Jun 14

พอดีคุณโยมจอมป่วนชวนไปดู คลิกที่นี้ ให้ความเห็นแล้วก็รู้สึกว่าพอใช้ได้ (เยงออ ยอเอง 5 5 5…) เพิ่งเห็นว่าบันทึกนั้นเ่ก่าแล้ว จึงคัดลอกความเห็นมาตั้งเป็นบันทึกใหม่…

…………

  • กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย

นักเรียนนักศึกษาตามสถานศึกษา… พระ-เณรในวัด… คนงานกรรมกรในสถานที่ทำงาน… หรือแม้แต่บรรดาบล็อกเกอร์ทั้งหลายในเวบบล็อกต่างๆ… เมื่อแรกมานั้น เกือบจะไม่ค่อยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน แต่พออยู่ไปสักระยะหนึ่ง ก็ค่อยๆ จับกลุ่มเป็นกลุ่มเป็นแก๊งค์ นั่นก็เพราะกรรม…

  • ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้นแล

ในแต่ละกลุ่มแก๊งค์เหล่านั้น มักจะมีพื้นฐานบางอย่างหรือหลายๆ อย่างๆ เหมือนกันในเบื้องต้น แต่พอนานๆ ไป ก็มักจะเหมือนๆ กันโดยภาพรวม…

ตอนแรกบวช มีโยมท่านหนึ่ง ชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้าน เมื่อก่อนก็ดื่มเหล้า เวลามีงานก็มักจะไปช่วยหุงข้าวอยู่หน้าเตาไฟ… ต่อมา ขัดลูกไม่ได้ (ลูกบ่นว่า ถ้าพ่อไม่เลิกเหล้าจะบวชชีไม่สึก 5 5 5) จึงเลิกเหล้าเด็ดขาดเพราะรักลูก แต่มีปัญหาว่า เวลามาช่วยงานจะไปอยู่ที่หน้าโรงเตาหุงข้าวไม่ได้ จึงต้องมาอยู่หน้าที่พระ ได้ค่อยๆ เรียนบทอารธนาบทสวดต่างๆ ฝึกหัดเป็นพิธีกรงานวัด กลายเป็นคนธัมมธัมโมไปในที่สุด…

สรุปว่า หมวดหมู่ของคนเกิดจากกรรม และเมื่อเปลี่ยนกรรม หมวดหมู่ของคนนั้นๆ จะค่อยๆ เปลื่ยนไป…

Jun 05

ปี ๒๕๑๘ ครอบครัวผู้เขียนก็ได้ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองสงขลา สาเหตุก็คือ ปีนั้นน้าท่วมใหญ่ หมู เป็ด และไก่ จะนำมาไว้นอกชานบนเรือนก็ไม่สะดวก ดังนั้น จึงจับใส่รถบรรทุกเพื่อจะพาไปฝากไว้ที่กระดังงาบ้านก๋ง แต่เหตุบังเอิญว่าคนรถเข้าใจผิดว่าจะนำมาขายในตัวเมืองสงขลา จึงพาเลยเข้าไปในตัวเมืองแล้วทิ้งไว้แถวคิวรถ โยมพ่อจึงตามหมูเป็ดไก่มา ขายก็ไม่มีใครรับซื้อเพราะน้ำท่วม จึงนำไปฝากไว้บริเวณหลังบ้านของญาติห่างๆ แถว วังเขียว … ครั้งแรกนั้นโยมพ่อบ้างโยมแม่บ้างผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล และต่อมาครอบครัวจึงค่อยขยับขยายมาอยู่ในตัวเมือง…

แม้จะฝากหมูเป็ดและไก่ไว้แถววังเขียว แต่ครอบครัวย้ายมาครั้งแรกก็มาอยู่ที่ ซอย๑๐.วชิรา เป็นเรือนไม้ยกพื้น บ้านหลังนั้นโยมพ่อซื้อไว้ แต่ที่ดินนั้นเป็นของอีกเจ้าหนึ่ง เค้าไม่ขาย จึงต้องเช่าที่ดินหรือย้าย… อยู่ซอย ๑๐ วชิรา ไม่กิ่เดือนทางบ้านก็ตัดสินใจรื้อบ้านไม้หลังนั้นมาปลูกใหม่แถว วังขาว เป็นดินเปล่าสองห้องของน้าสาวซึ่งเป็นน้องของแม่ โดยเรือนนั้นปลูกอยู่ด้านหน้าส่วนด้านหลังจะเป็นเล้าเป็ดไก่และคอกหมู… บริเวณที่เรียกว่าวังขาวสมัยนั้น มีบ้านคนอยู่ไม่ถึงสิบหลังคาเรือน ยังเป็นพื้นที่ลุ่มในบางจุดก็มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน…

เมื่อแรกมาอยู่ ผู้เขียนก็สงสัยว่าทำไมเค้าจึงเรียกว่า วังขาว วังเขียว (นอกจากเพราะทาสีขาวและสีเขียวแล้ว) เพิ่งมาทราบไม่นานนักว่า สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ราชสกูลระดับสูงได้มาสร้างไว้เพื่ออาจเป็นที่หลีกเร้นในคราวมีภัย เพราะเหตุการณ์ข้างหน้าไม่อาจคาดคะเนได้ ซึ่งบ้านหรือวังทำนองนี้ บรรดาเชื้อเจ้าหรือราชสกูลได้สั่งให้บริวารสร้างไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ… เฉพาะวังขาวกับวังเขียวนี้ ระยะห่างก็น่าจะไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าเดิมที่เป็นของใคร ซึ่งเมื่อแรกมาอยู่นั้น วังขาวเป็นหอพักของเอกชน แต่ปัจจุบันวังขาวสภาพโทรมมากแล้วไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้… ส่วนวังเขียวอยู่ในค่ายทหาร เมื่อก่อนเป็นของทหารอากาศ แต่ปัจจุบันโอนเป็นของทหารเรือ ได้รับการบูรณะใหม่…

เมื่อแรกมาอยู่ ก็ต้องลองผิดลองถูกหลายเรื่องว่าจะประกอบอาชีพอะไร จำได้ว่าเคยทดลองขายข้าวต้มโจ๊กที่หน้าบ้านตอนเช้า และเคยขายของชำ แต่ก็ไม่ได้ผล (ลูกค้าเซ็นต์เชื่อ ไม่จ่าย หนี้สูญ)… ต่อมาโยมพ่อก็ไปเป็นกรรมกรเข็นปลาที่ท่าประมงเพื่อจะได้ซื้อเศษปลามาเป็นอาหารเป็ดด้วยตอนกลับ ฝ่ายโยมแม่ก็ยึดอาชีพขายปลา.. และเมื่อหมูขุนลงราคาเหลือหาบละ ๙๐๐ บาท ทางบ้านก็ขายหมูเป็ดไก่หมด หันมายึดอาชีพขายปลาในตลาดอย่างเดียว…

จำได้ว่าปีนั้นเลี้ยงหมูขุนประมาณ ๑๐ ตัว และผูกเศษอาหารของโรงครัวทหารเรือ ผู้เขียนต้องปั่นสามล้อไปเก็บเศษอาหาร ต้องใ้ห้หมูกินข้าวและล้างคอกหมูเป็นต้น ด้วยความหวังว่าจะได้กางเกงยีนส์สักตัว (แต่ก็ไม่ได้)… จนกระทั้งทุกวันนี้ คราวใดที่มีปัญหาหมูราคาถูก ผู้เขียนจะนึกถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ทุกครั้ง รู้ซึ้งถึงทุกข์ของคนเลี้ยงหมู…

ส่วนการเลี้ยงเป็ดนั้น อาหารของเป็ดก็คือเศษปลากับข้าวเปลือก โดยโยมพ่อจะเอาปลาเป็ดมาจากท่าเรือ ซึ่งบางครั้งถ้ามีปลาตัวใหญ่ก็ต้องสับ (หั่น) เป็นชิ้นเล็กๆ โยนให้เป็ดกิน ส่วนผู้เขียนมีหน้าที่ต้องเก็บไข่เป็ดในตอนเช้านำไปขายที่ตลาดหลาลุงแสง แล้วก็ซื้อข้าวเปลือกใส่รถเข็นกลับมาตอนสายๆ… สำหรับไก่บ้านทั่วไปนั้น ปล่อยทิ้งไว้ในเล้าเป็ด ไม่ต้องดูแลเรื่องอาหาร เพียงแต่ทำรังให้เมื่อมันจะออกไข่แล้วฟักเป็นตัวเท่านั้น นอกจากนี้ทางบ้านเคยเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อและไก่พันธุ์ไข่ โดยซื้ออาหารกระสอบให้กิน แต่ก็ไม่คุ้ม จึงเลิกไปไม่นานนัก…

ตลาดหลาลุงแสงอยู่ปากซอย เช้าตรู่พวกจากนอกเมืองเช่น เขาแก้ว เกาะถ้ำ บางด่าน จะนำสินค้ามาขายแล้วซื้อของบางอย่างกลับไป สินค้าอย่างหนึ่งที่จะนำมาก็คือข้าวเปลือกบรรจุอยู่ในสอบปุ๋ย… เช้าตรู่ ผู้เขียนจะเก็บไข่เป็ดร้อยกว่าฟองใส่เข่งแล้วบรรทุกรถเข็นไปวางขายที่นี้ ก็ขายตามราคาที่พอใจ (พ่อเล้ามาเอง 5 5 5) พลางสำรวจดูว่าข้าวเปลือกมากหรือไม่ ถ้าข้าวเปลือกมากค่อยซื้อเพราะจะราคาถูกเมื่อสายๆ แต่ถ้าข้าวเปลือกน้อยก็ต้องรีบซื้อเพราะสายๆ จะหมด ซึ่งเป็ดที่เล้าจะกินข้าวเปลือกวันละปี๊ปกว่าๆ (เป็ดประมาณสองร้อย)… ไข่เป็ดที่เหลือนั้น ผู้เขียนก็จะไปติดต่อตามร้านของชำในตลาดบ้างในซอยบ้าง เพื่อให้เค้านำไปขายต่ออีกครั้ง… ตอนนั้นผู้เขียนอยู่เพียง ป.๖-๗ ก็คิดไปตามประสา แต่เมื่อโตขึ้นมา รู้สึกภูมิใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนคิดตอนนั้นมีสอนอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์… ยังคิดอยู่ถึงปัจจุบันว่า เศรษฐศาสตร์น่าจะเป็นวิชาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้เขียน

เมื่อเลิกเลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ดหันมาค้าขาย… บ้านเล้าเป็ดเดิม ก็ค่อยๆ อัปเกรดขึ้นมา โดยเรือนไม้ยกพื้นเก่าก็ยกไปไว้ด้านหลัง ด้านหน้าก็สร้างบ้านชั้นครึ่งสองห้อง แต่ไม่ค่อยมาตรฐานนัก อยู่เองหนึ่งห้อง ส่วนเรือนไม้ด้านหลังและอีกห้องให้เค้าเช่าถูกๆ… ต่อมาเรือนไม้ยกพื้นด้านหลังก็รื้อออก สร้างเป็นเรือนสองชั้น แต่ก็ไม่ค่อยมาตรฐานนัก แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าให้เค้าเช่าถูกๆ… และก็อยู่สภาพนี้มาถึงปัจจุบัน เพียงแต่ซ่อมแซ่มบ้างตามสมควรเท่านั้น…

เรื่องการเรียน เมื่อครอบครัวย้ายมาแล้วนั้น น้องๆ ยังมิได้เข้าโรงเรียนอย่างจริงจัง จึงไม่มีปัญหาเมื่อต้องออกจากโรงเรียนมาอยู่ในเมือง แล้วค่อยย้ายสำมะโนครัวมาเรียนใหม่ในปีหน้า… แต่ผู้เขียนยังอยู่ในช่วงปลายปีของ ป.๕ ดังนั้น บางคราวก็พักอยู่บ้านเดิมที่คูขุดโดยฝากท้องไว้กับบ้านตาๆ ยายๆ เท่าที่จำเป็น บางคราวก็ไปนอนบ้านก๋งที่กระดังงา หรือบางช่วงก็มาอยู่ในตัวเมือง โดยตอนเช้าก็นั่งรถตุ๊กๆ ไปขึ้นรถประจำทาง จากตัวเมืองไปลงปากทางแล้วต่อรถเครื่องรับจ้างลงไปคูขุด ตอนเย็นก็ขึ้นรับจ้างแล้วมาต่อรถประจำทางก่อนที่จะนั่งตุ๊กๆ หรือบางครั้งก็เดินกลับบ้าน… สมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรัง มีฝุ่นแดงฟุ้งไปทั่ว เฉพาะระยะทางจากตัวเมืองไปสทิงพระปากทางลงคูขุดก็ ๓๗ กม. จึงค่อนข้างจะตรากตรำและแปลกเกินไปสำหรับเด็กในยุคนั้น… และจากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนไม่รู้นอนที่ไหนในช่วงนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางบ้านไม่ค่อยห่วงหรือกังวลนัก เมื่อผู้เขียนไม่อยู่บ้าน…

จบป.๕ ก็ย้ายมาเรียนป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล๓. วัดศาลาหัวยาง ซึ่งห่างจากบ้านกิโลกว่าๆ ก็เดินตัดผ่านทางวังขาวบ้างวังเขียวบ้าง (เดินหลีกที่น้ำท่วมตามฤดูกาล) เมื่อจบป.๗ ก็เข้าเรียนต่อ ม.ศ. ๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ…

มีสนิมใจที่ไม่อาจแก้ได้ก็เรื่องภาษาอังกฤษ นั่นคือ ตอนเรียนป.๕ นั้นจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจำได้ว่าระยะแรกนั้นผู้เขียนก็ชอบและสนใจดี ท่องศัพท์ใหม่ทุกวัน เพราะคุณครูจะเฆี่ยนทุกวันถ้าจำศัพท์ใหม่ไม่ได้ ศัพท์ละ ๑ ที… แต่เทอมปลายของปีนั้น ครูภาษาอังกฤษลาคลอดทำให้ขาดครู ครูคนไหนว่างก็มักจะเข้ามาสอนหรือพูดอะไรตามใจของท่าน พวกเราจึงมักมิค่อยได้เรียน และเมื่อย้ายมาเรียนป.๖ ในเมือง ผู้เขียนก็เรียนไม่ทันคนอื่น ไม่ชอบครูอังกฤษคนใหม่ และเกลียดภาษาอังกฤษตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา… เพิ่งมาสนใจเรียนภาษาอังกฤษใหม่เมื่อเรียนมจร.เป็นทั่นมหาฯ แล้วนี้เอง แต่เรียนยังไงก็ยังไม่เป็นที่พอใจ รู้สึกว่ามีปมด้อยด้านภาษาอังกฤษกระทั้งปัจจุบัน….

