ออกจาก “แดนฝัน”

5 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 12:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 2135

ไปเข้ากิจกรรมจิตตปัญญา ตั้งแต่วันที่ 25 จนถึงวันที่ 29 เป็นเวลา 5 วัน  เข้าไปวันแรก พอตอนเย็นกลับมาบ้าน   ก็นำเอา  สิ่งที่ได้รับมาเขียนลงในลานในทันทีทันควัน   เป็นความรู้แบบ เนื้อหา และทฤษฎีมากกว่าความรู้สึก   แต่พอวันหลังๆ  รู้สึกว่า ชักจะหลงเข้าไปในแดนฝันบ้างแล้ว  ไอ้ที่จดยิกๆ ก็น้อยลง เอาเวลาไปสดับตรับฟังความเป็นมาและเป็นไป ของคนรอบข้าง  มากกว่า จะจดจำทฤษฎี  เพราะคงจะค่อยๆหลงเข้าไปในแดนฝันแบบไม่รู้ตัวเสียแล้ว

เมื่อวานตอน เที่ยง  ออกมาจาก”แดนฝัน”กลับมาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้รับ รวมทั้งเอารูปที่ถ่ายแผ่นชาร์ตบทสรุปของการบรรยาย  และการแสดงออกของผู้เข้ากิจกรรม   และเข้าไปเปิดอ่าน  เวป วงน้ำชา ซ้ำ เพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียดเพิ่มเติมที่พอจะจำได้  คัดลอกข้อความบางอย่างจาก วงน้ำชา ที่เขาทำไว้เป็นบทสรุปแล้ว นำมาสรุปเองอีกครั้ง แล้วก็คิดว่า เราจะนำอะไรมาประยุกต์  มาถ่ายทอดให้กับครูในโรงเรียนของเราได้บ้าง  เพราะไม่ว่าจะไปรับอะไรที่ไหน ก็อดนึกถึงครูในโรงเรียนไม่ได้เสียที

 

เรื่องแรก  เคยได้ฟังมาหลายครั้งแล้ว คือเรื่อง “ สัตว์สี่ทิศ”  เรื่องนี้ นำมาใช้ในโรงเรียน  ตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคิดว่าคงจะใช้ได้ต่อไปเรื่อยๆ  เพราะเป็นบทเรียนที่ให้เรากลับมาดูตัวเอง และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ดี และชัดเจน

เรื่องต่อมาคือเรื่อง ศักดิ์ ( rank) ต่างๆของมนุษยชาติ ที่เขียนลงไปใน บล็อกที่แล้ว  แต่คราวนี้ ขอเอาแผ่นชาร์ตสรุป จากการเข้ากิจกรรมมาลงไว้ให้ดูด้วย เพราะเขาสรุปเนื้อหาได้ละเอียดกว่า

 

 เรื่องที่สองถ้าอ่านจากตรงนี้ อาจเข้าใจไม่ทะลุนัก เขาพูดถึงแนวคิดของมินเดลในส่วนที่แตกต่างจาก คาร์ล ยุง คือ มินเดลมีความเห็นค้านจาก  ยุง  ที่ว่า  จิตไร้สำนึกนั้น น่ากลัว และเข้าไปแตะต้องไม่ได้    แต่มินเดลบอกไม่น่ากลัว   ดังนั้น เขาจึงชักชวนให้คนเข้าไปใน แดนฝันหรือ dreamland นี้ได้ตลอดเวลา เพื่อค้นหา แก่น หรือ ราก  ของความรู้สึกภายในที่แท้จริง  และนำเข้ามาใช้ในโลกสมมุติได้

ส่วนบนสุดที่เรียกว่า  โลกสมมุติ  คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นปัจเจก  ต่างคนต่างอยู่ พูดกัน แต่ไม่ฟังกัน หรือพูดออกมาแบบไม่ตรงกับใจ เมื่อใดที่เราลงไปในแดนฝัน  เรายังลงไปได้ในสองระดับคือในระดับจิตวิทยา และต่อไปจนถึงระดับจิตวิญญาณ  ตรงระดับจิตวิญญาณนี่แหละที่ การสัมนาครั้งนี้ โดยอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู พยายามนำพาพวกเราให้เข้าถึง  เพราะอาจารย์มีความเชื่อว่า สมุหะกับปัจเจกแยกจากกันไม่ได้

