ออกจาก “แดนฝัน”

5 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 30 มิถุนายน 2011 เวลา 12:04 (เย็น) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน, เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 2135

ไปเข้ากิจกรรมจิตตปัญญา ตั้งแต่วันที่ 25 จนถึงวันที่ 29 เป็นเวลา 5 วัน  เข้าไปวันแรก พอตอนเย็นกลับมาบ้าน   ก็นำเอา  สิ่งที่ได้รับมาเขียนลงในลานในทันทีทันควัน   เป็นความรู้แบบ เนื้อหา และทฤษฎีมากกว่าความรู้สึก   แต่พอวันหลังๆ  รู้สึกว่า ชักจะหลงเข้าไปในแดนฝันบ้างแล้ว  ไอ้ที่จดยิกๆ ก็น้อยลง เอาเวลาไปสดับตรับฟังความเป็นมาและเป็นไป ของคนรอบข้าง  มากกว่า จะจดจำทฤษฎี  เพราะคงจะค่อยๆหลงเข้าไปในแดนฝันแบบไม่รู้ตัวเสียแล้ว

เมื่อวานตอน เที่ยง  ออกมาจาก”แดนฝัน”กลับมาใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้รับ รวมทั้งเอารูปที่ถ่ายแผ่นชาร์ตบทสรุปของการบรรยาย  และการแสดงออกของผู้เข้ากิจกรรม   และเข้าไปเปิดอ่าน  เวป วงน้ำชา ซ้ำ เพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียดเพิ่มเติมที่พอจะจำได้  คัดลอกข้อความบางอย่างจาก วงน้ำชา ที่เขาทำไว้เป็นบทสรุปแล้ว นำมาสรุปเองอีกครั้ง แล้วก็คิดว่า เราจะนำอะไรมาประยุกต์  มาถ่ายทอดให้กับครูในโรงเรียนของเราได้บ้าง  เพราะไม่ว่าจะไปรับอะไรที่ไหน ก็อดนึกถึงครูในโรงเรียนไม่ได้เสียที

 

เรื่องแรก  เคยได้ฟังมาหลายครั้งแล้ว คือเรื่อง “ สัตว์สี่ทิศ”  เรื่องนี้ นำมาใช้ในโรงเรียน  ตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคิดว่าคงจะใช้ได้ต่อไปเรื่อยๆ  เพราะเป็นบทเรียนที่ให้เรากลับมาดูตัวเอง และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ดี และชัดเจน

เรื่องต่อมาคือเรื่อง ศักดิ์ ( rank) ต่างๆของมนุษยชาติ ที่เขียนลงไปใน บล็อกที่แล้ว  แต่คราวนี้ ขอเอาแผ่นชาร์ตสรุป จากการเข้ากิจกรรมมาลงไว้ให้ดูด้วย เพราะเขาสรุปเนื้อหาได้ละเอียดกว่า

 

 เรื่องที่สองถ้าอ่านจากตรงนี้ อาจเข้าใจไม่ทะลุนัก เขาพูดถึงแนวคิดของมินเดลในส่วนที่แตกต่างจาก คาร์ล ยุง คือ มินเดลมีความเห็นค้านจาก  ยุง  ที่ว่า  จิตไร้สำนึกนั้น น่ากลัว และเข้าไปแตะต้องไม่ได้    แต่มินเดลบอกไม่น่ากลัว   ดังนั้น เขาจึงชักชวนให้คนเข้าไปใน แดนฝันหรือ dreamland นี้ได้ตลอดเวลา เพื่อค้นหา แก่น หรือ ราก  ของความรู้สึกภายในที่แท้จริง  และนำเข้ามาใช้ในโลกสมมุติได้

ส่วนบนสุดที่เรียกว่า  โลกสมมุติ  คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นปัจเจก  ต่างคนต่างอยู่ พูดกัน แต่ไม่ฟังกัน หรือพูดออกมาแบบไม่ตรงกับใจ เมื่อใดที่เราลงไปในแดนฝัน  เรายังลงไปได้ในสองระดับคือในระดับจิตวิทยา และต่อไปจนถึงระดับจิตวิญญาณ  ตรงระดับจิตวิญญาณนี่แหละที่ การสัมนาครั้งนี้ โดยอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู พยายามนำพาพวกเราให้เข้าถึง  เพราะอาจารย์มีความเชื่อว่า สมุหะกับปัจเจกแยกจากกันไม่ได้

ช่วงนี้ขอยกข้อความของคุณ  maythawe   มาประกอบสักเล็กน้อย  ถ้าใครอยากอ่านเต็มๆให้เข้าไปที่ เวป วงน้ำชาได้ด้วยตัวเอง ในนั้นจะมีเรื่องจิตตปัญญา (แบบหนักๆ) ให้ติดตามอย่างมากมาย

