เรื่องยาวๆ ที่ไม่ใช่เพลงยาว

อ่าน: 3170

ได้รับการบ้านจากสภาวิจัยแห่งชาติให้ไปโม้ประเด็นนี้

บังเอิญยาวไปหน่อย ถ้าไม่มีเวลาก็เปิดข้ามไปเถิดนะครับ อิ อิ

(ทำไมแพะตัวเมียถึงมีเครา ถ้าอยากรู้ว่าเคราแพะมีประโยชน์หรือไม่ก็ต้องทำการวิจัย)

: ปัญหาของชาวบ้านกับการทำวิจัย

: ถ้าโจทย์ออกมาอย่างนี้

แสดงว่ามีผู้เข้าใจและสนใจเกี่ยวกับการวิจัยไทบ้านบ้างแล้ว

บางท่านอาจจะสงสัยว่าชาวบ้านต้องทำการวิจัยได้หรือ

พูดถึงงานวิจัย บางคนร้องโอ๊ก มองเป็นยาขมหม้อใหญ่

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง..งานวิจัยเป็นขนมหอมหวานอร่อย

จริงหรือ จริงสิ แน่นะ อ๋อแน่สิ ..เชิญตามมา >>

: ประเด็นนี้ละครับที่จะต้องมาฉุกคิดกัน

โดยข้อเท็จจริงมนุษย์เราทุกผู้ทุกนามต่างก็มีความรู้ในตัวตนทั้งนั้นละครับ เพียงแต่สิ่งที่รู้และทักษะชีวิตมีหลายชั้นหลายระดับ เกิดเป็นความชำนาญที่หลากหลาย แยกแยะเป็นผู้ชำนาญการที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ช่าง” เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ช่างทำเครื่องเรือน ช่างทำบ้าน ช่างทำเรือฯลฯ บ้างก็เรียกว่า “หมอ” หมอยา หมอพื้นบ้าน หมอทำขวัญฯลฯ บ้างก็เรียก”นายฮ้อย” หมายถึงผู้ชำนาญด้านการค้าขายเกี่ยวกับปศุสัตว์ บ้างก็เรียกว่า”ครู” ครูเพลง ครูดนตรีฯลฯ

: ผู้รู้เหล่านี้ปัจจุบันเรียกรวมๆว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

ภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ธรรมชาติของคนเรา อยู่ที่ไหนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินชีวิตให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น มนุษย์เริ่มวิจัยตั้งแต่สมัยลากตะบองอาศัยอยู่ในถ้ำ.. ต่อมาก็คิดค้นเรื่องการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์แทนที่การไล่ล่าสัตว์ซึ่งไม่แน่นอน เมื่อสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ก็คิดค้นเอาหนังสัตว์มาทำเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น คิดไปคิดมาก็ได้เสื้อผ้าถุงมือถุงเท้าที่มีคุณภาพสามารถสู้ทนกับความหนาวเย็นได้ พัฒนาการไม่หยุดนิ่งจนกระทั้งสามารถไปอาศัยอยู่ในเขตหนาวได้ ชาวเอสกิโมคิดได้แม้กระทั้งการสร้างบ้านด้วยก้อนน้ำแข็ง

: ความรู้เป็นพลังที่เปล่งประกายความสามารถ

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองแห่งยุคสมัยต่างๆ ทำให้เกิดโจทย์ใหม่ๆให้มนุษย์ต้องปรับปรุงความรู้ความสามารถตลอดเวลา ต่อเมื่อโลกมีการติดต่อไปมาหาสู่กันมากขึ้นเร็วขึ้น วิทยาการต่างๆได้เชื่อมโยงกันไปทั่วโลก กระตุ้นให้สังคมมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยต้องดิ้นรนพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และแข่งขันกันอยู่ในที

: วิทยาการใหม่ๆคืออำนาจ สามารถกำหนดความต้องการได้อย่างอิสระ จะเอาเปรียบจะกำหนดค่าวิชาความรู้ จะตั้งเกณฑ์สิทธิบัตรต่างๆนานา การซื้อขายสิทธิทางปัญญาเกิดขึ้นทั่วโลก

ประเทศที่ด้อยพัฒนาต้อง..

นำเข้าทุน

นำเข้าความรู้

นำเข้าเทคโนโลยีและวิทยาการ

ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “จ่ายค่าโง่” ในอัตราแพงลิ่ว

ทำให้ประเทศที่ล้าหลังเสียเปรียบอย่างยากที่จะดิ้นหลุด

ตราบใดที่ไม่ดิ้นรนค้นคว้าวิทยาการให้มีขีดความสามารถเทียบทัน

หลุดพ้นจากการจำต้องซื้อความรู้ของชาติอื่น

ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย สามารถพัฒนาการยกชั้นขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนารอบด้านได้อย่างน่าชื่นชม สามารถที่จะแลกหมัดความรู้ความสามารถกับชาติตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะประเทศพัฒนาใหม่เหล่านี้มีวิธีเรียนรู้ที่เข้มแข็งถึงลูกถึงคน ซึ่งหมายถึงการทุ่มเทสร้างนักวิจัยของชาติขึ้นมาอย่างมีแบบแผนเป็นระบบ

ประเทศอื่นๆเขาส่งคนไปเรียนในต่างประเทศ

ไม่ ไ ด้ ส่ ง ไ ป ใ ห้ จ ด จำ ว่ า ทำ อ ย่ า ง นั้ น อ ย่ า ง นี้

แต่ส่ง ไ ป เ รี ย น วิ ธี ทำ

เ มื่ อ ก ลั บ ม า ป ร ะ เ ท ศ บ้ า น เ กิ ด ก็ ท ด ล อ ง ทำ และ ทำ

ฝึกฝนพัฒนาทักษะความสามารถอย่างทุ่มเท

ทำให้นักพัฒนารุ่นบุกเบิกเหล่านี้สร้างต้นทุนวิทยาการและเทคโนโลยี

แล้วมาต่อยอดด้วยการช่วยกันวิจัยให้คมชัดยิ่งขึ้นอย่างกว้างขวาง

เกิดเป็นวิทยาการภายในของชาติตนเอง

เพื่อเอาไปเปรียบเทียบกับวิทยาการชาติตะวันตก

เปรียบเสมือนรางรถไฟที่วิ่งคู่กันไป

ก็จะเห็นว่าของเขาไปถึงไหน ของเราเป็นอย่างไร

สามารถเข้าไปยืนอยู่ในจุด..ที่ รู้ เ ข า รู้ เ ร า

ถ้าไม่เริ่มต้นจากเค้าโครงความรู้ที่เป็นเนื้อแท้ของเราเอง เราจะไม่หลงทางหรือครับ?

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่ประเทศตะวันตกตระเวนเดินเรือนำปืนไฟไปยึดครองดินแดนต่างๆ คนพื้นเมืองเหล่านั้นหลังจากตื่นตระหนก ก็ต้องมาตระหนักกับความรู้ความสามรถที่เป็นต้นทุนของเผ่าพันธุ์ตนเอง “เกิดการเปรียบเทียบชุดความรู้อย่างกะทันหัน”

ทำอย่างไรจะสู้กับวิทยาการที่มีอิทธิฤทธิ์เหล่านั้นได้

จุดเหล่านี้เป็นพลังกระตุ้นต่อมความรู้ให้คิดค้นชุดความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ

เปรียบดั่ง หอก ดาบ ธนู จะสู้ปืนไฟไม่ได้หรอก

กรณีตัวอย่างที่ยกมาข้างบนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้รู้ในสังคมอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องเร่งรีบปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองอย่างแข็งขัน ผู้รู้ที่กล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นนักวิจัยสายพันธุ์แท้ แสดงว่าในวิถีไทก็มีการฝึกฝน-มีการถ่ายทอด-พัฒนาการฝีมือจนกระทั้งเข้าเกณฑ์ความเชี่ยวชาญ จนเป็นที่ยอมรับว่ามีความสามารถทำกิจกรรมที่ตนถนัดได้บรรลุเรียบร้อย โดยไม่ต้องมีใบประกาศรับรองจากสำนักฯใดๆ อาศัยความเชื่อถือและชื่อเสียงที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญเชิงช่างในพื้นถิ่นนี่เองที่ผู้เขียนเรียกว่า

“นักวิจัยไทบ้าน”

: ชาวบ้านทำวิจัยได้จริงหรือ?

: ชาวบ้านทำวิจัยลักษณะไหน?

: ชาวบ้านวิจัยออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร?

: ชาวบ้านมีปัญหาตรงไหน?

: งานวิจัยไทบ้าน อ ยู่ ที่ ก า ร ตี ค ว า ม

ท่านที่เถรตรงก็อาจจะเอากระบวนการงานวิจัยทางวิชาการมาจับ เอากรอบระเบียบวิธีวิจัยมาครอบ เอากฎเกณฑ์เชิงวิชาการมากำหนด ไปตีพิมพ์ในนิตยสารต่างประเทศได้หรือเปล่า เรื่องนี้ถ้าจับเข่าคุยกัน พบกันครึ่งทาง จะทำให้เห็นลายแทงงานวิจัยไทบ้าน ว่ามันมีความหมายความสำคัญ ไม่ได้แตกแยกไปออกไปจนสุดโต่ง แต่เป็นคุณประโยชน์อย่างมาก ถ้าจะหันมาร่วมมือและผนวกกำลังการวิจัยเข้าด้วยกัน

ปัญหาอยู่ที่ว่า..ถ้าจะทำแบบวิจัยไทบ้าน นักวิจัยเชิงวิชาการมีความรู้สึกว่ามันคนละรูปแบบกัน ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก หน่วยงานหรือองค์กรยังไม่ยอมรับ เอาไปตีพิมพ์ เอาไปขอความดีความชอบ เอาไปแสดงผลงานได้ยาก จึงไม่สนใจที่จะร่วมมือร่วมคิดร่วมทำกับนักวิจัยไทบ้าน เรียกรวมๆว่า..สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนักวิจัยยังไม่กระจ่างใจกับการวิจัยไทบ้าน

ทั้งๆที่การร่วมมือกันวิจัยกับไทบ้านจะได้โจทย์ที่ตรงประเด็น

เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

งานวิจัยไทยจะเต็มรูปแบบและส่งผลต่อบริบทของงานวิจัยทั้งระบบ

: ความพิเศษของงานวิจัยไทบ้านอยู่ตรงไหน?

