พันธุ์ข้าวพระราชทาน

6 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:46 (เย็น) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก #
อ่าน: 2017

นับเป็นบุญเหลือล้นที่ป้าจุ๋มกรุณาส่งพันธุ์ข้าวพระราชทานจากงานพระราชพิธีพืชมงคลในปีนี้มาให้    เมื่อตอนเปิดซอง พอเห็นเมล็ดข้าวเปลือก รู้สึกขนลุกซุ่จริงๆ  ใครจะว่าเว่อก็ว่าเถอะ   คือมันมีความรู้สึกปิติ เพราะเป็นเรื่องเหนือความคาดฝันใดใด    เราแค่จะทดลองทำนาให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้เป็นปีแรก  ก็มีเรื่องดีดี  เกิดขึ้น มาเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง ขอขอบคุณป้าจุ๋ม มา ณ ที่นี้เป็นอย่างมาก

ป้าจุ๋มส่งมาให้ทั้งหมดรวมห้าซองด้วยกัน   ซองสีเหลืองสี่ซองที่เห็นเป็น  พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105  ที่ เขาจัดใส่ซองไว้แจกเกษตรกร  ที่มารับในงานเมื่อวันที่  12-13 พฤษภาคม 2554 ซึ่งได้ทราบมาว่า  คนที่ไปคอยรับต้องต่อคิวกันยาวกว่าจะได้มาคนละซองสองซอง    ด้านหลังมีคำอธิบายบอกไว้เรียบร้อยว่า  ควรจะปลูกในพื้นที่น้ำลึกไม่เกิน 80 เซ็นติเมตร  และให้ ปลูกในฤดูฝน  ประมาณเดือนกรกฎาคม  บอกลักษณะเด่น  จุดอ่อน  ที่ควรระวัง  เอาไว้ด้วย 

แต่มีอีกซองหนึ่งเป็นซองพิเศษจริงๆ  เพราะเป็นพันธุ์ข้าวก้นกะเฌอของหาบเงินหาบทอง ที่พระยาแรกนาขวัญ และบริวาร  หาบมาหว่านด้วยตนเอง

ถ้าสังเกตให้ดี  จะเห็นกลีบดอกมะลิแห้งที่ปนอยู่กับเมล็ดข้าวด้วย

พันธุ์ข้าวห้าถุงนี้ แม่ใหญ่ตั้งใจจะนำไปปลูกที่หัวนา  เพื่อเป็นสิริมงคล  ตั้งใจว่าจะทำการหยอดแบบที่  “คนถางทาง” แนะนำไว้  เราจะได้เห็นการเจริญงอกงามของข้าวแต่ละเมล็ด โดยไม่ให้หลุดรอดสายตา

ส่วนนาที่เหลือจะลองปลูกข้าวเหนียว แปลงหนึ่ง และปลูก ข้าวเจ้าแปลงหนึ่ง  และแบ่งปลูกหลายๆแบบตามที่ได้ศึกษามา   ได้โทรนัดแนะกับ พ่อใหญ่มาก   แห่งพุทไธสงค์เรียบร้อยแล้ว  พ่อใหญ่มากจะนำพันธุ์ข้าวมาให้   ในวันที่ 13-14 มิถุนายน นี้ ตอนที่ไปเข้าอบรมการปลูกกล้าไม้ที่ ศูนย์วิจัย สะแกราช ด้วยกัน

ตอนนี้ก็ได้แต่รอ การจัดที่นา และเตรียมดิน   ให้เป็นไปตามความต้องการ    ถ้าพร้อมที่จะปลูกเมื่อไหร่      ก็จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง  ถ้ามีชาวเฮอยากมาร่วมลงแขก  ในแบบ  ”หยอดหล่น”  แบบ”ดำนา” แบบ “โยนข้าว”   ก็จะขอเชิญ  และจะยินดีต้อนรับอย่างเต็มที่


พี่สาวคนดีที่หนึ่ง

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:08 (เช้า) ในหมวดหมู่ วงศาคณาญาติ #
อ่าน: 1993

