นักกฎหมายอย่างผม๑

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 14 ตุลาคม 2009 เวลา 23:16 ในหมวดหมู่ นักกฎหมายอย่างผม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3316

ก่อนผมจะมารับราชการเป็นพนักงานอัยการผมเป็นทนายความมาก่อนครับ ผมเริ่มฝึกงานกับครูมืออาชีพทนายความหลังจากเรียนจบปริญญาตรีและอยู่ระหว่างการเรียนเนติบัณฑิต ท่านไต่เต้าจากการเป็นจ่าศาลจนมาสอบเป็นทนายความชั้นสอง สามารถว่าความได้ ๑๐ จังหวัด ต่อมาท่านเรียนนิติศาสตร์จนจบปริญญาตรีและได้เป็นทนายความชั้นหนึ่งสามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร ท่านคือคุณจรูญ สุวรรณรัตน์

เมื่อผมไปฝึกงานกับท่านใหม่ พอไปศาลผมตรงเข้าไปจะหิ้วกระเป๋าให้ท่าน ตามที่ได้เรียนรู้มาและที่ได้เห็นทนายฝึกหัดจะหิ้วกระเป๋าให้ลูกพี่ แต่ท่านไม่ยอมให้ผมหิ้ว ท่านบอกว่าคุณมาฝึกหัดเป็นทนายความไม่ได้มาฝึกเป็นคนรับใช้ ว้าว…..

วิธีการฝึกของท่านเป็นขั้นเป็นตอน อันดับแรกท่านจะให้ผมไปนั่งข้างดูวิธีการถามความ ผมเห็นท่านเอากระดาษขาวมาพับ พยานเบิกความท่านจะจดข้อความที่เบิกความทางด้านขวา แล้วจะวงกลมแล้วเขียนคำถามด้านซ้าย ในขณะเดียวกัน คือฟังไปนึกคำถามไปมือก็เขียนไป ซึ่งผมใช้วิธีนี้มาจนถึงการว่าความปัจจุบัน วิชาเหล่านี้โรงเรียนกฎหมายที่ไหนก็ไม่สอน มันเป็นการลับสมองให้เฉียบขาดตลอดเวลา ถ้าไม่มีสมาธิจบเลยครับ ระหว่างที่นึกคำถามว่าจะถามค้านหรือถามติงพยานว่าอย่างไร พยานตอบว่าอะไรก็จะจดไม่ทัน พอจดไม่ทันก็จะตั้งคำถามต่อไม่ได้

พอวันที่สองท่านหยิบหนังสือมาเล่มหนึ่งหุ้มปกพลาสติกแบบพลาสติกปูโต๊ะกินข้าวส่งให้ผมบอกว่าไปอ่านให้จบ อ่านหลายจบได้ยิ่งดี หนังสือนี้ไม่มีวางจำหน่ายมาหลายปีแล้ว เป็นตำราว่าความที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่านมา ขอให้คุณอ่านทำความเข้าใจแล้วคุณจะเป็นทนายที่มีความสามารถ หนังสือเล่มนั้นชื่อ วิชาข้อเท็จจริง ของหลวงสัตยุทธชำนาญ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้รวดเดียวจบในวันแรก และอ่านซ้ำอีก ๓-๔ ครั้ง ผมจำหลักการว่าความในการค้นหาความจริงจำนวน ๒๑ หลักได้อย่างขึ้นใจ

อาทิตย์ที่สอง ท่านบอกให้ผมลองนั่งฟังคดีที่ท่านไปสู้คดีในศาล ให้ผมนั่งจด แล้วลองตั้งคำถามเอามาให้ท่านตรวจ ท่านก็ตรวจแก้ให้นิดหน่อย ท่านบอกว่าใช้ได้ ลองนั่งทำแบบนี้สักสองสามครั้งก่อนนะ เดี๋ยวผมจะให้คุณหัดว่าความ ลองของจริง

อาทิตย์ที่สาม ท่านก็ให้ผมแต่งทนายร่วมกับท่าน แล้วอยู่ๆท่านก็บอกว่าวันนี้คุณขึ้นสืบพยานแทนผมที ผมมีคดีอีกบัลลังก์หนึ่ง ไม่ต้องกลัวถามความให้เป็นไปตามลำดับ ท่านให้ผมไปสืบพยานฝ่ายจำเลยในคดีที่ชนะแน่นอนอยู่แล้วเพราะพยานโจทก์เบิกความขัดต่อเหตุผล และแถมยังเบิกความแตกต่างกันทั้งๆที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ด้วยกัน หรือที่นักกฎหมายเขาเรียกกันว่าพยานแตก สืบพยานเสร็จศาลนัดฟังคำพิพากษาปรากฏว่าชนะคดี มันทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมว่าเราชนะคดีทั้งๆที่ชนะเพราะฝีมือลูกพี่ต่างหาก..ฮา…

อาทิตย์ที่สี่ ท่านก็เริ่มขั้นตอนต่อไปคือมอบหมายให้ผมไปถามค้านพยานโจทก์โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า ให้ไปถามค้านพนักงานสอบสวน ดังที่เคยเล่ามาครั้งหนึ่งแล้วเรื่องถามพนักงานสอบสวนว่าหลังเกิดเหตุท่านได้ไปตรวจที่เกิดเหตุหรือไม่ เพราะพยานปากนี้เป็นพนักงานสอบสวนแต่ไม่เบิกความถึงการไปตรวจที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าอัยการรุ่นพี่เจ้าของสำนวนหัวเราะก๊าก…มันยิงกันในทะเลจะให้ไปตรวจตรงไหนล่ะ…ผมอายหน้าแดง จบคำถามเพราะถามต่อไม่ถูก (ต่อมาอัยการท่านนี้ก็มาเป็นผู้บังคับบัญชาของผมและมีคดีที่ผมทำความเห็นแล้วถูกท่านแย้ง แต่อัยการสูงสุดในขณะนั้นสั่งให้ดำเนินคดีตามความเห็นที่ผมเสนอในเบื้องต้น และในที่สุดก็ชนะคดี ไว้ผมค้นข้อมูลเจอแล้วจะมาเล่าให้ฟัง คดีนี้มันมาก..แฮ่ๆ) ตกเย็นรายงานให้ลูกพี่ทราบ ท่านก็หัวเราะบอกว่าไม่เป็นไรหรอกพยานปากอื่นแตกกันเรียบร้อยแล้ว