ผ ล ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น ไ ม่ เ ค ย ขึ้ น หิ้ ง ไม่กองคากระดาษเปื้อนหมึก แต่กระโดดโลดเต้นท่ามกลางสายลมแสงแดด แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน กระจายว่อนอยู่ในความครุ่นคิดคำนึง เป็นชุดความรู้ที่มีการสะสาง-พัฒนาต่อยอด ตรงจุดนี้ละครับที่..นักวิจัยสายวิชาการจะมาช่วยต่อยอดหรือพัฒนาโจทย์ร่วมกัน

: เหตุผลที่โจทย์วิจัยควรมาจากผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัย

จุดเปราะบางงานวิจัยของนักวิจัยในสถาบันต่างๆ ส่ ว น ม า ก จ ะ ทำ วิ จั ย ต า ม ใ จ ฉั น บางท่านยังไม่ทราบว่าตนเองต้องการค้นคว้าเรื่องหนึ่งเรื่องใด เมื่อมีไฟล์ให้ต้องทำผลงานวิจัย ก็คิดไม่ออกบอกไม่ได้ว่าตนเองต้องการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องใด ในชีวิตไม่เคยมีเรื่องต้องการค้นคว้าเป็นพิเศษเลยเชียวหรือ! เมื่อจำเป็นต้องทำวิจัย งานวิจัยจึงออกมาแกนๆกระท่อนกระแท่น ไม่มีพลังพอที่จะลงจากหิ้งได้..หาคนสนใจเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำให้เกิดความสูญเปล่างบประมาณและเวลาที่ทุ่มเทลงไป ทั้งๆที่สาระวิจัยเหล่านั้นอาจจะมีคุณค่ามากก็ได้ แต่ไม่ได้มองล่วงหน้าว่าจะขายความคิดนี้ให้กับกลุ่มไหนอย่างไร ถ้าไม่ปรับตรงนี้..สร้างหิ้งรออย่างไรก็ไม่พอเก็บงานวิจัยประเภทนี้หรอกนะครับ

: งานวิจัยไทบ้าน จึงยื่นมือมาขอแช็คแฮนด์ “มาทำวิจัยด้วยกันเถอะ”

ในบางประเทศเขาออกแบบเค้าโครงวิจัยแบบบูรณาการ

ชั้นแรก สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัย ออกทุนให้นักวิจัยทำการวิจัยร่วมกับเจ้าของกิจการ 100% เพื่อสนับสนุนงานวิจัยต้นทางที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนเบื้องต้น

ชั้นที่สอง หลังจากทำการวิจัยได้ระดับหนึ่ง เกิดหมากผลเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้พอสมควร เมื่อต้องการทำวิจัยต่อ สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยสมทบทุนให้ 50%

ชั้นที่สาม หลังจากทำการวิจัยจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ชุดความรู้ที่ได้สามารถเอาไปเพิ่มมูลค่าอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดผลตอบแทนคุ้มทุนคุ้มค่ากับ เจ้าของกิจการได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย สถาบันส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยงดการให้ทุน ถ้าเจ้าของกิจการจะทำการวิจัยต่อยอดต่ออีก ฝ่ายดำเนินกิจการต้องออกทุนจ้างนักวิจัยมืออาชีพด้วยตัวเอง

: ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดนักวิจัยมืออาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทำให้เกิดระบบการจ้างนักวิจัยเพิ่มขึ้นจากการอุดหนุนของภาคธุรกิจ/เจ้าของกิจการต้องการวิจัยเรื่องใดมาสนองกิจการของตนเอง ก็สามารถติดต่อให้นักวิจัยเหล่านี้รับงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากงานวิจัยก็จะเกิดขึ้นประโยชน์อย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นการสร้างนักวิจัยอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีเจ้าภาพรองรับแทนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมทุนของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว ตัวต่อจุดนี้ทำให้นักวิจัยไทบ้านมีความหมายในฐานะกาวเชื่อมระบบวิจัยให้ก้าวหน้าไงครับ?

: มีตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านบ้างไหม?

จะเอาแบบไหนละครับ ถ้าเอาตัวอย่างงานวิจัยสมัยก่อนมีมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น ชาวบ้านไม่มีรถแทรกเตอร์ลากซุงไม้ออกจากป่าไม้เหมือนสมัยนี้ นักวิจัยไทบ้านก็ชวนกันไปคล้องช้างป่ามาใช้งาน ก า ร ค ล้ อ ง ช้ า ง ป่ า มันง่ายไหมละครับ กว่าจะสะสมชุดความรู้ขึ้นมาจนเป็นตำราคชศาสตร์ นักวิจัยไทบ้านต้องลงทุนลงแรงทำการวิจัยอย่างสุดจิตสุดใจ ล้มหายตายไปเพราะการต่อช้างกี่ร้อยชีวิตแล้วก็ไม่ทราบได้ คล้องช้างป่าได้แล้ว ต้องมาหาวิธีฝึกช้างให้เชื่องไว้ใช้งานได้ตามความประสงค์

อีกตัวอย่างหนึ่งง่ายๆ ชาวบ้านเอาไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ได้นานัปการ ทำการจักสานเป็นของใช้ไม้สอย เอามาสร้างบ้าน เครื่องมือดักจับสัตว์ เครื่องดนตรี เชื้อเพลิงฯลฯ สรุปว่าทำได้นับร้อยนับพันอย่าง การก่อเกิดสิ่งประดิดประดอยเหล่านี้ เรียกว่า..ผลงานวิจัยได้ไหมครับ หรือการที่แม่ครัวหัวป่าส์เหล่าเสน่ห์จวักทั้งหลาย คิดเมนูอาหารไทยขึ้นมาจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เป็นอัตลักษณ์-เอกลักษณ์ประจำชาติ ..สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่างานวิจัยไทบ้านได้ไหมครับ รึ จะต้องทำการถอดรหัสเป็นขั้นเป็นตอน สกัดผลการคิดค้นให้ออกมาเชิงวิชาการ หรือนำไปเป็นตำราในต่างประเทศ ไผ่จึงเป็นโจทย์ที่นักวิจัยไทบ้านเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

(ไผ่ใครๆก็รู้จัก แต่ถ้าจะให้รู้อย่างลึกซึ้งครบกระบวนการต้องทำการวิจัย)

: ไผ่ ให้ผลผลิตเร็วและต่อเนื่อง ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าปรับปรุงคุณภาพ/คุณสมบัติ ไม้ไผ่จะใช้แทนไม้ทั่วไปได้อย่างดี

: ไผ่ ขึ้นที่ไหน ดินดีที่นั่น

: ไผ่ ใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงได้หลากหลาย ทั้งผลิตก๊าชชีวมวลได้ดี

: ไผ่ มีนับร้อยสายพันธุ์ พันธุ์กินหน่อ พันธุ์ใช้ลำต้น พันธุ์ไม้ประดับ

: ไผ่ ควรเป็นไม้เบิกนำเชิงรุกในการแก้วิกฤติสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

: ไผ่ ปลูกง่าย ลงทุนต่ำ เก็บเกี่ยวประโยชน์ต่อเนื่องระยะยาว

: ไผ่ เป็นปัจจัยการผลิตเบื้องต้นในการส่งเสริมอาชีพได้นานัปการ

: ไผ่ ช่วยอุ้มดินอุ้มน้ำ รักษาสภาพผิวดินได้ดี

: ไผ่ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพได้นับหมื่นนับแสนครัวเรือน

: ไผ่ เหมาะที่จะเป็นโจทย์เพื่อการวิจัยอย่างยิ่ง

: ไผ่ เป็นไม้ที่ไม่ควรมองข้าม

: ถ้าติดตรงจุดนี้ ก็ช่วยๆกันทำให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์สิครับ

ไม่อย่างนั้นเราจะเอาอะไรไปอธิบายว่าประเทศไทยก็มีแบบแผน มีต้นทุน มีวิธีวิจัยที่เป็นเนื้อแท้ มีโจทย์ มีวิธีคิด วิธีทำการวิจัยในสไตล์ของไทยแท้ๆ ถ้าเรามองข้ามตรงจุดนี้ การสร้างรากฐานงานวิจัยก็จะยังอิหลักอิเหลื่อ จะนำเสนอผลงานวิจัยก็ได้แต่ไปคิดไปอ้างไปยกเอาคำพูดหรือความเห็นของนักวิจัยต่างด้าวมายืนยัน จะหาคำยืนหยัดจากของไทยเราเองไม่มีเลย

: เราไม่คิดที่จะสร้างอัตลักษณ์วิจัยไทยแท้ๆขึ้นมาเลยหรือครับ

: ถามว่า เรายืนอยู่จุดไหนของเวทีวิจัยโลก ถ้าเรายังอ้างแต่ต่างด้าวร่ำไป

: เราไม่เฉลียวใจดูประเทศในเอเชียที่เขายกระดับการพัฒนาจนสำเร็จเลยหรือ

: ตัวอย่างงานวิจัยไทบ้านในมหาชีวาลัยอีสานเป็นอย่างไร?