แม่ใหญ่มีพี่สาวคนเดียว  อายุครบ 72 ปีนี้  ในวันที่ 31 พฤษภาคม คือวันพรุ่งนี้  แต่ลูกๆเขาตกลงกันว่า ขอจัดให้ในวันอาทิตย์ที่ 29  เพื่อหลานๆจะได้ไม่ต้องลาโรงเรียน  แม่ใหญ่ก้เลยได้หอบลูกหลานที่อยู่ขอนแก่น รวม 9 ชีวิต  เข้าไปร่วมอวยพรในงานครบ 72 ปีของพี่นวลศิริ เกตุทัต   พี่คนดี ที่น่ารักเมื่อวันเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา

น้องสาวน้องชาย ช่วยกันอ่านข้อความอวยพร   และกับพวกเราที่มาจากขอนแก่น

พี่นวลเป็นพี่ที่น่ารัก  และใช้ชีวิตแบบประหยัดมัธยัสถ์ และพอเพียงมาตลอดชีวิต  ไม่เคยสุรุ่ยสุร่ายใดใด ให้เห็น  จนบางคนมองว่าพี่เป็นคนตระหนี่  แต่จริงๆแล้วพี่นวลไม่เคยเอาเปรียบใคร  ใครเดือดร้อนก็มาพึ่งพาอาศัยได้เสมอ  ที่บอกว่าประหยัดมัธยัสถ์นั้น อยากจะยกตัวอย่างดีดี  ให้ฟังสักสองสามตัวอย่างที่คนสมัยนี้อาจจะมองข้าม  เช่นการใช้น้ำใช้ไฟฟ้า อย่างประหยัด  ไม่มีเปิดทิ้งเลยสักดวง   จะเปิดเฉพาะในห้องที่พี่นวลอยู่เท่านั้น   ส่วนน้ำนั้นก็มีการรีไซเคิล จากน้ำล้างชาม น้ำในห้องน้ำ   ไปเป็นน้ำรดต้นไม้ในสวน     เรียกว่าใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้ค่าจริงๆ    จนเป็นที่รู้กันว่า    บ้านพี่นวลหลังเก่า  ซึ่งก็เป็นบ้านไม่เล็ก  ขนาดสามห้องนอน  มีบริเวณเกือบหนึ่งไร่   แต่พี่นวลจะจ่าย  ค่าน้ำค่าไฟ ไม่ถึงสองร้อยบาท   จนช่วงที่เขาไม่เก็บค่าน้ำค่าไฟขั้นต่ำ  พี่นวลก็เข้าไปมีรายชื่อในกลุ่มนี้กับเขาด้วย 

ข้าวของเก่าๆไม่เคยทิ้งขว้าง  ตอนที่น้องชายขายที่  และรื้อบ้านพ่อเมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีที่แล้ว   พี่นวลได้เก็บหน้าต่างประตู ซี่กรงระเบียง เอาไว้อย่างดีมากทุกชิ้น     จนเมื่อพี่นวลต้องปลูกบ้านหลังใหม่  เมื่อปีที่แล้ว   เนื่องจากหลังเก่า ทรุดโทรมมาก   และอยู่ในพื้นที่ต่ำมากๆ     พี่นวลก็ดูแลควบคุมการก่อสร้างเองทุกชิ้น ค่อยๆสร้างและเลือกหาอุปกรณ์ที่ไม่หรูหรา แพงเกินเหตุ อะไรในบ้านหลังเดิมที่ถอดเอามาใช้ได้ เช่นโคมไฟ  เครื่องสุขภัณฑ์ ฯลฯ  พี่นวลนำกลับมาใช้ได้ทั้งหมด    และยังนำเอาของเก่าจากบ้านพ่อที่แกเก็บไว้  นำมาประกอบเป็นหลังใหม่ได้เป็นอย่างดี และสวยงาม    ตอนที่พวกเราไปเลี้ยงฉลองวันเกิดครบ 72 ปีของพี่นวลครั้งนี้ จึงได้เห็นบ้านหลังใหม่ของพี่นวล   ที่มีลูกกรงเหล็กลายเก่าที่ปัจจุบันหาดูไม่ได้อีกแล้ว    และประตูหน้าต่างไม้สัก ทรงสูงที่ไม่มีขายในท้องตลาด  ซึ่งแม่ใหญ่คุ้นเคยเพราะเติบโตมากับบ้านหลังนั้น  เมื่อเดินเข้าไปในบ้านพี่นวลจึงทำให้ได้บรรยากาศเก่าๆที่เราเคยเห็นจนชินตามาก่อน

