ตำนานแม่น้ำตำตาตำใจ

อ่าน: 1417

อ่านเรื่อง”อยู่กับน้ำ” ของลานเก็บเรื่องมาเล่า

ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้เอาแผนภูมิของวิถีไทมาร่วมใช้ในการออกแบบผังเมือง

ไม่ได้นำภูมิสังคมมากำกับในโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

>>ทำ แ บ บ มั ก ง่ า ย ก็ คื อ ไ ท ย แ ท้

ทั้งๆที่มีคณะวิชา มีนักวิจัย นักวิชาการ นักโน่นนักนี่เต็มบ้านเต็มเมือง

แต่ก็ปล่อยให้บ้านเมืองเละเทะอย่างน่าเวทนา

ใครจะสร้างอะไรลงไปในแม่น้ำก็ได้ ใครจะสร้างอะไรขวางทางน้ำก็ได้ ใครจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในที่ลุ่มตรงไหนก็ได้ เปลี่ยนเค้าโครงฐานสภาพแวดล้อมธรรมชาติไม่ยี่หร่าใดๆ  มีเงินเสียอย่าง ชี้เป้าเสร็จก็ถมที่ดินสร้างกำแพงสร้างถนนถมคูคลอง ทำแบบตาบอดสีทั้งประเทศ จุดที่อยู่ในที่สูงก็ไม่กระไรนัก จัดอยู่ในผู้สร้างเสริมภัยพิบัติให้มันรุนแรงขึ้น ด้วยการบุกรุกป่าไม้/ภูเขา/เข้ามาจับจองสร้างรีสอร์ท แต่กลุ่มจังหวัดที่เส้นทางน้ำเหนือผ่านเกิดทุพลภาพทุกปี แต่ก็ดื้อตาใสอยู่กันอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเฉยเลย

อยู่กับน้ำ เล่าบรรยายชีวิตวัยเด็กในที่ลุ่มภาคกลางอย่างน่าอิจฉา ผมอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูลซึ่งเป็นสายน้ำหลักของภาคอีสาน ในวัยเด็กก็เล่นหัวหกก้นขวิดอยู่กับลำน้ำมูลอย่างสนุกสนาน หน้าหนาวไปยืนริมฝั่งดูไอหมอกลอยขึ้นจากผิวน้ำ ก่อนกลับบ้านก็แก้ผ้ากระโดดตูมลงไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราว หนาวดีนัก.. ตอนนั้นจะหนาวมากแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ลงไปแล้วจะรู้ว่าอุ่นกว่าอยู่บนฝั่งเสียอีก มันทรมานอีตอนที่ขึ้นฝั่งมาเจอลมหนาวหวีดหวิวนี่สิครับ ต้องรีบเช็ดตัวห่มผ้าวิ่งหากองไฟ เป็นการตัดสินใจอาบน้ำในหน้าหนาวที่เด็ดขาดมาก ถ้ายังนั่งเจ่าจุกอยู่ในบ้าน ประเภท7วันอาบน้ำหนเดียวมีความเป็นไปได้สูง

