วิทยานิพนธ์

อ่าน: 1512

วิทยานิพนธ์ คืออะไร ไม่ขอตอแยตีความนะครับ อนึ่ง ผมประเภทจบมัธยมพอกะเทิน ไม่มีคุณสมบัติที่จะอาจเอื้อมทำเรื่องยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งยวดอย่างนั้นได้ จึงสังเกตสังกาอยู่ห่างๆ  และคอยอ่านเรื่องผู้ที่ศึกษาสำเร็จแล้วนำมามอบให้ เรื่องของสวนป่ามีนักศึกษาจากหลายสำนักเอาไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ แม้แต่สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯก็หยิบเอาไปทำวิจัยในหัวข้อ “บทบาทศูนย์เรียนรู้:กรณีศึกษามหาชีวาลัยอีสาน ยังมีนักศึกษา ป.โท ของจุฬาฯมาทำเรื่อง …นักศึกษา ป.เอก แม่โจ้ และ ป.เอก ม.อุบล กำลังเขมักเขม้นทำเรื่องของผมมาหลายปีดีดักแล้วละครับ ทำยังไงๆก็ไม่จบสักที น้ำตาเช็ดหัวเข้าจนแห้งแล้วแห้งอีก เข่าทั้ง 2 ข้างด้วยนะเธอ

แสดงว่า  การที่จะเป็น ดร.ได้นี่ยากเย็นชะมัดเลย

แต่ก็ทราบข่าวว่ามีช่องทางทำวิทยานิพนธ์ให้ได้เป็น ดร. กำมะลออยู่เหมือนกัน

เช่นบินไปชุปตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์บ้างอินเดียบ้าง

วิธีนี้ง่าย ปีเดียวก็ได้เป็นดร.อุบอิบแล้ว

ผมละอึ้งจริงๆที่ครูบาอาจารย์พากันทำอย่างนี้

ถ้าอาจารย์โง่ จะมาสอนลูกหลานผมให้ฉลาดได้อย่างไร

เรื่องนี้หน่วยงานที่กำกับดูแลควรมีมาตรการเฉ่งปี่ ดร.จำบ่มพวกนี้ให้ชัดเจน

ไม่อย่างนั้นแยกยากครับ คนไหน ดร.จริงคนไหน ดร.เสมือนจริง

พวกที่เสมือนจริงนี้แหละที่ก๋าๆกว่าตัวจริงเสียอีก

สอนลูกศิษย์แบบตัดไม้ข่มนามไว้ก่อน

อาจารย์เก่งยังโง้นเก่งยังงี้ ผ่านงาน ผ่านประสบการณ์มาจนจำแทบไม่ไหว

ลองไล่เรียงดูเถอะ  กลิ่นน้ำนมยังไม่หย่าจากแหล่งที่ไปทำอีแอบมามีเยอะ

หัวข้อวิทยานิพนธ์จะว่ายากก็ยากง่ายก็ง่าย ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละคน ผ่านสมรภูมิการวิจัยมาในระดับไหน สมัยที่เรียนโทตั้งใจทำการบ้านเต็มที่ หรือเรียนแบบปริญญาโธ่! ปริญญาโถ ! เมื่อเช้านี้มีบลอก “ลานชาวนา” โผล่มาแนะนำตัวว่าเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม นักศึกษากลุ่มนี้เคยเข้ามาขลุกอยู่ที่สวนป่าเมื่อเร็วๆนี้ ผมวางยาไว้ว่าให้ลองเข้าไปค้นอ่านในลานปัญญา และเมื่อร้อนวิชาก็ทดลองเขียนบล็อก ปรากฎว่านักศึกษาท่านนี้เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน เป็นไงเป็นกัน เต้นก๋าออกมาปรากฎตัว ผมเห็นแล้วชื่นชมยินดีเป็นอย่างมาก น่าจะเป็นคนแรกที่ค้นพบวิธีไล่ล่า ดร.

การเรียนระดับปริญญาเอกสมัยนี้จะไปรออาจารย์ป้อนนมไม่ได้หรอก

นักศึกษาต้องหาทางค้นคว้าจากแหล่งต่างๆด้วยตัวเอง เดินทางไปพบปะพูดคุยกับผู้สันทัดกรณีจำนวนมากให้ครบถ้วนทุกระดับ  เช่น โรงสี ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าแม่โอท็อปประจำตำบล กรมการข้าว ร้านค้า แม่ค้า ชาวนา หัวหน้าม็อบชาวนา เครือข่ายชาวนา เครือข่ายผู้บริโภค แม้แต่เจ้าแม่โพสพ เจ้าที่เจ้าทาง ขาใหญ่ นายทุนปล่อยดอก พวกรับจำนำข้าวเขียว โอย เขียนไม่ไหวหรอก ลงไปทำถึงจะรู้ว่ายังขาดเหลืออะไร ศึกษานโยบายและมาตรการต่างๆ ข้อดี ข้อด้อย กรณีการทุจริตในวงการรับจำนำข้าว เล่ห์กลที่ชาวนาถูกกระทำ ฯลฯ

