เด็กข้างวัด (๙) เข้าเมืองหลวง
จากสุดยอดของเด็กบ้านนอก ที่สอบได้ที่ ๑ ของชั้นเรียนมาเป็นประจำ เมื่อเดินทางมาเรียนต่อในเมืองใหญ่ในตัวจังหวัดนครราชสีมา ความรู้สึกและสิ่งที่เจอก็คงคล้าย ๆ กับละครทีวีที่กำลังนำเสนออยู่ในช่วงนี้เรื่อง “โหมโรง” ที่เจ้าศร มือระนาดเอก จากบ้านนอกเข้ากรุง ได้เจอว่า นักเรียนที่มาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดจำนวนมากล้วนเป็นผู้ที่สอบได้ที่ ๑ หรือ ที่ ๒ มาจากต่างอำเภอ และแม้แต่เด็กที่อยู่ค่อนมาทางหางแถวของโรงเรียนประจำจังหวัดก็ยังเก่งกว่าสุดยอดจากโรงเรียนบ้านนอก ก็คงมีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดความแตกต่างมาจนถึงในปัจจุบันนี้ก็คงยังคงเช่นเดิม แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าด้านการเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งวิทยุ ทีวี โทรศัพท์มือถือ และ อินเทอร์เน็ตจะดีกว่าเมื่อก่อนมากก็ตาม แต่ในเมืองก็ยังคงมีปัจจัยและโอกาสที่ดีกว่าบ้านนอกเหมือนเดิม เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ก็ยังมีปัจจัยและโอกาสต่าง ๆ มากกว่าต่างจังหวัดเหมือนเดิม ดังนั้นในเทอมแรกที่เข้ามาเรียนในตัวจังหวัดของเด็กบ้านนอกจึงถือว่าเป็นช่วงปรับตัวที่สำคัญ ที่ต้องอาศัยใจที่เข้มแข็ง ไม่ท้อถอยในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันในการเรียนกับสุดยอดฝีมือที่ได้มาพบกันให้ได้
ในสมัยนั้นยังไม่มีการเรียนพิเศษหรือการกวดวิชากันมากเหมือนในสมัยปัจจุบัน ดังนั้นวิธีหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสนิทสนมกันมากขึ้นก็คือการรวมกลุ่มเพื่อติวหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วยกันเอง โดยใช้บ้านของใครคนใดคนหนึ่งที่สะดวกเป็นที่พบปะกัน สำหรับกลุ่มของห้อง ม.๗-๘ ข มักจะใช้บ้านของเพื่อนที่อยู่บริเวณถนนราชดำเนินใกล้ๆ กับสี่แยกที่ตัดกับถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ที่ฝั่งตรงข้ามคือห้างสรรพสิ้นค้าคลังพลาซ่าในปัจจุบัน บ้านของเพื่อนที่กลุ่มเราใช้พบกันค่อนข้างบ่อยก็คือ ร้านตัดเสื้อผ้าชายที่มีชื่อว่า “ร้านทรงสมัย” ซึ่งถ้าจำไม่ผิดแถวนั้นปัจจุบันกลายเป็นร้านขายพิชซ่าไปแล้ว ในสมัยนั้นด้านหลังของตึกแถวแถบนั้นสามารถทะลุออกไปยังบริเวณที่เป็นโรงลิเกได้ และมีบ้านของเพื่อนอีกคนที่อยู่ติดกับโรงลิเก ที่มักจะใช้เป็นที่พบปะกันอีกบ้านหนึ่งด้วย
ด้วยความมุ่งมั่นและการพยายามพัฒนาตนเองอย่างหนัก ทำให้ผลการเรียนของตัวเองสามารถขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ ๑ หรือ ที่ ๒ ของชั้นได้ในที่สุด โดยมีเพื่อนคนหนึ่งที่มาจากอำเภอลำปลายมาศเป็นคู่แข่ง ที่ผลัดกันแพ้หรือชนะ จนจำไม่ได้แน่ว่าในตอนจบชั้น ม.๘ ตัวเองได้ที่ ๑ หรือ ที่ ๒ ของชั้น แต่จำได้แม่นว่าสอบได้คะแนนรวม ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ขาดไปเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (คือสอบชั้น ม.๘ ได้คะแนนตั้งแต่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป) ชื่อก็จะได้รับการจารึกไว้ที่บอร์ดประกาศของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อไป
