วิทยานิพนธ์

อ่าน: 1433

วิทยานิพนธ์ คืออะไร ไม่ขอตอแยตีความนะครับ อนึ่ง ผมประเภทจบมัธยมพอกะเทิน ไม่มีคุณสมบัติที่จะอาจเอื้อมทำเรื่องยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งยวดอย่างนั้นได้ จึงสังเกตสังกาอยู่ห่างๆ  และคอยอ่านเรื่องผู้ที่ศึกษาสำเร็จแล้วนำมามอบให้ เรื่องของสวนป่ามีนักศึกษาจากหลายสำนักเอาไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ แม้แต่สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯก็หยิบเอาไปทำวิจัยในหัวข้อ “บทบาทศูนย์เรียนรู้:กรณีศึกษามหาชีวาลัยอีสาน ยังมีนักศึกษา ป.โท ของจุฬาฯมาทำเรื่อง …นักศึกษา ป.เอก แม่โจ้ และ ป.เอก ม.อุบล กำลังเขมักเขม้นทำเรื่องของผมมาหลายปีดีดักแล้วละครับ ทำยังไงๆก็ไม่จบสักที น้ำตาเช็ดหัวเข้าจนแห้งแล้วแห้งอีก เข่าทั้ง 2 ข้างด้วยนะเธอ

แสดงว่า  การที่จะเป็น ดร.ได้นี่ยากเย็นชะมัดเลย

แต่ก็ทราบข่าวว่ามีช่องทางทำวิทยานิพนธ์ให้ได้เป็น ดร. กำมะลออยู่เหมือนกัน

เช่นบินไปชุปตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์บ้างอินเดียบ้าง

วิธีนี้ง่าย ปีเดียวก็ได้เป็นดร.อุบอิบแล้ว

ผมละอึ้งจริงๆที่ครูบาอาจารย์พากันทำอย่างนี้

ถ้าอาจารย์โง่ จะมาสอนลูกหลานผมให้ฉลาดได้อย่างไร

เรื่องนี้หน่วยงานที่กำกับดูแลควรมีมาตรการเฉ่งปี่ ดร.จำบ่มพวกนี้ให้ชัดเจน

ไม่อย่างนั้นแยกยากครับ คนไหน ดร.จริงคนไหน ดร.เสมือนจริง

พวกที่เสมือนจริงนี้แหละที่ก๋าๆกว่าตัวจริงเสียอีก

สอนลูกศิษย์แบบตัดไม้ข่มนามไว้ก่อน

อาจารย์เก่งยังโง้นเก่งยังงี้ ผ่านงาน ผ่านประสบการณ์มาจนจำแทบไม่ไหว

ลองไล่เรียงดูเถอะ  กลิ่นน้ำนมยังไม่หย่าจากแหล่งที่ไปทำอีแอบมามีเยอะ

หัวข้อวิทยานิพนธ์จะว่ายากก็ยากง่ายก็ง่าย ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละคน ผ่านสมรภูมิการวิจัยมาในระดับไหน สมัยที่เรียนโทตั้งใจทำการบ้านเต็มที่ หรือเรียนแบบปริญญาโธ่! ปริญญาโถ ! เมื่อเช้านี้มีบลอก “ลานชาวนา” โผล่มาแนะนำตัวว่าเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม นักศึกษากลุ่มนี้เคยเข้ามาขลุกอยู่ที่สวนป่าเมื่อเร็วๆนี้ ผมวางยาไว้ว่าให้ลองเข้าไปค้นอ่านในลานปัญญา และเมื่อร้อนวิชาก็ทดลองเขียนบล็อก ปรากฎว่านักศึกษาท่านนี้เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน เป็นไงเป็นกัน เต้นก๋าออกมาปรากฎตัว ผมเห็นแล้วชื่นชมยินดีเป็นอย่างมาก น่าจะเป็นคนแรกที่ค้นพบวิธีไล่ล่า ดร.

