ออกจาก “แดนฝัน”

โดย maeyai เมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 12:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 2059

ไปเข้ากิจกรรมจิตตปัญญา ตั้งแต่วันที่ 25 จนถึงวันที่ 29 เป็นเวลา 5 วัน  เข้าไปวันแรก พอตอนเย็นกลับมาบ้าน   ก็นำเอา  สิ่งที่ได้รับมาเขียนลงในลานในทันทีทันควัน   เป็นความรู้แบบ เนื้อหา และทฤษฎีมากกว่าความรู้สึก   แต่พอวันหลังๆ  รู้สึกว่า ชักจะหลงเข้าไปในแดนฝันบ้างแล้ว  ไอ้ที่จดยิกๆ ก็น้อยลง เอาเวลาไปสดับตรับฟังความเป็นมาและเป็นไป ของคนรอบข้าง  มากกว่า จะจดจำทฤษฎี  เพราะคงจะค่อยๆหลงเข้าไปในแดนฝันแบบไม่รู้ตัวเสียแล้ว

เมื่อวานตอน เที่ยง  ออกมาจาก”แดนฝัน”กลับมาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้รับ รวมทั้งเอารูปที่ถ่ายแผ่นชาร์ตบทสรุปของการบรรยาย  และการแสดงออกของผู้เข้ากิจกรรม   และเข้าไปเปิดอ่าน  เวป วงน้ำชา ซ้ำ เพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียดเพิ่มเติมที่พอจะจำได้  คัดลอกข้อความบางอย่างจาก วงน้ำชา ที่เขาทำไว้เป็นบทสรุปแล้ว นำมาสรุปเองอีกครั้ง แล้วก็คิดว่า เราจะนำอะไรมาประยุกต์  มาถ่ายทอดให้กับครูในโรงเรียนของเราได้บ้าง  เพราะไม่ว่าจะไปรับอะไรที่ไหน ก็อดนึกถึงครูในโรงเรียนไม่ได้เสียที

 

เรื่องแรก  เคยได้ฟังมาหลายครั้งแล้ว คือเรื่อง “ สัตว์สี่ทิศ”  เรื่องนี้ นำมาใช้ในโรงเรียน  ตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคิดว่าคงจะใช้ได้ต่อไปเรื่อยๆ  เพราะเป็นบทเรียนที่ให้เรากลับมาดูตัวเอง และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ดี และชัดเจน

เรื่องต่อมาคือเรื่อง ศักดิ์ ( rank) ต่างๆของมนุษยชาติ ที่เขียนลงไปใน บล็อกที่แล้ว  แต่คราวนี้ ขอเอาแผ่นชาร์ตสรุป จากการเข้ากิจกรรมมาลงไว้ให้ดูด้วย เพราะเขาสรุปเนื้อหาได้ละเอียดกว่า

 

 เรื่องที่สองถ้าอ่านจากตรงนี้ อาจเข้าใจไม่ทะลุนัก เขาพูดถึงแนวคิดของมินเดลในส่วนที่แตกต่างจาก คาร์ล ยุง คือ มินเดลมีความเห็นค้านจาก  ยุง  ที่ว่า  จิตไร้สำนึกนั้น น่ากลัว และเข้าไปแตะต้องไม่ได้    แต่มินเดลบอกไม่น่ากลัว   ดังนั้น เขาจึงชักชวนให้คนเข้าไปใน แดนฝันหรือ dreamland นี้ได้ตลอดเวลา เพื่อค้นหา แก่น หรือ ราก  ของความรู้สึกภายในที่แท้จริง  และนำเข้ามาใช้ในโลกสมมุติได้

ส่วนบนสุดที่เรียกว่า  โลกสมมุติ  คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นปัจเจก  ต่างคนต่างอยู่ พูดกัน แต่ไม่ฟังกัน หรือพูดออกมาแบบไม่ตรงกับใจ เมื่อใดที่เราลงไปในแดนฝัน  เรายังลงไปได้ในสองระดับคือในระดับจิตวิทยา และต่อไปจนถึงระดับจิตวิญญาณ  ตรงระดับจิตวิญญาณนี่แหละที่ การสัมนาครั้งนี้ โดยอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู พยายามนำพาพวกเราให้เข้าถึง  เพราะอาจารย์มีความเชื่อว่า สมุหะกับปัจเจกแยกจากกันไม่ได้

