อุโบสถศีล-ศีล ๘
อ่าน: 2224วันนี้เป็นวันพระ ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งไปถือศีล ๘ อยู่ที่วัด เป็นครั้งแรกที่ถือศีล ๘ ในชีวิต
ทุกวันนี้สมาทานศีล ๕ ไว้ และปฏิบัติรักษามานานพอสมควรแล้ว ตอนไปอยู่วัด พระอาจารย์ให้สมาทานศีล ๘ เพิ่ม พอออกมาก็สมาทานศีล ๕ ต่อ วันนี้ได้โอกาสก็เลยอยากจะทบทวนว่าศีล ๘ หรืออุโบสถศีลประกอบไปด้วยอะไรเพิ่มเติมมาจากเดิมบ้าง ก็เลยมาเขียนบันทึกไว้
ศีล ๕ อย่างที่ทราบกันอยู่ประกอบไปด้วย
- ไม่ฆ่าสัตว์
- ไม่ลักขโมย
- ไม่ผิดลูกเมียผู้อื่น (ถ้าเป็น ศีล ๘ จะเปลี่ยนเป็นรักษาพรหมจรรย์)
- ไม่พูดปด
- ไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา
สำหรับอีก ๓ ข้อที่เพิ่มขึ้นมาคือ
- ไม่รับประทานอาหารยามวิกาล (หลังเที่ยง)
- ไม่พูด ฟัง ขับร้อง ดนตรี เครื่องบันเทิงต่างๆ ห้ามแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับและของหอมต่างๆ
- ไม่นอนบนที่นอนสูง นุ่ม ใหญ่ สวยงาม
สำหรับเนื้อความในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับศีล ๘ สามารถดูได้ที่นี่
สำหรับคำสมาทานศีล ๘ สามารถดูได้ที่นี่
หลังจากถือศีล ๕ มานาน ก็พอจะเข้าใจประโยชน์ของการถือศีล ๕ ซึ่งเป็นข้อพื้นฐานที่ดีในการดำรงชีวิตที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถือปฏิบัติแล้วเป็นมงคลแก่ตนเอง พอไปที่วัดรักษาศีล ๘ อยู่ ๓ ๔ วัน ก็พยายามทำความเข้าใจว่าการถือศีล ๘ หรือที่ถือปฏิบัติเพิ่มอีก ๓ ข้อนั้นมีเพื่อวัตถุประสงค์ใด
ก่อนไปอยู่ที่วัดก็รู้สึกอย่างหนึ่ง พอไปอยู่แล้ว รักษาศีล ๘ แล้ว ก็ได้ความเข้าใจเพิ่มเติม
- การกินมากจนเกินไปนั้นไม่เกิดประโยชน์ รังแต่จะให้โทษแก่ร่างกายเสียด้วยซ้ำ การกินตามใจปาก ก็เป็นการพ่ายต่อแรงกระตุ้นของร่างกายเพียงเล็กน้อย ดังนั้นการโอกาสที่จะพ่ายต่อกิเลส สิ่งเร้าอื่นๆ ภายนอกก็เป็นไปได้มากขึ้น การไม่กินหลังเที่ยงก็เป็นการฝึกขันติเพิ่มเติมอีกด้วย
- สำหรับการพูด ฟัง ขับร้อง บันเทิงต่างๆ นั้น ก็ชัดเจนว่า การพูดมากไป ฟังมากไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น และมักเป็นกิเลสเพ้อฝัน เป็นสุขชั่วคราวนั้น ไม่เกิดประโยชน์ถาวร เมื่อสุขหมดไป ทุกข์อาจจจะเกิดขึ้นแทนก็ได้ เปรียบไปบันเทิงก็เหมือนกับการกินยาเพื่อบดบังอาการปวดหัวที่ยังเป็นอยู่ ยิ่งเรื่องการพูดคุยมากจนเกินไปแล้ว มักจะเป็นการพูดเพ้อเจ้อเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโอกาสให้เกิดการพูดปดแบบไม่ได้ตั้งใจได้ง่ายๆ ด้วย
- สำหรับเรื่องการแต่งกายด้วยเครื่องประดับหรือของหอมนั่นก็ชัดเจนว่าเป็นการปรุงแต่ง การลดการปรุงแต่งและเข้าถึงเนื้อแท้ของกายของเรา ได้เห็นอสุภะที่แท้จริง ก็เป็นการทำความเข้าใจสัจธรรมและไตรลักษณ์ของตัวเองด้วยเช่นกัน
- เรื่องการไม่นอนบนที่นอนใหญ่โต นุ่มหนา ก็เป็นการให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติของร่างกายกับพื้นดินแข็งๆ อีกแบบหนึ่ง ตัวเองได้ประสบการณ์เกี่ยวกับกายภาพของร่างกายมากขึ้นมาก เมื่อได้นอนบนพื้นแข็ง มีทั้งสบายและไม่สบายไปพร้อมๆ กัน รู้สึกถึงกระดูกชิ้นใหญ่ในร่างกาย ทำให้เห็นว่าเราสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมาปกปิดธรรมชาติที่แท้จริง(ที่เราหนีไม่พ้น)ไว้มากมาย
การรักษาศีล ๘ ในครั้งนั้น ทำให้เข้าใจเรื่องยาแก้ปวดกับอาการปวดหัวขึ้นมามากทีเดียว ยาแก้ปวดเพียงแต่ปกปิดอาการ แต่ไม่ได้แก้อาการที่สาเหตุ การเข้าใจธรรมชาติของตนเอง การรักษาศีลเป็นยารักษาที่ต้นเหตุที่ดีที่สุด
Next : ขั้นที่ ๔ » »
4 ความคิดเห็น
ปวดหัวอีกแล้ว เป็นห่วงจังว่าจะรักษาอาการปวดหัวผิดวิธี อิอิ
อิอิ คุณหมอ..กำลังคิดไปไกลแล้วนะคะเนี่ยว่าคุณหมอจะรักษาอาการปวดหัวยังไง ^ ^
ตัวเองชอบวิเคราะห์หาเหตุผล ของสิ่งต่างๆ ค่ะ เป็น occupational hazard ที่ดี พอหายสงสัย เข้าใจ ก็ปฏิบัติได้อย่างมั่นใจค่ะ ^ ^
ใช่เลยค่ะ…
การกินมากจนเกินไปนั้นไม่เกิดประโยชน์ รังแต่จะให้โทษแก่ร่างกายเสียด้วย
กำลังเขียนเรื่องนี้พอดีเลย อิๆๆๆ http://lanpanya.com/deli/?p=12
สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์
แวะตามไปอ่านบันทึกมาแล้วค่ะ มีประโยชน์มากเลย
พระพุทธองค์ท่านรู้จริงตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วนะคะ ว่ากินมากไปไม่ดี เพิ่มกิเลส ถึงได้สอนให้ไม่ทานหลังยามวิกาล ได้ทั้งนิสัยที่ดี และสุขภาพที่ดีด้วยค่ะ ^ ^