ช่วงนี้ขอยกข้อความของคุณ  maythawe   มาประกอบสักเล็กน้อย  ถ้าใครอยากอ่านเต็มๆให้เข้าไปที่ เวป วงน้ำชาได้ด้วยตัวเอง ในนั้นจะมีเรื่องจิตตปัญญา (แบบหนักๆ) ให้ติดตามอย่างมากมาย

“ระบอบประชาธิปไตยเสนอให้ทุกคนเท่าเทียมกันและจะต้องมีตัวแทนที่เท่าเทียมกันด้วย  ขณะที่มินเดลบอกว่าเขาแบ่งระดับจิตออกเป็นสามระดับ ขณะที่ทุกระดับก็ยังมีคุณค่าและความเท่าเทียมอยู่
o   สามระดับที่ว่าคือ
1. ความเป็นจริงพื้นฐานประจำวัน CR (consensus reality) ระดับนี้ความสัมพันธ์จะต้องมีสองคนขึ้นไป มีคำกล่าว และมีประเด็น
2. แดนฝัน (dreamland) เป็นระดับที่ดูเหมือนไร้ความสำคัญ ซึ่งจะมีการสัมผัสสัญญาณทางกาย ความฝัน และ
3. ระดับ essence ซึ่งเป็นรากฐานเป็นแก่นแท้ อันจะมีสนามกระบวนการจิต (processmind field) และสนามนี้ในเชิงความสัมพันธ์ก็คือบ้านที่แท้จริง เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเป็น common ground

การที่เราจะ มี eldership (สภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง)   ได้นั้น  เราต้องผ่าน แดนฝัน มีกายฝัน  ไปสู่ บรมธรรม  หรือ essence  ให้จงได้     กระบวนกร  (ซึ่งมีทั้งตัวจริงและผู้ช่วย ได้ร่วมกันในคำจำกัดความของสภาวะ   ผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไว้ตาม ชาร์ตที่จะได้นำมาลงในช่วงต่อไปนี้)

 

กระบวนการทั้งห้าวัน  ส่วนใหญ่ จะใช้ voice dialogue หรือ สุนทรียสนทนา เข้ามาเป็นกระบวนการเดินเรื่อง  คือพอพูดทฤษฎีเสร็จ ก็ให้ ผู้เข้าร่วม รวมกลุ่มย่อยบ้าง  จับคู่บ้าง  พูดถึงทฤษฎีนั้นๆโดยดึงเข้าหาความจริงที่ตัวเอง หรือคนในกลุ่มมีและเป็น   แล้วก็มีกระบวนการ เดินสมาธิ (เรียกเอง  เขาอาจมีชื่ออื่นๆ ) คือเดินนิ่งๆเงียบๆ คิดใครครวญ เปิดเพลงเบา ไฟสลัวๆเป็นการสร้างบรรยากาศ ให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม  เพื่อจะหลุดเข้าแดนฝันได้  (จริงๆเรื่องนี้ต้องพูดกันยาว เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องการทำให้สมองอยู่ในคลื่นเบต้า )  ก่อนทำกิจกรรมตอนบ่ายก็ให้นอนหลังอาหารกลางวัน  ฟังเพลง  ทำ บอดี้แสกน มีคนเสียงหวานๆพูดนำให้เราเดินเข้าไปสวนบ้าง  ในป่าบ้าง แล้วก็ลึกเข้าไปๆๆๆ จนเคลิ้มหลับไปเลย    แรกๆแม่ใหญ่ก็ชอบหรอก แต่ตอนหลังเราหนีไปดูสวนในช่วงนี้   เพราะไม่ชอบตอนเขาเรียกตื่น   ไม่อยากตื่นขึ้นมาจากการหลับกำลังสบายนั่นเอง

เรื่องสุดท้ายที่คุณน้ำฟ้าและปรายดาวชอบในบล็อคที่แล้ว  ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลง    แบบที่ต้องรักการเปลี่ยนอย่างมาก   แต่ไม่ได้ เกลี่ยดหรือนึกรังเกียจ  ในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม  เรื่องนี้ต้องสารภาพว่าด้วยปัญญาอันน้อยนิด  คิดแบบโลกสมมุติ  แบบรูปธรรม เข้าไม่ถึงนามธรรม   ว่ายังเข้าใจไม่ทะลุ  ไม่เข้าใจในส่วนที่สองที่ว่า  “อยากเปลี่ยนแต่ไม่รังเกียจสิ่งที่เป็นอยู่เดิม” อาจารย์ยกตัวอย่าง  อยากเลิกบุหรี่ ทั้งๆที่ติดบุหรี่   ก็ให้นึกสงสัยว่า ถ้าไม่รังเกียจการติดบุหรี่ แล้วจะอยากเลิกทำไม  สงสัยแต่ไม่ได้ถาม เพราะอาจารย์บรรยายติดพัน   พูดต่อเนื่อง จนไม่มีโอกาสได้ถาม   วันหลังมีโอกาสคุยกับกระบวนกรตัวต่อตัวจะซักเรื่องนี้ให้ทะลุอีกสักที    แต่ก้ขอนำเอาชาร์ตที่เขาสรุปไว้มาให้ดูให้งงกันเล่นๆ

