ตำนานแม่น้ำตำตาตำใจ

อ่าน: 1493

อ่านเรื่อง”อยู่กับน้ำ” ของลานเก็บเรื่องมาเล่า

ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้เอาแผนภูมิของวิถีไทมาร่วมใช้ในการออกแบบผังเมือง

ไม่ได้นำภูมิสังคมมากำกับในโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

>>ทำ แ บ บ มั ก ง่ า ย ก็ คื อ ไ ท ย แ ท้

ทั้งๆที่มีคณะวิชา มีนักวิจัย นักวิชาการ นักโน่นนักนี่เต็มบ้านเต็มเมือง

แต่ก็ปล่อยให้บ้านเมืองเละเทะอย่างน่าเวทนา

ใครจะสร้างอะไรลงไปในแม่น้ำก็ได้ ใครจะสร้างอะไรขวางทางน้ำก็ได้ ใครจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในที่ลุ่มตรงไหนก็ได้ เปลี่ยนเค้าโครงฐานสภาพแวดล้อมธรรมชาติไม่ยี่หร่าใดๆ  มีเงินเสียอย่าง ชี้เป้าเสร็จก็ถมที่ดินสร้างกำแพงสร้างถนนถมคูคลอง ทำแบบตาบอดสีทั้งประเทศ จุดที่อยู่ในที่สูงก็ไม่กระไรนัก จัดอยู่ในผู้สร้างเสริมภัยพิบัติให้มันรุนแรงขึ้น ด้วยการบุกรุกป่าไม้/ภูเขา/เข้ามาจับจองสร้างรีสอร์ท แต่กลุ่มจังหวัดที่เส้นทางน้ำเหนือผ่านเกิดทุพลภาพทุกปี แต่ก็ดื้อตาใสอยู่กันอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเฉยเลย

อยู่กับน้ำ เล่าบรรยายชีวิตวัยเด็กในที่ลุ่มภาคกลางอย่างน่าอิจฉา ผมอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูลซึ่งเป็นสายน้ำหลักของภาคอีสาน ในวัยเด็กก็เล่นหัวหกก้นขวิดอยู่กับลำน้ำมูลอย่างสนุกสนาน หน้าหนาวไปยืนริมฝั่งดูไอหมอกลอยขึ้นจากผิวน้ำ ก่อนกลับบ้านก็แก้ผ้ากระโดดตูมลงไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราว หนาวดีนัก.. ตอนนั้นจะหนาวมากแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ลงไปแล้วจะรู้ว่าอุ่นกว่าอยู่บนฝั่งเสียอีก มันทรมานอีตอนที่ขึ้นฝั่งมาเจอลมหนาวหวีดหวิวนี่สิครับ ต้องรีบเช็ดตัวห่มผ้าวิ่งหากองไฟ เป็นการตัดสินใจอาบน้ำในหน้าหนาวที่เด็ดขาดมาก ถ้ายังนั่งเจ่าจุกอยู่ในบ้าน ประเภท7วันอาบน้ำหนเดียวมีความเป็นไปได้สูง

แม่น้ำมูลไหลมาจากไหน ต้นทางอยู่ที่ดงพญาเย็น ไหลลงมาแม่น้ำจักรราชในเขตโคราช ผ่านอำเภอพิมาย ผ่านทุ่งท่าลงมาทางใต้ มีีลำน้ำเล็กๆสมทบเป็นระยะเช่นลำมาศ แม่น้ำมูลในอดีตมีน้ำหลากท่วมท้นทุกปี กระแสน้ำสีตุ่นๆปริ่มฝั่งไหลมุมวนเป็นเกลี่ยวอย่างน่ากลัว น้ำจำนวนมหาศาลเหล่านี้ไหลแผ่เข้าไปในทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำจมอยู่ในน้ำลึกนับสิบเมตร ต้นไม้จมอยู่ใต้น้ำ เห็นปลายยอดไผ่โผล่ขึ้นมาลิบๆ  จุดที่เป็นที่ดอนสูงยังมีกิ่งไม้โผล่ขึ้นมาเป็นย่อมๆ เป็นที่พึ่งพิงของหนู-งู-ไก่ป่า-สัตว์เล็กสัตวน้อยกระจุกอยู่ในพื้นที่จำกัด ชาวบ้านก็จะพายเรือไปจับมาเป็นอาหาร นอกเหนือจากการวางข่ายจับปลา การสัญจรไปมาใช้เรือยนต์วิ่งระหว่างอำเภอ จากสตึกจะมีเรือยนต์วิ่งโดยสารเฉพาะหน้าน้ำหลากไปยังอำเภอชุมพลบุรี ไปขึ้นท่าที่อำเภอท่าตูม ที่อยู๋ในเขตจังหวัดสุรินทร์ แล้วนั่งรถคอกหมูโดยสารเข้าตัวจังหวัดสุรินทร์ เพื่อขึ้นรถไฟเข้าบางกอกอีกทีหนึ่ง