การเรียนระดับปริญญาเอกสมัยนี้จะไปรออาจารย์ป้อนนมไม่ได้หรอก

นักศึกษาต้องหาทางค้นคว้าจากแหล่งต่างๆด้วยตัวเอง เดินทางไปพบปะพูดคุยกับผู้สันทัดกรณีจำนวนมากให้ครบถ้วนทุกระดับ  เช่น โรงสี ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าแม่โอท็อปประจำตำบล กรมการข้าว ร้านค้า แม่ค้า ชาวนา หัวหน้าม็อบชาวนา เครือข่ายชาวนา เครือข่ายผู้บริโภค แม้แต่เจ้าแม่โพสพ เจ้าที่เจ้าทาง ขาใหญ่ นายทุนปล่อยดอก พวกรับจำนำข้าวเขียว โอย เขียนไม่ไหวหรอก ลงไปทำถึงจะรู้ว่ายังขาดเหลืออะไร ศึกษานโยบายและมาตรการต่างๆ ข้อดี ข้อด้อย กรณีการทุจริตในวงการรับจำนำข้าว เล่ห์กลที่ชาวนาถูกกระทำ ฯลฯ

จงลงมือทำในบ้างเรื่อง หลายๆเรื่อง

ที่ผมแนะนำมาที่ลานปัญญญาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ยังมีเรื่องที่จะฝ่าด่านอรหันต์อีกไม่รู้กี่ด่าน

ต้องค้นคว้าเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้แตกฉานจนสามารถหยิบมาเขียนเป็นโมเดลได้

ไม่อย่างงั้นจะเอาอะไรไปรับปริญญา

นักศึกษาต้องไปเก็บเรื่องธรรมดาไม่รู้ก๊่ร้อยฉบับมาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องพิเศษ 1 เรื่อง

แถมยังไม่ซ้ำรอยซ้ำแบบใครด้วยนะ

ยกตัวอย่างเรื่องของชาวนา โอ้โฮ้ มีโจทย์วิทยานิพนธ์ไม่เลือกทำได้รู้กี่ร้อยฉบับ เพียงแค่ผมอยากจะรู้ว่า ชาวนาจะสร้างเครืองข่ายวิวัฒนาการการทำนาให้เข้ากับยุคสมัย ที่มีกระบวนการยกระดับการปลูก การผลิต การจำหน่ายของตนเอง ที่ตั้งสมมุติฐานไว้นี้ นักศึกษาบอกได้ไหมว่า ถ้าจะไปสร้างกลุ่มชาวนาที่ลืมตาอ้าปากได้ด้วยตนเองจะต้องคิดต้องทำอย่างไร ถ้านักศึกษาไปลงมือพาชาวบ้านทำขึ้นมา ตัวเองลุยโคลนไปกับเขาด้วย แล้วตามเก็บกระบวนการทุกลำดับชั้นไว้มาร้อยเรียง ให้เห็นแผนที่การสร้างชาวนาพันธุ์ใหม่ ถ้าทำหัวข้อการเกิดขึ้นชาวนาพันธุ์ใหม่ โห  ผมว่าจะจ๊าบส์มากเลยละครับ

ถามว่ายากไหม

เอาอะไรมาวัด

ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ถ้านักศึกษาไม่ไปเป็นตัวชาวนาเสียเอง

มันตีบทไม่แตกหรอก

เ รื่ อ ง ช า ว น า ใ ค ร จ ะ ม า รู้ ดี ก ว่ า ตั ว ช า ว น า ละ ค รั บ

อยากจะเป็น ดร.เรื่องชาวนา ก็ต้องไปเป็นชาวนา

ถามว่ามีวิธีอื่นที่ดีและง่ายกว่านี้ไหม ?

มี

แ ต่ ผ  ม ไ ม่ รู้ จั ก  ?

อนึ่ง ในระหว่างเขียนต้นฉบับโมเดลอีสาน เส้นทางมันก็คล้ายกับที่เล่ามาข้างบนนั่นแหละ ผมต้องมาออกแบบว่าจะร่ายทวนอย่างไร คำถามแรก เจ้าเป็นไผ เจ้าทำอะไรมาบ้าง เจ้าไปเกี่ยวข้องกับงานใดบ้าง เมื่อได้ประเด็นหยาบๆมาอย่างนี้ ผมก็พอจะได้เค้าแบ่งเรื่องที่จะเขียน เช่น

ไปยุ่งกับการศึกษา ก็เขียนกระเทาะมุมการศึกษาเท่าที่ไปรู้เห็นมา แล้วคิดว่าจะทำอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร

ไปยุ่งกับกระทรวงสาธารณสุข ก็เขียนเรื่องสุขภาพสุขภาวะที่เกี่ยวข้องและเผชิญอยู่

ไปเกี่ยวข้องกับงานวิจัย ก็เขียนเรื่องวิจัยไทบ้าน เรื่องวัวกินใบไม้ วัวกินไวน์ก็ว่าไป

ไปเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาท้องถิ่น ก็เขียนเรื่องบทบาทของมหาชีวาลัยอีสาน

ไปเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ ก็เขียนเรื่องชุมชนคนแซ่เฮยังไงละเธอ

ไปเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เขียนประมวลไว้ในโมเดลอีสาน

ก็เหมือนผมรักใครสักคน ผมก็ต้องเขียนถึงคนนั้นสิครับ

เขียนและทำในสิ่งที่ตัวเองรู้ มันสอบไม่ตกหรอกนะเธอ อิ อิ ..

