Oct 10

ประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อสุดท้าย ผู้เขียนได้ระบุไว้ว่า “บำเพ็ญทักษิณาบุญในพระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยสมณธรรม” ซึ่งเป็นการแปลงสำนวนให้กระชับและเข้าใจง่ายตามสังคมพุทธศาสนิกชน แต่ถ้าจะแปลตรงตัวตามคัมภีร์ก็จะได้ว่า “บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว” หรืออาจสรุปให้สั้นๆ ง่ายๆ ได้ว่า “ทำบุญกับพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ” ก็ได้
คำว่า “ทักษิณา” มีหลายความหมาย เช่น “ใต้” คือทิศใต้หรือภาคใต้ (ภาษาไทยใช้ว่า “ทักษิณ”) และ “ขวา” คือข้างขวา ด้านขวา หรือขวามือ ซึ่งตามธรรมเนียมอินเดียโบรานนั้น ด้านขวามือจัดว่าเป็นด้านที่ควรแก่การเคารพ ดังเช่นการเวียนขวาที่เรียกว่า “ปทักษิณ” เป็นการแสดงถึงความเคารพ แต่ในที่นี้ ทักษิณาหมายถึง “ของทำบุญ” คือของที่ถวายด้วยความเคารพ เป็นการถวายเพื่อหวังความสุขความเจริญแก่ตนเองในภายภาคหน้า…
ส่วนผู้รับทักษิณาหรือของทำบุญนี้เรียกว่า “ปฏิคาหก” จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเน้นถึงคุณสมบัติของสมณพราหมณ์หรือพระภิกษุสามเณรผู้เป็นปฏิคาหกอย่างยิ่ง นั่นคือ ถ้าทำบุญกับผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวก็จะมีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแต่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข…
คำสอนทางพระพุทธศาสนามีการจำแนกผู้รับทักษิณาทานหรือปฏิคาหกไว้หลายระดับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานซึ่งให้ผลต่ำสุด ไปจนถึงถวายสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานว่ามีผลสูงสุด และแม้ในที่นี้ พระองค์ก็ทรงเน้นปฏิคาหกเช่นเดียวกันว่าต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติประพฤติดีประพฤติชอบ กล่าวคือ เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติคือความอดทน โสรัจจะคือความสงบเสงี่ยม มีความมั่นคงหนักแน่นโดยมุ่งที่จะฝึกฝนตนเองในการสงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว นั่นคือ ถ้าเราทำบุญกับปฏิคาหกที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทำนองนี้แล้ว ผลแห่งบุญก็จะสูงหรือมีผลมาก แต่ถ้าทำบุญกับปฏิคาหกที่มีคุณสมบัติบกพร่อง ผลแห่งทานก็จะไม่สูงดังที่เราคาดหวังหรือมีผลน้อยลงมาตามที่ควรจะเป็น
และพระองค์ยังทรงเน้นถึงเจตนาในการให้หรือในการทำบุญด้วยว่าต้อง “มีอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดี” นั่นคือ ถ้าทำไปอย่างเสียมิได้ อย่างขอไปที หรือฝืนทำ แม้ผู้รับจะมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ผลลัพธ์ก็อาจไม่เต็มเปี่ยม ซึ่งพระองค์เคยตรัสไว้ทำนองว่า ถ้าเจตนาในการถวายทานแรงกล้าและประกอบด้วยความศรัทธาปสาทะคือความเชื่อและความเลื่อมใสอันบริสุทธิ์แล้ว ผลแห่งทานที่ถวายไปนั้นจะมีผลน้อยหามิได้เลย ดังเช่นนิทานธรรมบทเรื่องลาชเทวธิดาว่า สาวน้อยเฝ้านาข้าวสาลีคนหนึ่งทำข้าวตอกพระมหากัสสปะซึ่งเพิ่งออกจากฌานสมาบัติ ไม่นานนักเธอก็ถูกงูกัดตายแล้ว ด้วยผลแห่งทานนี้ทำให้นางไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์เป็นต้น
สรุปว่าประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อสุดท้ายก็คือใช้ทำบุญเพื่อความสุขความเจริญในภายภาคหน้า ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสให้เน้นถึงผู้รับของทำบุญว่าต้องเป็นพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติดีประพฤติชอบ และทรงเน้นถึงเจตนาในการถวายด้วยว่าต้องมีอารมณ์เลิศเป็นไปด้วยดี นั่นคือต้องมีใจบริสุทธิ์ในการถวายทักษิณาทานนั้นๆ เพื่อความบังเกิดผลสูงสุดแห่งทานที่ได้ถวายไปนั่นเอง

ผู้เขียนได้ขยายความสิ่งที่ต้องใช้จ่ายด้วยเงินหรือโภคทรัพย์ที่หามาได้ครบถ้วนทั้ง ๕ ประการแล้ว จะประมวลความอีกครั้ง กล่าวคือ ต้องเลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงให้เป็นสุข คนที่ควรเลี้ยงนั้นจำแนกเป็นภาคบังคับและภาคสมัคใจ ภาคบังคับก็คือคนภายในบ้านซึ่งจัดลำดับความสำคัญดังนี้ ตัวเราเอง แม่ พ่อ ลูก เมียหรือผัว และคนใช้หรือลูกน้อง ภาคสมัครใจคือคนนอกบ้านได้แก่มิตรสหายหรือเพื่อน ต่อไปก็ต้องเก็บไว้ใช้ป้องกันปัดเป่าอันตรายที่จะพึงบังเกิดขึ้นตามโอกาส เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อันตรายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ประกอบด้วยธรรม จากโจร และจากทายาทคือลูกหลานผู้ไม่เป็นที่รักเป็นต้น
อันดับต่อมาคือ การทำพลิกรรม ๕ ประการเพื่อให้การดำเนินชีวิตของเรามีความมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญแก่การช่วยเหลือญาติมากกว่าแขกหรือคนทั่วไป ให้ความสำคัญคนเป็นมากกว่าคนตาย ให้ความสำคัญคนที่มีฐานันดรเท่าเทียมกันมากกว่าผู้เป็นเจ้าเป็นนาย และให้ความสำคัญแก่อำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงคืออำนาจรัฐมากกว่าอำนาจที่มองไม่เห็นหรือผีส่างเทวดา
ส่วนประการสุดท้ายก็คือทำบุญทำทานเพื่อความสุขความเจริญในภายภาคหน้า โดยเน้นที่ผู้รับว่าจะต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมประพฤติชอบ และเจตนาในการให้ต้องบริสุทธิ์เพื่อความมีผลมากแห่งบุญที่ได้กระทำไป…

Oct 10

“ราชพลี” คำนี้แปลกันหลายสำนวน เช่น บำรุงพระราชา ช่วยเหลือทางราชการ เสียภาษีให้รัฐ ฯลฯ ส่วนผู้เขียนคิดว่าถ้าจะแปลให้ได้ตรงตัวตามสำนวนปัจจุบันที่สุด ควรจะแปลว่า “การกระทำให้มีกำลังโดยอาศัยอำนาจรัฐ” นั่นคือการช่วยเหลือทางราชการจะทำให้เราเป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพเกรงใจจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และยังอาจได้รับประกาศเกียรติคุณหรือเหรียญตราตามระเบียบราชการด้วย ดังมีเรื่องเล่าตามข้อเท็จจริงในสมัยรัชการที่๕-๖ ทำนองเดียวกันว่า…
อาตี่หอบเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีนมาพึ่งโพธิสมภารเจ้ากรุงสยาม ด้วยความฉลาด ขยันทำมาหากิน และเก็บหอมรอมริบจนกระทั้งได้เป็นเจ้าสั่ว ภายหลังจึงคิดตอบแทนแผ่นดินด้วยการช่วยเหลือทางราชการ เช่น สร้างถนนสร้างสะพาน ซื้อที่ดินบริจาคให้ทางราชการ ฯลฯ ความทราบไปถึงล้นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณหลวง คุณพระ หรือพระยา ตามสมควรแก่บุคล ทำให้ฐานะของเจ้าสั่วเหล่านี้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น… นี้เป็นตัวอย่างของการทำราชพลีในสมัยที่พอยังเล่ากันได้
อนึ่ง ตามตัวอย่างคำแปลที่ยกมา การบำรุงพระราชาโดยตรง (เช่นการทูลเกล้าถวายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างชัดเจน การช่วยเหลือทางราชการก็จะได้รับการยกย่องตามสมควรแก่กรณี ส่วนการเสียภาษีให้รัฐโดยถูกต้องก็ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมาขู่กรรโชกเรื่องภาษีย้อนหลัง
อย่างไรก็ตาม ราชพลีโดยนัยใดก็ตาม ต้องใช้โภคทรัพย์หรือเงินเกือบทั้งนั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสประโยชน์ของการแสวงหาเงินก็เพื่อใช้เป็นราชพลีดังกล่าวมา

และพลิกรรมข้อสุดท้ายคือ “เทวตาพลี” คือการทำบุญอุทิศให้เทพยดา ซึ่งข้อนี้ก็เช่นเดียวกับปุพพเปตพลีการทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว นั่นคือ เป็นสิ่งที่แสดงโดยข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าจะทำให้เรามีกำลังเข้มแข็งหรือมั่นคงในการดำเนินชีวิตอย่างไร แต่การบูชาบ่วงสรวงเทพยดาก็มีอยู่ทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นชนชาติศาสนาใด ต่างกันก็แต่เพียงรายละเอียดเท่านั้น
มีเรื่องปรากฏอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรตอนหนึ่งว่า สุนีธะและวัสสการะซึ่งเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่แห่งแคว้นมคธได้รับราชโองการเพื่อมาสร้างเมือง (คือค่ายทหาร) ที่ปาฏลีคามเพื่อป้องกันการรุกรานจากแคว้นของพวกวัชชี การตัดต้นไม้ปราบพื้นที่เป็นต้นเพื่อสร้างเมืองนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่พอใจแก่บรรดาเทพยดาซึ่งสิงสถิตอยู่ในสถานที่นั้นๆ พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมา บรรดามหาอำมาตย์จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหารเพื่อเป็นการฉลองเมืองใหม่ หลังจากเสร็จภัตรกิจแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสอนุโมทนาด้วยบทว่า ยสฺมึ ปเทเส กปฺเปติ ฯ ซึ่งคำแปลว่า

“บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวมแล้วประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศนั้น
ได้อุทิศทักษิณาทานให้แก่เทวดาที่มีอยู่ ณ ที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา
ได้รับความนับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบเขา
แต่นั้น ย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อกฉะนั้น
บุรุษผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ”

ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าการทำบุญอุทิศให้เทพยดา จะทำให้เป็นที่ชอบใจ ยินดี เป็นที่รักของเทพยดา และเทพยดาเหล่านั้นจะได้คอยช่วยเหลือ คุ้มครอง ป้องกันให้เป็นอยู่สุขสบาย นั่นคือ โอกาสที่จะเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ก็จะหมดไปหรือน้อยลง โอกาสที่จะมีความเจริญรุ่งเรืองก็จะมีมากขึ้น
ดังนั้น การทำบุญอุทิศให้เทพยดา จึงจัดเป็นพลีกรรม คือการกระทำให้มีกำลังอีกอย่างหนึ่ง และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการแสวงหาโภคทรัพย์ก็เพื่อเทวตาพลีทำนองนี้นั่นเอง

บรรดาพลิกรรมเหล่านี้ บางท่านอาจสงสัยว่ามีการจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน บรรดาญาติพี่น้องสำคัญกว่าแขกหรือคนทั่วไป ดังนั้น จึงจัดญาติพลี(การสงเคราะห์ญาติ) ไว้ก่อนอติถิพลี (การต้อนรับแขก) ส่วนปุพพเปตพลี (การทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ซึ่งเป็นคำกลางๆ นั่นคือ ผู้ตายที่เราทำบุญอุทิศไปให้จะเป็นญาติหรือไม่เป็นญาติก็ได้ จัดเป็นลำดับที่สาม ประเด็นนี้บ่งให้เห็นว่า คนเป็นสำคัญกว่าคนตาย
อันดับที่สี่คือราชพลี (ช่วยเหลือทางราชการ) และอันดับสุดท้ายคือเทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทพยดา) จะเห็นได้ว่า ราชการและเทพยดาทั้งสองนี้ จัดเป็นผู้มีอำนาจทั่วไปเหนือเราหรือเป็นผู้ปกครองดูแลและอาจให้คุณให้โทษแก่เราได้ โดยราชการมีอำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไป ส่วนเทพยดามีอำนาจเหนือโลกซึ่งยากที่จะสังเกตได้ การที่จัดราชพลีให้ก่อนเทวตาพลี อาจบ่งชี้ได้ว่า อำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงมีความสำคัญกว่าอำนาจเหนือโลก
อนึ่ง สามข้อแรกเบื้องต้น (ญาติพลี อติถิพลี และปุพพเปตพลี) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเราและมีความเท่าเทียมเสมอกันโดยฐานันดร ส่วนสองข้อเบื้องปลาย (ราชพลี และเทวตาพลี) มีความสัมพันธ์กับเราในลักษณะผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าเราโดยฐานันดร ตามนัยนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า คนทั่วไปที่มีฐานะเท่าเทียมกันโดยฐานันดรมีความสำคัญกว่าผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนาย
ตามที่วิเคราะห์มาอาจสรุปอีกครั้งได้ว่า ญาติสำคัญกว่าชาวบ้าน คนเป็นสำคัญกว่าคนตาย อำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงสำคัญกว่าอำนาจเหนือโลก และคนทั่วไปที่มีความเท่าเทียมกันโดยฐานันดรมีความสำคัญกว่าผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนาย…
และเมื่อมาพิจารณาความเป็นอยู่ของใครบางคนในโลกนี้ บางคนเอาแต่ชาวบ้านไม่เอาญาติพี่น้อง บางคนชอบแต่ประจบประแจงเจ้านายแต่ไม่ใส่ใจคนระดับเดียวกัน หรือบางคนบ้าแต่บูชาผีส่างเทวดาแต่ไม่ใส่ใจนำพาคนเป็นๆ โดยที่สุดแม้แต่เพื่อนบ้าน… เขาเหล่านี้ จัดว่าเป็นผู้กระทำพลิกรรมผิดหลักการตามลำดับที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ใช่หรือไม่ ? ถ้าใช่ แสดงว่าเขาเหล่านั้นได้ใช้เงินหรือโภคทรัพย์กระทำพลีกรรมผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นแล

Oct 10

“ทำพลี ๕ อย่าง” เป็นข้อที่สี่ นั่นคือ เราต้องแสวงหาเงินหรือโภคทรัพย์มาใช้จ่ายเพื่อกระทำพลิกรรม ได้แก่
• ญาติพลี คือ บำรุงญาติ
• อติถิพลี คือ ต้อนรับแขก
• ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว
• ราชพลี คือ บำรุงราชการ
• เทวตาพลี คือ ทำบุญอุทิศให้เทพยดา

จะเห็นได้ว่า คำว่า พลี หรือ พลิกรรม นั้น ความหมายในภาษาไทยแปลยักเยื้องได้ตามความเหมาะสม เพราะหาคำเดียวกันที่ใช้ให้ตรงความหมายไม่ได้ หรือบางครั้งก็ใช้ทับศัพท์ ซึ่งผู้เขียนสงสัยอยู่เกินสิบปีกว่าจะขบประเด็นปัญหานี้ออกมาได้
คำว่า พลี แยกศัพท์ออกมาเป็น พล+อี = พลี โดย พละ แปลว่า กำลัง ส่วนสระ อี เป็นปัจจัยในตัทธิตโดยใช้แทนความหมายว่า มี ดังนั้น พลี จึงแปลว่า มีกำลัง … พลี+กรรม = พลิกรรม แปลว่า การกระทำให้มีกำลัง
“ญาติพลี” คือ การช่วยเหลือญาติ บำรุงญาติ นั่นก็คือ ถ้าเราช่วยเหลือญาติพี่น้องแล้วก็จะทำให้เราเข้มแข็งยิ่งๆ เช่น ในบางคราวก็อาจอาศัยญาติพี่น้องเป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือได้ คนที่ถูกกล่าวขานว่ามีญาติพี่น้องมากและได้รับการยอมรับจากบรรดาญาติพี่น้องน่าจะเป็นคนที่ได้รับความเกรงใจในสังคมยิ่งกว่าคนที่หัวเดียวกระเทียมลีบ คนที่มีน้ำใจต่อญาติพี่น้อง ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญจากวงศาคณาญาติต่างจากคนที่ไร้น้ำใจซึ่งย่อมได้รับการติฉินนินทา ดังนั้น การช่วยเหลือและมีน้ำใจต่อญาติพี่น้องจึงจัดว่าเป็นการกระทำให้เกิดกำลังต่อตนเองในความเป็นอยู่
การจะช่วยเหลือญาติพี่น้องได้ก็ต้องอาศัยเงินหรือโภคทรัพย์ แม้จะไม่ใช่ทุกกรณีก็ตาม ดังคำพังเพยที่ว่า “มีเงินก็นับว่าน้อง มีทองก็นับว่าพี่ หมดเงินหมดทอง พี่น้องไม่มี” ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องญาติพลีไว้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้

“อติถิพลี” คือ การต้อนรับแขกตามแต่กรณี จัดว่าเป็นการกระทำให้เรามีกำลัง มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตในสังคมยิ่งขึ้น เพราะบรรดาแขกที่ได้รับการต้อนรับ บางคนอาจนำคุณของเราไปสรรเสริญในสถานที่ต่างๆ เราอาจได้รับการเกรงใจหรือต้อนรับเมื่อเข้าสู่สังคมอื่นๆ ในภายหลัง หรือบางคราวที่ไปเป็นแขกก็อาจได้รับการต้อนรับตอบแทน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องการต้อนรับแขกหรืออติถิพลีว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้

“ปุพพเปตพลี” คือ การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ประเด็นนี้ยากที่จะยกข้อเท็จจริงมาแสดงว่า ผู้ที่ตายไปแล้วจะช่วยเพิ่มกำลังหรือทำให้เรามีความมั่นคงเข้มแข็งในการใช้ชีวิตได้อย่างไร แต่การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายก็ยังมีในยุคปัจจุบัน และถ้าจะสืบต่อไปยังอดีต จะเห็นได้ว่าชนทุกชาติศาสนาก็มีพิธีกรรมทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ตายไปแล้ว เพียงแต่รายละเอียดเท่านั้นที่แตกต่างกันไป และน่าจะกล่าวได้ไม่เกินความจริงว่าเรื่องทำนองนี้มีอยู่คู่กับมนุษย์
ในติโรกุฑฑสูตร พระพุทธเจ้าได้สรุปอานิสงส์การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายที่สังเกตได้ในโลกนี้ไว้ ๔ ประการ กล่าวคือ
โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต
เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา
พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ
ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ
ญาติธรรมนี้นั้น ได้แสดงให้ปรากฏแล้ว
การบูชาผู้ที่จากไปอย่างโอฬาร ได้กระทำแล้ว
กำลังของภิกษุทั้งหลาย ได้ให้การสนับสนุนแล้ว
บุญมีประมาณไม่น้อย ท่านทั้งหลายก็ได้ขวนขวายบำเพ็ญแล้ว

ซึ่งจะทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ตายได้นั้น ก็ต้องอาศัยเงินเป็นทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสประโยชน์ของการแสวงหาโภคทรัพย์ว่าเพื่อใช้ในการทำบุญให้ผู้ตายในข้อนี้

Oct 10

ในข้อแรก บุคลควรเลี้ยงภาคบังคับ พระพุทธเจ้าได้ตรัสลำดับความสำคัญไว้ดังนี้ คือ ตัวเราเอง แม่ พ่อ ลูก เมีย (ผัว) และ คนใช้ จะเห็นได้เพียงแค่การแสวงหาโภคทรัพย์หรือเงินเพื่อมาเลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับนี้ก็ยากยิ่งแล้ว แต่เรายังมี “มิตรสหาย” หรือเพื่อน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นข้อต่อมา…