แผ่นชาร์ตทั้งสี่แผ่นหลังนี้   เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  คนที่เคยเข้าจิตตปัญญา รุ่นลึกๆ  คงพอเข้าใจได้ดีกว่า    ส่วนตัวเอง  เป็นเรื่องที่จะเอาไว้ศึกษาต่อไป

 


จิตตปัญญาศึกษา-ปลูกต้นไม้

4 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 26 มิถุนายน 2011 เวลา 8:15 (เช้า) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1559

ช่วงวันที่ 25-29 เทศบาลนครขอนแก่น เชิญไปเข้าร่วมกิจกรรม   จิตตปัญญาศึกษา นำโดยกระบวนกร  วิศิษฐ์ วังวิญญู   ในหัวข้อเรื่อง  กระบวนการในแดนฝัน  เป็นภาคภาษาไทยของ Gill Emslie  ซึ่งเป็นกระบวนกรชื่อดังศิษย์เอกของArnold Mindell  ที่ได้เคยมาจัดกิจกรรมในกรุงเทพ  มาก่อนแล้ว 

 เรื่องดังกล่าวนี้   ตั้งอยู่บนฐาน ของจิตวิทยาสายคาร์ล ยุง “  กิจกรรมครั้งนี้   เป็นเรื่องเกี่ยวกับ   งานกระบวนการ “”Process Work”   ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ  แม้บางตอนจะเข้าใจยากสักหน่อย  เป็นทฤษฎีที่มีกลิ่นนมเนยค่อนข้างมาก   แต่ที่น่าสนใจเพราะเมื่อโยงมาเข้ากับศาสนาพุทธของเราแล้ว  หลายเรื่องเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน 

 ได้มีการพูดกันถึง เรื่อง rank  ของคนทุกคนในสังคม  ที่อาจารย์แปลเป็นไทยว่า “ศักดิ์”  ว่ามันมี rank 4  ประเภทด้วยกันคือ

  • Social rank  ( ศักดิ์ทางสังคม)
  • Psychologial rank (ศักดิ์ทางจิตวิทยา)
  • Spiritual rank (ศักดิ์ทางจิตวิญญาณ)
  • Contextual rank (ศักดิ์ตามบริบทและสถานการณ์)

อาจารย์ให้จับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่มเล็กๆ 4-5 คน  ทำความเข้าใจกับ rank ชนิดต่างๆ   และให้มองดูตัวเองและเพื่อนในกลุ่ม  ว่าได้เคยอยู่ใน rank ไหนบ้าง  และเคยใช้อภิสิทธิ์ของ rank นั้นๆ  อย่างรู้ตัวไหม เท่าทันไหม  ใช้เพื่ออะไร  เพื่อเกี้อกูลตนเอง หรือมนุษยชาติ  หลังจาก สุนทรียสนนากลุ่มย่อย กันพอประมาณแล้ว  ก็มาหลอมรวมความคิดกันในกลุ่มใหญ่  ซึ่งมีการสรุปกันว่า  คนที่ไม่ยึดถือ rank ต่างๆ  เดินทะลุมันออกมาได้นั่นแหละ  คือ มนุษย์ที่แท้

มีคำพูดที่อาจารย์โปรยไว้ให้ติดตามตอนต่อไปในกิจกรรม  ห้าวันนี้คือ  เรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราเอง

คนที่จะเปลี่ยน ได้จริงๆ จะต้องเป็นคนที่

  • รักการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
  • รักตัวเองอย่างที่เป็นอยู่เดิม  ไม่ได้รังเกียจสิ่งที่เป็นอยู่

ซึ่งในหัวข้อที่สอง  นี่ฟังดูแปลก  เพราะถ้าคนเรารักในสิ่งที่เป็นอยู่  แล้วจะไปเปลี่ยนทำไม     ก็คงต้องรอฟังและมาเล่าต่อในตอนต่อไป

