เด็กข้างวัด (๔) โรงเรียนหน้าบ้าน
ด้านหน้าบ้านไม้สามชั้นเป็นถนน ที่อีกฟากหนึ่งของถนนเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของอำเภอปักธงชัย มีชื่อว่า โรงเรียนมัธยมปักธงชัย หรือ มป. เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับชั้นมัธยม ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๑ ถึง ๖ (ม. ๑-๖) เนื่องจากในขณะนั้นโรงเรียนของรัฐบาลที่อำเภอมีเพียงชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๔ (ป.๑-๔) เท่านั้น เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับของภาครัฐในตอนนั้น ชีวิตในวัยเด็กของผมจึงมีความเกี่ยวข้องอยู่กับทั้งเรื่องของที่ บ้าน วัด และโรงเรียน ครบทั้งสามส่วนที่เรียกย่อ ๆ กันว่า บวร นับว่าเป็นความโชคดีของผม นอกจะได้เรียนรู้ชีวิตที่บ้าน ชีวิตเด็กวัดแล้ว ยังได้เรียนรู้ชีวิตในโรงเรียนที่อยู่หน้าบ้านอีกด้วย ได้เข้าไปเล่นในบริเวณโรงเรียนนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ และต่อมาเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมก็ได้มาเรียนที่โรงเรียนนี้จนจบชั้น ม.๖ แม้ว่าในช่วงนั้นมีโรงเรียนที่ตั้งใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งโรงที่รู้จักกันนามว่า โรงเรียนแผนใหม่ เพราะมีการจัดการเรียนการสอนตามแนวที่มีการปรับปรุงใหม่ โดยมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านอาชีพมากขึ้น
อาคารเรียนสมัยเริ่มแรกจะเป็นอาคารชั้นเดียวทรงสูงหลังคามุงสังกะสี พื้นห้องเป็นดินอัดแน่น ผนังเป็นไม้กระดาน แต่ต่อมาได้สร้างบางส่วนเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเทพื้นด้วยคอนกรีต ส่วนชั้นบนก็เป็นพื้นปูด้วยไม้กระดานแผ่นใหญ่ กระดานดำเป็นกระดานที่ทำด้วยไม้และทาเป็นสีดำจริง ๆ นักเรียนจะต้องผลัดเวรกันทำหน้าที่ลบกระดานดำ คือการลบตัวหนังสือที่เกิดจากชอล์กขาวหรือสี ที่ครูใช้เขียนกระดานเวลาทำการสอนออก หลังจากหมดคาบหรือหมดชั่วโมง เพื่อให้ครูที่จะสอนในชั่วโมงถัดไปสามารถเขียนกระดานดำได้ นอกจากนั้นในทุกเช้าหรือเย็นหลังเลิกเรียน จะต้องมีเวรทำความสะอาดห้องและทำความสะอาดกระดานดำและทำให้กระดานมีสีดำสนิท พร้อมที่จะใช้งานในวันต่อไป ด้วยการเอาผงถ่านที่ได้จากการเอากาบมะพร้าวไปเผาไฟ แล้วเอามาบดให้ละเอียด ก่อนนำมาละลายกับน้ำ แล้วจึงนำมาทากระดานให้เป็นกระดานดำอย่างสม่ำเสมอพร้อมใช้งาน
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ผมจบชั้น ม.๖ มีการถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าอาคารที่เป็นอาคาร ๒ ชั้นของโรงเรียน ที่ชั้นบนตรงกลางจะเป็นห้องสำนักงานของโรงเรียน และเป็นห้องพักครูที่ทั้งครูใหญ่และครูทุก ๆ คนพักรวมกันอยู่ในห้องนี้ ส่วนห้องข้าง ๆ จะเป็นห้องเรียนของชั้น ม.๖ ส่วนห้องเรียนของชั้น ม.๑ ถึง ม.๕ จะเรียนอยู่ชั้นล่างและอาคารชั้นเดียวอีกหลังหนึ่งที่อยู่ติดต่อกันในลักษณะทำมุมฉากกับอาคารสองชั้นนี้ คุณครูที่นั่งอยู่แถวหน้าในรูปได้แก่ ครูคำ พู่ทอง ครูละมุด สินธุวงศานนท์ ครูอุทัย สินธุวงศานนท์ ครูสำเนียง ฉิมณรงค์ (เจ้าของและผู้จัดการ) ครูทรงธรรม ชุ่มเมืองปัก (ครูใหญ่) และ ครูพินิจ พรหมนิล