อลสสฺส กุโต สิปฺปํ อสิปฺปสฺส กุโต ธนํ
อธนสฺส กุโต มิตฺตํ อมิตฺตสฺส กุโต สุขํ
อสุขสฺส กุโต ปุญฺญํ อปุญฺญสฺส กุโต วรํ
คนเกียจคร้านจักมีความรู้แต่ที่ไหน คนไม่มีความรู้จักมีทรัพย์แต่ที่ไหน
คนไม่มีทรัพย์จักมีมิตรแต่ที่ไหน คนไม่มีมิตรจักมีความสุขแต่ที่ไหน
คนไม่มีความสุขจักมีบุญแต่ที่ไหน คนไม่มีบุญจักประเสริฐแต่ที่ไหน

ตามบาลีภาษิตนี้ จะเห็นได้ว่ามิตรสหายหรือเพื่อน จะทำให้เรามีความสุขได้ และการคบมิตรนั้น บางครั้งก็จำเป็นต้องมีโภคทรัพย์หรือเงิน และถ้าไม่มีเงินหรืออื่นๆ โดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะมีใครนิยมชมชอบหรือคบหาสมาคมด้วย นี้คือโลกแห่งชีวิตจริง ดังเช่นคำกลอนแบบไทยๆ ว่า
เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา
เมื่อไม่มีหมดมิตรมุ่งมองมา เมื่อมอดม้วยแม้นหมูหมาไม่มามอง

ดังนั้น “มิตรสหาย” หรือเพื่อน พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็น “ผู้ที่ควรเลี้ยง” ในข้อที่สอง เหตุที่แยกออกมาจากข้อแรก ผู้เขียนคิดว่าเพื่อนนั้น มิใช่ภาคบังคับ แต่เป็นภาคสมัครใจ และจัดเป็นคนนอกบ้าน นั่นคือ เราไม่มีหน้าที่โดยตรงต้องเลี้ยงดูเพื่อนตลอดไป
เมื่อมาพิจารณาเพื่อนกับคนใช้หรือลูกน้อง จะเห็นได้ว่าอยู่ต่างข้อกัน และพระพุทธเจ้าตรัสให้คนใช้หรือลูกน้องสำคัญกว่าเพื่อน ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนยังเป็นภาคสมัครใจ มิใช่ภาคบังคับเหมือนแม่ พ่อ ลูก เมีย (ผัว) และคนใช้ ซึ่งเป็นคนภายในครอบครัว ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นคนมากน้ำใจ ชอบเลี้ยงเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อน จนบางครั้งสิ่งที่ทำไปเพื่อเพื่อนเป็นสาเหตุให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อน แต่ตรงกันข้าม กลับไม่ค่อยใส่ใจหรือรับผิดชอบครอบครัวหรือคนของตนเอง ถือว่าเขาผู้นั้นประพฤติผิดหลักการจัดลำดับความสำคัญตามนัยนี้

“ใช้ป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นจาก ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น” นี้คือประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อที่สาม ซึ่งข้อนี้มีคำว่า “เป็นต้น” เพิ่มเติมไว้ นั่นก็คือ เงินใช้ป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ ดังที่ใครบางคนบอกว่า “เงินใช้แก้ปัญหาได้ดีที่สุด แม้จะแก้ไม่ได้ทุกอย่างก็ตาม” เราลองมาพิจารณาตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงระบุไว้
ตัวอย่างของอันตรายจากไฟก็เช่นไฟไหม้ ส่วนอันตรายจากน้ำก็เช่นน้ำท่วม คราวใดก็ตามถ้าเกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วม คนที่มีเงินก็อาจแก้ปัญหาได้ไม่ยากนัก หรือแม้ไฟยังไม่ไหม้หรือน้ำยังไม่ท่วม แต่คนที่มีเงินมากก็อาจหาวิธีป้องกันได้ง่ายและรัดกุมยิ่งกว่าผู้ที่มีเงินน้อย ดังนั้น โภคทรัพย์หรือเงินจึงใช้ป้องกันอันตรายจากไฟและน้ำได้…
“อันตรายจากพระราชา” ข้อความนี้ ต้องจินตนาการย้อนไปถึงยุคสมัยโน้น พระราชาก็คือเจ้าเหนือชีวิต ผู้ปกครอง ซึ่งมิใช่ว่าจะเป็นคนดีประกอบด้วยคุณธรรมและมีเหตุผลทุกคนหรือตลอดเวลา ดังเช่นนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่งเล่าว่า พระราชามีพระประสงค์จะพิสูจน์ว่าผัวเมียคู่หนึ่งเป็นคนมีโภคทรัพย์จริงหรือไม่ตามคำบอกเล่า จึงรับสั่งให้มีการจัดงานรื่นเริงขึ้นทุกหลังคาเรือน มิฉะนั้นจะถูกลงอาญา… นี้คือตัวอย่างแห่งความเดือดร้อนหรืออันตรายที่จะบังเกิดขึ้นได้จากพระราชาตามตำนาน
เมื่อพิจารณาสังคมปัจจุบัน คำว่าพระราชาตามตำนานก็คือผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น กำนัน นายอำเภอ ตำรวจ ตลอดเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป ซึ่งก็เป็นไปตามทำนองเดียวกัน บางคนก็อาจไม่ประกอบด้วยคุณธรรม เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจ ก็อาจกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย เบียดเบียน หรือขูดรีดเอากับเราได้ตามแต่กรณีนั้นๆ… ทำนองนี้อาจสงเคราะห์เข้าในคำว่าอันตรายจากพระราชาในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเงินหรือโภคทรัพย์ก็อาจช่วยป้องกันและปัดเป่าอันตรายที่บังเกิดจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมหล่านี้ได้

“อันตรายจากโจร” ประเด็นนี้ชัดเจน เงินอาจช่วยป้องกันอันตรายจากโจรได้ ตั้งแต่ใช้เงินซื้อกุญแจ สร้างกำแพงและประตูสถานที่อาศัยให้มั่นคง ติดตั้งเครื่องกันขโมย จัดหาอาวุธไว้ประจำตัว ตลอดใช้เงินไถ่ถอนสิ่งที่ถูกลักขโมย หรือรักษาชีวิตเอาไว้ได้เมื่อให้เงินและทรัพย์สินแก่โจรไป เป็นต้น
ส่วนในกรณีว่ามีเงินและทรัพย์สินจำนวนมากจนเป็นสาเหตุให้โจรทำอันตรายนั้น แตกต่างไปจากประเด็นนี้ จะไม่อ้างถึง

ประเด็นสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงอ้างมาเป็นตัวอย่างคือ “ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก” ก็คือลูกๆ หลานๆ บางคนที่ทำตัวเหลวไหล เช่นบางคนติดยาเสพติดก็อาจมาขู่บังคับญาติผู้ใหญ่เพื่อจะเงินไปซื้อยา หรือบางคนประพฤติตัวเยี่ยงโจรชักชวนเพื่อนโจรด้วยกันมาลักขโมยของภายในบ้าน ถ้ามีเงินก็พออาจให้พวกเขาไปเพื่อป้องกันชีวิตตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยได้
นัยตรงข้าม ลูกๆ หลานๆ บางคนอาจทำตัวเหลวไหล เช่นไปขโมยสิ่งของผู้อื่น หรือไปเที่ยวทำร้ายร่างกายก่อการทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือปัดเป่าลูกหลานให้พ้นภัย และรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้… แม้นัยนี้ก็สงเคราะห์เข้าในข้อว่าใช้โภคทรัพย์เพื่อป้องกันอันตรายจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รักได้เช่นเดียวกัน
ในการดำเนินชีวิตนั้น สิ่งที่จัดว่าอันตรายมีมากมาย ซึ่งโภคทรัพย์หรือเงินอาจช่วยป้องกันได้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เพราะสังเกตได้ง่าย แต่อันตรายทั้งหลายบรรดามี มิใช่ว่ามีตลอดเวลา มิใช่ว่าเกิดขึ้นทุกอย่าง ดังนั้น จึงจัดความสำคัญเป็นลำดับที่สาม

Oct 10

เงินเพื่ออะไร ?

สำหรับฆราวาส คือผู้ครองเรือน หรือชาวบ้านทั่วไป คงจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ถ้าจะมีใครถามว่า “ที่ทำงานหาเงินอยู่ทุกวันนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ?” และเมื่อจะค้นหาคำตอบนี้ ผู้เขียนคิดว่าแต่ละคนคงจะให้คำตอบไม่แตกต่างกันนัก ส่วนที่แตกต่างกันน่าจะอยู่ที่ประโยชน์ซึ่งแต่ละคนเล็งเห็นและการจัดลำดับความสำคัญแห่งประโยชน์เหล่านั้นต่างหาก…
ประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสอธิบายให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังในอาทิยสูตร โดยจัดประโยชน์ในการแสวงหาโภคทรัพย์ไว้ ๕ ประการ กล่าวคือ
๑. เลี้ยงตนเอง มารดาบิดา บุตร ภรรยา และคนใช้ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงมิตรสหาย ให้เป็นสุข
๓. ใช้ป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นจาก ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น
๔. ทำพลีกรรม ๕ ประการ กล่าวคือ
๔.๑. ญาติพลี (บำรุงญาติ)
๔.๒. อติถิพลี (ต้อนรับแขก)
๔.๓. ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว)
๔.๔. ราชพลี (บำรุงราชการ)
๔.๕. เทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทพยดา)
๕. บำเพ็ญทักษิณาบุญในพระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยสมณธรรม

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าที่แสวงหาเงินก็เพื่อนำมาใช้จ่าย ๕ ประการเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนจะนำมาขยายความเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น
ข้อแรกและข้อที่สองนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้ในพระคาถาว่า “เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยง” ซึ่งคนที่ควรเลี้ยงในข้อแรกคือ “ตนเอง มารดาบิดา บุตรภรรยา และคนใช้” จะเห็นได้ว่าบุคลเหล่านี้คือผู้ที่เราเกี่ยวข้องโดยตรง มีลักษณะเป็นภาคบังคับว่าเราจะต้องเลี้ยงหรือรับผิดชอบมิอาจเพิกเฉยได้ ส่วนข้อที่สองคือ “มิตรสหาย” หรือเพื่อนนั้น จัดเป็นคนนอกบ้าน ไม่มีลักษณะเป็นภาคบังคับ แต่เป็นภาคสมัครใจ นั่นคือเราจะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยงก็ได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแยกออกมาเป็นสองข้อ…
มาพิจารณาเฉพาะข้อแรก คนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับ พระพุทธเจ้าทรงระบุ “ตนเอง” ขึ้นก่อน นั่นคือผู้ที่เราต้องเลี้ยงและรับผิดชอบเป็นเบื้องต้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านว่าเราต้องเลี้ยงตัวเราเองให้ได้หรือพาตัวเราเองให้รอดก่อน เพราะถ้าเอาชีวิตตัวเองไม่รอดแล้ว จะป่วยกล่าวไปใยถึงคนอื่นๆ นี้เป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนคนอื่นๆ “มารดาบิดา” คือบุคลที่เราต้องรับผิดชอบถัดมา ตามสำนวนบาลี มารดาคือแม่จะต้องขึ้นก่อนบิดาคือพ่อเสมอ นั่นคือ แม่มีความสำคัญกว่าพ่อ ดังนั้น คนที่ควรเลี้ยงสำคัญที่สุดนอกจากตัวเราเองก็คือแม่ ถัดต่อมาก็เป็นพ่อ
“บุตรภรรยา” เป็นลำดับต่อมาก็ทำนองเดียวกัน ตามสำนวนบาลี บุตรคือลูกจะต้องขึ้นก่อนภรรยาคือเมียเสมอ นั่นคือ ลูกมีความสำคัญกว่าเมีย ดังนั้น คนที่ควรเลี้ยงต่อจากแม่และพ่อแล้วก็คือลูกและเมีย
อนึ่ง ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงหรือสตรีเพศ อาจคิดว่าตนเองต่างหากเป็นคนหาเลี้ยงสามีหรือผัว มิใช่ผัวเป็นผู้หาเลี้ยงตนเอง ประเด็นนี้ก็ถูกต้อง เพราะอาจอรรถาธิบายนัยตรงข้ามได้ว่า คนที่ควรเลี้ยงต่อจากแม่และพ่อแล้วก็คือลูกและผัว ซึ่งนัยตรงข้ามทำนองนี้คัมภีร์รุ่นต่อมาได้บ่งชี้ไว้ชัดเจน แต่ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุตรภรรยาเพราะพระองค์ทรงแสดงให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เป็นผู้ชายหรือบุรุษเพศฟังนั่นเอง
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นภาคบังคับตามความเป็นอยู่ยุคปัจจุบันก็คือ “คนใช้” หรือลูกน้อง (ตามคัมภีร์ระบุ “ทาส” ไว้ด้วย) คนเหล่านี้ตราบใดที่ยังทำงานอยู่กับเรา ยังอาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของเรา ก็จัดว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูพวกเขาให้เป็นสุขตามสมควรตราบนั้น แต่หากพวกเขาเป็นอิสระไปจากเราก็อาจถือว่าเป็นเพียงคนอื่นหรือคนรู้จักเท่านั้น และมิใช่คนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับอีกต่อไป

Oct 05

วันนี้ เป็นวันออกพรรษา ซึ่งความเป็นไปอื่นๆ ก็คงจะทำนองเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา… แต่สำหรับผู้เขียนเป็นปีแรกที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาส นั่นคือ ภารกิจในวัดทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้เขียน…

ออกพรรษาแล้วก็ทอดกฐิน นั่นคือสิ่งที่รับรู้กันทั่วไป สำหรับวัดยางทองปีนี้ เป็นกฐินตกค้าง กล่าวคือ ไม่มีเจ้าภาพจองกฐินมาตั้งแต่เริ่มต้น ครั้นใกล้จะออกพรรษา เมื่อสัปดาห์ก่อน ญาติโยมหน้าวัดจึงขอรับเป็นเจ้าภาพ ทำให้ผู้เขียนเริ่มดำเนินการได้ (กฐินต่างจากผ้าป่า กล่าวคือ บุญกฐินนั้น พระสงฆ์ผู้อยู่ในอาวาสนั้น มิอาจไปบอกบุญให้ใครมาช่วยทอดได้ ยกเว้นว่ามีคนจองเป็นเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว ทางวัดจึงจะอาจดำเนินการได้ตามความเหมาะสม…)

แม้ ญาติโยมหน้าวัดได้จองเป็นเจ้าภาพแล้ว ก็ยังมีปมว่าจะให้ใครเป็นประธาน บังเอิญผู้เขียนคุยกับอาจารย์ฌอง และอาจารย์ฌองไปคุยกับคณาจารย์และเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน จึงได้ประธานและเริ่มจัดโครงสร้างเพื่อจะได้พิมพ์ฏีกา… ตอนเช้าของวันนี้ ผู้เขียนก็ไปโรงพิมพ์ ตอนบ่ายทางโรงพิมพ์ก็เอาฏีกาและซองมาให้ ก็ชวนพระ-เณรและพวกเด็กๆ ปั้มตรายางวัด ช่วยกันพับฏีกาใส่ซองจนกระทั้งเสร็จเรียบร้อยในตอนเย็นนี้เอง ซึ่งก็ได้แจกไปบ้างแล้ว…

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกของ GotoKnow.org และ LanPanYa.com จึงได้ขออนุญาตตั้งแต่เริ่มจัดลำดับกรรมการ ว่าจะใส่ชื่อ…

* คณะญาติธรรม GotoKnow.org
* คณะญาติธรรม LanPanYa.com

เป็นกรรมการ ในฏีกาไว้ด้วย… เผื่อใครมีโอกาสจะได้มาเที่ยวและร่วมทำบุญตามความเหมาะสมหรือตามกำลังศรัทธา โดยมีกำหนดการดังต่อไปนี้

วันพฤหัส ที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕๕๒ ตรงกับขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒

* เวลา ๑๙. ๐๐ น. สมโภชน์องค์กฐิน ณ ศาลาการเปรียญวัดยางทอง

วันศุกร์ ที่ ๒๓ ต.ค. ๒๔๔๒ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำ เดือน๑๒

* เวลา ๐๙.๓๐ น. คณะกฐินทั้งหลาย พร้อมกัน ณ ศาลาการเปรียญวัดยางทอง
* เวลา ๑๐.๓๐ น. ถวายพรพระ - ตักบาตร
* เวลา ๑๑.๐๐ น. พระภิกษุและสามเณรกระทำภัตรกิจ ญาติโยมร่วมรับประทานอาหาร
* เวลา ๑๒.๓๐ น. ธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
* เวลา ๑๓. ๐๐ น. ถวายกฐิน พระสงฆ์อนุโมทนา ญาติโยมกรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี

อนึ่ง ผู้สนใจต้องการดูหรือโหลดใบฏีกากฐินสามัคคี (คลิกที่นี้)

Aug 27

คุณโยม Logos แจ้งมาว่าจะเขียนลงใน เจ้าเป็นไผ หรือไม่ ? โดยประสงค์จะเอาชีวิตหลังบวชแล้ว ก็จะลองเล่าวิถีชีวิต ๒๕ พรรษาภายใต้ร่มเงากาสาวพัสตร์หรือเรียกกันตามสำนวนเก่าว่าดงขมิ้น แต่จะเล่าโดยย่อพอเห็นแนวทางและจะปูพื้นโดยชีวิตฆราวาสก่อนเล็กน้อย…

บทนำ : ฆราวาสวิสัย

ผู้เขียนเกิดที่ไหนไม่รู้ มาจำความครั้งแรกได้ว่าเป็นเด็กตำบลคูขุดซึ่งอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา นั้นเป็นบ้านเดิมของโยมแม่ ส่วนโยมพ่อเป็นคนตำบลกระดังงาซึ่งอยู่ใกล้ทะเลหลวงฝั่งอ่าวไทย ทั้งสองตำบลนี้อยู่ในอำเภอสทิงพระ จึงรวมความว่าผู้เขียนเป็นชาวอำเภอสทิงพระโดยกำเนิดและในวัยเด็กได้ซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านทั้งสองฝั่งทะเลตามที่ควรจะเป็นไป…

เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดคูขุดในปี ๒๕๑๒ จนกระทั้งจบชั้นป.๕ ครอบครัวจึงย้ายมาอยู่ในตัวอำเภอเมืองสงขลา จึงย้ายมาเรียนโรงเรียนเทศบาล ๓ เมื่อจบป.๗ แล้วก็เข้าเรียนม.ศ.๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ พอขึ้นม.ศ.๒ ก็หนีออกจากบ้าน ปีนั้นจึงพักการเรียนไป กลับมาเรียนใหม่จนขึ้นม.ศ.๓ ก็ย้ายไปเรียนโรงเรียนสทิงพระวิทยา แล้วก็ไปต่อระดับปวช.ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ พอขึ้นปีที่ ๒ ก็ออกมาเที่ยวบ้างทำงานบ้าง อีกปีจึงกลับไปเรียนปีที่ ๓ ต่อ โดยยังค้างของปีสองเทอมสองไว้ จนอายุ ๒๑ จึงเข้ามาบวชครั้งแรกที่วัดแหลมวัง อำเภอสทิงพระ บวชอยู่เดือนกว่าแล้วก็ลาสิกขากลับไปเรียนของปีสองที่ค้างไว้ แต่ยังไม่ทันจบก็กลับมาบวชอีกครั้งที่วัดท่าแซ อำเภอหาดใหญ่ และก็อยู่เรื่อยมาจนกระทั้งปัจจุบันเป็นเวลา ๒๕ พรรษา

เรื่องราวต่อไป จึงเป็นวิถีชีวิตตลอด ๒๕ พรรษา ซึ่งผู้เขียนจะเล่าเป็นรายปี ตามที่พอจะำรำลึกได้

พรรษาแรก (๒๕๒๘)