เรื่องอ่านหนังสือ ผู้เขียนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่พออ่านหนังสือออก ไม่เคยรู้เลยว่าอ่านหนังสือมากระดับไหน เพิ่งมาทราบเมื่อบวชแล้วนี้เอง เมื่อมีเพื่อนสหธรรมิกรูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักเขียนเรื่องสั้น ด้วยผู้เขียนสามารถพูดคุยเรื่องหนังสือกับเค้าได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อย…

ย้อนกลับไปยังบ้านคูขุด โยมพ่อชอบอ่านหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนจะต้องไปเอาจากบ้านโน้นมาบ้านนี้ ตอนเดินไปเดินมาเปิดดูไปพลาง นี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สนใจ และเมื่ออ่านหนังสือออกก็เริ่มอ่านนิยายในบางกอก… ที่บ้านคุขุดนี้มีญาติห่างๆ ซึ่งเป็นครูจะซื้อหนังสือเด็กก้าวหน้ามาให้ลูกหลานอ่าน ผู้เขียนก็ได้อาศัยอ่านกับเค้าด้วย จำได้ว่ามีเรื่องเจ้าอสรพิษ พระเอกชื่อพายุสุริยัน เป็นนิยายภาพวาด พวกเราติดกันมาก ต้องเข้าคิวจองกัน แต่พวกโตๆ มักจะถืออภิสิทธิ์แย่งไปอ่าน (น่าเจ็บใจจริงๆ)…

นอกนั้น ที่คูขุดยังมีบ้านคุณตาอีกหลังหนึ่ง ซึ่งลูกของท่านที่กำลังเรียนระดับมัธยมมักจะซื้อหนังสือเด็กก้าวหน้ามาอ่าน ผู้เขียนก็มักจะไปเที่ยว เผื่อได้อ่านอย่างสบายใจ (ไม่มีใครแย่ง) บ้านคุณตาที่นี้จะมีชั้นวางหนังสืออยู่ด้วย มีหนังสือมากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนมักจะไปนั่งพลิกอ่านเล่นได้เป็นครึ่งวัน… เกือบสิบปีก่อน เมื่อได้คุยกับพวกหนอนหนังสือซึ่งแก่กว่าผู้เขียนสักสิบปี ก็คุยแรกเปลี่ยนกันได้โดยผู้เขียนไม่รู้สึกว่าอ่อนกว่าด้านหนังสือ เมื่อทบทวนว่าหนังสือเหล่านั้นเคยเห็นเคยอ่านที่ไหน ก็มานึกถึงบ้านคุณตาที่นี้ได้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าที่นี้น่าจะคล้ายห้องสมุดแห่งแรกในชีวิตของผู้เขียน…

เมื่อมาอยู่ในเมือง หนังสือบางกอกก็ซื้อได้ที่ปากซอยวังขาว โดยทุกเย็นของวันจันทร์ผู้เขียนจะขอตังโยมแม่มาซื้อหนังสือบางกอก แล้วก็นั่งอ่านอยู่แถวใต้ต้นมะขามข้างๆ วัง เพราะถ้ากลับถึงบ้านอาจถูกโยมพ่อใช้อภิสิทธิ์ไปอ่านก่อน หรือโยมแม่ขอคั่นเวลาเพียงเรื่องเดียวในบางครั้ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงรีบอ่านให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะค่ำดูตัวหนังสือไม่เห็น และนี้น่าสาเหตุหนึ่งที่ผู้เขียนอ่านหนังสือได้เร็วโดยไม่รู้ตัว…

ตอนเรียนเทศบาล ๓. ขณะอยู่ ป.๗ ทางโรงเรียนเริ่มโครงการสร้างห้องสมุด โดยมอบหมายให้ครูที่มาอยู่ใหม่เป็นผู้รับผิดชอบ ผู้เขียนมักไปขลุกอยู่กับคุณครูคนนี้ สามเกลอพลนิกรกิมหงวน พวกเรารู้จักกันตอนนี้… และเมื่อไปอยู่ม.ศ.๑ มหาวชิราวุธ ผู้เขียนก็เลือกเข้าชมรมห้องสมุด โดยมิได้รับการชักชวนจากใคร คงจะเป็นวาสนาในบางก่อน หรือเพราะคุ้นเคยมาตั้งแต่เล็กๆ ก็ไม่อาจบอกได้ (หรือทั้งสองอย่าง) อยู่ชมรมห้องสมุด ก็ต้องไปช่วยงานห้องสมุด ได้อภิสิทธิ์ยืมหนังสือได้มากและระยะให้ยืมก็ยาวกว่าคนทั่วไป แต่ผู้เขียนก็ช่วยงานไม่นานนัก เริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มหนีโรงเรียน (5 5 5…)

ผู้เขียนมักทบทวนเรื่องราวในอดีต แต่ที่คลุมเครือและประติดประต่อไม่ค่อยได้ก็คือช่วงอยู่ ม.ศ.๑-๒ คล้ายกับช่วงความจำในตอนนี้เลอะเลือนหรือถูกไวรัสกินไป อาตมาเป็นไผ ถ้ามีตอนต่อไป จะลองกู้ข้อมูลตอนนี้มาบันทึกไว้สักครั้ง…

Apr 22

กำลังเรียน ป.๑ คุณยาย แม่เฒ่า หรือนม ได้ถึงแก่กรรมลง ครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่บ้านแม่เฒ่าซึ่งเป็นบ้านเดิมของแม่… เรือนหลังนี้ จัดอยู่บ้านหัวนอนของบ้านคูขุด อยู่ระหว่างบ้านที่หนองหม่าวกับบ้านที่คลองหลาซึ่งเพิ่งย้ายจากมา ระยะห่างก็อยู่กึ่งกลางบ้านเก่าทั้งสองแห่ง โดยทั้งสามแห่งนี้ก็ตั้งอยู่ริมถนนดินเส้นเดียวกัน… สำหรับเรือนหลังนี้ แม้จะไม่เคยมาอยู่เป็นทางการ แต่ก็แวะเวียนมากินมาเที่ยวอยู่เสมอ…

ลักษณะของเรือน จะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงประมาณสองเมตรทรงปันหยา เป็นเรือนปลูกติดกันหลายๆ หลัง โดยแบ่งเป็น ๒ ครอบครัว… ครอบครัวผู้เขียนจะมีปู่หรือพ่อเฒ่าเป็นผู้ใหญ่สุด ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งจะมีทวดหญิง (แม่ของแม่เฒ่า) ซึ่งอายุมากแล้วและมียายอีกคนซึ่งเป็นลูกของทวดเป็นผู้ดูแล… สองครอบครัวนี้ใกล้ชิดกันมาก สามารถใช้ห้องครัวหรือห้องส้วมแทนกันได้ และบางครั้งประตูเรือนด้านในระหว่างครอบครัวก็อาจไม่จำเป็นต้องปิด…

แรกที่ย้ายมาอยู่นั้น บ้านพ่อเฒ่ายังมีคนเยอะ กล่าวคือ มีน้าชายและน้าสาวที่ยังไม่มีครอบครัวอยู่อีก ๓ คน ส่วนป้าและน้าอีก ๓ คนที่มีครอบครัวแล้วได้ย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองสงขลานานแล้ว (น่าจะมาตั้งแต่ผู้เขียนไม่เกิดหรือจำความไม่ได้)… ส่วนบ้านทวดนั้น ลูกของยายที่รุ่นราวคราวเดียวกับผู้เขียนก็หลายคน (ยายคนนี้เป็นลูกสุดท้องของทวด) เพียงแต่ผู้เขียนมีศักดิ์เป็นหลาน พวกเขามีศักดิ์เป็นน้าเท่านั้น…

ทวดมีลูกหลายคน นอกจากสองครอบครัวที่อยู่ชิดกันแล้ว ยังมีตาอีก ๓ ครอบครัวซึ่งอยู่ในบ้านคูขุด โดยทุกเช้าและเย็น แต่ละครอบครัวของตาซึ่งเป็นน้องของแม่เฒ่า จะยกสำรับกับข้าวมาให้ทวด… ส่วนที่ครอบครัวของผู้เขียนนั้น จะจัดสำรับเป็นพิเศษสองที่ ที่หนึ่งจะยกไปให้พ่อเฒ่าที่ท่านนั่งประจำ ส่วนอีกสำรับจะยกไปให้ทวดที่บ้านยาย…

พ่อเฒ่าเป็นคนบ้านแหลมวัง (บ้านคูขุดอยู่ในหมู่๔ และ๕ ส่วนบ้านแหลมวังอยู่ในหมู่๖) ชอบทำนา เลี้ยงวัว แต่ไม่หากินทางทะเลเพราะฆ่าสัตว์เป็นบาป… ตั้งแต่จำความได้ พ่อเฒ่าได้ถือศีลอุโบสถทุกวันพระ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนยังไม่รู้รายละเอียด รู้แต่เพียงว่า เมื่อถึงวันพระ พ่อเฒ่าไม่กินข้าวเย็น และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนต้องไปซื้อชาร้อนใส่กระป๋องนมจากคลองหลามาให้พ่อเฒ่า… พ่อเฒ่ามักจะพาผู้เขียนไปแหลมวังและบางครั้งก็เลยไปดอนคัน (หมู่ ๗ และ๘) โดยไปที่บ้านญาติและเพื่อนของท่าน หรือบางครั้งก็ไปที่วัด ในคราวที่มีงานหรือมีธุระอื่น… ชีวิตผู้เขียนผูกพันกับพ่อเฒ่าพอสมควร จำได้ว่าตอนที่ท่านถึงแก่กรรมนั้น ผู้เขียนอายุเกือบยี่สิบแล้ว และกำลังเรียนอยู่เทคนิคหาดใหญ่…

ครอบครัวของยายหรือบ้านทวดนั้น จะเป็นร้านขายของชำเกือบทุกอย่าง เช่น ผงซักฟอก สะบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ น้ำมันก๊าด ยารักษาโรค ตลอดถึงรำข้าวซึ่งเป็นอาหารหมู ซึ่งสินค้าที่นำมาขายในยุคนั้น จะซื้อมาจากพัทลุงมากกว่าซื้อมาจากตัวเมืองสงขลา เพราะตาของยายบ้านทวดเป็นนายท้ายเรือโดยสารวิ่งระหว่างคูขุดกับลำปำ (จ.พัทลุง) แต่มิได้เป็นเจ้าของเรือ และผู้เขียนยังมีตาอีกคนหนึ่งที่อยู่คลองหลาเป็นเจ้าของเรือโดยสารและเป็นนายท้ายเรือเองด้วย… สมัยนั้น จะมีเรือโดยสารและบรรทุกสินค้าแล่นไปมาคูขุด-ลำปำ ๓ ลำ ชื่อเรือสินธ์ประพาส สหสิน และดาวประสิทธิ์  โดยไปวันหนึ่ง นอนลำปำคืนหนึ่ง อีกวันจึงกลับมา สับเปลี่ยนกันไปทุกวัน… บรรดาลูกหลานชาวคูขุดสมัยนั้น จึงมีโอกาสติดเรือไปเที่ยวเสมอ ซึ่งผู้เขียนก็เคยไปบ้างเป็นครั้งคราว…

ส่วนแม่เฒ่านั้น ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม มีอาชีพขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าผืนผ้าพับ ดังนั้น เมื่อแม่เฒ่าจากไป กิจการนี้จึงตกทอดมาถึงแม่ โดยจะนำเสื้อผ้าไปขายตามตลาดนัดในละแวกนั้น กรณีนี้ทำให้ผู้เขียนคุ้นเคยกับตลาดนัดวัดคูขุดเพราะต้องไปหาแม่ในวันนัดคูขุดทุกครั้ง (เคยเล่าส่วนที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี้)