ดูๆเหมือนยากลำบากที่ต้องเดินทางอ้อมไกล

จริงๆแล้วเป็นเสมือนการท่องเที่ยวและพักผ่อนอย่างดีเชียวแหละ

การได้นั่งเรือชมทิวทัศน์ยามน้ำท่วมทุ่งกุลาร้องไห้สุดลูกหูลูกตานั้นธรรมดาที่ไหนเล่า

ชีวิตเด็กลุ่มน้ำอีสานในอดีตนั้นแสนวิเศษยิ่งนัก ผู้คนส่วนใหญ่เกี่ยวพันอยู่กับแม่น้ำ ลูกสาวชาวตลาดสตึกส่วนใหญ่ ช่วงบ่ายถึงเย็นนุ่งผ้าถุงเอาผ้าเช็ดตัวพาดบ่า ถือขันใส่สบู่ยาสระผมชวนกันออกจากบ้านเดินลงสะพานท่าน้ำ ชวนกันว่ายน้ำ ขัดสีฉวีวรณ คุยกันยอกเย้า เป็นการอาบน้ำสามัคคีที่ยอดเยี่ยมมากเลยละครับ ..แม่น้ำยามแล้งใสสะอาด เด็กๆจะว่ายเล่นที่หาดทรายกลางแม่น้ำ เป็นจุดที่ทรายกองกันใต้น้ำเป็นหย่อมๆในระดับน้ำลึกประมาณหน้าอก คิดดูเถิดสวรรค์เป็นใจแค่ไหน เรื่องดีๆอย่างนี้ละครับที่มันหายไปพร้อมกับคำว่า”พัฒนา” จะอธิบายบอกเล่าให้เด็กรุ่นหลังฟังอย่างไรก็อยาก เพราะสภาพเปลี่ยนจากวรรค์เป็นนรกไปหมดสิ้นแล้ว

ที่สตึกมี2-3หมู่บ้านที่เลี้ยงช้างไว้ลากไม้ซุงเข้าโรงเลื่อย สมัยเด็กผมเคยเห็นการแข่งขันวิ่งเร็วที่สนามหน้าที่ว่าการ น่าจะเป็นต้นฉบับของการจัดงานช้างที่จังหวัดสุรินทร์ในเวลาต่อมา เช้าๆชาวกูยก็จะนำช้างว่ายน้ำข้ามไปปล่อยเลี้ยงที่ป่าบุงป่าทามริมฝั่งมูล ตอนเย็นก็นำช้างว่ายน้ำกลับ ก่อนขึ้นฝั่งก็ชวนกันอาบน้ำทั้งช้างทั้งควาน ท่าที่ช้างขึ้นงลงเป็นประจำได้รับการตั้งชื่อในปัจจุบันว่าถนนท่าช้าง ต่อมาเมื่อทางจังหวัดบุรีรัมย์ดำริจัดงานประเพณีแข่งเรือยาว ผมเป็นกรรมการร่วมอยู่หลายปี ได้เสนอให้จัดแข่งช้างว่ายน้ำขึ้น เป็นกีฬาทางน้ำที่แปลกเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ผมช่วยพากษ์ช้างพากษ์เรือแข่งกันอยู่หลายปี