แหม เรื่องการวิจัยแบบบ้านๆมีเยอะครับ แถมสนุกๆทั้งนั้น

· ด้านอาหารการกินจัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ชิมได้”

· ด้านการเลี้ยงปศุสัตว์จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่อุ้มได้”

· ด้านการป่าไม้จัดอยู่ในหมวด “งานวิจัยที่ให้ออกซิเจนได้”

เรื่องนี้พูดไปก็จะหาว่าโม้ อันที่จริงสิ่งที่ชาวบ้านดิ้นรนแสวงหาความรู้มาแก้ไขปัญหาในการทำมาหากินในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยวิชาความรู้

: วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ

ถ้าไม่พัฒนาให้เป็นมืออาชีพ ก็จะเป็นได้เพียงมือสมัครเล่น

การที่ประชาชนคนไทยขาดการสนับสนุนให้เป็นนักวิจัย-เป็นผู้เรียน-ผู้อยากรู้อยากเห็น-อยากค้นคว้า-อยากทดลอง-ตรงนี้ละครับที่เป็นหัวใจของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยควรจะลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการวางแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาระบบการวิจัยอย่างกว้างขวางให้กับผู้คนทุกชนชั้น ควรจะเอ็กซเรย์ให้เห็นจุดวางรากฐานงานวิจัยไทบ้าน ไปเชื่อมโยงกับระบบงานวิจัยของสำนักวิจัยในสถาบันต่างๆ

: กระบวนการดังกล่าวนี้ควรจะยืดหยุ่น

: ยินยอมให้ลองผิดลองถูก

: ใจเย็นพอที่จะรอดูการผุดพรายของงานวิจัยที่ค่อยๆงอกเงยขึ้นมา

: อย่าตัดสินว่าใช่ไม่ใช่โดยไม่วิเคราะห์เบื้องหลังและฟังเหตุผลให้ถ่อแท้

ที่ฝรั่งเข้มแข็งทางด้านการวิจัย เขาไม่ได้สร้างขึ้นมาภายใน10-100ปีหรอกนะครับ เป็นแต่ชาวตะวันตกมีวัฒนธรรมของการคิดค้นเพื่อแสวงหาวิธีที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น วิสัยทัศน์ชาวตะวันตก..ต้ อ ง ก า ร ที่ จ ะ ส น อ ง กิ เ ล ศ สิ่งไหนจะสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิตก็พยายามคิดค้นกันอย่างเต็มสติกำลัง พลังของการอยากรู้อยากเห็นส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับชาวตะวันออกที่มี แ น ว คิ ด ใ น ก า ร กำ กั บ ค ว บ กิ เ ล ศ พยายามทำอะไรอยู่ในกรอบที่สะดวกสบายตามสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นยุทธศาสตร์

แต่ใช่ว่าชาวตะวันออกจะปรับเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

ดังจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี ก้าวพ้นข้อจำกัดดังกล่าว

เมื่อเขารู้ว่า..อานุภาพงานวิจัยมีความสำคัญต่ออัตราความก้าวหน้าประเทศ

( โคกินใบไม้ไม่แปลกหรอก แต่ถ้าต้องการรู้ว่าดีและพิเศษอย่างไรต้องทำการวิจัย)

: งานวิจัยเรื่องการเอาใบไม้มาเลี้ยงโค

ขออนุญาตเท้าความเล็กน้อย มหาชีวาลัยอีสานดำเนินการปลูกป่าไม้ในพื้นที่แห้งแล้งมาตั้งแต่ปี พ..2521 ในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ได้เปลี่ยนพื้นที่โล่งเตียนมาเป็นต้นไม้นานาชนิด เห็นว่าวัชพืชที่เกิดขึ้นในป่าไม้น่าจะเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปได้ จึงทดลองเลี้ยงโคเนื้อเรื่อยมา จนกระทั้งความแห้งแล้งมาเยือนอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทำให้หญ้าต่างๆที่ปลูกไว้แห้งกรอบไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์เลี้ยง

โคทุกตัว เปลี่ยนจากโคเนื้อเป็นโคหนังหุ้มกระดูก

บอกพ่อค้ามาดู ต่างส่ายหน้าไม่รู้จะซื้อโคซี่โครงโผล่ไปทำอะไร

เมื่อความทุกข์เข้ามาเยือน ทำให้เกิดการดิ้นรนที่จะแสวงหาทางออก จึงทำลองไปตัดกิ่งไม้ชนิดต่างๆมาทดลองให้โคกินปะทังความอดอยาก ชาวบ้านบอกว่า”กินกันตาย” จะเป็นเพราะโคหิวจนหน้ามืดตาลายหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ทุกตัวตั้งอกตั้งใจเขมือบใบไม้อย่างรีบเร่ง อิ่มแล้วก็ไปนอนเคี้ยวเอื้อง เวลาผ่านไป 6 เดือน โคตานขโมยฝูงดังกล่าวค่อยๆมีน้ำมีนวล มีเนื้อมีหนังอ้วนท้วนขึ้น

นักวิจัยไทบ้านเกิดกำลังใจอย่างมาก ตัดใบไม้ชนิดต่างๆมาลองให้โคชิมอยู่เรื่อยๆ สอบถามจากชาวบ้านที่ต้อนโคเลี้ยงตามป่าเขาต่างๆ ได้รับคำบอกเล่าว่า..โคไม่ได้กินเฉพาะหญ้าหรอกนะ ใบไม้ยอดไม้ชนิดต่างๆโคก็เดินและเล็มไปเรื่อย เจอใบไม้หรือผลไม้ป่าที่ชอบถึงกับยืนรอเลยเชียวแหละ เมื่อได้เค้าจากทุกทิศทุกทาง เราก็ประมวลผลไม้ว่ามีใบไม้ชนิดไหนบ้างที่โคชอบ หรือที่ชาวบ้านตัดให้โคกินเสริมอาหารในช่วงแล้ง

หลังจากนั้นใบไม้ชนิดต่างๆก็ทยอยมาเลี้ยงโคหลากหลายชนิด เช่น ใบไทร ใบมะม่วง ใบขนุน ใบกล้วย ใบกระถิน ใบข่อย ใบมะขามเทศ ใบก้ามปู ใบแดง ใบกระถินณรงค์ ใบมันสำปะหลัง ยอดอ้อย ใบขี้เหล็ก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเอาใบผักพื้นถิ่นและวัชพืชต่างๆมาเลี้ยงโคด้วย

เพื่อช่วยให้โคเหล่านี้กินอาหารได้สะดวก มหาชีวาลัยอีสานใช้เครื่องสับกิ่งไม้มาสับใบไม้เลี้ยงโค กิ่งไม้ต่างๆผ่านเครื่องสับออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เอาซ้อมตักใส่ราง..โคเคี้ยวกันแก้มตุ้ม เศษกิ่งไม้ที่ปนมา นึกว่าจะเป็นปัญหาไปทิ่มแถงกระเพาะโค พบว่าโคฉลาดมาก ใช้ลิ้นเตะออกเลือกกินเฉพาะใบไม้ ส่วนเศษกิ่งไม้เล็กๆก็ตกอยู่ก้นรางอาหาร คนเลี้ยงตักโยนเข้าไปในคอกสะสมเป็นปุ๋ยได้อีก

งานวิจัยทำให้เกิดชุดความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปลูกป่าไม้ในระดับชุมชน ปัจจุบันมีชนิดไม้ให้เลือกปลูกแล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น การปลูกไม้อะคาเซีย ซึ่งเป็นไม้ตระกูลถั่ว เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างได้ดี ใบเหมาะที่จะเอามาเลี้ยงสัตว์ ปลูกง่ายโตเร็ว สามารถตัดสางขยายระยะเอามาใช้งาานได้ภายใน7 ปี เป็นต้นไป

ยุคนี้ไม้ต้องไปปลูกไม้เนื้อแข็งที่โตช้าและรอเวลานานๆแล้วละครับ

ปลูกไม้เนื้อแข็งโตพอประมาณขนาดต้นกล้วย

ก็นำมาแปรรูปใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยีไม้ประสาน

เราก็จะมีไม้ใช้สอยสร้างบ้านและทำเครื่องเรือน

ร่นระยะจากความคิดเดิมๆที่ปลูกต้นไม้แล้วรอ 4-50 ปี

: ถามว่า วิธีที่ค้นพบนี้เพียงพอแล้วใช่ไหม

เพิ่งจะเริ่มต้นตั้งไข่เท่านั้นละเธอ

มันเป็นเพียงจุดเริ่มของงานวิจัยไทบ้านเท่านั้น ..

มีคำถามโผล่มามากมาย

· เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใบไม้แต่ละชนิดมีคุณค่าหรือมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง

· ใบไม้แต่ละชนิดมีสารอาหารแตกต่างกันอย่างไร

· ถ้าเอาใบไม้ผสมเลี้ยงสัตว์ ควรจะมีสัดส่วนผสมในแต่ละชนิดอย่างไร

· ใบไม้ชนิดไหนบ้างที่เราควรจะปลูกเพื่อนำมาเสริมใบไม้ที่มีอยู่เดิม

· โคแต่ละตัวต้องการสารอาหารจากใบไม้ปริมาณเท่าใด

· นอกจากใบไม้ยังมีวิธีอื่นมาเสริมอีกไหม

· จะรู้ได้อย่างไรว่าโคชอบใบไม้ชนิดไหนมากที่สุด

: คำถามมีมาให้ค้นหาตอบไม่จบสิ้น โจทย์มาจากการสังเกตที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเลี้ยงและดูที่ตัวโค ปัญหาอยู่ที่ว่า..เ ร า จ ะ ไ ป เ อ า คำ ต อ บ ม า จ า ก ที่ ไ ห น อาศัยความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็คงได้คำตอบมาระดับหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะตอบในเชิงวิชาการได้ ตรงจุดนี้ละครับที่ นั ก วิ จั ย ไ ท บ้ า น ต้องการตัวช่วย โ ห ย ห า นั ก วิ จั ย เ ชิ ง วิ ช า ก า ร

จะเห็นว่า..มีความต้องการที่จะขอความร่วมมือจากนักวิจัยในสถาบันต่างๆเพียงแต่จุดที่จะมาพบกันครึ่งทางนี้ยังไม่มีระบบเชื่อมโยง นักวิจัยไทบ้านต้องดิ้นรนไปติดต่อขอความร่วมมือนักวิชาการในสถาบัน โดยอาศัยความสนิทสนมส่วนตัว ในการติดต่อขอความรู้เบื้องต้น

ถ้าจะให้วิเคราะห์คุณค่าสารอาหารในใบพืช

หรือคิดค้นสูตรอาหารตามหลักวิชาการ

จำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการวิจัย

ถ้าสถาบันที่สนับสนุนงบประมาณส่วนนี้

งานวิจัยไทบ้านก็จะเดินหน้าฉะลุย

สามารถต่อแขนต่อขางานวิจัยให้เข็มแข็งได้

เช่น งานส่งเสริมการปลูกป่าไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ การส่งเสริมอาชีพที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อม การผลิตปุ๋ยจากมูลสัตว์ การผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสัตว์ การปลูกพันธุ์ไม้เพื่อการวิจัย การสร้างธนาคารแม่ไม้พันธุ์ดี การชี้แนะวิธีการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ยั่งยืน

จุดพิเศษของเรื่องนี้อยู่ที่ ชาวบ้านไม่ต้องตัดต้นไม้ ตัดเอากิ่งเอาใบหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ อนึ่ง วิธีนี้ทำให้ชาวบ้านมองเห็นการได้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระตุ้นที่จะปลูกต้นไม้มากขึ้น เกิดการเอากิ่งไม้ใบไม้มาสร้างประโยชน์หลากได้ขึ้น ที่สำคัญงานวิจัยเรื่องนี้ช่วยให้คำตอบเบื้องต้น..

