ปรับน้ำตาลให้เป็นกัลยาณมิตร

โดย สาวตา เมื่อ 6 กันยายน 2008 เวลา 17:07 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิต สุขภาพ, อาหารกับสุขภาพ #
อ่าน: 3112

 กล่าวถึงน้ำตาลแล้ว คนเป็นเบาหวานจะรังเกียจมันมากอยู่ ฉันขอบอกให้รู้ว่า อย่าไปรังเกียจมันเลย ขอให้รู้จักกันแบบเป็นกัลยาณมิตรต่อกันกับตัวของท่านอยู่เสมอ อันว่ากัลยาณมิตรนั้นจะเข้ามาช่วยเหลือกันเมื่อรู้ว่าเราต้องการหรือเราเรียก เราร้องขอความช่วยเหลือใช่ไหม แล้วก็ในบางเวลากัลยาณมิตรก็หยิบยื่นน้ำใจมาให้เองโดยที่เราเองก็มีทั้งเต็มใจรับและไม่เต็มใจด้วยใช่ไหม ดังนั้นตัวของท่านจึงควรรู้จักการบริหารความเป็นกัลยาณมิตรที่ถูกมอบออกมาให้กัน ไม่ใช่บริหารความรังเกียจกันค่ะ  การบริหารที่ว่าก็คือ การรู้จักวางระยะห่างของความเกี่ยวข้องระหว่างกันในแต่ละสถานการณ์ให้พอเหมาะพอดีค่ะ  เวลากินอาหาร ให้เลือกที่จะใกล้ชิดบ่อยๆกับน้ำตาลที่เป็นกัลยาณมิตรเถอะท่าน แล้วสุขภาพของท่านไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือยังไม่เป็นอะไรจะได้ปลอดภัยมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่กันค่ะ  น้ำตาลที่เป็นกัลยาณมิตรกับสุขภาพนั้น คือ น้ำตาลที่ใช้ยากทั้งหลาย อันมีอยู่ในข้าวกล้องและธัญพืชค่ะ  ส่วนเรื่องของระยะห่างที่จะอยู่ในความพอเหมาะ ที่จะทำให้เกิดความพอดีก็คือ จำนวนที่กินมันเข้าไปค่ะ 

เขื่อน บริหารความเป็นกัลยาณมิตรได้ดี ก็จะมีความสุขเช่นนี้ค่ะ

การที่จะรู้ว่ากินมันเข้าไปมากน้อย พอเหมาะพอดีหรือไม่ ก็ต้องกลับไปที่ได้เปรียบเทียบน้ำในเขื่อนไว้แล้วค่ะ  เขื่อนมีกลไกในการปรับระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่จะกักเก็บไว้ได้โดยไม่เกิดเขื่อนพังด้วยกลไกของประตูระบายน้ำออกจากเขื่อน ในร่างกายคนนั้นก็มีกลไกนี้เช่นกัน กลไกที่ว่านั้น คือ การแปลงร่างน้ำตาลหรือถ่านกลูโคสให้เป็นพลังงานความร้อนแล้วระบายออกไปด้วยกลไกต่างๆ  กลไกการระบายพลังงานความร้อนออกไปจากร่างกายที่ดีก็คือ การขยับร่างกายเคลื่อนย้ายแขน ขา และเคลื่อนย้ายร่างกายถี่ๆบ่อยๆไม่อยู่นิ่งเฉยกับที่ค่ะ  การมีกิจกรรมอย่างนี้บ่อยครั้งและมากครั้งในแต่ละวัน คือ การเปิดประตูเขื่อนเพื่อระบายน้ำตาลออกทิ้งไปจากร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องของเขื่อนพัง หรือน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนเสียหายค่ะ  