ก า ร พ า ก ษ์ เ รื อ พ า ก ษ์ ช้ า ง แ ข่ ง ขั น เ ป็ น เ รื่ อ ง ย า ก ม า ก

คู่ แ ข่ ง ขั น ไ ม่ ไ ด้ พุ่ ง พ ร ว ด พ ร า ด เ ห มื อ น กี ฬ า อ ย่ า ง อื่ น

เราจะต้องแต่งบรรยากาศด้วยน้ำเสียงและลูกเล่นให้ดูตื่นเต้นระทึกใจ

บางปีลืมตัวตะโกน

จนหลอดลำโพงขาดกระจาย หลอดเสียงผมจึงขาดกระจุยมาเท่าทุกวันนี้

แต่ก็ได้สร้างตำนานพากษ์เรือพากษ์ช้างที่สะเด็ดสะเดา

ทำเอาคนวิ่งเฮมาดู

นึกว่าช้างจะว่ายน้ำแซงกันอุตลุด

กลับได้เห็นคุณงวงยาวชูขึ้นหายใจตัวจมตุ๊บป่องๆอยู่กลางกระแสน้ำเชี่ยว

แต่หลอกทีไรก็วิ่งตาตื่นมาดูทุกที อิ อิ

มีต่างชาติมาถ่ายทำสารคดีไปประชาสัมพันธ์ทั่วโลก

สิ่งที่ผมประทับไว้ในใจเท่าทุกวันนี้ คงเป็นรายการช่วงบ่ายคลายเครียดสไตล์เด็กอีสาน.. เราจะนัดกันขนเตา-หม้อข้าว-เครื่องปรุง-ต้มยำตำแกงลงเรือ คนที่อยู่หัวเรือก็ถือแหเตรียมจองดูปลาผุด คนที่อยู่ท้ายก็จะพายช้าๆเข้าหาแหล่งที่ปลาอาศัย คนที่นั่งกลางลำเรือก็จะก่อไฟหุงข้าว เตรียมหม้อต้มน้ำเดือด ใส่เครื่องปรุงต้มยำ พอนักล่าหว่านแหโครม ! สาวขึ้นมาจะมีปลาสดๆดิ้นกระแด่วๆหลายตัว ปลดออกมาโยนใส่หม้อต้ม รีบปิดฝาไม่งั้นเจอน้ำร้อนกระเซ็น สมัยนั้นหว่านแห2โครมก็ได้ปลาพอต้มแล้ว ท้ายเรือก็จะกวักพายเข้าไปริมฝั่งที่มีไม้ละเมาะเขียวครึ้มโค้งลงหาแม่น้ำ เป็นหลังคานั่งปรุงข้าวปลาอาหารเป็นอย่างดี มองหารังมดแดง เจอก็เปิดฝาหม้อโน้มรังให้ตรงกับปากหม้อ เขย่าให้ตัวและไข่มดหล่นลง บุบพริกสดใส่ลงไปกำหนึ่ง เติมน้ำปลาชิมดู แค่นี้ก็ได้ต้มยำปลาเลิศรสไร้เทียมทานแล้วละครับ ช่วยกันยกเสบียงขึ้นไปล้อมวงบนฝั่ง โจ้ข้าวปลากันซูดซ๊าดถึงใจ อิ่มแล้วก็อพยพลงเรือไปหาหาดทรายนอนงีบตอนบ่าย ตื่นขึ้นมาหาเก็บผักพื้นถิ่น นักล่ากบก็จะด้อมๆไปหากบจำศีลตัวอ้วนที่แอบอยู่ใต้ใบไม้ ได้เวลาก็พายเรือกลับบ้าน พรานปลาก็จะหว่านแหเรื่อยมา จนถึงท่าขึ้นก็เอาปลามาร้อยเป็นพวงแบ่งกันไปฝากทางบ้าน

การที่ได้อยู่ในยุคที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นั้นวิเศษนัก