ช่วงทานข้าวกลางวัน  ไม่ได้อยู่ทานกับกลุ่ม  แต่แวบไปดูที่นาซึ่งได้มอบให้ลุงพงษ์ ลุงสมัย และเฉลา   ไปเตรียมที่ปลูกต้นอคาเซีย   รอบๆบ่อน้ำ (ให้หางกัน 2.50 เมตร  ตามวิชาที่ไปเรียนรู้มา)   ส่วนกำหนด  ที่จะดำนาช่วงออกพรรษานั้น    คงจะต้องเลื่อนออกไป เป็นปลายเดือน  เพราะต้องใช้เวลาเตรียมดินให้ดีกว่านี้ (ตำราบอกว่า เตรียมดินให้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง )    ต้องปล่อยให้หญ้าเน่าก่อน 15 วัน   แล้วจึงจะไถแปรอีกครั้ง  แล้วยังต้องทำเทือกให้ดินละเอียด   ดังนั้น  การดำนา หรือ โยนกล้า น่าจะต้องเลือ่นไปช่วง ปลายเดือนกรกฎาเสียแล้ว   ก็ดีเหมือนกัน  ตรงกับวันทำบุญ ครบรอบวันตาย “ยายจ๋า” วันที่ 29 กรกฎาคม    ญาติพี่น้องจะได้มาทำบุญแล้วไปดำนาด้วยกัน  ในคราวเดียว

พอปลูกต้นไม้แล้ว ก็กลับไปร่วมกิจกรรม จิตตปัญญาต่อ   วันนี้เลยได้ทำครบทั้งสองเรื่อง


เรียนปลูกข้าวจาก Youtube

8 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 7:32 (เช้า) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก, ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1813

วันอาทิตย์เป็นวันว่าง  ตั้งแต่เช้ายันบ่าย แม่ใหญ่จึงง่วนอยู่กับการ เปิดหาความรู้เรื่องทำนาเพิ่มเติม จาก  Google และ  Youtube  พบว่า มีคนเขียนบรรยาย และถ่ายทำเป็นวิดิโออย่างหลากหลายจริงๆ ได้เก็บข้อมูลและรวบรวมไว้เป็น Powerpoint ไว้  ตั้งใจว่า บ่ายวันนี้ จะขอเชิญบรรดาชาวนาตัวจริงทั้งหลายที่ทำงานอยู่กับแม่ใหญ่จำนวนไม่น้อย  เช่น ลุงโก้ ลุงพงษ์ ลุงน้อย โสภา ทองเพียร เดือน แสน เฉลา ฯลฯ  มาดูวิดิโอที่แม่ใหญ่รวบรวมเกี่ยวกับเรื่องนาโยน  (ซึ่งปีนี้จะแบ่งเป็นสองแปลง  นาโยนแปลงหนึ่ง นาดำแปลงหนึ่ง )    และจะขอให้เขา “โส” กัน (สุนทรียสนทนา ตามศัพท์ทางจิตตปัญญา )  ว่าคิดเห็นเป็นอย่างไร เราจะได้รับฟังความรู้จากชาวนาตัวจริงด้วย   แม่ใหญ่ก็จะขอป้าๆลุงๆกลุ่มนี้แหละมาช่วยแม่ใหญ่เริ่มต้นกับนาทดลอง ครั้งแรกของโรงเรียน   ถ้าผลมันออกมาดี  เขาก็จะได้เอาไปทำของตัวเขาเองต่อไป  เพราะลุงๆป้าๆเหล่านี้มีนาของตัวเองคนละ 7-8 ไร่ขึ้นไป  แต่ไม่ได้ทำนา เป็นอาชีพ ออกมารับจ้างเป็นพนักงานโรงเรียนกันหมด ถึงเวลาก็ลาไปหว่าน   ไปเกี่ยว  แค่วันสองสามวัน  ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาได้รับผลผลิตกันขนาดไหน  และต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้ยาฆ่าแมลงกันเป็นเงินเท่าไหร่  แม่ใหญ่จะทำการทดลองร่วมกับเขาว่า ถ้าเราทำถูกต้องตามที่ได้ศึกษามา ทำแบบเกษตรอินทรีย์  ไม่ใช้เคมี  มันจะไปรอดไหม 

