คนสกุลเฮ

อ่าน: 1840

ถ้าไม่ลำบาก..ฝากเก็บแววตาาา นั้นไว้  อย่าเพิ่งใช้ไปมองใคร เก็บไว้มองฉันก็พออออ

ถ้าไม่ลำบาก..ฝากเก็บสองมืออออ นั้นไว้ อย่าเพิ่งใช้กุมมือใคร เก็บไว้มือฉันอุ่นก็พอออ

ถ้าไม่ลำบาก..ฝากเก็บฉันคนนี้ไว้ ในหัวใจเธอได้ไหมมม แค่ตลอดไปก็พออออ

นะ นะ นะ ขอเธอได้ไหม

วันฟ้าหม่น ฝนโปรยปรอยคอยต้อนเราไว้ไม่ให้ออกไปไหน นั่งทำงานฟังเพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อร้องที่คัดย่อไว้ข้างบนนั้น  ดนตรีบรรเลงด้วยเมาท์ออกแกน เสียงพริ้วไหวเข้ากับเสียงออดอ้อนของนักร้องที่ชื่อหนูจั๊กจั่น วันวิสา “เมื่อถูกความรักหาเจอ” เป็นเพลงที่บันทึกมากับไอโฟน4 ระบบเสียง ดนตรี คำร้อง สอดพ้องต้องกันอย่างลงตัว นึกต่อไปว่า..เราไม่เคย..ถ้าไม่ลำบาก เพราะตั้งแต่มีพี่ป้าน้าอามาเป็นเครือญาติสายลานปัญญา มีมิตรไมตรีที่ไม่ต้องออดอ้อนใดๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนทำอะไรล้วนได้รับสิ่งที่ดีพิเศษสุดยากจะหาจากที่อื่นได้ ผมดูจะเป็นคนที่ได้รับความห่วงหาอาทรมากกว่าใคร เพราะตกอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยจะดีนัก ถึงกระนั้นก็ยังโลดโผนโจนทะยานมิได้ดูแลสังขารตัวเองเท่าที่ควร ทั้งๆที่มีโรคประจำตัวเกาะกุมอย่างแน่นเหนียว มันทำท่าจะวอแวกับผมมากขึ้นๆ

คิดว่า..ยังไงก็ได้ ตัวเชื้อโรคมาอาศัยอยู่ด้วยก็อยู่ๆกันไป

ถ้าถึงคราที่มันจะชนะก็ไม่เป็นไร

อยู่มาก็นานจนเกินควรแล้ว

อายุมากทำอะไรไม่ได้ อยู่ไปก็เกะกะโลกเปล่าๆ

จึงไม่ลำบากที่จะไปจะมายังแดนอันไกลโพ้น

ซึ่งพวกเราทุกคนก็ต้องไปกันอยู่แล้ว

เพียงแต่ผมไปก่อน..ก็จะไปเตรียมการไว้รอ

เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ..

ถึงเวลาพร้อมหน้าไม่ว่าอยู่แดนไหนก็คงจะเฮฮากันเหมือนเดิมนั่นแหละ  อิ  อิ..

ผมพบความวิไลในชีวิตอย่างอิ่มเอิบ นั่งทวนกระเทาะเรื่องราวเมื่อคราวเราจัดงานเฮฮาศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ นับตั้งแต่ดงหลวง กระบี่ เชียงราย ภูเก็ต หรือแม้แต่สวนป่า ทุกสถานที่เต็มไปด้วยตำนานของหมู่เฮาที่ยากจะเว้าวอนได้หมดจด เด็กๆตัวเล็กที่ไปร่วมงานทำให้พี่ป้าน้าอาสนุกสนานแบบสุดเหวี่ยง นึกถึงภาพขี่ม้าส่งเมือง เด็กๆร้องๆเต้นๆ ผู้ใหญ่ล้อมวงกอดสามัคคี พระอาจารย์เฮ็นดี้วิ่งไปเปิดเพลงให้อย่างทันท่วงที หรือแม้แต่รายการกอดแบบกดปุ่ม มีที่นี่ที่เดียว ขอบอก

สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะกะเกณฑ์อะไรได้ การที่ได้รู้จักมักจี่เป็นญาติกันก็คุ้มกับการเกิดมาในชาตินี้ ยกให้เป็นเรื่องทึ่งแห่งศตรวรรษได้เลยละครับ เท่าที่ร่วมสังฆกรรมกันมา เป็นอิสระไมตรีที่อยู่นอกเหนือสาระบบใดๆ เอาใจเป็นที่ตั้ง จึงไม่มียังงั้นยังงี้ อะไรดีที่สุดก็จัดสรรให้เครือญาติของตน ผมนึกไม่ออกว่ามีกลุ่มสังคมแห่งยุคนี้ที่ไหนบ้างที่เป็นอย่างของเรา สายญาติที่เป็นหมอนอกจากจะเขียนเล่าวิชาความรู้ให้อ่านกันแล้ว ยังช่วยอ่านรายงานการตรวจวัดโลหิตให้ด้วย ส่วนท่านที่สันทัดกรณีด้านการเจาะโลหิต ก็บริการชนิดที่โรงพยาบาลไหนก็บริการไม่ได้ ยังมีผู้อุปการะคุณคอยแสวงหายาดีๆมาให้อีกเป็นกะตั๊ก อีกทั้งพาไปพบปะแพทย์ที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค เป็นความห่วงใยที่แม้แต่ไรก็ไม่ให้ไต่ให้ตอม

บางคนไม่รู้จะทำอะไร

ซื้อวิตตามินมาให้ขวดใหญ่

ชนิดที่กินยังไงก็ไม่หมด

เหมาะที่จะวางขายทั้งปีนั่นแหละ

ในวาระที่จะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง จึงส่งข่าวไปถึงหมู่เฮา ขอเรื่องเล่าดีๆมาช่วยมะรุมมะตุ้มกัน ก็มีมามีให้อย่างทันอกทันใจ ดังนั้นเรื่องที่ท่านอ่านในแต่ละบทต่อไปนี้ ดูจะเป็นกองเชียร์ที่มากด้วยน้ำใจ บรรเจิดอำไพเหลือประมาณ ลองอ่านแล้วจะรู้เองละว่า สังคมคนแซ่เฮนั้นไม่ใช่เอาไหนเอาด้วย แต่ช่วยด้วยใจเต็มร้อย ชนิดที่ไม่ต้องทอนเสียด้วย อย่าว่าแต่ ขอแววตา ขอกุมมือ ขอหัวใจ กลุ่มเรามีให้กันได้ไม่อั้น แบบไม่ต้องมาร้องวิงวอนอ้อนออดเหมือนเพลงข้างบน

ลองอ่านดูนะครับ

ถ้าชอบใจก็ยิ้มได้เลยไม่ต้องขออนุญาติ อิ อิ..

คนไข้บอกจิตแพทย์ว่า “หมอครับ ผมสงสัยว่าตัวเองจะเป็นบ้า”

“จริงหรือ ทำไมถึงคิดอย่างนั้นล่ะ”

“เพราะผมเริ่มเขียนจดหมายถึงตัวเองน่ะสิ”

“คุณเขียนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”

“เมื่อวานนี้ครับ หมอ”

“จดหมายเขียนว่าไง”

“จะไปรู้ได้ไง ผมยังไม่ได้รับเลย”


วิพุทธิยาจารย์อาสา

อ่าน: 3512

เรื่องถ้อยคำสำนวนเฉิดฉายต้องยกให้จุฬาลงกรณ์เขาละ คณะอักษรศาสตร์ของที่นี่นับเป็นอ๋องหนึ่งไม่มีสอง ถ้าตามอ่านชื่ออาคารต่างๆก็จะเห็นว่าไม่ซ้ำแบบใคร ถ้าไม่ทำการศึกษาไว้บ้างก็ค้างคาใจตะหงิดๆ เอ๊ะ แปลว่าอะไร มีความหมายอย่างไร แม้แต่คำว่าวิพุทธิยาจารย์อาสานี่ก็เถอะ อาจารย์อรรณพ คุณาวงษศ์กฤษ ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้เล่าที่ไปที่มาให้ฟังว่า หมายถึง “ครูผู้รู้” ที่จุฬาฯมีครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ลูกหาเป็นกะตั๊ก ถ่ายทอดส่งผ่านการฝึกฝนฝึกหัดรุ่นแล้วรุ่นเล่า ออกไปทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเอนกอนันต์ เมื่อมาคิดอ่านทำโครงการสร้างชีวิตให้แก่เกษตรไทย ผมถือว่าเป็นบุญของประเทศนี้ที่จุฬาฯคิดทำ ถึงจะคิดช้าไปหน่อยก็ยังดีกว่าดูดาย

