เมืองไทยใหม่เอี่ยม (นิวไทยแลนด์)
เรื่องนี้กำลังติดตลาด เลยต้องเขียนเสียหน่อย เพราะผมเองได้เขียนเรื่องนี้ไว้มากและนานนับสิบปีแล้ว วันนี้สบโอกาสเลยขออนุญาตท่านผู้อ่านเอาของเก่าแกะกระดาษออกแล้วห่อใหม่นะครับ
ก่อนอื่นขอกระเซ้ารัฐบาลหน่อยว่า หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลคือการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย และเอกลักษณ์ของชาติ (ดังนั้นจึงมีกระทรวงวัฒนธรรม) และวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของชาติไทยก็คือ ภาษาไทยนี่แหละครับ เพราะชาติใดที่สิ้นภาษาก็ถือได้ว่าสิ้นชาติเมื่อนั้น ดังนั้นขอเถอะครับ จะตั้งชื่อโครงการใดๆ ขอให้ใช้ภาษาไทยเถอะครับ อย่าเอาแบบเก่าที่ตั้งชื่อเป็น SME, ICL, OTOP ฯลฯ
ช่วงสิบปีที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความหลายบทนำเสนอ “เมืองไทยใหม่เอี่ยม” ทั้งที่เกี่ยวโดยตรงและโดยอ้อมต่อเรื่องน้ำท่วม แต่ส่วนใหญ่จะเขียนเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะชาวชนบท
ที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมไทย โดยการจัดตั้งการอุตสาหกรรมขึ้นทุกตำบล เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง มีคนงานสัก 500 คน ไม่ใช่การหัตถกรรมย่อยหรืออุตสาหกรรมครัวเรือนแบบ ๑ต๑ผ (โอทอป) โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าก่อนส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ท้องถิ่นมีวัตถุดิบและมีความถนัด เช่น เฟอร์นิเจอร์ ทอผ้า หัตถกรรมอื่นๆ
การทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนอยู่ในท้องถิ่น ไม่ต้องทิ้งไร่นาและลูกเต้าไปอยู่ไกลในนิคมอุตสาหกรรมชายทะเล ทำให้ลดความผิดเพี้ยนของพฤติกรรมเยาวชนไทยในชนบท (ซึ่งขณะนี้น่าเป็นห่วงมากเพราะไม่มีพ่อแม่คอยดูแล)
อุตสาหกรรมนี้ให้ทำงานสองช่วง ช่วงละ 3 วัน ดังนั้นจะจ้างแรงงาน 1000 คน อีก 3 วันที่เหลือก็เอาไปพักผ่อน และทำการเกษตร ดังนั้นครอบครัวจะมีรายได้สองทางคือการเกษตรและค่าจ้างแรงงาน รายได้จากท้องถิ่นนี้จะไปสร้างงานภาคบริการอีก 3 เท่า เช่น ร้านอาหาร ร้านของชำ ร้านตัดผม ตัดเสื้อ ซ่อมมอไซค์ เป็นต้น ทำให้เงินสะพัดหล่อเลี้ยงท้องถิ่นหลายรอบ (ต้องมียุทธศาสตร์กันร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ต่างชาติด้วย ไม่งั้นดูดเงินออกนอกหมด)
ถ้าโครงการเมืองไทยใหม่เอี่ยมทำได้เพียงแค่นี้ ผมเชื่อว่าจะได้รับการกล่าวขานสรรเสริญไปอีกชั่วกาลนาน และจะเป็นเนื้อนาบุญสำคัญของประเทศไทย พร้อมกันนี้รัฐต้องเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติด้วย ต้องยืนด้วยตนเองเสียที ยิ่งส่งเสริมต่างชาติมากเท่าไรอุตสาหกรรมไทยยิ่งอ่อนแอ แถมยังมีปัจจัยลบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ
สำหรับทุนในการจัดตั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากภาครัฐ อีกส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุนในท้องถิ่นเอง รวมถึงการ “ลงทุนด้วยแรงงาน” ของประชาชน วิธีนี้จะทำให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงงาน จะทำงานด้วยความทุ่มเทในฐานะเจ้าของ เป็นการเอาข้อดีของระบบคอมมูนมาผสมกับระบบทุนนิยม
เรื่องอุตสาหกรรมท้องถิ่นนี้มันมาโยงกับเรื่องน้ำท่วมอย่างเหลือเชื่อ เพราะอุตสาหกรรมต้องการน้ำ การเกษตรในท้องถิ่นก็ต้องการน้ำ น้ำนี้จะมาจากการขุดคลองก้างปลาโยงใยแม่น้ำสายสำคัญทั้งประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อการผันน้ำซึ่งกันและกันยามน้ำหลากในสายใดสายหนึ่ง มีระบบเขื่อนเตี้ย 1-3 เมตรกั้นเป็นระยะตามชัยภูมิที่เหมาะสม เพื่อป้องกันน้ำท่วมและผันน้ำไปยังชัยภูมิที่เป็นแอ่งธรรมชาติ (อาจมีการขุดลอกเสริมบ้าง)
เชื่อได้ว่าแอ่งธรรมชาตินี้มีนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ ผมเองได้ประสบเห็นแอ่งเหล่านี้มากมายหลายหมู่บ้าน เพียงแต่มันมีน้ำธรรมชาติป้อนเข้าไม่เพียงพอ จึงแห้งขอดยามหน้าแล้ง แอ่งเหล่านี้จะเป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมเต็มทั่วประเทศในยามน้ำหลาก ส่วนในยามปกติก็เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุตสาหกรรมท้องถิ่นและการเกษตร
ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่อยากเสนอให้รัฐบาลนำไปพิจารณาครับ แต่วันนี้ขอเพียงเท่านี้ก่อน คงต้องต่อตอนสองนะครับ
ก่อนจบขอฝากเตือนรัฐบาลว่าโปรดอย่าคิดเอาเรื่องถมทะเลมาใช้แก้น้ำท่วมอีกนะครับ มันได้ไม่คุ้มเสียเอามากๆ (ซึ่งผมได้เขียนบทความวิเคราะห์ไว้แล้วเมื่อตอนรัฐบาลเข้ารับหน้าที่ใหม่ๆ….เตือนพรรคเพื่อไทย…เลิกปิดปากพระคงคาและปิดตาพระสมุทรhttp://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000096901
)
…คนถางทาง
ปล. บทความนี้ได้นำลง ผจก.ออนไลน์ ในวันที่ ๓ พย. ๕๔
Next : เตือนภัยหนาวหลังน้ำท่วม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เมืองไทยใหม่เอี่ยม (นิวไทยแลนด์)"