วิพุทธิยาจารย์อาสา

อ่าน: 3525

เรื่องถ้อยคำสำนวนเฉิดฉายต้องยกให้จุฬาลงกรณ์เขาละ คณะอักษรศาสตร์ของที่นี่นับเป็นอ๋องหนึ่งไม่มีสอง ถ้าตามอ่านชื่ออาคารต่างๆก็จะเห็นว่าไม่ซ้ำแบบใคร ถ้าไม่ทำการศึกษาไว้บ้างก็ค้างคาใจตะหงิดๆ เอ๊ะ แปลว่าอะไร มีความหมายอย่างไร แม้แต่คำว่าวิพุทธิยาจารย์อาสานี่ก็เถอะ อาจารย์อรรณพ คุณาวงษศ์กฤษ ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้เล่าที่ไปที่มาให้ฟังว่า หมายถึง “ครูผู้รู้” ที่จุฬาฯมีครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ลูกหาเป็นกะตั๊ก ถ่ายทอดส่งผ่านการฝึกฝนฝึกหัดรุ่นแล้วรุ่นเล่า ออกไปทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเอนกอนันต์ เมื่อมาคิดอ่านทำโครงการสร้างชีวิตให้แก่เกษตรไทย ผมถือว่าเป็นบุญของประเทศนี้ที่จุฬาฯคิดทำ ถึงจะคิดช้าไปหน่อยก็ยังดีกว่าดูดาย

การดูแลแก้ไขระบบการเกษตรมีมาทุกยุคทุกสมัย เราล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอด บางโครงการก็เอาเกษตรกรเป็นหนูลองยาบ้าง เอาเป็นเครื่องมือบ้าง เอาเป็นเป้าหมายเถื่อนบ้าง ที่ตั้งใจดีก็มีไม่น้อย แต่พลังของการทำงานไม่มากพอและไม่ต่อเนื่อง จึงเปรียบเสมือนหุงข้าวแล้วแก็สหมดกระทันหัน จึงต้องเลิกรากันไป ภาคการเกษตรยังมีความสำคัญอย่างมาก คณะผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจึงหนีไม่ออก ทุกปีก็จะมีโครงการมาตอดนิดตอดหน่อยเป็นประจำ ยังไม่มีโอกาสที่จะนั่งจับเข่าคุยกันวางแผนให้ได้วาระแห่งชาติฉบับตัวจริงเสียงจริง แม้แต่ในแผนงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเองก็เถอะ ต้องกำกับดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะกึกติดกักไปหมด ไม่มีอิสระที่จะทำแบบฟันธงลงไปได้แบบจะจะ อุตสาหกรรมว่าอย่างนี้ ภาคเอกชนว่าอย่างนี้ ภาคการเมืองว่าอย่างนี้ แค่นี้ก็ทับเสียงชาวบ้านจนดิ้นกระแด่วแล้วละครับ เกษตรกรโดนกระทำมากๆก็เอ๋อสิครับ พลังสติปัญญาหดหายความทะเยอทะยานก็ริบหรี่ จากความรู้ความสามารถที่มีมาในอดีตก็เลอะเลือนไปสิ้น ทิ้งชุดความรู้เดิม จนบอกไม่ได้ว่า..

วันนี้อยู่กับชุดความรู้อะไร

โลกใบนี้ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกไปเสียทั้งหมด

ถ้าคิดดี ทำดี เป็นการดีที่สุด

คิดเลอะ ทำเลอะ ก็เหนื่อยหน่อย

เกษตรกรทุกวันนี้ไม่ได้ทำการเรียนรู้ภายใต้บริบทของตนเอง ไปตกอยู่กับเงื่อนงำที่ภายนอกยิบหยื่นให้ ประกอบกับไม่ได้มีการตั้งรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ถูกชี้นำแบบมักง่ายเรื่องที่จะ รวยมากๆ รวยเร็วๆ และรวยง่ายๆ เมื่อถูกหลอกให้ตกอยู่ในห่วงกิเลศที่หอมหวาน จึงพากันทิ้งชาติภูมิดั่งเดิมของตนเอง กว่าจะรู้ตัวก็มายืนขาแข็งในโรงงานสกปรกที่เต็มไปด้วยมลพิษ ต้องมาเดินเร่รอนขายล๊อตเตอรี่เหมือนเจ้าไม่มีศาล การพัฒนาที่ผ่านมา > >