การดูแลแก้ไขระบบการเกษตรมีมาทุกยุคทุกสมัย เราล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอด บางโครงการก็เอาเกษตรกรเป็นหนูลองยาบ้าง เอาเป็นเครื่องมือบ้าง เอาเป็นเป้าหมายเถื่อนบ้าง ที่ตั้งใจดีก็มีไม่น้อย แต่พลังของการทำงานไม่มากพอและไม่ต่อเนื่อง จึงเปรียบเสมือนหุงข้าวแล้วแก็สหมดกระทันหัน จึงต้องเลิกรากันไป ภาคการเกษตรยังมีความสำคัญอย่างมาก คณะผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจึงหนีไม่ออก ทุกปีก็จะมีโครงการมาตอดนิดตอดหน่อยเป็นประจำ ยังไม่มีโอกาสที่จะนั่งจับเข่าคุยกันวางแผนให้ได้วาระแห่งชาติฉบับตัวจริงเสียงจริง แม้แต่ในแผนงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเองก็เถอะ ต้องกำกับดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะกึกติดกักไปหมด ไม่มีอิสระที่จะทำแบบฟันธงลงไปได้แบบจะจะ อุตสาหกรรมว่าอย่างนี้ ภาคเอกชนว่าอย่างนี้ ภาคการเมืองว่าอย่างนี้ แค่นี้ก็ทับเสียงชาวบ้านจนดิ้นกระแด่วแล้วละครับ เกษตรกรโดนกระทำมากๆก็เอ๋อสิครับ พลังสติปัญญาหดหายความทะเยอทะยานก็ริบหรี่ จากความรู้ความสามารถที่มีมาในอดีตก็เลอะเลือนไปสิ้น ทิ้งชุดความรู้เดิม จนบอกไม่ได้ว่า..

วันนี้อยู่กับชุดความรู้อะไร

โลกใบนี้ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกไปเสียทั้งหมด

ถ้าคิดดี ทำดี เป็นการดีที่สุด

คิดเลอะ ทำเลอะ ก็เหนื่อยหน่อย

เกษตรกรทุกวันนี้ไม่ได้ทำการเรียนรู้ภายใต้บริบทของตนเอง ไปตกอยู่กับเงื่อนงำที่ภายนอกยิบหยื่นให้ ประกอบกับไม่ได้มีการตั้งรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ถูกชี้นำแบบมักง่ายเรื่องที่จะ รวยมากๆ รวยเร็วๆ และรวยง่ายๆ เมื่อถูกหลอกให้ตกอยู่ในห่วงกิเลศที่หอมหวาน จึงพากันทิ้งชาติภูมิดั่งเดิมของตนเอง กว่าจะรู้ตัวก็มายืนขาแข็งในโรงงานสกปรกที่เต็มไปด้วยมลพิษ ต้องมาเดินเร่รอนขายล๊อตเตอรี่เหมือนเจ้าไม่มีศาล การพัฒนาที่ผ่านมา > >

ได้เปลี่ยนเกษตรกรเป็นกรรมกร

ได้เปลี่ยนสภาพภูเขาแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้เป็นสิ่งโสโครก

ได้เปลี่ยนความพากพูมใจในวิถีไทและอัตลักษณ์ให้เป็นตัวด้อยสติปัญญาต้องหาคนจูงจมูก

ได้คุมกำเนิดความคิดความสามารถของเกษตรกรจนอยู่หมัด

ได้ทำลายบริบทการพึ่งพาตนเองจนต้องหันมาหาปัจจัยภายนอกแทบทั้งหมด

ถามว่า  วันนี้เราจะพัฒนาเกษตรกรที่มีต้นทุนต่ำดังกล่าวข้างต้นได้อย่างไร

ภาคการเกษตรบ้านเราที่ก้าวหน้ามีชื่อเสียงไปทั้งโลกก็พอมี เราส่งออกสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ปลา ข้าว ยางพารา ปีหนึ่่งๆนับล้านล้านๆบาท ตรงนี้เป็นเครื่องหมายของความเจริญก้าวหน้าใช่ไหม ก็ใช่นะสิ แต่มันเป็นการเจริญแบบมัดมือชก ไม่ได้โอบอุ้มเอาภาคการเกษตรของคนในชาติให้ลืมตาอ้าปากไปพร้อมกันด้วย มุ่งไปข้างหน้าแบบไร้น้ำใจ กดคอซื้อผลผลิตการเกษตรเป็นประจำใช่ไหมเล่า เอาเปรียบได้มากเท่าไหร่ก็ร่ำรวยมีชื่อเสียงมากเท่านั้น รวยแบบมีเงื่อนไขบาปติดตัวสักวันคงรู้สึก พระท่านบอกว่า เหตุมาจากผลของการกระทำ ถ้าตอบว่าตัวเองทำดีแล้วด้วยความสุจริตใจก็ขออนุโมทนาด้วย

การทำมาหากินในระบบทุนนิยม สุดท้ายก็เห็นประจักษ์ว่ามันไม่ได้ยั่งยืนอะไร วันนี้อเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปหายใจฟืดฟาดกับการกอบกู้ชะตากรรมเศรษฐกิจโดยรวมของตนเอง จะรอดหรือจะร่วงก็ไม่ทราบได้ รู้แต่ว่าเดี๋ยวนี้ประเทศลูกเอ้ทั้งหลายกำลังร้อนๆหนาวๆ พวกเก็งกำไรทองกระดี๊กระด๊าตอนนี้ก็หน้าเขียว อะไรมันก็อนิจังทั้งนั้นและโยม! มันจะอะไรกันนักหนา เกิดมาก็ต้องเข้าสู่เงื่อนไข เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-ด้วยกันทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครเนรมิตอะไรนอกเหนือจากนี้ได้ เช่น ตายไปฉันจะเอาเงินทอง เอาบัตรเครดิท เอากิ๊ก ตามไปโปรโลกได้ด้วย

เมื่อวานนี้ ผมนอนไข้มีอาการไอผสมทั้งคืน หลับๆตื่นๆอ่อนเพลียมาก

ยังนึกในใจว่าจะไปประชุมได้ไหมนี่

ขณะที่กำลังผะงาบผะเงยอยู่นั้น เสียงสวรรค์ก็แว่วมา

..อาจารย์ทำอะไรจะไปไหนวันนี้

ผมกำลังนอนครางฮือๆ

อ้าว! เป็นอะไร

เป็นไข้ครับ

เอาอย่างนี้เดี๋ยวผมไปหานะ

รอประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านผู้อุปการะคุณก็มาถึง บอกว่าจะชวนไปเจี๊ยะก้วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นที่อร่อยที่สุดในโลก ผมนึกในใจ แหมผมก็มีร้านที่ว่าดังๆประเภทนี้อยู่ไม่น้อย มันจะเป็นจริงอย่างที่เจ้ามือจะเลี้ยงโฆษณาหรือเปล่า ผมขอปรึกษาหารือว่าจะไปเจี๊ยะก็ไม่ว่า แต่ขอไปหาหมอที่คลีนิคที่ไหนสักแห่งก็ได้ ไม่งั้นไม่รอดแน่ เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วท่านก็หิ้วปีกผมขึ้นรถไปยังตลาดนางเลิ้ง เข้าไปในตรอกเล็กๆ กลิ่นต้มเครื่องยาตุ๋นโชยมาต้อนรับ เนื่องจากยังไม่พักเที่ยงจึงไม่ต้องเล่นเก้าอี้ดนตรี นั่งสบายๆเดินไปถ่ายรูปเก็บไว้ ได้ข้อมูลมาว่าก้วยเตี๋ยวเนื้อเจ้านี้โด่งดังมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว ลูกชิ้น เครื่องปรุงทุกอย่างสดสะอาด รสชาติก็สมคำล่ำลือ

อิ่มแล้วก็นั่งรถไปหาหมอที่ไชยแพทย์คลีนิค โชคดีที่ได้พบนายแพทย์ไพฑูรย์ นาคะเกส ที่เคยได้ยินกิติศัพท์มาบ้าง ท่านมีภรรยาเป็นนางสาวไทยด้วยนะ เสียอกเสียใจที่ตนเองเป็นแพทย์แต่ไม่สามารถรักษาชีวิตสุดที่รักได้ ท่านมีลูกชาย2คน ส่งไปเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศ กลับมารักษาคนไข้แต่ก็หาได้เป็นที่นิยมเหมือนตัวคุณพ่อไม่ ท่านเป็นนายแพทย์ที่อุทิศเวลารักษาคนไข้มายาวนาน มีขี้โรคเป็นขาประจำบานเบอะ อายุ80กว่าปีแล้ว ปัจจุบันไม่สบายต้องล้างไต ดูสภาพแล้วคุณหมอกับคนไข้อย่างผมอาการพอๆกัน ท่านถามอย่างอ่อนโยนว่าเป็นอะไรมา นั่งคุยอย่างกันเองไม่เหมือนหมอรุ่นใหม่ที่เร่งถามเป็นจรวด คุณหมอไพฑูรย์ชวนคุยไปเรื่อยๆ ประมาณ 10 นาทีก็ส่งใบสั่งยาให้ผู้ช่วย

