เก็บของเก่า เอามาใช้
อ่าน: 1555ในโรงเรียนที่มีครูผู้หญิงมากๆ มักจะหนีเรื่องนินทา กาเล กันไม่ค่อยพ้น เนื่องจากเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ที่ชอบมองแต่คนอื่น ไม่มองดูตัวเอง แม่ใหญ่ต้องไปหยิบเอาเนื้อหาเรื่อง “สัตว์สี่ทิศ” เข้ามาทำเป็นกิจกรรมให้ ครูรู้จักเรา รู้จักเขา หัดมองตัวเอง และเข้าใจคนอื่น อยู่เป็นประจำทุกปี กิจกรรมที่นำมาใช้ก็หนีไม่พ้นเรื่อง สัตว์สี่ทิศ เพราะใช้เมื่อใดก็ได้ประโยชน์เมื่อนั้น เป็นการกระตุกต่อมคิดครูได้ ไม่น้อยเลย
แม่ใหญ่เคยเข้าสัมนา กับอาจารย์ วิศิษฐ์ วังวิญญู อาจารย์ ประชา หุตานุวัตร และไปเข้าจิบน้ำชา กับ ดร. วรภัทร ภู่เจริญ มาก่อน ทั้งสามกระบวนกร ชั้นเซียนนี้ ล้วนแล้ว แต่นำเรื่องสัตว์สีทิศ เข้ามาใช้ในการละลายพฤติกรรมผู้เข้าอบรมสัมนา ด้วยวิธีการต่างๆกัน ในเวป gotoknow.org หรือแม้แต่ในเวปลานปัญญาเอง ก็มีคนเขียนเรื่อง “สัตว์สี่ทิศกันมาแล้วมากมาย
แต่วันนี้ แม่ใหญ่ ขอเล่า “สัตว์สี่ทิศ” เวอร์ชั่นที่แม่ใหญ่ เพิ่งนำมาใช้กับ ผู้ช่วยครู ของโรงเรียน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปีนี้มี ผู้ช่วยครูเข้ามาใหม่หลายคน ยังไม่ค่อยได้ทำความรู้จักกัน เพราะเพิ่งเปิดเทอมได้ไม่นาน และโอกาสที่จะทำความรู้จักกันก็น้อย เพราะผู้ช่วยครู ไม่มีโอกาสเข้าประชุมแผนก ทุกสัปดาห์เหมือน ครูประจำชั้น ดังนั้น แม่ใหญ่ จึงได้ขอเชิญผู้ช่วยครูทั้งหมด 12 คน มาพูดคุยกัน เมื่อวานนี้ ในช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นเวลาเด็กหลับพอดี
การวางแผนกิจกรรมต้องให้กระชับเพราะมีเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น แม่ใหญ่ จึงเริ่ม
- กิจกรรมที่ 1 “รู้เรา” ด้วยการนำเอา ลักษณะนิสัยของสัตว์ทั้งสี่ทิศ มาแจกให้ทุกคนอ่านเงียบๆ 5 นาที และให้นึกว่า ตัวเองมีลักษณะนิสัย เหมือนสัตว์ตัวใดในสี่ชนืดนี้ โดยให้ความจำกัดความกว้างๆ ไว้ว่า
1. กระทิง นิสัย เน้นเป้าหมายเป็นหลัก ลงมือทำไปก่อน เดี๋ยวดีเอง ใจร้อน แต่ขยัน
เกลียดคำว่าทำไม่ได้ ต้องทำได้
2. หนู นิสัย ห่วงใยสัมพันธภาพ เกรงใจเพื่อน ข้อเสียคือ ปากกับใจไม่ตรงกัน
ถ้าหนูกลัวแล้วจะดื้อสุดขีด เก่งเรื่องเจรจา แคร์เรื่องคนที่ตัวเองรัก
3. หมี นิสัย ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมเปลี่ยน มั่นคง ไม่ชอบเสี่ยง
ทำ ทุกอย่างเป็นขั้นตอน มองการณ์ไกล แต่แคบ รู้ลึกแต่ไม่กว้าง
4. อินทรีย์ นิสัย นก ชอบการเปลี่ยนแปลง มองกว้าง ภาพรวม vision ไกลแต่เบลอ ๆ
ข้อเสีย คือ รู้ทุกเรื่องแต่ไม่ลงมือทำ รู้กว้างแต่ไม่ลึก
เมื่อให้ครูรู้จักตนเองพอสมควรแก่เวลาแล้ว แล้วก็มาต่อด้วย
- กิจกรรมที่ 2 “รู้เขา” ให้ครูมองหน้ากัน ยิ้มให้กัน เลือกจับคู่กับคนที่คุ้นเคยน้อยที่สุด ให้เวลา สิบนาที ในการเล่าเรื่องตัวเองให้คู่ฟังว่า ตนเป็นใครมาจากไหน เรียนจบอะไรมา ทำงานห้องไหน กับครูประจำชั้นชื่ออะไร ทำไมมาทำงานที่นี่ แล้ว มีความสุขกับงานไหม แล้วลงท้ายบอกว่าตัวมีลักษณะนิสัยแบบสัตว์ตัวไหน ยกตัวอย่างที่ตัวเองเป็นเพื่ออ้างอิง
- กิจกรรมที่ 3 “ ฟังแล้วบอกต่อ ” ให้แต่ละคน เล่าให้กลุ่มฟังว่า คู่ของตนเป็นใครมาจากไหน เรียนจบอะไรมา ทำงานห้องไหน กับครูประจำชั้นชื่ออะไร ทำไมมาทำงานที่นี่ แล้ว มีความสุขกับงานไหม แล้วลงท้ายบอกว่าตัวมีลักษณะนิสัยแบบสัตว์ตัวไหน (กิจกรรมนี้ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพราะผู้เข้าประชุมมีทั้งหมด 12 คน เล่า คนละสองนาที ก็เข้าไป 24 นาทีแล้ว )
- กิจกรรมสุดท้าย “วิเคราะห์ทีมงาน” ให้แต่ละคน คิดว่า ครูประจำชั้นของตน มีลักษณะนิสัยเช่นไร เมื่อทำงานร่วมกัน แล้วเกิดความเข้าใจกันเพียงใด หรือมีปัญหาอะไรที่ทำให้ทำงาน ไม่ราบรื่นบ้าง (กิจกรรมนี้ใช้เวลา อีก ประมาณ 20 นาที เช่นกัน )
เวลามีน้อย โอกาสวิเคราะห์มีไม่มากนัก รู้สึกผู้เข้าประชุมยังอยากคุยต่อ แต่ต้องกลับไปปฏิบัติภาระหน้าที่ จึงบอกไว้ว่า เดือนหน้า เรามาพบกันอีกที มาพบกับแม่ใหญ่ มีแต่กิจกรรมสนุกๆให้เล่นกันนะ ไม่ต้องเกร็ง เรามารู้จักกันไว้ ดีกว่า เวลาทำงานด้วยกัน มันจะได้ราบรื่น ถ้า “รู้เขา รู้เรา” “เข้าใจเขา เข้าใจเรา” “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เรื่องยากๆก็จะเป็นเรื่องง่าย