ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 31, 2011

สอนศิลปะ ด้วยสารคดี

วันไหนครูเหนื่อยอ่อนจากภารกิจอื่น ๆ อันไม่ใช่จากการสอน หากผืนใช้พลังงานที่มีอยู่น้อยและจำกัด อาจจะทำให้ครูเหนื่อยเกินไป ล้าเกินไป ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการสอนได้ วิธีการคือ ครูต้องหาครูผู้ช่วยมาช่วยในการสอน ครูผู้ช่วยที่ครูออตหมายถึงในบันทึกนี้คือ ครูเทค(โนโลยี)

ช่วงนี้มีงานแต่งงานกันมาก กว่าจะเสร็จงาน หากเป็นงานเพื่อนสนิทเห็นทีว่าจะต้องช่วยกันจนจนวินาทีสุดท้าย ทำให้เหนื่อยและง่วงเป็นพิเศษ แม้กาแฟที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนก็ไม่สามารถเรียกความสดชื่นมาได้ ดังนั้นเช้าวันนี้ครูออตจึงใช้ครูเทคเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนศิลปะ

ปกติการสอนครูในช่วง กระตุ้นการเรียนรู้หรือนำเข้าบทเรียนครูต้องใช้พลังงานในการกระตุ้นการเรียนรู้มาก ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กต้องใช้พลังงานในส่วนนี้มากกว่าช่วงทำงานศิลปะของเด็ก ๆ ซะอีก บางวันก็ชวนเด็ก ๆ เล่นเกม เล่านิทาน ร้องเพลงซึ่งกิจกรรมกระตุ้นที่ว่าต้องใช้พลังงานมากอย่างที่ว่าไปแล้ว ในภาวะที่ครูหมดแรง จึงต้องอาศัยครูเทคเข้าช่วย

ครูออตมีสารคดีที่น่าสนุกหลายเรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องมด(มด1 มด2 มด3 มด4) ซึ่งดาวน์โหลดมาเตรียมไว้หลายวันก่อนเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง(การสะสมเครื่องมือนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครู) เรื่องมดนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมีเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมของเรื่องมด ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ศัตรู วิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับมด ซึ่งน่าจะเร้าความสนใจของเขาได้ดี

โดยธรรมชาติของสารคดี(ที่ดี) คือมีความผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างสาระและบันเทิง มีมุมมองของกล้องที่ตาเราไม่สามารถมองเห็นหรือเป็นมุมมองที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งความไม่เคยเห็นทำให้สารคดีน่าสนใจสำหรับเด็ก เพียงแต่สารคดีมันมักจะยาวไปเสียหน่อยเท่านั้นเอง ครูออตเปิดสารคดีผ่านจอทีวีขนาดใหญ่ซึ่งโรงเรียนเตรียมไว้ให้ดังนั้นจอใหญ่จึงช่วยเร้าความสนใจได้อีกมากโข

ครูออตแจกกระดาษและดินสอให้นักเรียน และบอกให้ดูสารคดีอย่างผ่อนคลายจะนั่ง จะนอนก็ได้ และถ้าตอนไหนในสารคดีเด็ก ๆ สนใจ ชอบใจ ก็สามารถบันทึกไว้ป้องกันลืมได้โดยไม่ต้องลงสีก็ได้ และแล้วหนังสารคดีเราก็เริ่มฉาย ส่วนตัวครูก็ได้พักผ่อนและคอยสังเกตพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยว่ามีปฎิกิริยาอย่างไร

ครูออตสังเกตว่าแรกเริ่มฉาย อาจจะมีเด็กบางคนไม่สนใจ(ในใจคงพูดว่า ทำไมไม่เปิดการ์ตูน) หลายคนที่ชอบดูสารคดีก็จะเล่าสารคดีที่เคยดูแทรกมาบ้าง แต่หลังจากเวลาผ่านไปห้านาทีจะสังเกตว่าเด็ก ๆ นั่งนิ่งจ้องทีวีอยู่ตลอดเวลา บางคนถึงตอนที่สนใจก็จะวาดภาพง่าย ๆ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืม

การดูวีดีโอแล้วจดบันทึกออกมาเป็นภาพ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กคิดและจดจำเป็นภาพซึ่งช่วยให้เด็กจำเนื้อหาได้เร็วและแม่นยำกว่าการจำเป็นคำ เมื่อต้องการนำเนื้อหากลับมาเล่าอีกรอบก็สามารถรื้อภาพจำในสมองมาใช้ได้เร็วกว่า ดังนั้นการสอนเด็กให้จำเป็นภาพนั้นจึงสามารถช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีในวิชาอื่น ๆ ได้ การเขียนเนื้อหาที่เด็กสนใจจากวีดีโอก็ช่วยให้เด็กจำเป็นภาพได้ดี

ในกระบวนการการบันทึกเนื้อหาด้วยภาพเราจะสังเกตเห็นวิธีการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนที่มีระเบียบวินัยมากจะเขียนเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ ตามการดำเนินเรื่องในสารคดี ส่วนเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเขียนสลับกันไปกันมา ไม่ต้องเรียงลำดับ(เท่าที่สังเกตจะพบว่าเด็กที่มีจินตนาการสามารถจดบันทึกเป็นภาพได้หลากหลายตอนมากกว่าเด็กที่มีระเบียบ ## แต่นี่ไม่ใช่ข้อสรุปนะครับ)

เด็กบางคนตอบสนองได้ดีต่อสิ่งเร้าที่เป็นคำพูดของครูหรือการเรียนการสอนปกติ แต่ไม่เก่งเมื่อต้องมาสรุปความคิดผ่านการดูสารคดี เนื่องจากมีเนื้อและน้ำปนอยู่ด้วยกันและแยกแยะไม่ออก(เหมือนกับว่ามีความรู้เต็มไปหมด) ซึ่งยากกว่าการสรุปผ่านการบอกเล่าของครูที่มักพูดสรุปเนื้อหาให้เสร็จสรรพ ดังนั้นการสอนด้วยการดูวีดีโอจึงสามารถช่วยให้เด็กแยะแยะและครัดกรองความรู้ได้และจำรายละเอียดปลีกย่อยได้ดี

(เด็กน่ารักพิเศษน้องเนย์ บันทึกปะปนกันไป แต่ก็ไม่ลืมกำกับด้วยตัวเลขกันลืม)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นความรู้ ในสารคดีเราจะพบอารมณ์ของตัวละครในเรื่องด้วยเช่น ตอนที่มันหิว ตอนที่มันหลบหลีกศัตรู ตอนที่มันขย้ำสัตว์อื่น ตอนที่มดหนีน้ำ ตอนที่มันโดนไฟเผา ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกผ่านสื่อวีดีโอมีหลากหลายมากกว่าการเล่าของครูมาก ซึ่งบางที่ไม่ต้องมีการบรรยายแต่ทำให้เด็กซาบซึ้งไปในอารมณ์ง่ายกว่า การเรียนรู้อารมณ์นี่เองทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีชีวิตชีวาไม่แห้งและอุดมไปด้วยรูปทรงอย่างเดียวแต่เป็นรูปทรงที่ให้อารมณ์ความรู้สึก

วันนี้ครูออตสังเกตเห็นเด็ก ๆ ตั้งใจดูและตั้งใจบันทึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ดูจนจบเรื่องมดทั้ง 4 ตอนซึ่งกินเวลาไปมาก ดังนั้นวันนี้เลยไม่จำเป็นต้องระบายสีน้ำหรือทำกิจกรรมศิลปะต่อ เพราะการบันทึกของเด็ก ๆ นั้นครูออตถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่สุดยอดแล้วนั้นเอง ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งทักษะทางศิลปะได้ทั้งสุนทรียศาสตร์ เห็นไหมว่าครูไม่ต้องเหนื่อยมากหากเลือกสื่อการสอนเป็นดังนั้นครูศิลปะที่ดีควรหาสื่อที่หลากหลาย งดการกระตุ้นที่จำเจซ้ำซากเพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่เด็ก

(นางพญามดของน้องพิม จะสังเกตเห็นเท้าของมันจะเป็นกลม ๆ เพราะว่ามันเหนียวหนืดยึดเกาะเก่ง)

ครูออตขอกลับไปดูสารคดีเรื่องมด ให้ละเอียดอีกรอบก่อน เผื่อเด็กโตต้องการกิจกรรมที่มากกว่าการบันทึกด้วยภาพ อาจจะอยากลงไปสนามเพื่อไปดูรังมด รูมด ไข่มด ด้วยก็ได้ ไปแล้วครับเจอกันบันทึกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น »

ยังไม่มีความคิดเห็น

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress