อาหารเจกับไอคิว
การตามรอยความสัมพันธ์ของห่วงโซ่อาหารจากทะเลจนมาถึงตัวคน สะกิดให้หันมาทบทวนเรื่องฮอตฮิต “ไอคิวเด็กไทย” ซึ่งในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขใช้วิธีแก้ ด้วยการให้ข่าวแก่สังคมว่า ที่เด็กไทยไอคิวต่ำ เกิดจากการขาดสารอาหารที่ร่างกายต้องการไม่มากแต่ขาดไม่ได้ คือ ไอโอดีน และจะออกกฎหมายบังคับ ให้โรงงานที่ผลิตเกลือที่ต้องใช้เพื่อการบริโภค ปรับปรุงเกลือที่ผลิตให้มีไอโอดีนเพียงพอสำหรับผู้บริโภค
แล้วก็มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า คนกินอาหารเจ ก็สามารถขาดสารไอโอดีนได้ เอ๊ะ! มันเป็นยังไง คงต้องย้อนรอยดูความสัมพันธ์ของห่วงโซ่อาหารเกี่ยวกับอาหารแล้วละ
เมื่อตามเส้นทางอาหารเจไปก็ได้ความรู้มาพอดู เมนูอาหารเจมีหลากหลายมาก วัตถุดิบที่ใช้สำหรับปรุง มีตั้งแต่ข้าวกล้อง ผักสด ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร ผลิตภัณฑ์ที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ในรูปต่างๆ (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำจากวัตถุดิบอะไร) เครื่องกระป๋อง ผักดอง ผลไม้ดอง กะทิ ถั่วเน่า
เครื่องปรุงรสที่ใช้เพิ่มรสชาดก็เหมือนกับอาหารทั่วไป ต่างกันก็ตรงเครื่องปรุงรสประเภทซีอิ๊ว ที่ใช้ซีอิ๊วเจ
วิธีปรุงก็ไม่ต่างจากการปรุงอาหารทั่วๆไป ต้ม ทอด ผัด ปิ้ง แกง มีหมด
ความต่างของการใช้เกลือในการปรุงในแต่ละเมนู ก็แล้วแต่สไตล์ของคนปรุง ไม่เกี่ยวกับการเป็นอาหารเจหรือไม่ใช่
ทำให้เห็นประเด็นที่จะทำให้อาหารเจ เป็นต้นเหตุให้ คนกินเจขาดสารไอโอดีน ตรงการเลือกใช้ซีอิ๊วเจปรุงรส และปฏิเสธการใช้เกลือ
ในอดีตเมื่อพูดกันเรื่องขาดสารไอโอดีน จะพูดถึงถิ่นแดนที่อยู่ไกลทะเลกันมาก
มีความรู้จากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ส่งต่อมาว่า อยู่ใกล้ทะเลไม่ขาดสารไอโอดีน เพราะไอโอดีนอยู่ในเกลือทะเล อาหารทะเล เกลือที่ขุดขึ้นมาจากดินบก และอาหารที่มีแหล่งเกิดบนบกไม่มีไอโอดีน
ความรู้ที่รุ่นพ่อแม่บอกไว้หนุนว่า คนกินเจนั้นมีโอกาสเกิดการขาดสารไอโอดีนสูงกว่าคนทั่วไปมากมาย หากปฏิเสธเกลือทะเล หันไปบริโภคแต่ซีอิ๊วเจ
เวลานี้มีซีอิ๊วซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน วางจำหน่ายอยู่มากยี่ห้อในตลาดบริโภค มีเกลือหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ในบรรดาเกลือเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่ออกไปตรวจจะเซย์ “โน” มีไม่กี่ยี่ห้อที่หลังวางจำหน่ายแล้วคงเหลือไอโอดีนอยู่
