บทความที่ลูกๆเขียนถึงพ่อและแม่(๒)
อ่าน: 1980ในสมัยลูกอยู่ในวัยเรียน ป๋าชอบที่จะให้ลูกกล้าแสดงออก ป๋าชื่นชมในลักษณะการเป็นผู้นำ ป๋าชอบที่จะให้ลูกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะป๋าเชื่อว่าคนที่เก่งทางวิทยาศาสตร์และคำนวณจะมีความก้าวหน้ามากกว่า แต่ลูกของป๋าคนนี้ไม่มีหัวในทางคำนวณเอาเสียเลยวิชาคำนวณตกตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมปลาย ลูกชอบทางด้านศิลปะศาสตร์มากกว่า ด้านศิลปะดนตรีก็คงมาจากสายเลือดป๋านั่นแหละ เพราะป๋าเคยเล่าให้ฟังว่า งานการกุศลของวัดป๋าเคยเป็นกองเชียร์รำวง “ป๋าเคยเล่นหีบเพลงชัก” ป๋าเคยเป็นโฆษกงานวัด พอมาถึงยุคของลูก ลูกชอบเล่นดนตรีร้องเพลง เป็นพิธีกรในงานต่างๆก็เพราะสายเลือดป๋า
ลูกเป็นหัวหน้าชั้นมาตั้งแต่ชั้น ป.๕ จนจบ ม.ศ.๕ และลูกมักถูกกำหนดให้แสดงหน้าเวทีมาตั้งแต่เล็กจนโต แม้กระทั่งการเป็นลูกเสือป๋าก็สนับสนุนเพราะเป็นการฝึกระเบียบวินัย การเป็นลูกเสือทำให้ลูกได้ไปประเทศสิงคโปร์ก่อนป๋า และจากการที่มีลักษณะการเป็นผู้นำที่ป๋าสนับสนุน ทำให้ลูกได้เป็นหัวหน้ากลุ่มเยาวชนไปเข้าค่ายที่ประเทศญี่ปุ่นในโครงการของสโมสรไลออนส์และทำให้ลูกได้ไปญี่ปุ่นก่อนป๋า ลูกภูมิใจมากที่มีพ่ออย่างป๋า เพราะลูกมีโอกาสดีกว่าเพื่อนของลูกอีกหลายคน ดีกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งในประเทศและในโลก
ป๋าเป็นคนที่มีลายมือสวยมาก เวลาป๋าเขียนบรรจง เส้นจะตรงสวยงามมีความเป็นระเบียบในตัว ลูกเคยรู้สึกอิจฉาน้อยที่ป๋าสอนน้อยเขียนหนังสือไทยหัวเหลี่ยมแต่กับลูกป๋าไม่เคยสอน ลูกถามน้อยว่าวิธีการเขียนนี้เอามาจากไหน น้อยบอกว่าป๋าสอนให้ ลูกเกิดความรู้สึกน้อยใจ แต่ความจริงแล้วลูกไม่ได้อยู่ใกล้ชิดป๋าเพราะไปเรียนอยู่ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร กรุงเทพฯโน่นแล้วป๋าจะสอนวิธีเขียนได้ไง เมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจึงเกิดความรู้สึกว่าการที่เราอิจฉาน้องกับความรู้สึกน้อยใจป๋า มันไร้สาระสิ้นดี
ลูกใช้ประสบการณ์ที่ได้รับเมื่อตอนเป็นเด็ก มาใช้สอนลูกเนติ์-นิวโดยพยายามทำให้สมบูรณ์ขึ้น ในสมัยเด็กป๋าเคยห้ามไม่ให้ดูภาพยนตร์เพราะป๋าเห็นว่าไม่มีประโยชน์ไร้สาระ แต่ปัจจุบันลูกให้เนติ์-นิว ดูภาพยนตร์,วีดีโอ,โทรทัศน์ เพราะเรื่องราวบางเรื่องทำให้ลูกได้ฉุกคิดถึงสังคมที่เด็กรุ่นลูกๆจะได้รับต่อไป แต่เวลาเนติ์-นิวจะดูภาพยนตร์ลูกจะต้องคอยกำกับให้เหตุผลกับเนติ์-นิวว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะจะทำให้เนติ์-นิวได้รับความรู้ทางวิชาการและทางด้านสังคมไปในตัว แต่ในสมัยลูกยังเล็กป๋าไม่มีเวลาดูภาพยนตร์อย่างลูกๆเพราะงานป๋ามีมาก หากปล่อยให้ลูกๆไปดูภาพยนตร์กันเอง ลูกอาจรับเอาแบบอย่างที่ไม่ดีจากภาพยนตร์ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง
ในสมัยเด็กลูกยังจำได้ถึงเมื่อถูกป๋าตีทำโทษ ลูกจำได้ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา ลูกเคยถูกป๋าตีเพียง ๓ ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่ป๋าจะสอนลูกด้วยเหตุผลมากกว่าการใช้กำลัง
ครั้งที่ ๑ ลูกทะเลาะกับพี่นวล แล้วป๋ายื่นไม้ให้ผลัดกันตีคนละ ๓ ที ใครร้องก่อนจะต้องถูกตี ผลัดกันฟาดไปมาสี่ห้าเที่ยวลูกก็ร้องก่อน แล้วลูกถูกป๋าตีในฐานะที่ทะเลาะกันแล้วยังมาร้องไห้ให้คนอื่นพลอยเดือดร้อนรำคาญไปด้วย ในเมื่อพอใจที่จะทะเลาะกันก็ไม่ต้องร้องไห้ แต่แล้วพี่นวลก็ถูกตีด้วยในฐานะที่เป็นพี่แล้วยังทะเลาะกับน้อง คนที่เป็นพี่ต้องรู้จักเสียสละให้น้อง อภัยให้น้อง เป็นวิธีการสอนลูกที่ลูกยังไม่เคยเห็นใครสอนแบบนี้เลย เมื่อลูกลองเอาไปใช้กับเนติ์-นิวปรากฏว่าไม่ได้ผลเพราะเนติ์-นิวมีอารมณ์ขันมาก พอยื่นไม้ให้ตีกันเขามองดูอยู่พักหนึ่งแล้วผลัดกันหัวเราะคิกคักเบาๆ สักครู่หนึ่งก็ไปเล่นกันตามเดิม
ครั้งที่ ๒ ในงานวัดไตรมาร์คสถิต ในงานมีมหรสพหลายอย่างรวมทั้งการพนันหลายประเภท ลูกได้รับอนุญาตให้ไปเที่ยวงานวัดและป๋าให้เงินไป ๑๐ บาท ลูกไปยืนดูเขาเล่นการบิงโกหรือที่บ้านเราเรียก “ไชโย” หรือ “นกแก้ว” ในรอบแจกฟรีลูกได้เล่นปรากฏว่าเหลือเพียงตัวเดียวก็จะถูก ก็ถูกคนอื่นคว้ารางวัลไปได้เสียก่อน จึงเกิดความมันพอถึงรอบจะต้องจ่ายตังค์เพียงแค่แผ่นละบาทแถมยังมีรางวัลอีกเป็นร้อย ปรากฏว่าเกือบได้รางวัลทุกครั้ง จนเงินหมดกระเป๋าทั้งสิบบาทโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นแหละที่ลูกเข้าใจคำว่า “ผีพนันเข้าสิง” ว่ามันเป็นอย่างไร พอเช้าขึ้นมาไม่รู้ว่าป๋าทราบมาจากใครว่าเมื่อคืนลูกไปเล่นการพนันมา จึงถูกป๋าตีและสั่งสอนให้เห็นโทษของการเล่นการพนัน ทำให้ลูกฝังใจมาตั้งแต่ยังเล็กอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และเมื่อมีโอกาสป๋ามักเล่าเรื่องที่ป๋าเอาสินค้าไปขายที่ท้ายเหมืองแล้วถูกชวนเล่นการพนันจนเงินที่ได้มาจากการขายสินค้าหมดไป และทำให้ป๋าคิดขึ้นมาได้ว่าการพนันไม่มีประโยชน์ มีแต่ทำให้ทรัพย์สมบัติวอดวายและรู้สึกเสียดายเงินที่ลงทุนลงแรงกว่าจะได้เงินมาต้องยากลำบากขนาดไหนแล้วมาหายไปในพริบตาเดียว
