อาม่าเล่าเรื่อง (๖) ช่วงสร้างครอบครัว
อาม่ามีครอบครัวเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี (ถ้านับแบบคนไทยก็อายุเพียง ๑๗ ปี เพราะคนจีนจะนับอายุเมื่อเกิดมาก็จะมีอายุหนึ่งปี) อาม่าเล่าว่า การมีครอบครัวเมื่ออายุ ๑๘ ปีในสมัยโน้นถือว่าช้าหรือแก่ไปแล้ว ในสมัยโน้นการแต่งงานของลูกหลานจีนส่วนใหญ่เป็นการแต่งงานโดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงและเห็นชอบกัน บางทีเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่เคยเห็นกันมาก่อนก็มี เป็นลักษณะที่ต่อมาเรียกว่า “การแต่งงานแบบคุมถุงชน” ในกรณีของอาม่ากับอากง มีโอกาสได้เห็นกันและทำความรู้จักกันก่อน โดยเริ่มต้นจากการที่มี แม่สื่อมาพูดคุยกับผู้ใหญ่ (พ่อแม่) ของทั้งสองฝ่ายคือ เล่ากงเล่าม่า เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นดีด้วยก็จะมีการนัดแนะมาดูตัวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการพาผู้ใหญ่ฝ่ายชายและตัวฝ่ายชายที่จะเป็นเจ้าบ่าวมาที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อดูตัวฝ่ายหญิง โดยฝ่ายหญิงมักจะเป็นคนนำน้ำหรือน้ำชา และ ของว่างออกมาบริการ ระหว่างที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน
อาม่าและอากง ต่างเคยเห็นกันมาบ้าง เพราะอาศัยอยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่อยู่ห่างกันพอสมควร และครอบครัวทั้งสองก็รู้จักกันพอสมควรเนื่องจากเล่ากงมีอาชีพเป็นช่างไม้เหมือน แม้ว่าคนหนึ่งเป็นช่างก่อสร้างบ้านอีกคนเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ก็ตาม
อากง อายุ มากกว่าอาม่า ๕ ปี ตอนที่แต่งงานจึงมีอายุ ๒๓ ปี เล่ากงที่เป็นพ่อของอากง เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่เมื่ออากงมีอายุเพียง ๑๖ ปี อากงจึงอยู่กับ เล่าม่า (แม่) และน้อง ๆ อีกหลายคน ชีวิตอากงจึง ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตนเองและช่วยเหลือครอบครัวมาตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี หลังจากเล่ากงเสียชีวิตไป อากงไม่ได้ทำอาชีพช่างไม้ต่อจากเล่ากง แต่ไปทำงานกับร้านใหญ่ในเมืองโคราชในสมัยนั้น โดยการฝากฝังของเล่าม่ากับเจ้าของร้าน ที่เป็นคนจีนเดินทางมาทำมาค้าขายประสพผลสำเร็จที่เมืองไทย (โคราช) และเป็นคนเคยอยู่หมู่บ้านเดียวกับเล่าม่าที่ประเทศจีน จึงช่วยเหลือกัน
ช่วงแต่งงานกันใหม่ ๆ อากงทำงานที่ร้านใหญ่ สบายมาก (ตามคำบอกของอาม่า) เพราะทำงานเป็นเสมียน นั่งโต๊ะทำบัญชีต่าง ๆ ของร้าน เงินเดือนเริ่มต้น เดือนละ ๑๐ บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนย้ายมาอยู่อีกสาขาหนึ่งของร้าน แถวหลังประตูชุมพล ได้เงินเดือน ๒๐ บาท ซึ่งถือว่ามากพอสมควรในสมัยนั้น ร้านนี้ยังคงดำเนินการโดยลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน ขยายกิจการเป็นบริษัทใหญ่ของโคราช ดังนั้นชีวิตครอบครัวในระยะแรกของอากงอาม่า จึงเป็นไปด้วยความสุขและราบรื่น เมื่อมีบุตรด้วยกันสองคน อากงจึงพาอาม่าและลูกชายทั้งสองไปถ่ายรูปที่ร้านถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก อาม่าไม่แน่ใจว่า อากงส่งรูปนี้ไปให้ญาติที่เมืองจีนหรือเปล่า
จากคำบอกเล่าของอาม่าบอกว่า ตอนที่ไปถ่ายรูปนั้น ลูกคนที่สอง (ยี่เฮีย ของพวกเรา) อายุไม่กี่เดือนเอง ยังไม่ถึงขวบ (คาดว่าน่าจะเป็น ปี พ.ศ. ๒๔๘๒) จากรูปจะเห็นว่า อากงแต่งตัวทันสมัยสุด ๆ คือใส่สูทผูกเน็คไท ใส่รองเท้าหนัง แสดงถึงความเป็นคนทันสมัยของอากงของเราเป็นอย่างยิ่ง และมีเหตุการณ์อีกหลาย ๆ อย่างในเวลาต่อ ๆ มา ยืนยันเรื่องนี้ ในช่วงชีวิตต่าง ๆ ในเวลาต่อมา
« « Prev : อาม่าเล่าเรื่อง (๕) ชีวิตช่วงแรกที่อยู่เมืองไทย
Next : อาม่าเล่าเรื่อง (๗) เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสของชีวิต » »
2 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะ
แวะมาอ่านตอนต่อ เคยได้ยินแม่เล่าเรื่องการเลือกคู่ของผู้ใหญ่สมัยก่อนว่าเป็น “คลุมถุงชน” แต่ที่น่าคิดคือ สมัยก่อนนั้นการทะเลาะเบาะแว้ง หย่าร้างแทบจะไม่มีเลย
แม่บอกว่าเพราะสมัยก่อนผู้ใหญ่จะคัดเลือกลูกเขย ลูกสะใภ้อย่างประณีต ดูถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายเทือกเถาเหล่ากอ ผู้ใหญ่เลือกให้จึงมักจะไม่ค่อยมีปัญหา และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นแม่เล่าก็คือจะเกี่ยวดองกันต้องถาม ชื่อ-แซ่ ให้ดี แซ่เดียวกันถือว่ามีบรรพบุรุษเดียวกัน ก็ถือเป็นญาติกัน จะแต่งงานกันไม่ได้ด้วย
ดูจากภาพทั้งอากงและอาม่าทั้งสองท่านทันสมัยจริง ๆ ค่ะ