ออกจากคลีนิคก็ได้เวลาไปประชุมที่ตึกวิทยกิตติ์ สยามสแควร์  ด้านล่างเป็นศูนย์หนังสือจุฬา โครงการฯนี้อยู่บนชั้น 12 ทางจุฬาฯลงทุนยกให้ทั้งชั้นเป็นที่ตั้งสำนักงาน ปรับปรุงใหม่เอี่ยมอ่องทุกอย่าง สมบูรณ์แบบตามสไตล์จุฬาฯเขาละครับ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ประจักษ์ว่าจุฬาฯเต็มที่กับโครงการนี้ หลังจากผมโผล่ไปคณะอาจารย์ก็ทะยอยมาเข้าห้อง เป็นห้องเล็กๆเป็นรูปวงกลมกระชับเหมาะที่จะประชุมแบบปิดประตูตีแมว

ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤติ ผู้อำนวยการฯ ได้กล่าวท้าวความที่ไปที่มา และได้ทำอะไรไปบ้าง พบเห็นอะไรบ้าง ความก้าวหน้าในด้านการประสานงาน มีหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้างที่เข้ามาสนับสนุนพันธกิจนี้ โดยภาพรวมแล้วก็น่ายินดีที่มีผู้ที่เห็นดีเห็นงานแบบเอาด้วย เท่าที่ท่านเอ่ยชื่อมาก็ล้วนแต่เป็นรุ่นเดอะกันทั้งนั้น ตรงจุดนี้ที่ผมเห็นว่าสำคัญยิ่งนัก ในเมื่อคณะใดๆในมหาวิทยาลัย ได้สอนนิสิตไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ถ้ามีโครงการเรียกบัณฑิตรุ่นเดอะคืนถิ่นอย่างมีเป้าหมาย ลูกศิษย์ที่มากประสบการณ์เหล่านั้นก็จะย้อนมาช่วนงานคณะ เป็นการเติมเต็มให้กันได้อย่างลงตัว

ถ้ามีการประเมินหลักสูตร แทนที่คณาจารย์จะนั่งปรึกษาหารือยกเครื่องกันเอง ถ้ามีโครงการฯลักษณะที่เชื่อมโยงประสบการณ์ตรงของลูกศิษย์ที่กระจายตัวไปอยู่ในกรมกองหรือกระทรวงต่างๆ ได้มาทบทวนความรู้ที่ผ่านการสงเคราะห์แล้วในสภาพจริง เอาออกมายกระดับวิชาชีพให้เข้ากับวิชาการ เป็นชุดความรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพของคณะนั้นๆ ความก้าวหน้าทางวิชาการก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ

ถ้าเล่นบทอย่างนี้วิชาความรู้ที่สอนในคณะฯต่างๆก็จะไม่เหี่ยว

ปรับปรุงให้สดใสไฉไลอยู่สม่ำเสมอ

เป็นการรวบรวมทุนวิชาความรู้ที่สถาบันต่างๆมาช่วยแก้โจทย์ของประเทศ

ทำให้นิสิตได้รับความรู้ที่กระเทาะแล้วมาให้พิจารณาเพิ่มจากตำราเรียนปกติ

ผมวนเวียนอยู่กับภาคการเกษตรมานาน แต่ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ พยายามเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรต่างๆ รวมทั้งที่คิดและทำเองบางส่วน แต่ก็เห็นว่าภาพของภาคการเกษตรบ้านเรานั้นนับวันจะย่ำแย่ ถูกภาคอุตสาหกรรมรังแกเอาเปรียบ ไม่มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือตัวเอง จะรอให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นใจก็ยากยิ่งกว่าอุ้มช้างขึ้นดอยสุเทพ เพราะเล่นกันคนละบริบท ก็พยายามทำใจ ในเมื่อกระแสการทำมาหากินของมนุษย์ไม่ได้เชื่อมโยงให้เกิดความอนาทรต่อกัน ใครแข็งแรงกว่าก็วางกติกาเข้าข้างตัวเองได้มากกว่า

ทั้งๆที่ภาคการเกษตรนั้นเป็นตัวริเริ่มอุดหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมลืมตาอ้าปากได้

พอร่ำรวยขึ้นมาแทนที่จะเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจบ้าง

ก็ปล่อยให้ภาคการเกษตรเป็นหมาหลงอยู่บนทางด่วน

อ่อนแอ อ่อนไหว กระจองอแง เรียกร้องความเห็นใจอย่างน่าเวทนา

ที่รำพึงรำพันมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะบอกว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครกอบกู้ชะตากรรมของภาคการเกษตรได้ เพราะคนที่คิดและทำมีข้อจำกัดมากมาย ประเทศนี้จึงทำลายฐานสังคมฐานทรัพยากรเพื่อที่จะเป็นอาเสี่ยจอมปลอม ถ้าทุกข์ของชาวไร่ชาวนายังเป็นทุกข์ของแผ่นดิน เราจะเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดความเจริญของชาติ มันก็ตลกทั้งนั้น ละครับ ที่ซ้ำร้ายเอาจมูกไปให้ต่างชาติสนตะพาย เราต้องนำเข้าทุน นำเข้าวัฒนธรรม นำเข้าความรู้ นำเข้าเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเราส่งออกอะไร สมน้ำสมเนื้อกันบ้างไหม ความเจริญที่เสมือนจริงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อคนในชาติมากขึ้นเรื่อยๆ การแก้ผ้าเอาหน้ารอด เป็นวิธีการที่ไม่สำเร็จแต่ก็ยังกระทำ

ท่านลองนึกดูสิครับ เกษตรกรทิ้งถิ่น ปัญหาที่อยู่ข้างหลังจะเป็นยังไง มันก็เรรวนไปหมด ลูกเต้าไม่มีใครดูแลอบรมสั่งสอน การทำไร่ทำนาก็ต้องหันมาทำแบบสุกเอาเผากิน ทำแล้วก็มีมือที่มองไม่เห็นมาขยุ้มเอาไป ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย เงินกู้ ปัจจัยการผลิต ค่าจ้างรถไถรถนวดรถเกี่ยว ไหนจะจ่ายค่าโง่อีก

ประเทศที่สภาพแวดล้อมเอื้ออวยให้ทำการเกษตรได้อย่างมาก

แต่กลับเป็นประเทศทุพลภาพในการทำมาหาเลี้ยงชีพ

เราดูแลภาคเกษตรกันอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเลื่อมล้ำในสังคมนี้ใช่ไหมเล่า

ที่เรากำลังอิดหนาระอาใจกับสารพัดม๊อบ

ตั้งแต่โครงการฯนี้เชิญประชุมครั้งแรก จนกระทั้งมาถึงครั้งนี้ ผมเริ่มดวงตาสว่างและมีความหวังขึ้น เพราะบารมีของจุฬาฯนั้น ถ้าถูกนำมาช่วยชาติบ้านเมืองในมิติเชิงรุกก็จะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ที่อาจจะทำให้สถาบันการศึกษาแหล่งอื่นๆเอาไปคิดต่อยอดเป็นแบบอย่าง วิชาความรู้ในมหาวิทยาลัยนั้นมากมายมหาศาลยิ่งนัก ถ้ามีวิธีผ่องถ่ายความรู้ให้สะดวกและกว้างขวางขึ้นย่อมเป็นคุณต่อการบูรณะประเทศชาติ

ถ้าเอาตัวหนังสือที่อยู่ในกระดาษให้ออกมาโลดเต้นได้

ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นระทึกใจเสมอ

ผมชอบใจที่โครงการฯนี้คิดมาก คิดแล้วคิดอีก ไม่รีบกำหนดอะไรลงไปง่ายๆ ชวนคนโน้นคนนี้มาออกความเห็น แม้แต่อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็มาร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะศิษย์เก่า และพันธมิตรภายนอกที่ชื่นชมจุฬาฯก็อาสามาร่วมสังฆกรรมอย่างเต็มอกเต็มใจ อาจารย์เล่าว่า ไปชวน สปก.ชวน ธกส. หรือชวนใครๆเขาต่างยินดีทั้งนั้นละครับ เพราะเขาตระหนักว่าจุฬาฯไม่เคยทำจับฉ่าย ทำด้วยเกียรติภูมิในมาตรฐานของจุฬาฯ ซึ่งเรื่องนี้เป็นทุนที่กินไม่หมด ศรัทธาที่สาธารณชนมีต่อจุฬานั้น จะเป็นพลังแฝงที่มีค่ามหาศาลยิ่งนัก


อาจารย์ ถามว่า โครงการนี้จะสำเร็จไหม ?

