“ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”01
ทุกสัปดาห์ที่ HUG SCHOOL จะมีผู้ปกครองนำเด็กๆ มาลองเรียน มาแอบดูครูออตสอนศิลปะเสมอ ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจส่งลูก ๆ มาให้ครูออตเลี้ยง ซึ่งแน่นอนปฏิกิริยาของเด็กแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย
เรื่องนี้เห็นที่ต้องนำมาเขียนสักหน่อยเพื่อให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจข้อเสนอแนะของครูออต ก่อนที่โรงเรียนจะตัดสินใจรับเด็ก และ ก่อนที่ผู้ปกครองจะเสียเงินเพื่อให้ลูกมาเรียน/เล่นที่ห้องศิลปะแห่งนี้
เรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่งที่เกริ่นไปแล้วคือทุกสัปดาห์จะมีผู้ปกครองพาเด็กมาดูการสอนของครูออต นั้นแสดงว่าพ่อแม่ทุกวันนี้สนใจที่จะสนับสนุนทำงานศิลปะของลูกตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อครูออตยังเด็กเราไม่ต้องเสียเงินมาเรียนศิลปะเพราะทุกวันเด็ก ๆ บ้านนอกได้ทำงานศิลปะอยู่ตลอดผ่านการเล่นดินกับเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเราจะจินตนการและแทนค่าสิ่งต่าง ๆที่อยู่รอบ ๆ ตัว ให้เป็นข้าวของที่ต้องการเราจะเสกฝาหอยให้เป็นเงินเหรียญไว้ซื้อขายกัน เราจะเนรมิตผืนดินเป็นบ้านหลังใหญ่
แต่เมื่อทุกวันนี้พื้นที่และชุมชนของการรวมตัวกันของเด็กเป็นเรื่องยาก การจัดพื้นที่พิเศษขึ้นในรูปโรงเรียนศิลปะจึงเกิดขึ้นและเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีของพ่อแม่ในสังคมเมืองในปัจจุับัน
แต่ก็ยังมีูผู้ปกครองอีกกลุ่มที่อาจจะคิดว่าเรียนศิลปะให้เสียเงินเสียทองเสียเวลาทำไม จะเรียนทั้งทีทำไมไม่ให้ลูกไปเรียนวิชาการที่ใช้สอบที่โรงเรียนเลย เรื่องนี้ผู้ปกครองอาจจะมีสิทธิคิดได้เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองจริง ๆ โรงเรียนหลายแห่งเบื่อกับงบประมาณการซื้ออุปกรณ์ศิลปะมากเพราะมันแพงกว่าวัสดุทางการศึกษาอื่น ๆ ของเด็กมากมายซึ่งถือว่าเป็นสินค้านำเข้าประเภทฟุ่มเฟือย ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ต่างเห็นว่าคอร์สศิลปะได้กำไรน้อยมากเพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่หากคิดถึงผลที่ลงทุนไปกับการพัฒนาสุนทรียภาพของเด็ก ๆ ผมว่ามันคุ้มค่าและที่ hug school ผู้บริหารเองก็เข้าใจถึงธรรมชาติของธุรกิจศิลปะดีว่าไม่ได้สรา้งกำไรมากมายแต่ก็ยินดีเปิดเพราะมุ่งหวังผลอันจะเกิดกับสังคมในวันข้างหน้า
แรกก้าวเข้าห้องเรียนเด็กนักเรียนหลายคนมักเกาะแขนแม่ไว้แน่น ไม่ว่าครูออตจะชักแม่น้ำกี่สายมาชี้ชวนก็ไม่สามารถแย่งหัวใจของเด็ก ๆ ออกมาแขนแม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องให้แม่อยู่ด้วยขณะที่เด็กน้อยกำลังวาด ๆ ขีดๆ เขียน ๆ เรื่องนี้คุยกับผู้ปกครองหลายคนมักพบว่าเด็ก ๆ ไม่ชอบศิลปะ ซึ่งผิดกับพัฒนาการของเด็ก
