อาคารอนุบาลที่โนนชัย
อ่าน: 2926วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนเทศบาลเป็นโรงเรียนที่ ห้าแล้ว พอก้าวย่างเข้าบริเวณแผนกอนุบาลโรงเรียนเทศบาลโนนชัย ก็ต้องยืนงง รีบนำกล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายรูปก่อนอย่างอื่น เพราะแทบไม่เชื่อสายตาว่านี่คือโรงเรียนอนุบาล ที่ต้องเรียกว่าเป็นโรงเรียน “ชายแดน” ของเทศบาลนครขอนแก่น
โรงเรียนเทศบาลโนนชัย เป็นโรงเรียนที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาหลายปีแล้ว โดยมีโรงเรียนรุ่งอรุณ จากกรุงเทพ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ครูไปดูงาน ไปกินไปอยู่ และไปเรียนรู้ที่โรงเรียนรุ่งอรุณครั้งละหลายๆวัน คณะอาจารย์จากรุ่งอรุณเอง ก็มาติดตามนิเทศน์โรงเรียนโนนชัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายที่นำเอาชุมชนเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาร่วมกับทางโรงเรียน และ การดำเนินกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนเทศบาล โนนชัย ก็เป็นกิจกรรมที่แทบจะลอกแบบมาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ จนเป็นที่เลื่องลือกันในขอนแก่นว่าเป็นโรงเรียนทางเลือก ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี
ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียนนี้ ให้เข้าสู่มาตรฐาน โรงเรียนทางเลือกของนครขอนแก่น ทางคณะเทศมนตรีก็ใจป้ำ จัดงบประมาณประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารชุดนี้ บริษัทที่ออกแบบเป็นบริษัทที่ทางโรงเรียนรุ่งอรุณแนะนำมา ก็ได้มาออกแบบอาคารอนุบาลตามที่เห็นในรูปนี้ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับโรงเรียนอนุบาลของรุ่งอรุณ คือ มีลักษณะเป็นบ้าน ระดับชั้นหนึ่งก็อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆอยู่ในบ้านหลังเดียว ตึกนี้ เพิ่งได้เปิดใช้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมานี่เอง
ต้องยอมรับว่า อาคารทันสมัย ทั้ง สามหลัง ที่ใช้เป็นอาคารเรียน ชั้นอนุบาล1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 อย่างละหลังนี้ ช่างสวยงามน่าประทับใจจริงๆ
ผู้อำนวยการ ประดิษฐ์ สะเดา ได้มาต้อนรับ คณะกรรมการที่มาเยี่ยมชมด้วยตนเอง พร้อมกับคุณครู เนื่องนิตย์ พาลี รักษาการณ์รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการ มีความภาคภูมิใจในอาคารหลังใหม่มากๆ และได้ทำการปรับปรุงสนามและสิ่งแวดล้อมอย่างสวยงามเข้ากับตัวตึก คณะครูอนุบาลมีทั้งหมด 6 คนเป็นครูประจำชั้น สอนหกห้อง ระดับละสองห้อง นั่นคือ คุณครูสองคนจะต้องดูแลตึกคนละหลัง ซึ่งมีห้องที่ใช้ประโยชน์ได้ 4 ห้อง แต่มีสองห้องเรียน สองห้องประกอบ ต่อตึกหนึ่งหลัง และมีเด็กห้องละ 30 คน ที่ขาดคือไม่มีครูพี่เลี้ยง และไม่มีพนักงานช่วยเหลือเลย ห้องน้ำอยู่นอกห้องเรียน แม้จะไม่ไกล แต่ครูก็ไม่สามารถติดตามมาดูแลได้เมื่อเด็กออกจากห้องมา ต้องจัดว่าคุณครูประจำชั้นมีความชำนาญการสอนและจัดกิจกรรมได้ดีพอสมควร จึงพอเรียกความสนใจให้เด็กทั้ง 30 คนเรียนรู้ ได้ แต่ก็รู้สึกว่าจะเป็นงานหนักมากสำหรับครู ที่ต้องรับผิดชอบอาคารทั้งหลัง และดูแลเด็กอีกห้องละ 30 คน ตลอดทั้งวัน