แหม ชอบใจจริงๆ กับคำถามนี้มาก

เพราะไปหลายงานแล้วไม่มีใครเขาฉุกคิดอย่างนี้

พอจะทำอะไรสักอย่างก็โมเมชั่นสบั้นหั่นแหลก

โครงการนี้จุฬาฯเอาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของจุฬาฯวางเป็นเดิมพัน

ในการที่จะคิดทำอะไรสักเรื่องเพื่อสนองคุณแผ่นดินที่จุฬาฯจะครบวาระ 100 ปี

ห ล า ย แ ห่ ง คิ ด ทำ เ รื่ อ ง วั ต ถุ ส ร้ า ง โ น้ น ส ร้ า ง นี้

แม้แต่สร้างส้วมเทิดประเกียรติก็ยังคิดทำออกมาได้

แ ต่ จุ ฬ า ฯ คิ ด ส ร้ า ง ค น

วัดกึ๋นกันตรงนี้ก็อลังการณ์จนบอกไม่ถูกละครับ

สอดส่องไปทั่วแผ่นดินนี้ ก็เห็นจุฬาฯนี่แหละมีศักยภาพที่จะทำเรื่องการสร้างบัณฑิตสายพันธุ์จุฬาฯ ที่สอนให้ติดดินและติดต่อวิทยาการต่างๆได้อย่างบรรเจิด เริ่มคิดอย่างเป็นระบบ วางกรอบไว้อย่างรัดกุม หาคนมาช่วยดูแล้วดูอีก คัดเด็กอย่างไร สอนกันอย่างไร จะใส่อะไรลงไปในตัวเด็ก จะอัดฉีดเรื่องจิตอาสา เรื่องคุณธรรม เรื่องการรู้ตัวเอง และการมีศักดิ์ศรีในอาชีพการงานของตนเอง จบไปแล้วนักศึกษาควรจะประกาศความพากพูมใจได้ว่า “ข้าคือเกษตรกร” การที่จะยืนหยัดประกาศความทรนงได้นั้น จะต้องทำอะไรบ้าง มีที่ไปที่มาอย่างไร นี่คือโจทย์ที่โครงการฯนี้จะต้องตีให้แตก

เป็นโครงการฯที่คิดใหม่ทำใหม่ไม่ตามก้นใครนี่แหละ ที่เป็นเสน่ห์ของจุฬาฯเขาละ

หลายท่านมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องยาก

แหม ถ้า จุ ฬ า ฯ คิ ด ทำ เ รื่ อ ง ง่ า ย มั น จ ะ เ ป็ น จุ ล า น ะ สิ ค รั บ

การสู้สิ่งยากนี่แหละคือตัวตนของคนจุฬาฯ อยู่กันมาจวนจะเข้า100ปีแล้ว สังคมยับเยินบ้านเมืองแตกสาแหรกขาด ถ้ายังนิ่งดูดาย ไม่ลุกขึ้นมาใช้ศักยภาพที่ตนเองมีก็นับว่าเสียดายวันเวลายิ่งนัก อาจารย์เล่าว่า นักศึกษาที่รับมาไม่ได้กะเกณฑ์ที่จะให้เขากลับท้องถิ่นกันทุกคน ทั้งๆที่หวังลึกๆว่าอยากจะให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองให้มาก ได้กำหนดกรอบที่เอาความจริงเป็นตัวตั้งแบ่งออกเป็น3กลุ่ม

1 กลุ่มที่กลับไปช่วยพ่อแม่พัฒนาการงานอาชีพของตนเอง

2 กลุ่มที่นำเอาวิชาความรู้ไปทำเรื่องการตลาด การแปรรูป การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์

3 กลุ่มที่เข้าไปบรรจุทำงานใน อบต. และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

ถึงจะกำหนดเพียง3รูปแบบ ถ้าโครงการฯนี้บรรจุความรู้ความสามารถให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างเต็มที่แแล้ว อานุภาพของความรู้ก็จะนำเขาเหล่านี้ไต่ระดับไปสู่โลกกว้างแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด ในส่วนของนักศึกษาที่จะคืนถิ่น ผมให้ข้อสังเกตว่า..ควรจะมีการรองรับในส่วนที่จำเป็นของครอบครัวนักศึกษาด้วย โดยเฉพาะปัจจัยการผลิต อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ฯลฯ อาจารย์บอกว่าตรงจุดนี้ก็คิดไว้บ้างแล้ว จากที่ผมเห็นในเครื่องการอื่น เช่น บัณฑิตคืนถิ่น ไปเที่ยวเก็บลูกชาวบ้านแถวชายแดนมนเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อจะออกไปพัฒนาการงานอาชีพของพ่อแม่ จะไปยังไงละครับ มีแต่น้ำลายกับกำปั้นจะไปทำอะไรได้ เด็กยังอ่อนประสบการณ์ไปเจอปัญหายุ่งยากก็เผ่นนะสิครับ

วันนี้คณะที่ร่วมประชุมออกความเห็นกันมาก

สิ่งหนึ่งที่ผมฝากไว้..ลูกศิษย์จะบอกครูเองละครับว่า..เขาต้องการอะไร

เพียงแต่ครูต้องหูใหญ่ ตาใหญ่ ใจใหญ่ เปิดกว้างรองรับสิ่งที่ลูกศิษย์สะท้อน

ในส่วนของการเรียน ปีแรกเติมเต็มเรื่องศักยภาพของวิชาความรู้ความคิดที่กรุงเทพฯ 3ปีถัดมาอพยพไปศึกษาและใช้ชีวิตในศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งจุฬาฯลงกรณ์จังหวัดน่าน โดยมีอาจารย์ไปทำหน้าที่หลักกำกับดูแลลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีวิพุทธิยาจารย์อาสาหมุนเวียนเดินทางไปพบปะทุก 3 สัปดาห์ ตลอดภาคการศึกษา หัวข้อสนทนากับลูกศิษย์ ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของวิพุทธิยาจารย์เป็นผู้กำหนดหัวข้อ แล้วให้ทางคณาจารย์ของสำนักฯเป็นผู้เลือก โดยจะมีการประสานกับวิพุทธิยาจารย์ก่อนเดินทางไปพบนิสิต ซึ่งแต่ละท่านสามารถไปพบได้มากกว่า 1 ครั้ง และแต่ครั้งจะนัดหมายวิพุุทธิยาจารย์ไปด้วยกัน 2-3 ท่าน

ผมคิดไว้แล้ว งานนี้จะเลือกไปต้นปีหน้า จะพานักศึกษาไปให้อาว์เปลี่ยนสอนถึงลาว

หรือชวนอาว์เปลี่ยนมาพบนักศึกษาที่น่าน

จะให้เขาได้รับบริบทการพัฒนาระดับอินเตอร์ไปด้วย

ตั้งใจว่าจะชวนสาวๆชาวเฮไปด้วยจะดีไหม?

จะได้ช่วยสอนๆๆๆ กันคนละไม้ละมือ

เรื่องรายละเอียดยังมาอีกเป็นกระบุงโกย ขืนเล่าไปก็เบื่ออ่านเปล่าๆ เอาเป็นว่าทำไปเล่าไปก็แล้วกัน ที่สำคัญงานนี้ผมได้ไปเรียนรู้ด้วย เพราะวิพุทธิยาจารย์ของโครงการนี้แต่ละท่านอยู่ขั้นปรมาจารย์ขี่นกกระเรียนเหยียเมฆมาทั้งนั้น หลายท่านที่ผมได้รู้จักแต่ชื่อ และติดตามงานมานาน เพิ่งจะมาเห็นตัวเป็นๆก็ในงานนี้ื จุฬาฯอยู่มาเกือบร้อยปีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ งานนี้เท่ากับเป็นการชุมนุมจอมยุทธมาช่วยกันกอบกู้วิถีเกษตรกร เราจะได้เห็นพลังจุฬาฯว่ามีอภิมหาวิทยาการแค่ไหน น่าสนใจนะครับ

กองทัพจุฬาฯยกพลมโหระทึกสู้ศึกความยากจนให้ประเทศ

น้ำใจน้องพี่สีชมพู.. เริ่มเปิดหูเปิดตาให้กับปวงประชา

ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมืองจะเคลื่อนพล ณ บัดนี้

ก่อนออกจากห้องประชุมอาจารย์พาเดินชมห้องหับต่างๆ  ก็เห็นว่ามีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ลงมาล่วงเวลาที่นัดหมายอาจารย์นฤมล บรรจงจิตร์ไปเล็กน้อย  เจอหนูพิมพ์รอรับไปร้านอาหาร อาจารย์บอกว่าจะเลี้ยงอาหารจีนที่สยามสะแควร์ ไปถึงอาหารเต็มโต๊ะละลานตา มิรู้ว่าจะชิมอะไรก่อน ตักตอนไหนก็อร่อยตอนนั้น แต่ก็ชิมได้ไม่เท่าไหร่หรอก เพราะฤทธิ์ยาทำให้การรับรสจืดจาง

