เปาฮือลาว
ช่วงที่น้ำหลาก ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานปรับตัวไปตามสถานการณ์ โดยเฉพาะอาหารการกิน คนอีสานกินง่าย กินทุกอย่างที่วิ่งตัดหน้า มีคนเอาไปพูดว่า..อะไรวิ่งตัดหน้าคนอีสานเอามาทำกับแกล้มได้หมด แสดงว่าวิชาเปิบพิศดารคงจะมาจากฝีมือพ่อครัวชาวอีสานนี่เอง ผมได้เฝ้าสังเกตุเรื่องนี้จากห่อข้าวของคนงาน ช่วงกลางวันเขาจะตั้งวงกินข้าวปลากัน ใครมีอะไรก็เอามาแบ่งปัน คนที่อยู่ในที่ลุ่มก็เอากุ้ง หอย ปูปลา มาทำอาหารเลี้ยงกัน กระทั้งวันไหนที่ไม่ได้ห่ออะไรมา ก็จะไปสับเอาหน่อไม้มาต้มจิ้มน้ำพริก เอามะละกอมาทำส้มตำ อร่อยซู๊ดซาดผ่านไปมื้อหนึ่ง
(จุดรีๆสีขาวคือตาที่ต้องผ่าออก หอยบางตัวจะมีไข่สีแดงส้มๆ)
เมื่อวานนี้แห้วเดินไปดูคนงานล้อมวงอาหารกลางวัน
สังเกตุเมนู มีปลาตัวเล็กๆปิ้ง ส้มตำ และหอยโข่งต้มจิ้มแจ่ว
เจ้าหอยโข่งนี่ละครับที่แห้วซักไซ้ไล่เลียงว่ามันเป็นยังไงกันแน่
คนงานบอกว่า..ต้องแกะเอาตามันออกก่อน
ไม่งั้นกินไป..จะทำให้ปากเบี้ยวได้ !!
เอ๊ะ ปากเบี้ยวเพราะอะไร แห้วหันมาถาม
ผมก็จนด้วยเกล้า..ไม่แน่ใจว่าปากเบี้ยวเพราะสาเหตุอะไร
บอกคนงาน..พรุ่งนี้ขอหอยโข่งสัก 1 ตะกร้า
(น้ำจิ้มซีฟูดฝีมือแห้ว)
วันนี้ลุงอาน คนเลี้ยงวัว เอาหอยโข่งมาฝากหนึ่งถังตัวโตๆทั้งนั้น มีจำนวนปรระมาณ 40-50 ตัวได้ จึงชวนแห้วศึกษาอาหารอีสาน เผื่อจะได้เป็นต้นทุนในยามวิกฤติภายหน้า ไม่แน่นะครับ ..คนเราถ้ามีความรู้ปรับตัวได้เก่งๆ..ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ เอาไปวางไว้ตรงไหนก็เอาตัวรอดได้ ผมจึงชวนแห้วเอาหอยมาปรุงอาหาร อันดับแรกเอาหอยไปต้มก่อน แต่ของเราพิเศษหน่อย ในหม้อต้มเอาใบมะกรูด-ใบมะขาม-ผ่าผลเสาวรสใส่ลงไป2ลูก เอาเกลือใส่ลงไปประมาณหางช้อน เคล็บลับสำคัญในการลวกหอยคือ
ต้องใส่หัวน้ำส้มลงไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ
จะทำให้เนื้อหอยกรอบ ถ้าเป็นหอยแครงเปลือกจะอ้าจิ้มเนื้อง่าย
หลังจากผ่านกระบวนการต้มนานจนปากหอยหลุดแล้ว เราจะเอาหอยไปแช่น้ำเย็นทันที จะเห็นว่าเมือกต่างๆจะหลุดล่อนไป เอาซ่อมจิ้มเนื้ออกมา ผ่าตรงกลางหัวหอย จะเห็นถุงกระเปาะกลมๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า”ตา” เท่าที่ผ่าดูผมคิดว่าน่าจะเป็นกระเพาะอาหารของหอยมากกว่า ลักษณะเป็นเหมือนเศษหญ้าหรือใบไม้ป่นที่หอยกินเข้าไป พวกไส้เครื่องในต่างๆเอาทิ้งหมด ล้างให้ดีแล้วเอาเกลือเคล้าอีกรอบ ล้างออกอีกที เอาใส่ถ้วยนำไปเว็ปประมาณ 3 นาที
แห้วเป็นสาวลูกน้ำเค็มเมืองสุราษฎร์
บอกว่าวันนี้หนูจะแสดงฝีมือตำน้ำจิ้มซีฟู๊ด
ที่บ้านเคยมีเรือประมง
