แนวคิดการทำนาแบบหยอดหล่นเพื่อเหนื่อยน้อยลงแต่ได้ผลดีขึ้น
แนวคิดการทำนาแบบหยอดหล่นเพื่อเหนื่อยน้อยลงแต่ได้ผลดีขึ้น
การดำนาเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยยากมาก (หลังสู้ฟ้า) ผมจึงได้คิดวิธีทดแทน วิธีใหม่นี้เราจะเตรียมก้อนดินปลูกที่คลุกกับเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ โดยคำนวณให้ได้ก้อนละ 3 เมล็ด เมื่อคลุกดินกับเมล็ดข้าวเข้ากันดีแล้ว (ใส่น้ำให้แฉะด้วย) ก็ให้เอามาปาดลงบนเบ้าไม้กระดานที่เจาะรู้ไว้เป็นหลุมๆ มากมาย (คล้ายเบ้าทำน้ำตาลก้อน) ซึ่งหลุมนี้ก็คือก้อนดินที่ต้องคำนวณให้ได้ก้อนละสามเมล็ดข้าวนั้นเอง หนึ่งแผ่นกระดานอาจมีสัก 200 หลุม หลุมควรทำเป็นทรงกระบอก ลึกสัก 1.5 ซม. ผศ. ประมาณ 1.5 ซม.
จากนั้นเคาะเบ้าให้เมล็ดหล่นไปวางไว้บนไม้กระดาน บางๆ โดยเรียงก้อนดินเป็นแถวตอนเรียง 6 จะมีสักกี่แถวก็ได้ แต่ไม้กระดานไม่ควรยาวเกิน 50 ซม. เอาไม้กระดานซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ จากนั้นหมักก้อนดินทิ้งไว้ 1 หรือ 2 คืน พอให้รากข้าวงอกเป็นตุ่ม
ต่อไปก็เอาไปหยอดในนาที่เตรียมเทือกไว้แล้ว (เทือกคือพื้นนาแฉะที่ปาดเรียบเพื่อรอการหว่าน) วิธีหยอดคือ เอาแผ่นไม้ที่เรียงเม็ดดินไว้มาวางบนแคร่ที่ห้อยคอไว้ (แบบพวกขายลอตเตอรี) วางให้มากที่สุดเท่าที่รับน้ำหนักได้ ถ้าจะวางบนรถเข็นติดสกีก็ยังได้ จากนั้นเอาไม้หยอดมาพาดตามขวาง ไม้หยอดนี้ไม่ใช่อะไร เป็นเพียงไม้ระแนงเรียวๆ ยาวประมาณ 130 ซม. มีเชือกสีผูกห้อยไว้เป็นที่หมายตา โดยผูกเป็นระยะห่าง 25 ซม. ให้มีการผูก 6 จุด ควรมีไม้หยอดนี้สัก 3 ไม้ วางขนานกัน ห่างกัน 25 ซม.
การหยอดให้เดินหยอด โดยหยอดเม็ดดินลงไปตรงที่ผูกเชือกสีไว้ เม็ดดิน 6 เม็ดที่เรียงไว้บนกระดานก็หยอดได้ 6 หลุมพอดี เมื่อมีไม้หยอด 3 ไม้ ครั้งหนึ่งก็หยอดได้ 18 หลุม โดยหยิบก้อนดินด้วยมือทั้งสองข้าง หยอดทีสองเม็ดพร้อมกัน ข้างซ้ายข้างขวา ใครฝึกชำนาญแล้วอาจกำเม็ดดินมือละ 3 เม็ด ก็สามารถหยอด 6 เม็ดได้อย่างรวดเร็วมาก จากนั้นก็เดินไปข้างหน้า 75 ซม. หยอดอีก 18 เม็ด ทำเช่นนี้ไปเรื่อยไปจนหมด การเดินนี้ควรมีเชือกขึงที่ผูกระยะ 75 ซม เป็นเครื่องหมายด้วย จะได้แนวข้าวที่ตรง ใครแขนยาวอาจหยอดไม้ละ 8 หลุมก็ได้นะ แต่แขนต้องยาว 175 ซม.