ครั้งที่ ๓ เมื่อหนีไปดูภาพยนตร์เรื่อง “ผู้ใหญ่ลี” สมัยนั้นเพลง “ผู้ใหญ่ลี”ฮิตมาก จนมีการเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ จนวันนั้นมีการฉายภาพยนตร์ที่โรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายนเรื่องผู้ใหญ่ลี หากขออนุญาตป๋าไปดูภาพยนตร์คำตอบที่ได้รับแน่นอนคือไม่ได้ไป แต่ป๋าเคยบอกว่าไม่ว่าจะไปที่ไหนป๋าไม่ว่า แต่จะต้องให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ ขณะนั้นป๋าเป็นผู้จัดการร้านซิงเกอร์ที่พังงา พอป๋าไม่นั่งที่โต๊ะ ลูกก็แอบหยิบกุญแจสำรองและเขียนกระดาษไว้ในลิ้นชักว่า “ป๋า ฑูรไปดูหนังที่โรงเรียนดีบุก” หนังเลิกประมาณตีหนึ่งหรือตีสองจำไม่ได้เพราะฉายสองเรื่องควบ ปรากฏว่าเข้าบ้านไม่ได้เนื่องจากป๋ารออยู่แล้วใส่กุญแจชั้นในไว้ด้วย จึงต้องเรียกให้ป๋าเปิดประตู และป๋าก็เตรียมสายพานจักรไว้ฟาดแล้ว วันนั้นได้รู้รสชาติของสายพานจักร(ทำด้วยหนัง)ว่าเป็นอย่างไร แต่นั่นป๋าจะรู้ไหมหนอว่า ลูกของป๋าส่อแววที่จะเป็นนักกฎหมายหัวกะทิ แฮ่ะๆ ฮิๆ
ป๋ามีโอกาสได้เรียนน้อย จึงต้องทำงานหนักมาตั้งแต่เล็ก ป๋าจึงอยากเห็นลูกมีการศึกษาที่ดีมีอนาคต ลูกจะได้ไม่ลำบาก และบัดนี้ผลของความรักความห่วงใยและการเอาใจใส่ในการศึกษาของลูกได้ส่งผลให้ป๋าเห็นแล้วว่า ลูกของป๋าทุกคนไม่มีใครตกต่ำ ทุกคนมีงานทำ และต่างก็ก้าวหน้าในวิชาชีพของตัว
ในเรื่องของการเรียนทำให้นึกถึงสมัยลูกเรียนจบชั้น ม.ศ.๓ ลูกอยากเรียนเพาะช่าง แต่ป๋าเห็นว่าอนาคตไม่ก้าวหน้า จึงไม่อยากให้ลูกเรียนและบังเอิญวันสอบเข้าเพาะช่างกับเตรียมอุดมมีวันสอบคาบกันวันหนึ่ง ป๋ายืนยันให้สอบเข้าเตรียมอุดมฯ ลูกขัดป๋าไม่ได้จึงไปสอบตามความต้องการของป๋า หนังสือหนังหาก็ไม่ดูไปสอบดุ่ยๆอย่างนั้นเอง เมื่อประกาศผลก็ไม่ได้ไปดูผลสอบ เขียนจดหมายมาบอกป๋าว่าสอบไม่ได้ จากนั้นไปสมัครเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์และการประชาสัมพันธ์ ป๋าก็ไม่พอใจอีก(ความจริงก็มีส่วนดีตรงที่ลูกได้เรียนรู้วิชาการอีกแขนงหนึ่งและมีผลต่อการทำงานในต่อมา) เมื่อเรียนได้แค่สองเทอม ป๋าเรียกตัวกลับ เมื่อลูกรู้ว่าการที่ลูกเรียนที่โรงเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ทำให้ป๋ากับมะขัดแย้งกันจึงทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเสียใจอย่างมาก คิดว่าจะต้องมุมานะเรียนต่อในชั้นมัธยมปลายให้ได้
จากนั้นลูกกลับมาอยู่บ้าน พอถึงวันปีใหม่ลูกขออนุญาตไปเที่ยวภูเก็ตกับเพื่อนและขออนุญาตนอนค้างที่ภูเก็ต ป๋าอนุญาตให้ไปแต่ไม่อนุญาตให้นอนค้าง ปรากฏว่าลูกกับเพื่อนเที่ยวกันสว่างไม่ได้หลับไม่ได้นอนที่ภูเก็ตกันเลย กลับมานอนกันที่โคกกลอย ลูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเหมาะที่จะเป็นนักกฎหมาย เห็นไหมป๋าว่าลูกส่อแววจะเป็นนักกฎหมายมาตั้งแต่เด็กแล้ว..ฮิๆๆ
