คิดเล็กๆน้อยๆ

อ่าน: 1229

:: ในฐานะคนบ้านสวนที่สนใจปลูกไม้ไผ่

ดีกว่านั่งหายใจทิ้ง

มาคิดว่าถ้าจะเอาไม้ไผ่มาใช้บรรเทาทุกข์ให้แก่คนที่น้ำท่วมบ้าน

นอกจากจะเอาไม้ไผ่มาต่อแพอย่างที่กรมป่าไม้นำเสนอแล้ว

ถ้าเราเอาไม้ไผ่มาทำห้างชั้นสำเร็จรูปขนาด 6 ตารางเมตร

สูงชั้นแรก4 เมตร ชั้นที่ 2 สูง 6.30 เมตร ชั้นที่ 3สูง 8เมตร

ชั้นดังกล่าวปูด้วยฟากที่ถักเป็นแผ่นม้วนได้

:: ส่วนการตั้งพื้นก็เลือกทำเลที่ว่างข้างบ้าน-หลังบ้านมาเป็นจุดติดตั้ง

ใช้สว่านยนต์เจาะหลุม 4 หลุม ลึก 1 เมตร เสาเสริมค้ำยันไม่ต้องเจาะก็ได้

แล้วเอาเสาไม้ไผ่ฝังลงไป ยึดทุกด้านให้แน่นแข็งแรงต่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ

แค่นี้ก็มีพื้นที่เก็บของใช้ไม้สอยได้อักโข

อุปกรณ์ใหญ่โตวางชั้นล่าง ชั้นกลางไว้เก็บของเบาๆ แบ่งมุมไว้ทำครัว

ชั้นบนสุดตบแต่งเป็นที่นอนชมดาว

ผนังด้านข้างใช้มุ้งที่เปิดปิดได้ทุกด้าน

ชั้นไม้ไผ่เอนกประสงค์นี้ทำง่าย ประกอบง่าย ราคาถูก

เหมาะกับงานเฉพาะหน้า

:: อธิบายยังไงก็คงไม่เข้าใจ

คนงานเผ่นไปกู้วิกฤติน้ำ

ไม่งั้นจะลองให้สร้างเป็นตัวอย่่าง

นอกจากนี้เศษบ้องไม้ไผ่ยังเอามาทดลองทำข้าวหลามได้

หวังว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา นะเธอ

จ๋อม จ๋อม จ๋อม


ฉุกคิด! ฉุกคลิ๊ก!

อ่าน: 1330

ก่อนฝนตกใหญ่..ฝูงมดแก้ปัญหาอย่างไร อ พ ย พ กั น ไ ป ที่ ไ ห น  มีใครแนะนำ มีใครวางแผน เนื่องจากสังคมมดเป็นแบบไปไหนไปด้วยกัน อพยพแบบยกโขยง ทำ ไ ม เ ลื อ ก ข น ไ ข่ ไ ป ด้ ว ย  ทำ ไ ม ไ ม่ ห นี ไ ป แ ต่ ตั ว  แล้วค่อยไปอออกไข่เอาใหม่  มดไม่สมบัติใดๆให้ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เมื่อลูกพี่สั่งย้าย ทุกคนก็บ่ายหน้าเดินทางอย่างเป็นระเบียบแข็งขัน ที่สำคัญก็คือกองทัพมดเหล่านี้ อพยพก่อนที่ภัยจะมาถึง ทำไมมดจึงมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เทคโนโลยีของมนุษย์ยังด้อยกว่าของมดมากนัก

ยังมีมดบางประเภทที่ไม่เดือดร้อนกับน้ำท่วม

เพราะไปทำรังอยู่บนต้นไม้

จะลำบากบ้างตอนที่มีลมกระโชกแรง

มดแดงเป็นมดที่สุภาพสตรีทั่วโลกอิจฉา

เพราะเอวมาตรฐาน เคยเห็นมดแดงตัวไหนลงพุงไหมละครับ

จุดเด่น >> อพยพล่วงหน้า ยกโขยงขนไข่ไปด้วย รู้จุดที่ปลอดภัยไปอาศัยพักพิง ถึงจะมีคำพังเพย น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา แสดงว่ามดบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ น้ำท่วมมาก็หนีขึ้นต้นไม้ใบหญ้า แต่ก็คงจะมีบางตัวที่ถูกลมพัด หรือหนีไม่ทัน มดตัวเบาลอยน้ำได้ จึงตกเป็นเหยื่อของปลา ตัวที่ลอยไปเกาะต้นไม้รอดชีวิต น้ำลดก็จะมาเอาคืนปลาที่แถกตายค้างโคก