(แพะเลี้ยงด้วยใบไม้อย่างเดียวก็อยู่ได้ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องทำการวิจัย)

1. พบวิธีแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ที่มีต้นทุนประหยัด

2. พบวิธีการประกอบอาชีพที่ไม่เสี่ยงต่อความแห้งแล้งและโรคแมลง

3. พบวิธีที่จะมีรายได้เสริมเช่น ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยจำหน่าย

4. พบวิธีที่จะแตกยอดกิจกรรมเช่น การเลี้ยงแพะแกะ

5. พบวิธีที่จะทำการศึกษาวิจัยไปสู่การงานเพาะปลูกแบบประณีต

6. พบวิธีที่จะศึกษาวิจัยเรื่องไวน์และกราวเครือขาว

7. พบวิธีที่จะยกระดับรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

มองถึงการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ

เพื่อนำไปสู่การปรับสภาพการทำกิจกรรมให้ดีขึ้น

: ยกตัวอย่างเรื่องต้นไม้

เริ่มจากการ-เพาะชำกล้าไม้-ปลูกต้นไม้–คัดพันธุ์ไม้–ตั้งธนาคารแม่ไม้-แปลงสาธิตชนิดต้นไม้เพื่อการวิจัย-จัดทำแปลงปลูกผักยืนต้นพื้นเมืองระยะชิด-แปลงสาธิตการปลูกไม้พลังงานทดแทน-แปลงสาธิตการปลูกไม้ไผ่ป่าไม้-แปลงสาธิตการปลูกไม้โตเร็ว-แปลงสาธิตการปลูกไม้ผสมผสาน-ทำการแปรรูปไม้-ทำเครื่องเรือน-สร้างบ้าน-เผาถ่าน-สับกิ่งไม้ทำปุ๋ย

หลังจากทดลองเอาใบไม้มาเลี้ยงโค ทำให้เกิดความสนใจที่จะคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ วางแผนที่จะวิเคราะห์ข้อมูลคุณสมบัติของใบไม้ เพื่อค้นหาสูตรอาหารที่เหมาะสม และแตกยอดออกไปยังการผลิตอาหารสัตว์จากใบไม้

การเลี้ยงโคขังคอก แทนการต้อนโคไปหาหญ้า เปลี่ยนเป็นเอาหญ้าใบไม้มาเลี้ยงโค โดยใช้เครื่องสับกิ่งไม้สับย่อยให้โคกิน พบว่าโคกินอาหารสับได้มากขึ้น ทำให้เหลือกากอาหารน้อย มูลโคที่ได้มีจำนวนมาก เท่ากับโคเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยที่ราคาถูกและดีที่สุดในโลก ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้ยังนำไปปรับปรุงโดยการหมักผสมกับวัตถุอย่างอื่นให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการใช้และจำหน่ายได้อีก นอกจากนี้ยังนำมูลโคไปหมักทำแก๊สชีวภาพสร้างพลังงานพึ่งตนเองได้ด้วย จากต้นไม้ นำไปสู่การเลี้ยงปศุสัตว์ คิดหยาบๆก็จะเห็นว่าการเอาต้นไม้กับปศุสัตว์มาอยู่ในระนาบเดียวกัน ต่างพึ่งพาซึ้งกันและกัน

นำไปสู่ช่องทางการส่งเสริมปลูกต้นไม้ที่เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการ

นำไปสู่การประกอบอาชีพปศุสัตว์ที่ปรับปรุงวิธีการเลี้ยงที่ประหยัด

นำไปสู่การวิจัยด้านการป่าไม้

นำไปสู่การวิจัยด้านการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โค –ผสมเทียม-เลี้ยงขุน

นำไปสู่การเขียนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาการงานอาชีพและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ

(ไม้ต้นเดียวเป็นป่าไม่ได้สร้างบ้านไม่พอฉันใด ทำวิจัยเดี่ยวก็ฉันนั้น)

: Keyword

วันนี้เราอยู่กับความรู้อะไร ?

ความรู้เราพอเพียงพอใช้แล้วใช่ไหม ?

นักวิจัยเชิงวิชาการ ม า จั บ มื อ กั บ นักวิจัยไทบ้านกันเถิด

ช่วยกันสร้างรากฐานงานวิจัยให้ประเทศของเรา

เพื่อสร้างบรรยากาศการวิจัยให้ชื่นมื่นอี๋อ๋อไปด้วยกัน


คิดง่ายๆทำเบาๆแต่เอาจริงนะเธอ

2 ความคิดเห็น โดย sutthinun เมื่อ 9 สิงหาคม 2011 เวลา 11:34 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 1490

หลังกลับจากกรุงจีน

ก็เห็นว่าการที่จะเดินทางไปไหนมาไหนจะต้องมี ห นั ง สื อ เ ดิ น ท า ง

ก็มาคิดต่อว่า..ถ้าเราช่วยกันทำ ห นั ง สื อ อ อ ก เ ดิ น ท า ง จะดีไหม?

บ้านเมืองเราพูดกันมากเรื่องคนไทยไม่อ่านหนังสือเท่าที่ควร

ถึงกับจัดสัปดาห์ส่งเสริมการอ่าน

แต่ก็นั่นแหละ..ยังอ่านและเขียนกระท่อนกระเแท่นเต็มที

อ่านก็ไม่อ่าน เขียนก็ไม่เขียน

เมื่อจะมาทำการบ้าน-ทำวิทยานิพนธ์..ก็บ่นๆๆและบ่นว่า..คิดและเขียนไม่ค่อยออก โถ ! จะเขียนออกยังไงละหล่อนในเมื่อต้นทุนต่ำทั้งการอ่านและเขียน สิ่งที่อาจารย์สั่งให้ทำก็ขึ้นอืดนะสิ ไปๆมาๆก็งอแงพาลหาเรื่องโบ้บบ้ายไปต่างๆนานา ผมก็มาคิดว่า..ชาวเฮน่าจะทำโครงการหนังสือออกเดินทางน่าจะดีไหมนะ.. เท่าที่ผ่านมาผมได้รับหนังสือดีๆจากสายญาติชาวเฮหลายเล่ม จากอุ้ย ครูอึ่ง ลูกหว้า จากอาจารย์ไพลิน จากรอกอดส์ จากอาจารย์สุรีย์ ธรรมิกบวร จากอาจารย์ระพี สาคริก จากท่านจอมป่วน จากอาจารย์ไร้กรอบ จากท่านบางทราย อาจารย์นฤมล ปราชโยธิน จากท่านจอหงวน ล้วนแต่เป็นหนังสืองดีๆทั้งนั้นนนน ถ้ า ไ ม่ มี เ พื่ อ น ที่ รั ก ก า ร อ่ า น ส่ ง ม าใ ห้  ไหนเลยเราจะได้รู้จักได้อ่านหนังสือที่วิเศษสุดเหล่านี้ แต่ละเล่มถือว่าเป็นวาสนาที่ได้อ่าน อ่านแล้วก็ปลื้มอยู่คนเดียวที่ได้พบความรู้ความสุขจากการอ่าน

อ่านแล้วจะทำยังไงต่อละ..

ผมก็มาคิดว่าหนังสือดีๆเหล่านี้ถ้าเดินทางไปถึงคนที่เรารู้จัก

และอยากให้เขาได้อ่านบ้าง

ทำไม ผมไม่ส่งหนังสือดีๆเหล่านี้ให้ออกเดินทางจากสวนป่าละครับ

ดีกว่าที่จะมาทิ้งอยู่ในตู้ยั่วปลวกให้มาแทะ

อย่ากระนั้นเลย..เอาหนังสือดีๆเหล่านี้ที่กองอุดอู้อยู่ในตู้

เราเอามาจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้คนโน้นคนนี้จะเกิดประโยชน์มหาศาล

ค่าส่งก็ไม่กี่สตางค์หรอกนะเธอ

ถือว่าเป็นการทำบุญ ..และเดินเครื่องเรื่องจิตอาสาเชิงรุก

ช่  ว ย ส่ ง เ ส ริ ม ก า ร อ่ า น ค น ล ะ ไ ม้ ล ะ มื อ

จำได้ว่า.. ป้าหวานเคยเกริ่นเชิญชวนให้ชาวเราแลกหนังสือกันอ่าน  โครงการนี้ก็ใกล้เคียงกันนะป้า..เพียงแต่ว่าส่งไปให้แล้วให้เลย คนที่ได้รับได้อ่าน เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็ช่วยส่งต่อให้เพื่อนให้ญาติให้คนที่รักการอ่านได้อ่าน เ มื่ อ ท่ า น ใ ด อ่ า น แ ล้ ว ก็ ส่ ง ต่ อ ๆ   กั น ไ ป  หนังสือเล่มนี้ก็จะออกเดินทางไปเรื่อยๆ ผ่านมือ ผ่านตา ผ่านใจ ไปสักเท่าไหร่ก็ไม่รู้ได้ ..ในสภาวะที่การศึกษาถูกกล่าวหาว่าโหลยโท้ย เราจะนิ่งดูดายก็ใช่ที่ คงมีหลายวิธีที่จะช่วยเหลือกันผดุงการศึกษานอกระบบหรืออิงระบบ แต่ในชั้นนี้คิดได้แค่นี้ก็ขอลงมือทำ ในปกหนังสือควรจะบันทึกจดหมายน้อยบอกกล่าวกันหน่อย  ยกตัวอย่าง จะส่งหนังสือให้อุ้ย ผมก็จะเขียนว่า..

