กลับตาลปัตร (๔)
หัสเดิมเริ่มแรกทีเดียวก็เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ขณะที่ผู้เขียนทำงานอยู่ต่างประเทศ ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวพักร้อนเยี่ยมญาติในประเทศไทย และได้มีโอกาสเข้าไปกราบนมัสการท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกข์ฯ จังหวัดสุราษฎ์ธานี ท่านถามห้วนๆว่า “มาทำไม” ก็ตอบท่านว่า “กระผมมาพักผ่อนครับ” ท่านก็ตอบกลับว่า “การพักผ่อนด้วยธรรมะเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด” ผู้เขียนได้นำคำพูดของท่านมาวิเคราะห์อยู่นานก็เห็นจริงด้วยอย่างมาก
เราท่านมักนิยมไปพักผ่อนกันตามชายทะเลบ้าง เดินป่าทางท่องเที่ยวบ้าง กินเหล้ากินข้าวฟังเพลงกันตามร้านอาหารหรูบ้าง แต่หากลองวิเคราะห์ดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าการทำเช่นนั้นเป็นความเหน็ดเหนื่อยยิ่งเสียกว่าการทำงานที่เราท่านต้องการจะหนีเพื่อไปพักผ่อนแต่ในทีแรกเสียอีก ที่ว่าเหนื่อยนั้นออกจะฟังยากสักหน่อย ถ้าจะเอากันให้จะจะก็ต้องเคาะว่ามันเป็นความเหน็ดเหนื่อยทางวิญญาณ เพราะการไปท่องเที่ยวกินเต้นดื่มนั้นมันเป็นการเพิ่มกิเลสตัณหาทั้งนั้น ทำให้ต้องแบกกิเลสตัณหามากขึ้น วิญญาณจึงต้องแบกของหนักมากขึ้น ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้นเป็นของธรรมดา สู้การมาลดกิเลสด้วยการพักผ่อนด้วยธรรมะจะดีกว่า เบาตัวดี!
หลังจากที่เรียนและทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 18 ปี ผู้เขียนตัดสินใจเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทย พอทำงานไปได้สักสามปี มันช่างเป็นสามปีที่เหน็ดเหนื่อยทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างสุดจะบรรยาย ใครที่ไม่เคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ที่เน้นคุณภาพ แต่มีสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาประมาณ ๑๐๐ ต่อ ๑ (ในยุคแรกราวพศ. 2538 ยังขาดแคลนคณาจารย์มาก แต่ปัจจุบันดีขึ้นมากแล้ว) ก็คงจะไม่ตระหนักว่าความเหน็ดเหนื่อยทำนองนี้มันเป็นอย่างไร การสอนระบบสามภาคการศึกษาทำให้ไม่มีเวลาเหลือสำหรับทำอะไร ไหนจะงานบริหาร และช่วยบริหาร ไหนจะงานจรจิปาถะเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยใหม่ ไหนจะงานวิจัยที่จะต้องเร่งลุยให้เติบโตอย่างรวดเร็ว เก้าลอเก้าจนขี้เกียจท้าวความ ตลอดสามปีไม่เคยได้มีเวลาขอลาหยุดพักร้อนแม้แต่วันเดียว ไปทำงานตลอดอาทิตย์ละเจ็ดวันไม่เคยบิดพริ้ว เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงตัดสินใจขอลาบวชเพื่อพักผ่อนสักสามเดือน ต้องขอฝากขอบพระคุณท่านเจ้านายทุกระดับชั้นที่ได้เมตตาอนุญาตให้ลาได้
ส่วนเหตุผลรองๆลงไปที่ลาบวชสามเดือนก็มีอยู่ เช่นการยึดถือประเพณีที่ว่าบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่นั้นก็คิดอยู่ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเชื่อด้านประเพณีที่ดีมาก ใคร่จะหาว่าคร่ำครึก็ตาม เดี๋ยวนี้แค่ทดแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการสูบบุหรี่แทนการสูบยาบ้า พ่อแม่ก็ดูจะเป็นปลื้มเอามากๆเสียแล้ว อย่างน้อยที่สุดประเพณีอย่างนี้ก็เป็นอุบายที่ดีที่จะทำให้มีคนเข้ามาบวชมาก
สามเดือนที่บวชนั้นหากปฏิบัติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็พอจะได้ของดีติดตัวไปอยู่ ทำให้สังคมมีแต่คนดีที่”ได้บวชได้เรียน”มาแล้ว มีแต่ “พี่ทิด” กันเต็มบ้านเต็มเมือง (คำว่า “ทิด” สงสัยจะมาจากคำว่า “บัณฑิต” ซึ่งแปลว่า ผู้มีปัญญา นั่นเอง) และอย่างกลางๆก็ทำให้พ่อแม่ได้มีจิตใจอิ่มเอิบในบุญ ก็เป็นสิ่งที่ดีมากในตัวของมันเองอยู่แล้ว หากชาติหน้ามีจริงดังว่า พ่อแม่ก็จะพลอยได้อานิสงส์เป็นอเนกอนันต์ไปด้วยตามคติความเชื่อ
ต้องยอมรับว่ามูลเหตุอีกอันหนึ่งที่อยากบวชคือ”นึกสนุก”อยากลองบวชดู อยากเข้าไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่แบบพระพระด้วยตนเองดูสักที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ตระหนักว่า พระไทยเป็นวิถีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ยิ่งทำให้ดูน่าเข้าไปสัมผัสมากยิ่งขึ้น และก็ไม่ผิดหวังครับ ได้ลิ้มลองชีวิตชาวพระมาในหลากหลายรูปแบบ เช่น ได้สัมผัสชีวิตอย่างพระบ้าน อย่างพระป่าในรูปแบบ อย่างพระป่านอกรูปแบบ และอย่างพระธุดงค์ ในตอนแรกที่บวชไม่เคยได้มีความคิดมาก่อนว่าจะนำเรื่องราวมาเขียนหนังสือ มันเกิดขึ้นมาเองในภายหลังที่บวชแล้ว
ก็ต้องขอปวารณาตนเองไว้ตรงนี้เสียเลยว่า จะนำเสนอข้อมูลและแนวคิดอย่างเป็นกลางที่สุด อะไรดีก็ว่าดี เลวก็ว่าเลวว่างั้นเถอะ คิดถูกคิดผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กันในภายหลัง แต่โดยหลักใหญ่ใจความแล้วไม่ว่าจะวิพากษ์ถูกหรือผิดก็โดยความตั้งใจดีเป็นหลัก เพื่อต้องการให้คนไทยได้เข้าใจศาสนาและเข้าใจพระได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ด่า หรือเอาแต่ชมงมงายถ่ายเดียว
2 ความคิดเห็น
เพิ่งแน่ใจที่บันทึกนี้นี่เอง ว่านี่ก็เป็น เจ้าเป็นไผ ฉบับ ดร.ทวิช แต้ ๆ แล้วล่ะ เจ้าข้าเอ๊ย………….
(^____^)
ไผเป็นไผ นานไป ก็รู้เอง
การอวดเก่ง ก็ดี ใช่ว่าชั่ว
เพราะเป็นเครื่อง ชี้วัด ความเป็นตัว
ไม่ต้องมัว วางฟอร์ม ถนอมตน