ช่วงนี้ขอยกข้อความของคุณ  maythawe   มาประกอบสักเล็กน้อย  ถ้าใครอยากอ่านเต็มๆให้เข้าไปที่ เวป วงน้ำชาได้ด้วยตัวเอง ในนั้นจะมีเรื่องจิตตปัญญา (แบบหนักๆ) ให้ติดตามอย่างมากมาย

“ระบอบประชาธิปไตยเสนอให้ทุกคนเท่าเทียมกันและจะต้องมีตัวแทนที่เท่าเทียมกันด้วย  ขณะที่มินเดลบอกว่าเขาแบ่งระดับจิตออกเป็นสามระดับ ขณะที่ทุกระดับก็ยังมีคุณค่าและความเท่าเทียมอยู่
o   สามระดับที่ว่าคือ
1. ความเป็นจริงพื้นฐานประจำวัน CR (consensus reality) ระดับนี้ความสัมพันธ์จะต้องมีสองคนขึ้นไป มีคำกล่าว และมีประเด็น
2. แดนฝัน (dreamland) เป็นระดับที่ดูเหมือนไร้ความสำคัญ ซึ่งจะมีการสัมผัสสัญญาณทางกาย ความฝัน และ
3. ระดับ essence ซึ่งเป็นรากฐานเป็นแก่นแท้ อันจะมีสนามกระบวนการจิต (processmind field) และสนามนี้ในเชิงความสัมพันธ์ก็คือบ้านที่แท้จริง เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเป็น common ground

การที่เราจะ มี eldership (สภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง)   ได้นั้น  เราต้องผ่าน แดนฝัน มีกายฝัน  ไปสู่ บรมธรรม  หรือ essence  ให้จงได้     กระบวนกร  (ซึ่งมีทั้งตัวจริงและผู้ช่วย ได้ร่วมกันในคำจำกัดความของสภาวะ   ผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไว้ตาม ชาร์ตที่จะได้นำมาลงในช่วงต่อไปนี้)

 

กระบวนการทั้งห้าวัน  ส่วนใหญ่ จะใช้ voice dialogue หรือ สุนทรียสนทนา เข้ามาเป็นกระบวนการเดินเรื่อง  คือพอพูดทฤษฎีเสร็จ ก็ให้ ผู้เข้าร่วม รวมกลุ่มย่อยบ้าง  จับคู่บ้าง  พูดถึงทฤษฎีนั้นๆโดยดึงเข้าหาความจริงที่ตัวเอง หรือคนในกลุ่มมีและเป็น   แล้วก็มีกระบวนการ เดินสมาธิ (เรียกเอง  เขาอาจมีชื่ออื่นๆ ) คือเดินนิ่งๆเงียบๆ คิดใครครวญ เปิดเพลงเบา ไฟสลัวๆเป็นการสร้างบรรยากาศ ให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม  เพื่อจะหลุดเข้าแดนฝันได้  (จริงๆเรื่องนี้ต้องพูดกันยาว เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องการทำให้สมองอยู่ในคลื่นเบต้า )  ก่อนทำกิจกรรมตอนบ่ายก็ให้นอนหลังอาหารกลางวัน  ฟังเพลง  ทำ บอดี้แสกน มีคนเสียงหวานๆพูดนำให้เราเดินเข้าไปสวนบ้าง  ในป่าบ้าง แล้วก็ลึกเข้าไปๆๆๆ จนเคลิ้มหลับไปเลย    แรกๆแม่ใหญ่ก็ชอบหรอก แต่ตอนหลังเราหนีไปดูสวนในช่วงนี้   เพราะไม่ชอบตอนเขาเรียกตื่น   ไม่อยากตื่นขึ้นมาจากการหลับกำลังสบายนั่นเอง