อีกอย่างหนึ่ง นอกจากจะเป็นช่างตัดเสื้อผ้าเองแล้ว แม่ยังรับเป็นครูสอนการตัดเสื้อผ้าด้วย ซึ่งผู้เขียนเคยเห็นการสอนวิธีตัดเสื้อผ้ามาตั้งแต่จำความได้ เริ่มตั้งแต่เอากระดาษมาวาดแล้วตัดเป็นแบบ… ลูกศิษย์ของแม่ก็เป็นสาววัยรุ่นในสมัยนั้น ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าน้าๆ บรรดาน้าเหล่านั้นเคยเลี้ยงดูโดยให้ผู้เขียนอาบน้ำหรือกินข้าวบ้างตามสมควร จนกระทั้งทุกวันนี้ เมื่อเจอกันผู้เขียนก็ยังจำบางคนได้ แต่จำรายละเอียดในตอนนั้นไม่ได้เท่านั้น…

นอกจากขายเสื้อผ้าแล้ว แม่เฒ่ายังขายเบอร์ด้วย (เบอร์ ก็คือ หวย ขายเบอร์ ก็คือขายหวย) ตอนที่แม่เฒ่ายังอยู่นั้น น่าจะมีหลายหุ้น เพราะในความทรงจำนั้น ในวันหวยออก ผู้เขียนจะนอนดูผู้ใหญ่มาทำบัญชีหวยที่เรือนหลังนี้ นอนฟังเค้าคุยกันเรื่องหวย นินทานาย (ตำรวจ) ที่มาไล่จับ หรือมารีดไถ… กิจการนี้ก็ตกมาถึงแม่เช่นเดียวกัน เพียงแต่ภายหลังการเข้าหุ้นและคิดบัญชีหวยจะหายไป…

เมื่อก่อนหวยจะออกเดือนละสามงวด หลังจากหวยออกแล้วก็จะมีการคิดบัญชี… ถ้างวดใดได้กำไร ก็จะมีการซื้อหัวหมู หรือไก่ปากทอง (ไก่ต้มทั้งตัวแล้วใช้แหวนทองตั้งที่ปากไก่) เพื่อเซ่นไหว้ผีกลางบ้าน (เรือนเสาเดียวเล็กๆ สร้างไว้กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นที่อยู่ของผีกลางบ้าน.. พวกเราเรียกกันว่าบ้านพ่อเฒ่า เมื่อก่อนบ้านพ่อเฒ่าทำนองนี้ ในบ้านคูขุดจะมีมาก แต่ตอนหลังค่อยๆ ถูกรื้อเพื่อใช้พื้นที่ปลูกบ้าน)… แต่ถ้างวดใดขาดทุน ก็จะไม่เซ่นไหว้ด้วยหัวหมูหรือไก่ปากทอง โดยจะเซ่นไหว้เพียงขนมเปียะลูกโตที่มีไข่แดงตรงกลางแทน ซึ่งโดยมากก็เป็นหน้าที่ของผู้เขียนต้องเดินไปซื้อขนมเปียะมาจากคลองหลา จำได้ว่าสมัยนั้นลูกละ ๗ บาท…

กำไรหรือขาดทุนของหวยแต่ละงวดนั้น จึงเกี่ยวพันถึงผู้เขียนอีกอย่าง คือ มีป้าและยายแก่ๆ บางคนที่ถือฝ่ายเจ้ามือหวย ดังนั้น ถ้างวดใดคิดบัญชีแล้วขาดทุน ผู้เขียนก็ต้องเดินไปเอาเบี้ยจากป้าหรือยายแก่ๆ เหล่านั้น… แต่ถ้างวดใดคิดบัญชีแล้วได้กำไร ป้าหรือยายแก่ๆ ก็มักจะเดินมาเอาเบี้ยที่เรือนของผู้เขียนเอง นานๆ ครั้งที่ผู้เขียนจะถูกใช้ให้เอาไปให้… จำได้ว่า บรรดาป้าและยายแก่ๆ เหล่านั้น มักจะล้อผู้เขียนเสมอทำนองว่า “เวลาขาดทุนก็มาเอาถึงเรือน แต่เวลาได้กำไรไม่ค่อยจะเอามาให้” … ซึ่งจำนวนเงินก็คนละ ๒๐-๕๐ บาทนี้แหละ…

ฝ่ายพ่อ นอกจากหากินทางทะเลสาบแล้ว มีช่วงหนึ่งได้สร้างเครื่องไฟหรือเครื่องขยายเสียง ซึ่งสมัยนั้น อำเภอสทิงพระทั้งหมดยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ยกเว้นบริเวณใกล้ๆ ที่ว่าการอำเภอเท่านั้น โดยหุ้นกับน้าเขยซึ่งอยู่ตำบลกระดังงา (บ้านก๋ง ตำบลกระดังงา กับบ้านแม่ตำบลคูขุด ห่างกันประมาณ ๘ กิโล) และเปิดให้บริการทั่วไป ในคราวที่ใครมีงานบวช งานศพ หรืองานมหรสพอื่นๆ… ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีโอกาสไปงานต่างๆ กับพ่อเสมอ ในฐานะลูกเจ้าของเครื่องไฟ (5 5 5…)

จำได้ว่า ผู้เขียนเคยตามเสียงเพลงหรือหนังตะลุงที่เปิดในงานเพื่อไปหาพ่อหลายครั้ง เพราะเมื่อเจอพ่อก็จะได้กินข้าวในงานและได้เบี้ยติดถุงไว้กินขนมอีกต่างหาก… ไปแล้วบางคราวไม่เจอพ่อก็ต้องนั่งคอยอยู่ข้างๆ เครื่องไฟ หรือเดินตามหาอยู่ภายในงาน…

ที่น่าเบื่อที่สุดก็คือ โรงรำวง (คณะรำวง เปิดเป็นเวที มีดนตรีเล่น มีนางรำวง บริการขายบัตร ให้นักเต้นมาเลือกนางรำวงไปเต้นเป็นรอบๆ… จำได้ว่า หัวค่ำรอบละบาท พอดึกหน่อยรอบห้าสิบสตางค์ ถ้ายังไม่เลิก ใกล้ๆ รุ่ง ก็รอบละสลึง) คณะรำวงสมัยนั้น โดยมากไม่มีเครื่องไฟเองจึงต้องมาเช่าเครื่องไฟไปใช้ ในเวลากลางคืนที่ไปเฝ้าเครื่องไฟกับพ่อที่โรงรำวง ความรู้สึกสมัยนั้นบอกว่า รำวงเลิกช้าหรือเล่นนานมาก ผู้เขียนจะกลับบ้านก็ไม่ได้เพราะไกลและมืด บางครั้งต้องนั่งเอาคางเกยเวทีรำวงหลับไป ตื่นขึ้นมาสองรอบแล้ว รำวงก็ยังไม่เลิก เบื่อสุดๆ เลย ไม่รู้เค้าจะเต้นไปทำไมกัน ซ้ำๆ ซากๆ ไม่รู้สนุกตรงไหนเลย (5 5 5…)

ผู้เขียนคุ้นเคยกับอุปกรณ์เครื่องไฟพอสมควรในตอนเด็กๆ เช่น ลำโพงงอนจะใช้พริกเผ็ดๆ ทาไว้เพื่อกันเด็กเป่าเล่น หรือสายเทปเก่าๆ เอามาขึงเล่น เป็นต้น แต่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องเครื่องไฟจนกระทั้งปัจจุบัน เพราะกิจการนี้ได้เลิกไป ก่อนที่ผู้เขียนโตพอที่จะเรียนรู้ได้…

บ้านเดิมของแม่นั้น ตอนแรกไปอยู่ก็มีคนเยอะ ต่อมาน้าสาวซึ่งเป็นครูก็แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ย้ายไปอยู่หาดใหญ่ น้าชายก็สอบตำรวจได้ย้ายไปอยู่สตูล น้าชายคนเล็กก็มาเีรียนหนังสือต่อในตัวเมืองสงขลา… ฝ่ายพ่อเฒ่า บางคราวก็ไปนอนที่ป่าช้าแหลมวังกับตาหลวง (ป่าช้าแหลมวังในสมัยก่อน มีกุฏิพระอยู่ด้วย และฟังมาว่า เมื่อก่อนนั้น ป่าช้ามีสภาพเป็นวัด เรียกกันว่า วัดออก แต่เดียวนี้รู้สึกว่า คำว่าวัดออกจะเลือนหายไปจากคนในท้องถิ่น) หรือบางครั้งก็ไปอยู่กับลูกคนโน้นคนนี้… ดังนั้น ที่บ้านยังมีแต่พ่อ แม่ ผู้เขียน และน้องอีกสองคนเท่านั้น

ต่อมาแม่เลิกขายเบอร์ เริ่มมาค้าขายในตัวเมืองสงขลา ที่จำได้ก็คือเอาลูกหมูมาขาย บางคราวก็มาครั้งละหลายๆ วัน ฝ่ายพ่อก็ออกทะเลหาปลาบ้าง เอาเครื่องไฟไปตามงานบ้าง… จำได้ว่าช่วงนี้ บางครั้ง ผู้เขียนต้องอยู่กับน้องอีกสองคนเท่านั้น (แต่มีบ้านทวดหรือยายที่อยู่ติดกัน) ตื่นเช้า ผู้เขียนก็ต้องหุงข้าวเอง เอาไข่เป็ดใส่ในหม้อข้าวสองฟอง (ที่บ้านเลี้ยงเป็ด เคยเล่าส่วนที่เชื่อมโยงเรื่องนี้ไว้ คลิกที่นี้ ) ฟองหนึ่งสำหรับผู้เขียนคนเดียว อีกฟองหนึ่งแบ่งให้น้องคนละครึ่ง (น้องอ่่อนกว่าผู้เขียนคนละ ๖-๗ ปี)… เกือบทุกวัน เฝ้าคอยว่าตอนสายๆ เที่ยง หรือบ่ายๆ พ่อจะกลับมา แต่บางวันพ่อก็ไม่มา ! … และต้องนับวันว่า วันนี้แม่ยังไม่มา ! วันนี้แม่ยังไม่มา ! บางครั้งนับได้ถึงหกเจ็ดวันกว่าแม่จะกลับมา…

ผู้เขียนก็เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดคูขุดไปปีละชั้นตามปกติ… ที่บ้านนั้น บางครั้งก็คนเยอะ บางครั้งก็มีแต่ผู้เขียนกับน้อง และต่อมา แม่ก็เพิ่มน้องชายให้ผู้เขียนอีกหนึ่งคนที่เรือนหลังนี้…

เพราะเกิดนาน นิทานจึงเยอะ ดังนั้น อาตมาเป็นไผ จึงต้องต่อตอนต่อไป…

Apr 19

บ้านห้องแถวชั้นครึ่งที่คลองหลานั้น จำได้ว่า ตอนที่ยังไม่เข้าโรงเรียนนั้น ในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ขณะที่นักเรียนเดินผ่านหน้าบ้าน ผู้เขียนจะอยู่ที่ริมหน้าต่างชั้นบนแล้วมองลงมา ก็มักจะส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ เมื่อใครเงยหน้ามามอง ก็มักจะแลบลิ้น หรือทำตาหลุน ทำนองผีหลอกเด็กนักเรียนที่ผ่านไปผ่านมาอยู่เสมอ (คงจะทำบ่อย จึงจำพฤติกรรมเรื่องนี้ได้ 5 5 5…) จนกระทั้งได้เข้าโรงเรียน ป.๑ ห้องครูเพ็ญศรี ซึ่งเรื่องนี้เคยเล่าไว้แล้ว (คลิกที่นี้) จะคัดลอกมาไว้ที่นี้

“”" ยกเว้นพ่อแม่ซึ่งจัดว่าเป็นครูคู่แรกแล้ว เมื่อแรกเข้าเรียน ป.๑ ครูเพ็ญศรีซึ่งเป็นครูประจำชั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นครูคนแรกของผู้เขียน….

พ.ศ.๒๕๑๒ คือปีแรกที่ผู้เขียนเริ่มเข้าเรียน ป.๑ ที่โรงเรียนวัดคูขุด (เพื่อมประชานุกูล) จำได้ว่า วันแรกที่เข้าเรียนนั้น บรรดาเพื่อนชักชวนกันว่า ไปอยู่ห้องพี่ศรีดีกว่า ครูเพียรตีเจ็บ กล่าวคือ ป.๑ มีสองห้องเรียน โดยมีครูเพ็ญศรีและครูเพียรเป็นครูประจำชั้นในแต่ละห้อง ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจ…

ครูเพียร เป็นครูผู้ชาย อายุมากแล้ว (แก่กว่าโยมพ่อ เพราะบางครั้งผู้เขียนก็เรียกว่า ลุงเพียร) ส่วน ครูเพ็ญศรี ครูผู้หญิง เป็นคนในบ้านคูขุด ซึ่งพวกเรามักจะเรียกกันติดปากว่า พี่ศรี จนกระทั้งปัจจุบัน…

สมัยนั้น ป.๑ ยังคงใช้กระดานชนวน ส่วน ป. ๒ ขึ้นไปจะใช้สมุด… และยังมีอดีตที่ผู้เขียนจำไม่ลืม เพราะวันแรกที่เข้าโรงเรียนนั้น กระดานชนวนของผู้เขียนหายไป… เล่าเรื่องว่า ในภาคบ่าย พี่ศรีจะให้วาดๆ เขียนๆ อะไรก็ได้ลงในกระดานชนวนแล้วก็นำไปส่ง ตอนเย็นเมื่อเลิกเรียนก็ไปเอาคืน แต่ตอนเลิกเรียนนั้น ผู้เขียนไปเอาคนสุดท้าย (จำไม่ได้ว่า ทำไมไปเอาคนสุดท้าย อาจเพราะไปเข้าห้องน้ำ หรือหลับอยู่ในห้อง ไม่แน่ใจ ?)