ความรู้ที่ได้จากการค้นหา   แม่ใหญ่สรุปรวมไว้ในภาพข้างล่างนี้ 

หลังจากศึกษาจากอินเตอร์เนตแล้ว ช่วงบ่ายก็เข้าไปดูที่นา  ที่ตั้งแต่ซื้อเอาไว้ปีกว่าแล้ว ยังไม่เคยได้ลงไปเดินรอบๆทั้งสี่ไร่เลย เนื่องจาก หญ้ารกมากๆ พอผู้รับเหมาทำถนนเข้าไปที่บ่อน้ำ  และจัดรูปนาทดลองตามที่เราต้องการให้  เขาไปเริ่มงานถากถาง  จนเห็นคันนาพอเดินได้แล้ว แม่ใหญ่ก็ชวนลูกชวนหลาน  ลงไปเดินดูโดยรอบ  พบว่า ที่ด้านหลังเป็นบ่อใหญ่มาก เนื้อที่เกือบสองไร่  เจ้าของคนเดิมที่เขาขายนาให้เรา เขามีที่นาอยู่ยี่สิบไร่  เขาขุดบ่อน้ำนี้ เอาไว้เก็บน้ำเวลาที่เขาต้องการทดน้ำเข้านาหรือสูบน้ำออกจากนา   เราเองก็ชอบที่ซึ่งมีบ่อน้ำ   แต่ตอนซื้อที่  มองดูจากฝั่งถนนไกลๆไม่คิดว่าจะได้บ่อใหญ่ขนาดนี้    แต่มาเห็นของจริงก็พอใจ  เพราะเราคงจะมีน้ำใช้ตลอดปี และคงได้แบ่งปันเพื่อนบ้านด้วยในช่วงที่คลองชลประทานยังไม่ส่งน้ำเข้ามา

ไปดูที่นาแล้ว  กะเวลาการไถดะ ไถแปร  ทำเทือก สำหรับโยนกล้าและดำนา  ไม่ทราบว่าจะทันกำหนดเดิมคือวันเข้าพรรษาหรือไม่  เพราะเท่าที่ศึกษาดู    เขาบอกว่าการเตรียมดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของกระบวนการปลูกข้าว     เมื่อไถดะ แล้ว  ต้องรอเวลาให้หญ้าและวัชชพืชตายทับถมกันก่อน 15 วัน  แล้วจึงปล่อยน้ำออกให้ดินแตกระแหง เพื่อก๊าซฟางเน่าๆ จะได้ระเหยออกไป   แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าขลุกขลิกเพื่อ ไถแปรอีกครั้ง  หมักทิ้งไว้อีกครั้ง  แล้วจึงคราด ตีดินให้ละเอียดเพื่อทำทเทือกให้พร้อมโยนกล้าหรือดำนา            ถ้าเตรียมดินดี วัชชพืชจะน้อย  ข้าวก็จะงาม  ดังที่ ปราชญ์ชาวบ้านหลายๆท่านกล่าวไว้ใน youtube

ทำนาแค่สองไร่ แม่ใหญ่รู้สึกว่าเรื่องมันแยะจริงๆ  หนักใจนิดๆ  คงเป็นเพราะเรายังไม่เคยทำเลยนั่นเอง  แต่ไม่เป็นไร ใจสู้เอาไว้ก่อน  เป็นไรเป็นกันสิน่า

ส่วนเรื่องปลูกต้นอคาเซียตามขอบคันนานั้นไม่มีปัญหาน่าจะลงได้ตั้งแต่อาทิตย์หน้าเป็นต้นไป  ว่าจะไปหาต้นอื่นๆมาปลูกแซมๆไปบ้าง (ตามที่ได้ไปเรียนรู้มา)

 

 

 

 


“ลงแขก”ห้องสมุด

4 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 18 มิถุนายน 2011 เวลา 11:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1827

วันนี้เป็นวันดีอีกวันหนึ่ง ของโรงเรียนพัฒนาเด็ก (ประชาสโมสร)   ที่คุณครูทุกท่าน กรุณาสละเวลา มาทำงานพิเศษที่โรงเรียน  เพื่อจะ “ลงแขก” ห้องสมุด     ที่ย้ายจากห้องเก่า มาอยู่ห้องใหม่    และผู้ดูแลคนเก่า ก็สอบติดปริญญาโท ลาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างค่อนข้างกระทันหัน   มอบหมายงานไม่ทัน  คนใหม่ก็ไม่ใช่ บรรณารักษ์มืออาชีพ  ดังนั้น  ปัญหาจึงเกิดขึ้น เช่น หาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ  ไม่สะดวกในการใช้   ไม่รู้ว่ามีหนังสือใหม่อะไรเข้ามาบ้าง ฯลฯ   เมื่อมีปัญหาคุณครูก็นัดกันว่าจะระดมความคิดกัน      ช่วยแก้ไขให้ทุกคนสามารถใช้ห้องสมุดได้ อย่างเร็วที่สุดเพราะโรงเรียนก็เปิดมาหนึ่งเดือนเต็มๆแล้ว

