แนะนำการปรับวิถีชิวิตของคนเบาหวาน

โดย สาวตา เมื่อ 13 มกราคม 2009 เวลา 22:52 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิต สุขภาพ, อาหารกับสุขภาพ #
อ่าน: 2878

มาแนะนำอ้ายเปลี่ยนต่อนะค่ะ เอาวิธีตรวจประเมินผลน้ำตาลด้วยตัวเองก่อนละกัน

Urine sugar test ผมนึกว่าเขาเลิกใช้แล้ว เมื่อก่อนตอนเป็น PN เคยให้คนไข้ตรวจก่อนอาหารอยู่ครับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ไปตรวจเห็นคุณหมอยังใช้อยู่แต่หน้าตาเปลี่ยนไป

ตั้งแต่มีการให้คนไข้เจาะเลือดปลายนิ้วได้ ดูเหมือนหมอสมัยใหม่จะเลิกใช้ urine sugar test  สำหรับพี่นะเป็นหมอหัวเก่า ที่ยังเห็นประโยชน์ของมัน พี่จึงยังใช้มันอยู่ค่ะ  ประโยชน์มันที่พี่นำมาใช้ คือ ช่วยลดความเจ็บคนไข้จากการเจาะเลือดปลายนิ้ว การไม่เจ็บตัวทำให้ สามารถให้คนไข้ที่กลัวเข็มเจาะเลือดนะเขากล้าตรวจตัวเองได้บ่อยๆขึ้น โดยเฉพาะคนไข้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ใช้แล้วคนไข้มีกำลังใจเยอะกว่า เพราะไม่ต้องทำใจมากเวลาตรวจ สมาธิทั้งหลายที่มี จะได้ไปเทให้กับการวิเคราะห์ผลการตรวจของตัวเอง ไม่มาหนักอยู่ที่ความกลัวเจ็บค่ะ

มีข้อดีก็ต้องมีข้อจำกัด ข้อดีคือไม่เจ็บตัว ข้อจำกัดคือ ใช้ได้เฉพาะกับสถานการณ์ที่น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180 ค่ะอ้าย

เจาะเลือดปลายนิ้วแทนได้ไหมครับ ทุกสามวันก็ได้ ซื้อแถบตรวจมาไว้เยอะ ปีที่แล้วหมดอายุทิ้งไปเกินครึ่งกล่อง (เพราะขี้เกียจเจาะ) เจาะทีไรสูงเกินสองร้อยทุกที นึกว่าเครื่องเสีย พอไปจับ(หลอก)คนอื่นมาตรวจของเขาแค่แปดสิบเอง นี่ก้ซื้อเครื่องตรวจมาใหม่อีกชุดแถมสทริปตรวจอีกกล่องใหญ่ (เอามาไว้ดู)

นี่ไง คือ เหตุผลที่พี่ไม่ชอบแนะนำคนไข้ให้เจาะเลือดปลายนิ้ว เจาะแล้วสูงเกินสองร้อยทุกที เจ็บแล้วยังทำให้หมดกำลังใจอีกอ่ะ มันก็ขี้เกียจนะซี เอาแบบไม่เจ็บแล้วมีลุ้นดีกว่ามั๊ยน้อง เจาะปลายนิ้วนะเอาไว้เมื่อตรวจ urine sugar แล้วผลลบดีกว่าน่า 

แต่ในเมื่อมีอยู่ในมือแล้ว พี่เสนอให้นำมาใช้ด้วยกันละกัน  เจาะปลายนิ้วสัปดาห์ละครั้งก้พอ เจาะหลังอดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงและเจาะก่อนกินยาด้วยนะค่ะ  ส่วน urine sugar นะเอามาใช้ วัดน้ำตาลในฉี่หลังอาหารที่ชอบกินแต่ละมื้อ เพื่อหาเคล็ดการปรับปริมาณที่จะกินให้เหมาะสมกับใจอยากของตัวเอง  ทำไปแล้วจะได้ความรู้ที่ติดตัวเป็นอัตโนมัติค่ะ  ว่าเมนูนี้ กินแค่นี้แล้วน้ำตาลยังไง  ทำง่าย ไม่เจ็บตัว ได้ความรู้แถมด้วยดีกว่านะ 