ได้เปลี่ยนเกษตรกรเป็นกรรมกร

ได้เปลี่ยนสภาพภูเขาแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้เป็นสิ่งโสโครก

ได้เปลี่ยนความพากพูมใจในวิถีไทและอัตลักษณ์ให้เป็นตัวด้อยสติปัญญาต้องหาคนจูงจมูก

ได้คุมกำเนิดความคิดความสามารถของเกษตรกรจนอยู่หมัด

ได้ทำลายบริบทการพึ่งพาตนเองจนต้องหันมาหาปัจจัยภายนอกแทบทั้งหมด

ถามว่า  วันนี้เราจะพัฒนาเกษตรกรที่มีต้นทุนต่ำดังกล่าวข้างต้นได้อย่างไร

ภาคการเกษตรบ้านเราที่ก้าวหน้ามีชื่อเสียงไปทั้งโลกก็พอมี เราส่งออกสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ปลา ข้าว ยางพารา ปีหนึ่่งๆนับล้านล้านๆบาท ตรงนี้เป็นเครื่องหมายของความเจริญก้าวหน้าใช่ไหม ก็ใช่นะสิ แต่มันเป็นการเจริญแบบมัดมือชก ไม่ได้โอบอุ้มเอาภาคการเกษตรของคนในชาติให้ลืมตาอ้าปากไปพร้อมกันด้วย มุ่งไปข้างหน้าแบบไร้น้ำใจ กดคอซื้อผลผลิตการเกษตรเป็นประจำใช่ไหมเล่า เอาเปรียบได้มากเท่าไหร่ก็ร่ำรวยมีชื่อเสียงมากเท่านั้น รวยแบบมีเงื่อนไขบาปติดตัวสักวันคงรู้สึก พระท่านบอกว่า เหตุมาจากผลของการกระทำ ถ้าตอบว่าตัวเองทำดีแล้วด้วยความสุจริตใจก็ขออนุโมทนาด้วย

การทำมาหากินในระบบทุนนิยม สุดท้ายก็เห็นประจักษ์ว่ามันไม่ได้ยั่งยืนอะไร วันนี้อเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปหายใจฟืดฟาดกับการกอบกู้ชะตากรรมเศรษฐกิจโดยรวมของตนเอง จะรอดหรือจะร่วงก็ไม่ทราบได้ รู้แต่ว่าเดี๋ยวนี้ประเทศลูกเอ้ทั้งหลายกำลังร้อนๆหนาวๆ พวกเก็งกำไรทองกระดี๊กระด๊าตอนนี้ก็หน้าเขียว อะไรมันก็อนิจังทั้งนั้นและโยม! มันจะอะไรกันนักหนา เกิดมาก็ต้องเข้าสู่เงื่อนไข เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-ด้วยกันทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครเนรมิตอะไรนอกเหนือจากนี้ได้ เช่น ตายไปฉันจะเอาเงินทอง เอาบัตรเครดิท เอากิ๊ก ตามไปโปรโลกได้ด้วย