การรับรู้ยังไงๆก็ไม่เหมือนเราเป็นตัวรู้เสียเองหรอนะเธอ

จึงสุดแสนเสียดายที่เด็กในยุคหลังนี้ไม่ได้เคยสัมผัสความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง

ความรัก ความหวงแหนธรรมชาติจึงยากที่จะเกิดในใจของผู้คนยุคพลาสติก

ชีวิตกับแม่น้ำนั้นเกี่ยวกระหวัดกับทุกกลุ่มทุกวัย ในยามร้อนแล้ง กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้านในหมู่บ้านที่ไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำ จะนัดกัน2-3หมู่บ้านชวนกันมาลงอวนจับปลา การลงอวนต้องใช้แรงงานช่วยกันจำนวนมาก กลุ่มพ่อบ้านที่แข็งแรงจะรับหน้าที่วางอ้วนล้อมเหอะ (เหอะเป็นกิ่งไม้ที่ตัดลงมาสุมไว้ในแม่น้ำให้ปลามาอาศัย) เมื่อวางอ้วนล้อมเป็นที่เรียบร้อยก็จะค่อยๆช่วยกันดึงไม้เหอะออก โยนขึ้นฝั่งให้หมด จะได้ตะล่อมตีนอวนเข้าหากันเพื่อจับปลา ช่วงที่มาถูดต้อนมารวมกันี่แหละ เราจะเห็นปลาน้ำจืดสารพัดชนิด ตัวเล็กตัวใหญ่ บางปีได้ปลาค้าวตัวยาวเป็นวาหลายตัว ก็จะไซโยโห่สนั่นคุ้งน้ำ ตัวไหนเหมาะไก้างไม่เยอะ ก็จะโยนขึ้นฝั่งให้กลุ่มแม่หยิงเอาไปปิ้งไปต้มไปลาบไปก้อย กำลังหิวๆพ่อบ้านขึ้นน้ำมาอะไรก็อร่อยเหาะ

สมัยโน้นปลาชุกชุมลงอ้วน 2-3ครั้งได้ปลาแห้ง ปลาร้า ปลาสดกลับบ้านหลายร้อยกิโล บรรทุกขึ้นเกวียนกลับบ้านไปแบ่งกันอย่างชื่นมื่น วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ ที่เรามองดูว่าไม่เจริญไม่พัฒนาหวือหวา แต่หารู้ไม่ว่า..นี่แหละชีวิตที่ปกติสมบูรณ์พูนผลอย่างแท้จริง ผู้คนในย่านถิ่นนั้นๆเป็นเครือญาติกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งๆที่ไม่มีใครเข้าไปพัฒนาอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นบนฐานวัฒนธรรมไทย

วิถีไทในอดีตเพรียบพร้อมทุกด้าน

ความเป็นอยู่ปกติกินอิ่มนอนอุ่น

มีการงานทำทั่วหน้า

รักษาจารีตประเพณี

สืบทอดวิถีไทได้อย่างบรรเจิด

มีความพอเพียงอย่างเพียงพอฉบับของจริง

เศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้วในอดีต


เราก็ผ่านมาแล้ว กำลังจะผ่านไปสุดกู่

มาย่ำอยู่กับกระแสโลกาวิบัติ

ที่ทุกชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย

หลอกกันไปวันๆว่าไทยแลนด์รุ่งเรืองก้าวหน้า

GDP. มีอัตราก้าวหน้า แต่ชีวิตปวงประชากำลังลงอเวจี

จ๋อม จ๋อม..


