กลับตาลปัตร (๖)

โดย withwit เมื่อ 1 May 2011 เวลา 3:09 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1283

ในยุคอินเทอร์เนตนี้เป็นการง่ายมากที่จะขอขมาลาโทษกันก่อนบวชต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้เขียน (พศ. ๒๕๔๒) ได้ทำการส่งไปรษณีย์ทางคอมพิวเตอร์ (อีเมล์) ไปยังเพื่อนร่วมงาน เขียนฉบับเดียวส่งกระจายเป็นลูกโซ่ไปถึงได้ทุกคน….ขอบคุณเทคโนโลยีฝรั่ง!!

ส่วนญาติผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านนอกก็ใช้วิธีออกเดินสายด้วยตนเอง คือหลังจากทำพิธีโกนหัว ห่มผ้าขาวขลิบทองที่เหมือนครุยรับปริญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (องค์กรมหารวย) แล้ว ก็ถือดอกไม้ ธูปเทียน ใส่พานไปขอขมาลาโทษต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ต้องนับว่านี่เป็นประเพณีที่ดีมากจริงๆ เป็นอุบายที่จะทำให้ได้ประโยชน์ในทุกฝ่าย คนที่เคยถือโทษโกรธกันก็ให้อภัยต่อกันได้ในคราวนี้ พระก็จะได้ไม่ต้องพะวง สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างดี ฆราวาสก็พลอยได้บุญไปกับอานิสงส์แห่งการให้อภัยทาน ให้โอกาสแก่ผู้ประสงค์จะสร้างบารมีในพระพุทธศาสนา เพราะหากไม่อโหสิกรรมต่อกันนาคก็ไม่อาจจะบวชเป็นพระได้ และที่น่ารักอีกอย่างสำหรับนาคก็คือ (อะแฮ่ม) ผู้ให้อโหสิกรรมนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ที่พ่อนาคเคารพนับถืออยู่แล้ว ไม่มีอะไรจะต้องอโหสิกันสักเท่าไรหรอก เมื่ออโหสิกันพอเป็นพิธีแล้ว ท่านก็มักจะอดไม่ได้ที่จะต้องขอร่วมทำบุญด้วยใบแดงๆบ้าง ใบม่วงๆบ้าง เขียวหม่นๆบ้าง ตามแต่กำลังศรัทธา ทำให้พ่อนาคอดคิดติดตลกเล่นไม่ได้ว่า ถ้าหากถูกพิษIMF เล่นงานหนักๆ ต่อไปนี่อาจลองบวชสึก บวชสึก ไปเรื่อยๆ ขออโหสิกรรม ที่โน่นที ที่นั่นที ก็น่าจะพอดำรงชีวิตอยู่ได้ทีเดียว

ผู้เขียนเป็นคนที่มักไม่ค่อยยึดติดในรูปแบบแต่มักชอบเค้นเอาแต่เนื้อหามาแต่ไหนแต่ไร(ซึ่งมักจะเป็นการสวนกระแสวัฒนธรรมแบบไทยๆ) ในการบวชของตนเองก็เช่นกัน ได้พยายามตัดพิธีกรรมลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่นการขานนาคในคืนก่อนการบวช ได้ขอร้องแม่ว่าขอให้งด ได้วิเคราะห์ดูแล้วว่าข้อดีของการขานนาคก็มีอยู่เช่น การสรรเสริญบุญคุณของแม่ ว่ากันว่าหมอขานนาคที่เก่งๆนั้นสามารถเรียกน้ำตาให้นองหน้าพ่อนาคได้ทั้งคืน เขาจะขานเป็นทำนองอ้อยสร้อยพรรณาถึงความอดทนเหนื่อยยากเจ็บปวดของแม่ที่ต้องอุ้มท้อง คลอด และเลี้ยงดูเช็ดเยี่ยวเช็ดขี้เรามา แต่กว่าจะพรรณาหมด ก็ต้องควักเงินจ่ายค่าขานนาคมากโข เช่น เขาอาจขานว่าแม่ต้องแพ้ท้องอยากกินมะยมเปรี้ยวแต่เงินก็หมดลงพอดีจึงไม่มีเงินจะไปหาซื้อมะยม ญาติโยมก็ต้องเอาเงินให้หมอนาค(เพื่อไปซื้อมะยมดอง) ตอนจะคลอดก็ต้องเสียค่ารถ ค่าโรงพยาบาล ค่าหยูกยาไปตลอดทาง กว่าจะเลี้ยงโตจนมีอายุครบได้บวชเรียน ก็ต้องเสียเงินไปเยอะ (ไม่งั้นหมอไม่ยอมขานต่อ) หมอขานนาคที่เก่งๆก็คงจะได้เงินโขอยู่