เมื่อเรียนจบชั้น ม.๘ แล้ว ก็เป็นการสมัครสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในสมัยนั้นเป็นการสอบรวม ที่เรียกกันว่า สอบเอ็นทรานส์ โดยสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ใช้ข้อสอบเดียวกัน ผู้เข้าสอบคัดเลือกที่ต้องการจะเรียนต่อในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่ละคนสามารถเลือกได้คนละ ๔ คณะวิชา ตามลำดับความต้องการ ซึ่งสำหรับตัวเองก็เลือกตามความต้องการและความตั้งใจของพ่อแม่พี่น้องที่อยากให้เรียนแพทย์ จึงเลือกคณะแพทยศาสตร์ ใน ๓ อันดับแรก คือ แพทย์ศิริราช แพทย์จุฬาฯ และ แพทย์เชียงใหม่ ส่วนในอันดับที่ ๔ เลือกคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เทคนิคการแพทย์) ซึ่งคะแนนการสอบเข้าในปีที่ผ่าน ๆ มาต่ำกว่าคณะแพทย์ทั้งสามแห่งข้างต้นไว้ โดยหวังว่าถ้าไม่ได้แพทย์ทั้งสามที่ อย่างน้อยก็น่าจะติดในอันดับที่ ๔ นี้ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วในขณะนั้นตัวเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่าคณะนี้เรียนแล้วไปทำอะไร เพียงแต่เห็นว่ามีคำว่าแพทย์เหมือนกันเท่านั้น และผลการสอบก็ปรากฏว่า สอบได้ในอันดับที่เลือกไว้เป็นอันดับสุดท้ายนี้จริง ๆ จึงเป็นที่มาของการได้ไปเรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนศรีอยุธยา ติดกับโรงพยาบาลสงฆ์ในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นการเดินทางเข้ามาเรียนในเมืองหลวงของเด็กบ้านนอกครั้งแรก ที่มีอะไร ๆ ต้องปรับตัวมากพอสมควร เพราะต้องพักอาศัยอยู่ในหอพักเอกชน แทนการพักอาศัยอยู่กับบ้านญาติเป็นครั้งแรก และได้เรียนรู้ชีวิตในเมืองหลวงที่มีความแตกต่างจากชีวิตในต่างจังหวัดค่อนข้างมาก ได้เรียนรู้การเดินทางโดยรถประจำทางหรือรถเมล์ในเมืองหลวงที่ในต่างจังหวัดไม่มี การกินการอยู่แบบค่อนข้างเร่งรีบและอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีความหลากหลาย จากทั่วทุกสารทิศของประเทศ
หอพักแรกที่เลือกไปพักเป็นหอพักเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กับที่เรียน ที่สามารถเดินไปยังคณะที่เรียนได้ เพราะคิดถึงเรื่องการเดินทางเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด จากประสบการณ์ที่ต้องใช้เวลาเดินทางนานเป็นหลายชั่วโมงจากที่พักที่เป็นบ้านญาติที่อยู่บริเวณตลาดบางรักมายังที่กวดวิชาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ที่อยู่ตรงข้ามกับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วงสองเดือนที่มาเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็ตัดสินใจย้ายที่อยู่ เนื่องจากหอพักนี้ตั้งอยู่บริเวณที่มีน้ำเน่าขัง ทำให้มียุงชุกชุมมาก แม้ว่าห้องพักจะมีการติดมุ้งลวดแล้วก็ตาม ยุงจำนวนมากก็ยังคงสามารถเล็ดลอดเข้ามากัดได้ ปัญหาอีกอย่างก็คือด้านหน้าหอพักเป็นร้านอาหารและมีการจำหน่ายเหล้าด้วย