อาม่าเล่าเรื่อง (๑๒) การเดินทางของตู้

อ่าน: 2505

     ตอนที่แล้ว ได้นำภาพตู้ไม้สองชั้น ที่อากงและอาม่าได้ใช้ประโยชน์มานานตั้งแต่เริ่มทำการค้า จนกระทั่งถึงรุ่นลูกที่ขยายกิจการ สร้างบ้าน (ร้านค้า) ใหม่  ตู้นี้อากงอาม่าจึงนำมาไว้ที่บ้านตึกที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยใช้เก็บของเก่าต่าง ๆ และตู้นี้ถูกน้ำท่วมมาหลายครั้งแล้วแต่ก็ยังทนทานอยู่ในสภาพที่พอใช้งานต่อไปได้  นอกจากตู้ไม้สองชั้นนี้แล้วยังมีตู้กระจกบานเลื่อนอีกหนึ่งหลังที่ใช้ในการวางสินค้าจำหน่ายด้านหน้าร้านของอากงอาม่าตลอดมา ที่หลังจากลูก ๆ เลิกใช้งานแล้ว อากงอาม่าก็ยังนำมาใช้เก็บของต่าง ๆ  ที่บ้านด้วยเช่นกัน  ตู้กระจกบานเลื่อนนี้กลายเป็นตู้ยาของอาม่าในระยะหลัง และน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา  ตู้ยาของอาม่านี้ก็ถูกน้ำท่วมจนหมด ยาต่าง ๆ ของอาม่าที่อยู่ในตู้จึงจมน้ำเสียหาย ส่วนที่อยู่บนหลังตู้ก็ลอยและถูกน้ำพัดพากระจายเสียหายหมดเช่นกัน 

ตู้กระจกบานเลื่อนก่อนถูกน้ำท่วม (เป็นตู้ยาของอาม่า) อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๑๑) ตู้ทรหดหลังน้ำท่วมบ้านอาม่าที่ปักธงชัย

อ่าน: 3456

        หลังจากการเดินทางไปเยี่ยมอาม่าที่บ้านทีปักธงชัยในเช้าวันที่ ๑๖ ตุลาคม กลับมาแล้ว ในวันรุ่งขึ้น (๑๗ ตุลาคม) ก็ได้ทราบว่าระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอีกประมาณ ๑ เมตร  บริเวณถนนหน้าบ้านมีระดับน้ำสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร การเดินทางเข้าไปที่บ้านอาม่าต้องอาศัยเรือยางของทหารเท่านั้น  ติดตามข่าวจากทีวีและสอบถามข่าวอาม่าผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง  ลูก ๆ หลาน ๆ พยายามโน้มน้าวให้อาม่าเดินทางออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง มาพักอยู่ที่บ้านวรารักษ์ที่โคราช  แต่อาม่าก็ยังคงยืนยันว่าจะอาศัยอยู่ที่ชั้นสองของบ้านสองคนกับอาโก  แม้ว่าน้ำประปาไม่มี แต่ไฟฟ้ายังคงใช้การได้ (แม้ว่าบ้านติดกันไฟฟ้าถูกตัดไปแล้ว) จนกระทั่งเช้าวันที่ ๑๙ ที่มีข่าวว่าน้ำอาจจะท่วมสูงเพิ่มขึ้นอีกระลอก อาโกจึงตัดสินใจว่าจะนำอาม่าออกจากบ้าน กระบวนการนำอาม่าและอาโกออกจากบ้านจึงเริ่มขึ้น และจากการช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย การช่วยเหลือเพื่อนำอาม่าและอาโกออกจากบ้านจึงสำเร็จได้ด้วยดีในบ่ายวันนั้นเอง  (อ่านรายละเอียดได้จากบันทึกของ อ. หลินฮุ่ย)

 

      ดีใจสุด ๆ ที่อาม่า พร้อมพี่ใหญ่และครอบครัว เดินทางออกมาจากบ้านที่ปักธงชัย ที่ถูกน้ำท่วม ไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้าใช้มา ๓ วัน สามารถเดินทางมาถึงที่บ้านโคราชโดยสวัสดิภาพ และได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ด้วยบริการของอาม่าหลินฮุ่ย อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๑๐) ของฝากเมืองจีน