จงลงมือทำในบ้างเรื่อง หลายๆเรื่อง

ที่ผมแนะนำมาที่ลานปัญญญาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ยังมีเรื่องที่จะฝ่าด่านอรหันต์อีกไม่รู้กี่ด่าน

ต้องค้นคว้าเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้แตกฉานจนสามารถหยิบมาเขียนเป็นโมเดลได้

ไม่อย่างงั้นจะเอาอะไรไปรับปริญญา

นักศึกษาต้องไปเก็บเรื่องธรรมดาไม่รู้ก๊่ร้อยฉบับมาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องพิเศษ 1 เรื่อง

แถมยังไม่ซ้ำรอยซ้ำแบบใครด้วยนะ

ยกตัวอย่างเรื่องของชาวนา โอ้โฮ้ มีโจทย์วิทยานิพนธ์ไม่เลือกทำได้รู้กี่ร้อยฉบับ เพียงแค่ผมอยากจะรู้ว่า ชาวนาจะสร้างเครืองข่ายวิวัฒนาการการทำนาให้เข้ากับยุคสมัย ที่มีกระบวนการยกระดับการปลูก การผลิต การจำหน่ายของตนเอง ที่ตั้งสมมุติฐานไว้นี้ นักศึกษาบอกได้ไหมว่า ถ้าจะไปสร้างกลุ่มชาวนาที่ลืมตาอ้าปากได้ด้วยตนเองจะต้องคิดต้องทำอย่างไร ถ้านักศึกษาไปลงมือพาชาวบ้านทำขึ้นมา ตัวเองลุยโคลนไปกับเขาด้วย แล้วตามเก็บกระบวนการทุกลำดับชั้นไว้มาร้อยเรียง ให้เห็นแผนที่การสร้างชาวนาพันธุ์ใหม่ ถ้าทำหัวข้อการเกิดขึ้นชาวนาพันธุ์ใหม่ โห  ผมว่าจะจ๊าบส์มากเลยละครับ

ถามว่ายากไหม

เอาอะไรมาวัด

ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ถ้านักศึกษาไม่ไปเป็นตัวชาวนาเสียเอง

มันตีบทไม่แตกหรอก

เ รื่ อ ง ช า ว น า ใ ค ร จ ะ ม า รู้ ดี ก ว่ า ตั ว ช า ว น า ละ ค รั บ

อยากจะเป็น ดร.เรื่องชาวนา ก็ต้องไปเป็นชาวนา

ถามว่ามีวิธีอื่นที่ดีและง่ายกว่านี้ไหม ?

มี

แ ต่ ผ  ม ไ ม่ รู้ จั ก  ?

อนึ่ง ในระหว่างเขียนต้นฉบับโมเดลอีสาน เส้นทางมันก็คล้ายกับที่เล่ามาข้างบนนั่นแหละ ผมต้องมาออกแบบว่าจะร่ายทวนอย่างไร คำถามแรก เจ้าเป็นไผ เจ้าทำอะไรมาบ้าง เจ้าไปเกี่ยวข้องกับงานใดบ้าง เมื่อได้ประเด็นหยาบๆมาอย่างนี้ ผมก็พอจะได้เค้าแบ่งเรื่องที่จะเขียน เช่น

ไปยุ่งกับการศึกษา ก็เขียนกระเทาะมุมการศึกษาเท่าที่ไปรู้เห็นมา แล้วคิดว่าจะทำอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร

ไปยุ่งกับกระทรวงสาธารณสุข ก็เขียนเรื่องสุขภาพสุขภาวะที่เกี่ยวข้องและเผชิญอยู่

ไปเกี่ยวข้องกับงานวิจัย ก็เขียนเรื่องวิจัยไทบ้าน เรื่องวัวกินใบไม้ วัวกินไวน์ก็ว่าไป

ไปเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาท้องถิ่น ก็เขียนเรื่องบทบาทของมหาชีวาลัยอีสาน

ไปเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ ก็เขียนเรื่องชุมชนคนแซ่เฮยังไงละเธอ

ไปเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เขียนประมวลไว้ในโมเดลอีสาน

ก็เหมือนผมรักใครสักคน ผมก็ต้องเขียนถึงคนนั้นสิครับ

เขียนและทำในสิ่งที่ตัวเองรู้ มันสอบไม่ตกหรอกนะเธอ อิ อิ ..