ผมจึงมีความผูกพันกับโรงเรียนนี้อย่างมาก ครอบครัวมีความสนิทสนมกับเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียน ครูในโรงเรียน และโดยเฉพาะครูใหญ่ มีความคุ้นเคยกับครอบครัวมาก เนื่องจากที่บ้านเปิดเป็นร้านขายของชำต่าง ๆ รวมทั้งขายบุหรี่ด้วย นอกเหนือจากบุหรี่ที่ซื้อมาเป็นซองสำเร็จแล้ว คุณแม่ยังมวนบุหรี่ขายอีกด้วย ครูใหญ่จะแวะมานั่งคุยเป็นประจำ หรือบางครั้งก็ช่วยเลี้ยงเด็กให้ด้วย และจะได้รับบุหรี่จากคุณแม่ให้ไปสูบฟรี ๆ คุณแม่เล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ครูใหญ่อุ้มผมอยู่ ผมได้ฉี่ใส่เสื้อผ้าของครูใหญ่ด้วย และคุณครูใหญ่ท่านนี้เองที่เป็นผู้ตั้งชื่อในปัจจุบันให้ผม เพราะท่านเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการผูกดวง ดูฤกษ์ยามสำหรับงานมงคลและการตั้งชื่อที่เป็ยศิริมงคลแก่ชีวิต ที่ได้รับความเชื่อถือมากคนหนึ่งของอำเภอในขณะนั้น
ผมมีโอกาสได้รดน้ำขอพร คุณครูสำเนียง พร้อมๆ กับเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคน ในงานศิษย์เก่า มป. รำลึก เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้เอง สำหรับคุณครูทรงธรรม และคุณครูพินิจ ได้จากพวกเราไปแล้ว ส่วนท่านอื่นอีก ๓ ท่านผมยังไม่มีข้อมูลในขณะนี้ครับ
« « Prev : เด็กข้างวัด (๓) หลังบ้านหลังวัด
Next : เด็กข้างวัด (๕) จากบ้านเกิด » »
2 ความคิดเห็น
โห ยังจำชื่อคุณครูได้ เยี่ยมมากเลยค่ะพี่แพนด้า
เราเริ่มเรียน ม.6 กันตั้งแต่พศ.ไหนคะ เห็นในภาพเขียน 2503 …นานจัง แม่กับปาป๊าเรียนมศ.5 การศึกษาไทยเปลี่ยนไปเรื่อยๆเลยนะคะ
ยังจำได้ถึงเวรลบกระดาน ซึ่งเพื่อนที่ตัวสูงๆจะทำให้ เพราะเบิร์ดทำได้แค่เอาแปรงลบกระดานไปตบ อิอิอิ แต่ไม่เคยเอาผงถ่านละลายกับน้ำเช็ดกระดานเลยค่ะ แปลกดีจัง ทำอย่างมากที่สุดก็ผ้าชุบน้ำเช็ดทั้งกระดานและรางวางชอล์ค+แปรงลบ
การทำความสะอาดกระดานดำ ถ้าคิดอีกทางก็เป็นการทำความเคารพห้องเรียนและครูเหมือนกันนะคะ ทำความสะอาดเืพื่อให้งามตา สะดวกต่อการใช้ ไม่ดูดายกับฝุ่นชอล์คเล็กๆน้อยๆ ฝึกให้ละเอียดกับทุกเรื่องราว ^ ^
เพราะมีครูจึงมีเรา การส่งต่อความรู้ของคุณครูนั้นเป็นการสร้างชาติ สร้างสังคม ผมเองก็ใกล้ชิดกับครูมาก เพราะพ่อเองเป็นครู งานศพพ่อหลายปีก่อนโน้น เป็นงานศพที่มีพวงหรีดมากที่สุด พระที่วัดกล่าวอย่างนั้น ล้วนมาจากลูกศิษย์ลูกหาทั้งนั้น ไม่ใช่เสียชีวิตไปแล้วจึงมา แต่เมื่อพ่อเจ็บป่วย ลูกศิษย์หลายคนแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนตลอด ผมเรียนโรงเรียนวัด กินข้าววัด เล่นที่วัด กิจกรรมต่างๆทำที่วัด บ้านติดวัด จึงเห็นกิจกรรมที่วัดมากที่สุด รู็สึกใกล้ชิดวัดกับโรงเรียนมากครับ