วันเริ่มต้น
อ่าน: 1872วันนี้เป็นวันที่เริ่มจัดการเรื่องจัดที่ ทำนา ปลูกป่า ให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นวันแรก หลังจากที่เงื้อง่า เที่ยวถามคนโน้นคุยกับคนนี้ มาเป็นเวลาพอสมควร ได้เขียนแบบคร่าวๆของที่ดินสี่ไร่ โดยแบ่งส่วนปลูกบ้านสวน ปลูกสวน ป่า และส่วนทำนา มอบให้ คนรับถมที่ ทำคันดิน ทำถนน ไปจัดการโดยด่วน ก่อนที่ฝนจะลงมาหนักกว่านี้
ที่ดินเดิมเป็นท้องนา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบ่อน้ำ อยู่ด้านในของที่ดิน จึงเตรียมผังให้มีถนนเข้ากลางกว้างหกเมตร โดยกะจะปลูกกล้าอคาเซียที่ได้มา เป็นแนวถนนสองข้าง และปลูกตามคันนา โดยรอบที่ดิน แล้วจะให้เขาขุดลอกบ่อเอาดินขึ้นมาถมทั้งถนน และเตรียมที่ปลูกบ้านเรื่อนไทย และบ้านดิน ที่จะต้องย้ายออกไปจากโรงเรียน จะปลูกสวนป่า และพืชผักสวนครัว ที่ทานได้ ระหว่างบ้านทั้งสองหลัง ด้านหน้า จะเป็นแปลงนาสองแปลง น่าจะเป็นเนื้อที่ประมาณ สองไร่เศษ
หลับตาจินตนาการไปอีกสิบปีข้างหน้า เห็นต้นอคาเซียร่มครึ้มเป็นทางยาวเข้าสู่บ้าน รอบๆที่นา มีต้นอคาเซียสูงชลูด เป็นรั้วไปในตัว บ้านเรือนไทยโบราณ จะปลูกอยู่ทางด้านขวาของที่ดิน โดยปลูกบ้านให้หันหน้าไปทิศตะวันออก ให้มีระเบียงยื่นเข้าไปในบ่อน้ำ รอบๆเรือนโบราณ จะปลูก ต้นไม้ไทยดอกหอมๆ โดยรอบ โดยเฉพาะต้นลำดวนที่พ่อครูบอกว่าให้ไปล้อมมาปลูกหลังจากเตรียมที่ทางเรียบร้อย ส่วนบ้านดินสีส้มสด ปลูกทางด้านซ้ายของที่ดิน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเช่นเดียวกัน ในหน้านา เมื่อมองเข้าไปจากถนนด้านนอก จะเห็นสีส้มของบ้านตัดกับผืนนา สีเขียวขจี ส่วนยามใกล้เก็บเกี่ยว สีบ้านก็จะกลมกลืนไปกับทุ่งสีทอง อย่างสวยงาม
ระหว่างบ้านทั้งสองหลังจะทำแนวต้นมะรุมเตี้ย แบ่งบริเวณบ้านและแปลงผักต่างๆ ซึ่งจะปลูกหมุนเวียนไปตามฤดูกาล เช่น แปลงคะน้า ผักหวาน น้ำเต้า ตะไคร้ พริก ขิง ข่า โหระพา ใบแมงลัก ฯลฯ ที่ไม่ลืมคือต้นกระสังที่เราจะทาบกิ่งมะนาวและมะกรูด ไว้ให้ใช้มือเอื้อมนำไปปรุงอาหารได้โดยง่ายเหมือนที่ไปเห็นมา
สิ่งที่ฝันนั้นยังอีกไกลหลายปี กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง แต่ที่จะทำได้ในเวลาอีกไม่นานนี้ก็คือ การทำนาปลูกข้าวในหน้านาที่จะถึงนี้
นาสองแปลงด้านหน้า จะปลูกข้าว โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี จะไปเชิญพ่อครูอุ๊ (คุณครูที่โรงเรียนที่มีคุณพ่อเป็นหมอดินประจำหมู่บ้าน ) มาสอนการเตรียมดินที่ถูกต้อง แล้วจะปลูกกล้า ที่ป้าจุ๋มบอกว่าได้มาจากพิธีแรกนาขวัญ และจะส่งมาให้ ปลูกไว้เป็นสิริมงคลที่หัวนาสักเล็กน้อย ส่วนที่เหลือ ได้ติดต่อขอซื้อพันธ์ข้าวแดงจาก พ่อมาก พ่อกว้าง ที่พุทไธสง ที่จะได้เจอกันวันที่ 12-13 มิถุนายน นี้ เมื่อปลูก กล้าขึ้นงามพร้อมดำนาแล้ว เราก็จะประกาศวัน “ลงแขก” โดยเชิญชวน เด็ก ครู ผู้ปกครอง และผู้สนใจ มาดำนาร่วมกัน สักสองวัน คือวันเสาร์อาทิตย์ หลังจากนั้น ก็จะถึงเวลาเฝ้ารอ สังเกตและบันทึกการเจริญเติบโตของข้าว จนกว่าจะออกรวง สุก และเก็บเกี่ยว นำไปสีให้ออกมาเป็นเมล็ดต่อไป