ซีอิ๊วที่พอมีว่าเจอไอโอดีนคงเหลือขณะวางจำหน่าย ล้วนใช้วัตถุดิบ คือ สัตว์น้ำมาหมักกับเกลือ อย่างนี้ซีอิ๊วเจจะเหลือหรือ ในเมื่อวัตถุดิบที่นำมาผลิตนั้นไร้ซึ่งเนื้อสัตว์
ปัญญาอ่อนกับไอโอดีนเกี่ยวกันตรงไหน เกี่ยวกันตรงประเด็นที่ไอโอดีนเป็นวัตถุดิบ ในการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการสร้างเซลล์ประสาทในสมอง ส่วนซึ่งทำงานเรื่อง “ความคิด”
ขาดไอโอดีน ฮอร์โมนก็ไม่สมบูรณ์ เซลล์ก็ไม่รอดหรือไม่ก็พิการแต่เริ่มเกิด สมองก็เป็นสมองที่บกพร่องตั้งแต่เกิด จะมาซ่อมทีหลังก็ไม่เต็มร้อยแล้ว
ไอโอดีนกับไอคิวไปเกี่ยวกันตรงไหน ไอคิวเป็นผลลัพธ์ความสัมพันธ์เชิงร้อยละ ของอายุสมองตามอายุ (อายุสมองที่คาดหวัง) กับอายุสมองที่เป็นอยู่จริงในขณะหนึ่งๆ
ประโยชน์ของมันนำมาใช้สะท้อนความช้า เร็วของความสามารถคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบกับคนส่วนใหญ่ ( คำว่า คนส่วนใหญ่ในที่นี้ ก็เป็นสเกลที่ฝรั่งกำหนดขึ้นมาใช้)
ไอคิวจึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะจะใช้สื่อถึงความสมบูรณ์ของ “อวัยวะ” มากกว่า “ปัญญา” ด้วยตั้งแต่แรก มันถูกแปลงมาเพื่อวัด “สรีระ” หรือ “กาย” เป็นหลัก
ในช่วงเวลาของชีวิต เซลล์ประสาทมีการเกิดและตายทุกๆวัน ในเมื่อการสร้างเซลล์ใหม่เป็นอย่างที่เล่าไว้ จะเห็นว่า ไอโอดีน ไม่ได้มีความสำคัญต่อสมองเด็กเท่านั้น หากแต่สำคัญต่อสมองคนทุกวัย
ที่นำเรื่องนี้มาบอกเล่า และเห็นว่าสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ก็เพราะว่า “ไอคิวถดถอยได้” และก็ไม่มีใครช่วยดูแลผู้ใหญ่ได้ มีแต่ผู้ใหญ่ช่วยดูแแลตัวเองเท่านั้น
ถ้าผู้ใหญ่คนนั้นกำลังเป็นแม่ คนที่ได้รับผลพลอยได้กับการขาดสารไอโอดีนก็ไม่พ้น “หัวใจของครอบครัว” คือ “ลูกหลาน”
ไม่อยากให้ครอบครัวกลายเป็น “ครอบครัวไอคิวถดถอย” ก็ปรับพฤติกรรมการจัดการอาหารที่บริโภคในครอบครัว และส่วนตัวเสียใหม่นะคะ
เลือกบริโภคเกลือและซีอิ๊วที่รู้ว่ามีไอโอดีนอยู่ด้วย สามารถรู้ได้โดยอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่มั่นใจก็สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านได้ค่ะ
« « Prev : ใช้ของธรรมชาตินะแหละ…..ช่วยป้องกันมะเร็งได้
Next : ไอโอดีนกับพลังงานชีวิต » »
12 ความคิดเห็น
เรื่องไอโอดีนนี้ เชื่อว่าวงการสาธาฯไทยก็ไปลอกฝรั่งมาอีก มันน่าศึกษากระแสวิจารณ์ด้วยว่าจริงเท็จประการใด เดี๋ยวคนไทยก็เห่อกินกันจนเว่อ ก็จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
