ฝายแม้วในตัวคน

โดย สาวตา เมื่อ 28 สิงหาคม 2008 เวลา 22:00 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิต สุขภาพ, อาหารกับสุขภาพ #
อ่าน: 4401

ได้บอกเล่าแล้วว่าอาหารที่กินต้องผ่านด่านหลายด่านกว่าที่ถ่านกลูโคสจะส่งเข้าเตาเผาได้   จึงควรที่จะรู้ว่าเวลาที่มันแปรรูปมารอผ่านด่านนั้นเกิดอะไรขึ้นที่ด่านบ้าง

แหล่งอาหารจากพืช และ น้ำตาล เป็นแหล่งอาหารหลักที่ให้ถ่านกลูโคสไปส่งเพื่อเข้าเตาเผา  ก่อนจะถึงด่านใหญ่ๆ  ก็จะมีด่านเล็กๆต้องฟันฝ่าคัดตัวกันก่อนเป็นเบื้องแรก  บ้างก็ผ่านไปโลดด้วยว่าไม่ติดคุณสมบัติของตน บ้างก็ติดอยู่บ้าง จนกว่าจะมีการแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูดีซะก่อน  ด่านแรกที่ใช้แต่งเนื้อแต่งตัวก็คือ ฟันและลิ้น หนึ่งนั้นช่วยทำให้เกิดความละเอียดมากขึ้น หนึ่งนั้นช่วยเพิ่มความนุ่มละมุนด้วยการเคล้าด้วยน้ำลายที่ออกมา  ผ่านการแต่งเนื้อแต่งตัวแล้วก็จะผ่านลงไปที่ด่านใหญ่ในกระเพาะอาหารเพื่อไปแต่งตัวต่อให้พร้อมที่จะผ่านด่านหูรูดส่วนล่างของกระเพาะอาหารเพื่อไปเปิดเผยเนื้อตัวให้ลำไส้เล็กคัดตัวถ่านกลูโคสเพื่อนำไปส่งให้เซลล์ต่อไป 

อาหารที่ผ่านลงสู่กระเพาะอาหารหลังจากคลุกเคล้าในปากและแต่งเนื้อแต่งตัวโดยฟัน  เมื่อผ่านลงสู่กระเพาะอาหารแล้วยังขนาดยังใหญ่อยู่ กล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารจะกักตัวไว้นาน ไม่ปล่อยให้ผ่านลงไปสู่ลำไส้เล็กค่ะ จนกว่ามันจะละเอียดได้ขนาดที่ธรรมชาติกำหนดไว้ให้ลำไส้เล็กทำงานของมันได้  การค้างอยู่นานของอาหารที่เคี้ยวไม่ละเอียดนี่แหละที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะอาหารไม่ย่อย จนทำให้รู้สึกว่าท้องอืด มันยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่ทำให้เชื้อโรคบางตัวเติบโตขึ้นจนทำให้กระเพาะอาหารกลายเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบก็มี

ฉันขอไม่ลงลึกไปในเรื่องของโรค ด้วยไม่ได้ประสงค์จะฝึกท่านให้เรียนหมอ แต่จะขอเล่าในเรื่องไฟเตือนเพื่อให้ท่านปรับตัวท่านซะก่อนเป็นอะไรที่ต้องไปหาหมอๆอย่างพวกฉันแล้วก็ลงเอยด้วยการใช้ปัจจัยของชีวิตตัวที่สี่ คือ ยา ไม่อยากเห็นคนกินแต่ยาเลยค่ะ 

ไฟเตือนที่จะให้ใช้ คือ อาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง แสบท้อง ท้องผูก นี่แหละค่ะ ถ้าหากว่าเกิดมี ให้ท่านลองปรับความเร็วของการกินอาหาร เปลี่ยนจาก “ทอดกลืน” คือ กลืนโดยไม่เคี้ยว หรือ เคี้ยวย้ำแค่ 2-3 คำ มาเป็นเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้ช้าลงๆเหมือนวัวควายเคี๊ยวเอื้องซะนะค่ะ แล้วอาการของท่านจะดีขึ้นหรือหายเป็นปลิดทิ้งเลยค่ะ  ใครที่ท้องผูกบ่อยขอแนะนำให้นำเทคนิคนี้ไปใช้ค่ะ ฉันกล้ารับรองว่าท่านไม่ต้องอาศัยยาระบายอีกเลยค่ะ

ถ้าตอนที่ท่านจะทำอย่างนี้ ท่านมีอาการปวดท้อง แสบท้องอยู่ แล้วท่านกลัวและใจร้อน ไม่กล้าเคี้ยวให้ช้าจริงๆ ท่านไม่หายปวดท้องหรอกค่ะ แต่ถ้าท่านช้าจริงๆอาการปวดท้องจะหายได้โดยพลันค่ะ  นี่เป็นความท้าทายให้ลองดูสำหรับคนที่ไม่ชอบกินยาหรือกลัวหมอค่ะ 