 เริ่มต้นด้วยการตั้งวงคุยกันก่อนลงมือปฏิบัติการ   ถ้าจะพูดให้เป็นทฤษฎีหน่อย ก็คงจะตรงกับ BAR คือ  Before action review คุยถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น  และสรุปกันว่า จะไปเริ่มลงมือทำกันอย่างไร และตรงไหน

แม่ใหญ่ นั่งฟังคุณครูปรึกษาหารือกัน    และสรุปข้อคิดเห็นของคุณครู  ได้ดังนี้

ปัญหา

ความต้องการ   /  ข้อเสนอแนะ  /    การปฏิบัติ

·                     ห้องใหม่เล็กกว่าห้องเก่า  และมีชั้นวางสองด้าน    ทำให้ต้องวางกลางห้อง ทำให้ห้องเล็ก และชั้นมีความสูงเกินระดับสายตาอาจมองได้ไม่ทั่วถึง

·                     อยากได้ชั้นเตี้ย  โชว์ หนังสือด้านเดียว และวางชิดฝาทั้งสี่ด้าน

·                     หนังสือตอนนี้อยู่ปนๆกันในกล่องบ้างนอกกล่องบ้าง 

·                     ให้ช่วยกันจัด แยกประเภทออกเป็น  คู่มือครู นิทานแบบปกอ่อน และปกแข็ง   วิทยาศาสตร์   ธรรมชาติและสิง่แวดล้อม   และอาจมีประเภทอื่นๆอีก ตามที่เห็นตรงกัน ขณะที่จัดร่วมกัน

·                     แผ่นโปสเตอร์  มองไม่ชัด เลือกยาก

·                     ให้ทำที่แขวนโปสเตอร์ และแยกประเภทด้วยเช่นกัน

·                     มีหนังสือปนกันทั้งที่ชำรุด  ต้องซ่อมแซม และหนังสือที่ ซ่อมไม่ได้หรือ  ไม่น่าใช้แล้ว

·                     แยกพวกซ่อมออกไว้ซ่อมภายหลัง  แยกพวกที่ไม่มีประโยชน์แล้ว ทิ้งไปได้

·                     Big Book เป็นหนังสือที่เด็กชอบมาก ยังไม่มีชั้นวางที่ได้ขนาด

·                     เสนอให้ทำกล่องใส่  Big book ต่างหาก  และวางไว้ให้เด็กเลือกได้  แต่ควรอยู่ในความดูแลของครู  เพราะ  Big book   บางเล่ม  หาซื้อไม่มี  มาจากต่างประเทศ และมีราคาแพง ควรดูแลรักษาเป็นพิเศษ

·                     การยืมคืนยังไม่เป็นระบบ

·                     ครูที่เคยเรียนวิชาบรรณารักษ์ให้คำแนะนำ ผู้ทำหน้าที่ดูแลห้องสมุด ให้ทำทะเบียน  หนังสือ  และให้มีบัตรยืมคืน   ให้เป็นคนเก็บหนังสือเข้าที่เองทุกวัน

·                     การยืมหนังสือบางคนยืมนานตลอดเทอม คนอื่นไม่ได้ยืม

·                     ครูตกลงกันว่า จะให้ยืมเพียงคนละ 7 วัน เท่านั้น  ถ้าต้องการก็ต้องมาต่อเวลาทุกครั้ง

·                     ครูอยากฝึกให้เด็กได้มายืมด้วยตนเอง เอากลับไปบ้านได้

·                     จัดระบบยืมคืนให้เด็กนักเรียน  แต่ให้เอาไปได้เพียงวันเดียว ต้องเอามาคืนในวันรุ่งขึ้น

·                     มีหนังสือใหม่มา ครูไม่รู้

·                     ให้จัดบอร์ดแสดงหนังสือใหม่ไว้หน้าห้องสมุด

·                     อยากมีบัตรสถิติส่วนตัวครู  ว่าเดือนหนึ่งใครยืมหนังสือกี่เล่ม

·                     เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูเข้ามาหาวิชาความรู้เพิ่มเติม

