เอ๊ะ…ของนายพล
อ่าน: 5392
วันนี้พวกเราได้เข้าร่วมการสรุปบทเรียนการทำนาโดยใช้ปุ๋ยน้ำหมักของพี่น้องชาวไทบรูดงหลวง ทั้งนี้เป็นการพยายามแก้ปัญหาข้าวไม่พอกิน และการพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ประกอบการพึ่งตนเอง…
มันเกี่ยวอะไรกับชื่อบันทึก…หา. พลเป็นชื่อเกษตรกรไทบรู เป็นผู้ชายก็ใส่นายเข้าไป ก็เป็น นายพล ส่วน เอ๊ะนั้นคือเอ๊ะศาสตร์ ขอใช้ชื่อนี้ ก็คือการฉุกคิด การตั้งคำถาม การตั้งข้อสังเกต แล้วหาคำตอบต่อเรื่องนั้นๆ..
ในเวทีสรุปบทเรียนวันนี้(จะบันทึกทีหลัง) นายพลคนนี้เฝ้าเข้ามาใกล้ชิดผมแล้วในที่สุดก็มาเอ่ยปากว่า เมื่อเสร็จที่นี่แล้วอาจารย์ไปเยี่ยมผมที่บ้านสวนหน่อย อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ผมคิดว่าคนทำงานพัฒนานั้นต้องตอบรับเพราะนั่นหมายความว่าชาวบ้านเขามีอะไรสักอย่างจะคุยกับเรา จึงออกปากมาอย่างนั้น..
เมื่อเวทีสรุปบทเรียนเสร็จสิ้น เราก็เดินทางไปบ้านสวนของนายพล.. เมื่อเลี้ยวรถเข้าบ้านสวนทุกคนก็ร้อง จ๊ากกสสส์ เพราะเห็นหัวมันสำปะหลังที่วางอยู่บนรถสาลี่นั่นมันใหญ่โตอะไรปานนั้น..?? เราเข้าใจทันทีเลยว่านายพลชวนเรามาทำไม ทีมงานยิงคำถามจนนายพลตอบแทบไม่ทันว่าทำอย่างไรหัวมันถึงใหญ่เช่นนี้ พันธุ์อะไร อายุหัวมันเท่าไหร่ ทำกี่ไร่ ใส่ปุ๋ยอะไร….
นายพลบอกว่า ผมใช่ปุ๋ยชีวภาพครับ… หาาาาา ปุ๋ยชีวภาพ.. ความจริงเรามีความรู้มาก่อนแล้วว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพนั้นสามารถเพิ่มน้ำหนักและปริมาณหัวมันสำปะหลังได้มากถึงสองหรือสามเท่าจากปกติทั่วไป…
แล้วกระบวนการซักถามเป็นระบบก็ไหลหลั่งมาสรุปได้ว่า
· นายพลมีอาชีพเหมือนกับชาวบ้านทั่วไปคือปลูกข้าวเอาไว้กินแล้วก็ปลูกมันเอาไว้ขาย ภรรยาเป็นคนอำนาจเจริญ มีลูกสี่คน ที่นายังไม่ได้รับการแบ่งแยกมาจากพ่อแม่ แม้ว่านายพลจะมีอายุถึง 53 ปีแล้วก็ตาม
· วันหนึ่งไปกู้มัน(กู้มันคือเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง) สังเกตเห็นว่ามันต้นไหนที่มีลักษณะใหญ่โต หัวใหญ่โต เมื่อขุดดินลงไปจะพบร่องรอยของการเน่า สลายของหัวมันเดิมที่ตกค้างอยู่ นายพลคิดว่าน่าจะเป็นเพราะหัวมันเน่าสลายนี้เองที่กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้หัวมันใหม่เจริญเติบโตดีมากกว่าต้นมันอื่นๆที่ไม่มี
· จากข้อสังเกตนั้นจึงลองเอามันสำปะหลังที่เหลือๆอยู่หลังจากการเก็บขายเอามาหมักกับกากน้ำตาล โดยหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ หมักไว้ 1-3 เดือนก็คั้นเอาน้ำไปเก็บไว้..ในภาชนะใหม่เช่นถัง (ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดทั้งหมด)
