อาม่าเล่าเรื่อง (๑๐) ของฝากเมืองจีน
อาม่าได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองจีนเมื่ออายุ ๖๐ ปี พอดี โดยเดินทางไปพร้อมกับน้องชาย (อากู๋) โคราช และ น้องสาว (อาอี้) กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งคู่เคยเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองจีนมาก่อนแล้ว การไปครั้งนี้จึงเป็นไปได้ด้วยดี โดยเดินทางด้วยเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไปลงที่เกาะฮ่องกงก่อน แล้วนั่งรถยนต์ต่อไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการใช้บริการเรือขนส่งขนาดใหญ่ ที่สามารถนำรถยนต์ลงไปในเรือแล้วเมื่อเดินทางไปถึงจีนแผ่นดินใหญ่ก็เดินทางต่อไปด้วยรถยนต์คันเดิมจนถึงโรงแรมที่พักในซัวเถา ต่อจากนั้นญาติที่เมืองจีนก็จะมารับเพื่อเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านเกิด สำหรับอาม่านั้น อากู๋ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ ๆ ของอาม่าเป็นผู้เดินทางมารับ และได้พักอยู่ที่บ้านอากู๋คนนี้ในช่วงที่อยู่ที่เมืองจีน และอากู๋คนนี้ต่อมาก็ได้เดินทางมาเยี่ยมอาม่าที่เมืองไทยด้วยในปี พ.ศ. ๒๕๔๕
อากู๋น้องชายแท้ ๆ ของอาม่าเดินทางจากเมืองจีนมาเยี่ยมอาม่าที่เมืองไทย เมื่อ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
อาม่าเล่าให้ฟังว่า คนจีนที่มาอยู่เมืองไทยแล้วสามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมพ่อแม่และญาติพี่น้องที่ประเทศจีนได้นั้น ทางญาติ ๆ ที่ประเทศจีนจะเข้าใจว่าอยู่ที่เมืองไทยสบายและร่ำรวยกันทุกคน ดังนั้นเขาจะพากันคาดหวังว่าการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดจะต้องนำเงินนำทองและสิ่งของต่าง ๆ ไปมอบให้ญาติ ๆ กันทุกคน ในสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานเหมาเจ๋อตุงเพิ่งเสียชีวิตไปใหม่ ๆ สิ่งของที่ประชาชนชาวจีนต้องการเป็นของฝากนอกเหนือไปจากเงินทองแล้วก็จะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อาม่านำไปฝากญาติในคราวนั้น เป็นสิ่งของที่ผู้จัดการทัวร์จะจัดให้คนละ ๑ ชุด ประกอบด้วย จักรเย็บผ้า รถจักรยานสองล้อ ผ้าห่ม ผ้าพับสำหรับตัดเสื้อผ้า นาฬิกาข้อมือ อย่างละ ๑ ชิ้น โดยทางผู้จัดการเกี่ยวกับการเดินทาง จะเป็นผู้จัดการเรื่องการจัดซื้อจัดหาจากฮ่องกง และนำส่งจนถึงที่ปลายทางประเทศจีนให้ตามที่อยู่ที่ระบุด้วย แต่มีข้อจำกัดว่าหนึ่งท่านต่อ ๑ ชุดเท่านั้น อาม่าเล่าว่า ทั้งสามคนคืออาม่าเอง อากู๋โคราช และ อาอี้กรุงเทพฯ ได้ซื้อวิทยุขนาดเล็ก ที่ฮ่องกงราคาถูกกว่าไปฝากญาติด้วยคนละหนึ่งเครื่อง โดยเอาใส่กระเป๋าเสื้อผ้าไปเอง
ช่วงที่พักอยู่ที่บ้านอากู๋เมืองจีน ก็จะมีคนเอาของต่าง ๆ มาเสนอขายให้เกือบทุกวัน เพราะจะเป็นที่เข้าใจว่า แขกผู้มาเยี่ยมญาติจากเมืองไทยที่เรียกกันว่า “เซี่ยมแขะ” จะมีเงินและซื้อของฝากต่าง ๆ กลับมาเมืองไทยจำนวนมาก ทำให้ผมคิดถึงในสมัยโน้นตอนที่ผมไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ได้รับทราบว่าเวลา คนไทยไปช๊อปปิ้งที่สิงคโปร์ พวกพ่อค้าแม่ค้าที่สิงคโปร์จะเรียกกันว่า “เซี่ยมตือ” มาแล้ว ” ไม่รู้ที่เมืองจีนจะเหมือนกันหรือเปล่า สิ่งที่อาม่าซื้อกลับมาจากเมืองจีนก็คือ หยกเมืองจีนจำนวนหลายเม็ด และหยกสีเขียวหนึ่งเม็ดในจำนวนนี้ อาม่าเอาไปทำเป็นหัวแหวนทองคำ มอบให้ผมในช่วงที่ผมย้ายจากเชียงใหม่มาทำงานที่โคราชในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ แหวนทองหัวหยกวงนี้ จะเป็นแหวนที่ผมใส่ติดนิ้วมาจนถึงในปัจจุบัน
ของที่อาม่านำกลับมาจากเมืองจีนในครั้งนั้นอีกอย่างที่ผมได้รับก็คือ ชามกระเบื้องเซรามิก ที่อากู๋ ที่เป็นน้องชายแท้ ๆ มอบให้มา เป็นชามกระเบื้องเก่า ที่อากู๋บอกว่า มีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว ผิวของชามมีลักษณะแตกเป็นลายงา มีลวดลายเป็นรูปดอกไม้ ที่ด้านล่างของชามมีตัวหนังสือจีนอยู่หนึ่งตัว ผมเอาไปถามอาม่าว่ามันอ่านว่าอะไร อาม่าบอกว่าตัวหนังสือตัวนั้นอ่านว่า “สุง” แปลเป็นไทยว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” คำที่ปรากฏอยู่ใต้ชามนี้ หมายถึงอะไร อาม่าไม่แน่ใจ ท่านใดมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอความกระจ่างด้วยครับ
« « Prev : อาม่าเล่าเรื่อง (๙) ต้องย้ายที่อยู่อีกครั้ง
Next : น้ำท่วมปักธงชัยปีนี้มากจริง ๆ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "อาม่าเล่าเรื่อง (๑๐) ของฝากเมืองจีน"