เมื่อวานนี้ ผมนอนไข้มีอาการไอผสมทั้งคืน หลับๆตื่นๆอ่อนเพลียมาก

ยังนึกในใจว่าจะไปประชุมได้ไหมนี่

ขณะที่กำลังผะงาบผะเงยอยู่นั้น เสียงสวรรค์ก็แว่วมา

..อาจารย์ทำอะไรจะไปไหนวันนี้

ผมกำลังนอนครางฮือๆ

อ้าว! เป็นอะไร

เป็นไข้ครับ

เอาอย่างนี้เดี๋ยวผมไปหานะ

รอประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านผู้อุปการะคุณก็มาถึง บอกว่าจะชวนไปเจี๊ยะก้วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นที่อร่อยที่สุดในโลก ผมนึกในใจ แหมผมก็มีร้านที่ว่าดังๆประเภทนี้อยู่ไม่น้อย มันจะเป็นจริงอย่างที่เจ้ามือจะเลี้ยงโฆษณาหรือเปล่า ผมขอปรึกษาหารือว่าจะไปเจี๊ยะก็ไม่ว่า แต่ขอไปหาหมอที่คลีนิคที่ไหนสักแห่งก็ได้ ไม่งั้นไม่รอดแน่ เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วท่านก็หิ้วปีกผมขึ้นรถไปยังตลาดนางเลิ้ง เข้าไปในตรอกเล็กๆ กลิ่นต้มเครื่องยาตุ๋นโชยมาต้อนรับ เนื่องจากยังไม่พักเที่ยงจึงไม่ต้องเล่นเก้าอี้ดนตรี นั่งสบายๆเดินไปถ่ายรูปเก็บไว้ ได้ข้อมูลมาว่าก้วยเตี๋ยวเนื้อเจ้านี้โด่งดังมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว ลูกชิ้น เครื่องปรุงทุกอย่างสดสะอาด รสชาติก็สมคำล่ำลือ

อิ่มแล้วก็นั่งรถไปหาหมอที่ไชยแพทย์คลีนิค โชคดีที่ได้พบนายแพทย์ไพฑูรย์ นาคะเกส ที่เคยได้ยินกิติศัพท์มาบ้าง ท่านมีภรรยาเป็นนางสาวไทยด้วยนะ เสียอกเสียใจที่ตนเองเป็นแพทย์แต่ไม่สามารถรักษาชีวิตสุดที่รักได้ ท่านมีลูกชาย2คน ส่งไปเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศ กลับมารักษาคนไข้แต่ก็หาได้เป็นที่นิยมเหมือนตัวคุณพ่อไม่ ท่านเป็นนายแพทย์ที่อุทิศเวลารักษาคนไข้มายาวนาน มีขี้โรคเป็นขาประจำบานเบอะ อายุ80กว่าปีแล้ว ปัจจุบันไม่สบายต้องล้างไต ดูสภาพแล้วคุณหมอกับคนไข้อย่างผมอาการพอๆกัน ท่านถามอย่างอ่อนโยนว่าเป็นอะไรมา นั่งคุยอย่างกันเองไม่เหมือนหมอรุ่นใหม่ที่เร่งถามเป็นจรวด คุณหมอไพฑูรย์ชวนคุยไปเรื่อยๆ ประมาณ 10 นาทีก็ส่งใบสั่งยาให้ผู้ช่วย

ออกจากคลีนิคก็ได้เวลาไปประชุมที่ตึกวิทยกิตติ์ สยามสแควร์  ด้านล่างเป็นศูนย์หนังสือจุฬา โครงการฯนี้อยู่บนชั้น 12 ทางจุฬาฯลงทุนยกให้ทั้งชั้นเป็นที่ตั้งสำนักงาน ปรับปรุงใหม่เอี่ยมอ่องทุกอย่าง สมบูรณ์แบบตามสไตล์จุฬาฯเขาละครับ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ประจักษ์ว่าจุฬาฯเต็มที่กับโครงการนี้ หลังจากผมโผล่ไปคณะอาจารย์ก็ทะยอยมาเข้าห้อง เป็นห้องเล็กๆเป็นรูปวงกลมกระชับเหมาะที่จะประชุมแบบปิดประตูตีแมว

ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤติ ผู้อำนวยการฯ ได้กล่าวท้าวความที่ไปที่มา และได้ทำอะไรไปบ้าง พบเห็นอะไรบ้าง ความก้าวหน้าในด้านการประสานงาน มีหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้างที่เข้ามาสนับสนุนพันธกิจนี้ โดยภาพรวมแล้วก็น่ายินดีที่มีผู้ที่เห็นดีเห็นงานแบบเอาด้วย เท่าที่ท่านเอ่ยชื่อมาก็ล้วนแต่เป็นรุ่นเดอะกันทั้งนั้น ตรงจุดนี้ที่ผมเห็นว่าสำคัญยิ่งนัก ในเมื่อคณะใดๆในมหาวิทยาลัย ได้สอนนิสิตไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ถ้ามีโครงการเรียกบัณฑิตรุ่นเดอะคืนถิ่นอย่างมีเป้าหมาย ลูกศิษย์ที่มากประสบการณ์เหล่านั้นก็จะย้อนมาช่วนงานคณะ เป็นการเติมเต็มให้กันได้อย่างลงตัว