พี่นวลไม่เคยจัดงานวันเกิดเลย  พอถึงวันเกิดทีไรก็จะไปซื้อของไปตักบาตรเฉยๆ   แต่ปีนี้แม่ใหญ่เห็นเป็นปีสำคัญ  ครบรอบ 72 ปี และบ้านหลังใหม่ก็เพิ่งสร้างเสร็จ    จึงได้แอบเตรียมงานกันกับลูกสาวสองคนของพี่นวล  ล่วงหน้า โดยไม่บอกให้พี่นวลรู้    แต่เธอก็แอบรู้จนได้ จึงได้สำทับว่าให้จัดงานเล็กๆนะ  เชิญแขกสนิทจริงๆไม่เกินสามสิบคน  เราก็ตามใจพี่นวล และบอกว่า พี่นวลไม่ต้องทำอะไร  เราสามคน น้าหลานจะจัดเตรียมให้ทั้งหมด

ลูกแจน ลูกสาวคนเล็ก  วางแผนเรื่องอาหาร  โดยบอกไปกับเฉพาะที่ญาติสนิท ให้เตรียมอาหารกันมาคนละอย่าง(ไม่ต้องมาก เพราะแขกมีแต่พวกเรากันเอง) เมื่อวันอาทิตย์เราจึงได้อาหารเด็ดๆแต่หลากหลายเช่น ขนมจีน นำยาป่า  ของลูกจีน  โรตี แกงเขียงหวาน ข้าวแช่ชาววัง จากแม่ใหญ่   ผัดไทเส้นจันทน์ และเค๊กวันเกิด จากลูกแจน  น้ำพริกปลาทู ป่นปลา และผักต้ม  พะโล้ไข่เป็ดสูตรโบราณ ของน้าลอ  สปาเก็ตตี้ ของน้าณี และของหวานไทยๆ รสเด็ดจากปากน้ำของน้าปุก  นอกจากนี้ยังมีสิ่งละอันพันละน้อย จากเพื่อนเก่าของพี่นวลสมัยที่เป็นครูอยู่กรุงเทพคริสเตียนสองคน  และจากโรงเรียนมาแตร์อีกสองคน  ที่เราเลือกเชิญคนที่พี่นวลสนิทจริง จริ๊ง  (เพราะถ้าชวนหมดคงจะมาเป็นร้อยแน่ๆ)

แม่ใหญ่ทำหน้าที่ พิธีกรของงาน  เพราะมีรายการแสดงเล็กๆจากหลานแจ๊ส ลูกของลูกแจน  หนึ่งชุด  เป็นการรำเชิญขวัญ  และอ่านคำกลอนน่ารักๆที่แต่งโดย พ่อเสก ลูกเขย  ส่วนหลานกิ๊ฟ แก๊บของลูกจีน ร้องเพลง Loving You too much ,so much ,very much  ให้กับยายนวล (ซึ่งยายนวลเลิกประหยัดชั่วคราว  ให้รางวัลหลานๆเป็นใบแดงๆล้วนๆ)   ได้มอบอัลบั้มรูปของพี่นวลในวัยต่างๆ  ที่พวกเรารวบรวมไว้  และให้หลานจิ๊ก  ลูกแม่ใหญ่   เป็นคนออกแบบเป็นรูปเล่มให้กับป้านวล    แจ๊ก ลูกชายคนโตของแม่ใหญ่ ที่ป้านวลเอามาขัดสีฉวีวรรณจากเด็กบ้านนอกขอนแก่น   มาสอบเข้าเรียนกรุงเทพคริสเตียน  จนจบชั้นมัธยมปีที่หก   ทำหน้าที่ขึ้นจอโปรเจ๊กเตอร์ ใส่ข้างฝาบ้านด้านหนึ่ง แล้วเปิดฉายสไลด์รูปภาพป้านวลตั้งแต่เล็ก เป็นสาวสวย มีครอบครัว จนเป็นคุณยายของหลานๆทั้งสามคน  มีการกล่าวอวยพรเล็กๆน้อยๆจากคุณอามณฑาของพี่นวลซึ่งถือว่าอาวุโสสุด  อายุเกือบเก้าสิบปีแล้ว แต่ยังเดินเหินคล่องแคล่ว  สามารถอวยพรใหพี่นวลได้อย่างเสียงใส ชัดแจ๋ว