แม่น้ำมูลไหลมาจากไหน ต้นทางอยู่ที่ดงพญาเย็น ไหลลงมาแม่น้ำจักรราชในเขตโคราช ผ่านอำเภอพิมาย ผ่านทุ่งท่าลงมาทางใต้ มีีลำน้ำเล็กๆสมทบเป็นระยะเช่นลำมาศ แม่น้ำมูลในอดีตมีน้ำหลากท่วมท้นทุกปี กระแสน้ำสีตุ่นๆปริ่มฝั่งไหลมุมวนเป็นเกลี่ยวอย่างน่ากลัว น้ำจำนวนมหาศาลเหล่านี้ไหลแผ่เข้าไปในทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำจมอยู่ในน้ำลึกนับสิบเมตร ต้นไม้จมอยู่ใต้น้ำ เห็นปลายยอดไผ่โผล่ขึ้นมาลิบๆ  จุดที่เป็นที่ดอนสูงยังมีกิ่งไม้โผล่ขึ้นมาเป็นย่อมๆ เป็นที่พึ่งพิงของหนู-งู-ไก่ป่า-สัตว์เล็กสัตวน้อยกระจุกอยู่ในพื้นที่จำกัด ชาวบ้านก็จะพายเรือไปจับมาเป็นอาหาร นอกเหนือจากการวางข่ายจับปลา การสัญจรไปมาใช้เรือยนต์วิ่งระหว่างอำเภอ จากสตึกจะมีเรือยนต์วิ่งโดยสารเฉพาะหน้าน้ำหลากไปยังอำเภอชุมพลบุรี ไปขึ้นท่าที่อำเภอท่าตูม ที่อยู๋ในเขตจังหวัดสุรินทร์ แล้วนั่งรถคอกหมูโดยสารเข้าตัวจังหวัดสุรินทร์ เพื่อขึ้นรถไฟเข้าบางกอกอีกทีหนึ่ง

ดูๆเหมือนยากลำบากที่ต้องเดินทางอ้อมไกล

จริงๆแล้วเป็นเสมือนการท่องเที่ยวและพักผ่อนอย่างดีเชียวแหละ

การได้นั่งเรือชมทิวทัศน์ยามน้ำท่วมทุ่งกุลาร้องไห้สุดลูกหูลูกตานั้นธรรมดาที่ไหนเล่า

ชีวิตเด็กลุ่มน้ำอีสานในอดีตนั้นแสนวิเศษยิ่งนัก ผู้คนส่วนใหญ่เกี่ยวพันอยู่กับแม่น้ำ ลูกสาวชาวตลาดสตึกส่วนใหญ่ ช่วงบ่ายถึงเย็นนุ่งผ้าถุงเอาผ้าเช็ดตัวพาดบ่า ถือขันใส่สบู่ยาสระผมชวนกันออกจากบ้านเดินลงสะพานท่าน้ำ ชวนกันว่ายน้ำ ขัดสีฉวีวรณ คุยกันยอกเย้า เป็นการอาบน้ำสามัคคีที่ยอดเยี่ยมมากเลยละครับ ..แม่น้ำยามแล้งใสสะอาด เด็กๆจะว่ายเล่นที่หาดทรายกลางแม่น้ำ เป็นจุดที่ทรายกองกันใต้น้ำเป็นหย่อมๆในระดับน้ำลึกประมาณหน้าอก คิดดูเถิดสวรรค์เป็นใจแค่ไหน เรื่องดีๆอย่างนี้ละครับที่มันหายไปพร้อมกับคำว่า”พัฒนา” จะอธิบายบอกเล่าให้เด็กรุ่นหลังฟังอย่างไรก็อยาก เพราะสภาพเปลี่ยนจากวรรค์เป็นนรกไปหมดสิ้นแล้ว

ที่สตึกมี2-3หมู่บ้านที่เลี้ยงช้างไว้ลากไม้ซุงเข้าโรงเลื่อย สมัยเด็กผมเคยเห็นการแข่งขันวิ่งเร็วที่สนามหน้าที่ว่าการ น่าจะเป็นต้นฉบับของการจัดงานช้างที่จังหวัดสุรินทร์ในเวลาต่อมา เช้าๆชาวกูยก็จะนำช้างว่ายน้ำข้ามไปปล่อยเลี้ยงที่ป่าบุงป่าทามริมฝั่งมูล ตอนเย็นก็นำช้างว่ายน้ำกลับ ก่อนขึ้นฝั่งก็ชวนกันอาบน้ำทั้งช้างทั้งควาน ท่าที่ช้างขึ้นงลงเป็นประจำได้รับการตั้งชื่อในปัจจุบันว่าถนนท่าช้าง ต่อมาเมื่อทางจังหวัดบุรีรัมย์ดำริจัดงานประเพณีแข่งเรือยาว ผมเป็นกรรมการร่วมอยู่หลายปี ได้เสนอให้จัดแข่งช้างว่ายน้ำขึ้น เป็นกีฬาทางน้ำที่แปลกเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ผมช่วยพากษ์ช้างพากษ์เรือแข่งกันอยู่หลายปี