วัดท่าแซ มีพ่อท่านแดงเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งผู้เขียนเคยหนีออกจากบ้านไปอยู่กับท่านตอนยังเรียนชั้นประถม (ไม่แน่ใจว่า ป.๖ หรือ ป.๗) และตอนบวชครั้งแรก (๒๕๒๗) ผู้เขียนก็ได้มาอยู่กับท่านประมาณหนึ่งเดือน ดังนั้น ครั้งนี้เมื่อจะบวช จึงได้ไปกราบท่านบอกว่าจะบวชอีก ก็อยู่วัดเป็นนาคอยู่ประมาณหนึ่งเดือน เรียนบทขานนาคและอื่นๆ ตามสมควรแล้ว ท่านก็กำหนดวันให้มาแจ้งทางบ้าน ผู้เขียนก็ได้บวชสมใจในปลายเดือนเมษา อยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านอยู่เดือนกว่า บังเอิญคุณอาน้องของโยมพ่อถึงแก่กรรม จึงได้กลับมายังกระดังงา ญาติก็ชักนำว่าลองไปอยู่สำนักสงฆ์นวชีวัน ดังนั้น จึงได้ย้ายจากวัดท่าแซไปอยู่สำนักสงฆ์นวชีวัน…

อาศรมนวชีวัน สภาพเป็นป่าละเมาะ ริมทะเลหลวง อยู่ที่ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ไม่มีการทำวัตรสวดมนต์ ไม่มีกิจนิมนต์ ไม่มีพิธีกรรมอะไรเลย มีเพียงแค่บิณฑบาตฉันแล้วก็อยู่ไปวันๆ เงียบสงบ ปราศจากผู้คนไปมาหาสู่ มีเพียงงูดินและแย้เป็นเพื่อน ผู้เขียนก็ฝึกหัดปฏิบัติและอ่านหนังสือธรรมะอยู่ที่นี้ประมาณสองเดือน ก็ไปเข้าพรรษาที่วัดกระดังงา ตามคำขอของก๋ง ซึ่งท่านไม่เห็นด้วยกับการอยู่ที่นั้น และวัดกระดังงาก็ยังมีพระจำพรรษาไม่ครบห้ารูปเพื่อจะได้รับกฐินด้วย…

จำพรรษาแรกที่วัดกระดังงา ท่านเจ้าอาวาสสร้างกุฏิมุงจากกั้นจากเรียบฟากไม้ไผ่ให้หนึ่งหลัง อาศัยแสงไฟจากตะเกียง แม้ในวัดจะมีไฟฟ้าก็ไม่ใช้ เรียนนักธรรมตรีโดยตนเองที่นี้ ออกพรรษาสอบนักธรรมเสร็จ จนถึงต้นเดือนธันวา ผู้เขียนก็ถูกส่งไปร่วมปฏิบัติธรรมเทิดพระเกียรติที่พุทธมณฑล นครปฐม ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก และตอนนั้นพุทธมณฑลก็ยังไม่สำเร็จเรียบร้อยดังเช่นปัจจุบัน…

หลังจากเลิกงาน พระ-เณรแต่ละรูปที่ไปร่วมจะมีหนังสือเดินทางกลับฟรีหนึ่งฉบับ หลายท่านสมัครไปที่อื่นต่อ ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน สมัครใจเดินทางไปอยู่ที่วัดแพมกลาง อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ตามคำชวนของท่านเจ้าอาวาส ก็อยู่อำเภอปาย ๒-๓ เดือน แล้วเดินทางกลับมาเชียงใหม่ แบกกลดเดินออกจากเชียงใหม่มาลำพูน ถึงลำปางก็มีน้องเณรชวนไปอยู่ที่วัดม่อนธาตุ ตำบลกล้วยแพะ ได้รับการแนะนำให้ไปอยู่วัดดอยม่วงคำซึ่งตอนนี้ไม่มีพระอยู่ (ใกล้ๆ จะร้าง) ผู้เขียนก็ไปอยู่รูปเดียวบนดอย อยู่ได้ประมาณ ๑-๒ เดือน ก็จะเดินทางกลับ ต้องการจะไปเที่ยวศรีสัชนาลัยแล้วเข้าสุโขทัย แต่หลงทางจึงเข้าไปนอนแพร่หนึ่งคืนแล้วก็นั่งรถไปเชียงราย ไปเข้าปริวาสที่วัดผาเงา เชียงแสน แล้วก็ไปต่อที่วัดถ้ำผาจม แม่สาย ก่อนจะเดินทางกลับปักษ์ใต้บ้านเรา…

มาถึงก็ได้รับทราบผลว่าสอบนักธรรมตรีได้ ก็ไปเยี่ยมพ่อท่านแดงที่วัดท่าแซบ้าง กลับมาอยู่วัดกระดังงาบ้าง เที่ยวอยู่ตามวัดอื่นๆ บ้าง จนเข้าพรรษาที่สอง…

พรรษาสอง (๒๕๒๙)

ก็เข้าพรรษากุฏิหลังเดิม เรียนนักธรรมโทโดยตนเอง ออกพรรษาสอบนักธรรมเสร็จแล้ว ผู้เขียนต้องการไปเที่ยวอีสาน โดยจะไปเยี่ยมเพื่อนสหธรรมิกที่เคยรู้จักมักคุ้นตอนปฏิบัติธรรมพุทธมณฑลปีที่แล้ว เป้าหมายครั้งแรกคือ วัดประชานิมิตร อำเภอบัวใหญ่ โคราช ไปเยี่ยมหลวงพี่ณรงค์ ท่านจำปาฏิโมกข์ และได้ชักชวนให้ผู้เขียนเรียนโดยมอบหนังสือให้หนึ่งเล่ม จึงเริ่มท่องปาฏิโมกข์ที่นี้ พักอยู่บัวใหญ่ประมาณ ๑-๒ เดือนก็จากลามาโดยไม่ได้เจอหลวงพี่ณรงค์ (ท่านไปเฝ้าอาจารย์ซึ่งอาพาธอยู่ที่ชัยภูมิ) ไปเที่ยวอำเภอชนบท ๒-๓ คืน แล้วมาเข้าปริวาสที่อำเภอนาเชือก ๑๐ ราตรี อัพภาณแล้วก็แบกกลดเดินไปบ้างนั่งรถบ้างจนไปถึงวัดกลางกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเยี่ยมหลวงพี่อัสมาลา พักอยู่ ๔-๕ คืน ก็เดินทางไปสกลนคร เลยไปอุดรเพื่อเที่ยวบ้านเชียง แล้วก็ย้อนกลับมาเพื่อขึ้นไปยังนครพนม พักอยู่กับท่านพระครูฯ (จำชื่อไม่ได้) ที่วัดปทุม ตำบลนามะเขือ อยู่จนถึงานไหว้พระธาตุพนม (ประมาณ ๒-๓ เดือน) ท่านพาไปเที่ยวงานแล้วก็กราบลาท่านย้อนลงมาศรีษะเกษ มาเยี่ยมท่านพระครูบุญมาที่วัดศรีโพนดวน มาทันงานบุญข้าวจี่ เพ็ญเดือนสามที่นี้ ใคร่จะพักกับท่านนานๆ แต่คิดถึงบ้านเต็มที่แล้ว ดังนั้น พักได้เพียง ๔-๕ คืน ก็กราบลาท่านกลับปักษ์ใต้บ้านเรา…

มาถึงวัดกระดังงาก็ทราบข่าวว่าสอบนักธรรมโทได้ หนังสือบาลีซื้อไว้ตั้งแต่บวชได้เดือนแรก แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มเรียนจากครู จึงเริ่มจะหาสำนักเรียนบาลี พอดีเจอหลวงพี่ซึ่งเป็นญาติห่างๆ กลับมาเยี่ยมบ้าน ชักชวนว่าน่าจะไปเที่ยววัดสะปำ ภูเก็ต ที่นั้นเป็นสำนักปฏิบัติ ถ้าจะไปเรียนบาลีในเมืองก็ได้ จึงได้ไปอยู่วัดสะปำ ซึ่งต้องตื่นตีสี่ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ตอนเย็นเริ่มจากหกโมงไปสิ้นสุดสองทุ่ม อาจารย์ช่วงเจ้าสำนักวัดสะปำเป็นพระปฏิบัติที่ผู้เขียนนับถือด้วยใจรูปหนึ่ง ตามที่เคยประสบพบมา

ต่อมาก็ไปสมัครเรียนบาลีที่วัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) ในตัวเมือง ก็ย้ายไปอยู่วัดควนได้ประมาณ ๒-๓ เดือน พอเริ่มเรียนบาลีได้ไม่นาน ก็มีความเห็นแย้งกับอาจารย์สอน จึงกราบลาท่านเจ้าคุณ ตั้งใจจะมาเรียนที่วัดใหม่พัฒนาราม สุราษฎร์ฯ แต่ท่านเจ้าคุณฯ ส่งมาอยู่วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ ดอนสัก ผลสุดท้ายก็ตัดสินใจมาสมัครเรียนวัดเลียบ สงขลา โดยมาจำพรรษาที่สามที่วัดสุวรรณคีรี

(คืนนี้ เหนื่อยแล้ว ค่อยเขียนต่อ ยี่สิบห้าพรรษา เพิ่งผ่านไปสองพรรษาเท่านั้น 5 5 5…)

Aug 13

เข้าไปอ่านเรื่อง ดีย๊ากยาก ! ของคุณโยม Logos จึงไปค้นดูเรื่องที่เคยเขียนค้างไว้ มีความรู้สึกว่า น่าจะมารวมไว้ที่นี้อีกครั้ง จึงได้คัดลอกมารวมไว้เป็นบันทึกเดียวแน่นอนได้เลยว่า…

๑…

คนไทยทั่วไปหรือคนที่พูดภาษาไทยได้ย่อมรู้ความหมายของคำว่า ดี ชั่ว ผิด ถูก … และย่อมใช้คำเหล่านี้ได้เหมาะสมดังที่พูด (หรือเขียน) กันอยู่… กล่าวคือ ไม่มีปัญหาในการใช้คำเหล่านี้ ซึ่งเด็กๆ ก็พูดได้ใช้เป็น…

แต่คำว่า รู้ความหมาย คำเหล่านี้ (ดี, ชั่ว , ผิด, ถูก) อาจไม่ตรงประเด็นนัก ถ้าจะอ้างว่า พวกเราทุกคนรู้ความหมายของคำเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง โดยมิได้แตกต่างกันเลย… หรือเมื่อคนหนึ่งบอกว่า

  • ความดีคือ….