กระบวนการปลูกข้าว เวลาเขียน ก็แค่สองสามบรรทัด แต่เวลาทำจริงๆคงไม่ใช่ของง่าย คราวนี้แหละ คงได้เรียนรู้ของจริงๆสักที ว่า กว่าจะเป็นเมล็ดข้าวที่เรากลืนกินอยู่ทุกวันนั้น มันมีกระบวนการมาอย่างไรบ้าง
แค่นึกก็มีความสุขแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือ!เลยทีเดียว
« « Prev : สภาการศึกษา ก็สนใจ การศึกษาเอกชน(เหมือนกัน)
8 ความคิดเห็น
ผมได้โพสต์วิธีปลูกข้าวนาหยอดหล่นไว้ ไม่สงวนสิทธิ์นะครับแม่ใหญ่ ไวกว่า และดีกว่านาดำมากนัก เพราะต้นข้าวไม่ช้ำ
อีกอย่างคือ การเลี้ยงกบ และ เขียดอีโม่ เขียดขาคำ ให้กินแมลงใหญ่น้อย รวมทั้งเพลี้ย
ปลาไหลกำจัดหอย และ ปู
ปลา เต่าบางชนิด กำจัดหญ้า
ปลูกพืชริมคันนา น่าลอง ตะกู นะครับ เพราะตะกูชอบน้ำ ถ้ามีน้ำจะโตเร็วมาก แต่ถ้าแห้งแล้งจะโตธรรมดา แต่การปลูกริมคันนา ต้องคำนึงด้วยครับว่า ควรเลือกไม้ใบโปร่ง จะได้ไม่บังแดดมาก ซึ่งทำให้ข้าวโตช้า
#2 เคยได้ยินว่าตะกู เป็นไม้ที่เขาปั่นราคา หลอกให้คนซื้อไปปลูกไม่ใช่เหรอคะ เดี๋ยวนี้คนไม่นิยมกันแล้ว จริงเท็จอย่างไร ยังไม่ได้ศึกษาค่ะ พอดีไปได้กล้าไม้อคาเซียมา 500 ต้นค่ะ เลยหาที่ปลูก พ่อครูบอกว่าโตเร็วและชอบน้ำเหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าใบทึบหรือโปร่ง ไปดูต้นจริงที่ศูนย์วิจัยสะแกราชที่ปลูกมาสิบปี ต้นสูงโปร่งเหมือนกัน
อย่างที่ว่า ตะกูนั้นเอาเข้าจริงๆ ไม่ได้โตไวนัก เพราะไม่อยู่ใกล้น้ำ ถ้าใกล้นน้ำจะโตไวกว่าไม้โตไวอื่นๆมากครับ ต้นก็เปลาตรง
การปลูกข้าวผมว่าน่าวิจัยที่สุดคือสัตว์ที่กินหญ้าทุกชนิดยกเว้นข้าว ผมว่ามีอยู่นะ ถ้าวิจัยกันจริงๆ ผมหมายถึงสัตว์เล็กๆน่ะครับ เช่น เต่า หรือ ปลาบางชนิด ปลาตะเพียนนั้นทราบว่ามันชอบกระโดดขึ้นไปฮุบรวงข้าง ดังนั้นไม่ควรเลี้ยงในนา กุ้ง และปลาซิวน่าจะดีที่สุด พวกนีกินอึ๊กบ แล้วอึ๊ออกไปให้ข้าวกิน แล้วเรากินข้าวอีกต่อ …แหวะ
ในแปลงอาจจะทดลองหลายแบบจะเหมาะกับการศึกษาเรียนรู้สำหรับเด็กมากครับเช่น แปลงไม่ไถหว่านเลย แปลงไถนาหว่าน แปลงไถนาหยอด แปลงไถนาดำ มาดูกันเลยอันไหนเป็นแบบไหน
คันนาถ้าอยากปลูกก็ลองแถวนะแบบไปเลย อิอิ แถวตะกู แถวอาคาเซีย แถวสะเดา แถวยางนา แถวมะค่าโมง เอาให้รู้ไปเลยแม่อันไหนใหญ่จริง ใหญ่ปลอม
ไม้ที่ปลูกริมคันนา ควรเป็นไม้ที่นกชอบมาเกาะ ทำรังด้วย จะช่วยขจัดแมลงในตัว ระวังมันจะกินรวงข้าวด้วยนะครับ ต้องศึกษาแบบเชื่อมโยง (บูรณาการ) ถ้ามดแดงชอบด้วยก็จะยิ่งดี จะได้มีไข่มดกิน ..ยกเว้นมดอาจเป็นพาหะนำเพลี้ยมา …ต้องคิดให้รอบ เป็นแปลงสาธิตฝึกคิดดีมากๆ อิจฉาแล้วนะครับ
#7 คงได้สาธิตหลายครั้งค่ะ เพราะเจ้าของนาเดิมเขาบอกว่าที่นาตรงนี้ปลูกข้าวได้ปีละสามครั้ง เพราะน้ำดี ไม่เคยขาดค่ะ