ก่อนน้ำท่วมพื้น ไส้เดือน ตะขาบ กิ้งกือ รู้ตัวล่วงหน้าก่อนไหม มี ศู น ย์ เ ตื อ น ภั ย ห รื อ ร ะ บ บ เ ตื อ น ภั ย ห รื อ เ ป ล่ า ท่านยึกยือเหล่านี้หนีภัยน้ำท่วมอย่างไร ก็คงมีบ้างที่ประสบเคราะห์กรรม ส่วนใหญ่เราจะเห็นวิธีเอาตัวรอด อ พ ย พ ไ ป แ ต่ ตั ว  แบบตัวใครตัวมัน ไม่ห่วงใยญาติโกโหติกาใดๆ ทุกท่านตกลงกันว่าต่างตัวต่างไป ถ้าพ้นภัยค่อยมาจี๋จ๋ากันใหม่ แพร่สายพันธุ์ให้อยู่ยงคงกระพันกันต่อไป

จุดเด่น >> ตระกูลท่านยึกยือจะอพยพแบบตัวใครตัวมัน มีกติกาว่า..ถ้าแยกกันหนีน่าจะสะดวกและไปได้เร็ว แต่ก็สังเกตเห็นว่า..สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นต่ำผิวดินเหล่านี้  จะมีรหัสพิเศษ มักจะหนีไปหาที่ปลอดภัย ไม่มีตัวไหนลังเลแม้แต่นิดเดียว ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่สงสัยในระบบสื่อสารกับธรรมชาติ กลุ่มยึกยือโผล่ออกมาจากหลุม พากันวิ่ง ดิ้นกระแด่วคลืบคลานไปยังทิศทางที่ปลอดภัย แปลกแท้ๆทั้งที่ ไม่ มี ตา ม อ ง ไ ม่ เ ห็ น แต่ไส้เดือนก็เดินไปยังทิศทางที่เหมาะสม ไม่ต้องอาศัยโทรศัพท์ โทรทัศน์ ป้ายชี้บอกทิศ ระบบในตัวมีประสิทธิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นความรู้ที่พอเพียง พึ่งตนเองได้ในยามวิกฤติจริงๆ

ก่อนฝนท่วมใหญ่จะมาถึง ปลาหมอท้องแก่ที่อั้นไว้นานเต็มที วันที่อากาศจะร้อนจัด ท้องฟ้าแดดเปรี้ยง เค้าเมฆทะมึนมาแต่ไกล ท่านเชื่อไหมครับ แ ม่ ป ล า ห ม อ จ ะ พ า ก า ร ดิ้ น ก ร ะ แ ด่ ว ๆ ขึ้ น จ า ก ห น อ ง น้ำ ผ่านพื้นที่แห้งผากร้อนระอุตอนกลางวันนี่แหละ ทุกตัวตรงไปยังแม่น้ำ มากันเป็นฝูงเลยนะ แปลกแท้ๆ ป ล า ห ม อ รู้ ไ ด้ อ ย่ า ง ไ ร ว่ า จ ะ ต้ อ ง ไ ป ยั ง ทิ ศ ไ ห น รู้ระยะทางได้อย่างไร ก่อนหน้านั้นทำไมไม่พากันอพยพไปก่อน ทำไมต้องรอเดินทางในสภาพที่ไม่พร้อมเช่นนี้

จุดเด่น >> ปลาที่จับได้มีไข่เต็มท้อง เราไม่ค่อยเจอปลาเพศผู้อพยพในลักษณะนี้ หรือปลาตัวผู้หลบหนีไปก่อนหน้าแล้ว ปลาท้องแก่ น่าจะอุ้ยอ้ายกว่าปลาท้องว่าง แสดงว่าการอพยพแบบมีไข่ในท้องคงมีเหตุผลที่เราไม่รู้ เหมือนกับมดขนไข่ ทำไมไม่ไปไข่เอาใหม่ ที่สังเกตเห็นอีกเรื่องหนึ่ง ปลาจะอพยพตอนหัวลมหนาวมาครั้งแรกๆ ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขนาดเล็ก คงรู้ตัวว่าน้ำจะเหือดแห้ง จึงตัดสินใจอพยพไปหาแหล่งน้ำใหม่ ปลาอาศัยกลิ่นจากแห่งน้ำใหญ่เป็นเครื่องบอกทิศ จึงกระโดดขึ้นจากแอ่งน้ำเหือดยามค่ำคืน ดิ้นกระแด่วไปยังทิศแม่น้ำ ชาวนาจับเคล็ดลับนี้ได้ พากันไปขุดหลุมลึกประมาณ1ศอก ดักหน้ามุมที่ปลาจะขึ้น แล้วไปดำน้ำเอาโคลนจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงมาลูบปากหลุมที่ขุดไว้ ปลาได้กลิ่นก็พากันออกเดินไปตกหลุมนอนกองกัน ปลาที่เข้าเครื่องมือดักปลารูปแบบต่างๆ ล้วนมีความรู้ไม่พอใช้ ทำให้แพ้ภัยมนุษย์ขี้โกง