“ระบอบประชาธิปไตยเสนอให้ทุกคนเท่าเทียมกันและจะต้องมีตัวแทนที่เท่าเทียมกันด้วย  ขณะที่มินเดลบอกว่าเขาแบ่งระดับจิตออกเป็นสามระดับ ขณะที่ทุกระดับก็ยังมีคุณค่าและความเท่าเทียมอยู่
o   สามระดับที่ว่าคือ
1. ความเป็นจริงพื้นฐานประจำวัน CR (consensus reality) ระดับนี้ความสัมพันธ์จะต้องมีสองคนขึ้นไป มีคำกล่าว และมีประเด็น
2. แดนฝัน (dreamland) เป็นระดับที่ดูเหมือนไร้ความสำคัญ ซึ่งจะมีการสัมผัสสัญญาณทางกาย ความฝัน และ
3. ระดับ essence ซึ่งเป็นรากฐานเป็นแก่นแท้ อันจะมีสนามกระบวนการจิต (processmind field) และสนามนี้ในเชิงความสัมพันธ์ก็คือบ้านที่แท้จริง เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเป็น common ground

การที่เราจะ มี eldership (สภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง)   ได้นั้น  เราต้องผ่าน แดนฝัน มีกายฝัน  ไปสู่ บรมธรรม  หรือ essence  ให้จงได้     กระบวนกร  (ซึ่งมีทั้งตัวจริงและผู้ช่วย ได้ร่วมกันในคำจำกัดความของสภาวะ   ผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไว้ตาม ชาร์ตที่จะได้นำมาลงในช่วงต่อไปนี้)

 

กระบวนการทั้งห้าวัน  ส่วนใหญ่ จะใช้ voice dialogue หรือ สุนทรียสนทนา เข้ามาเป็นกระบวนการเดินเรื่อง  คือพอพูดทฤษฎีเสร็จ ก็ให้ ผู้เข้าร่วม รวมกลุ่มย่อยบ้าง  จับคู่บ้าง  พูดถึงทฤษฎีนั้นๆโดยดึงเข้าหาความจริงที่ตัวเอง หรือคนในกลุ่มมีและเป็น   แล้วก็มีกระบวนการ เดินสมาธิ (เรียกเอง  เขาอาจมีชื่ออื่นๆ ) คือเดินนิ่งๆเงียบๆ คิดใครครวญ เปิดเพลงเบา ไฟสลัวๆเป็นการสร้างบรรยากาศ ให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม  เพื่อจะหลุดเข้าแดนฝันได้  (จริงๆเรื่องนี้ต้องพูดกันยาว เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องการทำให้สมองอยู่ในคลื่นเบต้า )  ก่อนทำกิจกรรมตอนบ่ายก็ให้นอนหลังอาหารกลางวัน  ฟังเพลง  ทำ บอดี้แสกน มีคนเสียงหวานๆพูดนำให้เราเดินเข้าไปสวนบ้าง  ในป่าบ้าง แล้วก็ลึกเข้าไปๆๆๆ จนเคลิ้มหลับไปเลย    แรกๆแม่ใหญ่ก็ชอบหรอก แต่ตอนหลังเราหนีไปดูสวนในช่วงนี้   เพราะไม่ชอบตอนเขาเรียกตื่น   ไม่อยากตื่นขึ้นมาจากการหลับกำลังสบายนั่นเอง

เรื่องสุดท้ายที่คุณน้ำฟ้าและปรายดาวชอบในบล็อคที่แล้ว  ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลง    แบบที่ต้องรักการเปลี่ยนอย่างมาก   แต่ไม่ได้ เกลี่ยดหรือนึกรังเกียจ  ในสิ่งที่เป็นอยู่เดิม  เรื่องนี้ต้องสารภาพว่าด้วยปัญญาอันน้อยนิด  คิดแบบโลกสมมุติ  แบบรูปธรรม เข้าไม่ถึงนามธรรม   ว่ายังเข้าใจไม่ทะลุ  ไม่เข้าใจในส่วนที่สองที่ว่า  “อยากเปลี่ยนแต่ไม่รังเกียจสิ่งที่เป็นอยู่เดิม” อาจารย์ยกตัวอย่าง  อยากเลิกบุหรี่ ทั้งๆที่ติดบุหรี่   ก็ให้นึกสงสัยว่า ถ้าไม่รังเกียจการติดบุหรี่ แล้วจะอยากเลิกทำไม  สงสัยแต่ไม่ได้ถาม เพราะอาจารย์บรรยายติดพัน   พูดต่อเนื่อง จนไม่มีโอกาสได้ถาม   วันหลังมีโอกาสคุยกับกระบวนกรตัวต่อตัวจะซักเรื่องนี้ให้ทะลุอีกสักที    แต่ก้ขอนำเอาชาร์ตที่เขาสรุปไว้มาให้ดูให้งงกันเล่นๆ

แผ่นชาร์ตทั้งสี่แผ่นหลังนี้   เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  คนที่เคยเข้าจิตตปัญญา รุ่นลึกๆ  คงพอเข้าใจได้ดีกว่า    ส่วนตัวเอง  เป็นเรื่องที่จะเอาไว้ศึกษาต่อไป

 



Main: 0.018911838531494 sec
Sidebar: 0.08162522315979 sec