พันธุ์ข้าวพระราชทาน

โดย maeyai เมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:46 (เย็น) ในหมวดหมู่ งานอดิเรก #
อ่าน: 1948

นับเป็นบุญเหลือล้นที่ป้าจุ๋มกรุณาส่งพันธุ์ข้าวพระราชทานจากงานพระราชพิธีพืชมงคลในปีนี้มาให้    เมื่อตอนเปิดซอง พอเห็นเมล็ดข้าวเปลือก รู้สึกขนลุกซุ่จริงๆ  ใครจะว่าเว่อก็ว่าเถอะ   คือมันมีความรู้สึกปิติ เพราะเป็นเรื่องเหนือความคาดฝันใดใด    เราแค่จะทดลองทำนาให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้เป็นปีแรก  ก็มีเรื่องดีดี  เกิดขึ้น มาเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง ขอขอบคุณป้าจุ๋ม มา ณ ที่นี้เป็นอย่างมาก

ป้าจุ๋มส่งมาให้ทั้งหมดรวมห้าซองด้วยกัน   ซองสีเหลืองสี่ซองที่เห็นเป็น  พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105  ที่ เขาจัดใส่ซองไว้แจกเกษตรกร  ที่มารับในงานเมื่อวันที่  12-13 พฤษภาคม 2554 ซึ่งได้ทราบมาว่า  คนที่ไปคอยรับต้องต่อคิวกันยาวกว่าจะได้มาคนละซองสองซอง    ด้านหลังมีคำอธิบายบอกไว้เรียบร้อยว่า  ควรจะปลูกในพื้นที่น้ำลึกไม่เกิน 80 เซ็นติเมตร  และให้ ปลูกในฤดูฝน  ประมาณเดือนกรกฎาคม  บอกลักษณะเด่น  จุดอ่อน  ที่ควรระวัง  เอาไว้ด้วย 

แต่มีอีกซองหนึ่งเป็นซองพิเศษจริงๆ  เพราะเป็นพันธุ์ข้าวก้นกะเฌอของหาบเงินหาบทอง ที่พระยาแรกนาขวัญ และบริวาร  หาบมาหว่านด้วยตนเอง

ถ้าสังเกตให้ดี  จะเห็นกลีบดอกมะลิแห้งที่ปนอยู่กับเมล็ดข้าวด้วย

พันธุ์ข้าวห้าถุงนี้ แม่ใหญ่ตั้งใจจะนำไปปลูกที่หัวนา  เพื่อเป็นสิริมงคล  ตั้งใจว่าจะทำการหยอดแบบที่  “คนถางทาง” แนะนำไว้  เราจะได้เห็นการเจริญงอกงามของข้าวแต่ละเมล็ด โดยไม่ให้หลุดรอดสายตา

ส่วนนาที่เหลือจะลองปลูกข้าวเหนียว แปลงหนึ่ง และปลูก ข้าวเจ้าแปลงหนึ่ง  และแบ่งปลูกหลายๆแบบตามที่ได้ศึกษามา   ได้โทรนัดแนะกับ พ่อใหญ่มาก   แห่งพุทไธสงค์เรียบร้อยแล้ว  พ่อใหญ่มากจะนำพันธุ์ข้าวมาให้   ในวันที่ 13-14 มิถุนายน นี้ ตอนที่ไปเข้าอบรมการปลูกกล้าไม้ที่ ศูนย์วิจัย สะแกราช ด้วยกัน

ตอนนี้ก็ได้แต่รอ การจัดที่นา และเตรียมดิน   ให้เป็นไปตามความต้องการ    ถ้าพร้อมที่จะปลูกเมื่อไหร่      ก็จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง  ถ้ามีชาวเฮอยากมาร่วมลงแขก  ในแบบ  ”หยอดหล่น”  แบบ”ดำนา” แบบ “โยนข้าว”   ก็จะขอเชิญ  และจะยินดีต้อนรับอย่างเต็มที่