ถ้ามีการประเมินหลักสูตร แทนที่คณาจารย์จะนั่งปรึกษาหารือยกเครื่องกันเอง ถ้ามีโครงการฯลักษณะที่เชื่อมโยงประสบการณ์ตรงของลูกศิษย์ที่กระจายตัวไปอยู่ในกรมกองหรือกระทรวงต่างๆ ได้มาทบทวนความรู้ที่ผ่านการสงเคราะห์แล้วในสภาพจริง เอาออกมายกระดับวิชาชีพให้เข้ากับวิชาการ เป็นชุดความรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพของคณะนั้นๆ ความก้าวหน้าทางวิชาการก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ

ถ้าเล่นบทอย่างนี้วิชาความรู้ที่สอนในคณะฯต่างๆก็จะไม่เหี่ยว

ปรับปรุงให้สดใสไฉไลอยู่สม่ำเสมอ

เป็นการรวบรวมทุนวิชาความรู้ที่สถาบันต่างๆมาช่วยแก้โจทย์ของประเทศ

ทำให้นิสิตได้รับความรู้ที่กระเทาะแล้วมาให้พิจารณาเพิ่มจากตำราเรียนปกติ

ผมวนเวียนอยู่กับภาคการเกษตรมานาน แต่ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ พยายามเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรต่างๆ รวมทั้งที่คิดและทำเองบางส่วน แต่ก็เห็นว่าภาพของภาคการเกษตรบ้านเรานั้นนับวันจะย่ำแย่ ถูกภาคอุตสาหกรรมรังแกเอาเปรียบ ไม่มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือตัวเอง จะรอให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นใจก็ยากยิ่งกว่าอุ้มช้างขึ้นดอยสุเทพ เพราะเล่นกันคนละบริบท ก็พยายามทำใจ ในเมื่อกระแสการทำมาหากินของมนุษย์ไม่ได้เชื่อมโยงให้เกิดความอนาทรต่อกัน ใครแข็งแรงกว่าก็วางกติกาเข้าข้างตัวเองได้มากกว่า

ทั้งๆที่ภาคการเกษตรนั้นเป็นตัวริเริ่มอุดหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมลืมตาอ้าปากได้

พอร่ำรวยขึ้นมาแทนที่จะเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจบ้าง

ก็ปล่อยให้ภาคการเกษตรเป็นหมาหลงอยู่บนทางด่วน

อ่อนแอ อ่อนไหว กระจองอแง เรียกร้องความเห็นใจอย่างน่าเวทนา

ที่รำพึงรำพันมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อจะบอกว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครกอบกู้ชะตากรรมของภาคการเกษตรได้ เพราะคนที่คิดและทำมีข้อจำกัดมากมาย ประเทศนี้จึงทำลายฐานสังคมฐานทรัพยากรเพื่อที่จะเป็นอาเสี่ยจอมปลอม ถ้าทุกข์ของชาวไร่ชาวนายังเป็นทุกข์ของแผ่นดิน เราจะเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดความเจริญของชาติ มันก็ตลกทั้งนั้น ละครับ ที่ซ้ำร้ายเอาจมูกไปให้ต่างชาติสนตะพาย เราต้องนำเข้าทุน นำเข้าวัฒนธรรม นำเข้าความรู้ นำเข้าเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเราส่งออกอะไร สมน้ำสมเนื้อกันบ้างไหม ความเจริญที่เสมือนจริงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อคนในชาติมากขึ้นเรื่อยๆ การแก้ผ้าเอาหน้ารอด เป็นวิธีการที่ไม่สำเร็จแต่ก็ยังกระทำ

ท่านลองนึกดูสิครับ เกษตรกรทิ้งถิ่น ปัญหาที่อยู่ข้างหลังจะเป็นยังไง มันก็เรรวนไปหมด ลูกเต้าไม่มีใครดูแลอบรมสั่งสอน การทำไร่ทำนาก็ต้องหันมาทำแบบสุกเอาเผากิน ทำแล้วก็มีมือที่มองไม่เห็นมาขยุ้มเอาไป ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย เงินกู้ ปัจจัยการผลิต ค่าจ้างรถไถรถนวดรถเกี่ยว ไหนจะจ่ายค่าโง่อีก