การที่ทุกคนจะยอมรับสิ่งที่คนหนึ่งบอกมานั้นโดยมิได้โต้แย้งเลย ก็มิใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ง่ายๆ…

ยกตัวอย่างว่า คำว่า วงกลม คนทั่วๆ ไป หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เคยเรียนเรขาคณิต ก็อาจเข้าใจและใช้คำนี้ได้ตามความเหมาะสม… แต่ถ้าจะบอกว่า

  • วงกลมคือ….

ถ้าไม่ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า วงกลมคือวงกลม แล้ว การที่จะให้ความหมายของคำว่า วงกลม นับว่าเป็นสิ่งที่ยาก ในเมื่อบอกไปแล้วทุกคนจะยอมรับโดยไม่โต้แย้งทำนองเดียวกับคำว่า ดี เป็นต้น

อนึ่ง สำหรับวงกลม ในวิชาเรขาคณิตอาจให้ความหมายทำนองว่า…

  • วงกลม คือ เส้นโค้งรอบ ซึ่งมีระยะทางเท่ากันหมดจากจุดหนึ่งที่ให้ไว้

คำศัพท์ทางจริยะ กล่าวคือ ดี. ชั่ว. ผิด. ถูก. ก็ทำนองเดียวกับคำว่า วงกลม ซึ่งเราอาจพูดหรือเขียนและใช้คำเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วเหมาะสม แต่ใช่ว่าเราจะรู้ความหมายของคำเหล่านี้อย่างแท้จริง หรือเมื่อเราให้ความหมายของคำเหล่านี้แล้ว ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับควาหมายนั้นเสมอไป…

ในวิชาจริยศาสตร์ มีสาขาย่อยศึกษาถึงความหมายของคำเหล่านี้ เรียกว่า อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ซึ่งผู้เขียนจะปัดฝุ่นหนังสือนำมาเล่าเป็นตอนๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวยให้…

อนึ่ง สาเหตุที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะรู้สึกว่า ระยะนี้จะมีการหยิบยกเรื่อง ความดี การเป็นคนดี การกระทำดี นักการเมืองที่ดี ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเรื่อยๆ… ซึ่งผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อค้นหาความหมายของคำนี้อยู่ก็ ได้…

ดังนั้น จึงขอเชิญผู้สนใจติดตามเรื่องนี้ มาร่วมถกเถียง หรือวิพากษ์วิจารณ์ตามสมควรในตอนต่อๆ ไป…

…………

๒…..

เพื่อเป็นการสะดวกต่อผู้ไม่คุ้นเคยในวิชาจริยศาสตร์ ผู้เขียนจะนำโครงสร้างของวิชาจริยศาสตร์มาตั้งไว้ก่อนเป็นอันดับแรก

จริยศาสตร์ (Ethics) คือ ปรัชญาแขนงหนึ่งที่ศึกษาเรื่องหลักการดำเนินชีวิต คุณค่าของการกระทำ และการตัดสินดีชั่วผิดถูกในการกระทำ เป็นต้น โดยในปัจจุบันจำแนกออกได้ ๒ แขนง กล่าวคือ

จริยศาสตร์เชิงปทัฎฐาน (Normative Ethics) ศึกษาเรื่องเกณฑ์ตัดสินการกระทำทางศีลธรรม มี ๒ แขนง กล่าวคือ

  • จริยศาสตร์ปทัฎฐานทั่วไป (General Normative Ethics) ศึกษาทฤษฎีทั่วไปที่ว่าด้วยเกณฑ์ตัดสิน เช่น ลัทธิคานต์ ประโยชน์นิยม อัตนิยม ฯลฯ และความขัดแ้ย้งของแต่ละแนวคิด เป็นต้น
  • จริยศาสตร์ประยุกต์ (Applied Ethics) นำแนวคิดทั่วไปมาศึกษาเฉพาะเรื่อง เช่น จริยศาาสตร์ตามวิชาชีพเรียกว่าจรรยาบรรณ ซึ่งอาจแยกวิชาีชีพไปเป็นของหมอหรือครูเป็นต้น… ตลอดถึงข้อถกเถียงในการทำแท้งหรือสิทธิในการตายเป็นต้น

จริยศาสตร์เชิงอปทัฎฐาน (Nonnormative Ethics) มิได้เน้นการศึกษาเพื่อวางเกณฑ์การตัดสินการกระทำดังเช่นจริยศาสตร์เชิงปทัฎฐานข้างต้น มี ๒ แขนง กล่าวคือ

  • จริยศาสตร์เชิงบรรยาย (Descriptive Ethics) ศึ่กษาปรากฎการณ์ทางศีลธรรมตามคำบอกเล่าในสังคม ตามช่วงเวลา หรือเฉพาะศาสนาเป็นต้น เช่น ชนเผ่าสปาตาร์โบราณของพวกกรีกยกย่องการลักขโมยว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือชนชาวธิเบตนิยมครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัว เป็นต้น
  • อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ศึกษาถึงความหมายของคำศัพท์ทางจริยะ เช่น ดี ชั่ว ผิด ถูก เป็นต้น

แม้จะแยกประเด็นออกไปก็จริง แต่ในการนำเสนอแต่ละอย่างก็มักมีการเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เช่น เมื่อศึกษาถึงหลักศีลธรรมของชาวเยอรมันก็จัดเป็นจริยศาสตร์เชิงบรรยาย ด้วยเหตุที่คานต์เป็นชาวเยอรมัน ก็อาจศึกษาว่าลัทธิคานต์เข้าไปมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง….

หรือแม้จะศึกษาเฉพาะหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาความดีในแง่พระพุทธศาสนา ก็อาจต้องมีประเด็นอภิจริยศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นต้น

อนึ่ง เฉพาะอภิจริยศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวในบันทึกชุดนี้ ในปัจจุบันอาจจำแนกออกเป็นกลุ่มความคิดเห็นได้ดังต่อไปนี้..

  • ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย… แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
  • อปชานนิยม (Noncognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบ่งชี้ความหมายได้ หรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ความหมาย…. แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คัดค้านสัจนิยม (Antirealism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

และแต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดแยกแย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม…

…………

๓…….

ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย ซึ่งจำแนกแนวคิดออกไปได้อีก กล่าวคือ

  • ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง…
  • อธรรมชาตินิยม (Nonnaturalism) แนวคิดที่คัดค้านธรรมชาตินิยม กล่าวคือ คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) ไม่อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง… แต่อาจรับรู้ความหมายโดยคุณสมบัติที่ไม่เป็นธรรมชาติ…

คำว่า ธรรมชาติ ในที่นี้ หมายถึง ข้อมูลที่เรารับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ข้อเท็จจริง (fact)… ส่วน อธรรมชาติ ก็หมายถึงสิ่งที่มิใช่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเช่นนั้น

ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงก็คือ คุณค่า (value) ซึ่งได้มาจากการประเมินค่าหรือเข้าไปกำหนดคุณค่าของข้อเท็จจริงอีกครั้ง เช่น กรุงเทพเป็นเมืองน่าอาศัยอยูู่ …. คำว่า น่าอาศัยอยู่ จัดเป็น คุณค่า เพราะเราประเมินค่า ข้อเท็จจริง (กรุงเทพฯเป็นเมือง)

คำศัพท์ทางจริยะทั้งหมดจัดเป็นคุณค่า มิใช่่ข้อเท็จจริง เช่น

  • ท่านนายกเป็นคนดี
  • ท่านประธานเป็นคนเลว
  • ท่านหัวหน้าเป็นคนชั่ว

ข้อความว่า “ท่านนายกเป็นคน”  “ท่านประธานเป็นคน “  และ “ท่านหัวหน้าเป็นคน” …. เรียกว่า ข้อเท็จจริง …ส่วนคำศัพท์ว่า ดี เลว และ ชั่ว … เรียกว่า คุณค่า

แนวคิดธรรมชาตินิยมถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ คือ ดี เลว ชั่ว ซึ่งเป็นคุณค่าเหล่านี้ อาจระบุ ให้ความหมาย หรืออาจรับรู้ได้ด้วย คำศัพท์หรือข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงอื่นๆ

(อนึ่ง อภิจริยศาสตร์ เรียกอีกชื่อว่า จริยศาสตร์วิเคราะห์ ซึ่งจัดเป็นปรัชญาวิเคราะห์แขนงหนึ่ง มีความละเอียดถี่ยิบด้วยหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ เล่าตามที่พอจะคาดเดาได้เท่านั้น)

ยกตัวอย่างว่า นส.โสรยาสอบวิชาภาษาไทยได้เกรด D ในภาคการศึกษาที่แล้ว… ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คุณแม่ไม่ปลื้ม จึงมีข้อต่อรองกับลูกสาวว่า ภาคการศึกษานี้ ถ้าหากว่าได้เกรด ต่ำกว่า B ก็จะยึดโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่… นี้คือปัญหาของน้องโสรยา

โสรยาวิตกกังวลเรื่องนี้มาก จึงคิดที่จะลอกวิชาภาษาไทย เพื่อจะได้เกรด B ไม่ต้องถูกยึดโทรศัพท์มือถือตามที่คุณแม่คาดคั้น… เธอกำลังคิดเรื่องนี้อยู่

  • โสรยาต้องการลอกข้อสอบภาษาไทย… จัดเป็น ข้อเท็จจริง
  • โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทยหรือไม่… จัดเป็น คุณค่า

ซึ่งจากข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและคุณค่าข้างต้น อาจมาจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า

  • โสรยามีความจำเป็นต้องได้เกรดภาษาไทย B …. (1)
  • โสรยาสามารถได้เกรดภาษาไทย B ด้วยการลอกข้อสอบ …. (2)
  • ดังนั้น โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทย ….. (3)

เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1) จัดเป็น ข้อเท็จจริง …. ขณะที่ (3) จัดเป็น คุณค่า

โสรยาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษานายเท่งศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนชาย เขาแนะนำว่า ไม่ควรลอกข้อสอบ เพราะการลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ… ซึ่งอาจจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า

  • เท่งศักดิ์ต้องการให้โสรยาอดกลั้นต่อการลอกข้อสอบภาษาไทย… (1ท)
  • การลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ…….. (2ท)
  • ดังนั้น โสรยาไม่ควรลอกข้อสอบภาษาไทย……………………….. (3ท)

เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1ท) จัดเป็น ข้อเท็จจริง… ขณะที่ (3ท) จัดเป็น คุณค่า
ธรรมชาตินิยม ถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ ซึ่งเป็นคุณค่า เช่น ดี ชั่ว เลว ฯลฯ อาจกำหนดรู้ได้ด้วยข้อเท็จจริง

และจากตัวอย่างที่ยกมา ประเด็นของการค้นหาความหมายของคำว่า ดี เริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับคุณค่า ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป

………….