เมื่อไม่สอนวิชาเอื้ออาทร

อ่าน: 1599

นึกไม่ออก ว่าเราจะป้องกันน้ำไม่ให้เข้าพื้นที่ในวงกว้างทั้งเมืองได้จริงหรือ

ผมเคยป้องกันน้ำในพื้นที่แคบๆก็แทบแย่

นี่จะป้องกันทั้งจังหวัดในสภาพที่ไม่พร้อมสักอย่าง เจ้าประคุณเอ๋ย

ตัวปัญหาใหญ่คือปริมาณน้ำที่มากและรุนแรงเหมือนเขื่อนแตก

น้ำกี่ล้านลูกบาศก์เมตรหนุนเนื่องกันมาไม่ขาดสาย

ฝนก็ตกผสมโรงอยู่เรื่อยๆ

กำแพงรั่วจุดโน้นพังจุดนี้

สุดท้ายน้ำก็บ่ายหน้าลงทะเล

พื้นที่จุดหมายปลายทางย่อมอ่วมสาหัส

เพราะเป็นจุดรวมศูนย์ของน้ำทุกสาย

หน่วยงานฯต้องตัดน้ำประปาตัดไฟฟ้า

ชาวประชานมุษย์น้ำก็เครียดๆๆๆ

เข็นรถบรรทุกมาปิดถนน

เรียกร้องความสนใจ

ไม่มีใครมาดูแลมาช่วยเราเลย มีคนติดอยู่เป็นพันๆคน

ชาวบ้านมารื้อถุงทรายไปใช้ส่วนตัว

พวกเรือแจวทำลายเขื่อนดินเพื่อนำเรือไปรับจ้าง

โจรขะโมยรบกวนทั้งคืน

เราจะเห็นภาพเชิงบวกและเชิงลบไปพร้อมกัน

จังหวัดหนองคายทรายเยอะ

ผู้ว่าราชการจังหวัด>>ให้ช่วยกันบรรจุทรายใส่ถุงขึ้นรถไฟไปลงที่สระบุรี

น้ำใจหนอน้ำใจ

งานนี้มีทั้งคนอดทนอย่างสุดแสน และคนที่ความอดกลั้นสลาย

อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป

ในเมื่อคนไทยขาดมิติทางสังคม

ไม่มีใครเห็นใจใครเหมือนคนญี่ปุ่น

แม้จะประสบชะตากรรมเลวร้ายอย่างไรหัวใจก็ไม่แคลนคลอน

มองเห็นมนุษย์ทุกผู้ทุกนามเป็นเพื่อนร่วมโลก

ยากลำบากก็ทนยากด้วยกัน สุขก็รับสุขด้วยกัน

สังคมที่ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมันก็จะออกอาการอย่างนี้ละครับ

โรคทางสังคม..ใครจะรักษา


น้ำท่วมปะทะน้ำใจ

อ่าน: 1834

จากน้ำท่วม 47 จังหวัดในตอนแรก แล้วน้ำก็ไหลลงมาท่วมหนัก 24-26 จังหวัด ขณะนี้มาขมวดปมอยู่ 3-4 จังหวัดรอบกรุงเทพ สถานการณ์เฉี่ยวฉิวให้คนทั่วประเทศช่วยกันลุ้นระทึกตลอดเวลา คนที่ไม่ถูกน้ำท่วมอย่างผม ถูกข่าวสารท่วมทับใจจนนอนไม่หลับ ถึงงีบไปบ้างก็ยังเงี่ยหูฟังการรายงานข่าวสาร ที่หน่วยข่าวต่างๆแข่งกันรายงาน ทำให้เราเห็นแง่มุมหลายด้าน เช่น ข่าวเรื่องการอพยพช้างจำนวน100กว่าเชือกหลายครั้ง ขยับพื้นที่ไปเรื่อยๆ ช้างกินอาหารแต่ละวัน 30%ของน้ำหนักตัว เอาไปล่ามรวมไว้ที่สวนแห่งหนึ่ง ต้นไม้ที่อบต.ปลูกไว้ หายไปในพริบตา เสียดายถ้าย้ายทัน อพยพช้างไปไว้ที่ป่าสงวนแล้วล่ามไว้ ใช้วิธีตัดใบไม้ให้ช้างกิน จะช่วยบรรเทาเรื่องช้างขาดอาหารผอมโซได้มาก