« « Prev : พี่สาวคนดีที่หนึ่ง

Next : วันเกิด ที่ลืมไปได้!!!! » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 เวลา 8:44 (เย็น)

    ฝากแม่ใหญ่อ่านด้วย ครับ
    มีพันธุ์ “เจ๊กกระโดด” ที่แม่ผมเคยปลูกซะด้วย …วาว ผมสงสัยว่ามันจะแข็งมาก (แต่คงให้ผลผลิตสูง) …แข็งขนาดว่า แม้แต่เจ๊ก ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ หนีตายมมา ยังกระโดดหนี่….คนถางทาง

    พันธุ์ข้าวนาปีภาคกลาง เมื่อ 40 ปีก่อน…..ไพบูลย์ แพงเงิน

    ประเทศไทย เป็นเมือง “อู่ข้าว อู่น้ำ” ในอดีตชาวนาไทยมีพันธุ์ข้าวนาปีมากมายกระจายอยู่ในทุกภาค แต่เมื่อรูปแบบการผลิตเปลี่ยนไป จากการผลิตข้าวนาปี (ปีละ 1 ครั้ง) เป็นข้าวนาปรัง (ปีละหลายครั้ง) ประกอบกับได้เกิดสถานีทดลองข้าวเพื่อเน้นหาพันธุ์ข้าวลูกผสมที่สนองตอบต่อปุ๋ยเป็นสำคัญ ทำให้เกิดการละเลยข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม จนข้าวพันธุ์ที่มีอยู่อย่างอุดมในอดีตสูญหายไปจากท้องถิ่นอย่างน่าเสียดายยิ่ง แม้จะมีเกษตรกรบางกลุ่มได้เล็งเห็นคุณค่าของข้าวพันธุ์พื้นเมือง หันกลับไปแสวงหาข้าวพันธุ์ดั้งเดิมมาปลูกเพื่อการอนุรักษ์ ก็สามารถเสาะหาพันธุ์ข้าวมาได้แต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง แต่ก็ยังนับว่าเป็นการดีที่ความคิดดังกล่าวมีก่อนที่พันธุ์ข้าวดั้งเดิมจะสูญหายไปหมด

    ใน “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ฉบับนี้ เราจะลองมาย้อนรอยดูว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในภาคกลางของไทยเรามีพันธุ์ข้าวอะไรบ้างที่ชาวนานิยมปลูกกัน บางทีหากจะไปสอบถามข้อมูลที่กรมการข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็อาจจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชื่อพันธุ์ข้าวให้ค้นคว้าแล้วก็ได้ ข้อมูลที่จะนำมารื้อฟื้นความหลังนี้ ผู้เขียนได้มาจากหนังสือ “รายงานผลการวิจัย เรื่อง ภาวะหนี้สินและการค้าข้าวของชาวนาภาคกลาง ประเทศไทย พ.ศ. 2510/2511″ ซึ่งสำรวจโดย ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ โดยทุนของสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ ยูซอม (USOM) ซึ่งหน่วยงานหลังนี้เป็นหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่มาตั้งอยู่ในประเทศไทยยุคโน้น

    พันธุ์ข้าวที่สำรวจในครั้งนั้น ได้สำรวจใน 15 จังหวัด ด้วยกัน ได้แก่

    1. สุพรรณบุรี (บางปลาม้า เมือง ศรีประจันต์ อู่ทอง สองพี่สอง สามชุก และเดิมบางนางบวช)

    2. นครสวรรค์ (ตาคลี ท่าตะโก หนองบัว ชุมแสง ลาดยาว บรรพตพิสัย ไพศาลี และพยุหะคีรี)

    3. พระนครศรีอยุธยา (เสนา ผักไห่ วังน้อย นครหลวง ท่าเรือ อุทัย และมหาราช)

    4. ฉะเชิงเทรา (บางปะกง เมือง พนมสารคาม บ้านโพธิ์ บางคล้า และบางน้ำเปรี้ยว)