ผมเดาว่าไอโอดินนั้นมันก็น่าจะเป็นสารที่มีอยู่ในผักธรรมชาติแล้วด้วย
คนอินเดียส่วนใหญ่ก็เป็นเจมานาน และไม่เคยรู้จักทฤษฎีไอโอดีนนี้ แต่พวกนี้ฉลาดมาก รามานุจัน นักคณิตศาสตร์ลือเลื่องก็เป็นเจ จนไปตายในอังกฤษ นัยว่าเพราะร่างกายทนหนาวไม่ไหวเนื่องจากขาดความอบอุ่นจากการที่ไม่ยอมกินเนื้อสัตว์
ถ้ากินไอโอดีนแล้วฉลาด ป่านนี้ปลา เต่าทะเล คงไอคิวสูงกว่ามนุษย์สิครับ :-)
อาหารเจเลียนแบบเนื้อสัตว์ผมว่าส่วนใหญ่น่าทำมาจาก gluten ครับ คนจีนเรียกหมี่กึง
ในเรื่องของไอโอดีน ไอคิวสื่อถึง “ความสมบูรณ์ของสมอง” เท่านั้นค่ะ ไม่สื่อไปถึง “ปัญญา” หรือ “ความฉลาด”
วาทกรรมที่อดีตเจ้ากระทรวงฯใช้ทำการตลาดเรื่อง “ความฉลาด” จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงคนทำงานระดับพื้นที่กัน ด้วยความไม่สบายใจ
และการตลาดในเรื่องนี้ ก็สอนเราว่า “การใช้ถ้อยคำ” ในตลาดสุขภาพนั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบให้มากไว้ บอกบวก ก็ต้องบอกลบ ไม่ใช้คำลอยๆ ให้เข้าใจผิด
ที่มาของการให้ข่าวเรื่องนี้ เป็นผลจากการย้อนรอยไปดูความต่อเนื่อง ของการแก้ปัญหาโรคเอ๋อในประวัติศาสตร์การสาธารณสุข ในยุคที่รุ่นเราๆยังเอ๊าะๆค่ะอาจารย์ แล้วฉุกคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ทิ้งไป ไม่ทำ เพราะคิดว่าดีแล้ว แต่แท้ที่จริง ไอ้ที่ดีนั้นมันถอยหลังเข้าคลอง แล้วก็จริง เมื่อใช้งานวิจัยลงไปพิสูจน์ก็พบว่า เรื่องของโรคเอ๋อมันยังอยู่แบบซ่อนเร้น เป็นเอ๋อน้อยๆที่ไม่ตรวจเลือดแล้วไม่มีทางรู้ และมีบางพื้นที่ของประเทศไทย ที่ยังมีโรคนี้อยู่ในระดับชุกถึงชุกมาก
เมื่อก่อนเอ๋อหายไปได้ด้วยวิธีส่งข่าวบอกสังคมและสาธารณสุขลงมือ “รักษา” ก่อนจะรุนแรง
การย้อนรอยไปเรียนรู้และเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันบอกว่า ที่ถอยหลังเข้าคลองนั้น เพราะไปวางมือ เรื่องการส่งผ่านความรู้ให้สังคม รู้ว่าพลาดแล้วแก้ไข เป็นเรื่องดีๆที่ควรทำไม่ใช่หรือค่ะอาจารย์
เรื่องนี้เมืองไทยอยู่แถวหลังของประเทศอาเซียนหลายประเทศ ด้วยนะคะ ประเทศที่แซงหน้าเราไปแล้วในเรื่องนี้ ก็มีกัมพูชา จีน เวียดนามค่ะ
อีกอย่างที่เกี่ยวข้อง นับแต่ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปออกวางตลาดเยอะแยะ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็เป็นที่นิยม อุตสาหกรรมที่ผลิตออกมาเขาใช้เกลือคนละประเภทกับในครัวเรือน (เกลือในครัวเรือนมีกม.กำหนดให้ผสมไอโอดีน)
