จัดการความไม่กล้าด้วยสีดำ
เด็กไทยสมัยนี้กล้าขึ้น กล้าพูด การคิด กล้าแสดงออก กล้าทำ กล้าคิดโดยเฉพาะในเรื่องดีดี ปรากฎการณ์แบบนี้ครูออตเห็นว่าเป็นเรื่องดี เรื่องที่น่าส่งเสริมเพราะจะกล้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องกล้าในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้สังคมเราเดินทางไปสู่สังคมอุดมฮัก
แล้วเด็กที่ไม่กล้าล่ะ ควรทำอย่างไรดี? เรื่องนี้เห็นทีนักการศึกษาต้องช่วยกันขบคิดว่าเราจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะคอยกระตุ้นให้เรากล้าแสดงออกในความคิด ความรู้สึกของตนเอง ครูออตในฐานะที่อยู่กับศิลปะก็เห็นว่า ศิลปะน่าจะเป็นทางสายหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น
เด็กที่ขาดกลัว ไม่ว่าจะกลัวสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาจะถูกหรือผิด คิดกังวล คิดสับสนในความคิดของตนเอง มักแสดงออกผ่านเส้นที่ขาด ๆ กระท่อนกระแท่น ไม่สม่ำเสมอหรือขีดกลับไปกลับมา พฤติกรรมแบบนี้พบเห็นได้ในชั่วโมงศิลปะ และนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเปลี่ยนแปลงให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองรู้สึก
ในห้องเรียนวันนี้มีพี่น้องมาเรียนด้วยกัน 2 ครอบครัว คนพี่กล้าขีดกล้าเขียน แต่คนน้องจ้องมองพี่ตลอดเวลาว่าพี่จะเขียนอะไร ดังนั้นจึงเห็นสิ่งที่คนน้องเขียนนั้นถูกลบแล้วเขียน ลบแล้วเขียนอยู่ตลอดเวลา วันนี้ครูออตจึงเปลี่ยนการวาดรูปในวิชาศิลปะนี้ใหม่โดยเปลี่ยนจากการวาดรูปธรรมดาที่คุ้นเคยเป็นการวาดภาพหมึกแบบศิลปินจีน
การเขียนภาพหมึกจีนนั้น ศิลปินจะเฝ้ามองธรรมชาติอย่างเข้าใจ ช่างสังเกตและจับอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ดังนั้นการรับรู้ความรู้สึกผ่านสายตาจึงสำคัญเมื่อนำมารวมกับอารมณ์ ที่จะคอยกระตุ้นสมองให้สั่งการข้อมือในการวาดภาพจึงได้ภาพที่เฉียบคม ฉลับพลัน ทันที นิ่ง งดงามและเรียบง่าย การวาดรูปแบบนี้ช่วยให้คนวาดมั่นใจในการวาดมากขึ้น การวาดในครั้งแรก ๆ อาจจะยากแต่เมื่อฝึกฝน ศิลปินก็จะมั่นใจในตัวเองขึ้น
ชั่วโมงศิลปะคราวนี้ครูออตก็ไม่ปล่อยให้ความไม่กล้าอยู่กับเด็ก ๆ นานไป จึงลวงเด็ก ๆ ให้ออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมหันออกมามองสวนสวยข้าง ๆ ห้องเรียน ให้เด็กเฝ้ามองต้นไม้ ใบไม้ที่ตนเองพบ ทั้งที่อยู่บนต้น ใบที่ร่วงลงดิน และใบที่อยู่บนดิน และวาดภาพเหล่านั้นด้วยสีหมึก เมื่ออธิบายกิจกรรมแล้ว ช่วงเวลานี้จึงปล่อยให้เด็ก ๆ บรรเลงเพลงศิลปะเพียงลำพัง เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการทำงาน(ขออนุญาตไปจิบกาแฟก่อนนะครับ)
ผ่านไปไม่กี่สิบนาที ครูออตกลับมาแอบดูนักเรียนแต่ละคนทำงาน ซึ่งมองไปอีกฟากเห็นกระดาษที่ถูกวาดสีหมึกลงไป ตากเต็มพื้น และหากดูเรียงลำดับไปทีละชิ้นเราจะพบว่า เส้นของการวาดของเด็ก ๆ มั่นคงและสม่ำเสมอขึ้น และภาพวาดเหล่านั้นช่างเดียงสาไม่ต่างจากศิลปินพู่กันจีนเอาเสียเลย
เมื่อได้ผลงานเป็นที่พอใจและเยอะขนาดนี้ ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เอาผลงานของตนเองไปติดที่ผนัง เพื่อโชว์ผลงานให้ทุกคนได้ชม ได้รู้ว่าพวกเรากล้ามากขึ้น กล้าตัดสินใจ กล้าขีดเขียน แล้ววันหนึ่งความมั่นใจของเด็ก ๆ คงจะเพิ่มขึ้นเหมือนกิจกรรมการวาดสีหมึกในวันนี้
เจอกันกิจกรมครั้งต่อไป
โอย น้องออตที่รัก พี่อยากได้คุณครูแบบนี้มากๆ ทำยังไงถึงจะมีทั่วไทยได้น้อ แง่ม
ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — กันยายน 24, 2011 @ 18:50
สวยงามมากครับ สวยงามในสาระนะครับ
ความคิดเห็น โดย bangsai — กันยายน 24, 2011 @ 20:01
บันทึกครูออตมีความหมายต่อการพัฒนาการการสอนมาก แอบเอาไปอวดคณะครูที่เสาะแสวงหาอยู่เสมอ แต่ก็เข้าใจได้ว่า มันทำไม่ได้ง่ายๆ แม้แต่จะคิดตามก็ยังยาก เพราะเงื่อนไขในตัวเองของโครงสร้างการศึกษา ที่สั่งอย่าง แต่ให้ทำอย่าง ข้อด้อยของบทความครูออตมีอย่างเดียว
เขียนช้ามาก กว่าจะออกมาแต่ละบทแต่ละตอน น้ำแข็งก็ละลายไปหมดแล้ว ยกขึ้นดูดมันก็จืด บ่เป็นสับปะรด ลองนึกดูว่ทสั่งโอเลี้ยงมาแล้ว แล้ววางไว้ข้ามชั่วโมง อย่างไรก็อย่างนั้น
อยากจะให้มีเวลาเขียนถี่กว่านี้ ไฟแห่งการกระพือโหมเพื่อต่อยอดจะลุกโพลงได้กว่านี้ อิ
ความคิดเห็น โดย sutthinun — กันยายน 24, 2011 @ 21:41
ทำศิลปบำบัดไปในตัว เก่งจริง
ความคิดเห็น โดย maeyai — กันยายน 25, 2011 @ 7:07
น่าสนใจจริงๆ. (แอบเห็นสวนสวยด้วยล่ะค่า)
ความคิดเห็น โดย dd_l — กันยายน 27, 2011 @ 21:55