งานวันเกิดป้านวลผ่านไปอย่างชื่นมื่น ทั้งป้านวลเองและพวกเราทุกคนที่ได้ร่วมกันจัด ก็มีความสุขกันถ้วนหน้า 

  การได้แสดงความกตัญญู ต่อผู้มีพระคุณ  เช่นนี้ นับเป็นเรื่องดีดี  ที่เราควรจัดทำเป็นอย่างยิ่ง  สำหรับญาติผู้ใหญ่ของเรา  เพราะไม่ได้สิ้นเปลืองอะไรมากมาย แต่สิ่งที่กลับมาเป็นผลทางใจนั้นย่อมมากมายชนิดที่หาค่าใดใดมาเปรียบเทียบมิได้จริงๆ

สุดท้ายนี้  อดเอากลอนที่หลานแจ๊สอ่าน พ่อเสกแต่งมาลงไว้ไม่ได้  เพราะช่างแต่งได้น่ารัก เห็นแคแรกเตอร์ของพี่นวลชัดเจนจริงๆ

 

 มาจะป่าว ประกาศ ให้โลกรู้                   ว่ายายนวล ของหนู หรูไฉน

จะกู่ก้อง ให้ทั้งผอง รู้ทั่วไป                                ว่ายายใคร จะเลิศกว่า หาไม่มี

          ตั้งแต่หนู เกิดลอนดอน สองพันสี่               ยายนวลนี้ เทคแคร์ หนูสุขขี

เลี้ยงดูหนู อุ้มชู เป็นอย่างดี                                 จากโรงบาล เชลซี จวบทุกวัน

 

กลับเมืองไทย ยายดูแล ไม่มีห่าง          ไปทุกทาง อยู่กับยาย ไม่หายหัน

จากหัวซอย ท้ายซอย อยู่ด้วยกัน                      จะใกล้ไกล ไปกัน หนูกับยาย

          ตื่นตอนเช้า ก็ไปส่ง ที่ใจรัก                    บ่ายนอนตื่น ก็มารับ ไปที่หมาย

จะกลับบ้าน 802 แสนสบาย                            เปิดแอร์ให้   หลานนอน  ไม่กลัวเปลือง

 

           บางวันยาย พาหนู ไปเซเว่น                  ได้เดินเล่น เก็บค่าเช่า ชมของขาย

กินพี่ติ๊ก ซื้อเลย์ หม่ำเฟร้นช์ฟลาย                    เดินเสรี กรุยกราย สบายจริง

          ตอนหนูสอบ เข้ามาแตร์ 3ยายช่วย         ฝากฝังหนู ดูแลด้วย ช่วยทุกสิ่ง

หนูสอบได้ มาแตร์ ภูมิใจจริง                          หนูอุ่นใจ ที่พึ่งพิง คุณยายนวล

 

          มาวันนี้ คล้ายวันเกิด ครบ 6 รอบ           หนูนบนอบ มอบมาลัย ยายของหนู

กราบแทบเท้า คุณยายนวล ที่อุ้มชู                   หนูอยากอยู่ กับยาย อีกแสนวัน

          หนูแต่งงาน จะมีเหลน ให้ยายอุ้ม           ลูกของหนู คงสุขชุ่ม หฤหรรษ์

เหมือนหนูอยู่ ยายรัก ไม่แพ้กัน                       ทุกคืนวัน หนูรู้ หนูรักยาย (จู๊บๆ)  

 

เสก นพไธสง ผู้ประพันธ์

ลูกแจน ให้ข้อมูล

หลานแจส ผู้อ่าน

22 พฤษภาคม 2554

 


ยิ่งค้นยิ่งเจอ

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:53 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1500

ระหว่างรอการจัดรูปที่นาให้เรียบร้อย  ก็ศึกษาค้นคว้าเรื่องปลูกข้าวไปเรื่อยๆ รวมทั้งคุยกับคนทำงานที่โรงเรียนที่เขาทำนามานานแล้ว  เราก็ขอเขามาเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งเอาเรื่องใหม่ๆที่เราค้นเจอไปให้เขาอ่านดูด้วย โดยพรินท์ไปให้เขาอ่าน ประกอบวิธีดั้งเดิมของเขา   