นี่แหละหนา ที่เข้าว่า เ จ อ ไ ม้ ง า ม เ มื่ อ ย า ม ข ว า น บิ่ น

โอ๊ะ ! ไม่ใช่สิ ..จะเรียกว่า ปิ้ ง ป ล า ป ร ะ ช ด แ ม ว ก็ ไ ม่ เ ชิ ง

น่าจะเป็นการสั่งอาหารมา ป ร ะ ช ด ชู ช ก

ขอบคุณอาจารย์และลูกศิษย์ที่เลี้ยงอาหารมื้อที่จะจดจำไปเท่านานแสนนาน

ขอ ใ ห้ ยิ้ ม ห ว า น แ ล ะ อ า ยุ มั่ น ข วั ญ ยื น ต ล อ ด ไ ป เน้อ อิ อิ


จะไปหาหมอหรือจะไปหาครู

อ่าน: 2006

ผมมีเรื่องละล้าละลังตั้งแต่ออกจากบ้านมาบางกอกแล้วละครับ ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปประชุมกับหน่วยงานไหนดี ที่บังเอิญมานัดประชุมในเวลาเดียวกัน “ด่วนที่สุด” เป็นหัวจดหมายที่ประทับกำชับมา แต่จดหมายเดินทางมาถึงไม่พร้อมกัน ผู้ประสานงานโทรมาถามว่า “มาร่วมประชุมได้ไหมคะ” เราเว้นวรรคเรื่องอื่นอยู่แล้วก็ตอบไปว่า “ไปได้” รับปากแล้วก็มีเหตุทำให้ไปไม่ได้นี่แหละปวดศรีษะที่สุด งานแรกว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ

คณะกรรมการฯทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะในระดับนโยบาย เกี่ยวกับกำลังคนด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงาน ตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการฯมาอย่างต่อเนื่องนั้น จึงกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการครั้งที่3/2554 ในวันที่ 26 กันยายน 2554 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ บริเวณกระทรวงสาธารณะสุข

หากท่านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

ขอความกรุณาโปรดมอบหมายผู้แทนระดับตัดสินใจได้เข้าประชุมแทน จะเป็นพระคุณ

ท่านที่รัก ถ้าพิจารณาใจความจะเห็นความเอาจริงของกรรมการคณะนี้ ว่าเขาทำงานกันแบบแข็งแรงแข็งขันขนาดไหน ผมเคยร่วมประชุมเมื่อครั้งยกร่างระบบปฏิรูปสุขภาพ ตั้งแต่ปีมะโว้โน่น คุณนายแพทย์ทั้งหลายประชุมกันหามรุ่งหามค่ำ เจอกันหลายเดือน เรื่องก็เลยติดสอยห้อยตามมาจนกระทั้งเดี๋ยวนี้ สิ่งที่ได้จากการประชุมคณะกรรมการฯแห่งนี้คือ เราจะได้เห็นบทบาทของผู้ที่วางแผนระดับนโยบาย ที่ทำการบ้านเชิงรุกอย่างหนักอย่างไร คำว่า “ผลักดันนโยบายยังน้อยไป” ทุกวิถีทางที่จะทำให้สิ่งที่ใคร่ครวญแล้วเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นพ.มงคล ณ สงขลา นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ฯลฯ ปักหลักลุยปัญหาระดับช้างอย่างทรหด

ผลงานที่เป็นรูปธรรมจึงเรียงล่ายซ่าย เช่น ระบบปะกันสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างเร่งรุด อนึ่ง บุคลากรทางด้านสาธารณะสุขทุกระดับมีการขยับเขยื้อนเอาภาคสังคมมาร่วมเป็นเจ้าภาพได้อย่างน่าสนใจ อสม.ผู้นำชุมชน นักวิจัย นักพัฒนาสังคม ครู อาจารย์ เดินกันให้ควักในเวทีสัมมนาต่างๆ ทางด้าน สสส. เองก็เป็นพี่เลี้ยงได้อย่างนี้ ในการที่จะเอื้อให้กระบวนการทำงานในพื้นที่มีความคล่องตัวทำงานสะดวกขึ้น

ถ้าอ่านรายงานการประชุมของกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นความแตกต่างจากการประชุมของที่อื่นๆ ตัวแทนหน่วยงานเข้าร่วมก็ธรรมดาที่ไหนเล่า ล้วนเป็นผู้ที่เจ้ากระทรวงฯที่เกี่ยวข้องส่งมือดีมาร่วม เนื้อหาที่นำเข้าสู่ที่ประชุมล้วนแต่มีความสำคัญยิ่งต่อความเป็นไปด้านสุขภาพของประเทศ คำว่า อนุญาตให้ส่งผู้ที่ตัดสินใจได้เข้าประชุมแทน ถ้าคิดให้ดีก็หนาวแล้วละครับ ถ้าไม่จำเป็นขนาดดิ้นปัดๆผมก็จะถ่อสังขารมาประชุมให้ได้ เคยส่งตัวแทนเข้าประชุม 2 ครั้ง โคตรเกรงใจเขาเลยละครับ

อีกรายการหนึ่งเป็นการนัดประชุม ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการบัณทิตจิตอาสา ของหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เรื่องนี้ผมเข้าไปร่วมตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการคิดจะเปิดการศึกษารูปแบบใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อหล่อหลอมความคิดและทัศนคติชีวิตของนิสิตด้านจิตอาสา ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นฐานเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว  ในภาคการศึกษาที่ 2/2554 นี้ จะมีนิสิตเดินทางไปศึกษาและใช้ชีวิตในศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ทางสำนักงานฯจึงเห็นสมควรจัดประชุมหารือวิพุทธิยาจารย์อาสาในโครงการฯ เพื่อสรุปแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

ในการนี้สำนักงานฯเรียนเชิญประชุมในวันจันทร์ที่ 19 หรือ วันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2554 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานฯ ชั้น 12 อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ มีหนังสือรายงานการประชุมย่อยมากระทุ้งให้เห็นว่าโครงการเดินหน้าเต็มลูกสูบด้วยนะ วันที่ 19 ผมติดรายการดูงานที่บ้าน ยังดีที่มีก๊อก2ให้มาติดตามความคืบหน้าวันนี้

ในการประชุมครั้งก่อน คณาจารย์มีความเห็นว่าควรจัดให้วิพุทธิยาจารย์ไปพบปะนิสิตยังศูนย์การเรียนรู้จังหวัดน่าน ครั้งละ 2 ท่าน ( ต่างสาขา) ทุก2-3สัปดาห์ โดยการพบปะแต่ละครั้งนิสิตจะเป็นผู้เลือกและกำกับหัวข้อการสนทนากับวิพุทธิยาจารย์อาสาตามความสนใจของนิสิตเอง ซึ่งวาระของการประชุมอาจเป็นช่วงเดือนมกราคม 2555 หลังงานกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ

ที่เขียนเล่าเป็นคุ้งเป็นแควไม่ได้โอ้อวดว่าไปยุ่งเกี่ยวกับพันธกิจของสถาบันใด แต่ให้เห็นความเป็นไปของงานเชิงโครงสร้างต่างๆที่ไปเกี่ยวข้อง เพื่อที่ญาติแซ่เฮจะเข้ามาแนะนำผมได้ หรือ อาสาไปประชุมแทนในยามขัดสนเวลา หรือ เข้าไปเป็นตัวแทนเสียเลย ยกตัวอย่าง เช่น รายการของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าคุณหมอจอมป่วนเข้าไปเป็นตัวจริงจะสะท้อนงานด้านสาธารณะสุขได้อย่างปรุโปร่ง แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ งานสำคัญๆเชิงนโยบายเขามักจะเอาชาวบ้านไปห้อยไว้1คน ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน หลายท่านจะได้หายสงสัยว่าทำไมหลายองค์กรลากผมเข้าไปร่วม ไม่มีอะไรหรอก..ไปเป็นเม็ดมะแข่วนในเครื่องลาบเพื่อให้มันครบสูตร นะครับ

อนึ่ง ผมกำลังมองหาแซ่เฮจิตอาสาไปประชุมแทน

ในเวลากระชั้นชิดนี่แหละ  ทำไงได้

แถมยังเป็นวันราชการเสียด้วย

ท่านใดลงมาบางกอกช่วงนี้ยกมือขึ้น !