๔………

ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง

ข้อความข้างบนนี้ อาจเข้าใจยากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยเรื่องทำนองนี้ ดังนั้น ลองมาดูตัวอย่างเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น…

  • นายไกวัลย์เป็นคนดีเพราะเขาตื่นเช้าตักบาตรทุกวัน

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ดี (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวัน (ข้อเท็จจริง)

  • นายฉัตรวรเป็นคนเลวเพราะเขาเล่นการพนัน

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า เลว (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า เล่นการพนัน (ข้อเท็จจริง)

  • คุณนุชมาลเป็นภรรยาที่น่ีายกย่องเพราะก่อนนอนกราบสามีทุกคืน

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่าี น่ายกย่อง (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ก่อนนอนกราบสามีทุกคืน (ข้อเท็จจริง)

  • นายธิปัตย์กับนางศรีพิศเป็นพวกคนชั่วเพราะไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตร

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ชั่ว (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตร (ข้อเท็จจริง)

จะเห็นได้ว่า ดี เลว น่ายกย่อง และ ชั่ว จัด เป็นคุณค่า ซึ่งถูกให้ความหมายด้วยข้อเท็จจริงที่เราสามารถสังเกตได้ตามธรรมชาติ…. ถ้าใครเห็นด้วยกับการอธิบายทำนองนี้ แสดงว่าอยู่ในกลุ่มธรรมชาตินิยม

แต่ถ้าจะถามว่า ท่านเชื่อหรือไม่ว่า…

  • คนที่ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวันเป็นคนดี !
  • คนเล่นการพนันเป็นคนเลว !
  • ภรรยาที่กราบสามีก่อนนอนทุกคืนเป็นผู้น่ายกย่อง !
  • พวกที่ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรเป็นคนชั่ว !

ผู้เขียนคาดหมายว่า คงจะมีหลายท่านที่ลังเลสงสัยว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมตามตัวอย่างที่ยกมาจะเป็นคนดี เลว น่ายกย่อง หรือชั่ว ตามการให้ความหมายข้างต้น…
บางท่านอาจให้ความเห็นว่า การใส่บาตรตอนเช้าทุกวันอาจดีสำหรับชาวพุทธที่ศรัทธาเรื่องนี้เท่านั้น ศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ อาจเฉยๆ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ หรืออาจมองว่าเป็นกลุ่มคนโง่ก็ได้….

ได้ยินมาว่าคนอินเดียโบราณถือว่า การพนันคือการแข่งขันที่ยุติธรรมที่สุด… บางคนก็เล่นเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย… เล่นในยามว่างคลายเครียดเพื่อสนุกสนานในบรรดาญาติมิตรหรือเพื่อนฝูง… อีกอย่างการเล่นการพนันก็มิได้ระบุว่าเล่นขนาดไหน… ฉะนั้น การที่จะยอมรับว่าคนเล่นการพนันเป็นคนเลว จึงน่าจะพูดเกินจริงไปสักหน่อย…

ธรรมเนียมคร่ำครึว่าภรรยากราบสามี ก่อนนอนเป็นผู้น่ายกย่อง… เดียวนี้ภรรยาต้องช่วยเหลือสามีและครอบครัวทำมาหากิน จะมัวแต่เฝ้าบ้านทั้งวันแล้วคอยแต่เพียงกราบสามีก่อนนอน จะใช้ได้หรือน่ายกย่องที่ไหน… ประเด็นนี้ก็ไม่เห็นด้วย

เพื่อนๆ ของเราที่ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรก็มีหลายคน แต่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนชั่วนี้นา… ฟังว่าบางคนมาเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ยามว่างพรรคพวกมาชวนก็ไปร่วมประท้วง ไม่ว่าฝ่ายไหนไปด้วยทั้งนั้น เพราะข้าวก็ได้กิน ดนตรีก็มีให้ฟัง แถมบางครั้งมีเงินมาแจกอีก พวกนี้น่าจะจัดเป็นกลุ่มประท้วงเพื่อการศึกษามากกว่าที่จะถูกตราหน้าว่าเป็น คนชั่ว… ข้อนี้ก็ไม่เห็นด้วย

นั่นคือ คำศัพท์บ่งชี้คุณค่าทางจริยะ เช่น ดี เลว น่ายกย่อง หรือ ชั่ว เป็นเพียงความเห็นของใครบางคนเท่านั้น มิใช่ทุกคน ดังข้อวิจารณ์ที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเปรยให้พอมองเห็นได้

ตามนัยข้างต้น อาจสรุปว่า การประเมินค่าพฤติกรรมของคน อาจจำแนกได้ ๒ นัย กล่าวคือ

  • เห็นด้วย ยอมรับ ชอบใจ…. จัดเป็นเชิงบวก
  • คัดค้าน ต่อต้าน รังเกียจ… จัดเป็นเชิงลบ

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ก็อาจสรุปได้ว่า…

  • คุณค่าเชิงบวก (่ดี. น่ายกย่อง.) ก็คือ สิ่งที่ฉันหรือใครๆ เห็นด้วย ยอมรับ หรือชอบใจ
  • คุณค่าเชิงลบ (ชั่ว. เลว.) ก็คือ สิ่งที่ฉันหรือใครๆ คัดค้าน ต่อต้าน หรือรังเกียจ

นั่นคือ พฤติกรรมของคนตามธรรมชาติที่เราสังเกตได้นั้น เราอาจประเมินค่าว่าดี (ถ้าชอบใจ) หรือเลว (ถ้าไม่ชอบใจ)… ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของคนเท่านั้นเอง และนี้คือ ข้อบกพร่องของธรรมชาตินิยม

แนวคิดเบื้องต้นของธรรมชาตินิยมเป็นไปทำนองนี้ และยังมีความเห็นแยกย่อยออกไปอีก ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าต่อไป…

…………..

๕………….

ธรรมชาตินิยม ซึ่งยึดถือว่า ดีชั่ว หรือผิดถูก อาจสังเกตได้จากข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ จำแนกได้เป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ…

  • ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย ( Subjective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) เกิดขึ้นจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือของสังคม
  • ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ( Objective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) ไม่ขึ้นอยู่กับ… หรือเป็นอิสระจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือหรือของสังคม

ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย นี้ อาจจำแนกย่อยออกไปเป็นส่วนตัวหรือ เชิงปัจเจกชน ( Individual ) และส่วนรวมหรือ เชิงสังคม ( Social ) อีกลำดับหนึ่ง…

…เชิงปัจเจกชน ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือถูกผิดนั้น ขึ้นอยู่กับการประิเมินค่าของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เช่น คนที่มีความเห็นว่าการขโมยเป็นสิ่งที่่ถูกต้อง เขาจึงขโมย เพราะเขาคิดว่าการทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขาแล้ว… หรือนักการเมืองบางคนคิดว่าการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เป็นต้น

…เชิงสังคม ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือผิดถูกนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินค่าของคนในสังคมนั้นๆ เช่น ชาวธิเบตถือว่าครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัวเป็นสิ่งที่ดี… หรือคนที่ชำนาญในการลักขโมยได้รับการนิยมยกย่องในสังคมของชาวสปาตาร์โบราณ เป็นต้น

ตามความเห็นของกลุ่มนี้ อาจสรุปสั้นๆว่า ถ้าใครว่าดีสิ่งนั้นก็ดี ถ้าสังคมใดว่าดีสิ่งนั้นก็ดี หรือ ถ้าใครว่าเลวสิ่งนั้นก็เลว ถ้าสังคมใดว่าชั่วสิ่งนั้นก็ชั่ว … ความเห็นทำนองนี้ บ่งชี้ว่าดีชั่วหรือผิดถูก ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายและตัดสินใจของใครบางคนหรือของสังคมเท่านั้น และอาจขัดแย้งกันได้… นั้นคือ กลุ่มนี้จะไม่ยอมรับความเป็นทั่วไป (หรือสากล) ของการให้ความหมายคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ…

ขณะที่ ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ไม่ยอมรับการประเมินค่า ให้ความหมาย และตัดสินทำนองนี้

ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย เชื่อว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครๆ หรือสังคม กล่าวคือ จะต้องเป็นความจริงที่อิสระจากใครๆ หรือสังคม… ปัญหาก็คือ ใครจะยืนยันได้ว่า ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่บ่งชี้ดีชั่วผิดถูกที่มีลักษณะทั่วไปเป็นสากลไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นใดๆ ทำนองนี้

ทฤษฎีผู้สังเกตในอุดมคติ (The Ideal-Observer Theory ) บอกว่า จะต้องมีใครสังคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้และเข้าใจสิ่งนี้ และสามารถยืนยันได้ว่าสิ่งใดดีชั่วหรือผิดถูก…ว่าโดยย่อ แนวคิดของทฤษฎีนี้ ต้องการให้การประเมินค่าดีชั่วเป็นอิสระจากใครๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับสังคม กล่าวคือต้องการให้เป็นสากลทั่วไปสำหรับทุกๆ คน… น่าจะทำนองนี้

ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจและคุ้นเคยกับทฤษฎีนี้สักเท่าไหร่… และเห็นว่า ถ้าจะนำมาเล่าก็จะนอกเรื่องออกไปไกลแน่ ดังนั้น ผู้สนใจประเด็นนี้ ไปอ่านเพิ่มเติมที่…

สรุปได้ว่า ธรรมชาตินิยมถือว่า ดี อาจยืนยันได้โดยข้อเท็จจริงที่เราสังเกตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งบางพวกก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการยืนยันส่วนตัวของใครก็ได้ หรือของสังคม ขณะที่บางพวกบอกว่าต้องมีผู้สังเกตในอุดมคติซึ่งจะระบุข้อเท็จจริงตาม ธรรมชาติเพื่อมายืนยันสิ่งที่ ดี ได้

ตรงข้ามกับ ธรรมชาตินิยม ก็คือ อธรรมชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป…

…………

หมายเหตุ : เขียนค้างไว้แค่นี้ และคิดว่าน่าจะไม่เขียนต่อ  ยกเว้นถ้าอนาคตกลับไปเป็นอาจารย์สอน และจำเป็นต้ิิองสอนเรื่องนี้ (………….)

