สู้กระแสไข้หวัดใหญ่
อ่าน: 2016หลังวันหยุดยาวยังติดนิสัยอะไรบางอย่างที่ยังไม่ฟื้น นั่นก็คือการนอนตื่นสาย เข้าข้างตัวเองไปหน่อยว่าไม่เป็นไร เป็นเหตุให้เช้าวันที่ 9 กค.ไปทำงานช้า อันที่จริงในเช้าวันนั้น ตั้งใจไว้ว่าจะนั่งเคลียร์งานการเบิกจ่ายค่าตรวจสุขภาพประจำปีของเจ้าหน้าที่ 700 คนที่ความไม่รู้ของผู้ทำงานอยู่ทำให้เกิดเรื่องยุ่งๆเป็นยุงตีกันไว้ให้จัดการสะสางใย (ผลสะสมค้าง 3 ปี ไม่บอกว่ายุ่งแล้วยังไงจึงไม่ยุ่งนะู้)
ไปถึงที่ทำงานแล้วนึกขึ้นได้เรื่องของการควบคุมไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ดำเนินการไปบ้างแล้ว ถามไถ่สถานการณ์แล้วจึงรู้ว่า ทีมควบคุมโรคฉุกเฉินของอำเภอเมืองเขาพากันไปโรงเรียนที่ผู้ป่วยรายแรกเรียนอยู่ ที่ไปก็เพื่อค้นหาว่ามีใครป่วยอีกไหม จะได้ให้การดูแล
ในใจเกิดสังหรณ์ว่างานเข้าแล้ว ทำให้ตัดสินใจว่าตามไปดูหน่อย ดีกว่าปล่อยเด็กๆให้ทำงานไปตามลำพัง
ไปถึงโรงเรียนแล้วก็เห็นภาพของผู้บริหารโรงเรียนหลายระดับมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าห้องประชุมเล็กของครู ความรู้สึกแรกสัมผัสได้ว่า เหล่าครูเขาเครียดและกังวลใจในระดับมากถึงมากที่สุด เดาไม่ออกว่ากังวลเรื่องอะไร รับรู้แต่ว่ากังวลอะไรบางอย่างอยู่ในใจกันทุกคน
ทีมที่มากันก่อนนั่งคุยกับผอก.อยู่แล้ว ฉันจึงปล่อยให้คุยกันต่อจนกระทั่งจบเรื่องที่อยากคุย-อยากบอกโรงเรียนว่าพวกเขามาทำอะไรกัน จบแล้วเขาก็แยกย้ายกันไปที่ห้องเรียนเพื่อช่วยครูค้นหาเด็กป่วยที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา
การได้นั่งคุยต่อกับผอก.และลูกน้องของฉันในระหว่างที่บางส่วนของทีมไปที่ห้องเรียนกันแล้ว ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ว่า เช้านี้ผู้ป่วยรายแรกที่พบเชื้อมาเรียนหนังสือแล้วโดยพ่อเป็นคนพามา มาแล้วครูก็ขอร้องให้นำกลับตามคำแนะนำที่บอกกันไว้ พ่อได้แปลต่อว่าห้ามลูกมารร.เพราะว่าป่วย จึงบอกครูว่า ลูกเขาไม่มีไข้แล้ว จะให้มาเรียน ไม่พากลับบ้านหรอก ครูขอให้กลับไปอยู่กับบ้านอย่างไร พ่อก็ไม่ยอม คุยกันไปคุยกันมาจนเป็นเรื่องที่เป็นผลส่งให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัวต่อกันเกิดขึ้น
ฟังเรื่องแล้วเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นเหตุทำให้ครูเครียด ผอก.มีสตินะ โดนท้าทายสติแต่เช้าอารมณ์ไม่หลุด ที่หลุดให้เห็นก็เป็นแค่ความนิ่งแบบเครียดๆ ซึ่งแฝงไว้เนียนมากจนแทบจะจับอารมณ์ไม่ได้ ผอก.คงอยากจะบ่นออกมาดังๆ แต่ในเมื่อบ่นไม่ได้ จะทำยังไง ก็ทำได้แค่เงียบ เงียบ และเงียบ
เจอเรื่องอย่างนี้เข้า หัวอกผู้บริหารเป็นยังไง น่าจะเข้าใจเนอะ
เข้าใจความรู้สึกที่กำลังเป็นอยู่ของครูแล้ว ฉันไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า ชวนให้ครูได้คุยเล่าออกมา เล่าแล้วฉันเชื่อว่า ความอึดอัดบางส่วนของครูจะลดน้อยลง
จึงขอร้องไปว่าเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังหน่อยว่านั้นเป็นอย่างไร เล่าซ้ำหน่อยเพื่อจะได้จับประเด็นได้ว่า อะไรทำให้พ่อไม่พอใจ แล้วจะไปแก้ไขต่ออย่างไร