เท่าที่สัมผัสมา พอประมวลได้ว่างานด้านสาธารสุขนั้นเดินหน้าไปฉับๆแล้ว แต่งานด้านการศึกษานี่สิ อาการยังน่าเป็นห่วง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาคนใหม่ยังไม่ได้เรียกประชุมอะไร แต่มีข่าวว่ากำลังเดินหน้าหาประเด็นมาเปิดนโยบายเช่นกัน ดังที่เราอาจจะได้ข่าวเรื่องเอาแป๊ะเจี๊ยะออกมาวางบนโต๊ะ ทำเหมือนเอาหวยใต้ดินมาเป็นหวยออลไลน์ ที่น่าสนใจมีรายงานข่าวเรื่อง “สมัชชาหลักสูตร” ปลดแอกเด็กไทย

การศึกษาไทยใครไปใครมาก็ต้องรื้อๆ

ระบบมันไม่นิ่งสักที

เป็นรายการแก้ผ้าเอาหน้ารอดอยู่ประจำ

ถึงจะคิดดีทำดีอย่างไร อยู่ไม่นานก็เผ่น!ตามวาระเลือกตั้ง

คณะฯใหม่ๆเข้ามาก็อยากจะแก้ๆๆๆอะไรๆให้ดีขึ้น

แต่..แก้ผ้..า า ไม่ทันถูสบู่ ก็ไปเสียแล้ว

ท่านรัฐมนตรีแห่งเมืองแพร่ร่ายยาวว่า..การปรับหลักสูตรครั้งใหญ่คืองานแรกที่ผมต้องทำ และได้ลงมือแล้ว มีมหาวิทยาลัยแกนนำ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มทร.ธัญบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ฯลฯ ในการระดมสมอง ผู้มีความรู้ความสามารถแต่ละสาขาอาชีพ ในพื้นที่ ในจังหวัด ในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงเรียน เพื่อมาออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน และเนื้อหาวิชาเรียนให้สอดรับต่อการนำไปพัฒนาศักยภาพของพื้นที่เป็นหลัก

ดังนั้น ความหลากหลายของหลักสูตร จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่ๆแตกต่างกัน แต่เด็กต้องได้เรียนในสิ่งที่ชอบ สาขาที่ใช่ เรียนจบแล้วมีงานทำ เพราะเป็นการบูรณาการหลักสูตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาจจะเรียกว่าสมัชาหลักสูตร เพราะวิชาไหนที่ไม่จำเป็น หรือเรียนแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ตัดทิ้งไป  มุ่งสู่โลกไฮเทคเทคโนโลยีทางการศึกษามากขึ้น เพราะโลกอนาคตเราต้องเตรียมพร้อมคนไทยเข้าสู่ประชาคมอาเชียน ภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 มีควมจำเป็นที่ลูกหลานต้องได้เรียนแบบเข้มข้นมากขึ้น

“ผมไม่อยากเห็นภาพลูกหลานไปเรียนหนังสือมีความทุกข์อีกต่อไป เรียนกวดวิชาแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นหลักสูตรคือหัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง คุณภาพชีวิตเด็ก คุณภาพชีวิตครู คุณภาพชีวิตของพ่อแม่ต้องดีขึ้นเมื่อผู้เรียนได้เรียนสิ่งที่ชอบ เรียนจบแล้วมีงานทำ ตาม 5 สาขาหลัก คือ เกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และอาชีพเฉพาะทาง”

เมื่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาลหลอมรวมกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเสร็จแล้ว

จะทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้ง 3 รัฐมนตรี

เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง

แหม  มาตกม้าตายอีตอนรัฐมนตรียังไม่ได้ทำความเข้าใจกันนี่แหละ

ทำได้ก็ดี อย่าให้เป็นเพียงลมปากเหมือนที่ผ่านๆมา

ก่อนออกจากบ้านมีอาการคร๊อกแคร๊ก

มาถึงบางกอกเป็นหวัดจนได้

ที่นัดไว้จะกินข้าวเย็นกับดร.นฤมลของจุฬาฯ

หรือนัดเจี๊ยะสะเต๊กของขาใหญ่กับแห้ว

ก็คงจะแห้ว

งานประชุมมูลนิธิสันติภาพโลกก็วืดหนึ่งไปรายการหนึ่ง

ถ้าแห้วอีกคงไม่กระไรนัก

อ ย า ก จ ะ พั ก ร บ ไ ม่ พ บ รั ก

ตะกี้หนูพิมพ์ผู้ช่วยอาจารย์นฤมล บรรจงจิตร โทรมาถามอ บอกว่าไปประชุมที่ไหนจะรอรับข้างล่าง หลังจากนั้นจะพาไปรับประทานอาหารจีนสักมื้อหนึ่ง น้ำใจนี่หนอ ..ขอเป็นว่าเจี๊ยะแบบเร็วๆแอร์ไม่เย็นมากน่าจะพอไหว มีเหตุให้ต้องใจอ่อนนะเธอ “ขี้เหร่เลือกได้เชียวนะงานนี้” อิ อิ ผมรู้จักอาจารย์มานาน ทำงานร่วมกันประชุมกันมาเป็นสิบปี ให้ไปช่วยสอน ป.โท ที่สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯก็หลายครั้ง ผมได้เรียนงานวิจัยจากที่นี่พอสมควร ทั้งในฐานะอีแอบ ผู้ร่วมวิจัย และ ผู้ ถู ก วิ จั ย

อาจารย์เกษียณปีนี้ ทราบว่าใครขอให้ต่ออายุงานอย่างไรก็ไม่เอาแล้ว ขอวางมือทำให้ชีวิตว่างจะได้พักผ่อนบ้าง ที่ผ่านมาตระเวณสอนตระเวณลุยพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทย เดือนนี้ก็จะจบอาชีพอาจารย์จุฬาฯแล้ว ที่สำคัญ อาจารย์ทำวิจัยทิ้งทวนเรื่องมหาชีวาลัยอีสานเป็นเรื่องสุดท้าย ศึกษาแบบกระเทาะเปลือกกระบวนการทำงานของสถานีเรียนรู้ภาคประชาชนที่ชื่อว่า กรมราษฎรส่งเสริม ส่งเสริมตรงไหน ส่งเสริมอย่างไร ผ ล ลั พ ธ์ ผ ล ล บ เ ป็ น อ ย่ า ง ไ ร ?  อาจารย์จะถอดรหัสและลีลาของครูบา เรียกว่าเปลือยครูบาก็ได้กระมัง ภายในเดือนหน้าก็จะรวบรวมพิมพ์งานดังกล่าวนี้ให้เบ็ดเสร็จส่งมอบงาน

การพบกันในเย็นนี้จึงมีความหมาย

จะได้ขมวดงานดังกล่าวจนถึงหยดสุดท้าย

จะได้พบปะกันในวาระสุดท้าย

จะได้ขอบคุณอาจารย์และลูกศิษย์ที่ให้การสนับสนุนคนบ้านป่าด้วยดีเสมอมา

ด้วยเหตุนี้ รายการขาใหญ่ ขาเล็ก สมควรหลีกทางให้ใช่ไหมละครับ

รายการตกค้างยกยอดไปวันพรุ่งนี้

อยากจะเรียนต่อเรื่องโปรแกรมโทรศัพท์ และนั่งทำต้นฉบับ “โมเดลอีสาน”

ใครจะอาสาสอนคนขี้โรค เอามือลง อิ อิ


อีกาคาบข่าว อิ.

อ่าน: 1611

คนเรารับรู้ข่าวสารไม่มากก็น้อยตามสื่อและแหล่งข่าวต่างๆที่ตนเองใกล้ชิด ในสมัยนี้ด้วยแล้ว การโฆษณาประชาสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังที่เราพบกับเรื่องราวแหกตาอย่างมีชั้นเชิงและศิลปะ ของหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ไม่ใช่ว่าวิชานี้ไม่ดี แต่มีผู้เอาไปใช้ไปนอกลู่นอกทาง ในทางปั้นข่าว ปลุกเสกข่าว พลิกแพลงข่าว ในโลกแห่งความรวดเร็วและการปรุงแต่งข่าวสารได้สารพัดอย่างนี้ ถ้าเราเชื่อถือข่าวแบบไม่ยั้งคิด เราก็จะเจอข่าวลวง ข่าวหลอก ข่าวที่น่ามะเหงก ซึ่งส่งมายุ่งกับอีเมลล์ของเรา มันตั้งหัวข้อหลอกให้เรากดดูจนได้ ผมละเสียโง่!ประจำ

