จดหมายด่วน
อ่าน: 1450
มหาชีวาลัยอีสาน
34 บ้านปากช่อง ตำบลสนามชัย
อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ 31150
30 สิงหาคม 2554
เรื่อง ขอความความเมตตาเขียนคำนิยมในหนังสือ”โมเดลบุรีรัมย์”
กราบเรียน อาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล ที่เคารพอย่างสูง
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาจากหนังสือพิมพ์มติชน 1 ชิ้น
เนื่องด้วยมหาชีวาลัยอีสาน ได้ทำการศึกษาวิธีเสริมสร้างสภาพแวดล้อมระดับรากหญ้ามาเป็นเวลานาน โดยปลูกไม้นานาชนิด จัดทำแปลงสาธิต แปลงธนาคารแม้ไม้พันธุ์ดี ศึกษาการใช้ประโยชน์ไม้อย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดที่ว่า..ในการปลูกไม้ยืนต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้มาใช้เสมอไป ถ้าเราตัดเอาเฉพาะกิ่งใบมาเลี้ยงสัตว์ หรือสับกิ่งไม้ทำปุ๋ยทำเชื้อเพลิง ก็จะเป็นการได้ประโยชน์ที่หลากหลายในระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว กระผมได้ทดลองตัดกิ่งไม้ใบไม้มาสับเลี้ยงโคและแพะในหน้าแล้ง พบว่าสัตว์เลี้ยงอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี ช่วยแก้ปัญหาอาหารสัตว์ในช่วงแล้งหรือน้ำท่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยประหยัดต้นทุนด้านอาหารสัตว์และลดความเสี่ยงความสูญเสียจากภัยพิบัติต่างๆ
การปลูกไม้อะเคเซีย เกษตรกรตัดสางขยายระยะมาใช้งานได้ภายใน8-9 ปี ส่วนไม้ไผ่ตัดลำต้นหมุนเวียนมาใช้งานตั้งแต่ปีที่3เป็นต้นไป ประเด็นนี้ช่วยโน้มน้าวให้เกษตรหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้น เพราะประจักษ์ว่าได้ประโยชน์หลากหลายวัตถุประสงค์ และไม่ต้องรอคอยอายุต้นไม้โต30-40ปีดังที่เข้าใจแบบดั่งเดิม กระผมได้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ขนาดเล็ก ทำให้ทราบคุณสมบัติไม้ที่น่าจะเลือกมาส่งเสริม ไม้เหล่านี้ถ้าเพียงแต่เอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วย เกษตรกรจะมีช่องทางสร้างงานและเพิ่มรายได้ตลอดปี รวมทั้งเขาเหล่านี้จะเป็นหน่วยบุกเบิกโลกสีเขียวตัวจริงเสียงจริง ทำให้เห็นการพึ่งตนเองจากไม้ที่ปลูก แล้วนำมาทำเครื่องเรือน ก่อสร้างบ้านเรือน ทำเชื้อเพลิง ทำอาหารสัตว์ การพึ่งตัวเองด้านพืชผักและโปรตีนระดับชุมชน
มหาชีวาลัยอีสานได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาพอสมควร บัดนี้ได้สกัดความรู้ความถูกต้องและเหมาะสมมาให้เกษตรนำไปใช้ เพื่อจะช่วยให้การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่าง-การปลูกไม้ติดแผ่นดิน-ปลูกไม้ล้อม-ปลูกผักยืนต้นระบบชิด-ปลูกสมุนไพร ทำให้เกิดงานเกิดรายได้ และฝึกฝนทักษะด้วยปัจจัยและวัตถุดิบจากน้ำพักน้ำแรงตนเอง ผลลัพธ์ที่เกิดในหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายแนวทางพระราชดำริเชิงประจักษ์ โน้มน้าวให้เกษตรกรเข้าใจและใส่ใจที่จะช่วยกันทำนุบำรุงพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้มีต้นทุนธรรมชาติที่เอื้อต่อการพึ่งพาตนเอง สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ที่เจริญขึ้นตามลำดับ โดยสภาพแวดล้อมไม่สูญเสียเหมือนการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ดูดีภายนอก แต่ภายในเต็มไปด้วยดินพอกหางหมู
ช่วงวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระผมได้นำเสนอเป็นงานวิจัยไทบ้าน ในงาน”การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554” มีผู้ฟังให้ความเห็นว่านี่แหละ ”โมเดลบุรีรัมย์” เมื่อมีผู้ฟังตั้งชื่อนี้ให้ก็ถือเอาเป็นชื่อหนังสือที่จะพิมพ์เสียเลย หลังจากกลับจากเสนองานวิจัย2วัน หนังสือพิมพ์มติชนเอาไปทำสรุปข่าว ลงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของกระผมด้วย ทำให้มีผู้สนใจโทรมาซักถามจากทั่วประเทศ ต้องตอบกันปากเปียกปากแฉะทั้งวัน กระผมตั้งใจจะพิมพ์บทสรุปการค้นคว้าเรื่องนี้อยู่แล้ว ประจวบกับมีเรื่องผู้สนใจเข้ามามาก จึงลงมือเร่งเขียนต้นฉบับเพื่อพิมพ์เป็นหนังสือในเร็วๆนี้
เพื่อเป็นมงคลและกำลังใจให้แก่ลูกหลานชาวมหาชีวาลัยอีสาน กระผมจึงขออนุญาตกราบเรียนท่านอาจารย์ ได้โปรดเมตตาเขียนคำนิยมให้กับหนังสือเล่มนี้ แล้วฝากมากับดร.ศักดิ์พงศ์ หอมหวน จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพและศรัทธา
ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์