สวนป่าสนามชัยบุรี

E-mail : sutthinun 2...@hotmai.com

13 สิงหาคม 2554

เรื่อง    โครงการหนังสืออกเดินทาง

เรียน   อุ้ยสร้อยที่รักและคิดถึง

อุ้ยเคยส่งหนังสือแปลเกี่ยวกับเรื่องการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของศาตราจารย์ท่านหนึ่ง ที่ท่านกล่าวถึงเรื่องราวตนเองว่าทำอะไรไปบ้าง บัดนี้จวนจะถึงวาระต้องกลับไปสวรรค์ด้วยสาเหตุที่ไม่อาจจะต่ออายุไขได้ จึงขอแสดงความในใจเป็นครั้งสุดท้ายให้นิสิตทั้งมหาวิทยาลัยฟัง หนังสือเล่มนี้ร้อยเรียงเรื่องราวสะกดคนอ่านจนวางไม่ลง ผมอ่านแล้วชอบมาก ทำให้คิดถึงคนที่ชอบอ่านชอบเขียนชอบบันทึกเรื่องราวต่างๆ จึงขอส่งหนังสือนี้ทำนองนี้มาให้อุ้ยลองอ่านบ้าง อ่านแล้วกรุณาช่วยส่งต่อๆไปให้คนที่อุ้ยเห็นควร โดยบันทึกต่อท้ายว่า..อุ้ยได้อ่านแล้วจึงขอส่งให้คุณ… เมื่อคุณอ่านแล้วกรุณาส่งต่อๆไปด้วย..

ช่วงนี้ยังอยู่บางกอก บ่ายนี้จะไปดูน้ำโขงท่วมตลิ่งที่ฝั่งลาว

อีก2-3 วัน กลับบ้าน

ก็จะคัดหนังสือออกเดินทางส่งให้คนที่รักการอ่านทั่วราชอาณาจักร

ค่อยๆทำไปตามกำลังทรัพย์

ตามที่พระท่านว่า..ใ ห้ ปั ญ ญ า เ ป็ น สุ ด ย อ ด ข อ ง ก า ร ใ ห้ ทั้ ง ป ว ง

ประมาณวันที่ 14-15 เดือนนี้จะตะแล๊ดแต๊ดแต๋ไปเชียงใหม่-ลำพูนอีกคราหนึ่ง

ขาใหญ่ติดใจสะเต๊กที่ร้านอุ้ยแนะนำคราวก่อน

ถ้าอุ้ยว่างก็ช่วยนัดขาเก่าไปดวลกันอีกสักมื้อหนึ่ง อิ อิ..


ด้วยความระลึกถึงเสมอ


สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์


ไม่รู้ภาษาเหมือนบ้าใบ้

อ่าน: 2422

(รถจอดเป็นตับเข้ารอคิวตามป้ายเส้นทางบริการแต่ละจังหวัด)

เร็วๆนี้มีรายการที่จะเมืองนครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 200 กม.เศษ ระยะทางขนาดนี้ได้รับการแนะนำว่านั่งรถตู้ประจำทางสะดวกมาก ตรงไปที่โรงหนังเซ็นจูรี่ใกล้ๆกับซอยรางน้ำ จะมีรถตู้วิ่งบริการออกจากบางกอกยั๊วเยี้ยทั้งวัน ไปถึงก็จริงๆด้วย มีรถตู้จอดเป็นตับ เข้าไปติดต่อซื้อตั๋วนั่งรอไม่ถึง 10 นาทีรถก็ออก ผู้โดยสารเต็มไม่เต็มก็เผ่นตามเวลา ระบุที่นั่งได้ด้วยนะ นั่งสบายๆ14ที่นั่งไม่ต้องเบียดกันให้อึดอัด การเปิดบริการด้านนี้ช่วยเปิดทางเลือกให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ต้องไปแออัดนั่งรถโดยสารประจำทางอีกต่อไป คุยกับผู้สันทัดกรณีได้ความใจความว่า ผู้รับสัมประทานเส้นทางจะต้องยุบรถโดยสารประจำทาง1คันมาแลกกับรถตู้ 3 คัน รถตู้เหล่านี้ใช้แก๊สธรรมชาติทำให้ประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ถึง3เท่า

(ผู้โดยสารเต็มไม่เต็มถึงเวลาก็ต้องออกเดินทาง)

ราคารถคันละ 1,300,000 บาท

ค่าคนขับได้รับเที่ยวละ200 บาท วันหนึ่งวิ่งประมาณ 3 เที่ยว

ค่าน้ำมันกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ ไป-กลับ ประมาณ 4-500 บาท

ค่าโดยสาร ขาไป 150 บาท ขากลับ 170 บาท

ค่าสัมประทานเส้นทาง..ไม่ทราบ

ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งถึง3ชั่วโมง

รถออกทุก 1 ชั่วโมง

(รถจะจอดเติมก๊าซ ประหยัดค่าน้ำมันได้3เท่า )

รถตู้ดังกล่าวนี้มีหลายบริษัทนะครับ จอดอยู่ตามย่านต่างๆ แม้แต่ในตัวจังหวัดนครสวรรค์ก็มีหลายเจ้าให้เลือก ถ้าเราจะเดินทางออกจากบางกอกทุกเส้นทางทั่วประเทศในระยะ200-250 กม. ลองใช้บริการดูนครับ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผมเพิ่งไปทดลอง ชอบมากขอบอก แถมตอนที่จะลง..ถ้าไม่ไกลออกนอกเส้นทางนักโชเฟอร์ก็จะใจดีส่งถึงที่ หรือไม่ก็แวะส่งจุดที่เราต่อรถได้สะดวก เท่าที่สังเกตมีผู้ใช้บริการกันมาก เข้าทำนอง..เ ข า รู้ กั น ตั้ ง น า น แ ล้ ว ล ะ ลุ ง  !  อิ  อิ..

(สถานีรถไฟปลายทางที่เราลงรถ)

ถ้าจะพูดถึงการสัญจรแบบจำไม่ลืมต้องไปขึ้นรถไฟของประเทศจีน จีนพัฒนาการคมนาคมมวลชนได้อย่างกว้างขวาง รถไฟใต้ดินมีอยู่ทุกเมือง ทำให้ลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนได้อย่างมาก แม้แต่เมืองขนาดใหญ่อย่างเผวียงไฮ้ ปริมาณรถยนต์ก็ไม่หนาแน่นเท่าบางกอกของเรา รถยนต์ยังวิ่งไปคล่องพอสมควร ส่วนการเดินทางระหว่างเมือง จีนสร้างถนนหนทางได้มาตรฐานพุ่งออกไปทั่วประเทศ การเดินทางโดยรถทัวร์ รถประจำทางสะดวกไม่แพ้ประเทศอื่น โดยเฉพาะรถไฟถือว่าจีนก้าวหน้าไปอย่างมาก มีเส้นทางรถไฟยาวที่สุดในโลก ไม่ยาวเฉยๆนะครับ ยังมีเส้นทางคู่ขนานรางกว้าง รถไฟวิ่งด้วยความเร็วหลายระดับ  120 กม.-140 กม.-320 กม. เลือกได้ตามความประสงค์

(นั่งมองจันทร์ผ่านหน้าต่างรถไฟ)

การเดินทางด้วยรถไฟระยะทางนับพันกิโลเมตรข้ามวันข้ามคืน ถ้าไม่นั่งๆนอนๆไปก็สาหัสเหมือนกันนะครับ ราคาตู้นอนแต่ละชั้นก็แตกต่างออกไป ชั้นล่างใครๆก้ต้องการ ถ้าไม่ได้ขอชั้นกลางก็ยังดี แต่ถ้าจำเป็นได้ที่นอนบนสุดก็แย่หน่อย เพราะอยู่ห่างจากหลังคาไม่มาก ไม่สามารถนั่งชมวิวได้ ขึ้นไปต้องนอนคดคู้อย่างเดียว แต่เขาก็มีที่นั่งข้างทางเดินให้ลงมายืดเส้นยืดสายชมวิว ง่วงเมื่อไหร่ก็ป่ายปีนขึ้นไปนอน

รถไฟจีนวิ่งนิ่มนอนสบาย

ไม่กระฉึกกระฉักให้สะดุ้งแทบตกเตียง

ข้อเสีย : จีนสูบบุรีกันควันโขมง..

เช้าๆ..ยังมีรายการเสริฟ์อาหารร้อนๆ

และมีกระติ๊กน้ำร้อนให้ใช้ตลอดเส้นทาง

ผมออกไปเดินยืดเส้นยืดสายที่ตู้อื่น

กลับมามองหาที่นอนของเราไม่เจอ

ตอนไปเขายังไม่เอาม่านลง..

จึงยืนงง..ที่นอนเราอยู่ตรงไหนหว่า..

ไม่รู้จะถามใคร แล้วทำยังไงละ..

เดินเปิดม่านโน้นม่านนี้..อาเฮีย อาเจ๊ ร้องไอ๊หย๊า!!

ก ว่ า จ ะ เ จ อ ที่ น อ น ตั ว เ อ ง ก็ เ ห งื่ อ ต ก. .

วิบากกรรมยังไม่จบเท่านั้นนะเธอ

ช่วงกลางคืน..ทุกคนนอนหลับไหล

เจ๊ใหญ่นอนเตียงบนสุด

หมวยเล็กนอนเตียงกลาง

ผมนอนเตียงล่างสุด

หมวยเล็กขึ้นๆ-ลงๆเตียงทั้งคืน

เธอมองมาที่ผม..คงอยากจะชวนคุย..

แต่ไม่รู้ภาษากัน..ได้แต่ทำมือแบ๊ะๆ..

มูลเหตุมาจากเจ๊ใหญ่นะสิครับ

แกกรน..ดังม๊ากกก..เสียงรถไฟยังเบากว่าเสียงคร๊อกฟี๊เจ๊

ผมอยู่เตียงล่างไม่กระไรนัก..นั่งชมจันทร์เสี้ยวที่วิ่งไล่รถไฟ

แต่หมวยเล็กนะสิ เ ธ อ ค ง ท ร ม า น ม า ก . .