เมื่อก่อนจะรับหนังสือพิมพ์ ต่อมายกเลิกเพราะไม่สะดวกและไม่มีเวลา เว้นแต่เดินทางไปไหนก็จะซื้ออ่านบ้าง หยิบอ่านที่โรงแรมจัดไว้ให้บ้าง หรือแม้แต่ร้านตัดผม กัลบกคงจะรำคราญผมมาก เพราะผมจะไม่วางหนังสือ แม้แต่จะโกนหนวดโกนเคราก็พับหน้าที่จะอ่านไว้ในลักษณะพร้อมเปิดทันที ทำไงได้ละคนมันชอบอ่าน พักหลังผมชอบดูข่าวในทีวี เดี๋ยวนี้ช่อง3พัฒนาการรายงานข่าวแบบถึงลูกถึงคน ไปตั้งโต๊ะข่าวรายงานน้ำท่วมแบบแช่น้ำ ทำให้บรรยากาศข่าวสดๆไม่แห้งๆเหมือนบางช่อง เที่ยวไปหยิบเอาจากหน้าหนังสือพิมพ์มารายงาน เรื่องอย่างนี้ ใครพัฒนาคนนั้นก็ได้การยอมรับมากขึ้น เรียกว่าสังคมไม่ให้คุณเหนื่อยเปล่าหรอกนะ ความเชื่อถือไม่ใช่จะปลูกเสกกันได้ง่าย หลอกลวงอาจจะทำได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่การคิดและทำอย่างทุ่มเทต่างหากที่จะทำให้เกิดความมั่นยืน

ช่วงต้นเดือนมานี้โทรทัศน์ผมเจ๊งแล้วครับ

ดูมานานจน..ถึงคราหมดอายุไขแล้วกระมัง

ระบบอุตสาหกรรมสมัยนี้เขาจะผลิตสินค้าที่มีอายุกำกับชิ้นส่วน

ยกตัวอย่างรถยนต์ก็จะให้ใช้งานได้ดีภายใน5 ปี

เกินนั้นไปก็เริ่มเรรวน ถึงซ่อมไปก็ไม่คุ้ม

เราจึงต้องควักกระเป๋าซื้อหรือไปเทริน์เอารถใหม่

การทำแบบนี้ทำให้ระบบอุตสาหกรรมอยู่รอดและขยายตัวได้สม่ำเสมอ

โทรทัศน์สมัยก่อนจะมีจอภาพท้ายแหลมๆโผล่ออกมาข้างหลัง

ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้จอภาพแบนแต๊ดแต๋

แถมยังทำให้ประสิทธิภาพของภาพและเสียงดีขึ้นอย่างมาก

ประกอบกับระบบส่งสัญญาณดาวเที่ยมผ่านจานรับประเภทต่างๆ

ทำให้เสารับสัญญาณแบบหนวดกุ้งที่ชูระโยงระยางบนหลังคาบ้านหายไป

ที่เป็นเช่นนี้ได้เกิดจากการคิดค้นอย่างแรงกล้าของนักพัฒนาเทคโนโลยีใช่ไหมละครับ

เย็นวานนี้มีลูกศิษย์ก้นกฎิพาเพื่อนใหม่มาหา แกหิ้วกล้วยส้มลูกอ้วนน่าเจี๊ยะกับข้าวโพดต้มพันธุ์ใหม่มาฝาก หลังจากนั่งทักทายกันผ่านไปแล้ว ได้รับคำถามว่า..มีคำสั่งให้ครูเร่งรัดเรื่องการเรียนการสอนเพื่อมุ่งไปสู่อาเชียน ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใช่ไหมครับ แหม เรื่องนี้ผมก็ตอบไม่ถูก ว่ามันจะใหญ่หรือมันจะแฟ๊บ เพราะประเทศนี้หามาตรฐานอะไรไม่ได้หรอก ผลการชี้วัดต่างๆก็บอกอยู่แล้วว่าสอบตกทุกวิชา ไม่เห็นว่าจะยกเครื่องขึ้นได้อย่างไร เมื่อเขาให้มุ่งอาเชียนก็ตามเขาไปเถิด ขืนละล้าละลังเดี๋ยวผีหลอกไม่รู้ด้วยนะ ตอนนี้มีข่าวดีเขาจะให้ครูเป็นหนี้หัวโต กู้กันได้คนละ 3,000,000 บาท ไม่รู้เบื้องหลังเป็นอย่างไรนะครับ อาจจะหาทางเอาเงินกู้ก้อนใหม่มาล้างบัญชีเก่าก็ได้ ตั้งเกณฑ์กู้สูงๆนี่บางคนอาจจะกู้มา3ล้าน หักลบหนี้เก่าแล้วจะเหลือกี่บาทก็ไม่รู้ ถ้าไม่จริงดังที่สมมุติฐานก็ยินดีด้วย

ครูรวยเละ แต่การศึกษาจนลง จนลง จ น ต ร อ ก จ น มุ ม    จ น ใ จ

เมื่อวานดูทีวีที่บ้านหลังใหญ่ มีคุณครูท่านหนึ่งจากอ่างทอง เล่าถึงการใช้ไอทีเป็นเครื่องมือสอน ตรวจการบ้าน เสนอแนะ ติดตามงาน ยั่วให้เด็กอยากเรียน แหม คุณครูระพีร์ ปิยจันทร์ ท่านทำเรื่องนี้ได้ดีอย่างถึงที่สุด น่าชื่นชมมากเลย  มันน่าจะมีกฎกติกา ..คุณครูท่านไหนสอนลูกศิษย์ให้ได้คะแนนดีถึงจะมีสิทธิ์กู้เงิน คุณครูท่านไหนผ่านการประเมินและมีผลงานดีถึงจะมีความดีความชอบ ไม่ใช่เหมาโหลกันอย่างนี้

แต่ก็นั่นแหละ  อะไรๆก็ยากที่จะป้องกัน

ในเมื่อครูสอนวิชารู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางอยู่แล้ว  อิ อิ..

ประเทศที่เจริญก้าวหน้า คนในชาติเขาคิดมาก คิดๆทุกอย่างจะดีขึ้นได้อย่างไร ที่สำคัญไม่ได้คิดทิ้งคิดขว้าง แต่เขาคิดเพื่อที่จะมาเสริมวิธีทำที่มุ่งมั่นไว้แล้ว คิดแล้วทำ ทำแล้วคิด เป็นวงจรกลั่นกรองความรู้ให้ก้าวหน้าไปตามลำดับ เมื่อระบบการคิดของคนในชาติเขาเป็นเช่นนี้ ทำ ให้ เกิด วัฒนธรรม ช่วยกัน คิดช่วยกันทำ ช่วยกันพัฒนา ประเทศเขาจึงมีสินค้าตัวใหม่ๆมาเสนอขายประจำ เหมือนที่ผมกำลังจะเสียเงินซื้อโทรทัศน์จอแบนนี้แหละ เจ้าจอแบนที่ว่านี้มีหลากหลายให้เลือก ไม่รู้ว่าของบริษัทไหนมีจุดดีมากกว่ากัน

ผมเสียค่าโง่ประจำจนกังวลใจ

ด้วยไม่รู้ว่าจะซื้อยี่ห้อไหนดี

เกิดไปซื้อยี่ห้อห่วยแตกมา

เราก็จะชีช้ำกะหล่ำปลีเหมือนมีแฟนไม่ถูกใจ

จะทำยังไงละ จะโล๊ะทิ้งหรือจะหย่าทิ้งมันก็ชอกช้ำหัวใจทั้งนั้นแหละ

ท่านใดมีความรู้เรื่องโทรทัศน์จอแบนช่วยอุปการะความรู้ด้วยนะครับ

คิดไปแล้ว เมื่อระบบอุตสาหกรรมวางยาเรื่องอายุการใช้งาน เราใช้ไปๆ..พอถึงเวลามันก็เจ๊ง คิดคำนวณดูแล้วเสมือนกับเราไปเช่าซื้อเหมือนกันนะ เพียงแต่จ่ายเงินสดยกมาบ้าน แล้วผ่อนด้วยความเสื่อมราคาของอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ แหม..เจ้าความเสื่อมนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต หรือ ไม่มีชีวิต

ยังดีนะที่ความรักที่มีต่อกันของชาวเฮไม่สั่นไหว

ถึงบางคนจะหายหน้าหายตาไป

แต่ความรักและคิดถึงก็ยังมั่นยืนเหมือนเดิม

เมื่อวานใส่เสื้อ “อะไรก็กู” ของคุณหมอจอมป่วน

ก็ครุ่นคิดถึงวิธีเรียนรู้แบบจิกๆๆ  เอ๊ย ! กัดไม่ปล่อย > >

ไม่รู้ว่าเรียนหนักสักประมาณไหน

ไม่เห็นรายงานข่าวมาหลายทิวาแล้ว

เย็นนี้มีรายการกินข้าวกับครูที่บางกอก

มิรู้ที่จะออกหัวออกก้อย

ใครอยากได้ของฝากมาหิ้วเองที่โรงแรมก็แล้วกัน

ก็บอกแล้วไง..คิดถึงทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

จบข่าว  อิ อิ..