ประตูเขื่อนเขื่อนมีกลไกไว้ปรับระดับน้ำไว้ใช้งานได้สมประโยชน์และเขื่อนไม่พัง

การที่จะรู้ว่า ที่ท่านได้บริหารความเป็นกัลยาณมิตรทุกวันๆจะเกิดความพอเหมาะพอดีแล้วหรือไม่นั้น ท่านใช้การวัดเอวงาม หุ่นงาม เนื้อทอง ประเมินตัวเองได้ค่ะ  เอวที่งามขึ้น หุ่นที่งามขึ้น และบริเวณเนื้อทองที่มีอยู่ตามร่างกายที่เพิ่มขึ้น นั้นคือ ผลลัพธ์ของการบริหารความเป็นกัลยาณมิตรของน้ำตาลถ่านกลูโคสค่ะ 

การกะวางระยะห่างของความเกี่ยวข้องกันนั้น ให้ยึดหลักดูกลไกของการระบายเขื่อนค่ะ ถ้าหากท่านเปิดประตูเขื่อนบ่อยๆ คือ กิจกรรมในแต่ละวัน แขนขาร่างกายท่านไม่ได้นิ่งอยู่กับที่เลย  ท่านก็ใกล้ชิดมันได้มากขึ้นค่ะ  ถ้าท่านไม่ใคร่ได้เปิดประตูเขื่อนเลยในแต่ละวัน ท่านก็ควรที่จะอยู่ห่างจากมันและเกี่ยวข้องกับมันในจำนวนที่ธงโภชนาการแนะนำไว้ค่ะ

เขื่อน กลไกประตูเขื่อนทำงานตลอดเวลาเพื่อป้องกันเขื่อนพัง

เพื่อจะตั้งกลไกเปิดประตูเขื่อนให้พอเหมาะพอดี จึงควรมีวิธีรู้ว่าน้ำไหลลงเขื่อนมากน้อย เร็วช้าอย่างไร  หากจะเปรียบเทียบกับการได้น้ำตาลถ่านกลูโคสจากการกินอาหารกับการเติมน้ำลงในเขื่อนที่ทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากน้อย ให้ดูที่การเลือกกินชนิดของน้ำตาลค่ะ ถ้าท่านกินน้ำตาลที่ใช้ง่ายเข้าไปเป็นจำนวน 1 กรัมในเวลา 1 วินาที ถ่านกลูโคสในร่างกายที่ได้จะให้ผลเหมือนการที่น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การปรับกลไกประตูเขื่อนก็ต้องเปิดประตูให้ถี่ๆ และปล่อยน้ำได้มาก น้ำจึงจะไม่ท่วมเขื่อน

ส่วนการกินน้ำตาลที่ใช้ยากจำนวน 1 กรัมในเวลา 1 วินาทีเช่นกัน จะให้ผลเหมือนน้ำในเขื่อนค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ การปรับกลไกประตูเขื่อนจึงไม่จำเป็นต้องเปิดประตูถี่ๆ เพราะโอกาสน้ำท่วมเขื่อนต้องใช้เวลานานกว่าค่ะ  แต่น้ำก็ยังมีโอกาสท่วมเขื่อนได้ หากจะไม่ปรับเวลาให้บ่อยขึ้น จึงยังคงต้องตั้งกลไกเปิดประตูเขื่อนให้ปล่อยน้ำให้ได้มากพอค่ะ

เคล็ดลับในการบริหารน้ำตาลให้เป็นกัลยาณมิตรที่จะบอกก็คือ ท่านต้องทำความรู้จักน้ำตาลซะก่อน ว่าอะไรคือ น้ำตาลใช้ง่าย-ใช้ยาก และทำความรู้จักรูปโฉมของมันทุกรูปโฉมเพราะมันแปลงร่างมาในรูปอะไรได้หลายอย่างค่ะ   

รู้จักมันแล้วก็ให้มารวบรวมว่า ท่านรับน้ำตาลประเภทใดเข้ามาเป็นกัลยาณมิตรของท่านบ้างแล้ว  แล้วก็ประเมินตัวท่านเองว่า กลไกในการเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนที่ท่านกำกับอยู่นั้นมันมีความถี่ และความสามารถในการปล่อยน้ำได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละครั้งค่ะรู้ตัวเองแล้วท่านจึงไปบริหารจำนวนที่ท่านจะรับเขาเข้ามาเป็นกัลยาณมิตรกับท่านแบบกะๆค่ะ กะอย่างไรได้ก็ให้กะด้วยการคำนวณ น้ำตาลที่ได้จากทุกหมวดอาหาร แล้วก็ไปเทียบกับหลักที่ธงได้ให้ไว้ ซึ่งได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้วค่ะ 