    5. พิจิตร (ตะพานหิน โพธิ์ทะเล สามง่าม บางมูลนาค และโพธิ์ประทับช้าง)

    6. ลพบุรี (บ้านหมี่ ท่าวุ้ง เมือง และโคกสำโรง)

    7. พระนคร (หนองจอก บางเขน พระโขนง และลาดกระบัง)

    8. ชัยนาท (สรรค์บุรี สรรพยา และวัดสิงห์)

    9. สระบุรี (บ้านหมอ หนองแซง เมือง และแก่งคอย)

    10. ปทุมธานี (ลาดหลุมแก้ว เมือง สามโคก และธัญบุรี)

    11. เพชรบูรณ์ (เมือง หล่มสัก และหล่มเก่า)

    12. สมุทรปราการ (บางพลี บางบ่อ และเมือง)

    13. ปราจีนบุรี (เมือง และศรีมหาโพธิ์)

    14. อ่างทอง (วิเศษชัยชาญ โพธิ์ทอง สามโก้ และป่าโมก) และ

    15. ราชบุรี (ดำเนินสะดวก ปากท่อ และบ้านโป่ง)

    ในรายงานฉบับดังกล่าว มีการสำรวจหลายเรื่องด้วยกัน เช่น จำนวนน้ำฝน อุณหภูมิ โครงการชลประทาน เนื้อที่นาต่อฟาร์ม ผลผลิตข้าวต่อไร่ (นาดำและนาหว่าน) หนี้สิน ค่าใช้จ่ายในการขายข้าว และราคาข้าว เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของนาดำได้ 27.99 ถัง ของนาหว่านได้ 19.54 ถัง เป็นต้น แต่ในที่นี้เราสนใจจะดูกันเรื่องพันธุ์ข้าวที่สำรวจได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ เราจะละไว้ก่อน

    พันธุ์ข้าวที่ชาวนานิยมใช้เพาะปลูก 23 พันธุ์แรก ได้แก่ พันธุ์ขาวตาแห้ง ขาวเศรษฐี พวง (มีหลายชนิด เช่น พวงจอก พวงหางจอก พวงเงิน พวงทอง ฯลฯ) สามรวง ขาวกอเดียว ก้อนแก้ว ขาวห้าร้อย ขาวมะลิ หลวงประทาน ขาวพวง ขาวสะอาด นางเขียว นางมล ปิ่นแก้ว ขาวเมล็ดเล็ก เล็บมือนาง ก้นจุด เทวดา ห้ารวง เจ๊กเชย พวงนาค ทองมาเอง และมะลิทอง

    พันธุ์ข้าวที่ชาวนานิยมใช้มากที่สุด (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์) ได้แก่ ขาวตาแห้ง ก้อนแก้ว นางมล สามรวง และขาวกอเดียว แต่หากคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ขาวตาแห้ง ขาวเศรษฐี ขาวพวง สามรวง และขาวกอเดียว

