อาม่าเล่าเรื่อง (๘) ชีวิตที่บ้านไม้สามชั้น
ชีวิตของอากงอาม่าและครอบครัวเรา ที่บ้านเช่าชั้นล่างของ ตึกแถวไม้สามชั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นไปด้วยความยากลำบากพอสมควร นอกจากเปิดเป็นร้านค้าขายของทั้งเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ ทุกอย่างที่คิดว่าจะขายได้ อากงก็จะไปหามาไว้ที่ร้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนแถบ บริเวณตรงกันข้ามกับร้านจะเป็นที่ตั้งโรงเรียนของเอกชนซึ่งต่อมาคือ โรงเรียนมัธยมปักธงชัย หรือเรียกย่อ ๆ ว่า โรงเรียน มป. ที่พวกพี่ ๆ น้อง ๆ ของเรา รวมทั้งตัวผมด้วยได้เข้าเรียนกัน อาม่าเล่าว่า ช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใหม่ ๆ ขณะที่ผมยังเล็กอยู่ ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมปักธงชัย มีความสนิทสนมกับครอบครัวเราและอาม่ามาก ครูใหญ่จะแวะมานั่งคุยเป็นประจำ และจะได้รับบุหรี่จากอาม่าให้ไปสูบฟรี ๆ อีกด้วย เพราะที่ร้านจำหน่ายบุหรี่ โดยอาม่าจะมวนบุหรี่เองเพื่อไว้จำหน่ายด้วย นอกเหนือจากบุหรี่ที่ซื้อมาเป็นซองสำเร็จ และเมื่อผมได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมที่โรงเรียนนี้ คุณครูใหญ่ท่านนี้เองที่มีความรอบรู้มาก รวมทั้งเรื่องการดูดวงและการตั้งชื่อ และเป็นผู้ตั้งชื่อปัจจุบันให้ผม ดังนั้นถ้าสอบประวัติของผมเมื่อเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนชุณหะวัณวิทยาคาร ก็จะไม่พบครับ เพราะยังใช้ชื่อจีน นามสกุลจีน (แซ่ตัง) อยู่ในตอนนั้น…
ภาพคุณครูทรงธรรม ชุ่มเมืองปัก (ครูเหลือ) ครูใหญ่ โรงเรียนมัธยมปักธงชัย
ที่ให้เกียรติมาร่วมงานมงคลสมรสของเราเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗
ผมยังคงจดจำคุณครูใหญ่ท่านนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าท่านได้จากพวกเราไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผมก็โชคดีมากที่กลับไปเยี่ยมบ้านและอาม่าพอดีในช่วงวันที่จะมีงานพระราชทานเพลิงศพคุณครูท่านนี้ จึงได้มีโอกาสไปร่วมเคารพท่านในวาระสุดท้ายนี้ด้วย....คุณครูทรงธรรม ชุ่มเมืองปัก (ครูเหลือ) ครูใหญ่ โรงเรียนมัธยมปักธงชัย เป็นคุณครูที่ผมยึดถือเป็นแบบอย่างหรือเป็นไอดอลของผมคนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของลายมือการเขียนหนังสือและงานศิลปะในการเขียนตัวอักษรแบบต่าง ๆ ขนาดใหญ่ ในการทำป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ผมชอบไปดูคุณครูท่านนี้เขียนป้ายต่าง ๆ เสมอ ๆ และก็ฝึกหัดทำตามจนในเวลาต่อมามีลายมือที่อ่านง่ายสวยงาม และสามารถเขียนอักษรแบบศิลปะแบบต่าง ๆ ได้ โรงเรียนมัธยมแห่งนี้เปิดสอนระดับมัธยมตั้งแต่ในอำเภอปักธงชัยยังไม่มีโรงเรียนของรัฐเปิดสอนถึงในระดับมัธยม จึงเป็นโรงเรียนมัธยมที่สร้างเด็กของอำเภอนี้ให้มีความรู้ ความสามารถจำนวนไม่น้อย ออกมาสู่สังคมและทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ แต่เสียดายที่โรงเรียนแห่งนี้เลิกกิจการไปแล้วในปัจจุบัน
« « Prev : อาม่าเล่าเรื่อง (๗) เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสของชีวิต
Next : วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๑) บ้านใหม่ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อาม่าเล่าเรื่อง (๘) ชีวิตที่บ้านไม้สามชั้น"