จึงมีทักษะทางด้านทำอาหาร
วันนี้โชว์น้ำจิ้มหอยรสเข้มถึงใจ
(หอยที่ต้มสุก-ล้าง-พร้อมนำไปปรุงอาหาร)
คนใต้กินเผ็ดแต่ก็กลมกล่อม น้ำจิ้มเหมาะกับอาหารประเภทนี้ หลังจากชิมกันคนละหมุบละหมับ แห้วให้ความเห็นว่าถ้าเอาเนื้อหอยผัดเผ็ดน่าจะเด็ดสาระตี่ ที่จริงหอยพวหนี้เอาไปแกงเผ็ด เอาไปทำลาบ หรือเอาไปยำก็อร่อยทั้งนั้นแหละ เพียงแต่เราต้องต้มให้สุกและทำตามกรรมวิธีข้างต้น ก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติกรุ๊บกรอบไม่แพ้หอยเปาฮือหรือหอยประเภทใดในโลก หลังจากเจี๊ยะกันลงพุงแล้ว เราก็มาคุยกันถึงหอยที่ชาวบ้านเก็บเอาในท้องนา ไม่ต้องซื้อหาใดๆ นอกจากในน้ำมีปลา ในนามีน้ำแล้ว ยังมีหอยตัวโตๆให้เก็บมาทำอาหารอีกด้วย
(มื้อกลางวันมีต้มซุปข้อขาไก่กับหอยจิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ด)
หอยที่ว่านี้มี 2 ชนิด
ชนิดที่หนึ่งคือหอยโข่งพื้นถิ่นบ้านเรา
หอยชนิดนี้ไม่ต้องแกะเอาตาออก
ชนิดที่สองคือหอยเชอรี่
เข้าใจว่าน่าจะเป็นหอยสายพันธุ์จากต่างประเทศ
เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หอยเชอรี่เข้ามาทางไหนยังไม่มีเวลาค้นประวัติ ก่อนหน้านี้มีหอยก้นแหลมขยายพันธุ์ไปทั่ว เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในที่มีความชื้นบนบก ไต่กินใบไม้ใบหญ้า ขยายพันธุ์ได้ดีแต่ชาวบ้านไม่นิยมรับประทาน ทราบว่ามีผู้เก็บไปต้มแคะเอาเนื้อส่งจำหน่ายต่างประเทศ หลังจากนั้นก็มีหอยเชอรี่แพร่พันธุ์ง่ายระบาดรวดเร็ว ภายในไม่กี่ปีก็มีหอยทั่วทุกหนทุกแห่งในท้องนาและที่ลุ่มบ้านเรา หอยเชอรี่จะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ บางแห่งข้าวเสียหายอย่างมาก หอยเชือรี่มีไข่สีชมพูเกาะอยู่เหนือน้ำสวยแปลกตา ชาวนาจะเก็บหอยออกไปทำปุ๋ยทำอาหารเลี้ยงเป็ด เอาเปลือกไปเผาแล้วบดผสมหัวอาหารเลี้ยงหมู แต่ก็มีชาวบ้านบางกลุ่มเอาหอยมาประกอบอาหาร เพราะลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงกับหอยโข่งพื้นบ้านเราทุกอย่าง เพียงแต่ต้องแคะเอาตาออกเสียก่อนดังกล่าวข้างต้น
แสดงว่าชาวบ้านคงสังเกตุเห็นจุดพิเศษดังกล่าวนี้
ไม่ได้หลับหูหลับตาสวาปามใดๆ
คงจะมีคนปากเบี้ยวเพราะหอยประเภทนี้จนผิดสังเกตุ
เรื่องนี้เราจะได้แง่คิดในการใช้ชีวิตเชิงประยุกต์
คนอีสานยังรักษาอัตลักษณ์เรื่องเปิบพิศดารเอาไว้อย่างแน่นเหนียว
เรื่องนี้..สนับสนุนวิธีใช้ชีวิตระหว่างน้ำท่วม
อย่างน้อยคนที่ตกน้ำป๋อมแป๋มเจอหอยตัวกลมๆ..
ช่วยกันเก็บมาทำกับแกล้มได้อร่อยเหอะ
ตอนเย็นเดินผ่าน..
ลุงอาน แกยังร้องบอกว่า..เอาอีกไหมหอย
โธ่ๆๆใจคอจะไม่ให้กินอย่างอื่นเลยรึลุง
จ๋อม จ๋อม จ๋อม..