“ลงแขก”ห้องสมุด

โดย maeyai เมื่อ 18 มิถุนายน 2011 เวลา 11:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 1772

วันนี้เป็นวันดีอีกวันหนึ่ง ของโรงเรียนพัฒนาเด็ก (ประชาสโมสร)   ที่คุณครูทุกท่าน กรุณาสละเวลา มาทำงานพิเศษที่โรงเรียน  เพื่อจะ “ลงแขก” ห้องสมุด     ที่ย้ายจากห้องเก่า มาอยู่ห้องใหม่    และผู้ดูแลคนเก่า ก็สอบติดปริญญาโท ลาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างค่อนข้างกระทันหัน   มอบหมายงานไม่ทัน  คนใหม่ก็ไม่ใช่ บรรณารักษ์มืออาชีพ  ดังนั้น  ปัญหาจึงเกิดขึ้น เช่น หาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ  ไม่สะดวกในการใช้   ไม่รู้ว่ามีหนังสือใหม่อะไรเข้ามาบ้าง ฯลฯ   เมื่อมีปัญหาคุณครูก็นัดกันว่าจะระดมความคิดกัน      ช่วยแก้ไขให้ทุกคนสามารถใช้ห้องสมุดได้ อย่างเร็วที่สุดเพราะโรงเรียนก็เปิดมาหนึ่งเดือนเต็มๆแล้ว

 เริ่มต้นด้วยการตั้งวงคุยกันก่อนลงมือปฏิบัติการ   ถ้าจะพูดให้เป็นทฤษฎีหน่อย ก็คงจะตรงกับ BAR คือ  Before action review คุยถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น  และสรุปกันว่า จะไปเริ่มลงมือทำกันอย่างไร และตรงไหน

แม่ใหญ่ นั่งฟังคุณครูปรึกษาหารือกัน    และสรุปข้อคิดเห็นของคุณครู  ได้ดังนี้

ปัญหา

ความต้องการ   /  ข้อเสนอแนะ  /    การปฏิบัติ

·                     ห้องใหม่เล็กกว่าห้องเก่า  และมีชั้นวางสองด้าน    ทำให้ต้องวางกลางห้อง ทำให้ห้องเล็ก และชั้นมีความสูงเกินระดับสายตาอาจมองได้ไม่ทั่วถึง

·                     อยากได้ชั้นเตี้ย  โชว์ หนังสือด้านเดียว และวางชิดฝาทั้งสี่ด้าน

·                     หนังสือตอนนี้อยู่ปนๆกันในกล่องบ้างนอกกล่องบ้าง 

·                     ให้ช่วยกันจัด แยกประเภทออกเป็น  คู่มือครู นิทานแบบปกอ่อน และปกแข็ง   วิทยาศาสตร์   ธรรมชาติและสิง่แวดล้อม   และอาจมีประเภทอื่นๆอีก ตามที่เห็นตรงกัน ขณะที่จัดร่วมกัน

·                     แผ่นโปสเตอร์  มองไม่ชัด เลือกยาก

·                     ให้ทำที่แขวนโปสเตอร์ และแยกประเภทด้วยเช่นกัน

·                     มีหนังสือปนกันทั้งที่ชำรุด  ต้องซ่อมแซม และหนังสือที่ ซ่อมไม่ได้หรือ  ไม่น่าใช้แล้ว

·                     แยกพวกซ่อมออกไว้ซ่อมภายหลัง  แยกพวกที่ไม่มีประโยชน์แล้ว ทิ้งไปได้

·                     Big Book เป็นหนังสือที่เด็กชอบมาก ยังไม่มีชั้นวางที่ได้ขนาด

·                     เสนอให้ทำกล่องใส่  Big book ต่างหาก  และวางไว้ให้เด็กเลือกได้  แต่ควรอยู่ในความดูแลของครู  เพราะ  Big book   บางเล่ม  หาซื้อไม่มี  มาจากต่างประเทศ และมีราคาแพง ควรดูแลรักษาเป็นพิเศษ

·                     การยืมคืนยังไม่เป็นระบบ

·                     ครูที่เคยเรียนวิชาบรรณารักษ์ให้คำแนะนำ ผู้ทำหน้าที่ดูแลห้องสมุด ให้ทำทะเบียน  หนังสือ  และให้มีบัตรยืมคืน   ให้เป็นคนเก็บหนังสือเข้าที่เองทุกวัน

·                     การยืมหนังสือบางคนยืมนานตลอดเทอม คนอื่นไม่ได้ยืม

·                     ครูตกลงกันว่า จะให้ยืมเพียงคนละ 7 วัน เท่านั้น  ถ้าต้องการก็ต้องมาต่อเวลาทุกครั้ง

·                     ครูอยากฝึกให้เด็กได้มายืมด้วยตนเอง เอากลับไปบ้านได้

·                     จัดระบบยืมคืนให้เด็กนักเรียน  แต่ให้เอาไปได้เพียงวันเดียว ต้องเอามาคืนในวันรุ่งขึ้น