Jul 17

บ่อยางใหม่ที่วัดก็สร้างเสร็จและได้ฉลองมา ๒-๓ เดือนแล้ว แต่น้ำก็ยังไม่ได้ใช้ จึงใคร่ปรึกษาท่านผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ด้านนี้ เผื่อจะนำมาแก้ปัญหาได้…

ในการสร้างบ่อใหม่นั้น ทางสโมสรโรตารีเป็นเจ้าภาพ โดยขุดเป็นบ่อเหลี่ยม แล้วมีบ่อกลมอยู่ภายในลึกลงไปอีกสองปล้อง แล้วใช้ท่อพีวีซีฝังติดกับผนังบ่อ ส่วนปลายผักบัวนั้น ยื่นลงไปในบ่อกลม ต่อท่อมาด้านข้างบ่อเพื่อใช้เครื่องสูบน้ำชนิดหอยโข่งดูดน้ำขึ้นมา….

กำลังสูบน้ำออกเพื่อเทคอนกรีตพื้นด้านล่าง

ฝังท่อพีวีซีมาโผล่ที่ข้างบ่อ เพื่อจะสูบน้ำกับปั๊มหอยโข่ง

ปัญหาก็คือ ตอนที่ช่างทดลองใช้เครื่องสูบน้ำนั้น น้ำขึ้นมานิดหน่อยแล้วก็หยุด ผลสุดท้ายช่างก็บอกว่าเครื่องกำลังน้อย จะมาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ แต่หลังจากเสร็จวันงานมาหลายเดือนแล้ว ก็คงค้างอยู่อย่างนี้…

สภาพภายในบ่อวันนี้ ซึ่งน้ำกำลังจะเสีย

หลวงพี่ที่วัด สันนิษฐานว่า หัวบัวที่หย่อนไว้ในบ่อกลมด้านล่าง อาจถูกทรายฝังอยู่ ดังนั้น เมื่อวานจึงลงไปตรวจดู ปรากฎว่าหัวบัวอยู่กลางน้ำ มิใช่ปัญหาจุดนี้… ลองเอาปั๊มหอยโข่งเก่าที่บ่อบาดาลในวัดมาลองดูก็สูบไม่ขึ้น และลองนำปั๊มตัวใหม่ไปใช้กับบ่อบาดาลก็ใช้ได้ปกติ นั่นคือ มิใช่ปัญหาที่ปั๊ม…

ลองค้นดูในเน็ตอ่านนิดหน่อย เค้าบอกว่า บ่อลึก ๑๐ เมตรขึ้นไป ปั๊มหอยโข่งจะดูดไม่ขึ้น เมื่อมาพิจารณาบ่อนี้ ถ้าวัดระยะโดยลึก ไม่ถึง ๑๐ เมตร และถ้าวัดระยะทางของหัวบัวมาถึงปั๊มก็น่าจะไม่เกิน ๑๐ เมตร…

อาตมาอยู่วัดมานาน สภาพวัดก็เป็นอย่างนี้แหละ ตอนที่ญาติโยมศรัทธาจะสร้างโน้นสร้างนี้ให้นั้น มักจะมีคำขอ เช่น ต้นไม้โน้นไม่เหมาะสม น่าจะตัดออก น่าจะถมดินจุดนี้ สีนี้ไม่สวย ควรจะเปลี่ยนเป็นโน้น… แต่เมื่อพ้นจากนั้นก็ทิ้งไป ติดต่อไปก็มักจะมีข้ออ้างผลัดวันเสมอ ทางวัดจึงมักจะต้องดำเนินการเองตามความเหมาะสม… ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน น้ำในบ่อไม่ได้ถ่ายเทหลายเดือนแล้ว ตอนนี้น้ำขุ่นเขียว เริ่มเสีย จึงรอไม่ได้…

ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้เลย ใคร่จะถามผู้รู้หรือผู้ที่มีประสบการณ์ว่า จะแก้ัปัญหาอย่างไร หรือถ้าจะซื้อปั๊มใหม่ จะใช้ปั๊มชนิดและขนาดใด เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป…

  • สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
  • การให้ความรู้เป็นทาน ชำนะการให้ทั้งปวง
Jul 16

ตั้งแต่ผู้เขียนเป็นบล็อกเกอร์มา ๓-๔ ปี ได้เจอตัวจริงเสียงจริงของเพื่อนบล็อกเกอร์ด้วยกัน (น่าจะ) ไม่ถึง ๑๐ ท่าน บางท่านที่เคยมาถึงวัดนั้น ผู้เขียนจะเป็นผู้พามา หรือไม่ก็ติดต่อมาเพื่อร่วมกิจกรรมบางอย่าง… วันนี้ นับว่าเป็นโอกาสดี คุณหมอจอมป่วน มาเยี่ยมถึงวัดทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ ทั้งนับได้ว่า คุณหมอจอมป่วนเป็นท่านแรกที่ตั้งใจมาเยี่ยมโดยเฉพาะ…

เมื่อคืนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากโยมคุณหมอว่า พรุ่งนี้เช้าจะเข้ามาเยี่ยมประมาณ ๐๗.๓๐ น. ผู้เขียนก็ค่อนข้างจะตื่นเต้นตามประสา… เช้าตรู่ของวันนี้ จึงใช้ให้โยมปั่นสามล้อไปซื้อไข่ครอบเพื่อไว้เป็นของฝาก และจงใจเปิดธรรมบรรยายก้องทั่ววัดไว้ต้อนรับ (ปกติจะปิดก่อน ๐๗.๓๐ น.) และคุณหมอก็ถึงมาตามเวลาที่ประมาณไว้…

คุณหมอมารถตู้คันโต พร้อมหนุ่มติดตามอีกสองท่าน ก็ถ่ายรูปแล้วสนทนากันนิดหน่อย จากนั้นผู้เขียนก็พาโยมคุณหมอเดินชมวัด ก่อนกลับคุณหมอก็ได้ถวายซองทำบุญนิดหน่อย โดยบอกว่าช่วยค่าเครื่องเสียงวัดที่กำลังปรับปรุงอยู่ และถามว่าจะมีการสอนธรรมเวลาใด ผู้เขียนก็บอกว่า ประมาณหนึ่งทุ่ม ญาติโยมก็จะมาทำวัตรสวดมนต์ ต่อจากนั้นประมาณทุ่มครึ่งก็จะมีการแสดงธรรมทุกคืน คุณหมอว่ายังไม่กลับ จะหาโอกาสมาฟังเทศน์…

และคืนนี้ คุณหมอก็มาอีกจริงๆ คราวนี้ มีผู้ติดตามเป็นหนุ่มสาวเกือบสิบท่าน… แต่เสียดาย เครื่องเสียงไม่กินเดิมพัน ทำให้การแสดงธรรม ไม่ได้ดังใจ (ขายหน้าจริงๆ 5 5 5) เพิ่งซื้อลำโพงใหม่คู่หนึ่ง ซื้อเครื่องแอมป์ใหม่ต่อพ่วงกับเครื่องเก่า และซื้อไมโครโฟนพร้อมขาตั้งอีกหนึ่งชุด หมดไปหมื่นกว่าบาทแล้ว… ปัญหาก็คือ คนใช้ยังใช้ไม่เป็น บ่นกับคุณหมอว่า เรื่องที่รู้มีเยอะแยะ แต่ไม่ได้ใช้ ตอนนี้ต้องมาใช้สิ่งที่ไม่รู้ไม่มีประสบการณ์เลย (เซ็งจริงๆ 5 5 5)

หลังจากเสร็จพิธีกรรม ญาติโยมประจำคืนกลับแล้ว ก็นั่งคุยกับโยมคุณหมอและคณะ เข้าใจแล้วว่า คุณหมอจอมป่วน เพราะ มาป่วน ! จริงๆ กล่าวคือ หนุ่มสาวที่มาด้วยนั้น คุณหมอบอกว่าพามาให้หลวงพี่ดูดวงให้… เอาละซิ ! ผู้เขียนก็ไม่ได้ดูนานแล้ว และตำราเครื่องมือก็อยู่ที่กุฏิด้านใน (รกมาก อาจหาไม่เจอภายในหนึ่งชั่วโมง) สมองวิ่งปูดดดดดดดดดดด จึงบอกว่าไปเปิดเครื่องคอมฯ แล้วให้ http://www.payakorn.com/ คำนวนแล้วทำนายให้ ต่อจากนั้นก็ปริ้นซ์ไปเป็นที่ระลึก ก็ได้ไปคนละ ๒ แผ่น แผ่นหนึ่งเป็นการทำนายดวงกำเนิด อีกแผ่นเป็นดวงจร ก็ผ่านพ้นไป ไม่เสียชื่อโยมคุณหมอที่พามาเที่ยว…

ก็สนทนากันจิปาถะ เรื่องโน้นบ้างนี้บ้าง… หนุ่มๆ สาวๆ ใคร่ที่จะถามเรื่องคู่ครอง ผู้เขียนก็ไม่ชำนาญด้วย เพราะไม่มีศิลปะในการดู (คือดูไม่เป็น) เป็นแต่ศาสตร์ นั่นคือ อธิบายดวงดาวเรื่องราววิชาโหรได้พอประมาณเท่านั้น… จนได้เวลาสามทุ่มกว่าๆ คุณหมอกับคณะก็ลากลับ ผู้เขียนก็บอกว่า คืนไหนมีโอกาสก็มาเที่ยวอีก เพราะยังอีกหลายวันกว่าจะกลับ…

ผู้เขียนไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เพราะกล้องอยู่ที่กุฏิด้านใน แต่คุณหมอจอมป่วนถ่ายไว้หลายรูป คิดว่าคงจะนำมาแสดงให้ชาวลานได้ชมกันบ้างสักภาพสองภาพ…