เมื่อไปที่โต๊ะครู กระดานชนวนหายไปหมดแล้ว ผู้เขียนจึงต้องเดินกลับบ้านตัวเปล่า กลับมาบอกที่บ้าน… น้าชายซึ่งเป็นน้องของโยมแม่ ผ่านมาที่บ้านก็แนะนำผู้เขียนทันทีว่า วันนี้ เพื่อนเอาของหมึง ต่อเช้า หมึงต้องเอาของเพื่อนมาสักสองอัน… แต่ตอนเย็นใกล้ๆ ค่ำ โยมพ่อก็ไปเอาคืนมาได้…. ผู้ที่เอาไปก็คือ ปุ (ผู้หญิง) สาเหตุก็คือ เพื่อนเอาของเธอไปให้แล้ว แต่เธอไม่รู้ เมื่อมาเอา เห็นมีอยู่เพียงอันเดียว เธอจึงเอาไป…

อาคารเรียนสมัยยังอยู่ ป. ๑ นั้น เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นบนสามห้อง ชั้นล่างสามห้อง… ห้องผู้เขียนเรียนนั้น อยู่ชั้นล่างติดกำแพงวัดด้านตะวันตก โดยพื้นของห้องเรียนนั้นเป็นดินเหนียว มิได้เทคอนกรีต ริมด้านล่างของฝาห้องแต่ละด้านจะมีช่องโหว่ เรียกกันว่า ช่องหมาลอด แต่พวกเราเด็กๆ มักจะลอดเข้าลอดออกได้ เช่น บางคนจะเข้าห้องน้ำไม่ขออนุญาตคุณครูออกทางประตู แต่แอบลอดออกไปทางช่องใต้ฝาห้อง ก็มักจะถูกเฆี่ยน เมื่อครูจับได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเรา

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนยังจำได้ตอนอยู่ ป.๑ ก็คือ ในภาคเช้าของวันหนึ่ง ครูเพ็ญศรีหาปากกาที่โต๊ะไม่พบ จึงยังไม่ปล่อยกลับไปกินข้าวที่บ้าน (ขึ้นเที่ยง) ซึ่งนักเรียนเกือบทุกคนมักจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน… ผู้เขียนไม่ได้ขโมย ดังนั้น เมื่อเพื่อนอีกห้องผ่านมาชวนกลับบ้าน ผู้เขียนจึงแอบลอดช่องหมากลับบ้านไปพร้อมเพื่อน…. เมื่อกลับมาเรียนตอนบ่าย ผู้เขียนจึงถูกครูเพ็ญศรีเฆี่ยนในข้อหากลับก่อนได้รับอนุญาต…(ส่วนปากกานั้น มิได้หายไป และมิได้มีใครขโมย รู้สึกว่าท่านจะหาเจอ หรือครูบางท่านยืมไปนี้แหละ ไม่แน่ใจ ?)

ครูเพ็ญศรีสอนอย่างไรบ้าง ผู้เขียนก็เลือนๆ ประติตประต่อไม่ค่อยจะถูก แต่ผลเชิงประจักษ์ก็คือ ผู้เขียนสามารถ อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น และได้รับการผ่านชั้นขึ้นไปเรียน ป.๒ ในปีต่อมา….

หลังจากพ้น ป.๑ ไปแล้ว รู้สึกว่าอีก ๑-๒ ปีต่อมา พี่ศรีหรือครูเพ็ญศรีได้แต่งงานแล้วก็ย้ายไปสอนโรงเรียนอื่น… ส่วนผู้เขียนเมื่อจบ ป.๕ แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ในเมืองสงขลา จึงได้ย้ายมาเรียน ป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (วัดศาลาหัวยาง) และตั้งแต่นั้นมาเกือบจะไม่ได้เจอพี่ศรีอีกเลย…

ครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ รู้สึกว่าจะเป็นที่โรงเรียนวัดกลาง ต.กระดังงา ประมาณปี ๒๕๒๙-๓๐… ซึ่งช่วงนั้น ผู้เขียนบวชได้ราวสองพรรษา ญาติคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่นั้นได้นิมนต์ผู้เขียนเพื่อไปพูดให้เด็กนักเรียนฟังในโอกาศวันครู จึงได้เจอครูเพ็ญศรีโดยบังเอิญ… พี่ศรีย้ายมาสอนที่นี้หลายปีแล้ว หลังจากคุยกันเล็กน้อย ก็ทราบว่าสามีของท่านเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่นี้…

ตอนนี้ ครูเพ็ญศรี หรือ พี่ศรี ถ้ายังไม่เกษียณก็คงจะใกล้ๆ แล้ว… ในโอกาสที่วันนี้ เป็นวันครู ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงครูคนแรกที่สอนให้ผู้เขียน อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น

  • ครูคือคนคู่โค้ง            ความคิด
  • ควรใคร่คู่ควรคิด         คัดค้าน
  • ครองคำคู่ครองคิด      ควรค่า   คือครู
  • ควรเคาคบคำคึ้ง         เคียดแค้น   คล่อนคลาย

………….

ตำบลคูขุดคือบ้านเดิมของแม่ตามที่เล่ามาในตอนแรก… ส่วนตำบลกระดังงาคือบ้านเดิมของพ่อ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเล่าไว้แล้ว (คลิกที่นี้) ดังนั้น จึงคัดลอกมาเป็นส่วนเติมเต็มที่นี้อีกครั้ง…

“”" แม้ผู้เขียนจะเป็นคนอำเภอสทิงพระโดยกำเนิด แต่ถ้าแยกออกไปแล้ว โยมแม่เป็นคนตำบลคูขุด ส่วนโยมพ่ออยู่ตำบลกระดังงา… ตำบลคูขุดอยู่ติดทะเลสาบ ส่วนตำบลกระดังงาอยู่ติดทะเลหลวง โดยเหตุที่อำเภอสทิงพระมีทะเลกระหนาบทั้งสองด้าน ดังนั้น พวกที่อยู่ริมทะเลสาบซึ่งมีพื้นที่ต่ำกว่าจะถูกเรียกว่า พวกบ้านต่ำ หรือ พวกโสดล่าง … ขณะที่พวกที่อยู่ติดทะเลหลวงจะเรียกกันว่า พวกเนิน หรือ พวกโสดเนิน… เพราะเหตุว่า โยมพ่อเป็นพวกเนิน ส่วนโยมแม่เป็นพวกบ้านต่ำ ดังนั้น ผู้เขียนจึงซึมซับเอาวิถีความเป็นอยู่ทั้งสองฝ่ายไว้…

แม้เด็กๆ ผู้เขียนจะเป็นอยู่และแรกเข้าเรียนที่คูขุด แต่ก็จะไปอยู่กระดังงาบ้างตามโอกาส… และโอกาสหนึ่งในแต่ละปีที่จะไม่พลาดก็คือวันตรุษจีน หรือ วันไหว้ก๋อง เพราะโยมพ่อมีเชื้อสายคนจีนอยู่หลายส่วน และพ่อของพ่อ ผู้เขียนไม่เีรียกว่า ปู่ แต่เรียกว่า ก๋อง (คือ ก๋ง นั่นเอง แต่สำเนียงใต้ออกเสียงว่า ก๋อง )

บ ้านก๋อง ตามความทรงจำในตอนเด็กๆ นั้น สภาพภายในบ้านยังมีความเป็นคนจีนอยู่มาก แต่เมื่อผู้เขียนเป็นวัยรุ่นแล้ว รู้สึกว่าความเป็นคนจีนก็สลายไปเกือบหมด (ฟังว่า โยมพ่อและน้องๆ ของท่านทุกคน สมัยก่อนก็ใช้ชื่อจีน เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นชื่อไทยก็เมื่อแรกเข้าโรงเรียน)

บ้านก๋องในสมัยก่อนมีหลายหลัง เช่น บ้านไม้สองชั้นสองคูหา ด้านหนึ่งเป็นร้านขายของชำ ซึ่งนอกจากขายที่บ้านแล้ว คุณย่าจะนำไปขายตามตลาดนัดในหมู่บ้านใกล้ๆ ด้วย… อีกด้านหนึ่งเป็นร้านขายเครื่องยาจีนทั่วๆ ไป ซึ่งเมื่อโตขึ้น ผู้เขียนเห็นร้านขายยาสมุนไพรหรือร้านขายยาในหนังจีนโบราณแล้ว ก็มักจะนึกถึงบ้านก๋องเสมอ เช่น มีเครื่องชั่งยาโบราณ มีตะกร้าหลากชนิดใส่เครื่องยา และมีตู้ลิ้นชักเรียงขึ้นไปเป็นชั้นๆ ไว้เก็บเครื่องยาสำคัญ เวลาจะเอาก็ต้องพาดบันไดขึ้นไป… ซึ่งพวกเราเด็กๆ มักจะวิ่งไล่จับขึ้นบันไดในคราวผู้ใหญ่ไม่อยู่เสมอ….

นอกจากร้านขายของชำและขายเครื่องยาสมุนไพรแล้ว ด้านข้างจะเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งผู้เขียนทันเห็นเครื่องสีเดินเครื่องอยู่ไม่เท่าไหร่นัก เพราะไม่ทันได้เป็นวัยรุ่น เครื่องสีก็หยุด แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นโกดังเก็บของแล้วก็ถูกรื้อไป… ต้นมะขามขนาดใหญ่ด้านหน้าบ้านก็ถูกโค่นลง… บ้านหลังอื่นๆ ถูกรื้อบ้าง สร้างใหม่บ้าง จนสภาพเดิมค่อยๆ หมดไป… ด้านหลังบ้านนั้น สมัยก่อนเป็นส่วนกล้วยขนาด ๑-๒ไร่ ซึ่งผู้เขียนมักจะเข้าไปเที่ยวแล้วเดินหลงเสมอนั้น ก็ค่อยๆ เล็กลงๆ….

ก๋อง มีลูก ๑๐ คน และอยู่มานานถึงเก้าสิบกว่าปี เพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อ ๓-๔ ปีนี้เอง… เดียวนี้ บ้านก๋องไม่มีแล้ว เพราะถูกแบ่งออก ๔ ส่วนสำหรับลูกและหลานของก๋อง ๔ ครอบครัวที่สมัครใจอยู่บ้านเดิม ส่วนลูกคนอื่นๆ ของก๋องอีก ๖ คนก็แยกย้ายกันไปอยู่อื่น ชีวิตของก๋อง กลายเป็นเรื่องเล่าประจำตระกูลและคงจะเลือนหายไปตามธรรมดา…

ก๋องมีแนวคิดว่า ลูกหลานนั้น ถ้าอยู่ใกล้กันมักทะเลาะกัน จึงต้องการให้อยู่ห่างออกไปเพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกันตามโอกาส ดังนั้น ก๋องจึงวางแผนไปซื้อที่ดินไว้ในที่ต่างๆ เพื่อต้องการให้ลูกๆ ได้ไปอยู่… ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อประมาณ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ก๋องกับก๋องอีกท่าน (พี่หรือน้องของท่าน) ชวนกันเดินทางมาซื้อที่ดินที่แถวหน้ามอ. หาดใหญ่ วันที่ตกลงจะจ่ายเงินนั้น บังเอิญก๋องมองไปที่ยอดยาง เห็นใบยางแดงและและกิ่งยางแห้ง จึงรู้ว่าน้ำใต้ดินไม่สมบูรณ์จึงขอลดราคาที่ดินลงอีก เมื่อไม่ตกลง ก๋องทั้งสองจึงชวนกันไปซื้อแถวสถานีรถไฟทุ่งลุง อำเภอสะเดา…

ฟังว่า เมื่อโยมพ่อโยมแม่แรกแต่งงานนั้น ได้ไปอยู่ที่ดินทุ่งลุงผืนนี้ แต่อยู่ได้สองเดือนก็กลับมาอยู่คูขุด โยมแม่เล่าว่า สมัยนั้น ยังไม่มีไฟฟ้า อยู่กลางสวนยางตามเกียงป๋อง (ตะเกียงน้ำมันกาด)

ประเด็นที่ดินหน้ามอ.หาดใหญ่นี้ ลูกหลานคุยสนุกๆ กันว่า ถ้าได้ซื้อแล้วตกทอดมาถึงปัจจุบัน ลูกหลานคงจะรวยระเบิด…

เมื่อก๋องยังอยู่ ก๋องก็จะทำพิธีไหว้ก๋องไหว้ศพทุกปี (มีฮ้วงซุ้ยหรือหลุมศพก๋องของก๋องที่มาจากเมืองจีนอยู่ที่ป่าช้าหน้าวัด กระดังงา) แต่เมื่อก๋องจากไป ลูกหลานของก๋องบางครอบครัวก็ยกเลิกไม่ไหว้ ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละคน…

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสตรุษจีนปีนี้ ผู้เขียนก็เล่าถึงบ้านก๋องเพื่อเป็นที่ระลึกถึงก๋อง บรรพบุรุษคนสุดท้ายที่ทันเห็นก๋องในฮ้วงซุ้ยและบรรดาญาติอื่นๆ ที่มาจากเมืองจีน….