เวลาจะใช้ urine strip ก็ให้ใช้ตรวจหลังกินอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง สำหรับแปลผลน้ำตาลที่เกิดขึ้นหลังการย่อยและดูดซึม เทียบกับปริมาณที่กินมื้อนั้น  ต่อมาให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหลังอาหารเลย 4 ชั่วโมงไปแล้ว และก่อนกินอาหารมื้อถัดไป เพื่อเรียนรู้ว่าร่างกายปรับการใช้อินซูลินหลังการได้รับอาหารและยาได้แค่ไหน  ข้อดีคือจะได้เตือนตัวเองว่า มื้อที่จะกินต่อไปนะให้ระวัง กินเยอะน้ำตาลจะเด้งขึ้นไปได้อีก

เรื่องอาหารคงต้องเลี่ยงอาหารโปรดที่สั่งกินบ่อยๆ เช่น ยำหอมใหญ่ชุปแป้งทอด แกงกระหรี่ใส่มันฝรั่งเยอะๆ วุ้นเส้นผัดไข่ใส่แหนมราดข้าว (พีตาเป็นหมอดูด้วยรึเปล่าเนี่ย) เหมือนกับเคยเห็นผมกินข้าวเลย(อย่างนี้น่ากลัว..ไม่กล้าปด)

ทีนี้มาเรื่องของอาหาร ถ้าคำว่า “เลี่ยง” คือ “ไม่กิน” ให้คิดใหม่  เพราะว่ามีวิธีกินอยู่ค่ะ ลองพิจารณาดูน่ะค่ะ

ข้อแนะนำนี้อยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า “กินกับข้าวอย่างเดียวทุกมื้อ แบบข้าวราดหน้ากับข้าว” นะค่ะ

ยำหอมใหญ่ชุปแป้งทอด : ถ้าจะกินกับข้าวนี้อย่างเดียวละก็ ให้สั่งใหม่ถ้าสั่งให้เขาทำให้ได้ ลองดูค่ะ ลดส่วนของหอมใหญ่ที่ชุบแป้งทอดลงให้มากหน่อย เพิ่มส่วนของหอมใหญ่ลวกแทน   แล้วเติมหยวกกล้วยอ่อนใส่ลงไปเยอะๆนะค่ะ (ถ้ามีในตลาด ซื้อมาให้แม่ค้าลวกใส่เลยค่ะ)

 แกงกระหรี่ใส่มันฝรั่งเยอะๆ : ถ้าใช้เป็นกับละก็ให้กินมันฝรั่งลดลง รึไม่ก็งดข้าวไปเลย กินมันฝรั่งในแกงแทนข้าว ส่วนจะกินเข้าไปเท่าไรดีให้อิ่ม และน้ำตาลลดกว่าเดิมได้ ให้ใช้ urine sugar เข้ามาช่วย วิเคราะห์ผลแล้วปรับปริมาณได้ค่ะ เชื่อมือ

วุ้นเส้นผัดไข่ใส่แหนมราดข้าว : ถ้าเมนูนี้ละก็ งดข้าวกินแต่วุ้นเส้นเถอะค่ะ จะได้ไม่เบื่ออาหาร

การกิน การอยู่ของอ้าย ควรปรับไปตามวิถีที่หาได้รอบตัว ขืนเลี่ยงไปซะหมด มันทำให้เกิดข้อจำกัดมากนะค่ะ ทำงานไม่คล่องตัว กินไม่คล่องตัว ชีวิตส่วนตัวไม่สุข ไม่เอาค่ะ ไม่เอา มาช่วยกัน ช่วยกันค่ะ   มีอาวุธในมือแล้ว คือ ชุดตรวจเลือดปลายนิ้ว แล้วมีอาวุธเพิ่มคือ แถบตรวจ urine sugar ไม่ยากค่ะ ไม่ยาก เมื่อเทียบกับความสามารถในการสังเกตที่มีอยู่แล้ว

ขนมหวานพวกลอดช่อง : ปรับเป็นอย่างนี้นะค่ะ ถ้าจะกินให้เลือกกินในมื้อที่ต้องเคลื่อนไหวตัวเองอยู่นานที่สุด ไม่ใคร่มีชั่วโมงที่นั่ง ยืน สักเท่าไร  กินก่อนกินข้าว ตามด้วยข้าวที่ลดส่วนลง ถ้าเป็นข้าวต้มจะดีมากๆ เลือกกับข้าวที่มีแต่ผัก มีเนื้อสัตว์ได้นะ มีขิงสดด้วยยิ่งดี ส่วนของผักเยอะกว่าเนื้อสัตว์  มีผักสดผักลวกกินเป็นเครื่องเคียง (ถึงแม้จะกินข้าวต้มก็เหอะ)  หรือ