อ่าน: 4191

       อาม่าได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองจีนเมื่ออายุ ๖๐ ปี พอดี โดยเดินทางไปพร้อมกับน้องชาย (อากู๋) โคราช และ น้องสาว (อาอี้) กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งคู่เคยเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองจีนมาก่อนแล้ว การไปครั้งนี้จึงเป็นไปได้ด้วยดี โดยเดินทางด้วยเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไปลงที่เกาะฮ่องกงก่อน แล้วนั่งรถยนต์ต่อไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการใช้บริการเรือขนส่งขนาดใหญ่ ที่สามารถนำรถยนต์ลงไปในเรือแล้วเมื่อเดินทางไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ก็เดินทางต่อไปด้วยรถยนต์คันเดิมจนถึงโรงแรมที่พักในซัวเถา  ต่อจากนั้นญาติที่เมืองจีนก็จะมารับเพื่อเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านเกิด  สำหรับอาม่านั้น อากู๋ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ ๆ ของอาม่าเป็นผู้เดินทางมารับ และได้พักอยู่ที่บ้านอากู๋คนนี้ในช่วงที่อยู่ที่เมืองจีน  และอากู๋คนนี้ต่อมาก็ได้เดินทางมาเยี่ยมอาม่าที่เมืองไทยด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๔๕

 

อากู๋น้องชายแท้ ๆ ของอาม่าเดินทางจากเมืองจีนมาเยี่ยมอาม่าที่เมืองไทย เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

           อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๙) ต้องย้ายที่อยู่อีกครั้ง

1 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 6 ตุลาคม 2010 เวลา 12:02 ในหมวดหมู่ สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2815

       การทำมาหาเลี้ยงชีพและสร้างครอบของอากงอาม่าที่ห้องเช่าบ้านไม้สามชั้นก็เป็นไปด้วยดีมาตามลำดับโดยมีลูก ๆ โดยเฉพาะลูกชายคนโตเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือ และมีอายุเข้าสู่วัยรุ่น  อาม่าเล่าว่าเจ้าของบ้านไม้สามชั้นที่ให้เช่าก็มีลูกชายคนหนึ่งที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกชายคนโตหรือตั๋วเฮียของพวกเรา  เนื่องจากเป็นลูกชายคนเดียวของผู้มีอันจะกิน จึงมีนิสัยค่อนข้างเกเร ชอบเอาเปรียบและรังแกคนอื่น ๆ ในระแวกนั้นอยู่เป็นประจำ รวมทั้งตั๋วเฮียและยี่เฮียของพวกเราก็ไม่เว้น จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตั๋วเฮียมีเรื่องกับลูกชายเจ้าของบ้านรุนแรงจนถึงขั้นชกต่อยกัน ตั๋วเฮียถูกลูกชายเจ้าของบ้านกัดจนเลือดออก อาม่าจึงเข้าไปห้ามพร้อมต่อว่าลูกชายเจ้าของบ้าน ต่อมาพี่สาวของเขาก็เข้ามาช่วย ในที่สุดก็นำเรื่องไปฟ้องแม่ของตน ที่เป็นเจ้าของบ้านเช่า เป็นเหตุให้เกิดการต่อว่าต่อขานกันตามมา และเกิดความบาดหมางกันระหว่างสองครอบครัว จนถึงขั้นที่เจ้าของบ้านออกปากไล่ให้ครอบครัวของเราไปหาที่อยู่ใหม่ อาม่าจึงขอให้อากงหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งในที่สุดก็ได้บ้านเช่าใหม่ที่เป็นบ้านไม้แถวชั้นเดียว โดยพื้นบ้านเป็นดินอัดแน่นแล้วปูด้วยไม้กระดานเป็นแผ่น ๆ อยู่ด้านบนอีกที อาม่าเล่าว่าตามร่องระหว่างไม้กระดานพื้นและใต้กระดานมักจะมีพวกตะขาบและแมงป่องอาศัยอยู่จำนวนมาก  ต้องคอยระวังไม่ให้ถูกสัตว์พิษพวกนี้กัดเอา  แม้กระนั้นก็โดนกันไปหลายครั้ง  ห้องเช่านี้ต่อมาเจ้าของที่ก็สร้างเป็นห้องแถวไม้สองชั้นให้เช่าต่อ ในช่วงก่อสร้างทำให้ครอบครัวของเราต้องย้ายไปอยู่ที่ห้องเช่าชั่วคราว ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “ตลาดใหม่” ในขณะที่บริเวณบ้านเช่าเดิมเรียกกันว่า “ตลาดเก่า”

รูปครอบครัว ที่หน้าบ้านสามชั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒

      เมื่อการก่อสร้างเสร็จ ครอบครัวเราก็ย้ายมาเช่าอยู่ที่ห้องเช่าเดิม ต่อมาลูกของเจ้าของที่เดิมก็ขาย  ครอบครัวของเราจึงได้ซื้อบ้าน(ห้องแถวไม้สองชั้นสองคูหา) เป็นของตนเอง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาค้าขายมาจนถึงปัจจุบัน และเปลี่ยนแปลงเป็นบ้านตึกแถวสามชั้นไปแล้วในขณะนี้


สิ่งดีดีในวันนี้

3 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 23:47 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2326

       วันนี้หลังจากอาหารเช้าที่ประกอบด้วย สลัดผักสดสูตรตามใจฉันที่จัดทำเองตามปกติพร้อมด้วยกาแฟดำถ้วยโปรด ก็ได้รับโทรศัพท์จากลูกคนหนึ่งส่งความสุขมาให้ หลังจากนั้นอีกไม่นาน ขณะที่กำลังจะออกจากบ้านไปหาคุณแม่ ก็มีลูกอีกคนมาพร้อมกับคู่ชีวิตและเพื่อนสนิทอีกคนขับรถมาจอดที่หน้าบ้านพอดี ทั้งสามคนลงจากรถเดินเข้ามาสวัสดี พร้อมนำตะกร้ารูปแม่ไก่ที่มีไข่ขนาดใหญ่อยู่เต็มมาอวยพรให้โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า  โดยลูกบอกว่าอยากจะให้พ่อเซอร์ไพรส์  นับว่าโชคดี ๆ จริง ๆ เพราะถ้ามาช้ากว่านี้อีกไม่เกินห้านาทีก็จะไม่ได้พบกันในเช้าวันนี้

        อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๘) ชีวิตที่บ้านไม้สามชั้น

อ่าน: 2673

        ชีวิตของอากงอาม่าและครอบครัวเรา ที่บ้านเช่าชั้นล่างของ ตึกแถวไม้สามชั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นไปด้วยความยากลำบากพอสมควร  นอกจากเปิดเป็นร้านค้าขายของทั้งเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ  ทุกอย่างที่คิดว่าจะขายได้ อากงก็จะไปหามาไว้ที่ร้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนแถบ บริเวณตรงกันข้ามกับร้านจะเป็นที่ตั้งโรงเรียนของเอกชนซึ่งต่อมาคือ โรงเรียนมัธยมปักธงชัย หรือเรียกย่อ ๆ ว่า โรงเรียน มป. ที่พวกพี่ ๆ น้อง ๆ ของเรา รวมทั้งตัวผมด้วยได้เข้าเรียนกัน  อาม่าเล่าว่า ช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใหม่ ๆ  ขณะที่ผมยังเล็กอยู่ ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมปักธงชัย มีความสนิทสนมกับครอบครัวเราและอาม่ามาก  ครูใหญ่จะแวะมานั่งคุยเป็นประจำ และจะได้รับบุหรี่จากอาม่าให้ไปสูบฟรี ๆ อีกด้วย เพราะที่ร้านจำหน่ายบุหรี่ โดยอาม่าจะมวนบุหรี่เองเพื่อไว้จำหน่ายด้วย นอกเหนือจากบุหรี่ที่ซื้อมาเป็นซองสำเร็จ และเมื่อผมได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมที่โรงเรียนนี้ คุณครูใหญ่ท่านนี้เองที่มีความรอบรู้มาก รวมทั้งเรื่องการดูดวงและการตั้งชื่อ  และเป็นผู้ตั้งชื่อปัจจุบันให้ผม ดังนั้นถ้าสอบประวัติของผมเมื่อเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนชุณหะวัณวิทยาคาร ก็จะไม่พบครับ เพราะยังใช้ชื่อจีน นามสกุลจีน (แซ่ตัง) อยู่ในตอนนั้น…  อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๗) เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสของชีวิต

1 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 29 สิงหาคม 2010 เวลา 17:23 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2671

       อากงทำงานเป็นเสมียนทำบัญชีที่ร้านใหญ่ในสมัยนั้น ก็อาจจะเทียบได้ว่าเป็นระดับผู้จัดการในสมัยนี้  มีรายได้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างสบาย แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้น คืออากงเกิดปัญหากับผู้ร่วมงานในร้านคนหนึ่งจนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง  ในที่สุดทั้งสองคนถูกให้ออกจากงานทั้งคู่  ชีวิตอากงจึงพลิกผัน จากการมีงานอาชีพที่ดี มีรายได้หรือเงินเดือนที่ดี กลายเป็นคนตกงานทันที……เรื่องนี้ น่าจะเป็นข้อพึงสังวรณ์สำหรับทุกคนว่า ชีวิตคนเรานั้นตั้งอยู่ในความไม่แน่นอน  อาจจะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ……แต่อากงก็ใช้วิกฤตชีวิตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โดยการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการเป็นลูกจ้างคนอื่นมาเป็นนายของตนเอง  อากงเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเอง ด้วยการไปเช่าห้องแถวเปิดร้านขายเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นของตนเอง และในช่วงเช้ายังนำเสื้อผ้าและของใช้บางส่วนไปขายที่บริเวณตลาดสดเพื่อเพิ่มรายได้อีกด้วย…..ตลาดสดนี้ในปัจจุบันมีการรื้อถอนไปแล้ว  เป็นบริเวณที่เปลี่ยนเป็นลานย่าโมในปัจจุบัน

          การเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่อีกหนของครอบครัวอากงอาม่า เกิดขึ้นเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ (เริ่มในยุโรป ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ แต่ในประเทศไทย กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์และอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔   ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในพระนคร การทิ้งระเบิดครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. หลังจากนั้น ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลก็ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว   อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเรื่อง สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย ในวิกกิพีเดีย) ทำให้ต้องอพยพครอบครัวออกจากเมืองโคราช อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๖) ช่วงสร้างครอบครัว

2 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 28 สิงหาคม 2010 เวลา 14:03 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 1930

        อาม่ามีครอบครัวเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี (ถ้านับแบบคนไทยก็อายุเพียง ๑๗ ปี เพราะคนจีนจะนับอายุเมื่อเกิดมาก็จะมีอายุหนึ่งปี)  อาม่าเล่าว่า การมีครอบครัวเมื่ออายุ ๑๘ ปีในสมัยโน้นถือว่าช้าหรือแก่ไปแล้ว  ในสมัยโน้นการแต่งงานของลูกหลานจีนส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานโดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงและเห็นชอบกัน บางทีเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่เคยเห็นกันมาก่อนก็มี เป็นลักษณะที่ต่อมาเรียกว่า “การแต่งงานแบบคุมถุงชน” ในกรณีของอาม่ากับอากง มีโอกาสได้เห็นกันและทำความรู้จักกันก่อน โดยเริ่มต้นจากการที่มี  แม่สื่อมาพูดคุยกับผู้ใหญ่ (พ่อแม่) ของทั้งสองฝ่ายคือ เล่ากงเล่าม่า  เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นดีด้วยก็จะมีการนัดแนะมาดูตัวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการพาผู้ใหญ่ฝ่ายชายและตัวฝ่ายชายที่จะเป็นเจ้าบ่าวมาที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อดูตัวฝ่ายหญิง โดยฝ่ายหญิงมักจะเป็นคนนำน้ำหรือน้ำชา และ ของว่างออกมาบริการ ระหว่างที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน

       อาม่าและอากง ต่างเคยเห็นกันมาบ้าง เพราะอาศัยอยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่อยู่ห่างกันพอสมควร  และครอบครัวทั้งสองก็รู้จักกันพอสมควรเนื่องจากเล่ากงมีอาชีพเป็นช่างไม้เหมือน แม้ว่าคนหนึ่งเป็นช่างก่อสร้างบ้านอีกคนเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ก็ตาม

       อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๕) ชีวิตช่วงแรกที่อยู่เมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 27 สิงหาคม 2010 เวลา 23:59 ในหมวดหมู่ สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2436