นั่นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อดีของการขานนาค เพราะทำให้พ่อนาคได้มีจิตใจหวนรำลึกถึงพระคุณในอดีตของพ่อแม่ได้เหมือนกัน และยังทำให้ญาติโยมได้มีโอกาสมาพบปะร่ำลา ขอขมาลาโทษกันก่อนบวช แต่นั่นก็กลับกลายเป็นจุดอ่อนของการทำพิธีขานนาคไปได้ เพราะการมาพบปะกันของกลุ่มคนไทยเรานั้นมักนิยมทำกรรมสองอย่างเสมอ คือ กินเหล้า กับ เล่นไพ่ ผู้เขียนเล็งเห็นโทษข้อนี้ของการจัดงานขานนาค ประกอบกับเราเองก็บวชตอนแก่ พระคุณของพ่อแม่ก็ซาบซึ้งเป็นล้นพ้นพอเพียงอยู่แล้วโดยไม่ต้องให้หมอนาคมาขานให้ฟังหรอก จึงขอให้งดการขานนาคเพราะเกรงว่าจะได้บาปมากกว่าบุญในการที่จะมาถือบวชนี้

ในเช้าวันบวชก็มีญาติผู้ใหญ่ที่ได้รับเชิญมาสัก ๑๐ คนเห็นจะได้ ไม่ต้องการให้เชิญคนมาเป็นสักขีพยานทั้งอำเภอเหมือนที่โยมแม่ท่านต้องการ แต่กลับต้องการให้มีกลองยาวตีแห่รอบโบสถ์สักสามรอบเพราะเห็นว่ามันเป็นพิธีที่พอไปวัดไปวาได้ มีติดสนุกไร้มลพิษสักเล็กน้อยน่าจะเป็นการดี แต่โยมแม่ไม่เข้าใจความประสงค์ของพ่อนาค ก็เลยไม่ได้ว่าจ้างวงกลองยาวไว้ล่วงหน้า ก็เลยแห่นาครอบโบสถ์กันแห้งๆ บรรดาผู้แก่เฒ่าท่านคงจะนึกเปรี้ยวปาก ท่านก็โห่ฮิ้วกันขึ้นมาเองอย่างสนุกสนาน แถมมีการตามด้วยการทำเสียงเลียนแบบฆ้องกลองและมีการร่ายรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน อ้อ..มีเพื่อนคณาจารย์ที่ทราบข่าวทางอีเมล์มาร่วมงานบวชด้วยหนึ่งคันรถ มีอาจารย์ฝรั่งมาร่วมพนมมือแต้อยู่ด้วยคน น่ารักดี

พิธีกรรมในการบวชก็คงจะเป็นไปตามธรรมเนียม มีการวันทาเสมา(การแสดงความเคารพพระอุโบสถ) การถามอันตรายิกธรรม(การสอบถามว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่) การขอนิสสัย(ขออยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์) การบอกบาตรจีวร(พระอุปัชฌาย์มอบบาตรและจีวรซึ่งถือเป็นของสำคัญมาก ให้เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตพระ) บาตรนั้นพระบางรูปท่านให้ฉายาว่า “หม้อทิพย์” เพราะสามารถดลบันดาลอาหารมาให้ประทังชีวิตได้ ส่วนการถามอันตรายิกธรรมนั้นน่าสนใจมากเพราะมีการถามแปลกๆ เช่น “ท่านเป็นนาคหรือเปล่า” ซึ่งต้องตอบว่า “เปล่าครับ” แน่นอนว่า ต้องสปี๊คบาลี โดยตลอด และคำถามอีกสองสามอย่างคล้ายๆกันนี้ เล่ากันว่าสมัยก่อนมีพวกนาคปลอมตัวมาขอบวช จึงให้ถามคำถามนี้กันไว้ก่อน แต่ก็แปลกที่ว่าก่อนบวชพระต้องมีการบวชนาคกันก่อน การบวชนาคนี้คิดว่าน่าจะมีความเป็นมาอะไรสักอย่างหนึ่งเกี่ยวโยงกับการถามอันตรายิกธรรมข้อนี้ด้วย จำได้ว่าเคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่งเมื่อนานมาแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียด้วย (แต่ตอนนี้ลืมแล่ว ขี้เกียจไปค้นอีกด้วย)

ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ตั้งแต่โตเข้าโรงเรียนมัธยมมา ที่ได้นุ่งโสร่ง(สบง)และเหนือสิ่งอื่นใดไม่ได้ใส่กางเกงลิงตามวัฒนธรรมฝรั่ง มันให้รู้สึกโล่งอิสระเบาสบายเสียนี่กระไร ทราบจากพระพี่เลี้ยงว่าเวลาจะลุกจะนั่งต้องสำรวมระวัง มิฉะนั้นอาจจะเปิดหวอให้ญาติโยมเห็นได้ (โดยเฉพาะสีกาบางคนก็ชอบแอบดูพระอยู่แล้วด้วย) การนุ่งสบงอย่างถูกต้อง มีการพับนอกพับในก็ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องสำรวมระวังอยู่ดี โชคดีที่ผู้เขียนเติบโตขึ้นมาในชนบทที่ได้ทันเห็นพวกผู้หญิงเขานุ่งโสร่งกัน พอจะจำได้ว่าเวลาลุกนั่งพวกผู้หญิงเหล่านั้นเขาต้องเอามือคอยช่วยประคองผ้าไม่ให้ผ้ามันเปิด ก็เลยจำเอามาใช้บ้าง ถึงตอนนี้เลยเป็นการง่าย ไม่ต้องให้ใครสอนก็สามารถลุกนั่ง และนั่งยองๆได้อย่างไม่ต้องกลัวหวอเปิด

พูดถึงการนุ่งกางเกงลิง ผู้เขียนเคยได้อ่านบทความภาษาอังกฤษเมื่อนานมาแล้วว่ามีผลข้างเคียงที่อาจทำให้ผู้ชายบางคนเป็นหมันได้ เนื่องจากลิงมันรัดปิ๊มป่อมเสียแน่น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนอาจถึงระดับที่ทำให้เกิดการผิดพลาดของการผลิตน้ำเชื้อได้ ทำให้เกิดเป็นหมันดังว่า เพราะฉะนั้นผู้หญิงคนไหนอยากได้ลูกเร็วก็ขอให้เลือกแต่งงานกับทิดสึกใหม่เถิด รับรองว่าเปิดปุ๊บติดปั๊บแน่ๆ

แต่อย่าไปยั่วยวนให้พระท่านสึกโดยที่ท่านไม่ได้สึกตามวาระเสียล่ะ มันจะเป็นบาปหนักโข เพราะเท่ากับเป็นการช่วยทำลายบั่นทอนศาสนา

« « Prev : กลับตาลปัตร (๕)

Next : ธุดงค์ (๔) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 May 2011 เวลา 4:23 pm

    ฮ่า ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีน้องที่สนิทกันคนหนึ่ง ลูกสองแล้วยังไม่ได้บวช เห็นว่าจะบวชเดือนหน้าที่ แล้วเจ้าหมอนี่ก็ยุ๊งยุ่งเพราะต้องหิ้วกระเป๋าเดินตามทั่้นอธิบดีท่านหนึ่งตลอดเวลา ไม่เข้าใจว่ามันมีหน้าที่หิ้วกระเป๋าหนัก ๆ ให้ท่านจริง ๆ หรือมันทำงานเลขาหรืองานเอกสารให้ด้วย จนไม่มีเวลามาขอขมาลาโทษ ว่าแล้วจึงฝากให้ภริยาซึ่งออน facebook ทั้งวันทั้งคืนมาเป็นตัวแทนขอขมาลาโทษให้แทน เห็นแล้วก็ขำ ๆ แล้วก็ตอบไปเส้นทางเดียวกัน

    ว่าแล้วเลยไปโพสต์บอกบรรดาลูกศิษย์ไว้ว่าวิธีนี้ก็ดีเหมือนกัน ประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลา ประหยัดเอกสาร จริง ๆ น่ะ การ์ดน่ะไม่ต้องแจกก็ได้ ส่ง file มาเลย ไม่ต้องไปเสียตังค์ค่าพิมพ์ค่าซอง ค่าน้ำมันรถตระเวณแจกอีก

    ก็ไม่รู้ความเหมาะความสมอยู่แค่ไหนเนาะคะ แต่ก็ถูกจริตกับคนในรุ่น “วัฒนธรรมแ..กด่วน” อย่างพวกหนู อยู่ไม่น้อยทีเดียวเชียว อิอิอิ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 May 2011 เวลา 5:22 pm

    วัฒนธรรมแดกด่วนมันมีมานานแต่สมัยพุทธกาลแล้ว
    เช่นทำบุญบาทเดียว แต่ขอพรให้ได้ไปสวรรค์ชั้นดุสิต

    นอกจากแดกด่วนแล้ว ยังค้ากำไรเกินควรอีกต่างหาก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.36899399757385 sec
Sidebar: 0.020506858825684 sec