..จ ะ ห า ค น คุ ย ด้ ว ย สั ก ค น ก็ ทั้ ง ย า ก . .

โลก หนอ โลก ..


งานวิจัยไทบ้านอยู่ไส?

อ่าน: 3549

บทที่ 4 เปิดโลกวิจัยสู่สังคมเรียนรู้

ปลายเดือนนี้ มหาชีวาลัยอีสานมีรายการจะเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนที่บางกอก ในงานที่สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยประจำปี 2554 ระหว่างวันที่26-30 สิงหาคม งานนี้ชุมนุมเจ้ายุทธจักรนักวิจัยในระบบทั่วไทยแลนด์ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ราชประสงค์ สำนักงานฯได้ชักชวนให้มหาชีวาลัยเสนอประเด็นเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคของงานวิจัยไทบ้าน” วันที่ 27 สิงหาคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ห้องLotus ชั้น 22

งานนี้นับเป็นโอกาสที่หายากยิ่ง ที่ชาวบ้านผู้ซึ่งต้องการผลงานวิจัยของนักวิชาการและหน่วยงานต่างๆมาช่วยคลี่คลายปัญหาในวิถีชีวิต จะได้ไปบอกกล่าวถึงสภาพการใช้งานวิจัยที่หลุดตกลงมาจากหิ้งว่าเป็นอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกระดับงานวิจัยไทบ้านเข้าไปอยู่ในระบบของสภาวิจัยฯ หรือ จัดให้มีการพบกันครึ่งทางร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้งานวิจัยกับผู้ทำการวิจัยอย่างที่ในต่างประเทศเขาทำกัน

ขั้นที่ 1 สถาบันสนับสนุนการวิจัยออกทุนงานวิจัย 100%

ให้นักวิชาการกับนักวิชาเกินไทยบ้าน ได้ทำการวิจัยร่วมกัน

ขั้นที่ 2 สถาบันสนับสนุนการวิจัยออกทุนสมทบงานวิจัย 50%

ที่เหลือให้นักวิจัยไทบ้านออกทุนกึ่งหนึ่ง

ขั้นที่ 3 ถ้าต้องการพัฒนาการวิจัยให้สูงขึ้น ผู้รับประโยชน์ออกทุนเอง100%

ถ้ามีทิศทางดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าถ้าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยทำให้เกิดรายได้ สามารถที่จะเฉลี่ยออกมาเป็นทุนวิจัยได้ โดยขั้นที่ 2 สถาบันวิจัยมีภาระสนับสนุนลดลงกึ่งหนึ่ง ในขั้นสุดท้ายเมื่อมีรายได้หรือเกิดผลประโยชน์มาแล้ว ถ้านักวิจัยไทบ้านต้องการวิจัยต่อ จะต้องออกค่าใช้จ่ายให้นักวิชาการวิจัยทั้งหมด ตามแผนงานดังกล่าวนี้จะเห็นแนวทางการสร้างนักวิจัยมืออาชีพได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งทำให้เกิดอาชีพ”นักวิจัย”อิสระเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งน่าจะดีกว่าทำวิจัยตามใจฉันแล้วหาคนเอาไปใช้งานไม่ได้

ความรู้ดีๆที่อุตส่าห์ค้นคว้ามาแทบเป็นแทบตายหงายเก๋ง

ไม่สามารถแสดงอภินิหารกระโดดโลดเต้นออกมาจากหน้ากระดาษได้

ทำให้ผลประโยชน์งานวิจัยที่มีอยู่มากเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

(ถ้าคิดใหม่ ทำใหม่ ก็จะพบสิ่งใหม่ๆ)

ยุคนี้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามตกอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ภาคชุมชนก็ตกอยู่กับอาการดังกล่าวนี้ด้วย ทำให้การพัฒนาการด้านวิชาชีพเป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ เพราะไม่มีชุดความรู้ที่เหมาะสมมาช่วยแก้วิกฤติแห่งความบ้องตื้นได้ การทำมาหากินสมัยนี้ต้องอาศัยวิชาการมาพัฒนาอาชีพ วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ ถ้ายกระดับความเป็นมืออาชีพไม่ได้ ก็จะตกอยู่ระดับมือสมัครเล่น ในอดีตเราจะเห็นชาวไร่ชาวนาเป็นมืออาชีพ สามารถดำเนินชีวิตได้การพึ่งพาภูมิปัญญาและทักษะชีวิตของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ แทบไม่ต้องพึ่งพาภายนอกใดๆ ต้องการได้ช้างมาลากซุงก็ไปคล้องช้างมาฝึกใช้งาน ต้องการได้เครื่องมือมาบรรทุกผลผลิตก็ช่วนกันสร้างล้อสร้างเกวียนขึ้นมาใช้ ต้องไถไร่ไถนาก็ฝึกวัวควายมาเป็นแรงงาน ถามว่า..ทำไมไม่ดำเนินการต่อไปละ

ก็บอกแล้วไง ยุคนี้ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็คงจะลากตะบองล่าสัตว์และยังอยู่เป็นมนุษย์ถ้ำ

ตัววิชาความรู้ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน

ประเทศไหนที่มีวิชาความรู้มากก็เจริญและเอาเปรียบประเทศด้อยปัญญา

สินค้าที่แพงที่สุดในโลกก็คือสินค้าความคิดใหม่ที่แฝงอยู่ในทุกเทคโนโลยี

จะตั้งราคาจะกำหนดสิทธิบัตรเอาไว้อย่างไรก็ได้

ประเทศที่อ่อนด้อยทางวิชาการก็ตกอยู่ในสภาพกินน้ำใต้ศอก

ต้องนำเข้าทุน-นำเข้าความรู้-นำเข้าเทคโนโลยี-จ่ายค่าโง่ที่เจ็บปวด

ประชาคมโลกแข่งขันกันตรงผลงานการวิจัยนี่เอง

วิ ช า ค ว า ม รู้ ใ ห ม่ ๆ คื อ อำ น า จ

(การใช้ใบไม้เลี้ยงโค-แพะ เป็นโจทย์วิจัยของเรา)

ถามว่า ชาวบ้านละ มีการวิจัยช่วยเหลือตัวเองบ้างไหม หรือดีแต่งอมืองอเท้ารอให้คนอื่นมาแนะนำมา มาอบรม มาชี้นิ้วบอก ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไม่ก็ฟังมาจากการโฆษณาจากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในประมาณนี้ จุดบอดอยู่ที่คนบอกก็ไม่ได้ลงมือกระทำครบวงจร เป็นแต่ค้นคว้าลงลึกไปเรื่อยๆ บางที่ก็ไม่คำนึงถึงวิธีการถ่ายทอดไว้ด้วย มันจึงดูไม่ลงตัวทั้งเครื่องรับและเครื่องส่ง ยกตัวอย่างเช่นโทรทัศน์ ถ้าเราเปิดไม่ตรงช่องมันก็ยากที่จะเห็นภาพ ทั้งๆที่มันมีภาพพร้อมรออยู่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ เป็นไปได้ไหมที่นักวิจัยจะมาทำการวิจัยร่วมกับชาวบ้านแบบพบกันครึ่งทาง จะได้ลดขั้นตอนการแปรรูปวิชาความรู้ได้อย่างมาก

(การค้นพบวิธีปลูกต้นไม้ที่เร็วและประหยัดต้นทุนเป็นกรณีศึกษา)

จึงแจ้งข่าวชวนชาวเฮฮาศาสตร์ไปโต๋เต๋และร่วมนั่งวิพากษ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ที่หมายตาและชวนไว้แล้วได้แก่ท่านจอหงวน รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์  “คนถางทาง” ที่ปักหลักก่อหวอดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่เว้นวาย จุดพิเศษอยู่ที่อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับนาสา ประกอบกับสนใจแก่นสารงานภูมิปัญญาไทย ได้รวบรวมสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อนให้เห็นวิธีการวิจัยของไทบ้าน อาจารย์เคยอธิบายว่า แม้แต่ละไลยักษ์ เครื่องหีบอ้อย เครื่องหีบน้ำมันงา ฯลฯ ที่จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีนั้น เป็นตัวจริงตัวงานวิจัยของจริงที่ใครก็ไปสัมผัสได้ ถ้าพิจารณาให้ดีมันไม่ใช่ทรากของเก่าที่เอามาดูมาโชว์เท่านั้น

มันเป็นต้นทุน และ ต้นทาง ให้นักวิจัยยุคนี้เอาไปคิดต่อยอด

แต่ก็นั่นแหละ..ในเมื่อเราไม่มีจิตวิญาณของนักวิจัย

ไม่มีสายตาเอกซเรย์แบบนักวิจัย

เราไม่มีสัญชาตญาญของนักวิจัย

เ ร า จึ ง ม อ ง ไ ม่ เ ห็ น อ า นุ ภ า พ ง า น วิ จั ย ไ ท บ้ า น

พูดไปก็ไลย์บอย เมื่อมีโอกาสไปขายความคิดในเรื่องนี้ ก็จะบอกกล่าวเล่าแจ้งว่า ถ้าสนับสนุนชาวบ้านให้เป็นนักวิจัยตามอัตลักษณ์ของเขาเอง ลงทุนทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะเขี่ยเอาวิสัยทัศน์เก่าๆออกมาได้ เช่น ถ้าชาวบ้านอยากจะรู้ว่าในหมู่บ้านของตนเองควรจะปลูกผลไม้ชนิดไหนได้ผลดีที่สุด ก็ควรเอาผลไม้ชนิดนั้นหลายๆสายพันธุ์มาทดลองปลูก แล้วติดตามดูผลผลิตผลลัพธ์อย่างละเอียด ก็จะทราบว่าผลไม้ต้นไหนดีที่สุด ชนิดไหนอยู่ในระดับรองสองสาม เมื่อรู้ข้อเท็จจริงแล้วก็ส่งเสริมให้ปลูกกันมากขึ้น แล้วทดลองยกระดับคุณภาพของผลไม้ชนิดนั้นต่อไปอีก จนได้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ดังคำว่า ..ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย ทำให้เกิดสายพันธุ์ไม้ผลคุณภาพประจำถิ่นชนิดต่างๆ เรื่องลักษณะนี้มีอยู่ทั้วไป เช่น กล้วยไข่กำแพงเพชร มะขามหวานเมืองเพชรบูรณ์ ฯลฯ