ผมเพิ่งทราบว่ามีอาหารเม็ดสำหรับช้างด้วย

ไม่ทราบว่าราคา ก.ก.ละกี่บาท

แต่ยังไงๆราคาอาหารเม็ดสำหรับช้างคงไม่ถูกนักหรอก

ถ้าจะซื้อเลี้ยงช้างจำนวน 100 เชือก ก็คงอ่วมเหมือนกัน

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เราไม่ค่อยได้ทราบข่าวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเท่าใดนัก ข่าวของคนสำคัญมากกว่า ไม่สามารถแบ่งพื้นที่ข่าวให้เรื่องอื่นได้ เราจึงเห็นภาพ หมูตายลอยอืดถูกลางจูงออกมาจากฟาร์ม กลุ่มเลี้ยงไก่ ปลา กุ้ง จระเข้ สุนัข แมว แพะ นก เป็ด จะอลหม่านแค่ไหนก็ไม่รู้ มีฟาร์มแห่งหนึ่งย้ายกวาง 20 กว่าตัวอย่างทุลักทุเล เพราะกวางไม่เชื่องเหมือนวัวควาย ทางสวนสัตว์ดุสิตไม่ประมาทได้ย้ายสัตว์หายากไปไว้ที่สวนสัตว์เขาเขียวบ้างแล้ว

ตรงไหนที่น้ำบุก

มนุษย์ก็ต้องถอยร่น

แม้แต่นักโทษในเรือนจำก็ไม่เว้น มีนักโทษความประพฤติดีได้ออกมาช่วยป้องกันน้ำท่วม แสดงว่างานต่อสู้กับน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์คราวนี้ ผู้คนทุกหมู่เหล่าระดมสรรพกำลังช่วยกันสุดชีวิต อาสาสมัครจากทุกสำนักได้ผ่านประสบการณ์ครั้งสำคัญที่สุดของชีวิต เ ร า ไ ด้ เ ห็ น พ ลั ง น้ำ ใ จ ป ะ ท ะ กั บ พ ลั ง น้ำ ห ล า ก อ ย่ า ง ท ร ห ด รัฐมนตรีบางท่านโอบกอดนักลงทุนที่ร่วมชะตากรรมน้ำตาไหลพราก สู้สุดขีดสุดฤทธิ์แล้วเต็มที่แล้วทั้งวันทั้งคืน ก็ยังไม่รอด

นิคมอุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีก้าวหน้าระดับโลก

แต่ลืม..ไม่เอาเทคโนโลยีป้องกันอุทกภัยมาด้วย

ความเสียหายจึงเกิดขึ้นนับแสนล้านบาท

คุณชายผู้ว่า กทม.ทำงานแบบถวายหัว

เอาอนาคตทางการเมืองเป็นเดิมพัน

ฟังแล้วชื่นใจเป็นบ้า

ตรงกันข้ามกับรัฐมนตรี..ต้ อ ง มี คำ สั่ ง ใ ห้ ล ง พื้ น ที่ อ ยู่ ใ น พื้ น ที่

นายกรัฐมนตรีเป็นสุภาพสตรียังลุยงานตัวเป็นเกลียว

รัฐมนตรีหลายท่านทำงานเป็นสั่งงานได้ถึงลูกถึงคน

แต่รัฐมนตรีบางคนก็น่าถีบ..

รับผิดชอบด้วยคนเน่าๆ น้ำมันก็ยิ่งเน่านะสิเธอ..

แปลแต่จริง คนที่ถูกน้ำท่วม กลับไม่มีน้ำอาบ

จ๋อม จ๋อม  ..


ผูกอู่นอนดีไหม

อ่าน: 1414

อภิมหาโกลาหลเกิดขึ้นกับพี่น้องภาคกลางหลายจังหวัด เมื่อกองทัพน้ำเคลื่อนพละกำลังพังกำแพงดินและทรายราบคาบที่จะจุดๆ ขยุ้มคันดินที่นครสวรรค์ ต้านทานกันได้ 3-4วันก็กำแพงยุ่ย น้ำ น้ำ ทุกหนทุกแห่งสมทบกันบุกอยุธยา อยุธเยศล่มแล้วเบ็ดเสร็จ น้ำสมทบกันมากขึ้น เป็นพลังกดดันดาหน้าเข้าถล่มจังหวัดปทุมธานี ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมาก มีพนักงานนับแสนคน เท่าที่ดูการสร้างกำแพงป้องกัน เห็นว่าทำกันแบบประมาท ถ้าพนักงาน 4-5 หมื่นคน ช่วยกันขนทรายไปตั้งกำแพงคนละ10ถุง ทำให้แน่นหนาและสูงพอควรก็น่าจะต้านทานไหว แต่ก็นั่นแหละคนพูดอาจจะพูดง่าย แต่คนทำเหนื่อยแทบตาย

สรุป น้ำเชี่ยวมากเกินที่จะรับไหว

ความเสียหายเป็นวงกว้าง

ทำให้การป้องกันช่วยเหลือทำได้ยาก

เกินกำลังที่จะทำให้ทั่วถึงได้เท่าที่ควร

บางแห่งจึง อดกลั้น อดทน ตามมีตามเกิด สู้ สู้

พันธกิจกู้วิกฤติน้ำ เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ซับซ้อนทั้งประชากรและพื้นที่ก็หลากหลาย สารพัดปัญหาประเดประดัง จนกระทั้งผูัคนที่เผชิญหน้าคงไม่มีเวลาที่จะคิดใคร่ครวญอะไรได้แล้ว มันมึนงงไปหมด คนที่อยู่วงนอกน่าจะมีเวลาช่วยฉุกคิด ก็คิดๆๆๆหาทางออก จะทำยังไงๆๆๆ ผมกำลังลุ้นการใช้ตู้คอนเทนสร้างกำแพงป้องกันน้ำ ทราบว่าเฮลิคอปเตอร์มายกมีปัญหาต้องล่าช้าออกไป  ถ้าน้ำแรงขอเสนอว่า ให้อ็อกเหล็กเป็นเดือยติดด้านหลังฝั่งต้านแรงน้ำ จะช่วยให้ตู้คอนเทนเนอร์ยันรับน้ำหนักน้ำดีขึ้น

เราได้เห็นการอพยพอย่างอลหม่านเกิดขึ้นไม่ต่างกับตกอยู่ในภาวะสงคราม

เด็กๆ คนแก่ คนเจ็บป่วย น่าสงสารที่สุด

ถ้ามีผู้อพยพสมทบกันมากขึ้นๆก็จะแออัด

ขอเสนอว่าถ้ามีอู่ที่ทำด้วยผ้าร่มแบบที่ทหารผูกนอนในป่า

น่าจะช่วยแก้ปัญหาในการหาวิธีนอนชั่วคราวด้วย

เช่น ผู้ที่ออกไปช่วยเหลือน้ำท่วมน่าจะติดอู่ผ้าร่มไปด้วย

หรือเอาไปฝากผู้ที่เดือดร้อนเรื่องที่พัก

อู่ผ้าร่มนี้ม้วนๆติดตัวเอาไปไหนได้สะดวก

จัดหาได้ง่ายกว่าการเตรียมที่นอนประภทอื่น

เพียงแต่จะต้องหามุมผูกอู่ให้ปลอดภัย

อนึ่ง ถ้าจะใช้กลดแบบพระธุดงค์ใช้ก็ดีตรงที่ป้องกันยุงได้ด้วย

จะได้นั่งสมาธิ ยุบหนอ พองหนอ ลดหนอ แห้งหนอ ..