ในที่สุดศาลก็พิพากษายกฟ้องอีกเช่นกัน ท่านเห็นว่าผมกำลังคึกและฮึกเหิมแบบม้าศึก คดีถัดมาให้ผมแต่งทนายเข้าร่วมเป็นทนายจำเลย คดีนั้นมีจำเลย ๒ คน ท่านเป็นทนายจำเลยที่ ๑ ให้ผมเป็นทนายจำเลยที่สอง ท่านประคับประคองผมให้เกิดความมั่นใจที่ละนิด ให้เห็นความละเอียดอ่อนของคำถามที่จะถามค้านถามติง ผมก็ถามก๊อกแก๊กไปตามเรื่อง ตามประสบการณ์ที่มี ในที่สุดศาลก็ยกฟ้องอีก คราวนี้ท่านบอกว่าคดีนี้เขาจ้างผมมาเท่านี้ คุณเอาไปทำแล้วกัน ท่านก็มอบค่าว่าความให้ผมและให้ผมไปเขียนคำให้การต่อสู้คดีและไปสืบพยานเอง และก็เป็นไปตามคาดคดีนี้ชนะอีกแล้ว ต่อจากนั้นท่านก็จะมอบคดีที่ลูกความฝ่ายเราเป็นโจทก์บ้าง ให้ผมร่างคำฟ้อง ให้ท่านตรวจก่อน ท่านสอบเทคนิคว่าถ้าเขียนอย่างนี้เขาจับทางเราได้ควรจะเขียนอีกแบบหนึ่ง

แต่สิ่งที่ท่านสอนและผมประทับใจมากที่สุดก็คือ ศาลกับอัยการเขาอยู่สูงกว่าเรา เราอย่าไปดึงเขาลงมาให้แปดเปื้อน เราอย่าไปวิ่งเต้นคดี เราอย่าไปพาท่านเหล่านั้นไปทานอาหาร หรือไปเที่ยวสังสรรค์ด้วยกัน เพราะนั่นจะทำให้เขาถูกชาวบ้านเสื่อมศรัทธา ท่านไม่เคยขอคดีกับผู้พิพากษาหรืออัยการแม้แต่ครั้งเดียว ผมเป็นทนายความอยู่สามปีเต็มก็ไม่เคยประพฤติเช่นนั้นเหมือนกัน และพอผมสอบได้เนติบัณฑิต ทั้งผู้พิพากษาและอัยการต่างมาเชียร์ให้ผมไปสอบเป็นผู้พิพากษา ฝ่ายอัยการก็มาเชียร์ให้ผมไปสอบอัยการ ต่างฝ่ายต่างเอาหนังสือดีๆมาให้ผมอ่าน ผู้พิพากษาก็เอาหนังสือ “ดุลพาห” มาให้อ่าน อัยการก็จะเอา “อัยการนิเทศ” มาให้อ่าน มันเป็นความรู้ภาคภูมิใจที่ผู้ใหญ่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดให้ความเมตตากับเรา

ชีวิตการเป็นทนายฝึกหัดกับลูกพี่ผมนั้นมีระยะเวลาประมาณ ๖ เดือน ลูกพี่ผมก็บอกกับคุณพ่อผมว่า ผมหัวไวมีแววเป็นทนายความที่ดีได้ สอนนิดเดียวก็ทำได้ พ่อเล่าให้ฟังทำให้เรารู้สึกลำพอง ช่วงนั้นที่อำเภอตะกั่วป่ามีทนายความอยู่คนเดียว (ผมอยู่อำเภอเมืองพังงา) เราเห็นว่าตลาดย่านยาวไม่มีทนายความเป็นช่องว่างที่เราจะเปิดสำนักงานทนายความได้ ประกอบกับที่สวนอาหารรัดใจเปิดใหม่แต่นักดนตรีที่นัดไว้เบี้ยวไม่มาทั้งยังเป็นวันขึ้นปีใหม่ แขกเยอะมาก เจ้าของรู้ว่าผมเล่นดนตรีได้จึงตามผมไปเล่นดนตรีให้รายได้วันละ ๓๕๐ บาท เมื่อปี ๒๕๒๓ เราก็รู้สึกว่ารายได้พอสมควรก็ตอบตกลงเป็นนักดนตรีในสวนอาหารกลางคืน กลางวันก็เป็นทนายความ ทำอยู่ได้ประมาณ ๒-๓ เดือน งานคดีเริ่มเยอะขึ้นประกอบกับมีพี่ที่รู้จักกันตกงานขอไปเล่นดนตรีที่ร้านด้วย ผมก็เลยเล่นสลับกันแบ่งรายได้ให้เขาครึ่งหนึ่ง และในที่สุดผมก็สละให้พี่เขาเล่นดนตรีคนเดียว ผมไปเอาดีทางว่าความดีกว่า…(ยังมีเล่าอีกเยอะ อิอิ)

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ๔.สู่เส้นทางสายไหม

Next : เป็นทนายอย่างผม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

28 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.15783905982971 sec
Sidebar: 0.075783014297485 sec