·                     อยากให้มีการ “ลงแขก” แบบนี้ทุกสิ้นเทอม

·                     มีข้อตกลงกันว่า จะทำแบบนี้ ทุกๆสิ้นเทอม   เพราะจะทำให้ ห้องสมุดเป็นแหล่เรียนรู้ที “ หยิบง่าย  หายรู้ ดูก็งามตา 

คุณครูคุยปรึกษา กันไม่นาน  ประมาณ สิบห้านาที  แล้วก็ลงไปช่วยกันจัดห้อง  ตามที่ตกลงกัน  โดยบอกกันว่า  ถึงวันนี้จะยังไม่เสร็จ สมบูรณ์ แต่ก็คงมีโอกาสนำเอาปัญหามาพูดคุยใน   “วาระ อื่นๆ”  ของการประชุมประจำสัปดาห์ที่มีขึ้นทุกวันจันทร์ได้ 

ที่ โรงเรียนพัฒนาเด็ก    เราทำงานด้วยกันแบบนี้  มีอะไรก็ปรึกษากัน และช่วยกันคิด ช่วยกันแก้กันไป    จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้และทำงานกันอย่างเป็นทีมขึ้น   ไม่ใช่ต้องรอให้สั่งอย่างเดียว  ผู้บริหารก็ไม่เหนื่อย  ลูกน้องก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ  งานก็ไม่ไปหนักอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง  ผลงานออกมา  ก็เป็น ผลงานของเรา  ชื่นอกชื่นใจด้วยกันทุกฝ่าย 


กำนดการคร่าวๆเรื่องนาทดลอง

6 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 16 มิถุนายน 2011 เวลา 9:42 (เช้า) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก #
อ่าน: 1298

เมื่อวานผู้รับเหมาถมดินปรับที่นา  โทรมาบอกว่าอีกสามวันเข้าไปดูที่นาได้  เพราะคงจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว  วันนี้จึงใช้เวลาในการวางแผน  กำหนดการคร่าวๆที่จะเริ่มดำเนินการ ทำนาทดลองกับนักเรียน ป. 6  โรงเรียนพัฒนาเด็ก    โดยเชิญคุณครูอุ๊  ซึ่งเป็นครูประจำชั้น ป. 6 มาคุยกันตอนเย็น หลังเลิกเรียน    มาคุยกันแบบไม่เป็นทางการ เพราะไม่อยากให้โครงการนี้เป็นโครงการ    แบบแข็งๆที่ มีจุดมุ่งหมาย มีหลักการอะไรมาก  เพื่อจะต้องเอาไปโชว์คณะประเมินโรงเรียน      แม่ใหญ่อยากให้เป็นโครงการที่เราทำกันไปเรียนกันไป  ผิดถูกทำใหม่ได้ เพราะยังมีเวลาอีกตั้งสามครั้งต่อปี สำหรับนักเรียนรุ่นนี้    ที่เราจะทดลองและเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ 

คุณครูอุ๊มีคุณพ่อเป็นหมอดิน  ชื่อคุณพ่อสมัย พันธ์ชมพู  บ้านอยู่แถวๆบ้านสงเปือย   ไกลจากแปลงนาทดลองของเราไม่กี่กิโลเมตร  คุณครูอุ๊ ได้เกริ่นไว้แล้วว่า แม่ใหญ่ขอให้มาเป็นที่ปรึกษาเรื่องเตรียมดิน  และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ล้วนๆ   คุณครูบอกว่าเด็กๆจะว่างเช้าวันศุกร  เพราะได้ทำตารางสอนเพื่อการไปทัศนศึกษา เรื่องต่างๆไว้ตลอดปี    ดังนั้นจึงกำหนดว่า เราจะพาเด็กๆไปดูทีนาที่เตรียมดิน      ในเช้าของวันศุกร 24 มิถุนายน        เมื่อกลับมาก็จะให้เด็กๆมาโรยเมล็ดข้าวที่เราจะแช่น้ำเตรียมไว้พร้อมปลูก   ลงในถ้วยพลาสติก  (ที่เราใช้การโรยเมล็ดลงในถ้วยในกระบะพลาสติค     ไม่ได้ใช้เจาะรูกระดานตามที่อ.ทวิชแนะนำในครั้งนี้    ก็เพราะอยากให้เด็กจะได้มารดน้ำดูแลในช่วงที่กล้ากำลังเจริญเติบโต   และได้เห็นกระบวนการเจริญเติบโตของต้นกล้าอย่างละเอียด )