ในช่วงสรุปความคิดเห็น คณะกรรมการส่วนใหญ่ แสดงความชื่นชม กับอาคารสถานที่ มากกว่าที่จะวิจารณ์ ด้านการเรียนการสอน มีกรรมการท่านหนึ่งที่บอกกว่าอยากเห็นโรงเรียนเทศบาลโนนชัย มีเอกลักษณ์ของตัวเองมากกว่าจะเป็นแบบพิมพ์เขียวมาจากโรงเรียนรุ่งอรุณ และท่านประธานสุทธิ ได้ติงคณะครูว่า ให้ใส่ใจกับสมาธิของเด็ก ที่จะเรียนรู้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แม่ใหญ่เองพูดเป็นคนสุดท้าย บอกความรู้สึกว่า เมื่อก้าวเข้ามาในโรงเรียน แม้จะตื่นตาตื่นใจกับอาคารหลังงาม แต่ยังมีความรู้สึกว่าบรรยากาศมันไม่ค่อยนุ่มนวล แบบโรงเรียนอนุบาลทั่วไป ดูมันแข็งๆอย่างไรพิกล (อาจจะเป็นด้วย เครื่องแบบข้าราชการสีกากี ที่ผู้อำนวยการและครูทุกคนใส่ ซึ่งเป็นระเบียบที่โรงเรียนนี้จะแต่งชุดข้าราชการในวันจันทร์ก็คงมีส่วนด้วย ที่ทำให้ความสดชื่นลดไปพอสมควร) นอกจากนี้ สื่อทุกชนิดที่ติดอยู่ตามหน้าต่าง ประตู ก็เป็นประเภทโปสเตอร์สำเร็จรูปที่ซื้อหามาติดไว้ แทบทั้งนั้น ไม่เห็นสื่อจากฝีมือครูเลย รู้สึกเหมือนครูจะกลัวว่าถ้าทำสื่ออะไรขึ้นมา อาจจะ ไม่เข้ากับอาคารที่สวยงาม อยู่แล้วก็เป็นได้ บรรยากาศและสื่อ อุปกรณ์ รอบๆห้องเรียน ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กเท่าที่ควร พูดได้ว่าถูกความงามของตัวอาคารแย่งซีนความเป็นห้องเรียนที่อบอุ่นไปเสียไม่น้อย
แต่อย่างไรก็ตาม แม่ใหญ่ก็ต้องบอกว่าดีใจที่เด็กในชุมชนโนนชัยได้อาคารเรียนที่สวยงาม มา เป็นที่เรียน ซึ่งถือเป็นความจำเป็นพื้นฐาน และด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นนี้ ถ้าครูจะเติมเต็มด้วยการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่หลากหลาย เด็กก็จะได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ต่อไปอย่างเหมาะสม
Next : เป็นโค้ชให้ครูในโรงเรียนพัฒนาเด็ก » »
2 ความคิดเห็น
ดูด้วยใจต่างกับดูด้วยตา อิอิ
อืม เห็นด้วยค่ะแม่ใหญ่ ดูแข็งๆไม่เป็นธรรมชาติ อาจเป็นเพราะเบิร์ดชอบลักษณะของฮักสคูล กับแปลงนาทดลองของแม่ใหญ่ก็ได้ค่ะ หรือว่าอาคารกับสิ่งแวดล้อมยังปรับตัวไม่เข้ากัน เพราะอาคารก็ยังใหม่เลยดูเป็นทางการไปเสียหมด ซึ่งในความรู้สึกรร.อนุบาลน่าจะมีที่ให้เด็กเล่นมอมแมมได้น่ะค่ะ เพราะ School [Old English scōl, from Latin schola school, from Greek skholē leisure spent in the pursuit of knowledge]
“leisure spent in the pursuit of knowledge” แปลว่า ความเพลิดเพลินในการแสวงหาความรู้ ???
แล้วที่แปลว่าโรง+เรียน ใช่ผิดตั้งแต่แรกฤๅไม่ …. เฮ้อ ! อย่างนี้ก็ไม่แปลกเลยใช่มั้ยคะที่การศึกษาส่วนใหญ่ของเรา”เดินบนเส้นทางโรง+เรียน(โรงสอน)” …ไม่ใช่ สถานที่ที่มีความเพลิดเพลินในการแสวงหาความรู้ ตามรากศัพท์เดิม
(ลองสนุกกับความหมายจากที่นี่นะคะ)
แต่รร.รุ่งอรุณเค้าจัดการเรียนการสอนได้ดี และแม่ใหญ่บอกว่ารร.นี้ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดก็คงเป็นโอกาสที่ดีของคนขอนแก่นที่จะได้รร.ทางเลือก ดีใจกับขอนแก่นจริงๆนะคะที่มีผู้ใหญ่ใจดีคอยช่วยกันแบบที่แม่ใหญ่เล่ามา