ป๋าพาลูกไปฝากเรียนที่โรงเรียนดาวรุ่งวิทยาได้ ๑ เดือนโรงเรียนปิดภาคและโรงเรียนสตรีภูเก็ตรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมปลาย บังเอิญว่าป๋าไปกรุงเทพฯลูกเลยสมัครเรียนแผนกศิลป์ ทั้งๆที่ป๋าอยากให้ลูกเรียนแผนกวิทย์ เพราะลูกรู้ตัวว่าความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้นลูกไปไม่ไหวจริงๆและเมื่อผลสอบประกาศออกมาปรากฏว่าลูกสอบได้เลยบอกมะให้รีบไปมอบตัว ป๋ากลับมาก็ไม่ว่าอะไรจนกระทั่งเรียนจบจากสตรีภูเก็ต สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ลูกก็อยากจะเรียนวิทยาลัยหอการค้า(ขณะนั้นยังเป็นวิทยาลัย) เพราะอยากช่วยป๋าทำการค้าแต่เนื่องจากป๋าไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์ของวิทยาลัยนี้จึงเข้าใจว่าลูกตามเพื่อน จึงไม่อนุญาต ลูกจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าเรียนนิติศาสตร์ รามคำแหง ต่อมาหลังจากลงทะเบียนเสร็จ ป๋าไปทำกิจธุระที่กรุงเทพฯ ได้พบเพื่อนพ่อค้า ป๋าจึงได้รู้จักวิทยาลัยหอการค้า เมื่อกลับมาถึงบ้านป๋าถามว่าจะเรียนหอการค้าไหม ลูกตอบป๋าด้วยทิษฐิว่า ไม่เรียนแล้ว จะเรียนกฎหมาย ถ้าลูกเรียนวิทยาลัยหอการค้าในตอนนั้น ป๋าก็คงไม่มีลูกเป็นอัยการ นะป๋า…..
พอเรียนจบปริญญาตรีลูกบอกป๋าว่าลูกเรียนแค่นี้พอแล้วจะได้ช่วยป๋าทำงานแต่ป๋าไม่เห็นด้วยอยากให้ลูกเรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปอีกโดยมีคุณลุงผลึก พฤกษะศรี ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นอัยการจังหวัดพังงาเป็นคนคอยเชียร์ให้ลูกเรียนให้ได้เนติบัณฑิต ลูกจึงตัดสินใจเรียนเนติบัณฑิตเพื่อสร้างชื่อเสียงและเกียรติคุณเพื่อป๋าและตัวเอง
ในระหว่างที่เรียนชั้นปริญญาตรีลูกเคยไปช่วยป๋าคุมปั๊มน้ำมัน ทำให้ลูกได้รับประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับกิจการน้ำมัน การควบคุมกิจการซึ่งมีผลต่อการทำงานเกี่ยวกับคดีน้ำมันปลอมปน แต่ในระหว่างนั้นความที่อยากจะแสดงอำนาจ ลูกจึงประชุมลูกน้องจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้แต่ละคน แต่พอวันรุ่งขึ้นป๋ามีคำสั่งเปลี่ยนแปลงใหม่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกไม่ดีกับป๋าเกี่ยวกับการทำงานเพราะคิดว่าป๋าควรจะปรึกษากับเราว่าทำไมเราสั่งอย่างนั้น การที่ป๋าสั่งเปลี่ยนแปลงกะทันหันทำให้ลูกน้องมองเราไม่มีน้ำยาแล้วเราจะช่วยงานป๋าไปทำไม ในเมื่อคำสั่งขาดความเชื่อถือจึงทำให้ลูกไม่ยอมช่วยงานป๋าอีก นึกถึงสมัยนั้นถ้าลูกเป็นป๋าลูกจะรู้สึกอย่างไร แต่ป๋าก็ยังให้ความรักกับลูกเสมอมา จึงทำให้ลูกรู้สึกละอายใจอย่างมากที่ทำกับป๋าอย่างนั้น
(ยังมีต่อ)
« « Prev : บทความที่ลูกๆเขียนถึงพ่อและแม่
Next : บทความที่ลูกๆเขียนถึงพ่อและแม่(๓) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "บทความที่ลูกๆเขียนถึงพ่อและแม่(๒)"