ลุงโก้เป็นสารพัดช่างประจำโรงเรียน มาหลายสิบปี   และเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวบ้านสำราญ ขอนแก่น ถึงหน้านา   แกก็จะลาไปดำนา 3-4 วัน  พอถึงหน้าเกี่ยวแกก็จะลาอีกครั้ง  แกเป็นคนฉลาด มีไหวพริบ  และ  มีความคิดริเริ่มดีเหมือนกัน  คิดว่าแกคงจะสนใจ เรื่องใหม่ๆที่แม่ใหญ่ค้นเจอ   

แม่ใหญ่พรินท์เรื่อง

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=626950  การทำนาโยน (แกอ่านแล้วบอกว่า กำลังฮิต  ประชุมลูกบ้านทีไร มีคนเอาเรื่องนี้เข้าพูดคุยกันเสมอ  แต่ยังไม่ได้ลองทำ)

http://lanpanya.com/withwit/archives/32 แนวคิดการทำนาแบบหยอดหล่น ( แกอ่านแล้วเห็นภาพ  เพราะแกเป็นช่างอยู่แล้ว  แกว่าทำวิธีนี้  ต้นข้าวจะเรียงกันสวยงามและผลผลิตน่าจะดีกว่าแบบโยนด้วยซ้ำ)

http://lanpanya.com/withwit/archives/33 การทำนาแบบปลูกสลับฟันปลา เพื่อลดการบังแดดและเพิ่มระยะห่าง (อันนี้แถมให้แก  เพราะบางที มันเข้าตำรา เส้นผมบังภูเขา ทำมาตั้งนานแต่ก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน)

เอาไปให้ลุงโก้อ่านดู  แล้วชวนแกมาเป็นที่ปรึกษา   ทำนาที่แปลงทดลองแม่ใหญ่    ทำมันหลายๆแบบไปเลย  แล้วเราจะบันทึกไว้ว่า แบบไหนได้ผลดีที่สุด  เราคงทดลองกันได้ ปีละหลายครั้ง เพราะนาเราไม่ขาดน้ำมีคลองชลประทานไหลผ่านทั้งหัวนา และปลายนา    ถ้าแบบไหนดี  ลุงจะได้เอาไปบอกลูกบ้านที่ลุงเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอยู่  ส่วนทางเราก็จะทำทุกปีให้นักเรียนได้ศึกษา  (แต่ต้องหลังจากเรารู้จริงๆเสียก่อน)

มีคนแนะนำให้ไปเข้าคอร์สที่ โรงเรียนชาวนา ที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ของมูลนิธิ ข้าวขวัญ ติดต่อที่คุณจันทนา โทร 084 646 5908 (โฆษณาให้หน่อย) เปิดคอร์สให้เข้าไปเรียน ไปกินไปนอนอยู่กับนา 3 วัน ข้าวปลาอาหารพร้อม  คิดค่าเล่าเรียน 3000  บาท ต่อคอร์ส  เรื่องค่าเล่าเรียนแม่ใหญ่ไม่เกี่ยง แต่จะลงไปเรียนเองนี่ชักกังขา  เพราะไม่ค่อยแน่ใจในสังขาร  แต่ก็ตั้งใจว่าว่างๆจะไปเยี่ยมชมดูสักครั้ง

นอกจากนี้ ก็ยังได้เห็นประชาสัมพันธ์  เกี่ยวกับ โครงการ ปลูกข้าวแนวพระราชดำริ หนึ่งไร่ หนึ่งแสน  ที่  โคราช  และ ขอนแก่น ด้วย ล้วนเป็นเรื่องให้ติดตามและศึกษาและต่อยอดได้ทั้งนั้น

เรื่อง “ทำนา” นี่ ยิ่งค้น  ก็ยิ่งเจอนะ เข้า google มีเวปให้เปิดอ่านมากมาย   เพราะมีคนศึกษา และเขียนไว้หลายเวปมาก   และมีคนทดลองทำไปแล้วก็มากเช่นกัน    เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับผ่อนแรง  (สำหรับพวกทำเป็นสิบเป็นร้อยไร่)  ทั้งเครื่องดำนา เครื่องนวดข้าว  เครื่องเกี่ยวข้าว ก็มีคนคิดไว้แยะ  แต่สำหรับแม่ใหญ่นั้น ตั้งใจจะทำทดลองทำนาเล็กๆ แบบธรรมชาติๆ ไม่ได้มุ่งหวังอะไรมาก  แค่อยากให้เด็กนักเรียนได้สำนึกและตระหนักว่า กว่าจะมาเป็นข้าวแต่ละคำนั้น  มันมีกระบวนการมามากมายและชาวนาต้องเหนื่อยยากกันเพียงใด