เด็กน้อยหลายคนที่มาเรียนในชั่วโมงแรกนี้มักจะเอามือน้อย ๆ นุ่ม ๆ ของเขาปิดภาพวาดของตนเองเอาไว้เพื่อไม่ให้ครูออตเห็น เรื่องนี้พบเห็นบ่อย หลายคนกดมือแน่นเมื่อครูออดเดินเข้ามาใกล้ ๆหรือแม้แต่พ่อแม่ขอดูก็ไม่ยอมเปิด
“ยางลบ” คือสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ขอในฐานะอุปกรณ์ลบภาพจินตนาการอันไม่สวย ไม่ถูกต้อง ในสายตาและการบ่มเพาะทางศิลปะของเขา ดังนั้นที่ห้องศิลปะของครูออตยางลบจะใช้มากกับเด็กที่เพิ่งมาเรียนในชั่วโมงแรกๆ
พฤติกรรมลักษณะนี้มีมากมายที่เกิดกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนเรื่องที่ครูออตเรียกว่า “ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ” เพราะหากสืบสาวราวเรื่องไปเราจะพบว่าอาการเกลียดศิลปะอาจจะมาจาก ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากพ่อแม่เองที่มักวิจารณ์ผลงานของเขาทั้งที่ควรจะเป็นผู้ให้กำลังใจกับทำตัวเป็นนักวิจารณ์ หรือเกิดจากพี่น้องที่มักล้อเกี่ยวกับภาพวาดของเขาทั้ง ๆ ที่พี่น้องน่าจะสนุกสนานกับการทำงานศิลปะไปด้วยกัน หรือเกิดจากครูในโรงเรียน ที่มักบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ครูคิดว่าควรจะเป็น เพื่อแลกกับคะแนนและเกรดดีดีทั้ง ๆ ที่ปากมักบอกเด็ก ๆ ว่าศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก
ที่ผมเล่ามาทั้งหมดเพื่อจะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนได้เข้าใจว่า ครูควรจะได้รับรู้ ประสบการณ์ทางด้านศิลปะของเด็กก่อนเบื้องต้น และได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดอกกับพ่อแม่ ก่อนที่จะสมัครเรียนให้ลูก และผู้บริกหารเองจะได้วางแผนในการออกแบบกลุ่มการเรียนให้แก่เด็ก ๆ
น้องออตที่รัก
ถ้าพี่อยู่ใกล้ พี่จะไปขอเรียนกับคุณครูน้องออตจริงๆจ้ะ เพราะศิลปะสำหรับพี่มันคือยาขมหม้อใหญ่ ที่เริ่มจากความรู้สึกว่ามันคือวิชาศิลปะเหมือนมาก ซึ่งพี่ไม่สามารถทำได้เหมือน
เมื่อรู้สึกว่าทำไม่ได้ ก็ไม่สามารถเริ่มทำได้เลย พี่เข้าใจความรู้สึกคนตัวน้อยที่กดมือตัวเองแน่นเมื่อต้องอวดภาพของตัวนะจ๊ะ ในตอนนั้นมันมีความรู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกว่าทำไม่ได้เหมือนคนอื่นอยู่ด้วยแหละ กลัวถูกล้อ กลัวถูกตำหนิ กลัวสารพัดจนลามไปถึงอายและโกรธถ้ามีคนมารุกเร้า
พี่ชอบเทคนิคของน้องออต และความละเอียดอ่อนที่เข้าใจเด็ก ๆ มากเลยล่ะจ้ะ เคยคุยกับพี่ตึ๋งเรื่องห้องเรียนศิลปะบำบัดสำหรับเด็ก ๆ พี่ตึ๋งบอก…ต้องคุยกับออตเลย ^ ^
ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — พฤษภาคม 15, 2010 @ 7:22
