รัฐธรรมนูญที่มีรากวิญญาณแห่งวัฒนธรรมไทยเดิม
(เรื่องหนักๆ จิตอ่อนไม่ควรอ่าน)
โดยมากแล้วเรามองรธน.กันแต่ในแง่ของนิติศาสตร์ เช่นว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อะไรขัดต่อนี้ถือเป็นโมฆะ นี่มันก็นิติศาสตร์ล้วนๆ แข็งเกินไป และจะไม่ค่อยเสถียร (อะไรที่ยืนขาเดียวมักไม่เสถียรอยู่แล้ว)
อีกพวกบอกว่าต้องการให้ภาครัฐอ่อนลง ภาคประชาชนแข็งขึ้น นี่ก็มองในแง่รัฐศาสตร์ โดยจะใช้หลักนิติศาสตร์ของกฎหมายนั่นแหละมากำหนดให้อำนาจภาคประชาชนสูงขึ้น เสร็จแล้วรัฐกับประชาชนก็จะขัดแย้งกัน คานอำนาจกัน ทั้งที่รัฐนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือประชาชน และประชาชนนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือรัฐ (นายก สส. ปลัดกระทรวง ก็ต้องมีพ่อแม่ลูกเมียญาติมิตรเพื่อนฝูงลูกศิษย์อีกโข มิใช่หรือ)
แต่ขาที่สามที่เรามักมองข้ามกันไปเลย (รวมทั้งรธน.ของอารยประเทศอื่นที่เราไปลอกเขามา) ก็คือหลักธรรมศาสตร์ ซึ่งคือหลักความถูกต้องที่จะเชื่อมโยงนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ให้สังคมศาสตร์ดำรงอยู่ได้อย่างมีสุขที่สุด (หรือมีความทุกข์น้อยที่สุด)
เราจะต้องทำให้รธน. เป็นรธน. ที่มีวิญญาณ ไม่ใช่เพียงเศษกระดาษที่บัญญัติความด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไว้อย่างชาญฉลาดและรัดกุมเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ไม่มีทางจะขจัดความขัดแย้งอันมากมายหยุมหยิมได้หมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรังแกคนกลุ่มน้อย (แม้เพียงคนเดียว) โดยคนกลุ่มใหญ่ที่มีเสียงมากกว่าตามที่นิติศาสตร์บัญญัติ (ภาคประชาชน อาจรังแกรัฐก็ยังได้เลย ถ้ามันเข็งแรงเกินไป)
การพึ่งอำนาจศาลอย่างเดียว (ซึ่งดูเหมือนเป็นขาที่สาม และขณะนี้ก็มีหลายศาลจนจำไม่หวาดไหว) ความจริงแล้วก็ยังคือหลักนิติศาสตร์นั่นเอง ถึงเวลาที่รัฐธรรมนูญไทยของเราต้องยกระดับเพื่อชักนำสังคมให้เข้าสู่ความเป็น “นิติธรรมรัฐ” ให้ได้ ต้องสมดุลทั้งสามขา เช่น อาจมีมาตราว่า “ในกรณีเกิดการขัดแย้งใด ระหว่าง รัฐ ประชาชน กลุ่มประชาชน หรือ องค์กรอิสระใด หากคู่กรณีพร้อมใจกันไม่ประสงค์จะพึ่งการตัดสินแห่งศาล ก็อาจจัดให้มีกลุ่มนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ทรงความรู้และคุณธรรมจำนวนเหมาะสมที่เป็นที่เคารพนับถือของทุกฝ่ายร่วมไกล่เกลี่ยปัญหา”
ซึ่งนี่ก็คล้ายวิธีอนุญาโตตุลาการนั่นเอง เพียงแต่ว่าเป็นอนุญาโตโดยธรรม มิใช่โดยผลประโยชน์เชิงธุรกิจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วมาประนีประนอมผลประโยชน์กันแบบพบกันครึ่งทาง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นศาลนอกระบบที่ไม่จำเป็นต้องยึดกฎหมายเป็นหลักเสมอไป แต่ยืดหยุ่นได้มากตามสภาพการณ์แห่ง “ธรรม”
หลักนี้ยังมีรากวัฒนธรรมไทยเดิมเราอีกด้วย มีอะไรก็ไม่ต้องขึ้นโรงศาล ผู้หลักผู้ใหญ่ประนีประนอมให้ แล้วเลิกแล้วกันไป ไม่ถือโกรธ จึงถือเป็นรธน. แบบภูมิปัญญาไทยอีกรูปแบบหนึ่ง
——–โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์ พศ. ๒๕๔๙
« « Prev : ยี่ห้อไทย..บอกอะไรได้หลายอย่าง
Next : ข้อกวนคิดสะกิดรัฐธรรมนูญไทย » »
ความคิดเห็นสำหรับ "รัฐธรรมนูญที่มีรากวิญญาณแห่งวัฒนธรรมไทยเดิม"