ประเทศที่สภาพแวดล้อมเอื้ออวยให้ทำการเกษตรได้อย่างมาก

แต่กลับเป็นประเทศทุพลภาพในการทำมาหาเลี้ยงชีพ

เราดูแลภาคเกษตรกันอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเลื่อมล้ำในสังคมนี้ใช่ไหมเล่า

ที่เรากำลังอิดหนาระอาใจกับสารพัดม๊อบ

ตั้งแต่โครงการฯนี้เชิญประชุมครั้งแรก จนกระทั้งมาถึงครั้งนี้ ผมเริ่มดวงตาสว่างและมีความหวังขึ้น เพราะบารมีของจุฬาฯนั้น ถ้าถูกนำมาช่วยชาติบ้านเมืองในมิติเชิงรุกก็จะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ที่อาจจะทำให้สถาบันการศึกษาแหล่งอื่นๆเอาไปคิดต่อยอดเป็นแบบอย่าง วิชาความรู้ในมหาวิทยาลัยนั้นมากมายมหาศาลยิ่งนัก ถ้ามีวิธีผ่องถ่ายความรู้ให้สะดวกและกว้างขวางขึ้นย่อมเป็นคุณต่อการบูรณะประเทศชาติ

ถ้าเอาตัวหนังสือที่อยู่ในกระดาษให้ออกมาโลดเต้นได้

ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นระทึกใจเสมอ

ผมชอบใจที่โครงการฯนี้คิดมาก คิดแล้วคิดอีก ไม่รีบกำหนดอะไรลงไปง่ายๆ ชวนคนโน้นคนนี้มาออกความเห็น แม้แต่อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็มาร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะศิษย์เก่า และพันธมิตรภายนอกที่ชื่นชมจุฬาฯก็อาสามาร่วมสังฆกรรมอย่างเต็มอกเต็มใจ อาจารย์เล่าว่า ไปชวน สปก.ชวน ธกส. หรือชวนใครๆเขาต่างยินดีทั้งนั้นละครับ เพราะเขาตระหนักว่าจุฬาฯไม่เคยทำจับฉ่าย ทำด้วยเกียรติภูมิในมาตรฐานของจุฬาฯ ซึ่งเรื่องนี้เป็นทุนที่กินไม่หมด ศรัทธาที่สาธารณชนมีต่อจุฬานั้น จะเป็นพลังแฝงที่มีค่ามหาศาลยิ่งนัก


อาจารย์ ถามว่า โครงการนี้จะสำเร็จไหม ?

แหม ชอบใจจริงๆ กับคำถามนี้มาก

เพราะไปหลายงานแล้วไม่มีใครเขาฉุกคิดอย่างนี้

พอจะทำอะไรสักอย่างก็โมเมชั่นสบั้นหั่นแหลก

โครงการนี้จุฬาฯเอาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของจุฬาฯวางเป็นเดิมพัน

ในการที่จะคิดทำอะไรสักเรื่องเพื่อสนองคุณแผ่นดินที่จุฬาฯจะครบวาระ 100 ปี

ห ล า ย แ ห่ ง คิ ด ทำ เ รื่ อ ง วั ต ถุ ส ร้ า ง โ น้ น ส ร้ า ง นี้

แม้แต่สร้างส้วมเทิดประเกียรติก็ยังคิดทำออกมาได้

แ ต่ จุ ฬ า ฯ คิ ด ส ร้ า ง ค น

วัดกึ๋นกันตรงนี้ก็อลังการณ์จนบอกไม่ถูกละครับ

สอดส่องไปทั่วแผ่นดินนี้ ก็เห็นจุฬาฯนี่แหละมีศักยภาพที่จะทำเรื่องการสร้างบัณฑิตสายพันธุ์จุฬาฯ ที่สอนให้ติดดินและติดต่อวิทยาการต่างๆได้อย่างบรรเจิด เริ่มคิดอย่างเป็นระบบ วางกรอบไว้อย่างรัดกุม หาคนมาช่วยดูแล้วดูอีก คัดเด็กอย่างไร สอนกันอย่างไร จะใส่อะไรลงไปในตัวเด็ก จะอัดฉีดเรื่องจิตอาสา เรื่องคุณธรรม เรื่องการรู้ตัวเอง และการมีศักดิ์ศรีในอาชีพการงานของตนเอง จบไปแล้วนักศึกษาควรจะประกาศความพากพูมใจได้ว่า “ข้าคือเกษตรกร” การที่จะยืนหยัดประกาศความทรนงได้นั้น จะต้องทำอะไรบ้าง มีที่ไปที่มาอย่างไร นี่คือโจทย์ที่โครงการฯนี้จะต้องตีให้แตก