ยังมีปีศาจร้ายที่ชื่ออังกฤษ ปีศาจร้ายที่ชื่อคณิตศาสตร์ ฯลฯ ในความรู้สึกของพวกเรา
แต่ตัวที่เราคิดว่าเป็นปีศาจเป็นแค่วิชา ตัวปีศาจร้ายจริงๆน่าจะเป็นครู อาจารย์ พ่อแม่พี่น้อง สังคม ฯลฯ มากกว่า อิอิ
ความคิดเห็น โดย จอมป่วน — พฤษภาคม 15, 2010 @ 8:46
ตรงใจ..ตรงใจ…
ตอนเด็กๆ ไม่สนใจวิชาศิลปะเลย เหมือนที่เบิร์ดเป็น อาจเพราะทัศนะแบบศิลปะเหมือนมาก ทำให้เด็กอย่างพี่มองไม่ออกว่าจะทำวัตถุสามมิติให้มากลายเป็นภาพในกระดาษแบนๆ ให้เหมือนอย่างไร แถมเวลาลงสี ก็แก้อยู่นั่นแล้ว เลยได้ภาพวาดแบบสีเน่าๆ กระดาษเปื่อยๆ เพราะแก้สีอยู่นั่นแล้ว มาเป็นประจำ เวลาทำงานปั้นก็ให้มหัศจรรย์ในฝีมือของเพือนที่ปั้นได้มากกว่างูดินอมตะของพี่ มองไม่ออกถึงความงามทางศิลปะอันใดกะใครเขา
แต่พอถึงวัยนี้ กลับรู้สึกว่าศิลปะสำคัญมาก ที่ต้องอาศัยใจ การรับรู้ที่ละเอียด ชัดเจน เป็นเรื่องของจินตนาการ เป็นการสัมผัสที่ลึกซึ้งด้วยประสบการณ์ ทักษะในการถ่ายทอด ฯลฯ อธิบายไม่ถูก
ชอบดูงานศิลปะของเด็กๆ ซึ่งมักจะพบความน่ารักในการถ่ายทอดการรับรุ้และความเข้าใจต่อโลกรอบตัวของเขาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับครูที่จะเข้าใจพัฒนาการต่างๆ ของเด็กได้ด้วย แต่พออยู่ในวงการศึกษาที่มักจะชอบความเป็นที่หนึ่ง ต้องมีกิจกรรมการประกวดแข่งขัน ก็มักจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับการที่เด็กบางคนจะถูกครอบงำด้วยการสอนให้ทำตามความคิดของครู ฝึกซ้ำๆ ให้เกิดทักษะเพื่อสร้างงานที่ตรงใจกรรมการ ตรงเกณฑ์การประกวด โดยเฉพาะเกณฑ์ที่สร้างมาจากคนที่อาจมีมุมมองทางศิลปะไม่กว้างนัก จึงมักจะพบเกณฑ์การประกวดศิลปะระดับอนุบาลที่ประกอบด้วย ความสะอาดเรียบร้อยของงาน ความถูกต้องเหมือนจริง ทำเสร็จทันเวลา เป็นประจำ..เฮอออ รางวัลที่ได้ ดูเหมือนว่าดีนะ แต่กระบวนการฝึกแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรหรือเปล่า จำได้ว่ากว่าจะทำให้ภาพมะม่วงสีแดงได้รับการยอมรับ ก็ต้องอ้างอิงถึงมะม่วงพันธุ์มหาชนกซึ่งบางคนไม่เคยเห็นนู่นแน่ะ ทั้งๆที่ถ้าเค้าจะวาดมะม่วงหลากสีก็ยิ่งดีนะ
ขอบคุณที่ออตเขียนเรื่องราวเหล่านี้ พี่จะได้ศึกษาตามไปด้วย เป็นประโยชน์สำหรับพี่และคุณครูจริงๆ ค่ะ รออ่าน ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ02 และ ลำดับต่อไปนะคะ ^^
ความคิดเห็น โดย dd_l — พฤษภาคม 15, 2010 @ 9:04
ขอบคุณมากค่ะ ตรงใจจริงๆ ครูออดช่างลึกซึ้งชนปังแบบนิ่มนวล ศิลปะ บันทึกนี้ ยังหมายถึง สิ่งอื่นๆในชีวิต ด้วยไหม…มันไกลเกินไปไหมที่ทุกๆคนจะไปถึง ไม่ไกล น่าจะไปถึงได้ หรือ ใกล้ ไปไหม…ขอบคุณที่ช่วยชี้ให้เห็นนะคะ
ความคิดเห็น โดย ป้าหวาน — พฤษภาคม 15, 2010 @ 12:25
ขอบพระคุณครับ
ความคิดเห็น โดย ออต — พฤษภาคม 26, 2010 @ 14:24