อาม่าเล่าเรื่อง (๕) ชีวิตช่วงแรกที่อยู่เมืองไทย
อ่าน: 2434ที่อยู่ เล่ากงเช่าบ้านอยู่บริเวณ นอกกำแพงเมืองโคราช ด้านประตูชุมพล บริเวณ ที่ปัจจุบันคือสี่แยกหนองบัวรอง ในถนนโพธิ์กลาง ในสมัยนั้น ที่บริเวณหน้าประตูชุมพลยังไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ย่าโม บ้านเช่าเป็นห้องแถวเล็ก ๆ และบริเวณด้านหลังยังเป็นป่าเป็นสวนและเป็นที่นาอยู่มาก เมื่อเล่าม่า เล่ากงที่เป็นพ่อแท้ ๆ กับอาม่า เดินทางมาถึงโคราชใหม่ ๆ ต้องไปอาศัยอยู่ในสวน ที่เป็นเพื่อนของเล่ากง(พ่อบุญธรรม) ที่มาอยู่เมืองไทยก่อน เพราะเล่ากงเช่าห้องเล็ก ๆ ห้องเดียวอยู่กับภรรยาที่เป็นคนไทย จึงไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ช่วงต่อมาจึงขอเช่าห้องติดกันเพิ่ม เล่าม่า อาม่าและเล่ากง ที่เป็นพ่อแท้ ๆ ของอาม่า จึงได้มาอยู่ในห้องติดกัน …..อาม่าเล่าว่า ภรรยาคนไทยของเล่ากง บ่น(ด่า) เล่าม่า เป็นภาษาไทย แต่เล่าม่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำเฉย ๆ จนคนบ้านติดกัน ที่เป็นคนจีนที่มาอยู่ก่อน ฟังภาษาไทยออก สงสารเล่าม่า เลยมาชวน เล่ามาไปช่วยงานเย็บเสื้อผ้า โดยเฉพาะกางเกงจีนที่เรียกว่าสี่กี้ ในช่วงกลางวันที่เล่ากงออกไปทำงานนอกบ้าน การเย็บผ้าในสมัยนั้นใช้เย็บด้วยมือ (สอย) ยังไม่มีจักรเย็บผ้าใช้กัน….ฟังเรื่องเล่านี้แล้วทำให้นึกถึงเรื่องเล่าของ ดร. อาจอง ชุมสาย ที่เล่าว่าสมัยตนเองเด็ก ๆ ไปอยู่ที่ฝรั่งเศสใหม่ ๆ โดนเด็กฝรั่งเศสด่าว่าอะไรมากมาย แต่ตนเองฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รู้สึกโกรธหรือเดือดร้อนแต่อย่างใด ไม่นานคนด่าก็เลิกไปเอง อาจารย์บอกว่า เวลาคนอื่นบ่นหรือด่าเรา ถ้าเราคิดว่าเสียงนั้นเป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่ง มันเดินทางมากระทบหูเราแล้วก็เปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่นหรือหายไปเท่านั้น ไม่มีอะไร เราก็จะไม่รู้สึกโกรธหรือโต้ตอบ สามารถวางเฉยได้
ประตูชุมพล ก่อนการบูรณะ (ภาพจากวิกี้พีเดีย)
การเรียนหนังสือ อาม่าไม่ได้เข้าโรงเรียนไทย แต่เข้าโรงเรียนจีนที่ตั้งอยู่ด้านในเมือง โรงเรียนตั้งในเมือง หลังประตูชุมพล (อยู่หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโม ในปัจจุบัน) ไปตามถนนจอมพลประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ เมตร แต่บ้านที่อาม่าอยู่ อยู่ด้านนอกเมือง ด้านหน้าประตูชุมพล ตามถนนโพธิ์กลางมาอีก ๕๐๐-๖๐๐ เมตร การเดินทางไปโรงเรียนก็ใช้วิธีเดินไปและเดินกลับ ซึ่งต้องผ่านบริเวณกำแพงเมืองและประตูชุมพล อาม่าเล่าว่า บริเวณกำแพงเมืองเก่าและประตูชุมพลในสมัยนั้น ยังไม่มีการบูรณะเหมือนปัจจุบัน และยังไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ย่าโม เด็ก ๆ นักเรียนที่เดินกลับจากโรงเรียนที่อยู่ด้านในเมืองเพื่อกลับบ้านที่อยู่นอกเมือง ก็มักจะแวะเล่นกันแถวกำแพงเมืองเก่าโดยการปีนขึ้นไปเล่นกัน แต่จะไม่มีใครกล้าขึ้นไปบนสุดเหนือประตูชุมพลที่มีป้อมตั้งอยู่ เพราะมีการเล่าขานกันว่ามีผีดุมากอยู่บนนั้น
อาม่าโชคไม่ดีเมื่อ เข้าโรงเรียนจีนได้ปีเดียว โรงเรียนก็ถูกสั่งปิดโดยรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ครูสอนภาษาจีนจะถูกจับ (เป็นยุคที่เมืองไทยมีการกวาดล้างจีนคอมมิวนิสต์) ต่อมาจึงต้องมีการลักลอบสอนภาษาจีนกันตามบ้าน โดยคนมีเงินก็จะจ้างครูมาสอนลูกหลานของตนเองที่บ้าน อาม่าเลยมีโอกาสไปเรียนหนังสือจีนกับลูกของเจ้าของร้านขายยาจีน ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน และได้เป็นเพื่อนกันจนชีวิตเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัว และ ย้ายไปอยู่ที่ปักธงชัยด้วยกัน ทำให้สนิทสนมและนับถือกันเหมือนเป็นพี่น้องกันจริง ๆ ทีเดียว
ประตูชุมพล ในปัจจุบัน
ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของอาม่า ต้องช่วยเหลือเล่าม่าทำงานบ้านต่าง ๆ รวมทั้งไปรับจ้างเย็บผ้า และเคยไปรับจ้างทอผ้า (ผ้าขาวม้า) ในโรงงานเพื่อหารายได้เพิ่มอีกด้วย อาม่าได้เรียนหนังสือน้อย อาศัยการพยายามศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่
« « Prev : อาม่าเล่าเรื่อง (๔) น้องอาม่ามาเมืองไทย
Next : อาม่าเล่าเรื่อง (๖) ช่วงสร้างครอบครัว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อาม่าเล่าเรื่อง (๕) ชีวิตช่วงแรกที่อยู่เมืองไทย"