:: ข่าวล่ามาเร็ว 12-14 นี้ ต้องไปร่วมงานมหกรรมสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่เมืองทองธานี

ชาวแซ่เฮ มีใครมาบ้างไหมครับ แหม มันน่าชุมนุมชาวเฮนะนี่

ผมมีรายการจะตามมูลนิธิชัยพัฒนาไปที่ลาวในช่วงนี้ แต่ก็ต้องบายเสียแล้ว

จำต้องเข้ากรุงไปงานดังกล่าว เบี้ยวประชุมเขาบ่อย จนหนังสือเชิญมีรังสีอำมหิต ..ตอกย้ำจัง..

” ในฐานะที่ท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สวรส.จึงขอเชิญท่านเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าว จึงเรียมาเพื่อโปรดพิจารณาดัวย จะเป็นพระคุณ “

งานดังกล่าว อยากให้เบริด์มา เตรียมเรื่องใส่ซองมาด้วย จะได้จับแพะชนแกะให้รู้แล้วรู้รอดเสียที

เข้าไปดูรายละเอียดที่นี่ >> ผู้ประสานงาน คุณวันเพ็ญ ทินนา e-mail:wan...@hsri.or.th

« « Prev : คำนิยม

Next : ดิน น้ำ ลม ไป » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 เวลา 13:25

    ลานชาวนา นี้น่าจะมันหยดนะครับ ชื่อลานถูกใจ ขอเป็นคู่กัด เอ้ย…คู่ฟัดประสบการณ์กันหน่อย ผมอยากเรียนนอกห้องเรียน เขาคนนั้นก็คงจะยินดีแลกเปลี่ยนกับประสบการณ์ผมบ้างนะครับ บอกว่าผมไม่ได้เรียนนวตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น แต่พอมีประสบการณ์ ประสบเกิน บ้างยินดีแลกเปลี่ยนครับ ผมคงเรียนรู้จากท่านผู้นั้นบ้าง

    ความจริงดีมากนะครับที่นักศึกษาปริญญาเอกมาเปิดลานเยอะๆ ท่านเหล่านั้นนั่งติดตำรา เรานั่งติดพื้นที่ มีอะไรแลกเปลี่ยนกัน ผมเองก็อยากรู้ว่าทางวิชาการนั้นเขาอธิบายเรื่องนั้น เรื่องนี้ว่าอย่างไร ผมเองเห็นอะไร คิดอะไรจากพื้นที่ก็แลกเปลี่ยนกันน่าจะเกิดปัญญาบ้างนะครับ..

  • #2 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 ตุลาคม 2011 เวลา 21:46

    ประกาศด่วน

    เลื่อนงานมหกรรมสุขภาพชุมชน

    จาก สถานการณ์น้ำหลาก และพายุฝนที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายวันโดยเฉพาะพายุฝนขนาดใหญ่เมื่อคืนวัน ศุกร์ที่ ๗ ต.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในอนาคตอันใกล้ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะ เกิดอุทกภัยในพื้นที่บริเวณรอบๆสถานที่จัดงานมหกรรมสุขภาพชุมชนครั้งที่๒ ประกอบกับสมาชิกของเราในภาคเหนือและภาคกลาง ทั้งหน่วยงานที่จะมาจัดบูธและผู้สมัครเข้าร่วมประชุม ได้โทรมาแจ้งว่า มีอุปสรรคในการเดินทาง ไม่สามารถมาร่วมได้หลายราย

    ทีมผู้จัดงานจึงเห็นร่วมกันว่า มีความจำเป็นต้องเลื่อนงานนี้ออกไป จะเป็นเมื่อใด ขอให้ติดตามกันต่อไป

    ขออภัยในความไม่สะดวกจากเหตุสุดวิสัยมา ณ ที่นี้

    คณะกรรมการดำเนินงานฯ

    ๘ ต.ค.๒๕๕๔

    ๑๕.๑๐ น.

    http://www.pcuexpo2011.com

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 ตุลาคม 2011 เวลา 1:17

    ขอบคุณท่านบางทราย เรื่องนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของลานปัญญา ที่จะช่วยต่อสายป่านการเรียนรู้ให้กว้างไกลได้ประโยชน์ในวงกว้าง
    อยากให้นักศึกษารีบต่อแต้มไต่ระดับการเรียนรู้ให้ต่อเนื่อง ไม่มีเหตุผลที่จะช้า แม้แต่นาทีเดียว อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.066066980361938 sec
Sidebar: 0.086236000061035 sec