เด็กข้างวัด (๒) วัดกลาง
ติดกับบ้านไม้สามชั้นด้านหนึ่งจะเป็นวัด ดังนั้นเด็ก ๆ แถวนั้นก็เป็นเด็กข้างวัด คือใช้สนามในวัดและบริเวณต่าง ๆ ภายในวัดเป็นที่เล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นประจำ บริเวณด้านหน้าของวัดจะมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ที่ให้ร่มเงาแก่เด็ก ๆ และผู้คนที่มาวัด ด้านหลังต้นโพธิ์เป็นบริเวณที่มีเรือนไม้หลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่
บ้านหลังนี้ เป็นเรือนโบราญแบบไทยอีสาน คือมีพื้นยกสูง ปูด้วยไม้กระดานบางส่วนและปูด้วยไม้ไผ่บางส่วน หลังคามุงด้วยหญ้าแฝก ฝาบ้านทำด้วยใบตองตึงที่นำมาเรียงซ้อนกันมัดติดกันด้วยไม่รวกและตอก แล้วนำมาเรียงต่อกันเป็นฝาบ้าน ใต้ถุนบ้านมีกองไม้ฟืนและถ่านที่เก็บไว้เป็นเชื้อเพลิง บริเวณรอบ ๆ บ้านมีการปลูกพืชผักสวนครัวสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขิง ข่า โหระพา กระเพรา พริก มะเขือ กระถิน รวมทั้งกล้วยน้ำว้าอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีดอกไม้ต่าง ๆ อีกสารพัดชนิด ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้เพียงลำพังคนเดียว เป็นหญิงวัยกลางคน นุ่งขาวห่มขาว คนแถวนี้รู้จักกันดีในชื่อของ ยายชี (แม่ชี) แม่ชีคนนี้เป็นใครมาจากไหน เด็ก ๆ แถวนั้นไม่มีใครรู้ เพราะเกิดมาก็เห็นแม่ชีคนนี้อยู่ที่บ้านหลังนั้นอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับในปัจจุบัน นับมาชีวิตของแม่ชีท่านนี้เป็นชีวิตที่อยู่แบบพอเพียงจริง ๆ กิจวัตรประจำวันของแม่ชีคือ ดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยของบริเวณวัด เก็บกวาดใบไม้ กิ่งไม้ นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงรวมทั้งเผาเป็นถ่านไว้ใช้เองและมีเหลือก็ขาย เพื่อเป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ
วันแรกที่ครอบครัวชาวจีนอพยพจากตัวเมืองโคราชมาถึงบ้านไม้สามชั้นนี้ บังเอิญมาถึงในเวลาเย็นมากแล้ว เมื่อจะหุงหาอาหารจึงไม่สามารถจะไปหาซื้อถ่านได้เพราะร้านที่ขายถ่านปิดหมดแล้ว สอบถามเพื่อนบ้านที่มาอยู่ก่อน เขาแนะนำว่าให้ลองไปถามแม่ชีที่อยู่ในวัดดู คุณแม่ของครอบครัวชาวจีนนี้จึงไปหาแม่ชี และทำให้ได้ถ่านมาสำหรับการหุงหาอาหารรับประทานกันได้ ในเย็นวันแรกที่เดินทางมาถึง ครอบครัวชาวจีนครอบครัวนี้จึงระลึกถึงแม่ชีท่านนี้อยู่เสมอ ไปเยี่ยมและนำอาหาร ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงไปมอบให้อยู่เป็นนิจ