………………

อาชีพของครอบครัวที่คูขุดตอนนั้น นอกจากทำนาตามฤดูกาลแล้วก็เลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ด ส่วนอาชีพเสริมอื่น แม่ก็รับจ้างตัดเสื้อผ้าทั่วไป และพ่อก็วางกัดหรือออกอวนหากินอยู่ในทะเลสาบเหมือนกับครอบครัวอื่นๆ … ยังมีอาชีพหนึ่งก็คือหาเพรียงขาย ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ (คลิกที่นี้) ก็คัดลอกมาไว้ที่นี้เช่นกัน…

“”" ประมาณสองอาทิตย์ก่อน ผู้เขียนไปร่วมทอดกฐินที่วัดแหลมวัง ต.คูขุด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งบรรพบุรุษ ก็ได้เจอกับจรัญเพื่อนเกลอระดับบรมโบราณอีกครั้ง เขาก็พาไปเที่ยวที่บ้าน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ไปนานเกินนาน (คงจะเกือบสามสิบปี) และเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้เจอกัน เรื่องราวเก่าๆ ระหว่างเราทั้งสองก็จะผุดขึ้นสู่คลองความคิด…

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๔ คือตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่เข้าโรงเรียนจนกระทั้งราว ป.๑-๒ โยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญชวนกันไปเก็บเพรียงเพื่อนำมาให้เป็ดที่เลี้ยงไว้ และขายให้เจ้าของเป็ดอื่นๆ เมื่อไปเก็บเพรียงทั้งสองท่านก็พาลูกชายไปด้วย ผู้เขียนกับจรัญจึงเริ่มเป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอกันตั้งแต่นั้นมา…

สถานที่ไปหาเพรียงอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนใน ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดสงขลากับพัทลุง จุดที่ไปหาเพรียงจะเลยเกาะแหลมกรวดออกไปแต่ยังไม่ถึงเกาะสี่เกาะห้า แถวนั้นน้ำค่อนข้างตื้น (ประมาณสะเอวของผู้ใหญ่ ) คนในท้องถิ่นเรียกกันว่า หาด ใต้แผ่นน้ำลงไปจะเป็นแผ่นหินหรือก้อนกรวดมากกว่าที่จะเป็นดินหรือทราย ซึ่งเพรียงก็จะเกาะเรี่ยราดอยู่ตามพื้นหินพื้นกรวดนี้เอง…

ชีวิตคนหาเพรียงเริ่มต้นเมื่อก่อนจะสว่าง โดยโยมพ่อจะปลุกผู้เขียนเพื่อลงเรือหางยาวแล้วก็แล่นเรือหางยาวจากบ้านคูขุด ผ่านไปทางเกาะโคบแล้วตัดเข้าคลองกูด (คลองกูดเป็นเส้นแบ่งระหว่างเกาะโคบกับเกาะแหลมกรวด) ออกจากคลองกูดก็แล่นตรงไปยังหาด ตอนนั้นแสงอาทิตย์จะส่องมาทางด้านหลังเรือ เมื่อใกล้ๆ ถึงจุดหมายก็จะเิริ่มเห็นเรือหางยาวอีกลำแล่นตาม นั่นก็คือ เรือของพ่อจรัญ

เครื่องเรือของพ่อจรัญเป็นเครื่องรุ่นใหม่ จึงมักจะมาแซงเรือของโยมพ่อก่อนจะถึงจุดหมายเสมอ แต่ก็มีบางครั้งที่โยมพ่อไปถึงก่อน และเมื่อเรือสองลำจอดเทียบเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อทั้งสองก็จะเตรียมอุปกรณ์เพื่อเก็บเพรียง…

อุปกรณ์มีอย่างเดียว จะเป็นถุงทำด้วยเนื้ออวนเก่าๆ ซึ่งเป็นตาข่ายถี่ๆ มีขนาดสอบป่าน แต่ปากถุงจะมีไม้สองข้างถ่างออกมา และไม้จะยื่นออกมาเพื่อเป็นมือจับ เวลาจะเก็บเพรียงก็ต้องลงไปในทะเล เดินถอยหลังเอามือทั้งสองจับไม้ด้านบน ส่วนเท้าทั้งสองในน้ำก็ค่อยๆ กวาดเพรียงเข้าไปในถุง เมื่อได้พอสมควรก็จะนำขึ้นมาถ่ายใส่เรือครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้เรื่อยไปในแต่ละวัน…

คุณพ่อทั้งสองจะทำงานก่อนตอนเช้าพักหนึ่งแล้วจะทานอาหาร… ส่วนผู้เขียนกับจรัญ เมื่อเรือจอดก็จะนำเอาข้าวห่อซึ่งคุณแม่ทั้งสองเตรียมมาให้มาอวดกันว่า วันนี้ ของใคร แกงอะไร … ซึ่งกับข้าวเกือบทุกวันที่ขาดไม่ได้ก็คือปลาทอดกับไข่เป็ด…

ผู้เขียนกับจรัญจะมีอุปกรณ์เล็กๆ ซึ่งผู้ใหญ่ทำไว้ให้ด้วย แต่เราทั้งสองก็จะเล่นเสียมากกว่า เล่นไล่จับกันในน้ำบ้างบนเรือบ้าง เบื่อๆ เหนื่อยๆ ก็ขึ้นเรือมากินข้าว แล้วก็นั่งคุยกันตามประสาเด็ก แล้วก็ลงน้ำ แล้วก็ขึ้นมากิน คุยกัน เป็นอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั้งตะวันบ่าย เมื่อผู้ใหญ่ขี้เกียจแล้ว จึงแยกย้ายกันกลับมา…

หากวันไหนจรัญไม่มา วันนั้นผู้เขียนค่อนข้างจะหงอยเหงา เพราะต้องอยู่คนเดียว ลงไปเก็บเพรียงได้นิดหน่อยก็เบื่อ เล่นโดดน้ำอยู่คนเดียวก็เบื่อ หลับอยู่ในเรือตื่นหนึ่งแล้ว โยมพ่อก็ยังไม่เลิก… และแม้นวันไหนผู้เขียนไม่ไป จรัญก็คงจะเป็นเหมือนๆ กับผู้เขียน…

ตะวันบ่ายคล้อยก็มาถึงบ้านคูขุด โยมพ่อก็จะนำเพรียงไปส่งตามเล้าเป็ดต่างๆ ที่สั่งไว้ โดยตวงเป็นปี๊บ ถ้าจำไม่พลาดรู้สึกว่าปี๊บละ ๒ บาทนี้แหละ (ค่าเงินมากเหลือเกินสมัยนั้น) โดยเทใส่ในเล้าเป็ดไว้เลย (เล้าเป็ดมักจะอยู่ติดน้ำเรือเข้าถึง)

อาชีพเก็บเพรียงมาขาย ตามที่เล่ามา นอกจากโยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญแล้ว ก็ไม่เห็นเคยมีใครทำ ต่อมาทั้งสองก็เลิกทำ จำสาเหตุตอนนั้นไม่ได้ เคยถามโยมพ่อ เมื่อโตแล้ว ท่านว่า เพรียงน้อยลง ช่วงที่ไปหานั้นเพรียงมากเป็นพิเศษ ตอนนี้โยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญก็ถึงแก่กรรมไปสิบกว่าปีแล้วทั้งสองท่าน…

ผู้เขียนกับจรัญเข้าเรียนป.๑ ห้องเดียวกัน เมื่อผู้เขียนย้ายมาอยู่ในเมืองตอนอยู่ ป.๖ ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน หลายๆ ปีกว่าจะ้เจอและได้นั่งคุยกันนานๆ สักครั้ง เป็นความทรงจำสมัยเป็นเด็กตอนไปหาเพรียงกับพ่อ…

อนึ่ง จรัญจบแค่ ป.๗ ก็ออกเรียน ตอนนี้มีครอบครัวแล้ว มีลูก ๓ คน ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ มอ. ใกล้จะจบแล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกปลื้มใจในความสำเร็จของเพื่อน…

…………….

สรุปว่า “อาตมาเป็นไผ” ตอนนี้ นำเรื่องที่เคยเล่าไว้มาลงใหม่ แม้จะไม่เชื่อมต่อเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็หวังว่ากัลยาณมิตรในลานปัญญา คงจะใช้จินตนาการเชื่อมต่อกันได้…

Apr 18

เมื่อวาน มีใครคนหนึ่งถามว่า ทำไมไม่เขียน “เจ้าเป็นไผ” บ้าง ผู้เขียนก็บอกว่า ไม่มีใครชวน จึงไม่เขียน… ใครคนนี้จึงบอกว่าเขียนหน่อย แล้วเค้าจะเขียนบ้าง ผู้เขียนจึงจะเขียนนิดหน่อย ตามคำร้องขอของใครคนนั้น…

ไม่รู้ว่าคนอื่นนั้น จะจำอดีตแรกสุดเมื่อไหร่ แต่ผู้เขียนจำความได้ครั้งแรก ในวันที่น้องสาวของผู้เขียนจมน้ำตาย… เริ่มต้นว่า ผู้เขียนเป็นลูกคนโต มีน้องสาวคนเล็กอีกหนึ่งคนในตอนนั้น เรือนหลังแรกที่จำความได้นั้น จะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงประมาณสองเมตร กว้างยาวน่าจะไม่เกินด้านละห้าเมตร ลักษณะที่ตั้งของบ้านตามพื้นที่ในสมัยนั้น..

  • ด้านหน้าหันไปทางทิศใต้ อยู่ริมคลองตื้นๆ ตรงข้ามฝั่งคลอง ถัดออกไปไม่เกินร้อยเมตรก็จะมีเรือนของเพื่อนบ้าน…
  • ข้างบ้านด้านทิศตะวันออกจะเป็นถนนดินตัดผ่าน โดยคลองมาสิ้นสุดที่ริมถนน อีกฟากหนึ่งของถนนจะเป็นนาข้าว…
  • ทางทิศตะวันตกจะเป็นเนินดินว่างๆ ไว้เลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมู เลยออกไปอีกประมาณสองร้อยเมตรก็จะเป็นเรือนหลังใหญ่ของเพื่อนบ้านซึ่งตั้งอยู่ริมคลองเหมือนกัน ถัดจากเรือนหลังนั้นไปก็จะเป็นทะเล (ทะเลสาบสงขลาตอนใน)…
  • ด้านหลังจะมีที่ว่างเล็กน้อยแล้วก็จะไปชนกับด้านหลังเรือนของเพื่อนบ้าน ซึ่งด้านหน้าเรือนหลังนั้นออกไปก็จะเป็นคลองอีกเช่นกัน…

ฉากแรกชีวิตที่จำได้ ผู้เขียนเดินไปกับแม่เพื่อพาลูกหมูตายไปทิ้งลงคลองหลังบ้าน ทางทิศตะวันตก แต่เรือนตรงกันข้ามตะโกนบอกมาว่า เอาไปทิ้งในทะเลดีกว่า เพราะทิ้งไว้แถวนั้น ต่อไปจะส่งกลิ่นหมิ่น แม่จึงยืมเรือพายที่จอดอยู่ในคลองตรงนั้นพาลูกหมูตายไปทิ้งในทะเล ส่วนผู้เขียนก็นั่งคอยอยู่ที่ก้อนหินใหญ่ริมคลอง กะว่าประเดียวแม่จะมา แต่ผู้เขียนคอยจนกระทั้งหลับไป จนกระทั้งแม่มาปลุก มองดูในเรือ มีสาหร่ายอยู่ แสดงว่าแม่เก็บสาหร่ายมาด้วยเพื่อจะเป็นอาหารหมู…

ผู้เขียนก็เดินกลับมายังเรือนพร้อมกับแม่ ซึ่งจากก้อนหินที่ผู้เขียนนั่งคอยแม่อยู่กับเรือนนั้น น่าจะไม่เกินสามร้อยเมตร… เมื่อมาถึงน้องไม่อยู่ที่บนเรือน เห็นแต่เพียงลูกด้าย เชือกด้าย และเศษผ้าซึ่งน้องเล่นทิ้งอยู่บนเรือน (แม่เป็นช่างตัดเสื้อ และมีจักรอยู่ที่บ้าน แม้กระทั้งปัจจุบัน) ผู้เขียนกับแม่ เที่ยวค้นหาทั่วละแวกนั้นก็ไม่เจอ… จนกระทั้ง ผุ้เขียนอยู่บนเรือน มองลงไปที่ริมคลองหน้าบ้าน เยื้องไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย จะมีกองหินซึ่งขนมาจากเกาะ บางส่วนก็จมอยู่ในคลอง สถานที่นั้นจะใช้เป็นที่ซักผ้าเป็นประจำ ผู้เขียนสังเกตเห็นผ้าสีแดงๆ เหลืองๆ ซึ่งเป็นเศษผ้าลูกไม้ ที่แม่ตัดเป็นเสื้อให้น้อง ก็บอกแม่… แม่ลงไป ผุ้เขียนก็มองตามไป เมื่อแม่หยิบเสื้อขึ้นมา ร่างน้องก็ติดมาด้วย แม่ก็ร้อง จำได้ว่า ผู้เขียนยังไม่เข้าใจทุกข์คือความตายในช่วงนั้น…