ก่อนฝนท่วมใหญ่ ปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน จะมีวิธีอุดรูภายในรังหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบได้ สังเกตเห็นว่า จอมปลวกบางแห่งก็ยังอยู่เย็นเป็นสุขต่อมาได้ แสดงว่าในระหว่างที่น้ำท่วมผิวติน ระบบดินใต้น้ำไม่อันตรายต่อปลวกมากนัก ถ้าน้ำไม่ท่วมถาวรปลวกก็ยังพอประคองตัวอยู่ได้ ยังมีปลวกบางชนิดจะอพยพขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้ ไปทำรังเป็นก้อนกลมๆสีดำอยู่ตามคาคบต้นไม้ กลายเป็นปลวกที่ปลอดภัยกว่าประเภทอื่น ถ้าเปรียบกับนุษย์คงจะเทียบได้กับพวกที่อาศัยอยู่บนคอนโดกระมัง

จุดเด่น >> ปลวกเหมือนกัน แต่มีวิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน วิทยาการของปลวกมีหลากหลาย อยู่ที่สายพันธุ์ไหนจะเลือกฝึกฝนทักษะให้เหมาะสมกับชาติพันธุ์ของตนเอง เรื่องนี้สังคมมนุษย์ก็คล้ายๆกับปลวก ประเทศฮอลแลนด์อยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล ก็มีวิธีต่อสู้กับสภาพแวดล้อม ณ ที่ตรงนั้น ฟิลิปปินส์เจอมรสุม ไต้ฝุ่น ทั้งปีทั้งชาติ ก็มีชุดความรู้สู้ภัยพิบัติของเขาเอง ประเทศญึ่ปุ่นประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่บนรอยเลื่อนไหลของเปลือกโลก จึงเจอแผ่นดินไหวอยู่เนืองๆ งานด้านปกป้องภัยพิบัติจึงเป็นวาระแห่งชาติ เขาไม่เอาเวลามีค่าของสังคม มาทำเรื่องแยกค่ายแยกสีตีกันเผาบ้านเมืองเหมือนพวกสิ้นคิดในบางประเทศ ยามประเทศเกิดภัยพิบัติจึงไม่มีระบบอะไรมาบริหารจัดการภัยพิบัติ

ถ้าเราเรียนรู้จากสัตว์หลายๆประเภท

เราจะเห็นระบบชีวิตและสังคมที่น่าทึ่งในเหตุผลของการพึ่งตนเอง

ซึ่งต่างจากมนุษย์เราที่อ้างว่าฉลาดมีความรู้ มีทรัพย์สมบัติ

ยามเกิดภัยพิบัติเราจะเห็นวิธีแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างน่าเวทนา

ที่อ้างว่าเจริญและมีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นแค่ภาพลวงตาที่เปราะบาง

โครงสร้างสังคมของมนุษย์ยังห่างชั้นสังคมของสัตว์ตัวเล็กๆมากนัก

โดยภาพรวม มนุษย์ยังไม่มีความรู้ที่สะอาดพอจะมาชำระจิตใจกระดำกระด่าง..

จ๋อม จ๋อม จ่อม >>


คิดเผื่อเลือก

อ่าน: 1574

การบ้านฝากชาว สสสส.ที่ประชุมเรือนรับรอง ผบ.กองทัพเรือวันนี้คร๊าบบบบ

“ประเด็น ชีวิตคน บนพื้นฐานทรัพยากรวิถีไทย ทำยังไงถึงจะเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน”

——————————————————————————————————————

>> ถ้าบางกอกและจังหวัดบริวารกลายเป็นนครใต้บาดาลอย่างนี้อีก

เราควรจะเตรียมการอะไรไว้บ้าง

เช่น การบ้านระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

น่าจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์

น่าจะเป็นหัวข้อโสเหล่ วงกาแฟ วงเจ๊าะแจะ และวงกะเปิ๊บกะป๊าบ

น่าจะเป็นโจทย์ของ องค์กรสาธารณะ เครือข่ายจิตอาสา ฯลฯ

น่าจะเป็นโจทย์ของหน่วยราชการ หน่วยงานที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้