ปรับส่วนประกอบลอดช่องด้วย ให้ปรุงใหม่ถ้าแม่ค้าซี้กัน หรือว่าอ้ายขยันเพราะอยากกิน  ปรับเอาตัวลอดช่องมาแต่น้อย เปลี่ยนใช้น้ำตาลอีควอลใส่ในน้ำกะทิสด เท่านี้ก็กินได้แล้วค่ะ

ข้าวเหนียวเปียกบวบ ทุกครั้งที่ไปตลาดเช้า ต่อไปคงต้องเดินเลี่ยง : แหะ แหะ ข้าวเหนียวเปียกบวบนะ ไม่เคยเห็น

ข้าวเหนียวเปียกบวด = ข้าวเหนียวเปียกราดน้ำกะทิสด  :  เมนูนี้ถ้ามี กินได้แทนข้าวมื้อเช้าไปเลย แต่ต้องลดส่วนลงมา ถุงหนึ่งต้องแบ่งให้คนอื่นกินด้วย ใช้ urine sugar ปรับสัดส่วนการกินได้ 

วิธีปรับให้เริ่มจากกินน้อยๆ แล้วตรวจ urine sugar ดูอย่างที่บอกตอนต้น ถ้ากินน้อยแล้วยังพบผลบวกหลังกินเกิน 4 ชั่วโมง แปลว่าต่อไปไม่ควรกินอีกขนาดนี้ ให้ปรับลดลงอีก  แต่ถ้าลดแล้วหลังจากกิน 4 ชั่วโมง urine sugar ผลลบ ให้ตรวจเจาะเลือดปลายนิ้ว ถ้าค่าเลือดต่ำกว่า 150 ขนาดที่กินอยู่นี้ ยังพอไหว สำหรับมื้อเช้าค่ะ

  • ผลไม้ที่หงสานี่มีแต่กล้วยน้ำว้าครับ แต่ผมก็ช่างคิด(ให้เกิดโทษกับตัวนะ) เอากล้วยน้ำว้าสุกงอมหวานจัดๆมานึ่งใส่ตู้เย็นไว้ แล้วก็เทียวเปิดกินอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวจุดนี้คงต้องปรับด้วยครับ
  • ไอ้ที่ค่าเลือดมันขึ้นนะ ก็อีตรงเทียวเปิดเทียวเปิดนี่แหละ เอาใหม่ตรงที่ เปิดเอามากินเป็นมื้อแทนเทียวเปิดเทียวเปิด ผลไม้อื่นไม่มีก็ลองหาของป่า เช่น ลูกหว้า ลูกอะไรที่กินได้มาดูทีหรือ น่าจะมีนะค่ะ มาใส่ตู้เย็นแทน ถ้าไม่มีก็คงปรับได้แค่ปรับกินให้เป็นมื้อค่ะ

    กล้วยน้ำว้านะเป็นกล้วยดีที่คนเป็นเบาหวานควรเลือกกินมากที่สุด เพราะว่าทำให้ภาระการย่อยน้ำตาลไปใช้ของร่างกายมันไม่โหลดไม่ทำงานหนักเวลาย่อยเพราะว่าร่างกายค่อยๆย่อยเอาน้ำตาลออกมาใช้ทีละระลอก ทำให้น้ำตาลไม่สูงพรวดทีเดียวแบบชู๊ตขึ้นเร็วและลงพรืด แต่ค่อยขึ้นและค่อยๆลด อีกอย่างมันมีกากใยเยอะและมีสารเคมีที่ช่วยปรับน้ำย่อยป้องกันกระเพาะอาหารเราด้วย อันนี้ดีออกค่ะ