งานวิจัยที่มหาชีวาลัยจะนำเสนอมีมากมายหลายเรื่อง โดยจะหยิบยกเอาทั้งงานที่ค้นพบด้วยตัวเอง และงานที่เชื่อมโยงกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในกรอบเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรประณีต-และการแก้ไขปัญหาในการงานอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น กาารปลูกต้นไม้ เอาเอากิ่งใบมาสับเลี้ยงโคและแพะ การปลูกน้ำเต้า การนำหวดข่ามาหมักไวน์ การปลูกไผ่ ปลูกไม้อาคาเซีย แล้วอธิบายว่า..ตรงไหนคือผลของการวิจัยไทบ้าน ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อตนเองและมีประโยนช์ต่อสังคมการเกษตรบ้านเราอย่างไร


ปลูกต้นไม้ -ไม่ต้องตัดลำต้น -ตัดเอาเฉพาะกิ่งไม้ทำฟืนทำเชื้อเพลิง-ใบไม้นำไปเป็นอาหารสัตว์-มูลสัตว์นำไปเป็นปุ๋ย-นำไปทำก๊าซชีวภาพ-นำไปใส่ต้นไม้และแปลงผัก งานลักษณะนี้อธิบายเรื่องแนวทางการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของธรรมชาติได้อย่างมีเหตุมีผลเรียกความสนใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจกับต้นไม้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะเห็นช่องทางการได้รับประโยชน์ที่หลากหลายในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวชัดขึ้น โดยเอาประสบการณ์ตรงมาขยายความ..แล้งหนักปีที่ผ่านมาหญ้าแห้งตาย โคขาดอาหารอย่างมาก ผมอโซเห็นแต่หนังหุมกระดูก เมื่อเอาใบไม้มาสับเลี้ยงทดแทนหญ้าสด พบว่าโคฟื้นคืนสภาพอ้วนท้วนได้ จุดเล็กๆตรงนี้ละครับ ที่จะช่วยให้สัตว์ทั่วประเทศรอดตาย แล้วยังจะขยายผลไปสู่การแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เห็นช่องทางที่ปรับปรุงงานการปศุสัตว์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่นการปรับปรุงพันธุ์โค การยกระดับการเลี้ยงขุน มีโจทย์ร่วมกับนักวิจัยในสถาบัน เช่น ร้องขอให้นักวิชาการวิเคราะห์คุณค่าอาหารในใบไม้แต่ละชนิด วิเคราะห์การนำผลไม้มาหมักทำไวน์เลี้ยงโค การใช้หัวกราวเครือขาวมาผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

(การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยให้ปลูกง่าย-ต้นไม้โตไว-งานเร็วขึ้น)

ทำให้เกิดการพิจารณาที่จะค้นหาชนิดของต้นไม้มาปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ในงานนี้จะเสนอกลุ่มไม้อะคาเซีย ซึ่งใบเอามาเลี้ยงสัตว์ได้ เนื้อไม้มีคุณภาพสูงสามารถเอามาแปรรูปใช้สอยตั้งแต่ไม้มีอายุ7ปี ไม้อีกชนิดหนึ่งได้แก่ไม้ไผ่ ที่เรามองเห็นว่าจะเป็นไม้ที่มีความสำคัญมากในอนาคต ไม้ไผ่ปลูกที่ไหนก็ทำให้ดินดีขึ้น ไผ่บางชนิดให้หน่อทั้งปี ไผ่บางชนิดลำตรงเปลาตรงเนื้อไม้ดี สามารถตัดหมุนเวียนไปใช้งานได้ในปีที่3 ไผ่จึงเป็นชนิดที่ให้เนื้อไม้เร็วกว่าการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป ในงานนี้เราจะเอาหนอไผ่กิมซุงและหน่อไผ่หม่าจูไปให้ชมด้วย

(ตู้อบแสงอาทิตย์ ฝนตกก็บ่เป็นหยัง)

ส่วนน้ำเต้าปีที่แล้วปลูก20สายพันธุ์ ได้เอาวิชาความรู้ด้านการทำตู้อบแสงอาทิตย์ที่อาจารย์ทวิช จิตสมบูรณ์ ทำการวิจัยไว้ไปทดลองทำตู้อบขึ้นมา พบว่าตู้ดังกล่าวให้ความร้อนสูงมาก สามารถอบผลผลิตทางการเกษตรได้ทุกชนิด เช่น พริกแห้ง กล้วยอบ หน่อไม้อบแห้ง เนื้อแดดเดียว ปลาแห้ง อบสมุนไพร ฯลฯ งานนี้จะมีผลน้ำเต้าหลากสายพันธุ์และเมล็ดน้ำเต้าพันธุ์แปลกๆไปจำหน่ายด้วย  ยังมีงานที่ต้องตามเก็บเกี่ยวเอาไปโม้อีก เช่น การใช้สว่านเจาะดินปลูกต้นไม้ การจัดตั้งธนาคารแม่ไม้ การกลั่นน้ำมันยูคาลิปตัส การแปรรูปไม้สร้างบ้าน

การปลูกผักพื้นเมืองระบบชิด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเอาไปโม้ว่ามันดีอย่างไร ดีตรงไหน พิเศษจริงหรือเปล่า เสียดายที่เขาไม่ให้เอากระทะไปผัดโชว์ ไม่งั้นเธอเอย กลิ่นผัดผักกระทะร้อนกระจายฟุ้งไปทุกบู๊ทเชียวแหละ อาจจะใช้การฉายวีดีโอให้ชมแทน หรือไม่ก็จัดผักตัวอย่างไปให้ชม  งานวิจัยไทบ้านไม่ต้องขึ้นหิ้ง มีแต่จะขึ้นกระทะ ขึ้นจาน ขึ้นโต๊ะ ขึ้นโรงแรม และขึ้นเวทีงานวิจัย

หลังจากโพนทะนาเรื่องนี้ออกไป

เจ้าหน้าที่ฯบอกว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้าห้องนี้หลายร้อยแล้วละครับ

หนังสือพิมพ์ ค ม ชั ด ลึ ก ไปได้ข้อมูลจากที่ไหนไม่ทราบ

เมื่อวานนี้โทรมาบอกว่า..ครูบาได้รับการคัดเลือกให้ไปรับโล่รับรางวัล

ตัดหน้างานวิจัยคราวนี้เสียอีก

เฮ้อ ..อะไรมันจะขนาดนั้นนนนนนน

ขออนุญาตประกาศ ประกาศ และประกาศ

ในช่วงวันที่ 27 ศกนี้

ถ้าท่านบางทรายย่องมาดูบ้านใหม่ ก็แวะมานะครับ

คุณหมอจอมป่วนถ้าลงมาเรียนสสส.3 ก็แวะมานะครับ

คุณรอกอสถ้าว่างจากช่วยงานน้ำท่วม ก็แวะมานะครับ

ท่านอื่นๆที่เผอิญมาบางกอกช่วงนั้น ก็แวะมานะครับ

เจอหน้าเมื่อไหร่ โยนไมค์เมื่อนั้น อิ อิ..

ช่วงนี้กำลังปั่นต้นฉบับ กะจะพิมพ์ให้ทันออกวางในงานนี้

ชื่อหนังสือ : งานวิจัย ให้ไทบ้านช่วยดีไหม?


ผักส่วนตัวสวนครัวรอบบ้าน

อ่าน: 4497

บทที่ 3 สวนผักส่วนตัว

เมื่อวานนี้ได้ต้อนรับอาคันตุกะที่ตรงกับหัวข้อนี้ เธอไปทำงานในยุโรปหลายสิบปี กลับมาเมืองไทยรับหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ของสายการบินหนึ่ง ขยันขันแข็งทำงาน เป็นหนูถีบจักรที่รับผิดชอบจนเป็นที่ชื่นชมของบริษัท ทำงานดีรายได้ก็ย่อมงอกเงยดี แต่พอพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตและสังคม พบว่าเพื่อนรักคนที่รู้จักล้มหายตายจากไปที่ละคนสองคน ผักที่ซื้อรับประทานทุกวันก็พบว่าปนเปื้อนสารพิษสารเคมี เกิดฉุกคิดว่า..เราจะบริหารชีวิตให้สมดุลและปกติสุขได้อย่างไร เงินทองก็ไม่เดือดร้อนแล้ว ยังจะมาบ้าจำเจง๊อกๆอยู่กับที่อย่างนี้ไปอีกทำไม

ว่าแล้วก็ลาออกจากงาน

กลับไปอยู่บ้านหลังใหญ่อายุ100ปี ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ตั้งใจว่าจะอยู่อย่างสงบสบาย

อยากจะปลูกผัก ทำกับข้าว ติดโชคอัพให้ชีวิต

อยู่กับสายลม-แสงแดด-น้ำหมอกน้ำค้างบ้าง

แ ต่ ไ ม่ รู้ ว่ า จ ะ เ ริ่ ม ต้ น อ ย่ า ง ไ ร

นี่ คื อ โจทย์ที่คุณอาของเธอพามาที่นี่

(แบ่งปันพันธุ์ผักไปปลูกที่หางดง )

อาจารย์ศุภชัย พงศ์ภคเธียร คุณอาของเธอสอนมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแกนสำคัญในการตั้ง โ ร ง เ รี ย น สั ต ย า ไ ส จังหวัดลพบุรี เป็นกรรมการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา แถมยังเป็นนักศึกษาโค่ง สสสส.1 ร่วมกันอีกต่างหาก อาจารย์ติดต่อไว้หลายครั้งแต่วืดทุกที ช่วงที่ชาวสสสส.1 มาบุกสวนป่า อาจารย์ก็แห้วเพราะมีงานโป๊ะเช๊ะ คราวนี้หลานสาวสนใจจะปลูกผักเพื่อบริการกระเพาะตัวเอง จึงชวนกันดั้นด้นมาสนทนาพาที ทั้งคู่เป็นชาวมังสะวิรัติ มื้อเย็นจึงชวนรับประทานผักเป็นพื้น โฉมยงต้มเห็ด ผัดสารพัดผักให้ชิม หลังจากคุยกัน ทราบว่าคุณหลานมีพื้นที่จะทำการปลูกผักอยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมที่จะปลูกได้อย่างสะดวกโยธิน เพียงแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง

ทั้งคู่ตื่นแต่เช้ามาเดินฟังเสียงนกเขาป่าขันคู ผมตื่นแล้วติดตามมาชวนชี้ชมให้ดูแปลงเกษตรแปลงผักแบบมั่วๆของที่นี่ บังเอิญช่วงฝนอย่างนี้มีผักพื้นถิ่นผักยืนต้นพื้นบ้านแตกช่อออกดอกออกเถาว์พันกันยั้วเยี้ย เดินไปตรงไหนก็เจอแต่ผักๆๆ ส่วนมากคนกรุงไม่รู้จัก ถึงเราจะบอกว่า..ไอ่นั่นก็กินได้ไอ่นี่ก็อร่อย ..ผมบอกว่าที่นี่ไม่มีแปลงผักสวยๆงามๆเรียบร้อยเหมือนที่อื่น ที่ดูรกเรื้อนี่แหละคืออาหารปลอดสารพิษทั้งนั้น

ปัญหาอยู่ที่..