· แล้วเอาไปผสมกับน้ำเอาไปราดลงโคนต้นมันสำปะหลัง และพ่นลงทางใบมันสำปะหลัง ทำจนมันสำปะหลัวมีอายุประมาณ 4 เดือน
· เมื่อได้อายุ 10-12 เดือน เก็บก็จะได้มันที่มีราก หรือหัวที่ใหญ่โตเช่นนั้น เฉลี่ยที่ใหญ่ที่สุดประมาณ ต้นละ 16 กิโลกรัม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 8-10 ตัน
· ทำมาสองปีแล้วแบบเงียบๆ เพื่อทดลองดู เมื่อได้ผลก็อยากเผยแพร่ให้เพื่อนเกษตรกรเอาไปใช้ แต่ยังไม่มีใครมาสอบถาม
· เมื่อปีที่แล้วนายพลลองเอาน้ำหมักชีวภาพนี้ไปใส่นาปี พบว่าได้ผลดีมาก ต้นข้าวใหญ่ ออกรวงดี ข้าวมีน้ำหนักและได้ปริมาณมากขึ้น…
· วันนี้นายพลสรุปแล้วว่า เขามั่นใจคุณภาพน้ำหมักชีวภาพสูตรของเขาว่าใช้ได้ผลจริง จึงต้องการขยายการผลิตน้ำหมัก และต้องการเอาไปใช้กับนาข้าวเป็นหลัก เพราะต้องการเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และต้องการเพิ่มผลผลิตข้าว และลดต้นทุนการผลิต…
· การใช้ปุ๋ยของนายพลมิใช่เฉพาะน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น เขามีวัว 5 ตัว ก็ได้ใช้มูลวัวทำปุ๋ย และที่ช่วยได้มากอีกคือ ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ที่มีในสวนนี้ เก็บรวบรวมมาใส่ในหลุมดังภาพเมื่อมากพอก็เอามูลวัวใส่ เอากากน้ำตาลใส่ลงไปคลุกให้เข้ากันดี รดน้ำให้เปียกแล้วเอาเศษผ้ามาคลุมปิดให้มิดชิด…. ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนขึ้นไปก็เอาไปใช้รองพื้นก่อนปลูกมันสำปะหลัง และช่วงทำนาก็เอาไปใส่นาด้วย
· ผลที่ได้ ดินดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้นจึงพอใจมากและจะเพิ่มการผลิตปุ๋ยหมักให้มากขึ้น
แม้ทั้งโลกนี้จะยอมรับกันว่าก้าวหน้าจากยุคดิจิตอลเข้าสู่ยุคนาโน แต่ก็เป็นโลกทุนที่ก้าวไปอย่างสุ่มเสี่ยง
แล้ววันหนึ่งเกษตรกรก็หันหลังให้กับปุ๋ยเคมีและสารเคมี มาใช้ความรู้พื้นฐานเดิมๆที่พัฒนาขึ้นมาในสภาพใหม่คือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก นายพล วงษ์กะโซ่ คืออีกตัวอย่างที่ชาวบ้านต่อสู่กับการอยู่รอดในสังคมด้วยการพึ่งตนเอง ยึดความพอเพียง และความเป็นคนที่มีเอ๊ะศาสตร์ ช่างสังเกต ทดลองทำ และดัดแปลงตามสภาพบนฐานเงื่อนไขของตนเอง
แล้วนายพลก็มีกำลังใจเพิ่มทวีคูณเมื่อ สิ่งที่เขาใช้วันเวลาเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นปรากฏเป็นจริงขึ้นมา…
นายพล..คนดงหลวง