ในเมื่อคนสมัยนี้ นิยมบริโภคอาหารที่คนอื่นผลิตให้กิน ข้าวบ้านไม่ใคร่กิน วิธีป้องกันจึงต้องหันมาทำให้เกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมมีไอโอดีนด้วย เพื่อไม่ให้คนยุคปัจจุบันและข้างหน้า กลายเป็นโรคที่เกิดจากการขาดสารไอโอดีน แล้วต้องมาให้หมอต้องผ่าก้อนที่คอ เหมือนในอดีต และช่วยเด็กรุ่นใหม่ไม่ให้เกิดมาพิการค่ะ
คำถามผมยังเหมือนเดิมว่า เรื่องไอโอดีน นี้จริงเท็จประการใด ผมสงสัยว่าเรา “ลอกฝรั่ง” มา อีกแล้วนะ
ซึ่ง metabolism ของไทยฝรั่งต่างกันมาก เช่น ตอนนี้เราไปเชื่อตามฝรั่งว่า กินแป้งทำให้อ้วน ทั้งที่คนเรากินแป้ง (ข้าว) กันมาเป็นหมื่นปี ก็ไม่เห็นอ้วน ส่วนฝรั่งเขากินเนื้อกันมานาน พอมากินแป้งก็ทำให้อ้วน เพราะน้ำย่อยๆ เขาย่อยได้ไม่หมด ปรับตัวไม่ทัน ส่วนน้ำย่อยเรา ย่อยนมไม่ได้ดี แต่ตอนนี้ เห่อไปกินนมตามฝรั่ง จนอ้วนกันไปหมดประเทศ โดยเฉพาะเด็กๆ
ผมกล้วว่า ไอโอดินนี้จะซ้ำอีหรอบเดิมอีก ผมจึงขอเตือนสติว่า ก่อนลอกฝรั่งโปรดยั้งคิด เท่านั้นแหละครับ
ผมเชื่อว่ากินผักให้หลากหลาย กินข้าวกล้อง น่าจะพอแล้ว
ควายมันกินหญ้าอย่างเดียว ก็ยังเห็นมันสมบูรณ์แข็งแรงดี นะครับ :-) ตัวโตกว่าตนไทยที่อยากตัวใหญ่ด้วยการกินนม(วัวควาย)ซะอีก ทั้งนี้เพราะน้ำย่อยควายมันวิวัฒนาการมาสกัดสารอาหารจากหญ้าได้ดีนั่นเอง
ความรู้ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่อธิบายไปถึงภายในของร่างกายคนได้ คงต้องยอมรับว่ามีแต่วิธีของฝรั่งเท่านั้นที่ทำได้ แม้แต่ประเทศจีนซึ่งมีการแพทย์ดั้งเดิมของตนเอง ก็ต้องยอมรับวิธีฝรั่งเข้าไปผสมผสานใช้
สำหรับเรื่องของไอโอดีนนั้น ได้มาจากการเรียนรู้ลึกเข้าไป ในเรื่องของสรีระและชีวเคมีที่สัมพันธ์กัน เป็นความรู้ที่พิสูจน์โดยคนไทยค่ะจึงนำมาใช้ มีหลายเรื่องด้านสาธารณสุขที่คนไทยพบปัญหาเป็นคนแรกแล้วบอกกับโลก
อาจารย์หมอสมัยก่อนนำปัญหามาแกะรอยต่อ ด้วยวิชาผ่าศพและอ่านเนื้อเยื่อ ก็ได้ความรู้เหล่านี้มาค่ะ
สรุปกันได้ว่า ความต้องการไม่ได้มากมาย แต่ก็เป็นธาตุจำเป็นที่ขาดไม่ได้ อธิบายได้ว่าทำไมมีความแตกต่างของการป่วยในพื้นที่ต่างๆ ทำไมคนไทยเป็นโรคนี้ และทำไมเป็นกันมากในยุคโน้น
ผักบางชนิดก็มีไอโอดีนอยู่เหมือนอย่างที่อาจารย์ว่า แถมมีผักบางชนิดขัดขวางสมรรถนะของไอโอดีนด้วยนะคะ
ไม่ทราบนะคะว่าในข้าวมีด้วยหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีใครศึกษาไว้เลย ที่จริงมีเรื่องสารอาหารจำเป็นอีกหลายตัวที่อยากจะรู้เหมือนกัน แต่ต้นทุนค่าตรวจวิเคราะห์แพงมากก็เลยบายไป นักวิชาการด้านอาหารก็ไม่วิจัยไว้ ก็เลยไม่มีให้ใช้