เป็นโครงการฯที่คิดใหม่ทำใหม่ไม่ตามก้นใครนี่แหละ ที่เป็นเสน่ห์ของจุฬาฯเขาละ

หลายท่านมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องยาก

แหม ถ้า จุ ฬ า ฯ คิ ด ทำ เ รื่ อ ง ง่ า ย มั น จ ะ เ ป็ น จุ ล า น ะ สิ ค รั บ

การสู้สิ่งยากนี่แหละคือตัวตนของคนจุฬาฯ อยู่กันมาจวนจะเข้า100ปีแล้ว สังคมยับเยินบ้านเมืองแตกสาแหรกขาด ถ้ายังนิ่งดูดาย ไม่ลุกขึ้นมาใช้ศักยภาพที่ตนเองมีก็นับว่าเสียดายวันเวลายิ่งนัก อาจารย์เล่าว่า นักศึกษาที่รับมาไม่ได้กะเกณฑ์ที่จะให้เขากลับท้องถิ่นกันทุกคน ทั้งๆที่หวังลึกๆว่าอยากจะให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองให้มาก ได้กำหนดกรอบที่เอาความจริงเป็นตัวตั้งแบ่งออกเป็น3กลุ่ม

1 กลุ่มที่กลับไปช่วยพ่อแม่พัฒนาการงานอาชีพของตนเอง

2 กลุ่มที่นำเอาวิชาความรู้ไปทำเรื่องการตลาด การแปรรูป การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์

3 กลุ่มที่เข้าไปบรรจุทำงานใน อบต. และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

ถึงจะกำหนดเพียง3รูปแบบ ถ้าโครงการฯนี้บรรจุความรู้ความสามารถให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างเต็มที่แแล้ว อานุภาพของความรู้ก็จะนำเขาเหล่านี้ไต่ระดับไปสู่โลกกว้างแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด ในส่วนของนักศึกษาที่จะคืนถิ่น ผมให้ข้อสังเกตว่า..ควรจะมีการรองรับในส่วนที่จำเป็นของครอบครัวนักศึกษาด้วย โดยเฉพาะปัจจัยการผลิต อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ฯลฯ อาจารย์บอกว่าตรงจุดนี้ก็คิดไว้บ้างแล้ว จากที่ผมเห็นในเครื่องการอื่น เช่น บัณฑิตคืนถิ่น ไปเที่ยวเก็บลูกชาวบ้านแถวชายแดนมนเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อจะออกไปพัฒนาการงานอาชีพของพ่อแม่ จะไปยังไงละครับ มีแต่น้ำลายกับกำปั้นจะไปทำอะไรได้ เด็กยังอ่อนประสบการณ์ไปเจอปัญหายุ่งยากก็เผ่นนะสิครับ