ข้อดีของวิธีนี้คือ
- 1) สะดวก รวดเร็ว ราคาถูก และไม่เหนื่อยยากมากนัก (ไม่ต้องก้มหน้าดำนา)
- 2) เม็ดข้าวจะตกจมลงไปลึกประมาณ 1 ซม. จากผิวดิน (จากแรงกระแทกหล่นของเม็ดดิน) ทำให้รากข้าวงอกได้กำลังดี มีรากแข็งแรง (ไม่ตื้นเกินไปแบบนาหว่าน) อีกทั้งรากไม่ต้องถูกกระทบกระเทือนจากการถอนและปักดำ แม้การปูกกล้าแบบต้นเดี่ยวที่เรากำลังไปลอกมาจาก Madagasgar ก็ยังมีการถอน ทำให้กระเทือนราก เมื่อรากแข็งแรง ต้นข้าวก็แข็งแรง ทำให้ทนทานต่อโรคพืชสูงกว่าปกติ
- 3) ถ้าเราเตรียมดินเม็ดด้วยปุ๋ยที่เข้มข้นด้วย ปุ๋ยจะไม่กระจายไปที่อื่น อยู่ที่บริเวณรากข้าวเท่านั้น ทำให้รากงอกได้ดีและแข็งแรงยิ่งขึ้น
- 4) น่าจะลดเวลาปลูกข้าวลงได้ เพราะข้าวไม่ต้องเสียเวลาตั้งต้นใหม่จากการบอบช้ำจากการปักดำ
- 5) รากข้าวจมลึกสม่ำเสมอเท่ากันหมดทุกต้น (สามารถวิจัยว่าจะหยอดสูงเท่าไรจึงจะดีที่สุด) ส่วนการดำนาบางทีดำลึก บางทีดำตื้น
ถ้าเราคำนวณให้มี 3 เมล็ดข้าว ใน 1 เม็ดดิน และถ้าอัตราการงอกเป็น 80% เราจะได้การงอกดังนี้ คือ ข้าวงอก 3 ต้น 51.2%, ข้าวงอก 2 ต้น 38.4%, ข้าวงอกต้นเดียว 9.6% และข้าวไม่งอกเลย 0.8% ซึ่งถือว่ายอมรับได้ เพราะข้าวต้นเดียวนั้นอาจแตกกอได้ดีจนมีผลผลิตเท่าเทียมกับ 2 ต้น และ 3 ต้นในที่สุด ส่วนข้าวไม่งอกมีน้อยมาก
และอย่าลืมการทำนาชีวภาพ 100% (ไม่ใช้แม้สารชีวภาพ เช่น สะเดา) ด้วยการเลี้ยงกบ เขียดในนา กบกินแมลงใหญ่ เขียดตัวน้อยๆ กินแมลงเล็ก รวมทั้งเพลี้ยต่างๆ ไม่เหลือหรอ หรือ เหลือเล็กน้อย แต่ยอมรับได้ มูลกบเขียดเป็นปุ๋ยให้นาโดยธรรมชาติ (กลายเป็นว่าแมลงเป็นมิตรของพืช ไม่ใช่ศัตรูพืชอีกต่อไป)
น้ำในนาก็ใช้เลี้ยงปลาได้หลายสกุล (เลือกกบชนิดที่ไม่กินปลา) สำหรับหอยปูอาจเลี้ยงปลาไหลให้ช่วยกำจัด (หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินหอยปู) อีกทั้งน้ำในนายังอาจสามารถปลูกพืชคลุมน้ำได้อีก ซึ่งถ้าวิจัยให้ดีอาจพบพันธุ์ที่ช่วยเสริมให้ข้าวโตเร็วขึ้นและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะช่วยตรึงสารลงในดิน (เช่น อาจเป็นผักบุ้ง สันตะวา กระจอง ผักกุ่ม ผักหนาม สาหร่าย ผำ บัดเขียด ผักแว่น ผักใบพาย ก็เป็นได้ …บรรดาพืชน้ำทั้งหลาย) อีกทั้งผักพวกนี้ยังอาจช่วยสร้างไรน้ำให้ปลาได้กินอีกด้วย
การขจัดวัชพืชในนานั้น ควรวิจัยหาพันธ์สัตว์ที่กินหญ้าทุกชนิด ยกเว้นต้นข้าว พองอกออกมาเป็นต้นอ่อนก็กินหมด อาจเป็นปลาบางสายพันธุ์ หรือ เต่าตัวเล็ก ก็เป็นได้
ถ้าทำนาแบบนี้อาจจะได้ผลผลิตสูง ราคาดี (เพราะชีวภาพ) ต้นทุนต่ำ ทั้งคนปลูกคนกินมีสุขภาพดี ยังขายปลา ขายกบ ได้อีก กำไรสุทธิน่าจะสูงกว่าทำนาแบบเดิมๆ 3 เท่าได้ แถมเหนื่อยน้อยกว่าอีก 2 เท่า
ช่วยกันบอกต่อ หรือ เอาไปทดลอง หรือ เอาไปคิดต่อให้ดียิ่งขึ้นนะครับ เพื่ออนาคตที่ดีของชาวนาไทย
ส่วนการใช้มดขจัดเมล็ดวัชพืชก่อนทำนานั้น ผมเชื่อว่าทำได้แน่นอน แต่ต้องการการวิจัยสักหน่อย นักวิจัยท่านใดทำออกมาได้ ก็จะมีชื่อเสียงมาก (อาจถึงกับได้รางวัลโนเบล) และเป็นประโยชน์ต่อชาวนาทั่วโลกเป็นอย่างมาก
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๖ ธค. ๕๓)
« « Prev : นางสาวไทยที่ผิวคล้ำและตัวเตี้ย
Next : การทำนาแบบปลูกสลับฟันปลา เพื่อลดการบังแดดและเพิ่มระยะห่าง » »
3 ความคิดเห็น
อ่านซ้ำไปมาหลายครั้งเลยค่ะอาจารย์ เพื่อนึกภาพให้ออก ฟังดูแล้วต้องดีกว่าปักดำแน่ๆเลย แต่การจะเอาไปสอนคนอื่น ยังไม่มั่นใจเลยค่ะ เพราะแค่การปลูกปกติเราเองก็ยังไม่เคยทำเลย ต้องหาแนวร่วมที่เขาเคยปลูกข้าว อย่างตาออตมาร่วมกันทดลองทำ คงดีเหมือนกัน ได้เคยมีคนทดลองทำบ้างหรือยังคะ
พอดีที่ดินแบ่งออกเป็นสองแปลงเล็กๆ จะทดลองทำดูสักแปลงในปีนี้ เปรียบเทียบกับการดำแบบดั้งเดิม แล้วจะรายงานให้อาจารย์ทราบทุกระยะ ในลานปัญญาค่ะ
[...] http://lanpanya.com/withwit/archives/32 แนวคิดการทำนาแบบหยอดหล่น ( แกอ่านแล้วเห็นภาพ เพราะแกเป็นช่างอยู่แล้ว แกว่าทำวิธีนี้ ต้นข้าวจะเรียงกันสวยงามและผลผลิตน่าจะดีกว่าแบบโยนด้วยซ้ำ) [...]