมืองและการศึกษา” ก็คงจะยังท่วมประเทศไทยไปอีกนาน แม้อุทกภัยจากธรรมชาติจะแห้งไปหมดแล้วก็ตาม
« « Prev : เตือนภัยหนาว (ตอน ๒) …แม่คะนิ้ง
Next : อุปกรณ์ราคาถูกช่วยแก้ภัยหนาว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เมืองไทยใหม่เอี่ยม๓ (นิวไทยแลนด์ ตอน แก้น้ำท่วมแบบเหนื่อยใจ)"