การศึกษาด้านสาธารณสุขบ้านเรา เริ่มต้นจากปัญหา แล้วจึงกำหนดวิธีป้องกันออกมา เวลามีปัญหาเกี่ยวกับโภชนาการนั่นแหละ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนอกภาคสาธารณสุขจึงลงมือทำวิจัยมาให้ได้ใช้งาน
เรื่องอ้วนนั้น เป็นผลสัมพัทธ์จากการกินและใช้แรงงาน แป้งเป็นหนึ่งสาเหตุได้ เพราะคนสมัยนี้ ใช้แรงงานน้อย ความอ้วนจากแป้งของคนสมัยนี้ ไม่ใช่มาจากข้าว แต่เป็น ขนมหวานหลากหลายที่กินเล่นกัน ข้าวไม่ใช่ต้นเหตุทำให้อ้วน ถ้าคนๆนั้นเป็นคนกระฉับกระเฉง
เห็นด้วยกับอาจารย์เรื่อง เนื้อสัตว์ ไขมัน นม ทุกประการ สรีระคนไทยไม่ได้ถูกสร้างมาให้กินอาหารแบบฝรั่ง สรีระฝรั่งก็ไม่ได้ถูกสร้างมาให้กินอาหารแบบไทยๆ
ความรู้ของฝรั่ง หรือของชาติไหนๆก็ตาม…เอามาใช้ได้หมดนะคะ น้องคิดอย่างนี้ …แต่มีประเด็นของการนำมาใช้ที่แตกต่างกัน
เริ่มต้นก่อนใช้ ก็ต้องดูว่าวิธีที่เขาศึกษามันอยู่บนฐานที่เป็นจริงไหม ยกเมฆไหม ทำวิจัยกับกลุ่มไหน เดี๋ยวนี้มีงาน RCT ออกมามากขึ้น ก็ทำให้เราวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น risk ratio มันก็ช่วยในการพิจารณา
พอจะนำไปใช้…พี่หมอเจ๊จะธิบายได้ดีที่สุดล่ะค่ะว่าต้องคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง บางงานวิจัยต้องการการศึกษาเพิ่ม แต่ถ้าหากว่ามันเกิดกรณีเร่งด่วน การตัดสินใจ trial ก็เป็นเรื่องของการชั่งนำหนักความสำคัญที่ต้องทวนสอบทั้งแพทย์และคนไข้รวมญาติ บนฐานข้อมูลตรงที่พยาบาลจะมีส่วนมากที่สุดในการจัดการ
ที่เห็นด้วยกับพี่หมอเจ๊ คือการใช้คำ และวิธีการนำเสนอสู่สาธารณะ ต้องพิจารณารอบด้านมากๆ
ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสาร เช่นหนังสือพิมพ์ที่ลงเรื่องงานวิจัยต่างๆด้านสุขภาพ ก็ต้องรอบคอบและตรวจสอบเข้าใจเรื่องของงานวิจัย…เพราะงานวิจัยบางอย่างไม่ได้ควบคุมความผิดพลาดเท่าที่ควร
ที่สำคัญ…ในวงการวิชาการเอง บางครั้งก็ไม่ค่อยได้ตรวจสอบกันจริงจัง มีการตีพิมพ์บทความวิจัยที่ไม่เหมาะสมในเชิงจริยธรรมก็มาก..ยิ่งระเบียบของการนับผลงานที่การตีพิมพ์ของสายงานวิชาการ ทำให้หนังสือวารสารวิชาการของแหล่งการศึกษาทั้งหลายทะลักเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเพิ่อรองรับบทความต่างๆ ….เป็นวารสารระดับ local ที่กระจายไปทั่วประเทศ …ตรงนั้นถ้านักวิชาชีพต่างๆไม่เข้มแข็งตรวจสอบความถูกต้องในเชิงวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยในมนุษย์…จะพาการชี้นำสังคมเข้ารกเข้าพงไปมากขึ้น