:: ข่าวล่ามาเร็ว 12-14 นี้ ต้องไปร่วมงานมหกรรมสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่เมืองทองธานี

ชาวแซ่เฮ มีใครมาบ้างไหมครับ แหม มันน่าชุมนุมชาวเฮนะนี่

ผมมีรายการจะตามมูลนิธิชัยพัฒนาไปที่ลาวในช่วงนี้ แต่ก็ต้องบายเสียแล้ว

จำต้องเข้ากรุงไปงานดังกล่าว เบี้ยวประชุมเขาบ่อย จนหนังสือเชิญมีรังสีอำมหิต ..ตอกย้ำจัง..

” ในฐานะที่ท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สวรส.จึงขอเชิญท่านเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าว จึงเรียมาเพื่อโปรดพิจารณาดัวย จะเป็นพระคุณ “

งานดังกล่าว อยากให้เบริด์มา เตรียมเรื่องใส่ซองมาด้วย จะได้จับแพะชนแกะให้รู้แล้วรู้รอดเสียที

เข้าไปดูรายละเอียดที่นี่ >> ผู้ประสานงาน คุณวันเพ็ญ ทินนา e-mail:wan...@hsri.or.th


คำนิยม

อ่าน: 1564

ผมรู้จักครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ผู้เขียน “โมเดลบุรีรัมย์” เล่มนี้มานานหลายปีแล้ว ผมรู้สึกประทับใจในความละเอียดอ่อนของท่านที่มีต่อสภาพสิ่งแวดล้อม และความมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ได้แพร่ขยายในสิ่งที่รู้ให้แก่ผู้อื่น โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ครูบาสุทธินันท์ ได้เปิดบ้านให้เป็นโรงเรียนเรียกว่า “มหาชีวาลัยอีสาน” เพื่ออธิบายองค์ความรู้ที่สะสมมาและถอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น บ้านจึงเป็นเสมือนสถานที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใฝ่หาความรู้

“โมเดลบุรีรัมย์”เล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ส่วนหนึ่งของครูบาสุทธินันท์ในการทำการเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพที่แข็งแรงและพึ่งตนเองได้ โดยให้ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้ยืนต้นและการเลี้ยงปศุสัตว์ให้มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้มาจากการปฏิบัติจริง

ผมมีความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน ทั้งจากเนื้อหาและวิธีในการเขียนที่ได้อรรถรสชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านควรจะได้หาอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ต่อไป

(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล)

หมายเหตุ ฝากถึงป้าหวาน งานที่ป้ากรุณาสำเร็จดั่งใจหมาย แล้วละครับ

ผมมองอย่างนี้ครับ >>

คำนิยมหลักจากพระอาจารย์ใหญ่ ดร.สุเมธ ตันนิเวชกุล ได้เมตตามอบมาให้แล้ว ถ้าตีความคำว่า “คำนิยม” ผมก็ไม่ทราบว่ามีที่มาเป็นอย่างไร เมื่อก่อนจะมีสมุดเยี่ยมให้ท่านที่มาเยือนเขียนเป็นที่ระลึกไว้ แต่ถ้อยคำในสมุดเยี่ยมมันก่อเกิดกำลังใจให้แก่เจ้าสำนักเท่านั้น ไม่สามารถออกไปเปิดเผยภายนอกได้

ผมมองอย่างนี้ครับ>>

การมีส่วนร่วมมือร่วมใจระหว่างชาวเฮนั้น สามารถที่จะออกแบบให้บรรเจิดอย่างไรก็ได้ เพราะคุณสมบัติในตัวตนแต่ละท่านนั้นธรรมดาที่ไหนเล่า ยิ่งกว่าผมมีห่านออกไข่เป็นทองคำเสียอีก ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรหนอ ห่านถึงจะเบ่งไข่ให้ ผมจะได้ถือตะกร้าเดินไปเก็บทุกๆเช้า