    ข้าวพันธุ์อื่น (นอกเหนือจาก 23 พันธุ์ ที่เอ่ยชื่อมาแล้ว) ได้แก่ ข้าวพันธุ์ก้นดำ ก้นแดง ก้นใหญ่ กอเดียว กอเดียวเบา กอเดียวหนัก เกษตร ค. เก้ารวง กาบแดง กาบเขียว กะโหลก กลางปี กระจุดหนัก ก้อนทอง กอกลาง แก่นจันทร์ เกวียนหัก กาบหมาก เกสร กำหมาก เขียวหอม เขียวเบา เขียวหนัก เขียวทุ่ง ขี้ตมขาว ขำเล็กเตี้ย เขียวเม็ดเล็ก เขียว เขาดี แขกเบา เขี้ยวงู ขอนแก่น ไข่แมงดา ขนาย เขียวนกกระลิง ไข่จิ้งหรีด ขาวกระบี่ ขาวก้นจุด ขาวกอ ขาวโกต ขาวแก้ว ขาวกีต้า ขาวกลางปีหลวง ขาวเกษตร ขาวกำจร ขาวกระโทก ขาวกด ขาวกุหลาบ ขาวขจร ขาวขี้ตบ ขาวขัดเบา ขาวโคก ขาวคัด ขาวคุด ขาวคลองสิบ ขาวงอ ขาวงาช้าง ขาวเจ็กแก้ว ขาวจำปา ขาวชีต้า ขาวดี ขาวดง ขาวตาหลั่ง ขาวตาหุย ขาวตาผุด ขาวตาเล็ก ขาวตาสี ขาวตาปาน ขาวตาอู๋ ขาวตาหง ขาวตาโม้ ขาวตาพุฒ ขาวตาเพชร ขาวตาปิ่น ขาวตายิ้ม ขาวตราสังข์ ขาวตะวันขึ้น ขาวทับทิม ขาวทดลอง ขาวทองรากชาย ขาวนางมล ขาวน้ำผึ้ง ขาวนาวา ขาวนาแขก ขาวนางเข็ม ขาวเหนียว ขาวน้ำมนต์ ขาวนางชม ขาวนวล ขาวบุญมา ขาวบางกะปิ ขาวบัวทอง ขาวนางกระ ขาวบางเขน ขาวใบศรี ขาวบางเตย ขาวประกวด ขาวป้อม ขาวประเสริฐ ขาวปากกระบอก ขาวปลาไหล ขาวปลุกเสก ขาวปอ ขาวปิ่นแก้ว ขาวปากยัง ขาวป่า ขาวเปลือกบาง ขาวปุ้น ขาวปากหม้อ ขาวป่วน ขาวฝุ่น ขาวพัฒนา ขาวพลายงาม ขาวพวงทอง ขาวพวงเบา ขาวพราหมณ์ ขาวพยอม ขาวพรต ขาวโพธิ์ ขาวเม็ดยาว ขาวแม้ว ขาวเม็ดเล็กเตี้ย ขาวเม็ดแตง ขาวมงคล ขาวมะลิหนัก ขาวมะลิเบา ขาวมะลิพวง ขาวเมืองกรุง ขาวม้าแขก ขาวยายง้อย ขาวยายแก้ว ขาวยายมูล ขาวรวงยาว ขาวไร่ ขาวรวง ขาวรวงเดียว ขาวรังสิต ขาวลาว ขาวราชวัตร ขาวโหร่ง ขาวเหลือง ขาวหลง ขาวลูกค้า ขาวหลวง ขาวละออ ขาวละยอง ขาวลอย ขาวลอยมา ขาวลอดช่อง (ไม่ใช่ลอดช่อง) ขาวเหลืองกะโหลก ขาววัด ขาวสุพรรณ ขาวสูง ขาวสมุทร ขาวสวน ขาวสายบัว ขาวสร้อยพร้าว ขาวแสวง ขาวสมยัง ขาวส่งเค็ม ขาวสะโด ขาวเสมอ ขาวใหญ่ ขาวหอมลำไย ขาวหล่ม ขาวหาง ขาวหอมทอง ขาวหินกอง ขาวหอมือเคียว (หอ-มือ-เคียว ชื่อชอบกลดี) ขาวหอม ขาวอากาศ ขาว ขาวอุทัย ขาวอัปสร และขาวอำไพ