เรื่องสุดท้ายที่คุณน้ำฟ้าและปรายดาวชอบในบล็อคที่แล้ว  ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลง    แบบที่ต้องรักการเปลี่ยนอย่างมาก   แต่ไม่ได้ เกลี่ยดหรือนึกรังเกียจ  ในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม  เรื่องนี้ต้องสารภาพว่าด้วยปัญญาอันน้อยนิด  คิดแบบโลกสมมุติ  แบบรูปธรรม เข้าไม่ถึงนามธรรม   ว่ายังเข้าใจไม่ทะลุ  ไม่เข้าใจในส่วนที่สองที่ว่า  “อยากเปลี่ยนแต่ไม่รังเกียจสิ่งที่เป็นอยู่เดิม” อาจารย์ยกตัวอย่าง  อยากเลิกบุหรี่ ทั้งๆที่ติดบุหรี่   ก็ให้นึกสงสัยว่า ถ้าไม่รังเกียจการติดบุหรี่ แล้วจะอยากเลิกทำไม  สงสัยแต่ไม่ได้ถาม เพราะอาจารย์บรรยายติดพัน   พูดต่อเนื่อง จนไม่มีโอกาสได้ถาม   วันหลังมีโอกาสคุยกับกระบวนกรตัวต่อตัวจะซักเรื่องนี้ให้ทะลุอีกสักที    แต่ก้ขอนำเอาชาร์ตที่เขาสรุปไว้มาให้ดูให้งงกันเล่นๆ

แผ่นชาร์ตทั้งสี่แผ่นหลังนี้   เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  คนที่เคยเข้าจิตตปัญญา รุ่นลึกๆ  คงพอเข้าใจได้ดีกว่า    ส่วนตัวเอง  เป็นเรื่องที่จะเอาไว้ศึกษาต่อไป

 

« « Prev : จิตตปัญญาศึกษา-ปลูกต้นไม้

Next : ได้เจอคนใจดี (อีกแล้ว) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 5:33 (เย็น)

    เรื่องจิตวิทยาชอบอยู่เดี๋ยวมีเวลาจะมาเม้นท์วันนี้เส้นตายส่งบทความวิจัยไปเสนอประมาณ 5 บทความพร้อมๆ กันตั้งแต่อบแห้งไปถึงกังหันลม และปล่องโรงไฟฟ้า ทั้งภาษาไทยอังกฤษ คืนนี้ส่งสัยบ่ได้นอน

    ว่าแต่ว่านาหยอดหล่นที่แม่ใหญ่ “วิตก” ไว้ในโพสต์อื่นของผมนั้น ผมว่ามันอาจดีกว่า แบบอื่นๆ นะ แบบดำน่ะข้าวมันชะงัก 2 อาทิตย์นะครับ สองอาทิตย์นี้หยอดหล่นอาจไปโลดแล้วก็ได้ อ้อ..ในโพสต์ก่อนผมชวนขอทุนวิจัยด้วยนะครับ สนบ่

  • #2 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 6:21 (เย็น)
    ตอบไปแล้วเรืองงานวิจัย ว่า ไม่ชอบทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว หรือมีกรอบ ชอบทำแบบสบายๆ ไม่มีอะไรมาเป็นตัวเร่ง ส่วนนาหยอดหล่นก็วิตกไปอย่างนั้นเอง อย่างไรเสียก็จะลองค่ะ ให้เห็นจริงเห็นจังไปเลย แล้วคงรายงานให้ฟังแบบกันเอง สบายดี
  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 8:03 (เย็น)

    ขอบพระคุณแม่ใหญ่ที่เอาความรู้มาเผยแพร่ต่อให้เราเรียนรู้กันครับ ยังหาวันไปพบแม่ใหญ่เพื่อขออคาเซียครับ ขอเร่งงานด่วนให้เสร็จก่อนครับ

    ชอบสาระ จิตตปัญญานี้มากเลยครับ

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 10:39 (เย็น)

    ..ตะแบงตัวจริงมาแว้ว..โปรดอ่านด้วยจิตเมตตาเด๊อแม่หยั่ยที่รักจ๋า

    ผมว่าคนคิดเป็นสี่นั้นเป็นนักคิดแบบ “ตรงข้าม” หยินหย่าง โต้กันไปมา พื้นฐานเป็นพวกคิดแบบหักล้างกัน เช่นแรงผลัก-แรงต้าน ดี-ชั่ว แนวคิดแบนนี้เป็นแนวคิดตะวันตก ที่นำสู่การทำลายล้างกันมามากแล้ว แม้วันนี้เขาก็แบ่งโลกเป็น รวย-จน พัฒนา-ด้อยพัฒนา