วันนี้คณะที่ร่วมประชุมออกความเห็นกันมาก

สิ่งหนึ่งที่ผมฝากไว้..ลูกศิษย์จะบอกครูเองละครับว่า..เขาต้องการอะไร

เพียงแต่ครูต้องหูใหญ่ ตาใหญ่ ใจใหญ่ เปิดกว้างรองรับสิ่งที่ลูกศิษย์สะท้อน

ในส่วนของการเรียน ปีแรกเติมเต็มเรื่องศักยภาพของวิชาความรู้ความคิดที่กรุงเทพฯ 3ปีถัดมาอพยพไปศึกษาและใช้ชีวิตในศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งจุฬาฯลงกรณ์จังหวัดน่าน โดยมีอาจารย์ไปทำหน้าที่หลักกำกับดูแลลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีวิพุทธิยาจารย์อาสาหมุนเวียนเดินทางไปพบปะทุก 3 สัปดาห์ ตลอดภาคการศึกษา หัวข้อสนทนากับลูกศิษย์ ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของวิพุทธิยาจารย์เป็นผู้กำหนดหัวข้อ แล้วให้ทางคณาจารย์ของสำนักฯเป็นผู้เลือก โดยจะมีการประสานกับวิพุทธิยาจารย์ก่อนเดินทางไปพบนิสิต ซึ่งแต่ละท่านสามารถไปพบได้มากกว่า 1 ครั้ง และแต่ครั้งจะนัดหมายวิพุุทธิยาจารย์ไปด้วยกัน 2-3 ท่าน

ผมคิดไว้แล้ว งานนี้จะเลือกไปต้นปีหน้า จะพานักศึกษาไปให้อาว์เปลี่ยนสอนถึงลาว

หรือชวนอาว์เปลี่ยนมาพบนักศึกษาที่น่าน

จะให้เขาได้รับบริบทการพัฒนาระดับอินเตอร์ไปด้วย

ตั้งใจว่าจะชวนสาวๆชาวเฮไปด้วยจะดีไหม?

จะได้ช่วยสอนๆๆๆ กันคนละไม้ละมือ

เรื่องรายละเอียดยังมาอีกเป็นกระบุงโกย ขืนเล่าไปก็เบื่ออ่านเปล่าๆ เอาเป็นว่าทำไปเล่าไปก็แล้วกัน ที่สำคัญงานนี้ผมได้ไปเรียนรู้ด้วย เพราะวิพุทธิยาจารย์ของโครงการนี้แต่ละท่านอยู่ขั้นปรมาจารย์ขี่นกกระเรียนเหยียเมฆมาทั้งนั้น หลายท่านที่ผมได้รู้จักแต่ชื่อ และติดตามงานมานาน เพิ่งจะมาเห็นตัวเป็นๆก็ในงานนี้ื จุฬาฯอยู่มาเกือบร้อยปีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ งานนี้เท่ากับเป็นการชุมนุมจอมยุทธมาช่วยกันกอบกู้วิถีเกษตรกร เราจะได้เห็นพลังจุฬาฯว่ามีอภิมหาวิทยาการแค่ไหน น่าสนใจนะครับ

กองทัพจุฬาฯยกพลมโหระทึกสู้ศึกความยากจนให้ประเทศ

น้ำใจน้องพี่สีชมพู.. เริ่มเปิดหูเปิดตาให้กับปวงประชา

ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมืองจะเคลื่อนพล ณ บัดนี้

ก่อนออกจากห้องประชุมอาจารย์พาเดินชมห้องหับต่างๆ  ก็เห็นว่ามีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ลงมาล่วงเวลาที่นัดหมายอาจารย์นฤมล บรรจงจิตร์ไปเล็กน้อย  เจอหนูพิมพ์รอรับไปร้านอาหาร อาจารย์บอกว่าจะเลี้ยงอาหารจีนที่สยามสะแควร์ ไปถึงอาหารเต็มโต๊ะละลานตา มิรู้ว่าจะชิมอะไรก่อน ตักตอนไหนก็อร่อยตอนนั้น แต่ก็ชิมได้ไม่เท่าไหร่หรอก เพราะฤทธิ์ยาทำให้การรับรสจืดจาง

นี่แหละหนา ที่เข้าว่า เ จ อ ไ ม้ ง า ม เ มื่ อ ย า ม ข ว า น บิ่ น

โอ๊ะ ! ไม่ใช่สิ ..จะเรียกว่า ปิ้ ง ป ล า ป ร ะ ช ด แ ม ว ก็ ไ ม่ เ ชิ ง

น่าจะเป็นการสั่งอาหารมา ป ร ะ ช ด ชู ช ก

ขอบคุณอาจารย์และลูกศิษย์ที่เลี้ยงอาหารมื้อที่จะจดจำไปเท่านานแสนนาน

ขอ ใ ห้ ยิ้ ม ห ว า น แ ล ะ อ า ยุ มั่ น ข วั ญ ยื น ต ล อ ด ไ ป เน้อ อิ อิ



Main: 0.038185834884644 sec
Sidebar: 0.091255187988281 sec