    การกินที่แนะให้ปรับคือ จำนวนผลต่อมื้อ  กล้วยน้ำว้าถ้าจะกินหลังข้าว ให้ลดข้าวไป 1 ทัพพีต่อผลเลยนะค่ะ เพื่อว่าร่างกายจะได้ปรับง่าย  แต่ให้ดีให้กินมื้อเย็นดีกว่าแทนข้าวไปเลย แล้วเพิ่มน้ำเต้าหู้เข้ามา (ถ้ามี)  ถ้าไม่มีซื้อเอาเต้าหู้มาลวกกินกับน้ำพริกและผักสดแทนค่ะ ถ้าไม่มีก็กินผักลวกเล่นแทนละกันค่ะ เห็ดต่างๆย่างอย่างที่พี่หลินว่าก็ได้นะค่ะ กินกล้วยกับเห็ดมื้อเย็น หรือกินเมี่ยงคำแต่ใช้ถั่วให้น้อยๆก็ยังได้อยู่

    เตรียมแครกเกอร์จืดที่ทำจากโฮลวีทไปกินยามหิวดีกว่าเนาะ

    ดูเหมือนจะกลัวนะค่ะ เลยต้องเตรียมเสบียงไว้ให้ตัวเอง ช่วงแรกๆของการปรับตัวนะ จะหิวบ่อย เพราะว่าร่างกายมันนำน้ำตาลไปใช้ได้ไม่ดี เวลาหิวคนจะกลัวเรื่องเป็นลม และเป็นโรคกระเพาะกันมาก ก็เลยไม่ยอมทนหิวเอา

    อ้ายจึงควรมีวิธีตรวจตัวเองเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำไว้หน่อย ไม่ให้กินเพราะกลัวไปเองว่าน้ำตาลจะต่ำค่ะ แต่ให้กินเพราะว่ามันต่ำจริงๆ

    เอาวิธีตรวจด้วยมือสิบนิ้วก่อนนะค่ะ ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าจะมีน้ำตาลต่ำ สิ่งแรกที่ให้ทำคือ นำน้ำตาลในรูปอะไรก็ได้ที่เข้าปากแล้วละลายง่ายมาวางใกล้มือ ยังไม่ต้องเอาเข้าปากนะค่ะ จับชีพจรก่อนจะลงมือเอาเข้าปาก ถ้าพบว่าชีพจรเร็วขึ้นกว่าชีพจรปกติและเกินร้อย นั่นแหละที่เป็นเครื่องเตือนว่า อาการที่สงสัยนะมันเตือนว่ากำลังจะเกิดเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าชีพจรเต้นเร็วเท่าๆกับปกติ อาการที่เกิดนะไม่ใช่น้ำตาลในเลือดต่ำหรอกค่ะ   เราหลอนตัวเองตะหาก

    ทีนี้ถ้ายังไม่แน่ใจ เจาะเลือดปลายนิ้วก่อนค่ะ ถ้าต่ำจริง ค่อยเติมน้ำตาลด้วยการอมก็ไม่สาย ถ้าจะใช้การอมน้ำตาล เลือกใช้น้ำตาลธรรมชาตินะค่ะ ที่ลาวนะคงหาได้อยู่ค่ะ

     อยู่ชนบทนี่ค่ะ อาหารการกินก็มีตามแต่หาได้รอบตัว วิธีกิน วิธีอยู่ของอ้ายนะสมถะดีออกค่ะ พี่ไม่อยากให้สมถะแบบอดอยากแบบมีกินแต่ไม่กินค่ะ ถ้ามีทางกินได้ กินเถอะค่ะ อย่าเลี่ยงไม่กินเพราะกลัว  การกลัวนั้นแปลว่า ไม่ไว้ใจตัวเองว่าจะพึ่งตัวเองได้ ไม่ดีค่ะ ไม่ดี

     

    เตรียมแครกเกอร์จืดที่ทำจากโฮลวีทไปกินยามหิวดีกว่าเนาะ (อันนี้ขอยกไปอีกบันทึกดีกว่า จะได้อ่านไปทีละช๊อตช้าๆได้ )

    ทั้งหมดที่แนะนำไว้นี้น่ะ พี่มีสมมติฐานว่า ค่าบียูเอ็น ของอ้ายนะ ไม่เกิน 1.2 นะค่ะ ถ้าเกินหรือคาบเส้นละก็ อ้ายส่งข่าวให้รู้หน่อยนะค่ะ จะได้แนะนำต่อว่าต้องปรับอะไรให้ปลอดภัยขึ้นค่ะ

    ไปสำรวจตลาดมาแล้ว อ้ายบอกหน่อยว่า มีผักอะไรบ้างที่หาง่ายๆในถิ่นที่อ้ายอยู่ค่ะ เดาๆอยู่แต่ไม่แน่ใจค่ะ เอาตรงความจริงดีกว่าค่ะ

