เด็กข้างวัด (๙) เข้าเมืองหลวง
จากสุดยอดของเด็กบ้านนอก ที่สอบได้ที่ ๑ ของชั้นเรียนมาเป็นประจำ เมื่อเดินทางมาเรียนต่อในเมืองใหญ่ในตัวจังหวัดนครราชสีมา ความรู้สึกและสิ่งที่เจอก็คงคล้าย ๆ กับละครทีวีที่กำลังนำเสนออยู่ในช่วงนี้เรื่อง “โหมโรง” ที่เจ้าศร มือระนาดเอก จากบ้านนอกเข้ากรุง ได้เจอว่า นักเรียนที่มาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดจำนวนมากล้วนเป็นผู้ที่สอบได้ที่ ๑ หรือ ที่ ๒ มาจากต่างอำเภอ และแม้แต่เด็กที่อยู่ค่อนมาทางหางแถวของโรงเรียนประจำจังหวัดก็ยังเก่งกว่าสุดยอดจากโรงเรียนบ้านนอก ก็คงมีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดความแตกต่างมาจนถึงในปัจจุบันนี้ก็คงยังคงเช่นเดิม แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าด้านการเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งวิทยุ ทีวี โทรศัพท์มือถือ และ อินเทอร์เน็ตจะดีกว่าเมื่อก่อนมากก็ตาม แต่ในเมืองก็ยังคงมีปัจจัยและโอกาสที่ดีกว่าบ้านนอกเหมือนเดิม เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ก็ยังมีปัจจัยและโอกาสต่าง ๆ มากกว่าต่างจังหวัดเหมือนเดิม ดังนั้นในเทอมแรกที่เข้ามาเรียนในตัวจังหวัดของเด็กบ้านนอกจึงถือว่าเป็นช่วงปรับตัวที่สำคัญ ที่ต้องอาศัยใจที่เข้มแข็ง ไม่ท้อถอยในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันในการเรียนกับสุดยอดฝีมือที่ได้มาพบกันให้ได้
ในสมัยนั้นยังไม่มีการเรียนพิเศษหรือการกวดวิชากันมากเหมือนในสมัยปัจจุบัน ดังนั้นวิธีหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสนิทสนมกันมากขึ้นก็คือการรวมกลุ่มเพื่อติวหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วยกันเอง โดยใช้บ้านของใครคนใดคนหนึ่งที่สะดวกเป็นที่พบปะกัน สำหรับกลุ่มของห้อง ม.๗-๘ ข มักจะใช้บ้านของเพื่อนที่อยู่บริเวณถนนราชดำเนินใกล้ๆ กับสี่แยกที่ตัดกับถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ที่ฝั่งตรงข้ามคือห้างสรรพสิ้นค้าคลังพลาซ่าในปัจจุบัน บ้านของเพื่อนที่กลุ่มเราใช้พบกันค่อนข้างบ่อยก็คือ ร้านตัดเสื้อผ้าชายที่มีชื่อว่า “ร้านทรงสมัย” ซึ่งถ้าจำไม่ผิดแถวนั้นปัจจุบันกลายเป็นร้านขายพิชซ่าไปแล้ว ในสมัยนั้นด้านหลังของตึกแถวแถบนั้นสามารถทะลุออกไปยังบริเวณที่เป็นโรงลิเกได้ และมีบ้านของเพื่อนอีกคนที่อยู่ติดกับโรงลิเก ที่มักจะใช้เป็นที่พบปะกันอีกบ้านหนึ่งด้วย
ด้วยความมุ่งมั่นและการพยายามพัฒนาตนเองอย่างหนัก ทำให้ผลการเรียนของตัวเองสามารถขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ ๑ หรือ ที่ ๒ ของชั้นได้ในที่สุด โดยมีเพื่อนคนหนึ่งที่มาจากอำเภอลำปลายมาศเป็นคู่แข่ง ที่ผลัดกันแพ้หรือชนะ จนจำไม่ได้แน่ว่าในตอนจบชั้น ม.๘ ตัวเองได้ที่ ๑ หรือ ที่ ๒ ของชั้น แต่จำได้แม่นว่าสอบได้คะแนนรวม ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ขาดไปเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (คือสอบชั้น ม.๘ ได้คะแนนตั้งแต่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป) ชื่อก็จะได้รับการจารึกไว้ที่บอร์ดประกาศของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อไป