ก า ร พ า ก ษ์ เ รื อ พ า ก ษ์ ช้ า ง แ ข่ ง ขั น เ ป็ น เ รื่ อ ง ย า ก ม า ก

คู่ แ ข่ ง ขั น ไ ม่ ไ ด้ พุ่ ง พ ร ว ด พ ร า ด เ ห มื อ น กี ฬ า อ ย่ า ง อื่ น

เราจะต้องแต่งบรรยากาศด้วยน้ำเสียงและลูกเล่นให้ดูตื่นเต้นระทึกใจ

บางปีลืมตัวตะโกน

จนหลอดลำโพงขาดกระจาย หลอดเสียงผมจึงขาดกระจุยมาเท่าทุกวันนี้

แต่ก็ได้สร้างตำนานพากษ์เรือพากษ์ช้างที่สะเด็ดสะเดา

ทำเอาคนวิ่งเฮมาดู

นึกว่าช้างจะว่ายน้ำแซงกันอุตลุด

กลับได้เห็นคุณงวงยาวชูขึ้นหายใจตัวจมตุ๊บป่องๆอยู่กลางกระแสน้ำเชี่ยว

แต่หลอกทีไรก็วิ่งตาตื่นมาดูทุกที อิ อิ

มีต่างชาติมาถ่ายทำสารคดีไปประชาสัมพันธ์ทั่วโลก

สิ่งที่ผมประทับไว้ในใจเท่าทุกวันนี้ คงเป็นรายการช่วงบ่ายคลายเครียดสไตล์เด็กอีสาน.. เราจะนัดกันขนเตา-หม้อข้าว-เครื่องปรุง-ต้มยำตำแกงลงเรือ คนที่อยู่หัวเรือก็ถือแหเตรียมจองดูปลาผุด คนที่อยู่ท้ายก็จะพายช้าๆเข้าหาแหล่งที่ปลาอาศัย คนที่นั่งกลางลำเรือก็จะก่อไฟหุงข้าว เตรียมหม้อต้มน้ำเดือด ใส่เครื่องปรุงต้มยำ พอนักล่าหว่านแหโครม ! สาวขึ้นมาจะมีปลาสดๆดิ้นกระแด่วๆหลายตัว ปลดออกมาโยนใส่หม้อต้ม รีบปิดฝาไม่งั้นเจอน้ำร้อนกระเซ็น สมัยนั้นหว่านแห2โครมก็ได้ปลาพอต้มแล้ว ท้ายเรือก็จะกวักพายเข้าไปริมฝั่งที่มีไม้ละเมาะเขียวครึ้มโค้งลงหาแม่น้ำ เป็นหลังคานั่งปรุงข้าวปลาอาหารเป็นอย่างดี มองหารังมดแดง เจอก็เปิดฝาหม้อโน้มรังให้ตรงกับปากหม้อ เขย่าให้ตัวและไข่มดหล่นลง บุบพริกสดใส่ลงไปกำหนึ่ง เติมน้ำปลาชิมดู แค่นี้ก็ได้ต้มยำปลาเลิศรสไร้เทียมทานแล้วละครับ ช่วยกันยกเสบียงขึ้นไปล้อมวงบนฝั่ง โจ้ข้าวปลากันซูดซ๊าดถึงใจ อิ่มแล้วก็อพยพลงเรือไปหาหาดทรายนอนงีบตอนบ่าย ตื่นขึ้นมาหาเก็บผักพื้นถิ่น นักล่ากบก็จะด้อมๆไปหากบจำศีลตัวอ้วนที่แอบอยู่ใต้ใบไม้ ได้เวลาก็พายเรือกลับบ้าน พรานปลาก็จะหว่านแหเรื่อยมา จนถึงท่าขึ้นก็เอาปลามาร้อยเป็นพวงแบ่งกันไปฝากทางบ้าน