    งาช้าง เจ็ดรวง จำปาหนัก จำปา จำปาจีน จำปาทอง จำปาขาว จะนึง จำปาศักดิ์ จำปากลาง จำปาดะ จำปาเป๋ จุกมอญ เจ็กเฮง เจ็กสี เจ็กสะกิด เจ็กกวาดน้อย เจ็กกระโดด เจ้าดอก เจ้าสงวน เจ้าพาน จำวัด จ้าวน้อย จ้าวเสวย จะแดงน้อย ช่อพยอม ช่อมะม่วง ช่อมะกอก ช้างลาก ช่อฟ้า ชมเชย ชุใบหนัก ซังเหนียว ซังเหลือง ซ่อนใบ ดออีปุ่น ดอกมะลิ ดาบหัก ดอกขะนาก ดอกดู๋ ดอเซ ดอปี ดำเห็น ดำป่าสัก ตาโสม ตาแก้ว ตาอ่อง ตะเภาล่ม ตะพาบ ตาเฉื่อย ตะเภาแก้ว ตาเจียน แตงกวา ใต้ใน เถากู้ ทองรากชาย ทองรากทราย ทองจำวัด ทองตามี ทองงาม หินทอง ทูลฉลอง น้ำผึ้ง นกกะริงเบา เนินเขียว นครภัณฑ์ น้ำค้าง นาสวน นางกลอง นางหงษ์ นางอาย นางสมบุญ นางงาม บุญมา เบาสุพรรณ บางเขน บางปะกง บางโพธิทอง บางกระเบียน บางตะเคียน บางมูลนาค บางตะกุย บางญวน และบางสะแก

    บ้านโนน บ้านโพด บ้านคลอง บุญตา บุญเกิด บุญมี บุนนาค เบาขาว เบื่อน้ำ ใบลด ประดู่ยืน แปดรวง ปิ่นทอง ป้อม ป่าดอง ผลมะเฟือง พวงหางจอก พวงหนัก พวงจอก พูนสรวง พันธุ์เกษตร แพลอย พวงมาลัย พวงฉลอง พระยาชม พวงเงิน พวงทอง พวงหางหมู พระยาดอน พระปฐม แพร่ พ่อใหญ่ พวงแก้ว พันเม็ด พระยาหนอง โพธิทอง พวงเงินหนัก พวงเงินเบา พิมพ์สวรรค์ พวงพยอม เฟืองเหลือง ญี่ปุ่น เมืองเลย แม่ล้างญวน (น่าจะเป็น “แม่ร้างญวน”) เม็ดเล็กเตี้ย เม็ดยาว มะลิวัลย์ มะลิกลาง มะลิซ้อน มะลิเลื้อย แม่หม้าย แม่หม้ายอกแตก เม็ดข้าว มะก้วน ยักคิ้วรวง รวงยาว รวงเดียว แรกนาขวัญ รวงใหญ่ รักซ้อน ลูกนก หล่มหนัก เล็กร้าง แหลมไผ่ แลกนาขวัญ (อาจจะเป็นพันธุ์เดียวกับ “แรกนาขวัญ” ก็ได้) ลอยสำเภา ลูกผึ้ง หลวงแจก ล้อยุ้ง แหลมในสี ลอย ล้นครก หลวงหวาย ลากชาย ลืมแกง เหลืองประทิว เหลืองใหญ่ เหลืองกลาง เหลืองทอง เหลืองอ่อน เหลืองหอม เหลืองขมิ้น เหลืองเตี้ย เหลือง เหลืองพวง เหลืองระแหง เหลืองก้นจุด เหลืองกระบ้าง เหลืองเกษตร เหลืองกอเดียว เหลืองโกฐ เหลืองข้าวรวง เหลืองควายล่า เหลืองตาบึ้ง เหลืองตาครัว เหลืองตาพลวง เหลืองทองเผา เหลืองทองย้อย เหลืองที่หนึ่ง เหลืองทราย เหลืองนาขวัญ เหลืองนวลแตง เหลืองน้ำเค็ม เหลืองบางแก้ว เหลืองเบา เหลืองบิด เหลืองปากนก เหลืองพันธุ์ทอง เหลืองพม่า เหลืองพรหม เหลืองไฟลาน เหลืองมะฟง เหลืองระแหงเบา เหลืองไร่ เหลืองหลง เหลืองหลวง เหลืองลาย เหลืองลพบุรี และเหลืองอารี