คนที่เหนื่อยก็คือคนที่รู้แต่ทำไม่ทันกับการเป็นไปที่หลายภาคส่วนพาสังคมเข้ารกเข้าพงเป็นพรวนนั้นน่ะค่ะ
อย่าหาว่าดูถูกคนไทยด้วยกัน ผมเข้าใจว่า ที่คนไทยไปศึกษาเรื่องไอโอดีนขาดนี้ มันเนื่องจากเรื่อง คอหอยพอก ซึ่งผมเชื่อว่าถูกชี้นำจากองค์การอนามัยโลกอีกต่อ แต่แล้วมันมาโยงถึงเรื่อง IQ ได้อย่างไร ในขณะที่ผมเชื่อว่า คนอีสานที่แสนยากจนและขาดไอโอดีนนี้ เป็นกลุ่มคนไต “ที่ฉลาดที่สุด” ฉลาดขนาดคิดบั้งไฟ (rocket)ได้ ก็แล้วกัน การคิดค้น ปลาร้า ก็แหล่ม
เวลาฝรั่งเขาบอกว่าใครฉลาด เขาบอกว่า smart like a rocket scientist (สงสัยว่าวลีนี้เป็น post-Nasa phrase) ส่วนของไทยเราว่า “หัวหมอ” หรือ “หัวเสธ”
สรุปคือ ชาติไทยเราอ่อนวิจัย แต่พอเห่อวิจัยก็ผิดจุด ไปวิจัยแบบเห่อฝรั่งเสียหมด ปัญหาบ้านเราเต็มกระบุงไม่สน อย่างงี้ต้องเอาผอ. องค์กรวิจัยทั้งหลาย อธิการบ่ดี ทั้งหลาย มาตัดหัวให้หมดใช่ไหม
ขอยกเว้น ดร.ประกอบ อดีต อธิการคนดี ของม.อุบล หนึ่งคน คนนี้ติดดินจริงๆ น่ายกให้เป็นนายกฯประเทศไทยได้เลย
#5 เรื่องของไอโอดีนที่เป็นกระแสในเวลานี้ มีเรื่องสืบเนื่องมายาวนาน ทีแรกที่ถูกสั่งให้ทำ เป็นพื้นที่นำร่อง ก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาจริงๆหรอกค่ะ แต่พอทำด้วยต่อเนื่อง ๓ ปีก็ได้ข้อมูลที่ทำให้อึ้งว่า เป็นปัญหาจริงๆ เป็นหมอถ้าพบเด็กปัญญาอ่อนในมือ ทั้งที่ยังทำอะไรได้ไม่ให้เขาเป็น ถือว่าผิดจริยธรรมเนอะน้องเนอะ
เวลานี้รพ.ของพี่จึงทำเรื่องนี้กันต่อ ที่ขัดใจกันก็คือเรื่องของการใช้ถ้อยคำให้คนรู้สึกเว่อร์ ว่ามันวิเศษขนาดเพิ่มความฉลาดได้ ไม่พูดให้ตรงว่า ป้องกันเด็กไม่ให้เกิดมาปัญญาอ่อน ใช้ถ้อยคำไปแล้วมาตามแก้ ขยันหางานมาให้ทำแล้วก็อยากให้เงียบแล้วอยู่เฉยๆ จะทำให้ทำงานแล้วเหนื่อยน้อยลงกว่าขยันใช้ถ้อยคำ
ครอบครัวไหนมีลูกพิการตั้งแต่เกิด ครอบครัวนั้นเขาทุกข์มาก ไม่ว่าจะรวยหรือจน เรื่องอย่างนี้เมื่อเกิดก็ทำใจไม่ได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้ารู้ว่าป้องกันได้ แล้วไม่บอกวิธีป้องกันให้ ก็ยิ่งทำให้ชีช้ำ
#6 #7 เดี๋ยวนี้ในองค์การอนามัยโลก มีหมอไทยเข้าไปเป็นทีมงานหลายคนค่ะอาจารย์ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริยธรรมของการเห็นคุณค่าของมนุษย์ที่ด้อยโอกาส ไม่ทำมีคนได้รับผล ทำแล้วช่วยคน เป็นอาจารย์ จะช่วยมั๊ยค่ะ หน้าที่หมอทำได้แค่นำปัญหามาทำต่อหากเป็นเรื่องช่วยคน เพราะปัญญาอ่อนก็มาจากหมอทำด้วย ปัญหามีจริงก็ต้องทำ ไม่งั้นก็ไร้ซึ่งจริยธรรมค่ะ