การที่ได้อยู่ในยุคที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นั้นวิเศษนัก

การรับรู้ยังไงๆก็ไม่เหมือนเราเป็นตัวรู้เสียเองหรอนะเธอ

จึงสุดแสนเสียดายที่เด็กในยุคหลังนี้ไม่ได้เคยสัมผัสความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง

ความรัก ความหวงแหนธรรมชาติจึงยากที่จะเกิดในใจของผู้คนยุคพลาสติก

ชีวิตกับแม่น้ำนั้นเกี่ยวกระหวัดกับทุกกลุ่มทุกวัย ในยามร้อนแล้ง กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้านในหมู่บ้านที่ไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำ จะนัดกัน2-3หมู่บ้านชวนกันมาลงอวนจับปลา การลงอวนต้องใช้แรงงานช่วยกันจำนวนมาก กลุ่มพ่อบ้านที่แข็งแรงจะรับหน้าที่วางอ้วนล้อมเหอะ (เหอะเป็นกิ่งไม้ที่ตัดลงมาสุมไว้ในแม่น้ำให้ปลามาอาศัย) เมื่อวางอ้วนล้อมเป็นที่เรียบร้อยก็จะค่อยๆช่วยกันดึงไม้เหอะออก โยนขึ้นฝั่งให้หมด จะได้ตะล่อมตีนอวนเข้าหากันเพื่อจับปลา ช่วงที่มาถูดต้อนมารวมกันี่แหละ เราจะเห็นปลาน้ำจืดสารพัดชนิด ตัวเล็กตัวใหญ่ บางปีได้ปลาค้าวตัวยาวเป็นวาหลายตัว ก็จะไซโยโห่สนั่นคุ้งน้ำ ตัวไหนเหมาะไก้างไม่เยอะ ก็จะโยนขึ้นฝั่งให้กลุ่มแม่หยิงเอาไปปิ้งไปต้มไปลาบไปก้อย กำลังหิวๆพ่อบ้านขึ้นน้ำมาอะไรก็อร่อยเหาะ

สมัยโน้นปลาชุกชุมลงอ้วน 2-3ครั้งได้ปลาแห้ง ปลาร้า ปลาสดกลับบ้านหลายร้อยกิโล บรรทุกขึ้นเกวียนกลับบ้านไปแบ่งกันอย่างชื่นมื่น วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ ที่เรามองดูว่าไม่เจริญไม่พัฒนาหวือหวา แต่หารู้ไม่ว่า..นี่แหละชีวิตที่ปกติสมบูรณ์พูนผลอย่างแท้จริง ผู้คนในย่านถิ่นนั้นๆเป็นเครือญาติกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งๆที่ไม่มีใครเข้าไปพัฒนาอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นบนฐานวัฒนธรรมไทย

วิถีไทในอดีตเพรียบพร้อมทุกด้าน

ความเป็นอยู่ปกติกินอิ่มนอนอุ่น

มีการงานทำทั่วหน้า

รักษาจารีตประเพณี

สืบทอดวิถีไทได้อย่างบรรเจิด

มีความพอเพียงอย่างเพียงพอฉบับของจริง

เศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้วในอดีต


เราก็ผ่านมาแล้ว กำลังจะผ่านไปสุดกู่

มาย่ำอยู่กับกระแสโลกาวิบัติ

ที่ทุกชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย

หลอกกันไปวันๆว่าไทยแลนด์รุ่งเรืองก้าวหน้า

GDP. มีอัตราก้าวหน้า แต่ชีวิตปวงประชากำลังลงอเวจี

จ๋อม จ๋อม..



Main: 0.53304600715637 sec
Sidebar: 0.32213616371155 sec