 

 

 


วันเริ่มต้น

8 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 เวลา 4:57 (เย็น) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก #
อ่าน: 1871

วันนี้เป็นวันที่เริ่มจัดการเรื่องจัดที่  ทำนา ปลูกป่า  ให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นวันแรก  หลังจากที่เงื้อง่า เที่ยวถามคนโน้นคุยกับคนนี้  มาเป็นเวลาพอสมควร  ได้เขียนแบบคร่าวๆของที่ดินสี่ไร่ โดยแบ่งส่วนปลูกบ้านสวน   ปลูกสวน ป่า และส่วนทำนา   มอบให้  คนรับถมที่ ทำคันดิน ทำถนน  ไปจัดการโดยด่วน ก่อนที่ฝนจะลงมาหนักกว่านี้

ที่ดินเดิมเป็นท้องนา  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีบ่อน้ำ อยู่ด้านในของที่ดิน   จึงเตรียมผังให้มีถนนเข้ากลางกว้างหกเมตร  โดยกะจะปลูกกล้าอคาเซียที่ได้มา  เป็นแนวถนนสองข้าง  และปลูกตามคันนา โดยรอบที่ดิน แล้วจะให้เขาขุดลอกบ่อเอาดินขึ้นมาถมทั้งถนน และเตรียมที่ปลูกบ้านเรื่อนไทย และบ้านดิน   ที่จะต้องย้ายออกไปจากโรงเรียน    จะปลูกสวนป่า  และพืชผักสวนครัว  ที่ทานได้ ระหว่างบ้านทั้งสองหลัง       ด้านหน้า  จะเป็นแปลงนาสองแปลง  น่าจะเป็นเนื้อที่ประมาณ สองไร่เศษ 

หลับตาจินตนาการไปอีกสิบปีข้างหน้า   เห็นต้นอคาเซียร่มครึ้มเป็นทางยาวเข้าสู่บ้าน  รอบๆที่นา  มีต้นอคาเซียสูงชลูด  เป็นรั้วไปในตัว  บ้านเรือนไทยโบราณ   จะปลูกอยู่ทางด้านขวาของที่ดิน  โดยปลูกบ้านให้หันหน้าไปทิศตะวันออก   ให้มีระเบียงยื่นเข้าไปในบ่อน้ำ  รอบๆเรือนโบราณ  จะปลูก ต้นไม้ไทยดอกหอมๆ โดยรอบ   โดยเฉพาะต้นลำดวนที่พ่อครูบอกว่าให้ไปล้อมมาปลูกหลังจากเตรียมที่ทางเรียบร้อย     ส่วนบ้านดินสีส้มสด ปลูกทางด้านซ้ายของที่ดิน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกัน     ในหน้านา เมื่อมองเข้าไปจากถนนด้านนอก  จะเห็นสีส้มของบ้านตัดกับผืนนา สีเขียวขจี  ส่วนยามใกล้เก็บเกี่ยว  สีบ้านก็จะกลมกลืนไปกับทุ่งสีทอง อย่างสวยงาม  

   ระหว่างบ้านทั้งสองหลังจะทำแนวต้นมะรุมเตี้ย   แบ่งบริเวณบ้านและแปลงผักต่างๆ  ซึ่งจะปลูกหมุนเวียนไปตามฤดูกาล เช่น แปลงคะน้า  ผักหวาน น้ำเต้า ตะไคร้ พริก ขิง ข่า โหระพา  ใบแมงลัก  ฯลฯ   ที่ไม่ลืมคือต้นกระสังที่เราจะทาบกิ่งมะนาวและมะกรูด ไว้ให้ใช้มือเอื้อมนำไปปรุงอาหารได้โดยง่ายเหมือนที่ไปเห็นมา

สิ่งที่ฝันนั้นยังอีกไกลหลายปี    กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง    แต่ที่จะทำได้ในเวลาอีกไม่นานนี้ก็คือ  การทำนาปลูกข้าวในหน้านาที่จะถึงนี้ 