    เป็นกำลังใจให้ค่ะ

    « « Prev : อาหารที่คนเบาหวานพึงระวัง

    Next : เบาหวานกับการปรับตัวเรื่องอาหารการกิน » »


    ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

    4 ความคิดเห็น

    • #1 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2009 เวลา 23:19 (เย็น)

      acknowlage with many thanks น้อมรับคำชี้แนะครับพี่ตาครับ
      เดี๋ยวหาวิธีคัดลอกเอาไว้ก่อนครับ
      เข้าหงสาจะไปสำรวจวัตถุดิบดูก่อนครับ แต่รับรองว่ามีผักเยอะแน่ๆ หน้าที่ผมในหงสาก็คือส่งเสริมให้พี่น้องปลูกผักกินอยู่แล้ว หากหาผักกินบ่ได้ก็แปลว่างานล้มเหลวครับ เท่าที่จำได้มีผักโขม ผักกาด ผักบุ้ง ยอดฟัก ยอดบวบ ยอดพริก หน้าหนาวอย่างนี้มีผักสลัด กับผักน้ำเยอะมากครับ

    • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2009 เวลา 23:23 (เย็น)

      โห..ได้ความรู้เยอะเลย ปรับเอาไปใช้บ้าง

    • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2009 เวลา 23:53 (เย็น)

      อ้ายส่งข่าวเรื่องบียูเอ็นให้หน่อยซิค่ะ เผื่อว่าจะได้แนะเรื่องตรวจแล็บเพิ่มเป็นพิเศษเพื่อหาตอบมาพยากรณ์เรื่องไตวายว่าพอมีทางเอาทางถอยคืนมาได้แค่ไหน

      ที่ถามเรื่องบียูเอ็นเพราะว่า คำแนะนำเรื่องกินผักนะมีผลข้างเคียงทางลบได้เหมือนกันค่ะ บอกทางอีเมล์ดีกว่าค่ะ

      บันทึกในบล็อกนี้ทั้งหมด เป้นพื้นฐานทำความเข้าใจเรื่องอาหารเมื่อเข้าไปในร่างกายคนแล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างค่ะ เป็นพื้นฐานที่ดูเหมือนลึก แต่พี่ว่าหากคนเข้าใจได้ละก็ มีประโยชน์มหาศาลสำหรับคนค่ะ พี่ก็พยายามเล่าสิ่งที่พี่เข้าใจออกมาให้อ่านค่ะ 

      ส่วนเรื่องอาหารคนไข้เบาหวานนั้นน่ะ มีความพิสดารพอประมาณเลยค่ะ ในเรื่องของการรังสรรค์เมนูอาหารธรรมดาเพื่อประยุกต์ให้คนไข้กินได้อย่างคนทั่วไป

      ย้ำ ย้ำ ย้ำ ว่า บอกค่าบียูเอ็นไปหน่อย เพราะว่าเป็นไปได้ว่าช่วงหลังๆแนวโน้มอ้ายต้องกินหนักไปในเรื่องผักแต่ละมื้อเป็นกาละมัง เหมือนกับพี่บูธค่ะ

    • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มกราคม 2009 เวลา 0:00 (เช้า)

      พี่บูธค่ะ เรื่องอาหารนะ มีอะไรให้เขียนได้หลายมุมค่ะ แต่ละประเด็นเป็นเรื่องปัจเจกด้วยค่ะ บันทึกนี้ทิ้งไปนานหน่อย เพราะนึกประเด็นไม่ออกว่าจะเขียนอะไรออกมาบอกกัน ทุกเรื่องมีประโยชน์ก็จริง แต่บางทีมันเยอะจนตัวเองรู้สึกเฟ้อเหมือนกันค่ะ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มีแรงจูงใจอยากเขียนจึงเขียนค่ะ

      สำหรับบันทึกเหล่านี้ มีประโยชน์สำหรับคนวัยพี่อย่างยิ่ง อันนี้เดาจากหุ่นของพี่…อิอิ…ข้าน้อยขออภัยที่บังอาจก้าวล่วง…ตั้วเฮีย


    แสดงความคิดเห็น

    ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
    You must be logged in to post a comment.

    Main: 0.035079002380371 sec
    Sidebar: 0.081621170043945 sec