เมื่อวานอีกเหมือนกันที่แม่ใหญ่ เข้าไปในที่ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น   ได้ไปพบนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ชื่อ อาจารย์พิศาล กองหาโคตร  เพื่อไปขอคำแนะนำและซื้อพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับที่นาของโรงเรียน   โชคดีอีกแล้วที่ไปเจออาจารย์พิศาล  ที่เคยเป็นนักศึกษาคณะเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่น 8 และอาจารย์จำแม่ใหญ่ได้ แม้ไม่เคยเรียนด้วยก็ตาม  เราก็ได้เลยคุยกันยาว  จนเลยเวลาทานข้าวกลางวัน     แม่ใหญ่เล่าว่าทำไมแม่ใหญ่ถึงอยากจะทำนาทดลองให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้      อาจารย์ชอบใจบอกว่า ดูทีวีเห็นดารามาทำนา ยัง คิดชื่นชม และอยากให้คนรู้เรื่องทำนากันมากๆ เพราะเป็นอาชีพสำคัญของเมืองไทย   แม่ใหญ่เลยต้องรีบบอกคิดเหมือนอาจารย์ แต่ว่า ไม่ได้เอาอย่างดารานะคะ  โครงการนี้เริ่มซื้อที่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว  แต่ทำไม่ทัน  เพราะยังไม่มีข้อมูลพอเพียง

 อาจารย์เปิดกูเกิ้ล ให้แม่ใหญ่ชี้ให้ดูว่า ที่นาอยู่ตรงไหน  เพราะอาจารย์ได้เคยศึกษามาก่อนแล้วว่า  ที่ดินส่วนไหนของขอนแก่น ควรปลูกข้าวชนิดไหน  เมื่อรู้ที่ตั้งของที่นาแล้ว   อาจารย์ก็แนะนำว่าให้ใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ  สำหรับการทดลองคราวนี้ เพราะเป็นการทำนาปี  ถ้าครั้งต่อไป เป็นนาปรังจึงจะต้องใช้ข้าวอีกพันธุ์หนึ่ง  อาจารย์ถามว่า จะมาซื้อพันธุ์ข้าววันนี้ เตรียมดินแล้วหรือยัง   แม่ใหญ่ก็เล่าว่าเพิ่งจ้างเขาปรับและไถที่นา เพราะทำเองไม่เป็น  อาจารย์จึงบอกว่าเตรียมที่นาดำ ต้องเตรียมแบบประณีตหน่อย  อาจารย์จะไปช่วยดูให้  แล้วอาจารย์ก็ถามว่า จะให้ใครดำ แม่ใหญ่จะลงมือดำเองหรือ  แม่ใหญ่ก็บอกว่า จะลงแขก  กัน   ทั้งแม่ใหญ่  ครู   นักเรียน พนักงานที่โรงเรียนผู้ปกครอง และลูกๆหลานๆที่สนใจ  และอาจจะมีดารารับเชิญ ชื่อ ป้าจุ๋ม จาก กรุงเทพ  ป้าหวาน และออต จากขอนแก่น  มาร่วมดำนาด้วย  อาจารย์บอกว่าถ้าที่นาประมาณสองไร่เศษ และมีคนช่วยกันหลายๆคน   วันเดียวก็อาจจะเสร็จ  เพราะตามปกติแล้วชาวนาเขาจะดำได้ 6 คน ต่อไร่ต่อวัน  แต่เนื่องจากชาวนาสมัยนี้เขาไม่ค่อยมีเวลา   และไม่สามารถลงแขกกันได้ เขาจึงต้องจ้างรถดำนาบ้าง หรือไม่ก็ทำนาหว่านไปเลย

กำหนดหยอดเมล็ดข้าวปลูกต้นกล้าวันที่    24      มิถุนายน    ต้นกล้าใช้เวลางอก  พร้อมที่จะปลูก ใช้เวลา   20 วัน  (ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ)  ตรงกับวันที่    14  กรกฎาคม ซึ่งดูจากปฏิทินแล้ว  วันที่ 15-16 เป็นวันหยุดอาสฬหบูชา และต่อด้วยวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับศุกร เสาร์ และ วันที่  17  เป็นวันอาทิตย์  ดังนั้นน่าจะเป็นช่วงที่จะนัดใครๆที่สนใจมาร่วมดำนาทดลองกันได้  อาจจะมีใครอื่นที่อ่านบล็อกนี้  นึกสนุกมาร่วมด้วยก็เป็นได้ ใครจะไปรู้

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กำหนดการก็คงจะเป็นตามที่กล่าวมาแล้วนี้



Main: 0.12896299362183 sec
Sidebar: 0.077965021133423 sec