    แววนกยูง สามกะพ้อ สะแกดึง สวนใหญ่ สองรวงเบา สร้อยข้าว สองทะนาน สามรวงตัด สี่รวง สร้อยดง สายบัว สีชมพู สุพรรณรวงทอง สองรวงหนัก สาวกอ เสือลาก สีนวล สองรวง สะพานหนอง ศรีอุทัย ฟ้ามือ สาล สวะลอย สร้อยขิง หอมทอง หอม หอมมะลิ หอมน้ำผึ้ง หอมละออ หางเหน นางนกยูง หางหมา หกรวง ห้ารวง หินซ้อน หอมใหญ่ หนักเหนือ ห้าเซียน หอมสวน หางจอก หมกกล้วย มังคุด มะดิน มกตาล มาลออง มิ่งขวัญ มะน้ำ ข้าวก้นจุด ข้าวกู้หนี้ ข้าวเกษตร ข้าวกลอง ข้าวกลางปีหลวง ข้าวแก้ว ข้าวขาว ข้าวขาวสะอาด ข้าวเขียว ข้าวขาวหลวง ข้าวข้อมือหัก ข้าวคัด ข้าวโค้ง ข้าวดู้ดี้ ข้าวตกหลิน ข้าวทิพย์ ข้าวที่หนึ่ง ข้าวนาเมือง ข้าวนาสวน ข้าวน้ำค้าง ข้าวนครชัยศรี ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวนวลแตง ข้าวเหนียวสาวน้อย ข้าวเหนียวซาวนึ่ง ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวทองคัด ข้าวเหนียวกาบอ้อย ข้าวเหนียวหล่ม ข้าวเหนียวกระดูกช้าง ข้าวเหนียวก้านพลู ข้าวเหนียวญี่ปุ่น ข้าวเหนียวจังหวัดเลย ข้าวเหนียวหล่มสัก ข้าวเหนียวมโนราห์ ข้าวเหนียวพันธุ์นาสวน ข้าวเหนียวกระเบียงร้อน ข้าวเหนียวดอกจาน ข้าวเหนียวกลางปี ข้าวเหนียวหัวหมาก ข้าวเหนียวปากลัด ข้าวเหนียวแดงวัว

    ข้าวใบสี ข้าวเบา ข้าวเบาที่หนึ่ง ข้าวใบรอบ ข้าวบ้านนา ข้าวป้อม ข้าวพวงเบา ข้าวพวงหนัก ข้าวฟางลอย ข้าวแม้ว ข้าวเม็ดเล็ก ข้าวเมืองกาญจน์ ข้าวไร่ ข้าวรอดหนี้ ข้าวล่า ข้าวล้นยุ้ง ข้าวลอย ข้าวลอยเหลือง ข้าวลอยบุญมา ข้าวสามเดือน ข้าวสารี ข้าวสาวงาม ข้าวสี่เดือน ข้าวห้าร้อย ข้าวหางหงษ์ ข้าวหอม ข้าวหลวง ข้าวหนักเหนือ ข้าวเหลืองเตี้ย ข้าวเหลืองน้อย ข้าวเหลืองเบา และข้าวเหลือง

    พันธุ์ข้าวที่ยกมานี้มีการเรียกชื่อตามปากชาวบ้าน ข้าวที่มีชื่อคล้ายกันแต่อยู่คนละจังหวัด อาจจะเป็นข้าวพันธุ์เดียวกันก็ได้ ผู้เขียนเป็นลูกชาวนาแถบเหนือของอำเภออู่ทอง คุ้นเคยกับชื่อข้าวพันธุ์ขาวตาแห้ง สามรวง ขาวกอเดียว ก้อนแก้ว ขาวมะลิ หลวงประทาน นางมล ปิ่นแก้ว เจ๊กเชย และพันธุ์เหลืองอ่อน ทุกวันนี้ (2550) ข้าวขาวตาแห้งแถบบ้านจร้า (ใหม่-เก่า) และหนองโคก อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี (ข้าวพื้นแข็ง)