สงสารประเทศไทยบ้างไหมเธอ

อ่าน: 2456

(ยอดโสมขึ้นเอง เก็บมาผัด1,000 จานก็ไม่หมด)

ช่วงนี้ประเทศไทยตกน้ำป๋อมแป๋ม หนาวสั่น

ใครมีผ้าหนาๆช่วยเอามาห่มให้คุณประเทศไทยที

นอนดูข่าวน้ำท่วมบนเก้าอี้ฮ่องเต้ทั้งวัน นึกไปถึงหัวอกคนที่นอนปริ่มน้ำที่แสนจะลำบากลำบน เคยสัมผัสเรื่องอย่างนี้มาบ้าง  แต่ไม่สาหัสเท่าภาพที่คุณยายไปสร้างบ้านบนต้นมะขามตามที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฯลงหรอกนะ สมัยที่เด็กๆรุ่งอรุณมาเข้าค่าย เคยพากันสร้างบ้านบนต้นไม้ สมมุติเป็นบ้านทาร์ซาน ก็สนุกสนานกันตามประสาเด็ก แต่บ้านที่สร้างด้วยแปลนทุลักทุเลนี้ มันบ่งบอกถึงชีวิตสะเทินน้ำสะเทินบกได้เป็นอย่างดี กลายเป็นคนครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

ถ้ามีคนช่างคิดทำบ้านแบบสูบลมได้เหมือนยางรถยต์ท่าจะดี พอน้ำมาก็งัดเอาบ้านมาสูบลมให้โป่งพอง ทำให้แข็งแรงพอที่จะไปอยู่อาศัยได้ชั่วคราว น้ำลดก็ปล่อยลมนำไปเก็บไว้ ใครทำขายก่อนรวยไม่รู้เรื่องเลยนะนี่ ขนาดที่นอนสูบลมเขาก็ทำขายมานานแล้ว ทำบ้านสูบลมดีไหม?

หรือไม่ก็แนะนำให้ปลูกต้นมะขามไว้ข้างบ้าน

ใส่ปุ๋ยเร่งให้โตวันโตคืน

ถ้ามีคนมาถามว่าปลูกต้นมะขามหลายต้นทำไม

ก็จะตอบได้ว่า..เอาไว้ไปสร้างบ้านนอนยามน้ำท่วมสิโว้ย!

(ผักแบกะดินนี่จะเจจะเจี๊ยะอร่อยได้ทั้งนั้นละครับ)

ผมดูข่าวการช่วยเหลือจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆแล้วชื่นใจ ยามทุกข์เราร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน จุดนี้วัฒนธรรมไทยยังเข้มแข็ง อยากเห็นม็อบช่วยน้ำท่วม พวกเย้วๆหายศรีษะไปไหนหมดก็ไม่รู้ ถ้าแปลงพลังส่วนนั้นมาซ่อมเสริมวาตะภัยได้ก็ดีไม่น้อย ผมสังเกตว่าส่วนกลางต่างทุ่มเทกันขนานใหญ่ พลังส่วนท้องถิ่นไม่รู้เป็นยังไงบ้างเพราะไม่ได้ลงไปสัมผัสด้วยตนเอง เห็นแต่ชะลอรองบประมาณจากส่วนกลาง แนวคิดช่วยกันอย่างทุ่มเทจากพลังชุมชน/พลังองค์กรในพื้นที่ยังไม่เข้มแข็งเหมือนสมัยก่อน เมื่อรัฐบาลกลางเหมาโหลมานาน ทำให้รูปแบบการแก้ไขเปลี่ยนไป ไม่มีงบประมาณคิดไม่ออกช่วยเหลือไม่เป็น โรคเงินไม่มากาไม่เป็นแพร่ไปสู่มิติอื่นๆ ส่วนกลางจึงอ่วมอรทัย

(ยอดมะกรูดอ่อนๆจิ้มลาบ/น้ำพริกก็ฮ้อแรด)

หน้าที่ส่วนกลางนอกจากจะแก้วิกฤติเฉพาะหน้าแล้ว

แผนงานระยะกลางระยาวควรจะชัดเจน

หลังน้ำลดจะเดินหน้ารับมือเรื่องนี้ให้ได้ให้ดีให้มีความพร้อมอย่างไร

ไม่ใช่น้ำมาที กระโตกกระตากกันที

ทั้งปีพัวพันอยู่2กระทอก ไม่น้ำท่วมก็ฝนแล้ง

เรื่องน้ำท่วมน้ำหลากจะเป็นรายการที่เหมาะสมกับผู้ชมทุุกช่วงวัยทั้งปี

คอยดูเถอะ..แผนแม่บทระดับชุมชน ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ เชื่อว่าน่าจะมี แต่มันเข้าท่าเข้าทีกับสิ่งที่จะเผชิญในวันข้างหน้าแล้วหรือยัง ถ้ามัวเมากับการแจกบ้านแจกรถแจกแท๊บเล๊ทแจกสมาร์ทการ์ด มองไม่ออกว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร อันไหนเร่งด่วนกว่ากัน ประชาชนคนลุ่มน้ำก็แถกแถไปตามยะถากรรม

เท่าที่ดูไม่ปรากฎในนโยบายหาเสียงว่าจะแก้วิกฤติภัยธรรมชาติอย่างหวังผลกันอย่างไร

(ปลูกต้นไม้ปลูกหญ้าไว้ซับน้ำ/อุ้มน้ำ เป็นการบ้านข้อที่ 1)

น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พวกเลี้ยงปลาในกระชัง ปลาน็อคตายคับกระชังกันถ้วนหน้า พื้นที่ปลูกผักปลูกผลไม้ก็พลอยย่อยยับไปด้วย กว่าจะรื้นฟื้นมาได้ต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ได้แก้ไขง่ายๆเหมือนทำกิจกรรมตามฤดูกาล เรื่องอาหารการกินก็จะพากันเรียงคิวมาให้คิ้วขมวด พวกที่ทำอาหารเก่งๆน่าจะคิดเมนูอร่อยๆแต่ต้นทุนต่ำ เทศกาลกินเจมาตอนที่ผักหายาก ไอ้แห้วลูกผมมันร้องกระจองอแงจะกินผัก ผักนะพอมีไม่ยากหรอก แต่จะต้องปรับปากท้องให้คุ้นชินกับผักชนิดใหม่ๆด้วย ถ้าเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสโดยการเสนอรายการผักพื้นเมืองยืนต้น ให้ลองชิมกันจนขยายไปในวงกว้าง ชาวบ้านชาวสวนจะได้ช่วยกันปลูกมากขึ้น ที่ลังเลเป็นเพราะคนกรุงไม่รู้จัก ช่วงที่ชาวSCG.มา ลองชวนไปเด็ดยอดโสมมาผัดให้ชิม ก็ชิมกันได้ ปากว่าอร่อยแต่ก็แค่ชิม เรื่องอาหารบางทีต้องสะสมความคุ้นเคย ถ้ามีรายการนำเสนอทางทีวีบ่อยๆน่าจะดี จะได้สอดแทรกผักยืนต้นพื้นเมืองเข้าไปในครัวเรือนเกษตรกร

นี่คิดเผื่อด้วยความห่วงใยแล้วนะ

ถ้าไม่สนใจก็ไม่ว่ากัน

เราคนชนบทเจี๊ยะกันทุกวันจนพุงกางอยู่แล้ว

ช่วงฝนพรำๆต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนๆอย่างนี้เธอเอ๋ย ยอดผักพื้นบ้าน ยอดมะรุม ยอดมะกอก ยอดตำลึง ยอดมะระขี้นก ยอดเสาวรส ยอดอ่อมแซบ ยอดกระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดสะเดา ยอดขี้เหล็ก ยอดพริก ยอดใบยอ ยอดผักหวานบ้าน ยอดชะอม ยอดใบกระดุมเงิน ยอดใบมะขาม ยอดมะยม ยอดชะมวง ยอดน้ำเต้า ยอดผักบุ้ง ยอดแมงลัก ยอดโหระพา ยอดชะพลู พร้อมที่จะเรียงล่ายซ่ายมาให้เด็ด ปัญหาอยู่ที่ว่าจะชี้ชวนให้ผักพวกนี้เข้าไปอยู่ ในสวนครัว ในตลาด ในหม้อแกง ในโต๊ะอาหาร ของชาวบ้านชาวเมืองให้มากขึ้นอย่างไร

จะแปลงวิกฤติน้ำท่วมให้เป็นอะไรได้บ้าง

น อ ก จ า ก เ อ า น้ำ ใ  จ ไ ป ซั บ น้ำ ต า แ ล้ ว

ยัง เอา ผัก พื้น ถิ่น ไปไล่ พยาธิ ให้ หาย หิว โหย ได้ อีก นะเธอ

อิ อิ..



Main: 0.058132171630859 sec
Sidebar: 0.052066802978516 sec