ขอจากครูแล้วยังไม่พอ จึงขอให้ลูกน้องที่นั่งอยู่เล่าด้วย เล่าเรื่องที่เขาได้ไปเยี่ยมบ้านให้ครูฟังด้วย แลกเปลี่ยนเรื่องราวกันหน่อยว่าเกิดอะไร อย่างไรขึ้นบ้าง เพื่อต่อเรื่องราวให้ได้ความเข้าใจคืนมา
บอกออกไปอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่าเจ้าลูกน้องเครียด นี่ขนาดได้ฝึกฝนมาแล้วให้รู้จักมีสตินะนี่ สัมผัสได้ว่าเธอกำลังกลัวงานที่กำลังทำจะไม่เสร็จ ฉันจึงกระตุ้นให้ระเบิดความรู้สึกออกมาให้รู้เพื่อคลายเครียด ได้ผลแฮะเจ้าหล่อนออกปากว่า หมอให้ทำอย่างนี้ หนูทำงานต่อไม่ได้ เครียดไปหมดแล้ว
ฟังแล้วรู้สึกว่าเขากำลังคิิดว่าเขาถูกตัดสินว่าทำผิดทำพลาดอะไรลงไปในช่วงก่อนหน้า ฉันจึงบอกให้เธอเข้าใจว่าที่มานั้นตั้งใจมาช่วย ไม่ได้มาหาความผิด ที่ให้เล่าเรื่องนั้นเพื่อจะได้ทำความเข้าใจแล้วก็ช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับพ่อรายนี้ ไม่ให้มีปัญหาไม่ว่ากับใครต่างหากเล่า การให้เล่าไม่ใช่การจับผิด เรื่องที่ไปทำมาถ้าได้เล่าให้ได้ฟังด้วยจะช่วยทำให้มองออกว่าอะไรคือเหตุที่แท้ที่ทำให้พ่อมีอารมณ์กับครู
ประเด็นการทำให้พ่อเกิดความเข้าใจในสิ่งที่รู้สึกว่าถูกกระทำเป็นเรื่องที่ควรลงมือทำ เรื่องกระทบที่จะส่งผลบานปลายจะได้ยุติลงไป ครูซึ่งทำงานแก้ปัญหาตัวเป็นเกลียวกันอยู่แล้ว ก็จะได้สบายใจที่จะดูแลเด็กร่วมกันต่อไป
เมื่อเรื่องราวทั้งหลายถูกเล่าออกมาก็ทำให้อ้อ ที่แท้มีอะไรซ่อนอยู่ในใจของพ่อนี่เอง สิ่งที่ซ่อนอยู่นั้นมันหลุดออกมาได้จังหวะพอดีตอนที่พบกับครู
เหตุที่ซ่อนอยู่ในใจพ่อนั่นคืออะไร นำมาเล่าเพื่อเฉลยและเป็นตัวอย่างเตือนใจบรรดาครูทั้งหลายหากว่ามีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นที่โรงเรียนของตน จะได้ใช้จัดการปัญหาให้นิ่มนวลค่ะ
จะไม่เล่าลึกลงไปถึงเรื่องราวมากกว่านี้เพื่อไม่ไปล้ำสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของผู้คน แต่จะมาบอกว่า ในยามเช่นนี้ไม่ว่าใครลงมือจัดการกับเรื่องการป้องกันการแพร่เชื้อ ขอให้ใช้สติเตือนใจ และสอนใจ ยึดหลัก “ใจเขาใจเรา” เอาไว้ให้มั่น
งดการมีทีเผลอเด็ดขาด ยกเว้นรู้สึกสนุก ตั้งใจอยากเรียนรู้จากสถานการณ์ยุ่งๆเป็นยุงตีกันแบบโกลาหล ก็ไม่ว่ากัน
เรื่องนี้เป็นประมาณนี้ค่ะ
สมมติพ่อของเด็กที่ป่วยเป็นท่านอย่างที่เป็นอยู่นี้(มีหน้าตาที่มีผู้คนรู้จักมากหน้าหลายตาและเป็นที่นับถือ)
แล้วลูกเกิดป่วยเป็นรายแรกของจังหวัดท่าน (เข้าป้ายคนแรกของไข้หวัดใหญ่ 2009)
ป่วยแล้วก็ถูกสื่อนำเรื่องไปทำข่าว ขายข่าวอย่างไม่สนใจใยดีความรู้สึก (ข่าวไม่ระบุชื่อ แต่สื่อให้เดาได้ว่าอยู่ที่ไหน)
แถมด้วยมีคนมาเยี่ยมบ้านไม่ขาดสายเพื่อมาดูแลและให้คำแนะนำ ถามไถ่เรื่องโน้นเรื่องนี้
เข้ามาถามแล้วก็ไป แล้วก็มีกลุ่มใหม่วนมาอีก มาคุยถามโน่นถามนี่
แถมต่อด้วยมา่รร.แล้วพบว่าว่ามีคนรู้จัก รู้เรื่องของลูกอีกตั้งหลายคน
แถมเข้าไปอีกกับเรื่องที่ๆเคยไปมารร.ได้ง่ายๆก็ถูกห้าม(ในรูปของการขอความร่วมมือ)
