ทุนชุมชน
อ่าน: 2650(บทความนี้เป็นบทความที่บางทรายเขียนแล้วเวียนภายในโครงการฯ เป็นลำดับที่ 56 แล้ว เห็นว่าสามารถออกสู่สาธารณะได้ จึงเอามาลงในลานนี้ ท่านที่เข้ามาอ่านอย่าสงสัยว่าคำกล่าวหลายตอนนั้นเป็นการกล่าวกับเพื่อนร่วมงานที่มีอยู่ใน 4 จังหวัด ผมไม่อยากเสียเวลาปรับแก้สำนวนเพื่อสาธารณะจึงคงไว้เช่นนั้น การเอามาลงสาธารณะก็เพื่อ “เปิด” อาจจะมีท่านใดๆที่มีคำชี้แนะก็อยากได้ครับ ถือว่า Open KM)
—————
เมื่อวันก่อนมีโอกาสดูทีวีแวบๆรายการหนึ่ง เสียดายที่ไม่ได้ดูเต็มๆ รายการนี้พูดถึงทุนชีวิตทุนสังคม คือมีหน่วยงานหนึ่งที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงก้าวเข้ามาพัฒนาเครื่องมือสำรวจทุนชีวิตทุนสังคมนี้ในหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อพบสาระก็เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์…
ทุกท่านคงเดาเรื่องราวเหล่านี้ออกนะครับว่าแนวจะเป็นอย่างไร
รายการนี้พบว่า จากการสำรวจชุมชนพบคุณยายท่านหนึ่งอายุมากแล้ว จบการศึกษาแต่ ป 4 แต่มีความสามารถในบทกลอน และเรื่องราววรรณคดีไทยต่างๆ หน่วยงานจึงสนับสนุนให้คุณยายใช้ความสามารถที่มีอยู่โดยการเปิดเป็นห้องเรียนชุมชนง่ายๆ เอาเด็กๆในหมู่บ้านมานั่งตามศาลาวัด เอาเสื่อมาปู แล้วคุณยายก็มาเล่าวรรณคดีต่างๆ ทั้งแบบพรรณนา และบทกลอนต่างๆ
ภาพที่ปรากฏคือ
- เด็กๆสนุกสนานมากด้วยอรรถรสการเล่าเรื่องของคุณยาย อิสระ ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียน ไม่มีกฎระเบียบมาขีดขั้น มีแต่คุณยายที่สั่งสอนมารยาทในการฟังการเรียนแบบไม่เรียนเช่นนี้
- คุณยายท่านนี้มีความสุขมาก มาก ที่ได้นำความสามารถพิเศษมาทำประโยชน์ให้แก่ลูกหลานในชุมชนของตนเอง วันเดือนปีไม่มีใครทำเช่นนี้ แต่วันนี้มีคนเปิดโลกแห่งการจัดการความรู้แบบนี้ให้ จึงเกิดพลังมหาศาลขึ้นแก่คุณยายท่านนี้
- พ่อแม่เด็กก็ภูมิอกภูมิใจที่ลูกหลานได้นั่งกับคุณยาย ไม่ไปเล่นอะไรที่ไร้สาระ และพ่อแม่เด็กต่างก็เข้ามาอยู่รอบนอกคอยดูว่าจะสนับสนุนอะไรได้บ้างที่จะทำให้ห้องเรียนของคุณยายนี้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เดาได้เลยว่าสารพัดการสนับสนุนจะออกมาจากพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นรวมไปถึงพระที่วัด ผู้ปกครองชุมชนต่างเข้ามาดู และต่างร่วมกันคิดถึงการสนับสนุนปรากฏการณ์ดีดีเช่นนี้
วิเคราะห์
- เรายังไม่ได้มองชนบทในมุมมองเช่นนี้บ้าง อาจจะมองบ้างแต่ไม่ได้สร้างกิจกรรมที่ใช้ทุนในชุมชนที่มีอยู่สักเท่าไหร่ ใช้บ้างแต่น้อยไป และจำกัด
- โครงการพัฒนาแบบของเราเป็นโครงการที่ออกแบบสำเร็จรูป มีหลักการ มีขอบเขตงาน มีกรอบกิจกรรม เราก็วนอยู่แต่ตรงนั้น เป็นโครงการปลายปิด มิใช่ปลายเปิด จะดัดแปลงทุนชุมชนมาใช้ได้บ้างก็แค่เล็กน้อย ไม่มีพลังสักเท่าไหร่
- ความจริงทุนชีวิต ทุนชุมชนมีมากมายทุกแห่งทุกพื้นที่ เพียงแต่เรามองไม่เห็น หรือเห็นบ้างแต่ไม่ได้ออกแบบการสนับสนุนการแสดงพลัง อาจจะคิดแต่ไม่มีช่องที่จะทำเพราะโครงการปลายปิดดังกล่าว
- โครงการไม่มี Unforeseen budget อย่างผมเคยแลกเปลี่ยนกันบ้างแล้ว ประสบการณ์เรื่องงบประมาณปลายเปิดแบบนี้ผมได้มาสมัยทำงานกับโครงการ NEWMASIP กับ EURO Consultant ที่เขากันงบประมาณจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอที่จะทำกิจกรรมที่ดีดี หลังจากที่ดำเนินการตามแผนงานปกติ แล้วไปพบสิ่งที่น่าทำ น่าสนับสนุนขึ้นในชุมชน ก็สามารถพิจารณาเสนอของบจำนวนนี้มาทำกิจกรรมได้ ในโครงการของเราก็เห็นกิจกรรมใหม่ๆที่น่าทำหลายประการแต่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในแผน และงบแบบ Unforeseen ก็ไม่มี
- การพิจารณาสนับสนุน พัฒนาทุนชีวิต ทุนชุมชนนั้น ผมคิดว่าเป็นฐานที่สำคัญต่อการพึ่งตนเองในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ในหลายๆสาขา เพียงแต่ว่าเราสามารถจะขุดค้นศักยภาพของชุมชนมาได้มากน้อยแค่ไหน
- กิจกรรมเช่นข้างบนนั้นทุกคนได้หมด คุณยายได้ เด็กๆได้ พ่อแม่ของเด็กๆได้ หน่วยงานที่สนับสนุนได้ ที่สำคัญ ชุมชนได้
ผมฝันไปว่าในอนาคตโครงการของเราจะมีโครงสร้างแบบผสมผสานระหว่างการออกแบบเดิมกับแนวทางการทำงานแบบปลายเปิดแบบนี้บ้าง เพราะข้อเท็จจริงคือ การออกแบบโครงการนั้นไม่ครอบคลุมศักยภาพทั้งหมดของชุมชน ขณะที่ทำงานไปนั้นผู้ปฏิบัติเห็นศักยภาพชุมชนมากมายที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้ครับ