    แต่ถ้าเราปรับนิด จากสี่มาเป็นสาม ผมว่ามันดึงและดูดกันแบบสร้างสรรค์กว่านะครับ เช่น คนเราจริงๆแล้วมันมีล้านๆพวก แต่ถ้าจัดจริงๆ อาจมีเพียงสาม คือ แน่นหนัก(ดิน) ไหลเรื่อย(น้ำลม) ร้อนแรง (ไฟ)

    พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ มีสาม พระบุตรพระจิตพระholy ghost ก็มีสาม (ภาษาไทยนึกไม่ออก) พระพรหมพระศิวะพระวิษณุก็สามอีกแล้ว

    เรื่องศักดิ์ศรี ก็มีสามคือ กำเนิด กำลัง ปัญญา พวกเจ้าก็ภูมิใจในชาติกำเนิด พวกคนรวย โจร ทหาร นักกล้าม ก็ภูมิใจในกำลังของตน พวกนักปราชญ์ พระ นักวิจัยรางวัลโนเบลก็หยิ่งในปัญญาแห่งตน ..ผมมองไม่เห็นอะไรเกินไปกว่านี้ (นักบอลได้แชมป์โลก ก็กำลัง บางทีผนวกปัญญาเข้าไปด้วย)

    บรมธรรมน่าเป็นยอด ส่วนสมมติ (โลกิยะ) น่าเป็นรากนะผมว่า ยกเว้นถ้ามองแบบวงกลม มันก็ไม่มีอะไรเป็นยอดหรือรากของอะไร ต่างเป็นยอดและรากซึ่งกันและกัน

    “ปัญญามาจากความรู้” เป็นการคิดเชิงเส้นแบบฝาหรั่ง แท้จริงแล้วมันเป็นวงจร แต่เป็นวงจรแบบเกลียวพุ่ง (helix) นะผมว่า ทั้งสองเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ยาว ผมเคยเขียนไว้หลายหน้า ตามประสาคนชอบเคี๋ยด …เด็ก 7 ขวบตรัสรู้เป็นพพจ.ได้ก็มีแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้เรียนรู้มินเดล ฟรอยด์ หรือ มาสโลว ไม่เคยฟังเพลงโมซาร์ท หรือ ชายเมืองสิงห์สักแอะ

    อยากเปลี่ยนแต่ไม่เกลียด ..ส่วนผมขอเกลียดแต่ไม่เปลี่ยน เช่น นักการเมืองไทย เกลียดแมร่นอิ๊บอ๋าย แต่ให้เปลี่ยนไปอยู่ใต้กฎหมายที่กำหนดโดยนักการเมืองยุโรป เมกา อันแสนสิวิรัย จ้างให้ก็บ่ไปดอก

    http://www.youtube.com/watch?v=6WRK8AtctoA

    …ไก่งงทาง (สามสิบ มิยอ ห้าสี่)

  • #5 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 กรกฏาคม 2011 เวลา 7:20 (เช้า)
    # 3 เก็บเอาไว้ให้อย่างดี มาเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น
    # 4 อ่านคอมเมนท์อาจารย์ แบบสนุกมากเลยค่ะ เพราะตั้งแต่แก่ตัวมานี่ยอมรับอะไรได้มากมาย และออกจะคุ้นชินอาการ ตะแบงกึ่งเสียดสีแบบนี้ มาก่อน (ทำไมมันคล้ายกันได้มากแบบนี้ก็ไม่รู้นะ) อยากให้อาจารย์ เข้าไปนั่งในวง จิตตปัญญาจังเลย ดีไม่ดี กระบวนกร(ถ้าจิตไม่นิ่งจริง) อาจกระโดดเตะเลยก็ได้ ฐานที่ขัดคอได้เกือบทุกเรื่อง แม่ใหญ่ไปเข้าฟังแบบอินไม่มากเหมือนคนอื่นๆ แอบแสดงความเห็น สงสัยเป็นระยะๆเหมือนกัน แต่ก็ได้รับรู้เรื่องดีดีมาไม่น้อยเหมือนกันค่ะ (กระบวนกรก็เป็นคนรุ่นๆอาจารย์นี่แหละ น่าจะได้ขึ้นเทศน์พร้อมกันจริงๆ คนฟังคงสนุกชมัด)

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.62895798683167 sec
Sidebar: 0.30446696281433 sec