สงสารประเทศไทยบ้างไหมเธอ
(ยอดโสมขึ้นเอง เก็บมาผัด1,000 จานก็ไม่หมด)
ช่วงนี้ประเทศไทยตกน้ำป๋อมแป๋ม หนาวสั่น
ใครมีผ้าหนาๆช่วยเอามาห่มให้คุณประเทศไทยที
นอนดูข่าวน้ำท่วมบนเก้าอี้ฮ่องเต้ทั้งวัน นึกไปถึงหัวอกคนที่นอนปริ่มน้ำที่แสนจะลำบากลำบน เคยสัมผัสเรื่องอย่างนี้มาบ้าง แต่ไม่สาหัสเท่าภาพที่คุณยายไปสร้างบ้านบนต้นมะขามตามที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฯลงหรอกนะ สมัยที่เด็กๆรุ่งอรุณมาเข้าค่าย เคยพากันสร้างบ้านบนต้นไม้ สมมุติเป็นบ้านทาร์ซาน ก็สนุกสนานกันตามประสาเด็ก แต่บ้านที่สร้างด้วยแปลนทุลักทุเลนี้ มันบ่งบอกถึงชีวิตสะเทินน้ำสะเทินบกได้เป็นอย่างดี กลายเป็นคนครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมจริงๆ
ถ้ามีคนช่างคิดทำบ้านแบบสูบลมได้เหมือนยางรถยต์ท่าจะดี พอน้ำมาก็งัดเอาบ้านมาสูบลมให้โป่งพอง ทำให้แข็งแรงพอที่จะไปอยู่อาศัยได้ชั่วคราว น้ำลดก็ปล่อยลมนำไปเก็บไว้ ใครทำขายก่อนรวยไม่รู้เรื่องเลยนะนี่ ขนาดที่นอนสูบลมเขาก็ทำขายมานานแล้ว ทำบ้านสูบลมดีไหม?
หรือไม่ก็แนะนำให้ปลูกต้นมะขามไว้ข้างบ้าน
ใส่ปุ๋ยเร่งให้โตวันโตคืน
ถ้ามีคนมาถามว่าปลูกต้นมะขามหลายต้นทำไม
ก็จะตอบได้ว่า..เอาไว้ไปสร้างบ้านนอนยามน้ำท่วมสิโว้ย!
(ผักแบกะดินนี่จะเจจะเจี๊ยะอร่อยได้ทั้งนั้นละครับ)
ผมดูข่าวการช่วยเหลือจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆแล้วชื่นใจ ยามทุกข์เราร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน จุดนี้วัฒนธรรมไทยยังเข้มแข็ง อยากเห็นม็อบช่วยน้ำท่วม พวกเย้วๆหายศรีษะไปไหนหมดก็ไม่รู้ ถ้าแปลงพลังส่วนนั้นมาซ่อมเสริมวาตะภัยได้ก็ดีไม่น้อย ผมสังเกตว่าส่วนกลางต่างทุ่มเทกันขนานใหญ่ พลังส่วนท้องถิ่นไม่รู้เป็นยังไงบ้างเพราะไม่ได้ลงไปสัมผัสด้วยตนเอง เห็นแต่ชะลอรองบประมาณจากส่วนกลาง แนวคิดช่วยกันอย่างทุ่มเทจากพลังชุมชน/พลังองค์กรในพื้นที่ยังไม่เข้มแข็งเหมือนสมัยก่อน เมื่อรัฐบาลกลางเหมาโหลมานาน ทำให้รูปแบบการแก้ไขเปลี่ยนไป ไม่มีงบประมาณคิดไม่ออกช่วยเหลือไม่เป็น โรคเงินไม่มากาไม่เป็นแพร่ไปสู่มิติอื่นๆ ส่วนกลางจึงอ่วมอรทัย
(ยอดมะกรูดอ่อนๆจิ้มลาบ/น้ำพริกก็ฮ้อแรด)
หน้าที่ส่วนกลางนอกจากจะแก้วิกฤติเฉพาะหน้าแล้ว
แผนงานระยะกลางระยาวควรจะชัดเจน
หลังน้ำลดจะเดินหน้ารับมือเรื่องนี้ให้ได้ให้ดีให้มีความพร้อมอย่างไร
ไม่ใช่น้ำมาที กระโตกกระตากกันที
ทั้งปีพัวพันอยู่2กระทอก ไม่น้ำท่วมก็ฝนแล้ง
เรื่องน้ำท่วมน้ำหลากจะเป็นรายการที่เหมาะสมกับผู้ชมทุุกช่วงวัยทั้งปี