           ที่อยู่ เล่ากงเช่าบ้านอยู่บริเวณ นอกกำแพงเมืองโคราช  ด้านประตูชุมพล บริเวณ ที่ปัจจุบันคือสี่แยกหนองบัวรอง ในถนนโพธิ์กลาง  ในสมัยนั้น ที่บริเวณหน้าประตูชุมพลยังไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ย่าโม  บ้านเช่าเป็นห้องแถวเล็ก ๆ และบริเวณด้านหลังยังเป็นป่าเป็นสวนและเป็นที่นาอยู่มาก  เมื่อเล่าม่า เล่ากงที่เป็นพ่อแท้ ๆ กับอาม่า เดินทางมาถึงโคราชใหม่ ๆ ต้องไปอาศัยอยู่ในสวน ที่เป็นเพื่อนของเล่ากง(พ่อบุญธรรม) ที่มาอยู่เมืองไทยก่อน เพราะเล่ากงเช่าห้องเล็ก ๆ ห้องเดียวอยู่กับภรรยาที่เป็นคนไทย จึงไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้  ช่วงต่อมาจึงขอเช่าห้องติดกันเพิ่ม เล่าม่า อาม่าและเล่ากง ที่เป็นพ่อแท้ ๆ ของอาม่า จึงได้มาอยู่ในห้องติดกัน …..อาม่าเล่าว่า ภรรยาคนไทยของเล่ากง บ่น(ด่า) เล่าม่า เป็นภาษาไทย แต่เล่าม่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำเฉย ๆ  จนคนบ้านติดกัน ที่เป็นคนจีนที่มาอยู่ก่อน ฟังภาษาไทยออก สงสารเล่าม่า เลยมาชวน เล่ามาไปช่วยงานเย็บเสื้อผ้า โดยเฉพาะกางเกงจีนที่เรียกว่าสี่กี้  ในช่วงกลางวันที่เล่ากงออกไปทำงานนอกบ้าน การเย็บผ้าในสมัยนั้นใช้เย็บด้วยมือ (สอย)  ยังไม่มีจักรเย็บผ้าใช้กัน….ฟังเรื่องเล่านี้แล้วทำให้นึกถึงเรื่องเล่าของ ดร. อาจอง ชุมสาย ที่เล่าว่าสมัยตนเองเด็ก ๆ ไปอยู่ที่ฝรั่งเศสใหม่ ๆ โดนเด็กฝรั่งเศสด่าว่าอะไรมากมาย แต่ตนเองฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รู้สึกโกรธหรือเดือดร้อนแต่อย่างใด  ไม่นานคนด่าก็เลิกไปเอง  อาจารย์บอกว่า เวลาคนอื่นบ่นหรือด่าเรา ถ้าเราคิดว่าเสียงนั้นเป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่ง มันเดินทางมากระทบหูเราแล้วก็เปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่นหรือหายไปเท่านั้น ไม่มีอะไร เราก็จะไม่รู้สึกโกรธหรือโต้ตอบ สามารถวางเฉยได้

ประตูชุมพล ก่อนการบูรณะ (ภาพจากวิกี้พีเดีย) อ่านต่อ »


อาม่าเล่าเรื่อง (๔) น้องอาม่ามาเมืองไทย

2 ความคิดเห็น โดย Panda เมื่อ 26 สิงหาคม 2010 เวลา 21:01 ในหมวดหมู่ สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 2340

    เล่ากง ที่เดินทางมาอยู่โคราชก่อนคนอื่น ๆ  และได้ภรรยาเป็นคนไทยด้วย แต่ไม่มีลูกด้วยกันเพราะเล่ากงเป็นหมัน เลยไม่มีลูกกับเล่าม่าด้วยเช่นกัน  ดังนั้นเมื่อ อาม่าแต่งงาน หลังจากมาอยู่เมืองไทยได้ ๑๐ ปี (อาม่าแต่งงานเมื่ออายุ ๑๘ ปี ซึ่งอาม่าบอกว่า ถือว่าอายุมากแล้วในสมัยนั้น จะแต่งงานเมื่ออายุ ๑๕-๑๖ ปี กันเป็นส่วนใหญ่) เมื่อ อาม่าแต่งงานแล้วก็ต้องไปอยู่บ้านอากง ตามประเพณีของชาวจีน  เล่ากงซึ่งไม่มีลูกจึงเดินทางกลับไปประเทศจีน เพื่อไป ขออากู๋ จากพี่ชาย (ลูกคนที่ ๓ ของพ่อแม่) มาเลี้ยงเป็นบุตรบุณธรรมแทน…..อาม่าเล่าว่า ตอนที่เล่ากงไปขอ  พี่ชายจะให้ลูกอีกคน แต่เล่ากง เห็นอากู๋ (ตอนนั้นอายุ ๘ ขวบ) แล้วถูกใจมากกว่า เนื่องจากเป็นเด็ก หน้าตาดี น่ารักกว่า จึงขออากู๋มาเป็นลูกบุญธรรมแทน  ดังนั้น อาม่าจึงมีอากู๋มาเป็นน้องชาย (เป็นลูกพี่ลูกน้อง) มาอยู่ที่โคราชด้วยกันตั้งแต่นั้นมา

 

ภาพข้างบนเป็นภาพที่ อาม่า อากู๋ และ อาอี้ ถ่ายด้วยกันครั้งที่กลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนด้วยกัน ในตอนที่อาม่า อายุประมาณ ๖๐ ปี อาม่าเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ไปเมืองจีนครั้งนั้นเป็นช่วงที่ทางประเทศจีนกำลังไว้ทุกข์จากการเสียชีวิตของท่านประธานเหมาเจ๋อตุง พอดี (ประธานเหมาเจ๋อตุง เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙) อ่านต่อ »



Main: 0.13620519638062 sec
Sidebar: 0.13430690765381 sec