เชิญเข้าห้องสอบ

อ่าน: 2418

ยามชีวิตฉุกละหุก

ต้นทุนที่สะสมไว้กับตนเองจะมีความสำคัญอย่างมาก

วันนี้เชิญชวนคนไทยมาทำข้อสอบวิชาพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง

เรียนมาแล้วนี่ครับ วิชาเศรษฐกิจพอเพียง

(ถามกันได้ แต่ห้ามลอกข้อสอบ)

ข้อละ10 คะแนน เวลา 1 วัน

:: ข้อสอบวันแรก

ข้อสอบ ภาคเช้า

จงตอบคำถามต่อไปนี้ เวลา 3 ชั่วโมง

1 ในภาวะฉุกเฉินท่านต้องการความรู้อะไรมากที่สุด

2 ท่านตระหนักเรื่องน้ำท่วมครั้งนี้แค่ไหน

3 ท่านติดตามข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมอย่างไร

4 ท่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำท่วมมากน้อยอย่างไร

5 ท่านเตรียมตั้งรับสถานการณ์อย่างไร

6 ท่านปรับตัวอยู่กับสถานการณ์อย่างไร

7 ท่านคิดวิธีช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องไหนบ้าง

8 เรื่องใดที่ท่านช่วยเหลือตนเองไม่ได้

9 ท่านไปขอรับการช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง

10 ท่านได้รับ/ไปขอรับความช่วยเหลือจากใคร

11 เรียงลำดับความจำเป็นและต้องการเร่งด่วน 10 ข้อ

12 เรียงลำดับเรื่องที่ท่านต้องการเสนอแนะ 10 ข้อ

ข้อสอบภาคบ่าย

: จงตอบคำถามต่อไปนี้ เวลา 3 ชั่วโมง

1 ท่านนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในประเด็นใด

2 ท่านใช้จ่ายในระหว่างน้ำท่วมไปประมาณเท่าใด

3 ถ้าคะแนนเต็ม 10 ท่านให้ราคาผลงานกลุ่มรายชื่อข้างล่างนี้เท่าใด

3.1 คณะรัฐมนตรี

3.2 นักการเมือง ฝ่ายค้าน/ฝ่ายรัฐบาล

3.3 นักวิชาการ/นักวิจัย/อาจารย์ในมหาวิทยาลัย

3.4 ข้าราชการระดับกระทรวง

3.5 กองทัพไทย/ตำรวจ/ทหาร ทุกหมู่เหล่า

3.6 ข้าราชการระดับกรม/กอง

3.7 ข้าราชการระดับภูมิภาค

3.8 ข้าราชการส่วนท้องถิ่น

3.9 อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

3.10 เครือข่ายชุมชน/ญาติ/เพื่อนฝูง

3.11 บริษัท/ห้างร้าน

3.12 มูลนิธิ/องค์กรการกุศล/อาสาสมัคร

3.13 ตัวท่านเอง

3.14 อื่นๆ

ข้อสอบภาคกลางคืน

: จงตอบคำถามต่อไปนี้ เวลา 3 ชั่วโมง

1 ท่านเข้าใจว่าสาเหตุน้ำท่วมเที่ยวนี้เกิดจากอะไร

2 ท่านมีความเห็นว่าจะแก้ไขปัญหาในระต้นระยะกลางระยะยาวอย่างไร

3 ท่านจะปรับเปลี่ยนอาชีพ/หน้าที่การงานหรือไม่อย่างไร

4 เรื่องใดบ้างที่เป็นวิกฤติมากที่สุดสำหรับครัวเรือนของท่าน

5 หลังจากน้ำท่วม ท่านจะร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องใด มูลค่าเท่าใด

6 นอกจากความเห็นใจแล้ว ท่านต้องการได้รับเรื่องใดเป็นพิเศษ

7 ท่านวางแผนแก้ไขเรื่องภายในครอบครัวหลังน้ำท่วมอย่างไร

8 ในระหว่างวิกฤตท่านได้ใช้ความรู้ในเรื่องใดมากที่สุด

9 ท่านเชื่อไหมว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

10 ในช่วงที่เกิดวิกฤติหน้าที่ประชาคนคนไทยควรปฎิบัติตัวอย่างไร

11 โปรดเล่าเรื่องที่ท่านประทับใจที่สุด 1 เรื่อง

12 ท่านชื่นชมและอยากขอบคุณหน่วยงานใดเป็นพิเศษ

หมายเหตุ :: รับสมัครอาจารย์คุมห้องสอบ จำนวน 10 ท่าน



Main: 0.060961008071899 sec
Sidebar: 0.089468002319336 sec