นาสองแปลงด้านหน้า จะปลูกข้าว  โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  จะไปเชิญพ่อครูอุ๊ (คุณครูที่โรงเรียนที่มีคุณพ่อเป็นหมอดินประจำหมู่บ้าน ) มาสอนการเตรียมดินที่ถูกต้อง     แล้วจะปลูกกล้า  ที่ป้าจุ๋มบอกว่าได้มาจากพิธีแรกนาขวัญ  และจะส่งมาให้ ปลูกไว้เป็นสิริมงคลที่หัวนาสักเล็กน้อย    ส่วนที่เหลือ  ได้ติดต่อขอซื้อพันธ์ข้าวแดงจาก พ่อมาก พ่อกว้าง  ที่พุทไธสง  ที่จะได้เจอกันวันที่ 12-13 มิถุนายน นี้  เมื่อปลูก กล้าขึ้นงามพร้อมดำนาแล้ว   เราก็จะประกาศวัน “ลงแขก”  โดยเชิญชวน  เด็ก ครู ผู้ปกครอง  และผู้สนใจ มาดำนาร่วมกัน สักสองวัน  คือวันเสาร์อาทิตย์  หลังจากนั้น ก็จะถึงเวลาเฝ้ารอ   สังเกตและบันทึกการเจริญเติบโตของข้าว  จนกว่าจะออกรวง สุก และเก็บเกี่ยว  นำไปสีให้ออกมาเป็นเมล็ดต่อไป 

กระบวนการปลูกข้าว   เวลาเขียน ก็แค่สองสามบรรทัด  แต่เวลาทำจริงๆคงไม่ใช่ของง่าย    คราวนี้แหละ คงได้เรียนรู้ของจริงๆสักที ว่า กว่าจะเป็นเมล็ดข้าวที่เรากลืนกินอยู่ทุกวันนั้น  มันมีกระบวนการมาอย่างไรบ้าง

แค่นึกก็มีความสุขแล้ว  ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือ!เลยทีเดียว

 


สภาการศึกษา ก็สนใจ การศึกษาเอกชน(เหมือนกัน)

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 เวลา 12:18 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1956

เป็นเรื่องน่ายินดี  ทีทางสภาการศึกษาหยิบยกเอา ร่าง “ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา”  เข้าระเบียบวาระ  เรื่องที่จะพิจารณา  เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554   ในร่างดังกล่าว  ได้อ้างไว้ในบทนำ  ถึง

  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาเอกชนทุกประเภท ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐฯ
  • พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2545 กำหนดให้เอกชนสามารถจัดการศึกษาอย่างอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตามและประเมิน คุณภาพเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาล และให้ส่งเสรืมการมีส่วนร่วม สนับสนุนด้าเงินอุดหนุน  ยกเว้นภาษีและสิทธิประโยชน์  สนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐาน และพึ่งตนเองได้
  • กฎกระทรวง พ.ศ. 2548  กำหนดให้ สช.อันเป็นหนวยงานของรัฐฯ   มีหน้าที่ส่งเสริมประสานงาน เสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา ตลอดจนกำหนดกฎ ระเบียบ และเกณฑ์มาตรฐาน  สนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพ  คุ้มครองการทำงาน และสิทธิประโยชน์ของครู กำหนดให้ เขตพื้นที่การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนเอกชนในเขตรวมทั้ง ประกาศใช้  พรบ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550

(หมายเหตุ  ถ้อยคำต่างๆของกฎหมายนี้เป็นการสรุปของแม่ใหญ่เอง  เพราะไม่อยากยกเอาภาษากฎหมายยาวๆมาให้อ่านกัน  ท่านผู้ใดสนใจอยากเปิดดูกฎหมายตัวจริง    ให้ไปเปิดหาเอาใน google เองก็แล้วกัน)

 กฎหมายทั้ง 4 ฉบับ  ล้วนแล้วแต่มีความสอดคล้องกัน นั่นคือให้รัฐ ส่งเสริม สนับสนุน  เพื่อให้การศึกษาเอกชนดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด   

 แต่ในความเป็นจริง  ได้ก็มีการออกกฎ ออกระเบียบ ที่มีระบุใน พรบ.การศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550  หลายกฎเกณฑ์บีบบังคับโรงเรียนเอกชน  แทบจะไมให้หายใจ  อาทิเช่น 