ทำให้มีผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มตำรวจ ที่มีบ้านพักอยู่ในบริเวณนั้น มานั่งดื่มกินกันเกือบทุกวันรวมทั้งมีการส่งเสียงค่อนข้างดังรบกวนอีกด้วย จึงตัดสินใจย้ายไปเช่าหอพักที่อยู่ไกลออกมาอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตรในบริเวณแยกยมราชติดกับทางรถไฟและใกล้ ๆ กับโรงพบาบาลมิชชั่น ที่มีรถเมล์วิ่งผ่านไปยังโรงพยายบาลสงฆ์หรือคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายสาย ทำให้มีทางเลือกในการเดินทาง รวมทั้งในตอนเย็นบางวันหลังเลิกเรียนสามารถเดินกลับมายังที่พักได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เลือกหอพักบริเวณนี้ก็เนื่องจาก มีญาติของพี่สะใภ้เปิดร้านขายอาหารอยู่ที่บริเวณข้างโรงพยาบาลมิชชั่น ที่ทำให้มีความสะดวกในการไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านนี้ รวมทั้งอาหารกลางวันในวันหยุดด้วย ส่วนอาหารเช้าก็มักจะเป็นเกาเหลาเลือดหมูกับข้าวเปล่า เกาเหลาลูกชิ้นข้าวเปล่าที่ร้านใกล้ ๆ กัน หรือไม่ก็ข้าวราดแกงและอาหารตามสั่งที่ร้านบริเวณหน้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์นั่นเอง
ชีวิตที่หอพักแห่งนี้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย เนื่องจากเป็นหอพักที่ไม่ได้รับเฉพาะนักเรียนหรือนักศึกษาเท่านั้น แต่มีผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วก็มาเช่าพักอยู่ร่วมด้วย จึงมีความหลากหลายในการใช้ชีวิตมาก โชคดีที่ในสมัยนั้นเรื่องของยาเสพติดยังไม่ระบาดมาก ก็มีแต่เรื่องของการเล่นการพนัน สูบบุหรี่และดื่มเหล้าเท่านั้นที่มีให้เห็น ซึ่งผมเองก็ได้แต่ดูอยู่ห่าง ๆ ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยโดยตรง ไม่รู้ว่ารอดมาได้ยังไง ก็ยังสงสัยตัวเองอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะในสมัยนั้น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่และเล่นการพนัน ของนักศึกษามหาวิทยาลัย สำหรับหลาย ๆ คน คิดกันว่าทำให้เป็นคนดูดีทันสมัย หรือที่สมัยนี้เรียกว่าอินเทรนด์มั้ง (ดูมาดของหลาย ๆ คนในรูป)
« « Prev : เด็กข้างวัด (๘) ครูต้นแบบ
Next : ศึกษาดูงานสวนสมุนไพรที่ศูนย์หนองระเวียง » »
2 ความคิดเห็น
เบิร์ดชอบระบบห้องคิง ที่แยกเด็กเก่งไปเรียนรวมกันของแต่ก่อนนะคะ และคิดว่านี่แหละคือ Child Center เพราะเด็กเก่งควรไปลิ่วได้เลย ไม่ควรถูกดึงด้วยเพื่อนที่ความสามารถในการเรียนรู้น้อยกว่า
เด็กที่ปานกลางก็จะมีเพื่อนที่เรียนใกล้ๆกัน ไม่ได้เหลื่อมล้ำกันมาก ส่วนเด็กที่ถนัดแบบอื่นก็อยู่รวมกันไป ในห้องจะได้ไม่แตกต่างมากนัก การวัดผลก็แยก หลักสูตรก็แยก ครูไม่น่าเหนื่อยหนักหนาเท่าการเข็นให้เด็กที่ต่างกันแต่มาเรียนร่วมกันนะคะ
หมอเบิร์ดครับ
แนวคิดเรื่องการแบ่งชั้นเรียนเด็กอย่างไรดี….ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละค่ายครับ….แต่ละแนวก็มีจุดดีและจุดด้อยแตกต่างกันไป
ก็เช่นเดียวกับแนวการศึกษา “ในระบบ VS นอกระบบ” รวมทั้ง Home School, Bamboo School,…….ect.