เอาละค่ะขอเล่าต่อเรื่องการผ่านด่านของอาหาร ด่านที่หนึ่งที่ต้องผ่านคือหูรูดส่วนล่างของกระเพาะอาหารนะค่ะ  เมื่อผ่านด่านมาแล้ว ลำไส้เล็กจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ของอาหารให้เป็นถ่านกลูโคส แล้วนำส่งไปที่ตับ ตับจะแต่งตัวถ่านกลูโคสใหม่และให้ผู้ขนส่งนำมันไปตามเส้นทางของโลจิสติกส์ที่เล่าไปแล้ว  คือ ส่วนหนึ่งนั้นนำไปส่งที่เตาเผาถ่าน โดยก่อนถึงเตาจะต้องผ่านด่านที่สอง คือ ยามที่เฝ้าประตูเซลล์ที่เปลือกเซลล์ซะก่อน  ส่วนที่เหลือผู้ขนส่งก็จะพาลอยล่องไปด้วยในเลือด เพื่อไปจัดเก็บไว้ที่โกดังหลายแห่งในร่างกาย

ฉันไม่แน่ใจว่าท่านเคยเห็นฝายแม้วมั๊ยค่ะ แต่สำหรับเขื่อนนั้นท่านคงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ฝายแม้วนั้นคล้ายเป็นฝายกั้นน้ำชั่วคราวที่ผนังมันทำขึ้นจากการวัสดุธรรมชาติ ทำหน้าที่ในการขวางน้ำหรือกั้นทางน้ำ ช่วงไหนที่น้ำแรงก็จะสามารถชะลอการไหลแรงของน้ำให้ช้าลงได้  มันเป็นเขื่อนแบบที่ไม่มีระบบระบายน้ำอยู่ค่ะ ดังนั้นมันจะให้น้ำไหลล้นเขื่อนไปได้  ไม่เหมือนเขื่อนแบบที่มีระบบระบายน้ำเป็นระบบอยู่ด้วย เขื่อนแบบหลังนี้จะไม่มีวันที่จะให้น้ำไหลล้นเขื่อนได้ค่ะ  ใครที่ไม่รู้จักฝายและเขื่อน ฉันขอชวนมาชมภาพกันค่ะ

     ฝายแม้ว    ฝายสร้างด้วยหิน

 ฝายสร้างด้วยคอนกรีต   ฝายคอกหมู

เขื่อน เขื่อนเจ้าพระยาชัยนาท

ที่เอาเรื่องเขื่อน ฝายมาเล่าเพื่อจะบอกว่า ในร่างกายของเรามีระบบการจัดการสารในเลือดคล้ายเขื่อนเลยค่ะ อย่างเช่นเวลาเรากินอาหารที่เป็นแหล่งให้ถ่านกลูโคส หรือถ่านกรดไขมัน หรือ ถ่านกรดอะมิโน  ในร่างกายก็จะเกิดมีภาวะเปลี่ยนแปลงของสารเหล่านี้เหมือนน้ำในเขื่อนหลากรูปแบบค่ะ  แล้ววันไม่ดีคืนไม่ดีมันก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราเป็นโรคขึ้นมา โรคที่ว่าได้แก่ น้ำหนักเกิน อ้วน โรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  มะเร็ง อะไรจะเกิดก่อนไม่มีใครรู้ได้เลยมีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่รู้  ศาสตร์ของการกินจึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ค่ะ

 

 

« « Prev : ไออุ่น ไอร้อน และการใช้เคล็ดลับ

Next : วัดตัวเองได้มีสารอะไรเกินรึเปล่า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 Sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 สิงหาคม 2008 เวลา 16:07 (เย็น)

    เคยเป็นโรคกะเพาะค่ะ แต่ไม่ใช่เพราะเครียดอย่างหมอบอก แต่เพราะการเคี้ยวไม่ละเอียด และเกิดการบูด มีแกส และร่างกายเลยพาลเสียสมดุลย์ค่ะ พี่หายเพราะรักษาตัวเองได้ค่ะ ไม่ได้หายเพราะ ยา

  • #2 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 กันยายน 2008 เวลา 20:42 (เย็น)

    #1 พี่ศศิน่าจะมีเคล็ดลับ การดูแลที่รุ่นพ่อแม่สอนมา มาแลกเปลี่ยนบอกเล่ากันเยอะนะค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.020853996276855 sec
Sidebar: 0.059033155441284 sec