    ราคาข้าวเปลือกรับซื้อ ณ หน้าโรงสี ในปี 2511/2512 สูงสุดในเดือนสิงหาคม 2511 เกวียนละ 1,200 บาท และราคาต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2512 เกวียนละ 1,057 บาท ถัวเฉลี่ยทั้งปี เกวียนละ 1,095 บาท

    เรื่องราวของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเมื่อ 40 ปีก่อน ก็ขอจบลงแต่เพียงแค่นี้ ใครที่กำลังคิดจะอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมอาจจะใช้เป็น “เข็มทิศ” เพื่อเสาะแสวงหาพันธุ์ข้าวที่ยังหลงเหลืออยู่ได้ดีกว่าการค้นหาแบบคนตาบอด

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 เวลา 8:48 (เย็น)

    อ่านให้ดี จะเห็นว่าในอดีต USOM ให้เงินวิจัยข้าวไทย

    วันนี้ มันมาขายข้าวยี่ห้อ Jazzman แข่งกับ Jasmin ไทย

    เชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้วว่าทำไมมันฝรั่งตั้งชื่อล้อเลียนแบบนี้

    พวกนี้มันหว่านพืช เพื่อหวังผลทั้งน้นและ ไอ้เราก็รุมจิกเศษอาหารที่เขาหว่านให้อยู่นั่นแหละ

  • #3 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 มิถุนายน 2011 เวลา 7:09 (เช้า)
    ขอบคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะ ที่ให้ความรู้เพิ่มเติม คงจะต้องค้นคว้าพูดคุยกับชาวนาแถวขอนแก่นว่าเขาใช้พันธุ์ข้าวอะไรปลูก ของพ่อใหญ่มาก ที่ได้พบตอนไปชมพิพิธภัณฑ์ของอาจารย์ ได้ซื้อข้าวสารมาหุงทานด้วย ข้าวนิ่มและอร่อยดี เป็นสีแดง ชื่อพันธุ์อะไรต้องไปถามพ่อใหญ๋มากอีกครั้งค่ะ
  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 มิถุนายน 2011 เวลา 8:44 (เย็น)

    เสียดายตอนมาเยี่ยมผมที่โคราช ไม่ได้ลองทานข้าว “หอมดง” ซึ่งเป็นพันธ์พื้นเมืองปักธงชัยครับ ผมซื้อเตรียมไว้ กะว่าจะหุง แต่พอดี เห็นมีข้าวหอมอื่นๆมากันแล้ว ก็เลยงดไว้ก่อน

    ผมไม่ชอบหอมมะลิ เพราะว่ามันนุ่มเกินไป รสนิยมผมค่อนข้างต่ำ ชาวข้าวแข็งๆ แต่กระด้างแบบ ขาวตาแห้งก็ไม่ไหวครับ ผมมาลงตัวเอาที่ หอมดง นี่แหละครับ มันเหมือนลูกครึ่งระหว่างหอมมะลิ กะขาวตาแห้ง เลยครับ

  • #5 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 มิถุนายน 2011 เวลา 10:55 (เย็น)
    ต้องศึกษาอีกแยะเลย
  • #6 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 เวลา 12:05 (เช้า)

    ขาวตาแห้ง เป็นข้างแข็งกระด้าง ราคาถูก (เพราะผลผลิตต่อไร่สูง) หุงขึ้นหม้อ จึงเป็นข้าวยอดนิยมของร้านข้าวแกงริมถนนทั้งหลาย แต่ผมว่า พอเอามาทำข้าวผัดแล้ว กลับอร่อยดีนีครับ พี่น้องของขาวตาแห้งมีมากหลาย เช่น ขาวนาทราย เสาไห้ เหลืองปะทิว นี่คือข้อสรุปของผมจากการสืบถามเอาจากบรรดาแม่ค้าข้าวแกงทั้งหลาย


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.77938103675842 sec
Sidebar: 0.26655006408691 sec