ทำอย่างไรจะรู้จัก รู้รส รู้วิธีรับประทาน

ทำอย่างไรจะรู้นิสัยของผักแต่ละชนิด

ทำอย่างไรจะรู้วิธีปลูก วิธีบำรุง วิธีดูแล

ปัญหาเบื้องต้นอย่างนี้แก้ง่าย สงสัยประเด็นได้ก็ต้องลงมือทำ จึงชวนคุยเรื่อง “ความสุขที่ชิมได้” การออกแบบแปลงปลูกผักในที่จำกัดแตกต่างกับการปลูกผักในพื้นที่กว้างๆ ถามว่าเธอชอบรับประทานผักชนิดไหนมากที่สุด ก็เหมือนคนเมืองทั่วไปนี่นแหละ ผักสลัด-บล๊อกเคอรี่-ผักกาด-ผักคะน้า-ผักบุ้ง-ถั่วฝักยาว-มะเขือ-แตงกวา-มะเขือเทศ เธอพยายามมองหา.. ไม่เห็นมีสักกะอย่าง จะเห็นอย่างไรละครับในเมื่อเราไม่ได้ปลูก ผักตามฤดูกาลพวกนั้นเราจะปลูกบ้างในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่ช่วงฝนชุกอย่างนี้สวนป่ามีผักพื้นถิ่นเหลือเฟือ เจี๊ยะหน่อไม้ หัวปลี ผักเม็ก ผักตำลึง ตะลิงปิง มะเขือเปรอะ มะเขือพวง บวบ พริก ขมิ้นขาว เห็ดละโงก ยอดโสม ยอดอ่อมแซบ ยอดผักโขมจีน ยอดและดอกมะรุม ยอดเพกา ยอดมะตูม ยอดมะกอก ยอดเสาวรส ยอดขี้เหล็ก ยอดสะเดา ยอดชะอม ยอดมะยม ยอดมะระขี้นก ถั่วงู ถั่วพู น้ำเต้า ฯลฯ

(รอกอดส์แนะให้ปลูกเผือกปลูกมัน กอสูงใหญ่กว่าของเมืองจีนเสียอีก)

ที่นี่มีปุ๋ยมูลโคมากมายไปใส่ไปปลูกผัก

ผักที่นี่จึงงอกงาม ต้นเผือกสูงใบใหญ่ที่สุดในโลก

ผักเหล่านี้เลี้ยงทั้งคน ทั้งแพะ และโค

โฉมยงจัดเมนูทุกมื้อเธอได้ชิมผักพื้นถิ่น

ได้คุยถึงผักพื้นบ้าน

เธอสนใจมะสัง เผือก จึงแบ่งพันธุ์ไปให้ปลูก

(แม่แพะท้องใหญ่คลอดลูก 3 สาว ตายไป1เหลือ2สาวน้อยแข็งแรงดี)

เรื่องอย่างนี้มันต้องสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าเราตั้งใจตั้งเข็มทิศให้ถูก อีกหน่อยผักสารพัดชนิดก็จะเพิ่มขึ้นตามที่ตั้งใจ ปลูกผักเป็นกิจกรรมที่คนเมืองควรจะได้มีโอกาสปลูกกันบ้าง จะได้ตระหนักว่าอาหารที่เรารับประทานแต่ละมื้อนั้น ถ้าจะให้แน่ใจก็ต้องเป็นผักที่เราลงมือปลูกเอง เธอถามถึงเรื่องโรคแมลง การป้องกัน วิธีดูแลผัก ผมบอกว่าที่นี่ไม่มีแมลงตัวไหนดื้อดึงมารุกรานผักของเรา เห็นไหม เดินๆๆดูมาตั้งนานมีแมลงตัวไหนมากินผักพื้นบ้าน ถ้าเราเข้าใจเพื่อนร่วมโลก อยู่ด้วยกันแบ่งปันได้ ผักที่แมลงรบกวนนิดหน่อย ถือว่าเป็นการวิเคราะห์ความปลอดภัยให้เราได้เป็นอย่างดี ผักสวยๆในตลาด ไม่ต่างอะไรก็อาหารอาบสารพิษ

(ตอตาลเอามาทำเป็นกระถางปลูกผักนานาชนิดเก๋ไก๋ไม่เบา)

หลังเธอกลับไป 1วัน รุ่งขึ้นผมออกแบบปลูกผักรอบบ้านแบบใหม่ จะได้อธิบายให้คนเมืองเข้าใจง่ายๆ  บอกให้คนงานเอาตอตาลที่ตัดทิ้งไว้ปีที่แล้ว ปล่อยให้ปลวกและด้วงช่วยกันเจาะใส้ในให้กลวง ถ้าเราจะเจาะเนื้อตาลตอนสดๆทำยากมาก แต่ยืมพลังแมลงจัดการอย่างนี้สบายแฮ โพรงตอตาลท่อนไหนที่เล็กๆเบาๆเราก็เอาไปทำกล่องเลี้ยงผึ้ง พวกใหญ่บึกบึนก็เอามาเรียงเป็นแถว เอาดินผสมปุ๋ยใส่ให้เต็มเนื้อที่ข้างใน หลังจากนั้นก็เอาผักสารพัดชนิดมาปลูก มีทั้งหมดร้อยกว่าท่อน คงครบเครื่องครบครันผักให้เดินเด็ดชิมสบายๆ กลางหนาวที่นี้ผักที่ว่าก็จะแตกกอออกดอกออกผลแล้วละครับ

ตอนนี้อยากจะชิมผักชนิดไหนบอกได้

พรุ่งนี้ก็จะทยอยปลูกแล้วนะจ๊ะ

อ่านหนังสือเมื่อคืนนี้ ผู้สันทัดกรณีบอกว่า ถ้าเครียด ถ้าโกรธ ถ้าเหงาเศร้า จะส่งผลกระทบต่อกลไกภายในร่างกาย ที่ไม่เจ็บป่วยก็อาจจะปั่นป่วน ที่ป่วยร่อแร่ก็มีแต่จะทำให้อาการทรุดหนักได้ ดูพฤติกรรมในลานปัญญาก็เห็นว่าพวกเรามีทางออกแตกต่างกันไป บางคนก็โอดครวญเป็นวรรคเป็นเวร บางคนก็มีเรื่องกระดี๊กระด๊าทำทั้งปี บางคนก็ยุ่งกับภาระกิจหน้าที่ งานนอกงานใน โดยภาพรวมแล้วก็เห็นว่าน่าจะพอไปวัดไปวา ยังไม่อิดหนาระอาใจกับสภาพการเมืองตอหลดตอแหลจนกินไม่ได้ถ่ายไม่ออก

ความปกติสุขในบ้านเมืองเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ

ท่ามกลางการแข่งกันแหกค่ายมฤตยูของวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมโลก

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาร่วมกันสร้างบ้านแปงเมือง

แต่บ้านเรายังสาละวนสาละวันเตี้ยลง

เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้ว ลาวกำลังตามมาติดๆ

ไทยนั่งเกาหิด สะเก็ดกระจายว่อน


“ในสังคมที่เป็นอยู่นี้ ไม่อาจหวังว่าจะทำการใด ให้กระแสตัณหาเหือดหายไปได้ หรือจะให้วิถีของฉันทะขยายขึ้นมาเป็นใหญ่ สิ่งที่พึงทำคือเพียงดุลไว้ไม่ปล่อยให้กระแสตัณหาท่วมท้นไหลพาไปลงเหว และคอยส่งเสริมวิถีแห่งการสนองฉันทะให้ดำเนินไปได้ ..สิ่งที่ต้องทำตลอดเวลาคือ ความไม่ประมาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ก้าวหน้าไปในการพัฒนาความสุข”

พรพรหมคุณาภรณ์

ติดตามข่าวนกเตนเอาฝนมาทิ้งบ้านเรา

ทราบว่าทางภาคเหนือตกน้ำป๋อมแป๋ม

แต่ทางอีสานใต้ท้องฟ้ามืดครึมเฉยๆ

ฝนตกแต่ละทีชำระฝุ่นสกปรกที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ใบหญ้า

ทำให้อากาศสะอาด ชุ่มชื่นร่มเย็น

แ ต่ ฝุ่ น ผ ง ที่ ป ก ค ลุ ม สั ง ค ม บ้ า น เ มื อ ง เ ร า ม า เ ป็ น เ ว ล า น า น

มิ รู้ ที่ จ ะ เ อ า น้ำ ย า อ ะ ไ ร ไ ป ชำ ร ะ ล้ า ง ใ ห้ ส ด ใ ส แ ว ว ว า ว

สงสัยต้องขดคู้อยู่แบบตัวอ่อนด้วงเสียกระมัง

key word : ยามหนุ่มแน่นชวนแฟนปลูกต้นไม้

แก่เฒ่าไปจะได้เห็นผลต้นไม้โตร่มรื่น

: ยามวันชรา ชวนคุณป้าปลูกผักล้มลุก

จะได้สนุกกับการเก็บผักมาชื่นชิม



Main: 0.12240386009216 sec
Sidebar: 0.049715042114258 sec