เมื่อเจอกับคำขอร้องว่า “กลับบ้านไปเถอะ” อารมณ์นี้ท่านรู้สึกอย่างไร บอกกันหน่อย
หากมีใครตอบว่า “รู้สึกว่าอารมณ์ดี” ละก็
ช่วยมาสอนหน่อยว่า ทำได้อย่างไร
Keywords :
1. ธรรมชาติของทุกผู้คนให้ความสำคัญกับคำว่า “สังคมรังเกียจ” มากๆๆจนถึงมากๆๆๆที่สุด เรื่องนี้เปราะบางมากนะ
2. โรคติดต่อเป็นโรคที่คนรังเกียจ ยิ่งเป็นโรคติดต่อ คนยิ่งไม่อยากดัง โดยเฉพาะดังแล้วเป็นดาราหน้าข่าวดังซะด้วยซิ
3. พึงดูแลความเปราะบางของคนที่เอ่ยไว้ในข้อ 1ให้มากไว้และดูแลใจตนเองด้วย
4. โดยเฉพาะถ้ามีข้อ 2 มาร่วมด้วย ยิ่งพึงดูแลใจให้มากๆไว้ ก่อนลงมือทำอะไรลงไป
5. ฝึกการอ่านใจคนเอาไว้และใช้ด้วย ประเด็นละเอียดอ่อนของความรู้สึกของผู้คนนั้นสำคัญ
6. รู้จักใช้ความรู้ข้อ 4 ให้สมเหตุสมผล สมดุลกันกับความเปราะบางให้มากไว้ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำให้เกิดความรู้สึกดีๆของผู้คนที่เกี่ยวข้องรอบด้านให้ได้ เป็นดีที่สุด
7. จะทำข้อ 3 ได้ดี พึงมีสติ ทำอะไรที่ช้าไว้ๆ แต่ไม่จำเป็นต้องช้าจนกระทั่งถึงระดับเต่าเรียกทวด จำเอาไว้ให้ดีนะ
8. ความเปราะบางของคนที่มีหน้าตาในสังคม และผู้คนธรรมดาที่เป็นคนเดินดินและไม่มีใครรู้จักนั้นมีเท่าๆกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีการจัดการที่ควรใส่ใจ จะสามารถใช้วิธีเดียวกันกับคนทั้งสองกลุ่มได้อย่างที่เชื่อว่าใช่ จำไว้นะ
9. ก่อนลงมือจัดการเรื่องราวที่มีความละเอียดอ่อนสำหรับใจของผู้คน คิดใหม่ทำใหม่ทุกครั้ง ระวังการใช้ความเชื่อเดิมๆที่คิดว่าใช่ทำ
10. ผลข้างเคียงของการจัดการ คือ สึนามิในใจของผู้คน จัดการไม่ดีได้เจอมันแน่ จำเอาไว้
สรุปบทเรียนรู้ :
รู้สึกอย่างไร :
- รู้สึกดีกับการได้เห็นผู้คนต่างองค์กรร่วมไม้ร่วมมือกัน “ทำบุญช่วยคนไม่ให้ป่วย”
- รู้สึกไม่สบายใจกับผลที่ไปกระทบให้พ่อไม่สบายใจและไม่สบายใจที่ไม่มีรับรู้ความรู้สึกนี้ของพ่อแล้วช่วยเยียวยาให้เลย
เรียนรู้อะไร :
- การทำงานแบบลุยๆ ลงมือทันทีที่ได้โจทย์ ขาลุยจำเป็นต้องฝึกฝนตนให้มีความรอบรู้ในทุกๆด้าน จึงจะสามารถจัดการทุกเรื่องราวให้สำเร็จลงด้วยความสวยงามตามที่ปรารถนา
- ลองนึกดูก็เห็นภาพ “การตรวจค้น” แล้วได้ข้อคิดว่า การทำงานแบบขาลุยที่มุ่งกระทำคล้ายกันนี้ ไม่พึงเป็นสไตล์ที่ผู้คนในแวดวงที่ให้การดูแลคนนำมาใช้ “คน” มีอะไรอีกหลายแง่มุมที่มาผสมปนเปกันอยู่ในตัวคน
- ความรู้สึกต่อ “การตรวจ ค้น คัด” กับวัตถุ เมื่อเปลี่ยน “วัตถุ” เป็นผู้คน ให้ผลต่างกันนะ
- การสื่อสารในทุกๆเรื่องกับผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงว่ากำลังทำอะไรกัน ด้วยการบอก บอก และบอก ไม่เพียงพอสำหรับทำให้ความปรารถนาผลสำเร็จเป็นผลสำเร็จร่วมกันได้นะ ขอบอก
- คนทุกคนเป็นหมอใจได้ถ้ารู้เคล็ด เคล็ดที่ไม่ลับและทำได้ง่ายก็เพียงแค่เวลาคนเครียดแล้วให้เขาได้พูดอะไรออกมาซะบ้าง แล้วฟังเงียบๆ เพียงแค่นี้ก็ได้ช่วยผ่อนความเครียดให้เขาไปแล้ว
« « Prev : มาตรการลดไข้หวัดใหญ่
Next : เพิ่มเติมเรื่องไข้หวัดใหญ่ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สู้กระแสไข้หวัดใหญ่"