เรือนหลังที่ว่า ตั้งอยู่ที่บ้านคูขุด แถวนั้น คนในท้องถิ่นสมัยก่อนเรียกกันว่า บ้านหนองหม่าว แต่ปัจจุบันหนองหม่าวสูญหายไปแล้ว คนในท้องถิ่นจะเรียกกันว่า บ้านพักจากล่าง เพราะด้านทิศตะวันออกเลยนาข้าวไปประมาณห้าร้อยเมตร จะเรียกกันว่า บ้านพังจาก เดียวนี้จึงมีชื่อคู่กันว่า พังจากบน พังจากล่าง…

ศพน้องสาวคนนี้ ไม่ได้เผา แต่นำไปฝังที่ป่าช้าวัดแหลมวัง ที่ริมคลอง ระหว่างต้นตุ่มซึ่งขึ้นอยู่เป็นกอๆ … ตั้งแต่ครั้งโน้นมา คราวใดที่ผู้เขียนผ่านป่าช้าจะแวะไปเยี่ยมหลุมศพน้องทุกครั้ง จนกระทั้งจำไม่ได้ว่าที่ตรงไหนกันแน่ และปัจจุบันนี้ คราวใดที่ผู้เขียนไปที่ป่าช้า ผู้เขียนจะนึกถึงน้องคนนี้เสมอ… ปัจจุบันมีการตัดถนนริมคลอง ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ที่ฝังศพน้องนั้น น่าจะอยู่กลางถนน อย่างไรก็ตาม ร่างของน้องคงจะกลายเป็นดินและอื่นๆ ไปนานแล้วตามสภาพ…

นอกนั้นก็จำเหตุการณ์อื่นๆ ไม่ได้… มาจำได้อีกครั้ง ก็ย้ายมาอยู่เรือนหลังใหม่ที่คลองหลา ซึ่งเป็นย่านธุรกิจของบ้านคูขุดและชุมชนริมทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น เป็นบ้านไม้ปลูกทำนองห้องแถวชั้นครึ่ง แต่ด้านหลังก็เป็นลานเนินดิน ใช้เลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมูได้ เป็นบ้านของญาติห่างๆ… สำหรับบ้านคูขุดนั้น เป็นหมู่บ้านใหญ่ จะใช้คลองหลาเป็นศูนย์กลาง หมู่บ้านที่อยู่ทางทิศเหนือของคลองหลาจะเรียกว่า บ้านตีน (ตีน เป็นคำปักษ์ใต้แปลว่า ทิศเหนือ) ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ทางทิศใต้ของคลองหลาจะเรียกกันว่า บ้านหัวนอน (หัวนอน เป็นคำปักษ์ใต้แปลว่า ทิศใต้)… บ้านหัวนอนนั้นจะเป็นชาวไทยพุทธล้วน ส่วนบ้านตีนลึกเข้าไปจะมีชาวไทยมุสลิมโดยผสมอยู่ และที่บ้านตีนนี้มีสุเหร่าด้วย…

บ้านที่่ผู้เขียนอยู่นั้น ห่างจากคลองหลาไปทางทิศเหนือประมาณสองร้อยเมตร ดังนั้น ผู้เขียนอาจพูดได้ว่าสมัยหนึ่งเป็นเด็กบ้านตีนเช่นเดียวกัน เคยวิ่งเล่นอยู่แถวสุเหร่า มีบังบางคนรักห่วงผู้เขียนมาก ชอบพาไปเที่ยวเสมอ พยายามนึกและสืบมาหลายสิบปีแล้วก็ยังไม่ได้ความ… ส่วนบ้านหนองหม่าวที่เคยอยู่ก่อนย้ายมานั้น จัดว่าเป็นบ้านหัวนอน ถัดไปจากคลองหลาทางทิศใต้ประมาณสองกิโลเมตร…

คลองหลา คูขุด ในสมัยนั้น จัดว่าเป็นชุมชนใหญ่และย่านธุรกิจแห่งหนึ่งของริมทะเลสาบสงขลา เช่น มีร้านขายของขนาดใหญ่ มีน้ำแข็งและน้ำมันขาย มีร้านน้ำชา ร้านก๋วยเตียว หรือโรตีก็มีขาย เป็นต้น… การคมนาคม มีเรือโดยสารวิ่งจากคูขุดคือคลองหลาไปยังอำเภอปากพะยูน และคลองลำปำ อำเภอมือง ของจังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นก็มีเรือโดยสารวิ่งมาอำเภอเมืองสงขลาและวิ่งไปอำเภอระโนดตามโอกาส… บริเวณย่านคลองหลา มีวิกหนังชื่อว่า ศรีคูขุด ซึ่งนอกจากมีหนังฉายแล้วก็มี ลิเก มโนราห์ ตลอดถึงคณะละครสัตว์ไปแสดงตามโอกาส… เรือนผู้เขียนอยู่ห่างจากวิกประมาณสามร้อยเมตร ดังนั้น ตอนเป็นเด็กที่นี้ ผู้เขียนยังคงจำได้ว่าหลายครั้งเคยไปดูหนังหรือลิเก แล้วก็เผลอหลับไป ตื่นขึ้นมาในวิกหนังมีอยู่แต่ผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น จึงต้องลุกขึ้นเดินอย่างหงอยเหงากลับบ้านคนเดียว (5 5 5…)

ผู้เขียนน่าจะเติบโตอยู่แถวคลองหลาประมาณ ๒-๓ ปี เพราะมาได้น้องชายและน้องสาวเพิ่มอีกสองคนที่บ้านหลังนี้ และเมื่อเข้าเรียน ป.๑ ที่โรงเรียนวัดคูขุด ในปี ๒๔๑๒ ก็ยังคงอยู่บ้านหลังนี้… ลองทบทวนย้อนอดีตไป วันที่น้องสาวคนแรกของผู้เขียนจมน้ำนั้น ผู้เขียนน่าจะอายุไม่เกิน ๕ ขวบ และวันนั้น ถ้าผู้เขียนไม่นั่งคอยแม่จนหลับไปริมคลอง แต่เดินกลับบ้านไปก่อน น้องน่าจะไม่ไปเล่นซักผ้าจนพลัดตกน้ำ…

ฟังว่า ก่อนที่จะไปอยู่บ้านหนองหม่าวนั้น ตอนเด็กๆ ครอบครัวของผู้เขียนอาศัยอยู่บ้านก๋งที่ตำบลกระดังงามาก่อน ตอนหลังเมื่อย้ายมาอยู่สงขลาแล้ว เจอญาติบางคนมาเยี่ยมที่บ้าน เขาบอกว่า ตอนเขาเป็นวัยรุ่นนั้น เคยช่วยพ่อทำงานในโรงสีของก๋ง ส่วนผู้เขียนนั้น เขาเคยอุ้มไปไหนมาไหนตั้งแต่เด็กๆ แต่ผู้เขียนจำช่วงนี้ไม่ได้… จำได้แต่เพียงว่าอยู่หนองหม่าวน้องสาวจมน้ำ แล้วมาอยู่บ้านตีน ได้เริ่มเข้าโรงเรียนตอนอยู่ที่นี้ แต่ก็ยังไม่ทันจบป.๑ นมตาย ! (นม เรียกตามแม่และน้าๆ อันที่จริงต้องเรียกว่า แม่เฒ่า ส่วนภาษากลางก็คือ ยาย) ครอบครัวผู้เขียนจึงต้องย้ายอีกครั้งเป็นครั้งที่สี่…

ยังไม่ได้ขึ้นป.๒ เลย รู้สึกเหนื่อยแล้ว ว่างๆ ค่อยมาเขียนต่อ…

Apr 01

http://lanpanya.com/journal/files/2009/03/picture-1.jpg

หนึ่งดวงจะมี ๑๒ ราศี ซึ่งแต่ละราศีจะมีพระเคราะห์อยู่ครอบครองเป็นเจ้าราศี เรียกกันว่า ดาวเจ้าเรือนแห่งราศีนั้น ซึ่งดาวเจ้าเรือนแต่ละราศีนี้จะเรียกกันตามวิชาโหรว่า ดาวเกษตร เช่น ดาวศุกร์เป็นเจ้าเรือนในราศีตุลย์ จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ราศีตุลย์มีดาวศุกร์เป็นเกษตร เป็นต้น…

ส่วน ภพ คือสถานภาพของแต่ละเรือนหรือแต่ละราศีที่ส่งผลต่อลัคนานั้นๆ ท่านให้นับทวนเข็มนาฬิกาไปโดยเริ่มจากลัคนาว่า ตนุ ต่อจากนั้นก็เป็น กุฏุุมพะ สหัชชะ พันธุ ปุตตะ อริ ปัตนิ มรณะ ศุภะ กัมมะ ลาภะ และ วินาสะ… ต่อแต่นี้จะได้วิจารณ์ดวงลานปัญญาตามนัยภพเหล่านี้สืบต่อไป…

ตนุ หมายถึง ตัวเองผู้เป็นเจ้าชาดาหรือดวงนั้นๆ สำหรับดวงลานปัญญามี พระศุกร์ (๖) เป็นเกษตร ดังนั้น พระศุกร์จึงถือว่าเป็นตนุ ซึ่งในดวงกำเนิดของลานปัญญา พระศุกร์หรือตนุไปตกอยู่ที่ราศีเมถุน ซึ่งเป็นภพศุภะ และราศีเมถุนมีพระพุธ (๔) เป็นเกษตร… วิธีอ่านดวงจึงต้องนำมาผสมกันทำนองว่า ตนุ+ศุภะ และ พระศุกร์+พระพุธ (๖+๔) ถ้ามีพระเคราะห์อื่นๆ มาสัมพันธ์หรือโยงถึงที่นี้ก็ต้องนำมาผสมผสานกันอีกครั้งเพื่อจะอ่านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น… พระศุกร์ซึ่งเป็นตนุแห่งลัคนาราศีตุลย์นี้ เรียกกันย่อๆ ว่า ตนุลัคน์ ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไว้แล้วในตอนแรก ฉะนั้น ใครสนใจก็กลับไปอ่านตอนแรกได้…

ภพที่สองคือ กุฏุุุมพะ หมายถึง ทรัพย์ จัดเป็นความมั่นคงเบื้องต้นของดวงชาตา ดวงลานปัญญา มีราศีพิจิกเป็นกุฏุุมพะ ซึ่งมีพระอังคาร (๓) เป็นเกษตร นั่นคือพระอังคารเป็นกูกูมพะของลานดวงปัญญา ดังนั้นจึงต้องตามไปดูว่าพระอังคารสถิตอยู่ที่ไหนตอนดวงลานปัญญาให้กำเนิดมา… ตามดวงพระอังคารไปสถิตอยู่ที่ราศีสิงค์ซึ่งเป็นภพลาภะ เรียกกันตามวิชาโหรว่า กุฏุมพะตกลาภะ และราศีสิงห์มีพระอาทิตย์ (๑) เป็นดาวเกษตร นั่นคือ พระอังคาร + พระอาทิตย์ (๓+๑) นี้คือเบื้องต้นที่ต้องอ่านให้ได้…

ลาภะ หมายถึง สิ่งที่จะได้มา จัดเป็นความมั่นคงในอนาคต เมื่อกุฏุมพะตกลาภะ ก็อาจทำนายได้ว่า ลานปัญญามีความมั่นคงด้านทุนรอนในเบื้องต้นและจะส่งผลให้ได้สิ่งที่พึงปรารถนาอันเป็นความมั่นคงในอนาคตสืบต่อไป ถือว่าดี มิใข่เสีย นี้ประเด็นแรก… ต่อไปก็ต้องดูว่า พระอาทิตย์ไปสถิตอยุ่ที่ใด ก็พบว่าพระอาทิตย์ไปสถิตอยู่ที่เรือนศุภะ ก็อาจผสมกันได้ว่า กุฏุมพะ + ลาภะ + ศุภะ

ศุภะ แปลตามศัพท์ว่า งาม แต่วิชาโหรหมายถึง การสนับสนุนช่วยเหลือต่อลัคนา ซึ่งอาจหมายถึงญาติผู้ใหญ่ หัวหน้า หรือเจ้านาย ผู้ที่จะสนับสนุนหรือเป็นคุณต่อดวงชาตา… เมื่อกุฏุมพะ + ลาภะ + ศุภะ ก็อาจทำนายได้ว่า ลานปัญญาจะมีผู้สนับสนุนด้านทุนรอนอยู่เสมอ มีความมั่นคงด้านทุนรอน จะไม่เดือดร้อน จะไม่เป็นปัญหาในประเด็นนี้…