ผมมองอย่างนี้ครับ >>

หนังสือโมเดลบุรีรัมย์ ที่จริงชื่อนี้ออกจะเฝือไปแล้ว แต่ทำไงได้ ในเมื่อกำหนดลงไปแล้ว
เราทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ผมก็จะเขียนตามควานนึกคิดเท่าที่จะมีน้ำยา
..เหลียวหลังบ้าง มองไปข้างหน้าบ้าง..ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองอย่างนี้ มีประเด็นชวนขนหัวลุกอยู่ไม่น้อย จะชนตรงๆก็คงไม่เหมาะ กองขี้หมาเอาเท้าไปเตะก็เหม็นเปล่าๆ เอาแค่เขียนให้มั่นไส้พอหอมปากหอมคอ ซึ่งอาจจะหกคะเมนเค้เก้ได้ เพื่อไม่เป็นการประมาท ผมถึงชวนให้ญาติโกเขียนอะไรมาร่วมขบวนแห่กันหลอนที่ชื่อ “โมเดลอีสาน” ไงละครับ

ผมมองอย่างนี้ครับิ>>

เท่าที่ตามอ่านเรื่องในลานปัญญา ผมเห็นสไตล์ของแต่ละท่านบรรเจิดนัก ล้วนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดผ่านร้อนผ่านหนาวจนผะผ่าว ลองพิจารณาเส้นอักษรของแต่ละท่าน ยิ่งอ่านก็ยิ่งเสียดาย ทำยังไงความพิเศษเหล่านี้จะกระโดดออกมาจากหน้ากระดาษได้ ผมไม่รู้นะครับ ท่านจะเขียนทิ้งเขียนขว้างไปทำไม ขอให้รู้เถิดว่า ผมอ่านด้วยความชื่นชม เที่ยวเอาไปโม้เป็นบ้าเป็นหลัง ว่าตนเองมีจอมยุทธยืนอยู่รอบข้าง จะรู้จะเรียนอะไรละ ขอร้องได้ ถามได้ อยากจะบอกว่า ..เจ้าเป็นไผ ได้ไปแสดงอภินิหารอยู่ในที่ต่างๆทั่วประเทศ บางท่านอ่านแล้วเอาไปขยายผลกับนักศึกษา บางท่านเอาไปอ้างอิง

บางท่านเจอหน้าบอกว่า

ผมอ่านแล้ว 3 รอบ

ฮ้า ! ยังงั้นเลยหรือครับ

ด้วยเหตุผลนี้ละครับพี่น้อง >>

โปรดช่วยทำให้คนขี้โม้ได้โม้สะบัดช่อขึ้นไปอีกได้ไหมครับ

ขอสั้นๆ ท่านละ 1 หน้า แล้วท่านจะรู้ว่า

ท่านน่ารักน่ากอดที่สุดในโลก

:: ยกตัวอย่างที่ส่งมาแล้ว

อุ้ย ละเมียดละไมให้ความรู้เรื่องสุขภาพใจควบคู่กับสุขภาพกายได้อย่างเฉิดฉาย

อาว์เปลี่ยน กะเทาะวิถีชีวิตในลาวมาให้เราออนซอนหลาย

บางทราย ผมขออนุญาตคัดเอาตอน : ที่ว่างของชาวบ้าน

มุมคลิกของผู้ที่คร่ำหวอดงานติดดินเท่านั้นที่จะกระแซะแก่นออกมาได้

เบิร์ด เขียนเรื่องทิ้งหมัดเข้ามุม สะเด็ดสะเด่าเหลือกำลัง

เป็นไปได้ไง..ผู้หญิงตัวเล็กๆหวานๆจะทิ้งน้ำหนักอักษรแบบโป้งเดียวจอดเยี่ยงนี้

คิดเรื่องนี้แล้วสนุกครับ

ถ้ามีท่านอุปการข้อเขียนกันมามากๆ

ผมจะขยายเป็นโมเด็ลเล่มที่ 2

อาจจะใช้ชื่ออื่นที่ไม่โหลแบบเล่มแรก

ไม่ได้คิดเอาสนุกนะครับ

คิดเบาๆ แต่เอาจริงนะเธอ

ได้ขอคำนิยมท่านอาจารย์ เกษม วัฒนชัย ไว้แล้ว



Main: 0.82240700721741 sec
Sidebar: 0.078593969345093 sec