·                     มีหนังสือใหม่มา ครูไม่รู้

·                     ให้จัดบอร์ดแสดงหนังสือใหม่ไว้หน้าห้องสมุด

·                     อยากมีบัตรสถิติส่วนตัวครู  ว่าเดือนหนึ่งใครยืมหนังสือกี่เล่ม

·                     เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ครูเข้ามาหาวิชาความรู้เพิ่มเติม

·                     อยากให้มีการ “ลงแขก” แบบนี้ทุกสิ้นเทอม

·                     มีข้อตกลงกันว่า จะทำแบบนี้ ทุกๆสิ้นเทอม   เพราะจะทำให้ ห้องสมุดเป็นแหล่เรียนรู้ที “ หยิบง่าย  หายรู้ ดูก็งามตา 

คุณครูคุยปรึกษา กันไม่นาน  ประมาณ สิบห้านาที  แล้วก็ลงไปช่วยกันจัดห้อง  ตามที่ตกลงกัน  โดยบอกกันว่า  ถึงวันนี้จะยังไม่เสร็จ สมบูรณ์ แต่ก็คงมีโอกาสนำเอาปัญหามาพูดคุยใน   “วาระ อื่นๆ”  ของการประชุมประจำสัปดาห์ที่มีขึ้นทุกวันจันทร์ได้ 

ที่ โรงเรียนพัฒนาเด็ก    เราทำงานด้วยกันแบบนี้  มีอะไรก็ปรึกษากัน และช่วยกันคิด ช่วยกันแก้กันไป    จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้และทำงานกันอย่างเป็นทีมขึ้น   ไม่ใช่ต้องรอให้สั่งอย่างเดียว  ผู้บริหารก็ไม่เหนื่อย  ลูกน้องก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ  งานก็ไม่ไปหนักอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง  ผลงานออกมา  ก็เป็น ผลงานของเรา  ชื่นอกชื่นใจด้วยกันทุกฝ่าย 

« « Prev : กำนดการคร่าวๆเรื่องนาทดลอง

Next : เรียนปลูกข้าวจาก Youtube » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 12:53 (เช้า)

    แม่ใหญ่จ๋า ..พ่อเล็กว่า ที่ว่ามามันอาจเป็นมุมมองจากเบื้องสูง หรือเบื้องกลางเป็นอย่างมาก

    เหมือนต้นไม้ ที่มีดอกผล มีลำต้น แต่อาจยังไม่ต่อถึงราก ผมเสนอว่าถ้าจะให้ดี น่าถามรากด้วย…คือเด็กๆ ทั้งหลาย โดยอาจสาวไปถึงดิน (ผู้ปกครอง) ด้วยก็ยังได้

    เพราะเด็กๆอาจไม่กล้าพูด แต่เอาไปด่า (หรือชม) ให้ผู้ปกครองฟัง…ควรมีเวทีให้ผู้ปกครองที่ไม่ประสงค์แสดงตัวด้วย เพื่อที่เขาจะด่าหรือชมได้อย่าง ภววิสัย

    ในประดาระบบการบริหารทุนนิยมแบบฝรั่ง ผมชอบ ระบบ TQM มากที่สุด แต่ผมว่านั่นยังเป็นระบบที่กำหนดจากภายนอก คนนอก ที่เป็นลูกค้า ที่มีนิยามไม่แน่นอน เพราะหลากหลายมาก (ฝรั่งมักนิยมกำหนดอะไรตามลูกค้าเสมอ ตามระบบปชต. วันแมนวันโหวตแบบฝรั่ง)

    ในบริบทไทยเรา ผมว่าระบบ ATB4 ดีที่สุด คือ …อิทธิบาท4 นี่เอง (กระแดะทำเป็นหรั่ง เพื่อให้ครูไทยหวือหวาแล้วให้ติดยึด…คำต่างชาติที่ฟังไม่รู้เรื่องมันศักดิ์สิทธิ์เสมอ เช่น ยาสีฟันคอลเกต ผสม “กอร์ดอน” …แล้วไอ้กอร์ดอนเอี้ยเนี่ย แมร่งคืออะไรฟะ กรูไม่รู้ แต่ชื่อแมร่งเป็นปะกิด น่าซื้ออิ๋บอ๋าย ..)