  • ให้ทุกโรงเรียนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  
  •  ให้ยกที่ดินเดิมที่เป็นของส่วนตัวให้เป็นของนิติบุคคล 
  •  ให้แบ่งสัดส่วนกำไร เพื่อพัฒนาโรงเรียนตามกำหนด (จำไม่ได้แล้วว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เพราะในความเป็นจริง  เราใช้พัฒนาโรงเรียนมากกว่านั้น) 
  • ให้ครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (จนเกิดการซื้อใบ ป.บัณฑิตครูกันอย่างกว้างขวาง)
  • ให้ผู้บริหารต้องจบปริญญาโททางบริหารการศึกษา (จนมีนักการเมืองที่รู้แกว เปิดมหาวิทยาลัย เพื่อสนอง กฎข้อนี้  มีลูกค้าเป็น ผู้บริหารที่ไม่มีวุฒิ  มาเรียนวันเสาร์อาทิตย์  แบบที่เขาเรียกกันว่า “จ่ายครบ จบแน่”  แต่เรียนครบหรือไม่นั้น  ไม่ทราบ )  
  •  ให้ครูชาวต่างประเทศต้องมีวุฒิทางครู  หรือมาสอบเอาใบประกอบวิชาชีพครู   มิฉะนั้นไม่ต่อวีซ่าให้  กฎเหล็ก  ข้อนี้เป็นกฎที่ไล่ฝรั่งไปทำมาหากินที่ลาว เขมร ญี่ปุ่น เกาหลี  เกือบค่อนประเทศ   เพราะฝรั่งที่จบครูแท้ๆตามเมืองนอก เขาก็ไม่ค่อยพออยู่แล้ว  โอกาสที่จะหลุดมาเมืองไทยย่อมน้อยมาก จนเกือบจะไม่มี   
  • ฯลฯ  และอื่นๆอีกหลายประเด็น  แม่ใหญ่เล่าเท่าที่จำได้ สมัยที่ยังบริหารโรงเรียนอยู่เมื่อหกปี่แล้ว  มาถึงตอนนี้ อาจจะมีกฎ หรือระเบียบ   ที่เขียนขึ้นแบบไม่ดูตามม้าตาเรือ   ออกมาอีก ก็เป็นได้

ถึงแม้จะถูกบีบและมีข้อจำกัดอย่างไรก็ตาม     ผลการประเมินวัดผล  ระดับประเทศ ก็ยังแสดงว่า  ค่าเฉลี่ย  NT. (National Test)  ของเด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับ  ประถม  จนถึงมัธยม ของโรงเรียนเอกชน ยังสูงกว่า โรงเรียนรัฐบาลอยู่ดี

นั่นเป็นเพราะว่า   โรงเรียนเอกชนของเรา   ต้อง ส่งเสริม ประเมิน และประกันคุณภาพ ของตนเองอยู่แล้ว  เพราะผู้ปกครองที่เป็นลูกค้าของเรา เขาจ้องเราอย่างใกล้ชิด   ถ้าโรงเรียน ไม่ดีจริง   เขาก็คงไม่ส่งลูกเขามาเรียนกับเรา 

แต่เมื่อ สภาการศึกษาแห่งชาติ  ได้มีความพยายาม   นำเรื่องโรงเรียนเอกชนมาเข้าวาระ  และถึงกับยกร่าง  “ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษา”  ขึ้นมานี้   จึงนับว่าเป็นเรื่องดี 

ก็ได้แต่หวังว่า สภาการศึกษาแห่งชาติ   คงไม่เป็นเพียง  “เสือกระดาษ” ทีวาดแผนดีดี ออกไป  แล้วปฏิบัติไม่ได้  ในความเป็นจริง  เพราะเท่าที่อ่าน ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ  ก็ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่มากนัก  ได้มีความพยายามทำกันมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปการศึกษา แล้ว  แต่อะไรๆมันก็ยังเป็นอย่างที่เห็นๆกันอยู่นี้แล

(ต้องขอขอบคุณผู้มอบรายงานการประชุม ของสภาการศึกษาแห่งชาติ  ณ  วันที่ 6 พฤษภาคม 2554   มาให้อ่านด้วยนะคะ)

 



Main: 0.091330051422119 sec
Sidebar: 0.078958988189697 sec