คอยดูเถอะ..แผนแม่บทระดับชุมชน ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ เชื่อว่าน่าจะมี แต่มันเข้าท่าเข้าทีกับสิ่งที่จะเผชิญในวันข้างหน้าแล้วหรือยัง ถ้ามัวเมากับการแจกบ้านแจกรถแจกแท๊บเล๊ทแจกสมาร์ทการ์ด มองไม่ออกว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร อันไหนเร่งด่วนกว่ากัน ประชาชนคนลุ่มน้ำก็แถกแถไปตามยะถากรรม
เท่าที่ดูไม่ปรากฎในนโยบายหาเสียงว่าจะแก้วิกฤติภัยธรรมชาติอย่างหวังผลกันอย่างไร
(ปลูกต้นไม้ปลูกหญ้าไว้ซับน้ำ/อุ้มน้ำ เป็นการบ้านข้อที่ 1)
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
ใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พวกเลี้ยงปลาในกระชัง ปลาน็อคตายคับกระชังกันถ้วนหน้า พื้นที่ปลูกผักปลูกผลไม้ก็พลอยย่อยยับไปด้วย กว่าจะรื้นฟื้นมาได้ต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ได้แก้ไขง่ายๆเหมือนทำกิจกรรมตามฤดูกาล เรื่องอาหารการกินก็จะพากันเรียงคิวมาให้คิ้วขมวด พวกที่ทำอาหารเก่งๆน่าจะคิดเมนูอร่อยๆแต่ต้นทุนต่ำ เทศกาลกินเจมาตอนที่ผักหายาก ไอ้แห้วลูกผมมันร้องกระจองอแงจะกินผัก ผักนะพอมีไม่ยากหรอก แต่จะต้องปรับปากท้องให้คุ้นชินกับผักชนิดใหม่ๆด้วย ถ้าเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสโดยการเสนอรายการผักพื้นเมืองยืนต้น ให้ลองชิมกันจนขยายไปในวงกว้าง ชาวบ้านชาวสวนจะได้ช่วยกันปลูกมากขึ้น ที่ลังเลเป็นเพราะคนกรุงไม่รู้จัก ช่วงที่ชาวSCG.มา ลองชวนไปเด็ดยอดโสมมาผัดให้ชิม ก็ชิมกันได้ ปากว่าอร่อยแต่ก็แค่ชิม เรื่องอาหารบางทีต้องสะสมความคุ้นเคย ถ้ามีรายการนำเสนอทางทีวีบ่อยๆน่าจะดี จะได้สอดแทรกผักยืนต้นพื้นเมืองเข้าไปในครัวเรือนเกษตรกร
นี่คิดเผื่อด้วยความห่วงใยแล้วนะ
ถ้าไม่สนใจก็ไม่ว่ากัน
เราคนชนบทเจี๊ยะกันทุกวันจนพุงกางอยู่แล้ว
ช่วงฝนพรำๆต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนๆอย่างนี้เธอเอ๋ย ยอดผักพื้นบ้าน ยอดมะรุม ยอดมะกอก ยอดตำลึง ยอดมะระขี้นก ยอดเสาวรส ยอดอ่อมแซบ ยอดกระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดสะเดา ยอดขี้เหล็ก ยอดพริก ยอดใบยอ ยอดผักหวานบ้าน ยอดชะอม ยอดใบกระดุมเงิน ยอดใบมะขาม ยอดมะยม ยอดชะมวง ยอดน้ำเต้า ยอดผักบุ้ง ยอดแมงลัก ยอดโหระพา ยอดชะพลู พร้อมที่จะเรียงล่ายซ่ายมาให้เด็ด ปัญหาอยู่ที่ว่าจะชี้ชวนให้ผักพวกนี้เข้าไปอยู่ ในสวนครัว ในตลาด ในหม้อแกง ในโต๊ะอาหาร ของชาวบ้านชาวเมืองให้มากขึ้นอย่างไร
จะแปลงวิกฤติน้ำท่วมให้เป็นอะไรได้บ้าง
น อ ก จ า ก เ อ า น้ำ ใ จ ไ ป ซั บ น้ำ ต า แ ล้ ว
ยัง เอา ผัก พื้น ถิ่น ไปไล่ พยาธิ ให้ หาย หิว โหย ได้ อีก นะเธอ
อิ อิ..