แหล่งน้ำตาล  แหล่งน้ำตาลในรูปแบบต่างๆ

จากหมวดข้าว แป้งนั้น ธงให้กะกินตามกิจกรรมการใช้งานประจำวันดังนี้ค่ะ

ปริมาณตามค่าช่วงล่างสุดของทุกหมวด  เป็นปริมาณสำหรับเด็กประถมที่อายุไม่เกิน 13 ปี  ผู้หญิงที่ทำงานไม่ใช้แรงงานอายุ 25 ปีขึ้นไป และ ผู้สูงอายุทั้ง 2 เพศใช้ยังชีพในแต่ละวัน หมวดข้าว แป้ง ของกลุ่มนี้ จึงให้กิน 8 ทัพพีต่อวัน

ปริมาณตามค่าช่วงบนสุดของทุกหมวด เป็นปริมาณสำหรับเกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและนักกีฬาใช้ยังชีพในแต่ละวัน หมวดข้าว แป้งของกลุ่มนี้ จึงให้กิน 12 ทัพพีต่อวัน

ปริมาณระหว่างค่าบนกับค่าล่างของทุกหมวด เป็นปริมาณสำหรับผู้มีอายุ 14 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่ใน 2 กลุ่มแรก และผู้ชายที่ทำงานไม่ใช้แรงงานใช้ยังชีพในแต่ละวัน หมวด ข้าว แป้งของกลุ่มนี้ จึงให้กิน 10 ทัพพีต่อวัน

ส่วนจากหมวดผลไม้  ธงให้กะกินในราวๆ 3-5 ส่วน ซึ่งเทียบได้กับจำนวน 1.5 - 3 กำมือก็พอแล้ว  ส่วนจากหมวดน้ำตาลให้กินไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน

แหล่งน้ำตาลใช้ง่าย ใช้ยาก ที่พอจะเรียงตามลำดับไว้ได้ ดังนี้ค่ะ   น้ำตาลทราย  น้ำผึ้ง  น้ำตาลจากผลไม้ทุกรูปแบบ  ข้าวขาว   แหล่งให้แป้งจากพืชหัว  ธัญพืช  ข้าวกล้อง 

ก่อนที่จะจบบันทึกนี้ลงไป ก็ขอยกเอาคำถามของคุณหมอกำพลในหนังสือที่น้องสาวตัวน่อยๆ จากเชียงรายฝากมาให้มาเสริมไว้ที่นี่ในแง่มุมของการกินน้ำตาลค่ะ

ปุจฉา   :  จะกินเพื่ออะไร     วิสัชนา :  กินเพื่อให้ได้ถ่านกลูโคสเพื่อนำไปใช้สันดาปเป็นพลังงานความร้อนให้ยังชีพปกติได้

ปุจฉา  :   จะกินอะไร          วิสัชนา :  กินอาหารที่เป็นแหล่งให้ถ่านกลูโคสได้

ปุจฉา  :   จะกินอย่างไร      วิสัชนา :  กินโดยดูให้พอเหมาะกับการใช้งาน  ถ้าจำเป็นต้องใช้เร็วเพื่อช่วยชีวิตให้รอดปลอดภัย ให้กิน

                                                  น้ำตาลที่ใช้ง่าย ใช้ได้ทันทีหลังกิน  กินน้ำตาลที่ใช้ยาก ให้บ่อยกว่าน้ำตาลที่ใช้ง่าย 

« « Prev : คำนวณน้ำตาลยังไง

Next : ขอชวนมารู้จักคำว่า “ดัชนีน้ำตาล” ค่ะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ปรับน้ำตาลให้เป็นกัลยาณมิตร"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.29994106292725 sec
Sidebar: 0.45878791809082 sec