    ถ้าใช้ระบบนี้ผม(เชื่อตามประสาผม) ว่า จะได้ทั้งคุณภาพ ผลผลิตทั้งภายนอกและภายใน อย่างทันกาล นะแม่ใหญ่สุดที่รักของพี่ชายสุดที่รักของผม

  • #2 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 6:54 (เช้า)
    อ่านคอมเมนท์ของพ่อเล็กด้วยความขอบคุณยิ่ง เพราะมันทำให้แม่ใหญ่ รีบกลับไปเปิดตำราครูกูเกิ้ลในทันใด เพื่อหาคำว่า อิทธิบาท 4 (ที่จริงๆก้เคยรู้สมัยเรียน แต่ไม่เคยอยู่ในสมองนานๆ โดยเฉพาะคำที่เป็นบาลี สันสกฤต ดังนั้นเมื่อไหร่มีคำพระคำเจ้า จะสอบเกือบตกมิตกแหล่ ตามภาษาเด็กที่โตมาในรั้วโรงเรียนฝรั่งตลอด 14 ปี)
    ขอนำ ความรู้แบบย่อๆ มาลงไว้หน่อยนะพ่อเล็ก เผื่อคนอื่นเขาจะได้ประโยชน์เหมือนแม่ใหญ่ด้วย
    อิทธิบาท 4
    คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

    ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
    ๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
    ๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
    ๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

    ทั้งสี่ข้อ แม่ใหญ่คิดว่าตัวเอง ผ่านนะคะ (ผ่านโดยไม่ได้อ่านคัมภีร์) และก็พยายามได้ชักจูงให้ นักเรียน ลูกหลานและครูพนักงานทั้งหลายร่วมผ่านไปด้วยกัน
    กลับมาที่เรื่องห้องสมุดนิดนึง ที่โรงเรียนเราให้เด็กมีส่วนร่วมด้วยเกี่ยวกับการไปเลือกซื้อหนังสือที่ตัวเองชอบ มาเข้าห้องสมุด ส่วนผู้ปกครองนั้น เราให้โอกาสมีส่วนร่วมเต็มที่ มีมุมผู้ปกครองและมีหนังสือคู่มือต่างๆให้เข้ามานั่งอ่านรอลูกได้ แต่ก็มีผู้ปกครองไม่มากนักที่เข้ามาใช้ อาจเป็นเพราะห้องสมุดโรงเรียนอนุบาลเป็นห้องเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร นอกจากนี้เราก็ตั้งกล่องแสดงความคิดเห็นเอาไว้ ให้ผู้ปกครองเขียนบอกความต้องการหรือติชมได้ ที่เวปไซด์ของโรงเรียนที่ http://www.patanadek.ac.th และมีเวปบอร์ดเป็น หนทางให้ผู้ปกครองได้ติดต่อบอกเล่าโรงเรียนอีกหนทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังจัดให้มีการพบปะผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ชนิดตัวต่อตัวกับครูประจำชั้นอีกปีละสองครั้ง มีกิจกรรมประกอบการเรียนแบบโครงการที่เชิญผู้ปกครองมาร่วมรับชมอีกเดือนละประมาณครั้งหนึ่ง และถ้ามีอะไรข้องใจก็เปิดโอกาสให้เข้ามาพบได้ตลอด การสื่อสารของเราจึงเป็นสองทางตลอดเวลา (อะไรๆก็ตามที่ทำด้วยใจรักจริงๆ (ข้อ 1 ) ข้อสอง สามและ สี่มันมักจะตามมาด้วยเสมอ พ่อเล็กว่าไหม (ขออนุญาตถอนตัวจากสุดที่รักของพี่ชายสุดที่รักพ่อเล็กมาสามสิบกว่าปีแล้วค่ะ ตอนนี้เป็นเพื่อนซี้กันเฉยๆ)

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 เวลา 1:49 (เช้า)

    โรงเรียนแบบนี้ หลักการดีมากๆ ต้องขยายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ นะพี่ใหญ่

    ต้องต่อยอดไปถึงมหาลัยด้วย เลิกลอกฝรั่งได้แล้ว

    ต้องสร้างทางเลือกแบบนี้ให้สังคมไทยเรา ที่ต่างจากฝรั่งมาก ก่อนที่เราจะตายหายไป นะพี่สาวใหญ่สุดที่รักของผม

    (รักพี่ชายมามากแล้ว บัดนี้ขอรักคนเคยรักของพี่ชายแทนกะแล่วกัน)

  • #4 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 เวลา 8:13 (เช้า)
    ลูกๆตกลงกันแล้ว ไม่คิดขยายค่ะ อยากให้เป็นโรงเรียนเล็กๆที่อบอุ่นเหมือนบ้าน ไม่มีเจ้านาย ลูกน้องมีแต่เพื่อนร่วมงาน ครูฝรั่งที่มาทำงานด้วย เขามาเรียก Boss เลยบอกเขาว่าที่นี่ไม่มี Boss นะ เราทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี มีอะไรปรึกษาหารือกัน ทุกแผนก จะประชุมแบบคุยกันทุกสัปดาห์ อะไรผิดพลาดก็ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ได้ทันทีทันควัน ใครชอบแนวคิดนี้ จะเอาไปทำหรือ มาตามดู ก็ไม่หวงค่ะ เปิดกว้างเสมอ ไม่ต้อง TQM (Total Quality Management) แต่เรา CQM (Continuely Quality Management แทน) ไม่รู้ไปซ้ำกับฝรั่งหรือเปล่า คิดเองน่ะ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 2.3436031341553 sec
Sidebar: 0.37228584289551 sec