น่าจะเป็นแผน ส่วนครัวเรือน ส่วนชุมชน ส่วนองค์กรชุมชน

น่าจะเป็นหัวข้อการเรียนการสอนในภาควิชาที่เกี่ยวข้องเรื่องสังคม

น่าจะเป็นหัวข้อ การวิจัย การพัฒนา

น่าจะเป็นบทละคร ภาพยนต์ นิยาย หนังสือ เพลง ตำรา นิทาน การ์ตูน

น่าจะมีคนรวมรวมรายละเอียด เบื้องหลัง ที่ทุกภาคส่วนรำพึงรำพัน

ใครหนอจะอาสา  เขียนจดหมายเหตุประเทศไทยในส่วนนี้

เก็บให้หมด ทั้งเรื่องดี เรื่องบ่ดี และเรื่องมิดีมิร้าย

ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นเจอภัยพิบัติบ่อยๆ ทำให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคิดละเอียดละออ มีแผนตั้งรับต่างๆล่วงหน้า การออกแบบบ้านเรือน ของใช้ในบ้านเล็กๆบางๆเบาๆ ฝึกซ้อมการเผ่นเป็นหมวดหมู่ มีการซ้อมใหญ่เป็นระยะๆ มีการเตรียมการทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ ทำอย่างไรประเทศเราจะเดินไปถึงตรงจุดนั้นอย่างเขาบ้าง

บริบทของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ภัยพิบัติบ้านเราน่าจะเอาเรื่องน้ำเป็นโจทย์ใหญ่ ควรจะเรียนรู้ล่วงหน้าอย่างไร ไม่ใช่จ่อมจมอยู่กับ “น้ำมาปลากินมด น้ำลดตอผุด” ปีนี้น่าจะเคลื่อนจิตสำนึกให้กระชับและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เช่น

“น้ำมา มองหาเรือ”

“น้ำน้อยย่อมแพ้ภัย มวลน้ำใหญ่ชนะกำแพง”

“น้ำเสีย น้ำมันเก่า น้ำเน่า จะเข้าไปมาแบบการขายตรง”

“กระสอบทรายที่รัก ตอนนี้อกหักเป็นแถบ”

“น้ำตาผสมน้ำไหลปล่อยมันไปไหลลงทะเล”

“สู้ๆๆนะค่ะ ฮือๆๆ”

“เอาความขมขื่นไปทิ้งเจ้าพระยา เอาน้ำตาไปทิ้งที่ไหนดี”

“น้ำล้น คนบ่มีน้ำกิน”

“น้ำมา หอบผ้าเผ่น”

“น้ำท่วม อกอ่วมทั่วหน้า”

“น้ำมา จระเข้ งู ก็มา”

“น้ำเน่าเอาขยะมาให้เชยชม”

“น้ำมาชีวาล๊อกแล๊ก”

“ลงเรือน้อย ลอยหนีปลิง”

“คนมึนงง ยิ่งกว่ากระทงหลงทาง”

“น้ำมากใช้ไม่ได้ น้ำใจช่วยด้วย!”

“หมดสภาพ แต่ไม่หมดกำลังใจ”

“น้ำมา ไฟฟ้าดูด”

“น้ำมา ประปาเหม็น”

“น้ำมาก ปัญญาน้อย จ๋อมแน่ๆ”

“น้ำกัดเจ็บ กัดเท้าเน่าเฟอะ”

“โรคมากับน้ำ แต่ไม่กลับไปกับน้ำ”

“กระสอบทรายหายาก หุ่นกระสอบหาง่าย”

“รักนะ ..จ๋อม จ๋อม จ๋อม..”

“ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ วันนี้หมดท่า”

“บางพลัด พลัดหลงที่นาคาที่อยู่”

“ที่นี่มีน้ำบริการให้สูบฟรี”

“รักกันไว้เถิด เราเกิดน้ำท่วมด้วยกัน”

“น้ำหลาก ชาวสสสส.หันหน้ามาประชุมกัน”

“เอาน้ำมาล้างก๊วนสีแดงสีเหลืองสีช้ำเลือกช้ำหนอง ออกไปจากใจคนไทยหน่อยเถอะ”

“เอาแต่ทะเลาะกัน น้ำมันเลยหมั่นไส้”

“เห็นยังเรื่องอะไร สำคัญ สมควร สมน้ำหน้า”

แผนภัยพิบัติแห่งชาติฉบับประชาชน ควรจะมีไหมละครับ

วาระแห่งชาติฉบับประชาชน ควรจะมีไหมละครับ

จ๋อม จ๋อม



Main: 0.07020902633667 sec
Sidebar: 0.13458704948425 sec