แต่ ภพลาภะ ที่พระอังคารซึ่งเป็นกุฏุมพะไปสถิตอยู่นั้น มิได้ไปสถิตแต่เพียงลำพัง ยังมีพระเสาร์ (๗) และพระเกตุ (๙) อยู่ร่วม ซึ่งวิชาโหรเรียกว่า กุม นั่นคือ พระอังคารกุมพระเสาร์และพระเกตุ ประเด็นนี้ก็ต้องทำนายให้ลึกลงไปอีก แต่จะพักประเด็นนี้ไว้ก่อน…

ภพที่สามคือ สหัชชะ แปลว่า เพื่อน หรือพวกพ้อง โดยในดวงลานปัญญานี้ ราศีธนูจัดเป็นภพสหัชชะ โดยมีพระพฤหัส (๕) เป็นเกษตร และสถิตอยู่ในเรือนของตนเองตามลำพัง… พอที่จะอ่านได้ว่า ดวงลานปัญญา มีความรู้เท่านั้นเป็นเพื่อนตามลำพัง เพราะพระพฤหัสหมายถึงความรู้

แต่ตรงกันข้ามกับราศีธนู คือ ราศีเมถุน มีกลุ่มดาวเล็งอยู่ได้แก่ พระอาทิตย์ พระพุธ และพระศุกร์ ซึ่งต้องนำมาผสมกับพระพฤหัสอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นเพื่อน พวกพ้อง หรือเครือข่ายของลานปัญญานั้น นอกจากความรู้แล้วก็มามีกลุ่มผู้มีอำนาจ (๑) ที่เข้ามาเป็นเครือข่าย กลุ่มนักคิดนักเขียน (๔) ก็อาจเข้ามาเป็นเครือข่าย และอาจมีกลุ่มสำรวยรักสวยรักงาม (๖) เข้ามาเป็นเครือข่ายอีกพวกหนึ่ง… อย่างไรก็ตาม ลึกๆ แล้วดวงลานปัญญาก็มีแต่เพียงความรู้อย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นเพื่อนหรือเครือข่าย และค่อนข้างจะมั่นคง ไม่แปรผัน เพราะพระพฤหัสเป็นเกษตรนั่นเอง…

ผู้เขียนก็เล่าดวงปัญญามาเพียงสามตอน รู้สึกเบื่อแล้ว เพราะยิ่งเล่าก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งยาว ยิ่งรู้สึกว่ายังบกพร่อง… ด้วยว่า มีประเด็นรายละเอียดอื่นๆ อีกที่มิได้นำมาประกอบคำทำนาย กล่าวคือ เรื่องธาตุ เรื่องดาวคู่มิตร คู่ศัตรู คู่ธาตุ คู่สมพล เรื่องดาวแลกเรือน เรื่องการโยคหน้า โยคหลัง และตรีโกณ เป็นต้น

  • ดังนั้น ผู้เขียนจะทิ้งเรื่องดวงปัญญาไว้แต่เพียงแค่นี้ เมื่อไหร่ก็ตาม รู้สึกสนุก ใคร่จะเขียนต่อ ก็จะเขียนต่อ แต่ไม่ขอสัญญาว่าจะเขียนเมื่อไหร่…
Mar 29

http://lanpanya.com/journal/files/2009/03/picture-1.jpg

ลานปัญญา ถือกำเนิดใน เทวีฤกษ์ จัดว่าเป็นนางพญาผู้มีเกียรติยศหรือศักดิ์ศรีสูงสุดในฝ่ายสตรีเพศ นั่นคือ มีอิสรภาพ มั่นคงยั่งยืน ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ใด ส่วนความเป็นไปแห่งอำนาจก็ใช้น้ำใจมากกว่าระเบียบกฎเกณฑ์ แต่ถ้าจะร้ายก็น่ากลัวทำนองอารมณ์ของสตรีเพศ (ซึ่งต่างจากราชาฤกษ์ที่เน้นระเบียบกฎเกณฑ์มากกว่า แม้จะร้ายก็ยังคำนึงถึงกฎระเบียบ)

สำหรับลานปัญญาลัคนาสถิตราศีตุลย์ แต่จัดเป็น ลัคน์ลอย จึงค่อนข้างอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เพราะไม่มีพระเคราะห์ดวงใดกุมอยู่เลย (สังเกตว่า จะมี ส. อยู่โดดๆ ในราศีตุลย์) ดังนั้น เมื่อพิจารณาในแง่นี้ ถ้าลานปัญญาเป็นคนก็อาจทำนายว่าอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ขาดการสนับสนุนจากคนอื่นๆ เท่าที่ควร ต้องพาตนเองไปตามยถากรรม แต่เมื่อเป็นเวบบล็อกก็อาจทำนายว่า ไม่มีเวบอื่นสนับสนุน ช่วยประคับประคอง ต้องพัฒนาเองไปตามที่เห็นสมควร…

ราศีตุลย์ จัดเป็น ธาตุลม จึงมีธรรมชาติที่ไม่มีรูปแบบแน่นอน เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว… และเป็น ธาตุลมกลาง นั่นคือ มีำกำลังแรง ทำให้ความเปลี่ยนแปลงไร้รูปแบบเป็นไปตลอดเวลา… ซึ่งตามนัยนี้ อาจเห็นได้ว่าบล็อกในลานปัญญานี้ แต่ละบล็อกก็พัฒนาเองตามความชอบใจ ไม่ค่อยจะสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว ผู้เขียนเห็นว่า กรณีนี้อาจมาจากอิทธิพลของลัคน์ลอยและธาตุลม…

ในการดูพื้นฐานดวงนั้น ครูโหรบางท่านบอกว่า นอกจากลัคนาแล้ว เบื้องต้นให้ดู ตนุลัคน์ ตนุเศษ และ ตนุเกษตร ตามลำดับ… โดยมีหลักการว่า ตนุลัคน์ดูลักษณะ ตนุเศษดูนิสัย ส่วนตนุเกษตรดูความเป็นไป

ตนุลัคน์ หมายถึง พระเคราะห์ที่เป็นเกษตรของลัคนานั้น ซึ่งดวงลานปัญญานี้สถิตราศีตุลย์โดยมี พระศุกร์ (๖) เป็นเกษตร จึงถือว่าพระศุกร์เป็นตนุลัคน์ ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนได้เล่าไว้แล้วในครั้งก่อน จึงผ่านไป…

ตนุเศษ เป็นสูตรที่ใช้ทางโหราศาสตร์ วิธีการก็คือ ให้นับทวนเข็มนาฬิกาจากราศีลัคนาไปยังราศีที่ตนุลัคน์สถิตอยู่ แล้วก็นับจากราศีที่ตนุลัคน์สถิตไปยังดาวเกษตรของราศีนั้น ได้เท่าไหร่แล้วเอาสองอย่างนี้มาคูณกัน แล้วก็หารด้วยเจ็ด เหลือเท่าไหร่ก็จัดเป็นตนุเศษ… ซึ่งในดวงลานปัญญานี้ ตนุลัคน์ (๖) ไปสถิตราศีเมถุน นับไปได้เก้าย่าง ส่วนเกษตรของราศีเมถุนก็คือพระพุธ (๔) สถิตอยู่ในราศีของตนเองจึงนับได้แค่หนึ่ง ครั้งเอาเก้ามาคูณกับหนึ่งแล้วหารด้วยเจ็ดจึงเหลือเศษสอง ดังนั้น ตนุเศษของดวงลานปัญญาก็คือพระจันทร์ (๒) ซึ่งในดวงข้างบนจะมีเครื่องหมาย (+) อยู่เหนือ (๒) นั่นคือเป็นที่หมายรู้ว่า (๒) เป็นตนุเศษ จึงต้องพิจารณานิสัยของลานปัญญาจากพระจันทร์

“ทายจริตทายจันทร์” นั่นคือ ลานปัญญาจะมีนิสัยแบบพระจันทร์ ฉลาดแบบผู้หญิง แม้จะเข้าใจและรู้เท่าทันคนอื่นได้ดี แต่แกล้งไม่รู้ไม่เข้าใจ บางครั้งก็มีความแปรปรวนยากที่จะทำความเข้าใจหรือติดต่อสื่อสารกันได้…

พระจันทร์ซึ่งเป็นตนุเศษ สถิตอยุ่ราศีกรกฎชึ่งเป็นเรือนเกษตรของตน จึงมีความมั่นใจในตนเอง แม้จะผิดหรือถูกก็ตาม ไม่ค่อยใส่ใจคนอื่นมากนัก หรือจะว่าเอาแต่ใจตนเองก็ได้…

อนึ่ง พระจันทร์นี้มี พระราหู (๘) สถิตอยู่ราศีมังกรเล็งอยู่ จัดว่าเป็นคราส และครูโหรบอกว่า “ทายมัวเมาทายราหู” … จึงอาจทำนายได้ว่า ลานปัญญามีนิสัยจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน มีความพยายามจะครอบงำซึ่งกันและกันอยู่เสมอ…

ตนุลัคน์ไปสถิตอยู่ราศีใด ให้ถือว่าดาวเจ้าเรือนราศีนั้นเป็นตนุเกษตร ในดวงลานปัญญาตนุลัคน์ (๖) สถิตอยู่ในราศีเมถุนซึ่งมีพระพุธ (๔) เป็นดาวเจ้าเรือน ดังนั้น พระพุธ จึงจัดเป็น ตนุเกษตร ของลานปัญญา…

ดังกล่าวไว้แล้วในครั้งก่อนว่า พระพุธ หมายถึง คำพูด การสนทนา หนังสือ หรือความคิดริเริ่ม… นั่นแสดงให้เห็นว่า ลานปัญญาย่อมมีแนวโน้มไปทางนี้ หรืออนาคตของลานปัญญาจะเป็นที่บ่มเพาะของกลุ่มนักคิด นักวิจารณ์…

อนึ่ง พระพุธ (๔) มีพระอาทิตย์ (๑) กุมอยู่ ซึ่งสี่กับหนึ่งนี้รวมกันได้ห้า และ (๕) คือ พระพฤหัสอันเป็นดาวครูหรือนักปราชญ์ ดังนั้น ครูโหรจึงถือว่า (๑) กับ (๔) จัดเป็น ดาวคู่วิชาการ… ในส่วนนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า ลานปัญญาน่าจะเจริญรุ่งเรืองในการนำเสนอความคิดเห็นแปลกๆ ใหม่ๆ ที่น่าสนใจในเชิงวิชาการ….

แต่ในราศีนี้ยังมีพระศุกร์ (๖) อยู่ร่วมกับดาวคู่วิชาการ และยังมีพระพฤหัส (๕) จากราศีธนูเล็งมาอีกด้วย… ประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่าไม่ค่อยจะเป็นคุณต่อลานปัญญานัก เพราะครูโหรบอกว่า (๖) ก็จัดเป็นดาวครูแต่เป็น ครูอสูร ส่วน (๕) ก็จัดเป็นดาวครูแต่เป็น ครูเทวดา… ธรรมดาว่าครูกับครูย่อมรู้ทันกัน มักจะอิจฉาแข่งดีแข่งเด่นซึ่งกันและกัน ดังนั้นความคิดริ่เริ่มจากตนุเกษตร (๔) ที่ได้ (๑) สนับสนุนเป็นดาวคู่วิชาการนั้น แม้จะอาจเป็นไปตามนัยนี้ในอนาคต แต่ก็อาจไม่โดดเด่นเท่าที่ควรเพราะมัวแต่อิจฉาริษยากัน… ประมาณนั้น

  • ยาวพอสมควรแล้ว จะพักไว้ก่อน ยังมีเรื่อง ๑๒ ภพที่พอจะเล่าได้อีกตอนเป็นอย่างน้อย….
Mar 26

http://lanpanya.com/journal/files/2009/03/picture-1.jpg

ลานปัญญา ถือกำเนิดทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ครั้งแรกนั้นชื่อว่า lanpanya.net ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่เมืองไทยก็เปลี่ยนนามสกุลใหม่จึงได้ชื่อว่า lanpanya.com เมื่อจะพิจารณาดวงชาตาก็จะใช้กำเนิดเดิม เพราะเป็นรากเหง้าของสิ่งนั้น ทำนองเดียวกับคนเราแรกเกิด แม้จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพอย่างไรและกิ่ครั้งก็ตาม แต่รากเหง้าตอนแรกเกิดก็ยังคงติดตัวอยู่…

ลานปัญญาถือกำเนิดใน ราศีตุลย์ หมายถึงคันชั่ง ซึ่งเดิมทีนั้นมนุษย์นิยมใช้คันชั่งเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจะได้เกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ราศีนี้จึงหมายถึงธุรกิจการเงินการธนาคาร และหมายถึงกระบวนการที่ก่อให้เกิดความยุติธรรม… เมื่อมาพิจารณา ลานปัญญา จึงน่าจะเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันอย่างยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียมกัน

ราศีตุลย์มี พระศุกร์ (๖) เป็นดาวเจ้าเรือน ซึ่งมีคำทำนายว่า “ทายกิเลสกำหนัดทายศุกร์” นั่นคือ ลานปัญญามีความสำรวยรักสวยรักงาม มีความพึงพอใจในความเป็นลานปัญญา และทั้งยังมีความปรารถนาเพื่อความสวยงามยิ่งๆ ขึ้นไป… พระศุกร์ ซึ่งเป็นตนุลัคน์ มิได้สถิตอยู่ในราศีตุลย์เรือนของตนเอง แต่ไปสถิตอยู่ที่ราศีเมถุน ดังนั้น จึงต้องตามไป…

พระศุกร์สถิตอยู่ ราศีเมถุน หมายถึงคนคู่ ซึ่งบ่งชี้การอยู่ร่วม ติดต่อ มนุษย์สัมพันธ์ สังคม และนี้คือความเป็นไปของลานปัญญา… แต่ราศีเมถุนนี้มิใช่จะมีแต่พระศุกร์เท่านั้น ยังมีพระอาทิตย์ (๑) และพระพุธ (๔) อีกด้วย แสดงว่าลานปัญญาชอบที่จะยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น ชอบสังคม ไม่ชอบปลีกตัวอยู่ตามลำพัง… จึงต้องตรวจสอบพระอาทิตย์และพระพุธต่อไป…

พระศุกร์อยู่ร่วมกับพระอาทิตย์และพระพุธ โดย พระอาทิตย์ มีทำนายว่า “ทายเกียรติยศทายอาทิตย์” ซึ่งพระอาทิตย์นี้ได้แก่คนมีอำนาจ มียศ มีตำแหน่ง หรือชนชั้นปกครอง … ขณะที่ พระพุธ มีทำนายว่า “ทายวาจาทายพุธ” ซึ่งพระพุธนี้ได้แก่คนชอบโวหารการเจรจา หรือพัฒนามาเป็นหนังสือในปัจจุบัน และนักคิดนักวิจารณ์ก็จัดว่าเป็นพระพุธเหมือนกัน… ส่วนพระศุกร์เองคือผู้ที่สำรวยรักสวยรักงาม และนี้คือกลุ่มคนที่ติดต่อสื่อสารสังคมกันอยู่ในลานปัญญา…

อนึ่ง ตรงข้ามราศีเมถุนที่พระเคราะห์ทั้งสามดวงนี้สถิตอยู่ได้แก่ราศีธนู ซึ่งมี พระพฤหัส (๕) เป็นเจ้าเรือน ในขณะที่กำเนิดลานปัญญาพระพฤหัสสถิตอยู่ในเรือนของตนและกำลังเล็งมายังพระเคราะห์ทั้งสามดวงนี้… มีทำนายว่า “ทายปัญญาบริสุทธิ์ทายพฤหัส” ซึ่งพระพฤหัสนี้จัดเป็นดาวครู หรือนักปราชญ์ราชบัญฑิตก็ได้ นั่นก็คือ สังคมการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกในลานปัญญาจะถูกตรวจสอบและเพ่งเล็งจากผู้มีปัญญาอยู่ตลอดเวลา และผู้มีปัญญานี้จะมีอำนาจมั่นคงเพราะสถิตอยู่ในราศีธนูซึ่งเป็นเรือนของตน…

อีกนัยหนึ่ง ราศีเมถุนเป็น ศุภะ จัดเป็นภพที่ให้คุณ สนับสนุน ช่วยเหลือเพื่อความมั่นคง ดังนั้น ลานปัญญาจึงเป็นไปเพื่อการณ์นี้… ส่วนราศีธนูเป็น สหัชชะ จัดเป็นเพื่อนพ้อง มิตรสหาย เมื่อมีพระพฤหัสเจ้าเรือนสถิตอยู่แล้วเล็งมายังราศีเมถุน จึงพอจะคาดหมายได้ว่า ผู้มีปัญญาที่เพ่งเล็งเฝ้ามองกลุ่มชนในลานปัญญานี้ เป็นไปฉันท์มิตรสหาย ยินดีจะช่วยเหลือเกื้อกูล…

มีเกจิบางท่านบอกว่า ๑+๔+๖ เมื่อมาร่วมกันให้แปลว่า ขี้เหนียว แต่เมื่อมาเป็นลานปัญญาก็อาจทำนายว่า การพบปะสื่อสารในลานปัญญา ต่างก็สงวนท่าที เกรงกลัวจะถูกหลอก กลัวจะเสียเปรียบ นั่นคือแต่ละคนต่างก็มีความละเอียดรอบคอบในการเข้าร่วมสังคม ซึ่งเป็นการแปลความหมายมาจากความเป็นคนขี้เหนียวอีกต่อหนึ่ง…

ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกเยอะ แต่คืนนี้เจ็บตาแล้ว ค่อยติดตามต่อตอนต่อไป…

Mar 14

ชาติหน้า ผีสางเทวดา และผลกรรมดีชั่วมีจริงหรือไม่ ? นับว่ายังคงมีคนสงสัยอยู่ตราบจนปัจจุบัน จากเรื่องราวในปายาสิราชัญญสูตรที่ผู้เขียนประยุกต์นำมาเล่าตามลำดับ (คลิกที่นี้) แม้จะทำให้ผู้อ่านมีแง่คิดเพิ่มขึ้น แต่ผู้เขียนก็ยังคงเชื่อว่า พวกเราก็ยังสงสัยอยู่เหมือนเดิม ซึ่งประเด็นนี้ ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหาก็คือปัญหา แต่ถ้าเรามองว่าไม่เป็นปัญหาก็ไม่เป็นปัญหา

ขงจื้อ ปรัชญาเมธีจีนโบราณ ก็เคยถูกถาม ซึ่งเขาก็ได้ตอบเบี่ยงเบนประเด็น แต่เป็นข้อคิดว่า เรื่องของมนุษย์โลกก็ยุ่งยากเกินแล้ว ไฉนต้องไปยุ่งกับเรื่องของเทวดาสวรรค์อีกเล่า… อะไรทำนองนี้

เมื่อ ว่าตามหลักศาสนาทั่วไป จะมีคำสอนเรื่องทำนองนี้ เพียงแต่รายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น ชาติหน้า บางศาสนาอาจถือว่ามีเพียงครั้งเดียวเป็นครั้งสุดท้าย กล่าวคือ ถ้าไม่ตกนรกอยู่กับซาตานแล้วก็จะไปอยู่ในอาณาจักรพระเจ้ารวมเป็นหนึ่งเดียว กับพระเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ชาติหน้าจึงมีสืบต่อไปสูงๆ ต่ำๆ ตามแต่ผลกรรมจะพาไป เป็นต้น

ผี สางเทวดาก็เหมือนกัน แต่ละศาสนาก็ให้ความเห็นแตกต่างกันไป เช่น ความเชื่อจีนโบราณก็มีเง็กเซียนฮ่องเต้ปกครองสวรรค์และโลกมนุษย์ ทั้งมีสัตว์ร้ายที่บำเพ็ญบารมีจนมีอิทธิฤทธิ์กลายเป็นปีศาจ ขณะที่ศาสนาโซโลเอสเตอร์ของชาวเปอร์เชียโบราณก็มีเทพเจ้าสูงสุดสององค์ ได้แก่ เทพเจ้าแห่งความดี และเทพเจ้าแห่งความชั่ว มนุษย์โลกจะถูกเทพเจ้าทั้งสองนี้บ่งการณ์หรือครอบงำตามแต่โอกาส ส่วนพุทธศาสนาเชื่อว่าผีสางเทวดานั้น ดีบ้างชั่วบ้าง ขึ้นอยู่กับกรรมเหมือนกัน มิได้สูงหรือด้อยกว่ามนุษย์อะไรนัก และยกย่องว่าความเป็นมนุษย์มีคุณค่าสูงในการบำเพ็ญบารมีกว่าผีสางเทวดาทั้ง หลาย เป็นต้น

ส่วน เรื่องผลกรรมดีชั่วนั้น แต่ละศาสนาก็ต่างกัน โดยศาสนาฝ่ายเทววิทยาที่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกบอกว่าการทำดีก็คือการทำ ตามโองการของพระเจ้า ส่วนการทำชั่วก็คือการละเมิดโองการของพระเจ้า ส่วนพุทธศาสนาจัดเป็นฝ่ายอเทวนิยมซึ่งไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกบอกว่า สุทธิ อสุทธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนหนึ่งพึงให้อีกคนหนึ่งบริสุทธิ์นั้นหามิได้เลย นั่นคือ สอนให้เชื่อตัวเองกระทำสิ่งต่างๆ โดยตัวเองเป็นสำคัญ เป็นต้น

และ สุดท้าย มุมมองทางปรัชญาบอกว่า ความเชื่อความเห็นทำนองนี้ จะจริงหรือไม่จริงนั้น มิใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่ที่ว่า หลักความเชื่อความเห็นนั้นๆ เพียงพอต่อแนวทางในการดำเนินชีวิตหรือไม่ ? และเป็นไปเพื่อความสุขสงบของปวงประชาหรือไม่ ? ถ้าว่าสนองตอบคำถามนี้ได้ดีก็ถือว่าระบบความเห็นความเชื่อนั้นๆ ก็ยังคงมีความสำคัญและคนก็ยังคงยึดถือต่อไป แต่เมื่อไหร่ที่ไม่อาจสนองตอบได้ ระบบความเชื่อความเห็นนั้นๆ ก็จะค่อยๆ เสื่อมคลายและสลายไปเองตามธรรมดา

แปลก แต่จริง แม้โลกจะเป็นมาถึงปัจจุบัน แต่เรื่องทำนองนี้ยังคงเหมือนเดิม หนังผีก็ยังคงมีการสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ ทั่วโลก คนทำดีทำบุญลบล้างหรือผ่นอคลายบาปก็ยังคงมีอยู่ นั่นคือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ความเชื่อความเห็นทำนองนี้ยังคงสนองตอบพวกเราได้อยู่แม้ปัจจุบัน

Feb 09

นอนฟังรายการวันมาฆบูชา ซึ่งผู้จัดทำรายการอ้างว่า โอวาทปาฏิโมกข์เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ผู้เขียนก็แย้งในใจว่า นั่นเป็นเพียงมติเดียวเท่านั้น ยังมีมติอื่นๆ อีก… จึงถือโอกาสนี้ นำมาเล่าเป็นพุทธบูชาในวันนี้…

หัวใจพระพุทธศาสนา หมายถึง หลักคำสอนสั้นๆ ที่สามารถประมวลเอาคำสอนหรือแนวคิดของพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมดนั่นเอง ซึ่งประการแรกที่ยอมรับกันทั่วไป ก็คือ คาถาสุดท้ายใน โอวาทปาฏิโมกข์ ว่า…

  • สพฺพปาปสฺส อกรณํ      กุสลสฺสูปสมฺปทา
  • สจิตฺตปริโยทปนํ           เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
  • การไม่กระทำบาปทั้งปวง ๑ การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
  • การชำระจิตของตนให้สะอาด ๑ สามอย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

………….

บางมติอ้างถึงพระบาลีใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสในคราวปฐมเทศนา แล้วโกญฑัณญะฤาษี (หัวหน้าฤาษีปัญจวัคคีย์)ได้บรรลุโสตาบัน โดยมีความเห็นชอบเบื้องต้นว่า…

  • ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ
  • สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา

…………

บางมติอ้างถึงคาถาที่ พระอัสสชิเถระ (อดีตฤาษีปัญจวัคคีย์) สรุปหลักคำสอนของพระบรมศาสดจารย์แก่อุปติสสปริพพาชก (ต่อมาก็คือ พระสารีบุตร) ด้วยข้อความสั้นๆ ว่า….

  • เย ธัมมา เหตุปปะภะวา     เตสัง เหตุง ตะถาคะโต
  • เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ      เอวังวาที มหาสมโณ
  • ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
  • และตรัสถึงการดับแห่งเหตุเหล่านั้น  พระมหาสมณเจ้า มีปกติตรัสอย่างนี้

หมายเหตุ พิมพ์บาลีเป็นคำอ่านแบบไทยๆ เพราะ เหตุง ไม่สามารถพิมพ์นิคคหิตซ้อนได้

………..

ส่วนท่านอาจารย์ พุทธทาส ผู้ได้รับการยกย่องว่า นาคารชุนแห่งสยามประเทศ มีความเห็นส่วนตัวของท่านเองว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ

  • สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย
  • สิ่งทั้งปวง ไม่ควร ยึดมั่นถือมั่น  (ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควร เพื่อเข้าไปยึดถือ)

……….

ขณะที่บางมติกลับชอบใจ ปัจฉิโมวาท ของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสในวันเป็นที่เสด็จปรินิพพานว่า

  • วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
  • สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

………..

ฟังว่า พระบาลีที่ยกมาเหล่านี้ มีจารึกอยู่ในศิลาจารึกเก่าๆ ที่ขุดพบได้ในหลายๆ ที่ทั่วโลก…. ซึ่งที่ใดก็ตาม เมื่อเจอข้อความเหล่านี้ ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า พระพุทธศาสนาเคยไปถึงสถานที่นั้นแล้ว…..

  • สนฺติฎฐตุ ชินสาสนํ อนาคเต กาเล