ถัดจากต้นโพธิ์เข้าไปจะเป็นโรงลิเก ที่เป็นที่แสดงลิเกหรือบางครั้งก็เป็นแสดงอื่น ๆ เช่น เพลงโคราช รำตัด และอื่น ๆ หรือแม้แต่ละครลิงก็เคยมี ในช่วงมีการจัดงานมหรสพต่าง ๆ ในวัด บริเวณด้านหน้าของโรงลิเกนี้จะเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ บางส่วนเป็นสนามหญ้า บางส่วนเป็นพื้นทรายที่เป็นที่ก่อกองทราย ในพิธีขนทรายเข้าวัด ในเทศกาลวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกานต์ ในช่วงมีงานมหรสพ ชาวบ้านจะนำของมาวางขายในงานกัน โดยจะตั้งเป็นแนวยาวขนานไปกับกำแพงวัด เป็นสองแนวขนานกัน เว้นช่องตรงกลางไว้ให้เป็นทางสำหรับคนเดินมาซื้อของ ในสมัยก่อนก็จะเป็นการนำของใส่กระบุงแล้วหาบมา เมื่อมาถึงก็เลือกทำเลที่วางกระบุงสองอันต่อกัน มีกระจาดวางอยู่ด้านบนเพื่อวางของที่นำมาขาย เช่น ข้าวนางเล็ด (ข้าวแต๋น) ดอกจอก ข้าวโป่ง (ข้าวเกรียบว่าว) ข้าวหลาม และผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ละมุด พุทรา มะขามเทศ เป็นต้น คนขายก็นั่งอยู่ด้านหลังกระบุง บนกระจาดนอกจากมีของที่นำมาขายแล้วก็จะมีตะเกียงหนึ่งอันจุดไว้เพื่อให้ความสว่าง เป็นตะเกียงน้ำมันกาด ที่ส่วนใหญ่ทำจากจากกระป๋องนมข้น
การไปเที่ยวงาน เมื่อเดินดูส่วนต่าง ๆ ของงานจนพอใจแล้ว ก็จะจับจองหาที่นั่งดูการแสดงในสิ่งที่ตนเองหรือกลุ่มที่มาด้วยกันเลือก โดยการนั่งกับพื้น อาจจะปูด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์คนละแผ่น หรือที่เตรียมเสื่อมาก็จะปูเสื่อนั่งกันเป็นกลุ่ม ไปซื้อของมานั่งรับประทานกันไป คุยกันไป ดูการแสดงไป แต่สำหรับบางคน อาจจะมาคนเดียวหรือมาหลายคนในตอนแรก แต่ไปเจอแม่ค้าที่คุยถูกคอ ก็จะเลือกไปนั่งด้านหลังแม่ค้าแทน ซื้อของจากแม่ค้ามานั่งรับประทานไป คุยกับแม่ค้าไป ดูการแสดง (น้อย) ไปด้วย ในสมัยนั้น งานมหรสพมักจะมีจนถึงรุ่งสางของอีกวัน บางคนก็อยู่จนถึงรุ่งสางของวันใหม่ แถมยังมีแรงเดินไปส่งแม่ค้าถึงบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงได้อีกด้วย เรียกว่าสุดยอดของเด็กข้างวัดจริง ๆ
ปัจจุบัน บริเวณที่เคยเป็นบ้านของแม่ชี ได้กลายเป็นตึกโรงเรียนปริยัติธรรมของวัดไปแล้ว ที่สามารถเห็นได้จากภาพในปัจจุบัน ส่วนโรงลิเกก็ไม่มีแล้ว สนามหญ้าและพื้นที่โล่งก็กลายเป็นอาคารไปเกือบหมด ส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันก็คือ ต้นโพธิ์ แต่เข้าใจว่ากิ่งโพธิ์คงถูกตัดลงมา ด้วยสาเหตุใดก็ตามจนเหลือแต่ตอ และตอโพธิ์นั้นแตกยอดขึ้นมาใหม่ จึงมีลักษณะเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดทรงพุ่มเล็กกว่าเมื่อก่อนนี้มาก
« « Prev : เด็กข้างวัด (๑) บ้านไม้สามชั้น
Next : เด็กข้างวัด (๓) หลังบ้านหลังวัด » »
3 ความคิดเห็น
ชอบค่ะ เห็นภาพบ้านเรือนในอดีตชัดดีจัง แต่สนใจบ้านไม้ 3 ชั้นจริงๆนะคะ เพราะการสร้างน่าจะยาก ทั่วไปเห็นแต่สองชั้นเป็นส่วนใหญ่
เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าที่น่าสนใจครับ