เห็นด้วยกับเรื่องการอ่อนวิจัย บ้านเราไม่ใคร่มีงานวิจัยเชิงป้องกัน มีแต่วิจัยเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ตามแก้ปัญหา โรคมากหลายที่อยู่ในสารบบการแพทย์ ป้องกันได้ซะเป็นส่วนใหญ่ งานวิจัยก็มักเป็นแบบที่น้องสร้อยว่าไว้ข้างบน
เรื่องวิจัย ทีมงานก็นำมาคุยกันตั้งแต่เห็นถ้อยคำแล้วละคะ คนในสาธารณสุขมีหลายประเภท มีทั้งเด็กดี เด็กดื้อ เด็กเก บังเอิญทีมงานเป็นเด็กดื้อ ก็เลยตั้งคำถาม มีทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืนที่เป็นหนทางดีกว่านี้หรือเปล่า ทำไมพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาจะต้องทำงานนี้ด้วย ขณะนี้ก็กำลังตั้งโจทย์กันเพื่อป้อนกลับข้อมูลให้เบื้องบน ว่าไม่ได้ดื้อตาใส แต่มีที่มาที่ไปก่อนจะดื้อ คนที่มีโอกาสได้ลูกโง่ก็หาวิธีช่วยเขาต่อไป
เมื่อประมาณ คศ 1960 ฝรั่งมันวิจัยกันว่า ความฉลาดเกิดจากสมองใหญ่ มันสรุปว่า คนฝรั่งมีมันสมองใหญ่ที่สุด กว่าชนเผ่าอื่นๆ ไม่เห็นมันพูดเรื่องไอโอดีนเลยครับ
ผมเลยเอามาถามต่อว่า มด กับ ช้าง ใครฉลาดกว่ากัน (ผมว่ามดนะ)
ขนาดสมองในที่นี้ คือ ขนาดพอดี สำหรับชีวิตหนึ่งๆค่ะ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าขนาดไหนจึงใช่ ที่รู้กันก็รู้แต่ “ขนาดที่ไม่ใช่” จากการเติบโตของเด็กที่เป็นครูค่ะ
เท่าที่รับรู้มานั้น ไอโอดีนนี่เป็นเรื่องเมืองไทยพูดเองมานาน ไม่เกี่ยวกับฝรั่งมาบอกค่ะ ฝรั่งซะอีกที่ให้เราเป็นครู
ครูที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้ คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่ะอาจารย์ ท่านชวนให้หันไปใส่ใจว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของคนไทยช่่วยไทยได้ค่ะ
สัตว์มีเขา มักไปกินดินโป่ง เค็ม เกลือ
แต่ที่ผมไต่ถามมา จนได้เป็นแนวคิดเสริม คือ สัตว์มีเขา มักไปกินผล กระบก ที่หล่นอยู่ริมต้น
มันเกี่ยวอะไรกันไหม น่าวิจัยมากเลยนะ
หรือว่าแค่ปลูกระบกให้มาก เอาน้ำมาคั้น กินแทนนมวัว คนไทยก็ฉลาดแล้ว
ลูกกระบก อร่อยมาก ๆ ไม่น่าเชื่อว่า กรมวิชาการเกษตร ไม่เคยทำวิจียเรื่องนี้เลย หรือไม่แจกลูกออกไปให้อจ.มหาประลัยไทย ทำวิจัยเรื่องนี้บ้างเลย ส่วนองุ่น แอบเปิ้น เนย ชีส ทำวิจัยกันอยู่มากหลาย
ไวน์อร่อยที่สุดในชีวิตผมที่เคยกินมา คือไวน์ กระบก และไวน์มะม่วงกะล่อน ที่ผมเก็บเอามาให้เพื่อนนักชีวะลองหมักดู
บอร์กโดซ์ชิดซ้าย …นี่ขนาดยังไม่ได้วิจัยต่อยอดให้อร่อยมากขึ้นนะ
ส่วนไวน์หวดข่าของบาท่าน ต้องรอดูครับ แต่เท่าที่ลองชิมในระยะเริ่มหมัก ผมว่ามีศักยภาพสูงอยู่